วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พี่ฉอดสัมภาษณ์คุณดังตฤณ (ช่วงที่ ๓)


พี่ฉอด : คุณตุลย์คะ หนังสือเล่มนี้ สิ่งที่ได้บอกไว้อย่างชัดเจนในหลายๆเรื่อง ก็คงจะเป็นเรื่องที่เราหลายๆคนสงสัยว่าทำไมๆ เช่น บอกถึงเรื่องของการเกิดเป็นผู้หญิง การเกิดเป็นผู้ชายด้วย อยากให้เล่าให้ฟังตรงนี้นิดหนึ่งค่ะ

ดังตฤณ : กรรมที่บันดาลอัตภาพชายหรือหญิงนี่นะครับ จริงๆมีความวิจิตรพิสดาร แล้วก็ละเอียดอ่อนมาก ความจริงที่ผมเขียนไปในหนังสือเนี่ย เป็นเพียงส่วนหลักๆส่วนเดียวนะครับ แต่ที่จริงมันมีมากกว่านั้น ทั้งส่วนที่ผมรู้และก็ไม่รู้ ตอบในที่นี้ ขอเอาแค่หลักๆก็แล้วกัน

เป็นชายเนี่ย จะประกอบบุญมาแบบแข็ง
ส่วนหญิงเนี่ย จะประกอบบุญมาแบบอ่อน

และถ้าใครพอจะยอมรับตามจริงว่า อัตภาพหญิงนั้นมีปัญหาจุกจิกมากกว่าชาย เป็นแม่เหล็กดึงดูดภยันตรายมามากกว่าชาย ก็ต้องบอกว่าเป็นหญิงเนี่ย เพื่อเสวยวิบากไม่ดีบางอย่างทางเพศ พูดง่ายๆคือมีแนวโน้มว่าจะประพฤติผิดทางเพศไว้ ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบทางเพศบ้าง

แต่อันนี้ไม่ใช่ทุกคนนะครับ เดี๋ยว.. ต้องฟังดีๆนะครับ คือต้องดูด้วยว่า ผู้หญิงจำนวนมาก ที่มีความสูงศักดิ์ มีความปลอดภัย และก็ไม่โดนย่ำยีด้วยประการใดๆทั้งชีวิตเลย คือไม่เคยเจอเรื่องอาชญากรรมทางเพศอะไรอย่างนี้นะครับ อันนั้นก็เพราะว่า ไม่อยู่ในช่วงเสวยวิบากที่ว่าด้วยการประพฤติผิดทางเพศ

เคยมีคนถามว่า... อันนี้ขอพูดฉีกออกมานิดหนึ่งนะครับ เคยมีคนถามว่า กรรมอะไร ถึงทำให้ปวดทรมานในช่วงประจำเดือนมาก คือหนักกว่าผู้หญิงทั่วไป อันนี้ผมไม่ได้เขียนไว้ในหนังสือนะครับ ผมตอบว่าเพราะเคยเป็นตัวป่วนไว้เยอะ เคยหงุดหงิดเกรี้ยวกราดอย่างไร้เหตุผลไว้เยอะ ซึ่งปรากฎว่าพอทดลองทำตัวดีมีเหตุผล ไม่ป่วนแฟนพร่ำเพรื่อ เท่านั้นเอง ความทรมานในช่วงประจำเดือน ก็ลดลง คือทันตาเห็นเลย แต่อันนี้ไม่ใช่ได้ผลกับทุกคนนะครับ คือขึ้นอยู่กับว่าเป็นตัวป่วนระดับไหนด้วย

แล้วก็การจะตัดสินใจในแต่ละเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องดีๆ มันก็มีผลให้ได้ไปเกิดเป็นชายเป็นหญิงเหมือนกันอย่างเช่น ถ้าตั้งใจอะไรดีๆแล้วทำด้วยความหนักแน่น ริเริ่มทำเอง มันก็เป็นลักษณะเข้าได้กับฝ่ายชาย คือการตัดสินใจเพื่อประโยชน์สุขของตนของท่านเนี่ย ถ้าเราดูแล้วเนี่ย มันเหมาะกับอัตภาพแบบชาย ซึ่งแข็งแรงใช่ไหม มีความสามารถที่จะทำการอะไรได้หนักๆ หรือว่าเสี่ยงอันตรายได้ หรือว่าเข้าสู่สภาพที่ต้องแบกรับภาระอะไรต่อมิอะไรต่างๆได้มาก

