ดังตฤณ : สติในการรับรู้โลกตามจริง
เป็นเรื่องที่ ... ถ้าเข้าใจก็เหมือนกับเราสามารถที่จะเห็นภาพรวมเลยว่า
พุทธศาสนาเกิดขึ้นมาเพื่ออะไร แต่ถ้าไม่เห็น บางทีเราอาจหลงไปคุยกันเรื่องโน้น
เรื่องนี้ ถูกหลอก ถูกลวง หรือว่าถูกอัตโนมัติของตัวเอง
ชักจูงให้มองพุทธศาสนาไปต่างๆ นานา
แต่ถ้าเข้าใจว่า สติในพุทธศาสนาคืออะไร สมาธิในพุทธศาสนาคืออะไร
แทบจะไม่ต้องเถียงกันเลย แทบจะไม่ต้องมามีการขัดแย้งภายในว่าเราควรจะทำอะไรดีกับชีวิตแบบพุทธ
ตอนเด็กๆ เมื่อเริ่มที่จะสนใจพุทธศาสนานี่นะ ผมได้ยินบ่อยมาก มีคนพูดนะว่า ... ฉันจับจุดได้ว่าพุทธศาสนา
หลักการฝึกง่ายๆ เลยคือ ให้มีสติ ... ผมฟังแบบนี้ ผมเกิดข้อสงสัยขึ้นมาทันทีว่า
มีสติแบบไหน เพราะคำว่ามีสตินี่กินความกว้างเหลือเกิน
คือบอกว่า มีสติ ... (รู้ว่า) นี่กำลังคุยเรื่องอะไร นี่ก็สตินะ
มีสติในการปีนบ้านคน จะไปลักขโมยเขา นี่ก็เรียกว่ามีสติ
ใครจะไปแย้งตามทฤษฎีสมัยใหม่บอกว่า สติ สงวนไว้ใช้สำหรับอะไรดีๆ เท่านั้น
นี่ไม่จริงนะครับ ในพระไตรปิฎก มีชัดเจนคำว่า ‘มิจฉาสติ’ การมีสติในการทำอะไรผิดๆ มีอยู่นะ
มีสติเหมือนกัน แต่ว่าจะเอาไปใช้ทำอะไร นี่คือข้อแตกต่างที่ บางทีพอไม่ทำความเข้าใจดีๆ
เกิดข้อสงสัย เกิดการเห็นเป้าหมายของพุทธศาสนาที่เบี่ยงเบนไปแบบไม่รู้จบ
ตัดคำว่า ศาสนาทิ้งไปก่อน เอาสิ่งที่เราสามารถที่จะคุยกันได้ง่ายๆ แบบไม่ต้องอิงทฤษฎี
คำว่า สติ คือการรู้ตามจริง ถ้าอยากได้อะไรแบบไหน
แล้วเล็งเป้าว่าฉันจะเอาให้ได้อย่างใจแบบนั้น อย่างนี้ไม่ใช่สติ เพราะบางทีความอยากได้ของคน
อย่างเช่น ความอยากเลือกสี ความอยากเลือกของที่ได้อย่างใจอะไรต่างๆ บางทีทำให้การรับรู้ของเราแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง
ยกตัวอย่าง บางคนบอกว่า ชอบรถสีแดง ในขณะที่คนส่วนใหญ่บอกว่า
สีแดงนี่ร้อนแรงเกินไป ชอบสีขาวมากกว่า การรับรู้ในการมองแวบแรกจะแตกต่างทันทีนะ
เห็นรถขาวบอกว่า อืม นี่ใช้ได้ เห็นรถแดงมาบอกว่า นี่แปร๊ดเกินไป
ในขณะที่คนชอบสีแดง เห็นรถแดงปุ๊บบอกว่าสวย คือความรู้สึกออกมาจากใจจริงๆว่า
นี่สวย ในขณะที่เห็นรถสีขาวบอกว่า จืดเกินไป เป็นแบบนี้นะ
คือถ้าเราเอาความชอบใจมาตัดสิน หรือมาเอาเป็นตัวเหนี่ยวนำตั้งแต่แรก
