สมมติธรรมของ 'ดังตฤณ'
ปรากฏการณ์เรื่อง 'เสียดาย...คนตายไม่ได้อ่าน' ซึ่งตีพิมพ์เป็นครั้งที่ 16 ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน
ประกอบกับหนังสือของ 'ดังตฤณ' อีก 7 เล่ม ที่พิมพ์แล้วพิมพ์อีก นับแต่ 'ทางนฤพาน' ปรากฏโฉมบนเวบบอร์ดในลานธรรมเสวนาเมื่อ
5-6 ปีก่อน จนทำให้มีผู้อ่านมากมายในเครือข่ายใยแมงมุมที่ซาบซึ้งกับเนื้อหา
ออกมาช่วยกันบริจาคเงินสมทบทุนพิมพ์ 'ทางนฤพาน' แจก
ครั้งนั้น 'เนชั่นสุดสัปดาห์' นัดคุยกับ ศรันย์ ไมตรีเวช เจ้าของนามปากกา 'ดังตฤณ ' ซึ่งหมายถึงต้นหญ้าต้นเล็กๆ
ผู้ยอมเปิดเผยตัวเป็นครั้งแรกในขณะที่ 'ทางนฤพาน' กำลังเนื้อหอมในเวบไซต์
เพียงไม่นานนัก เขาก็บรรเลงเรื่อง 'มหาสติปัฏฐานสูตร' จากพระไตรปิฎกมาเป็นภาษาของคนธรรมดาๆ
ลงในเวบไซต์ลานธรรมเสวนาอย่างต่อเนื่อง
เพื่อไม่ให้กระแสความสนใจปฏิบัติธรรมของกลุ่มผู้อ่าน 'ทางนฤพาน' ขาดช่วง
อีกทั้งให้แฟนๆ ในเวบไซต์ช่วยกันอ่านและวิพากษ์วิจารณ์อย่างละเอียด
ในที่สุด 'มหาสติปัฏฐานสูตร' ก็คลอดออกมาเป็นหนังสือ
โดยเริ่มต้นพิมพ์แจกก่อนเช่นกันในช่วงที่ 'ทางนฤพาน' เริ่มพิมพ์ขายในการพิมพ์ครั้งต่อมากับสำนักพิมพ์ธรรมดา
หลังจากนั้น หนังสือของเขาอีก 6 เล่ม
ก็เรียงร้อยทยอยกันออกมาอย่างไม่ขาดสายจนสามารถทำให้หนังสือธรรมะสามารถยึดพื้นที่ครองอันดับหนึ่งในร้านหนังสืออย่างยาวนาน
วันนี้เรานัดพบกับศรันย์ อีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับ
คุณพ่อวิโรจน์ ไมตรีเวช ผู้กรุยทางธรรมให้กับลูกชายตั้งแต่วัยเยาว์มาสนทนาธรรมกับเบื้องหลังหนังสือทุกเล่มที่มีรากฐานมาจากการค้นพบหัวใจในพระไตรปิฎกที่ผ่านการปฏิบัติจนสามารถนำทางให้ผู้คนพ้นทุกข์มากว่าสองพันกว่าปีมานำเสนอในภาษาดิจิทัลที่เข้าไปอยู่ในหัวใจของผู้อ่านไม่น้อยกว่าหมื่นคนในแต่ละวัน
ต้นหญ้าต้นเล็กๆ ที่เคยคุยกันเมื่อวันก่อน วันนี้เขาบอกว่า
ต้นหญ้าก็ยาวขึ้นบ้างเป็นธรรมดา ส่วนจะเป็นหญ้าอย่างไรก็อยู่ที่ผู้อ่านจะพิจารณา
..
.. .. .. .. .. .. .. .. ..
ต้นกำเนิดเวบไซต์ 'ลานธรรมเสวนา' ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นงานเขียนทุกเล่มของคุณศรันย์
มีจุดมุ่งหมายอย่างไรคะ?
เราตั้งใจให้เป็นที่เข้าใจกันว่า 1.พุทธพจน์มีมาอย่างไร
พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างไร เพื่อเป็นหลักอ้างอิง
2.คนที่อยู่ร่วมยุคร่วมสมัยมีความเข้าใจในพุทธพจน์อย่างไร จะได้มาแลกเปลี่ยนกัน
ในเวบไซต์ก็จะเป็นไปอย่างนี้ทุกบอร์ดที่มีพูดถึงธรรมะ พูดคุยกันเกี่ยวกับธรรมะ ลานธรรมเรามีจุดยืนคือมีการปฏิบัติธรรมซึ่งเป็นแก่นพุทธศาสนามาเป็นหลักตั้ง
แล้วส่วนที่เป็นเกี่ยวกับกรรมวิบาก
หรือว่าความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องตามแนวพุทธอย่างไร
อันนี้เป็นของแถม
เริ่มต้นจริงๆ
คือเราทำให้การปฏิบัติธรรมเป็นของง่ายสำหรับคนยุคปัจจุบัน
เพราะที่ผ่านมาไม่มีแหล่งข้อมูลที่จะบอกว่าการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนาจริงๆ
แล้วฆราวาสก็ทำได้ คนที่ยังไม่มีความตั้งใจอย่างแรงกล้า
ที่จะหลุดพ้นก็สามารถปฏิบัติเพื่อความสุขเฉพาะตนได้เหมือนกัน
ที่ผ่านมาในเมืองไทยคนจะไปนึกถึงภาพพระ ชี สามเณร
แล้วก็นึกถึงสถานที่ปลีกวิเวกตามป่าตามเขา นึกถึงภาพการเดินจงกรมที่เคร่งครัด
นึกถึงภาพการนั่งสมาธิใต้ต้นไม้แบบหลับตา ถ้าเรามาพูดกับคนที่ทำงานในเมือง
พูดอย่างนั้นไม่ได้ เขาไม่มีเวลาปลีกวิเวกกัน
แต่ในชีวิตประจำวันจริงๆ แล้ว
ถ้าเราสามารถรู้เข้ามาว่าขณะนั้นกำลังมีปฏิกิริยาทางอารมณ์แบบไหนอยู่
เป็นทุกข์หรือเป็นสุขแค่นั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการภาวนาแล้ว ถ้าพูดแบบนี้