บางคนบอกว่าผู้หญิงรับความเครียดได้มากกว่า แต่ว่าแน่นอน คือจะไม่สามารถแบกภาระอะไรที่มันใหญ่ๆน่ะนะครับ อย่างพวกนักมวยปล้ำ อย่างพวกอะไรอย่างเนี้ยะ คือถึงแม้มีนักมวยปล้ำหญิง ก็จะไม่ได้เห็นอะไรที่ออกมาแบบที่งานแบบ.. เวทีนักมวยปล้ำชาย อะไรอย่างนี้ นี่ยกตัวอย่างน่ะนะครับ

แล้วถ้าหากเรามองกันในแบบ..คือ ไม่เอาว่าอันไหนด้อยกว่ากัน อันไหนที่เหนือกว่ากันนี่นะครับ เราก็จะเห็นว่า ความเป็นชายมีลักษณะที่สอดคล้องกับการเป็นผู้กระทำการ เป็นผู้รุก ส่วนฝ่ายหญิงเนี่ย คือ... ธรรมชาติเหมือนกับออกแบบมาให้น่าทะนุถนอม แล้วก็เป็นฝ่ายรับ คืออยู่ในฝ่ายดูแล ไม่ใช่ฝ่ายออกไปกระทำการ ตรงนี้เนี่ย มันก็สอดรับกันกับพฤติกรรมช่วงเก่าๆช่วงอดีตชาติ ที่เป็นฝ่ายริเริ่ม เป็นฝ่ายรุก เป็นฝ่ายที่จะทำอะไรดีๆ ส่วนฝ่ายหญิง ก็จะเป็นในแง่ของการตอบสนองมากกว่า

พี่ฉอด : ถ้ามองในแง่ของลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นสรีระ หรืออะไรก็ตามแต่ แปลว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่อาจจะต้องลำบากกว่าการเกิดเป็นเพศชาย ด้วยข้อจำกัดของความเป็นเพศหญิง

ดังตฤณ : ใช่ครับ ด้วยประการทั้งปวง

พี่ฉอด : เพราะฉะนั้น หมายความว่า เรากำลังจะบอกว่าการเกิดมาเป็นผู้หญิงนั้น อาจจะต้องทำอะไรที่ไม่ค่อยดีหรือไม่ค่อยถูกต้องมามากว่าคนที่ได้เกิดมาเป็นเพศชาย อย่างนี้ถูกไหมคะ?

ดังตฤณ : บางคนเนี่ยนะ จริงๆแล้วทำบุญมามากว่าผู้ชายอีก แต่เขาพอใจที่จะเป็นผู้หญิง ตรงนี้ก็เป็นพอยท์ที่ผมเขียนในหนังสือด้วยนะครับ คือไม่ใช่ว่าเพศหญิงเนี่ย เป็นเพศที่ทำบาปมา ไม่ได้เจาะจงอย่างนั้นนะครับ คือบางครั้งเราทำบุญมามากๆแล้ว อย่าง... ถ้าชาติไหนได้เป็นเมียของผู้ชายที่ดีๆผู้ชายที่ชักชวนทำบุญ ผู้ชายที่ให้ความอบอุ่น ผู้ชายที่มีความเป็นผู้นำ เขาก็อาจจะเกิดความพอใจ ขออธิษฐานติดตามเป็นคู่ไปเรื่อยๆอย่างนั้นก็มีนะครับ

หรืออย่างในคติทางพุทธเรา ก็มีความเชื่อว่าผู้ชายที่ตั้งใจจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตชาติ ก็จะต้องมีคู่ที่ติดตามไป ผู้หญิงที่รู้ว่าสามีของตนเองปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้า ก็ติดตามไปเป็นคู่ เป็นคู่แท้ เป็นคู่ถาวรที่จะตามกันไปเรื่อยๆอย่างนั้นก็มีเหมือนกัน

คือเหตุของความเป็นผู้หญิงเนี่ยมันไม่ใช่เรื่องบาปเรื่องกรรมอย่างเดียว มันไม่ใช่เรื่องของการด้อย มันไม่ใช่เรื่องของการถูกตราหน้าว่าอันนี้ไม่ได้เรื่อง แต่ว่าบางทีเป็นเรื่องของความพอใจของเขาอย่างนั้น

พี่ฉอด : นอกเหนือจากความเป็นผู้ชายเป็นเป็นผู้หญิงแล้ว ก็ยังมีการพูดถึงว่า ทำอะไรอย่างไรมาถึงได้เกิดมาสวย เกิดมาหล่อ?