จะเกิดความรู้สึก ชอบ ไม่ชอบขึ้นมาทันที แล้วก็จะไม่สามารถเห็นอะไรได้ตามจริงทันที
ฉะนั้น เรามามองว่าจะนึกถึงอะไรตามจริงได้บ้าง ... ง่ายๆ ตอนนี้
หายใจเข้าหรือหายใจออก ... นี่แหละ ของจริง คือไม่มีอะไรจริงยิ่งกว่านี้นะ
สำหรับคนๆ หนึ่ง ในโลกของคนๆหนึ่ง ในมุมมองของคนๆ หนึ่ง ถ้าหายใจเข้าอยู่
แล้วมาแกล้งโกหกว่า หายใจออก นี่เพี้ยนแล้วนะ
ตรงนี้ มาจูน (tune) กับคอนเซ็ปต์ (concept) ของพุทธศาสนาได้ว่า ถ้าจะให้แน่ใจว่า
เราสามารถระลึกรู้อะไรได้ตามจริงบ้าง สามารถเห็นอะไรได้ตรงตามจริงบ้าง
ให้เอาเข้ามาในกายของเราก่อน อย่าเพิ่งไปเอาโลกข้างนอกนะ
ทีนี้ไม่ได้จบแค่นั้น
ไม่ใช่มีสติแค่รู้ว่า หายใจเข้าหายใจออก แล้วถึงเป้าหมายของพุทธศาสนา
หรือว่าได้บทฝึกที่แท้จริงของพุทธศาสนาแล้วนะ แต่ยังต้องคำนึงด้วยว่า
รู้เรื่องจริงอันไหนแล้ว จะไม่ต้องเป็นทุกข์บ้าง
คือถ้ารู้ความจริงอย่างรู้เรื่องภายนอก ... รู้ว่าใครโกหก รู้ว่าใครมาโกงเรา หรือ
รู้ว่าใครมาชอบแฟนเรา อะไรต่างๆ ... จะเกิดความทุรนทุราย นี่รู้ความจริงนะว่าเกิดขึ้นจริงๆ
แต่ว่ารู้แล้วเป็นทุกข์ อย่างนี้ทางพุทธศาสนาบอกว่า รู้ว่าอะไรแล้วเกิดความยึดมั่นถือมั่น
รู้ว่าอะไรแล้วเกิดความรู้สึกดิ้นรน กระวนกระวาย รู้อย่างนั้นยังไม่ใช่ ‘รู้’ แบบที่เราจะเอามา ‘เจริญสติ’
รู้แบบที่จะไม่เป็นทุกข์ รู้ความจริงอะไรที่จะทำให้จิตใจสงบสุข อย่างเช่น บอกว่า
รู้ลมหายใจ ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนรู้ลมหายใจแล้วจะเกิดความสงบสุข เพราะว่าบางคน พอพยายามที่จะรู้ลมหายใจปุ๊บ
จะอึดอัดขึ้นมาทันที แน่นอกขึ้นมาทันที ทำอย่างไรก็ทำไม่ได้
อย่างนี้เรียกว่ายังไม่เป็นประกันว่า รู้อะไรเหมือนๆ กัน แล้วจะเกิดความสงบสุขเท่ากันเสมอไป
ทีนี้ มีอยู่จุดหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ แต่บอกยังไงๆ ก็จะไม่เข้าหัว
ก็จะไม่จดจำ เพราะว่า เป็นความรู้ที่พูดง่ายๆว่า คนที่เหมาะ
คนที่ควรที่จะเป็นอริยบุคคลเท่านั้น ที่จะรู้ความจริงนี้แล้ว เก็ท (get) หรือว่าจดจำขึ้นใจ
เอาไปใช้ต่อเนื่อง ความจริงนี้ก็คือ ‘อะไรๆ ไม่เที่ยง’
คือถ้าบอก ‘อะไรๆ ไม่เที่ยง’
พูดไปแบบชาวบ้าน ทุกคนรู้หมด รู้ เหมือนรู้ๆ อยู่แล้ว รู้อยู่แก่ใจ
