วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

บทสัมภาษณ์คุณดังตฤณ (หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ)


แม้วันนี้ชื่อของ ดังตฤณ จะเป็นที่ยอมรับในฐานะนักเขียนแนวธรรมะ แต่กว่าที่เขาจะมีความเข้าใจลึกซึ้งกว้างขวางในข้อธรรมอย่างที่เป็นย่อมต้องอาศัยประสบการณ์และการบ่มเพาะ ผ่านการศึกษาเรียนรู้และปฏิบัติ

เดิมทีช่วงอายุ 16-17 ผมก็เป็นเด็กวัยรุ่นธรรมดาๆไม่ได้แตกต่างจากเด็กคนอื่น แต่ที่แตกต่างคือความคิดข้างใน ผมมีความรู้สึกว่าถ้าในอนาคตข้างหน้าเราไม่ชอบทำอะไรเลยสักอย่างเดียว ถ้าดูไปแล้วไม่เห็นมันจะมีอะไรที่น่าจับต้องน่าศึกษา เราจะมีชีวิตไปเพื่ออะไร

พอโตขึ้น 1 หรือ 2 ปีต่อมา ก็เกิดความสนใจว่าคำว่า วิปัสสนา เคยได้ยินบ่อยแต่วิปัสสนาคืออะไรไม่รู้ ก็ไปซื้อหนังสือเล่มเล็กๆของท่านอาจารย์ธรรมรักษามาอ่าน ทำให้เข้าใจแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับพุทธศาสนาว่าถ้าจะปฏิบัติธรรม ถ้าจะเอาคำตอบชีวิตขั้นสูงสุดจะเอาจากคำว่าวิปัสสนาได้อย่างไร

จากประกายที่ถูกจุดขึ้นตรงนั้น ดังตฤณ สานต่อความสนใจเมื่อเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย

ผมได้ความรู้จริงๆว่าพระพุทธเจ้าตรัสอะไรก็จากพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชนของอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ตอนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยเรียกว่าเข้าห้องสมุดตลอด และเล่มนี้ก็ไม่มีใครแย่ง คนอื่นเขาเห็นเป็นยาขมแต่สำหรับเราเป็นขนม ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้ศึกษาเพิ่มเติมเรื่อยมา ทั้งจากหนังสือ เช่น พุทธธรรม ของท่านเจ้าคุณประยุทธ์ ปยุตโต, พระไตรปิฎกฉบับที่รวบรวมโดยอาจารย์ธรรมรักษา และจากอินเตอร์เน็ต

กระนั้นก็ตามสำหรับการศึกษาพระพุทธศาสนา การเดินตามรอยบาทพระศาสดาสู่การหลุดพ้นย่อมไม่สามารถลุถึงได้ด้วยการนึกรู้ด้วยการศึกษาปริยัติเพียงอย่างเดียว เมื่อครั้งที่เริ่มปฏิบัติเขาบอกว่าตัวเองโชคดีที่ได้อ่านพบเรื่อง สติปัฏฐาน 4 ก่อนอื่น เพราะแม้ภายหลังจะสับสนกับแนวทางปฏิบัติที่หลากหลายแต่สุดท้ายแล้วการปฏิบัติอยู่ในขอบเขตของกายและใจนี้คือแนวทางที่พระพุทธองค์ได้ทรงประทานไว้

ตอนลงมือจริงๆช่วงนั้นถือว่าค่อนข้างสะเปะสะปะ เพราะเราเริ่มต้นจากการฟังคนนั้นทีคนนี้ที ทีนี้งง ถึงจุดหนึ่งเลยตัดสินใจว่าจะไม่เชื่อใครแล้ว ขอลองย้อนกลับไปอ่านที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดๆซิ ซึ่งก็คือสติปัฏฐาน 4 พระองค์ตรัสไว้เป็นขั้นเป็นตอนชัดเจน สุดท้ายก็ได้ข้อสรุปว่า โอเค เราจะไม่หนีไปจากลมหายใจ และกำหนดลมหายใจไม่ใช่เพื่อเอาความสงบอย่างเดียว แต่เอาความ รู้ รู้ว่าลมเข้าลมออก เดี๋ยวมันก็ยาว เดี๋ยวมันก็สั้น กำหนดไปเรื่อยๆรู้ได้เท่าที่จะรู้

ถึงที่สุดแล้วจึงอาจกล่าวได้ว่าแก่นสารภายในหนังสือแต่ละเล่มของดังตฤณ เป็นผลสืบเนื่องจากประสบการณ์จริงในการลงมือปฏิบัติบวกรวมกับความรู้ความเข้าใจที่ได้จากการศึกษาค้นคว้านานปี และไม่ว่าหนังสือเล่มนั้นๆจะติดขมหรืออมหวานเพียงใด ดังตฤณ ในฐานะนักเขียนมีความคาดหวังคือต้องการให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักกับพระพุทธเจ้า มิใช่เห็นพระพุทธรูปแล้วกราบไหว้โดยไม่รู้เลยว่าตรัสอะไรไว้บ้าง

ผมได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่าคนไม่ว่ายุคไหน สมัยไหน หรือชาติไหน ถ้ารู้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสอะไรไว้สนใจกันทั้งนั้น แต่ที่คนไม่สนใจ หรือว่าเกือบจะทิ้งพุทธศาสนากันแล้ว ทั้งๆที่เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ ก็เพราะเขาไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสอะไร ผมแค่ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมคนที่อยู่ยุคเดียวกันและมีความคิดตีตัวออกห่าง เริ่มดูถูกศาสนา ตรงนี้แหละที่ผมเข้ามาทำหน้าที่ ผมมาสานต่อในยุคของเรา



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น