ดังตฤณ : ในเรื่องนี้นะครับ ก็ขอให้ทดลองให้เห็นๆกันทันตาก็แล้วกัน ถ้าใครทำตามนะครับ คือสมมติว่าคุณรู้สึกมีหน้าตาที่ไม่ดีอยู่ แล้วปัจจุบันคุณชอบพูดปั้นน้ำเป็นตัว พูดจาสำรากหยาบคาย พูดให้ร้ายคนอื่น หรือพูดเพ้อเจ้อไร้สาระตามอารมณ์ไปเรื่อยเปื่อย ขอให้ถ่ายรูปเก็บไว้นะครับ แล้วลองตั้งใจพูดให้เป็นตรงกันข้ามดู กลับดำให้เป็นขาว แล้วสังเกตว่าอาการทางใจขณะคิด 'เลือก' คำที่ตรง คำที่ดี ที่เป็นคุณประโยชน์ ตรงนั้นเนี่ย ถ้าเลือกคำพูดเหล่านั้น ความรู้สึกจะเป็นอย่างไร มโนภาพเกี่ยวกับตัวเองจะดูดีขึ้นไหม

ทำให้ได้ครบหนึ่งเดือน แล้วถ่ายรูปใหม่ เอามาเปรียบเทียบดูระหว่างรูปเดิมกับรูปใหม่นะครับ ดูซิว่า มีความแตกต่างกันไหม ถ้าไม่มีอะไรแตกต่าง อันนี้แหละ ขอให้เชื่อเลยว่า กฎของธรรมชาติ ทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว

มโนภาพเกี่ยวกับตัวเองในใจเรา มีสองมิตินะครับ มิติแรกเกิดจากความรู้สึกในรูปร่างหน้าตาปัจจุบัน บางคน สวยหล่อแบบพระเอกนางเอกก็ให้ความรู้สึกเช่นนั้นในยามปกติ แต่ขณะคิดอ่าน ทำการ หรือพูดจาอะไร ก็จะเกิดมโนภาพจอมโฉด หรือว่านางมารร้ายปรากฎขึ้นแทน อันนี้ในกรณีที่ไม่ดี อันนั้นแหละครับ มโนภาพเกี่ยวกับตัวเอง ที่เกิดขึ้นเพราะกรรมปัจจุบันที่ทำอยู่เสมอๆ และนั่นแหละ มันจะเป็นภาพเดียวกันกับอัตภาพในอนาคต เพราะฉะนั้น คือสรุปนะครับว่า ทำอะไรที่มัน...พูดง่ายๆนะครับ เอาเฉพาะคนสวยคนหล่อก่อน

หนึ่ง เหตุผลที่ทำให้ได้มีหน้าตาดี ก็เพราะว่ามีใจเสียสละ ชนะความโลภและความตระหนี่ได้ พูดง่ายๆไม่โลภ

สอง คือ ระงับความโกรธได้ด้วยใจที่เมตตาแท้จริง พูดง่ายๆคือว่าไม่โกรธง่ายๆ ไม่มีโทสะอยู่ในจิตง่ายๆ

และสาม คือ ไม่หลงสำคัญตัวผิดๆ อันนี้เป็นฝ่ายดี ซึ่งถ้าเกิดเป็นตรงกันข้ามก็อยู่ฝ่ายร้าย

ถ้าหากว่าทำอะไรไปด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นส่วนใหญ่ ยิ่งถ้าเป็นความโลภขั้นร้ายแรง ถึงขนาดจะไปขโมยเขา หรือว่าถ้ามีความโกรธขั้นร้ายแรง ขนาดจะไปทำร้ายเขา ไปฆ่าเขา อย่างนี้ก็มีสิทธิ์ที่จะเกิดมารูปร่างหน้าตาไม่ดีในชาติต่อไป ถึงแม้ว่าปัจจุบันชาติจะดูดีแค่ไหนก็ตาม