แต่พอเอามาประยุกต์กับสิ่งที่ควรรู้ อย่างเช่น ลมหายใจ บอกว่า ลมหายใจนี้ไม่เที่ยง
แค่นี้ เกิดความรู้สึกขึ้นมาแล้วว่า เออ เข้าใจได้ หายใจเข้า แล้วก็หายใจออก
เดี๋ยวบางทีก็ยาว เดี๋ยวบางทีก็สั้น
แต่พอหลับตาลงไปปุ๊บ มันหลงทางทันที … ที่จะให้ดูว่าไม่เที่ยงนี่
มันไม่เที่ยงยังไง ก็จะรู้สึกว่า นี่มันลมหายใจ ตัวความรู้สึกว่า นี่มันลมหายใจ
จะนำขึ้นมาก่อนเลย จะไม่สามารถดูได้ว่า เออนี่ ลมหายใจกำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่
ฉะนั้น มีจุดที่เราจะต้องคำนึงอยู่สองจุดหลักๆ ก่อนว่า
:
นึกถึงอะไรตามจริงได้บ้าง
: รู้อะไรตามจริงแล้ว ไม่เป็นทุกข์บ้าง
ถ้าหากว่าเราจับจุดข้อนี้ได้ คือ ประเด็นของพุทธศาสนา
หรือว่าคอนเซ็ปต์ของพุทธศาสนา อยู่แค่ตรงนี้เลย “รู้อะไร รู้อย่างไร”
ยกตัวอย่างง่ายๆ บอกว่า คนพอหลับตาปุ๊บ ให้ดูลมหายใจ จะเป็นทุกข์ขึ้นมาทันที เพราะ
หนึ่งคือ ไม่ชอบอยู่เป็นทุนเดิม ที่จะต้องมาดูอะไรซ้ำไปซ้ำมา หรือ เคยมีประสบการณ์ยิ่งดูยิ่งอึดอัด
ยิ่งดูยิ่งเกิดความรู้สึกทรมานใจ ยิ่งดูยิ่งอยากลืมตาขึ้นมา ไปทำอะไรอย่างอื่น
พอมี Bad feeling ประทับอยู่ในความทรงจำแล้ว ก็เหมือนกับชอบหรือไม่ชอบสีรถนั่นแหละ
บอกว่าสีขาวจืดเกินไป พอเห็นสีขาวปุ๊บ ก็จะปฏิเสธทันที ไปชอบสีออกที่จัดๆ หน่อย
จะเป็นสีม่วง สีเขียว สีแดง ที่เกิดความรู้สึกว่าโดนตา โดนใจ อย่างนั้นถึงจะเรียกว่าสวย
อย่างนั้นถึงจะมีความสุข
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าใครเคยฝึกหายใจแบบที่จะทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัด ก็แน่นอน
พอพูดถึงสมาธิลมหายใจ ก็บอกว่าไม่ชอบ ไม่ใช่ ฉะนั้น
ลมหายใจก็ยังไม่ใช่คำตอบที่จะทำให้เกิดสติ สำหรับคนๆ นั้น
แต่ถ้าหากว่า ดูเป็น ... ดูโดยความเป็นของไม่เที่ยง ... ดูว่า ที่มันเข้า
ที่มันออก ไม่ใช่มีแต่ลมหายใจที่เข้าออกอย่างเดียว
มันมีความไม่เที่ยงของความรู้สึกอึดอัด มีความรู้สึกไม่เที่ยงของความสบายประกอบไปอยู่ด้วย
ถ้าเห็นไปอย่างนี้ เห็นเป็นนะ เห็นว่า ลมหายใจกำลังแสดงความไม่เที่ยง ทั้งตัวของลมเอง
และตัวความรู้สึกอึดอัดบ้าง สบายบ้าง อย่างนี้ จะเกิดความรู้สึกว่า
ไม่เป็นทุกข์ในระยะยาวแน่นอน เพราะถึงเป็นทุกข์ขึ้นมา ก็เห็นความทุกข์นั้น