อย่างพวกที่โลภมากเนี่ย เคยเห็นไหมครับ บางคนเนี่ย เรามองหน้าปุ๊บเนี่ย รู้สึกเลยว่าคนนี้โลภ คือโลภมาก ท่าทางจะขี้โกง ท่าทางจะคบไม่ได้อะไรทำนองนั้น ไม่น่าไว้ใจ

บางคนก็เหมือนกับว่าดูหล่อดูสวย แต่หล่อแบบน่ากลัว สวยแบบน่ากลัว อันนั้นมันก็เพราะว่าเคยทำบุญมาก็จริง แต่ว่าก็มีความโกรธเจืออยู่ด้วย คือชอบเป็นคนที่แสดงความโกรธง่ายๆ ผิวพรรณก็จะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แล้วก็จะออกแนวที่เห็นแล้วรู้สึกไม่อยากเข้าใกล้ เห็นแล้วรู้สึกว่าเป็นคนหน้าดุ อะไรทำนองนั้น

พี่ฉอด : ถ้าเราพูดถึงสวยไปเลย หล่อไปเลย หรือว่าไม่สวยไม่หล่อไปเลย ก็เป็นแบบหนึ่ง แต่ว่าบางทีมีการพูดถึงว่า เหมือนจะสวย เหมือนจะหล่อ แต่ก็ไม่สวยไม่หล่อเสียที เหมือนยังไม่ค่อยเสร็จอะไรอย่างนี้น่ะค่ะ (หัวเราะ)

ดังตฤณ : ผมขอยกตัวอย่างนะครับ อย่างบางคน เราดูว่าเขาพูดดีใช่ไหม เราดูว่าเขาทำเหมือนพ่อพระ แม่พระ แต่มันแกล้งๆอย่างไรบอกไม่ถูก เพราะส่วนใหญ่คือ เขาอยากจะทำให้ดูดี แต่ใจเขาไม่ได้ดีจริง อันนี้มันก็จะได้รับผลกรรม คือส่วนที่เขาทำดี ที่มันเป็นบุญเนี่ย มันก็จะตบแต่งรูปร่างหน้าตาให้เขาดูดีจริง แต่มันจะดีแบบเลี่ยนๆ ดีที่เห็นแล้วมันรู้สึกทะแม่งๆบอกไม่ถูก อย่างที่พี่ฉอดพูดน่ะ มันหล่อไม่เสร็จ สวยไม่เสร็จ มันจะขาดๆเกินๆ ก็เพราะว่า 'ใจ' ที่ทำดีเนี่ย มันจะขาดๆเกินๆ อยากได้หน้ามากกว่าที่จะทำออกมาจากใจอย่างแท้จริง นี่เป็นแค่ตัวอย่าง

คือในเรื่องการผสมผสานกรรมเนี่ย มันเป็นไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่รู้จบ แล้วผลออกมา มันก็ไม่รู้จบเหมือนกัน เพียงแต่พูดได้คร่าวๆง่ายๆว่า ถ้าทำดีด้วยความบริสุทธิ์แท้จริง มันก็จะออกมาหมดจด แต่ถ้าทำแบบเจือๆอยู่ด้วยความโลภ หรือความโกรธ มันก็จะหล่อไม่เสร็จ สวยไม่เสร็จ แต่ถ้าไม่ทำดีเลย อันนั้นก็จะออกมาหน้าตาอัปลักษณ์เลย หรือไม่ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะมาเกิดเป็นมนุษย์ด้วยซ้ำ

พี่ฉอด : นอกจากนั้นมันก็ยังมีองค์ประกอบอื่นๆอีกน่ะนะคะ เช่นเรื่องของความฉลาดเฉลียว ความร่ำรวยเงินทองอะไรต่างๆ เหล่านี้ก็มีที่มาที่ไปด้วยกันทั้งนั้นเลย

ดังตฤณ : ใช่ครับ

พี่ฉอด : ทีนี้ มันจะกลายเป็นอย่างนี้หรือเปล่าคะ คือพอเรารู้ว่าถ้าทำอย่างนี้มันจะเกิดอย่างนี้ ทำอย่างนี้มันจะเกิดอย่างนี้ มันจะกลายเป็นว่า เราจะทำอะไรก็จะคิดหวังอยากได้อะไรตอบแทนไปหมดเลย อย่างนั้นหรือเปล่า?

ดังตฤณ : ตรงนั้นเนี่ย... มันก็เป็นเรื่องของความเข้าใจ ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า ทำไปด้วยศรัทธาว่ากรรมมีผล มันเป็นแบบหนึ่ง กับทำไปโดยหวังผลด้วยความโลภจัด อย่างนี้มันก็เป็นอีกแบบหนึ่ง อย่างเช่น ยกตัวอย่างนะครับ บางทีเราอาจจะได้ยินว่า ถ้าทำบุญมากๆแล้วจะได้รวยมากๆซึ่งเป็นความเข้าใจในเชิงวัตถุว่า ถ้าหากยิ่งบริจาคมาก มันก็จะยิ่งได้คืนกลับมามาก มันเหมือนนักลงทุน

จริงๆแล้วตามกฎแห่งกรรมเนี่ย ไม่ใช่แบบนั้น เขานับเอาที่ 'ใจ' คือใจเรายิ่งมีความคิดเสียสละมากเท่าไหร่ มันก็จะได้มามากเท่านั้น อันนี้ผมพูดถึงหลักธรรมชาติเลยก็แล้วกันว่า 'ให้ไป คือได้มา' นี่คือหลักธรรมชาตินะครับ ยิ่งให้ไป คือยิ่งได้มา ฉะนั้น ยิ่งทำทานมาก จิตยิ่งเปิดกว้างมาก ก็จะสร้างภพแห่งความกว้างทางฐานะไว้มาก

แต่ถ้าไม่ให้เลย หรือตระหนี่ไว้โดยไม่ใช้ประโยชน์นะครับ หรืออาจจะหนักกว่านั้นคือ ไปต้มเขา ไปโกงเขา หรือไปทำให้เขาล้มละลาย อันนั้นก็คือเหตุที่มาของความยากจน

แล้วในเรื่องของการที่จะร่ำรวย หรืออะไรต่อมิอะไรต่างๆ มันไม่ใช่เรื่องกรรมเก่าอย่างเดียว อย่างการที่เราทำมาหากินสุจริต แล้วก็ขยันขันแข็ง ไม่สุรุ่ยสุร่ายเกินตัว อันนี้ก็จัดเป็นปัจจัยนำ ที่เราจะได้เป็นพ่อค้าหรือว่าเป็นลูกจ้างชั้นดีขึ้นมา เราก็อาศัยปัจจัยหนุน คือวิบากกรรม ที่เคยทำทานไว้มากในอดีต มันก็ช่วยส่งเสริมให้เกิความร่ำรวยขึ้นมาได้ง่ายๆนะครับ

พี่ฉอด : แล้วถ้าหากว่าเราคิดด้วยวิธีนี้เนี่ย เราจะพบว่า การที่เราจะทำบุญบาทหนึ่ง หรือร้อยบาท เราอาจจะได้ผลบุญเท่าๆกันก็ได้ ใช่ไหมคะ?

ดังตฤณ : ถ้าหากว่าเราเข้าใจหลักการนะครับ ตรงนี้ก็จะไม่น่าสงสัย กุศลจิตจะเกิดขึ้นเต็มดวง หรือว่าบุญจะมีพลังแรงกล้าที่สุด ตอนที่คนคนหนึ่งเกิดกำลังใจหนักแน่น ริเริ่มที่จะทำบุญด้วยตัวเอง ทั้งก่อนทำ ขณะทำ แล้วก็หลังทำ มีโสมนัสประกอบ อันนั้น เรียกว่าเป็นบุญขั้นสูงสุด