แสดงความไม่เที่ยงอยู่ในแต่ละลมหายใจ นี่ยกมาเป็นตัวตั้งก่อนนะ
สรุปแล้ว ถ้ามีสติแบบพุทธ รู้อะไรตามจริงได้ แล้วก็ความจริงนั้นไม่ทำให้เป็นทุกข์ มีอยู่นะ
ทีนี้เวลาที่เราจะพูดโดยย่นย่อ บอกว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ให้ดูลมหายใจอย่างเดียว
ท่านให้ดูโลก โลกทั้งใบ โลกคือ กาย ยาววาหนาคืบนี้ นี่ ยาววาหนาคืบนี่ ท่านให้ดูเข้าไป
บางคนอาจแย้ง บอกว่าแค่ร่างกายจะเป็นโลกได้อย่างไร
ตอนที่ผมศึกษาพุทธศาสนาใหม่ๆ ก็คิดนะ โลกมีแค่ความเป็นกายยาววาหนาคืบนี่เหรอ
แต่จริงๆ แล้วพระพุทธเจ้าตรัสถึงจิตวิญญาณภายในด้วยนะ ไม่ใช่แค่ร่างกายอย่างเดียว
โลกในความหมายของความเป็นโลกที่เราควรจะรับรู้ มีทั้งส่วนของร่างกาย
แล้วก็มีทั้งส่วนของจิตใจจิตวิญญาณ
ซึ่งถ้าเรามองอย่างนี้ เราปฏิเสธความเชื่อแบบที่ยึดๆ กันมาว่า โลกคือ Earth
ที่กลมๆ แบบนี้ ที่ลอยเท้งเต้งอยู่กลางจักรวาลใหญ่ๆ แบบนี้
เราก็จะรู้สึกว่า เอ๊ะ พุทธศาสนา พูดแคบเกินไปหรือเปล่า แต่ถ้าใครศึกษา
อย่างพวกควอนตัมฟิสิกส์ (Quantum physics) ที่แอดวานซ์ (Advance) มากๆ เขารู้กันหลายสิบปีแล้วว่า เวลาเราดูเข้าไปในองค์ประกอบมูลฐานของความมีชีวิต
ของความเป็นคน ของความเป็นโลก ของความเป็นจักรวาลทั้งหมด บอกว่า
มูลฐานของมันคืออะตอม (Atom) เล็กที่สุด ย่อยที่สุด
ที่แบ่งแยกไปไม่ได้มากกว่านั้นแล้ว คืออะตอม คือการเคลื่อนไหวของอิเลคตรอน (Electron) คือการที่อะตอมมีพันธะต่อกัน … ปรากฏว่ามีคนที่พยายามมองให้เห็นว่าอะตอมคืออะไร
โดยรวบรัดเลย เขาพบว่า อะตอมไม่มีที่อยู่ที่แน่นอนนะ ถ้าปราศจากเรา
ซึ่งเป็นคนดู ซึ่งเป็นผู้ดู อะตอมอาจจะไม่ได้อยู่ตรงนั้น
พูดง่ายๆ ว่า มันอาจไม่มีอยู่เลยก็ได้ ถ้าไม่มี ผู้ดู ไม่มีผู้มอง พูดง่ายๆ
ไม่มีอายตนะทางตา เข้าไปพยายามส่องดู หรือว่า ไม่มีจิตเข้าไปพยายามที่จะรับรู้
อะตอมอาจไม่ได้ปรากฏอยู่ในที่ไหนเลยก็ได้ มันมีที่อยู่ที่ไม่แน่นอน
เรื่องนี้จะไม่ลงรายละเอียด แต่ว่าใครเรียนวิทยาศาสตร์มาเบื้องต้น
เกี่ยวกับฟิสิกส์ ชีววิทยา เคมี คงจะเข้าใจความจริงตรงนี้
แล้วหมายความว่าอย่างไร หมายความว่า จริงๆ แล้วถ้าไม่มีร่างกาย และจิตใจนี้ขึ้นมา
จะไม่มีโลกแบบที่เรากำลังเห็นอยู่นี้นะ ส่วนจะเข้าไปอยู่ในมิติไหน ในแบบ Sci-fi