ทีนี้ ถามว่ากำลังใจที่หนักแน่น มันมาจากไหน ก็มาจากความาสามารถในการสละออก ซึ่งอันนี้แปรผันไปตามสภาพฐานะของแต่ละคน ถ้าคุณมีร้อยล้าน คุณไม่ต้องใช้กำลังใจในการบริจาคเงินหนึ่งพันบาทแม้แต่นิดเดียว ซึ่งก็แปลว่า โสมนัสย่อมจะไม่เกิดขึ้นด้วยการเสียสละเงินหนึ่งพันบาทของคุณ แต่ถ้าคุณมีอยู่ในธนาคารแค่สองสามแสน ทุกอย่างจะต่างไปทันที เริ่มต่างไปนะครับ คือกำลังใจในการควักเงิน จะทำให้คุณ...เหมือนกับได้ยินเสียงหนึบใหญ่เลย ตอนควักกระเป๋า หลังจากบริจาคไป คุณจะรู้สึกโล่งหัวอก ที่เหมือนมีก้อนอะไรมันละลายไป ซึ่งก้อนนั้นมันคือก้อนตระหนี่นี่เอง

ก้อนตระหนี่ที่มันทำให้ใจมันหนัก มันถูกทุ่มทิ้งลงไปซะได้ แล้วยิ่งถ้าหากว่าทั้งเนื้อทั้งตัวคุณเหลือแค่หมื่นเดียวนะครับ สมบัติคุณมีแค่หมื่นเดียว คุณบริจาคหนึ่งพันบาทเนี่ยนะ รับรองแทบน้ำตาจะไหลเลย คือมันมีความกล้าที่จะบริจาค 'ตั้งพัน' โดยพิจารณาแล้วว่าเงินนั้นเป็นไปเพื่อเกื้อกูลคนที่เค้าเดือดร้อนกว่าด้วยนะ ไม่ใช่ว่าอยู่ๆบริจาคพันนึง โดยที่ไม่เห็นประโยชน์อะไรขึ้นมาเลย

เนี่ย... เพราะฉะนั้น พูดถึงจำนวนเงินไม่ได้ มันต้องพูดว่า คุณใช้กำลังใจแค่ไหนในการสละทรัพย์แต่ละก้อน แล้วการทำทานเนี่ยมันไม่ใช่มีแค่เรื่องของการบริจาคทรัพย์ไป มันมีเรื่องการช่วยเหลือด้วยแรงกายก็มี แรงสมองก็มี หรือว่าช่วยให้ความรู้เขาก็มี ให้เขาไปเลี้ยงตัวเองได้ ทานมันมีหลายแบบครับ

พี่ฉอด : แล้วอย่างถ้าพูดถึงอย่างในแง่ของคนปัจจุบันนี้เนี่ยนะคะ โอกาสที่จะทำบุญ ถ้าพูดถึงว่าในแง่ของการทำบุญกันจริงๆจังๆ แบบว่าเข้าวัดทำบุญอะไรอย่างนี้ มันอาจจะมีไม่เยอะน่ะค่ะ ทีนี้ การทำบุญ การทำทาน เหล่านี้เนี่ยมันประกอบกันขึ้นมาเป็นการตอบแทนมาในอย่างเดียวกันหรือเปล่าคะ หรือว่าถ้าไม่ไปสามรถทำบุญได้ เราก็ทำด้วยวิธีอื่นแทนอะไรอย่างเนี้ยะค่ะ?

ดังตฤณ : เอาอย่างนี้เลยก็แล้วกัน พระพุทธเจ้าตรัสว่า แค่สาดน้ำทิ้งที่เราล้างจานข้าว แค่สาดน้ำทิ้งไปในบ่อน้ำ แล้วใจคิดว่า เออ ดีเหมือนกันนะ ถ้าสมมติว่าติดเศษข้าวเศษอะไรที่ติดจานไปเนี่ย มันไปกับน้ำทิ้งด้วย แล้วได้กับสัตว์ในน้ำ คือสัตว์ในน้ำได้กิน แค่ 'คิด' เท่านั้นนะครับ มันก็ได้บุญแล้ว เป็นที่มาของบุญแล้ว

นี่คือบุญในความหมายของธรรมชาติ ที่พระพุทธเจ้าตรัสชี้ หมายความว่าใจเรามันคิด 'ให้' ทั้งๆที่สาดน้ำทิ้งเหมือนกันนะ คนหนึ่งสาดเฉยๆไม่ได้บุญ แต่คนหนึ่งรู้สึก เออ มีเศษข้าวติดจานอยู่ แล้วมันก็น่าจะไปตามน้ำทิ้งด้วย แล้วสัตว์อาจจะได้ข้าวนั้น แค่นี้ใจเป็นบุญแล้ว มันอยู่ที่ว่าจิตของเรา จะไปจับเอาวัตถุอะไรเป็นเครื่องหมายของการทำบุญ