fantasy อันนี้เป็นเรื่องที่พูดไปแล้วฟั่นเฝือ แต่สิ่งที่เป็นแก่นสาร
สิ่งที่ได้ข้อสรุปตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสก็คือว่า ถ้าไม่มีกาย ยาววาหนาคืบนี้
ไม่มีจิตวิญญาณที่ครองกาย ยาววาหนาคืบนี้อยู่ จักรวาลทั้งจักรวาล จะหายไปเลยนะ
ไม่จำเป็นต้องมีอยู่ ไม่จำเป็นต้องมีอยู่ แต่มีได้ ถ้าประกอบด้วยเงื่อนไขที่แมทช์
(match) กัน
สิ่งที่ทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า เป็น cause-effect หรือว่า
เหตุของการมีอยู่ ในทางพุทธศาสนาเรียกว่า เป็นปฏิจจสมุปบาทบ้าง อตัมมยตา บ้าง
ซึ่งจะบอกชัดๆ เลยว่า ด้วยอวิชชามี กองบุญกองบาปจึงมีได้ และกองบุญกองบาปมีได้
จึงเนรมิตวิญญาณในภพภูมิต่างๆ ขึ้นมา วิญญาณ ที่สามารถเข้าท้องแม่ได้อะไรต่างๆ
นี้มีอยู่ในปฏิจจสมุปบาท ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้กับพระอานนท์ อย่าหาว่ามั่วนะ
คือหลายคนไม่เคยเจอตรงนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนในปฏิจจสมุปบาท
ว่าวิญญาณจะไม่เกิดขึ้น ถ้าหากไม่มีกองบุญกองบาป แล้วจะเข้าท้องแม่ไม่ได้
ถ้าหากว่าไม่มีบุญบางอย่าง ที่จะลงมาเกิดเป็นมนุษย์
นี่ก็เป็นเรื่องที่จะมาบอกว่า โลกคือ กายยาววาหนาคืบ ถ้าหากว่าเราศึกษา
เราสามารถรับรู้ได้ตามจริงแล้วนี่ จะจบอยู่ที่ตรงนี้ จบอยู่ตรงที่อะไร ตรงที่ เราสามารถได้ข้อสรุปว่า
จะสิ้นทุกข์ได้อย่างไร สิ้นทุกข์ได้ด้วยการดับโลกนี้ คือไม่ใช่การฆ่าตัวตาย
แต่หมายถึง ดับอุปาทาน ดับความยึดมั่น สำคัญผิดว่าโลกนี้ กายยาววาหนาคืบนี้
แล้วก็จิตวิญญาณที่ครองร่างอยู่ คือตัวคือตน
แต่ได้ข้อสรุปที่ถูกต้องว่า เออ มันแสดงความไม่เที่ยงอยู่เรื่อยๆ
โลกที่ปรากฏอยู่ต่อ หู ตา เราก็รับรู้ไปตามจริง แต่ว่าเอาตัวนี้เป็นเซนเตอร์ (Center) เอาตัวความไม่เที่ยง เอาตัวความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของกายใจนี้
เป็นเซ็นเตอร์ เป็นศูนย์กลางการรับรู้ พอเรารู้ว่า ตัวนี้ไม่เที่ยง
เราก็จะสามารถเห็นความไม่เที่ยงของโลกภายนอกได้ แล้วก็สามารถยอมรับได้ง่ายๆ ด้วย
ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ที่ตอนนี้อาจจะเป็นเหตุการณ์ใกล้ตัว บอกว่าถ้าเรารู้ว่า
เราถูกหลอก ถูกหลอกมาตลอดว่า กายใจนี้เป็นตัวเป็นตนของเรา คือเราจะไม่มีความแปลกใจ
หรือว่ารู้สึกรู้สา เวลาเจอข่าวลวง หรือว่า เจออะไรที่ผิดความคาดหมาย
อย่างบางทีเราจะมอง เราจะยึดว่าเกิดเหตุการณ์สำคัญๆกับโลกขึ้นมา
จะต้องมีใครสักคนที่บงการอยู่เบื้องหลัง หรือว่า ที่สร้างแผนอะไรต่างๆ ขึ้นมา
จริงๆ ไม่มีคนใดคนหนึ่ง เราจะมองว่าทั้งหมดนี่เป็นระบบ ระบบที่ไม่มีใครคนใดคนหนึ่ง
สามารถบังคับบัญชา ควบคุมได้ แล้วก็จะเห็นความไม่เที่ยง
คือคนมักจะยึดเอาข่าวในวันใดวันหนึ่ง เป็นตัวเป็นตน แล้วก็เป็นสิ่งที่จะอยู่ตรงนั้นถาวร
จะอยู่ตรงนั้นจริงๆ ยึดเป็นความจริง
ทีนี้ถ้าเราเห็นเหตุปัจจัย แล้วก็เห็นว่า อะไรๆ
กำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลา
เหมือนกับที่ความไม่เที่ยงกำลังแสดงออกมาจากายจากใจของเรา เราจะไม่เป็นทุกข์กับสิ่งที่ไม่ได้อย่างใจ
แบบที่เรายึดมั่นถือมั่นไว้
การใช้ชีวิตในโลก ยังไงต้องมีชอบ ต้องมีชัง ต้องมียึด ต้องมีเอาอย่างนั้น
เอาอย่างนี้ อันนี้ห้ามกันไม่ได้ แต่อย่าไปถึงขนาดที่ว่าจะต้องเอาเป็นเอาตาย
ถ้าไม่ได้อย่างใจฉันแล้วโลกจะถล่ม โลกจะทลาย
คำว่าโลกถล่มโลกทลาย เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งของจิต จริงๆ นะ โลกนี่ยังเป็นปกติอยู่
ปกติอย่างที่มันเป็นอยู่ แต่ที่ถล่มทลาย คือความรู้สึก
คือสิ่งที่เป็นโลกทัศน์ภายในของเรา คือสิ่งที่มันเป็นความชอบ
ความชังในแบบของเรา ซึ่งถ้าเราเริ่มหัดมองจากความจริงง่ายๆ เช่น
ลมหายใจกำลังแสดงความไม่เที่ยงอยู่ แล้วความทุกข์ความสุขที่มากับลมหายใจแต่ละลม
แต่ละระลอก ไม่เท่ากัน ไม่เท่าเดิมอยู่แล้ว ไม่ใช่ของๆ เรามาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว
จะมองเห็นทุกสิ่งที่กำลังแสดงความไม่เที่ยงในโลก เป็นเหมือนกันได้หมด
มีคะแนนเสมอกันหมด มีความไม่น่ายึดมั่นถือมั่น ได้เท่าเทียมกันหมด
นี่แหละคือสิ่งที่เป็น Point ของพุทธศาสนาจริงๆ เรามีสติ
รู้อะไรตามจริงได้บ้าง แล้วรู้อะไรแล้วใจไม่ต้องเป็นทุกข์นะครับ
นี่แหละคือสติรู้โลกในแบบของพุทธศาสนานะ!
_________________________________
ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน สติในการรู้โลกตามจริง
9.2.2019