ในชีวิตประจำวันเนี่ย เอาแค่เราให้ทางรถเขาไปก่อน อย่างนี้ก็เป็นที่มาของบุญ มันเป็นทานชนิดหนึ่ง มันเป็นการให้อย่างหนึ่ง หรือว่าเอาแค่สัตว์พวกหมาแมวเนี่ยนะครับ มาอาศัยชายคาบ้านเรา ปกติเราก็จะมองเฉยๆใช่ไหมครับคนส่วนใหญ่เนี่ย หรือนึก เอ๊ะ... มันเข้ามาเดี๋ยวบ้านเราสกปรกอะไรอย่างนี้ คนจะนึกอย่างนั้น แต่ถ้าเจ้าของบ้านอีกคนหนึ่งคิดว่า เออ ดีนะ มันเข้ามาหลบแดดหลบฝน เพราะว่าชายคาบ้านของเราเป็นประโยชน์กับมัน แค่นี้ก็เป็นที่มาของบุญอีกเช่นกัน

เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันเราครับพี่ฉอด ไม่ใช่ว่าเราจะต้องมีทรัพย์เสียก่อน แล้วเราถึงจะมีโอกาสทำบุญได้ ไม่ใช่ว่าเราจะต้องอยู่ใกล้วัด แล้วเราถึงจะมีโอกาสได้ไปทำบุญใหญ่ๆ จริงๆแล้ว แม้แต่การทำให้พ่อเราแม่เรามีความสุข ตรงนั้นก็เป็นที่มาของบุญใหญ่ ราวกับว่าได้ไปวัดแล้ว

พี่ฉอด : เพราะฉะนั้น เราก็จะสามารถทำบุญกันได้ในชีวิตประจำวัน แต่ในขณะเดียวกัน เราก็สามารถจะทำบาปได้ ในทุกอย่างในชีวิตประจำวันเช่นเดียวกันด้วย

ดังตฤณ : บาปเนี่ย มันเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าบุญ เพราะว่าบาปมาจากไหน มาจากการมีโลภะ การมีโทสะ การมีโมหะ แค่สมมติว่าตื่นเช้าขึ้นมาเราพบว่า เครื่องทำน้ำอุ่นไม่ทำงาน แล้วเราโกรธโทษฟ้าโทษดิน หรือว่าโทษหมู่บ้าน โทษองค์การไฟฟ้า หรือว่าโทษองค์การประปา หรืออะไรต่อมิอะไรต่างๆแค่นี้เนี่ยนะครับ เกิดความหงุดหงิด เกิดความครุ่นคิด เคียดแค้นอะไรไป มันก็เป็นบาปแล้ว ในชีวิตประจำวันเราเนี่ย เกิดบุญเกิดบาปขึ้นตลอดเวลาเพียงแต่เราไม่ถูกชี้ให้สังเกต

แต่ว่า พระพุทธเจ้าท่านชี้ให้สังเกตง่ายๆ เมื่อไหร่มีเจตนาที่จะคิดพูดทำ โดยเจืออยู่ด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ตรงนั้นน่ะเป็นบาป หรือว่ากระเดียดไปในทางบาปแล้ว แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่มีความคิดที่จะสละออก มีความคิดเป็นเมตตา มีความคิดที่จะทำความสำคัญผิดอะไรต่างๆให้หายไป ตรงนั้นเป็นบุญ อย่างเช่นการบริจาคเนี่ย ถ้าเราเข้าใจพื้นฐานจริงๆ ก็คือการทำให้จิตมีเมตตานั่นเอง มีความกรุณานั่นเอง คือมันไม่โลภ ไม่ตระหนี่ ไม่หวงไว้

หรือว่าอย่างการที่เราพูดจาสุภาพ เพื่อทำให้คนอื่นเขาฟังแล้วรื่นหู ตรงนั้นมันก็คือทำได้ให้ตัวเองโทสะน้อยลง และก็ไม่ก่อให้คนอื่นเกิดโทสะ นี่ก็เป็นบุญอีกเหมือนกัน เพราะว่ามีการลดละ มีการออกห่างจากตัวโทสะ ไฟโทสะ ความร้อนของโทสะ

เพราะฉะนั้นนะครับ ถ้าหากเรารู้ว่าจะสังเกตอย่างไรแล้วเนี่ย ก็จะเห็นเลยว่า แม้แต่กระทั่งเรานั่งคุยกันอยู่เนี่ยพี่ฉอด มันก็เป็นบุญได้ เราเพียงแต่รู้ว่า คือ ตั้งใจอย่างไรให้คนอื่นเขารู้สึกดี ตรงนั้นก็เป็นที่มาของบุญแล้ว ไม่ต้องไปทำกันที่วัด เราพูดกับคนในบ้านนี่แหละ มันก็เป็นบุญได้

พี่ฉอด : แต่นั่นหมายความว่า เราคงจะต้องมีสติอย่างมากๆ ในการทำอะไรในทุกๆอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต คือปกติแล้วทุกอย่างมันเป็นไปอัตโนมัติมากน่ะค่ะ หลายคนบอกว่า พอโกรธก็โกรธโดยอัตโนมัติ ไม่ได้ตั้งใจด้วยซ้ำไป บางทีมันก็โกรธขึ้นมา หรือจะยิ้มก็ยิ้มอัตโนมัติ แต่เราคงต้องมีอะไรกำกับใจไหมคะ?

ดังตฤณ : คืออย่างนี้ครับพี่ฉอด ก่อนที่จะมีสติได้ เราต้องมีการเรียนรู้ก่อน เราต้องมีความเข้าใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น เราเข้าใจแล้วว่า โลภะ โทสะ มันเป็นที่มาของบาป มันเป็นมูลเหตุของบาป ตรงนั้น ถ้าความเข้าใจตรงนั้นมันขึ้นใจจริงๆนะครับ มันก็เกิดสติขึ้นมาโดยอัตโนมัติ คือมันจะมีความตั้งใจดีๆตามมา

แต่ถ้ายังไม่มีเข้าใจ ตราบใดที่ยังไม่มีความเข้าใจว่า โลภะกับโทสะ มันเป็นที่มาของบาปนะ มันเป็นที่มาของความทุกข์นะ สติเราจะไม่เกิดเลย ถึงแม้ว่าเกิดขึ้น เรารู้ตัวอยู่ก็ตามว่า นี่เรากำลังโลภ นี่เรากำลังโกรธอยู่ แต่มันก็สะใจ นั่นเพราะว่า เราไม่มีความเข้าใจว่า เออ ไอ้ตรงนี้เนี่ยมันมูลเหตุของบาป มูลเหตุของไอ้สิ่งที่มันไม่ดีคืออะไร แต่ถ้ามีความเข้าใจจริงๆแล้ว มันเข้าถึงใจจริง ยอมรับจริงๆศรัทธาจริงๆตรงนั้นเนี่ยครับ สติมันจะตามมาเอง

พี่ฉอด : ค่ะ วันนี้ได้อะไรดีๆเยอะเลยนะคะ จริงๆมันมีอันหนึ่งเหมือนกัน คือว่าถ้าเกิดคุณผู้ฟังฟังอยู่แล้วอาจจะรู้สึกค้าน อาจจะรู้สึกว่าไม่เห็นด้วย หรืออะไรตรงไหนก็ตาม ฟังไปเรื่อยๆนะคะ อย่าเพิ่งหมุนไปไหน (หัวเราะ) ไม่.. คือพี่ฉอดเองเป็นคนชอบคิดค้านเหมือนกัน เวลาอ่านหนังสือก็จะคิดค้านไปด้วยว่าไม่เชื่อ ไม่จริง

ดังตฤณ : ครับ ผมก็ค้านมาเยอะครับ (หัวเราะ)


พี่ฉอด : แต่ว่ามันจะต้องเรื่อยๆไปถึงจุดหนึ่ง แล้วก็จะรู้ว่า อื้ม.. โอเค (หัวเราะ) งั้นเราจะฟังกันไปเรื่อยๆตอนนี้พักสักครู่ก่อน เดี๋ยวกลับมาค่ะ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น