คนรุ่นใหม่ก็จะเกิดกำลังใจว่ามันไม่ได้ไกลตัว
ปัจจุบันมีพระบางส่วนเริ่มเสื่อมจากการปฏิบัติ
มีภาพฉาวออกมา คนก็เลยนึกว่าศาสนาเสื่อมแล้ว ไม่มีอะไรให้ต้องพูดถึงกันอีกแล้ว
แต่ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่าพระพุทธเจ้าตรัสอะไร
เราจะเห็นว่าแม้ไม่มีผ้าเหลืองเพียงรูปเดียวในประเทศไทย
เราก็ยังได้ประโยชน์จากพุทธพจน์อยู่
เพราะในพุทธพจน์พูดแต่เรื่องของตัวเราเองทั้งนั้น
ไม่มีแม้แต่นิดเดียวที่ไปพูดเรื่องอื่น ถึงแม้ว่าจะไปพูดเรื่องเทวดา สัตว์นรก
แต่ก็เป็นไปเพื่อการบอกว่า ทำอย่างนี้แล้วจะได้ผลอย่างนั้น
คือไม่ใช่ว่าทำไปแล้วสูญเปล่า
ท่านพูดถึงแต่เพียงการปฏิบัติสำหรับมนุษย์ในโลกว่าจะทำอย่างไรจึงจะพ้นทุกข์
ในเวบไซต์ก็เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้กันเพื่อไปสู่การปฏิบัติว่าเราอยู่ตรงไหน
แล้วจะพัฒนาตัวเองอย่างไร
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
พื้นฐานการเขียนแต่ละเรื่องส่วนใหญ่มาจากประสบการณ์และศึกษาจากพระไตรปิฎก?
คือ พระไตรปิฎกเป็นอะไรที่ลึกซึ้ง มีส่วนที่คนเมือง
ฆราวาสทั่วไปไม่ศึกษาก็ไม่เป็นไร อย่างพระวินัยของสงฆ์
ฆราวาสไม่จำเป็นต้องศึกษาแต่รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหามไว้เพื่อที่จะทราบว่าพระทำถูกหรือเปล่า
ฝ่ายฆราวาสก็สามารถเอาผิดพระได้ ในพุทธกาลก็มีฆราวาสที่บอกว่า พระทำอย่างนี้ไม่ถูก
ส่วนหลักของพระไตรปิฎกคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับกรรมและวิบาก
เกี่ยวกับเรื่องของการปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์ตามแนวสติปัฏฐาน 4 ตรงนี้ผมก็ศึกษาด้วยความสนใจ
น้อมนำมาปฏิบัติให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
นี่คือที่มาของหนังสือ 'มหาสติปัฏฐานสูตร'
เล่มใหญ่ ที่เขียนหลังจากเรื่อง 'ทางนฤพาน'?
เวลาที่เราพูดถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องของการปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์
คนส่วนใหญ่จะพูดว่าภาวนาเพื่อพ้นทุกข์ หรือปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์
คราวนี้ภาวนาหรือปฏิบัติธรรมอย่างไรจึงจะพ้นทุกข์ นี่คือคำถาม แล้วสำนักต่างๆ
ก็จะบอกว่าให้ทำตามที่อาจารย์ตัวเองสอน
ถ้าเราไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเอามายืนยันได้
ตัดสินได้อย่างเด็ดขาดว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างนี้ มันก็จะขาดเอกภาพ
ต่างคนต่างไป ถ้าหากว่ามีชื่อหมวดหมู่ของการปฏิบัติชัดเจนเป็นข้อปฏิบัติเป็นขั้นๆ
ชัดเจน มีขอบเขตชัดเจน ไม่กระจัดกระจาย มีทิศทางชัดเจน อย่างนี้ก็ไม่ต้องเถียงกัน
หรือถ้าเถียงกันก็มาลงกันได้ในหลักปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้แน่ๆ
เราก็มาย้อนไปดูว่า ในพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นบันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้าที่น่าเชื่อถือที่สุด
พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องของการปฏิบัติไว้อย่างไร ในหัวข้อ ในหมวดหมู่แบบไหน
ก็จะไปเจอคำว่า 'สติปัฏฐาน
4' คำนี้หมายความว่า
การเอาสติมาตั้งอยู่ในขอบเขตของกาย-ใจไม่ให้ออกไปข้างนอก
'สติปัฏฐาน 4' เขียนไว้ที่ไหนชัดเจนที่สุด ก็คือเขียนไว้ใน 'มหาสติปัฏฐานสูตร' เดี๋ยวนี้คนเรียกกันลางเลือนไปเป็นมหาสติปัฏฐาน 4 ซึ่งเรียกไม่ถูกต้อง คือ สติปัฏฐาน 4 เป็นข้อปฏิบัติ พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับการเจริญสติ
ท่านตรัสว่า เจริญสติปัฏฐาน 4
แต่คราวนี้มีการรวบรวมเป็นสูตรใหญ่ภายหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว
สูตรนั้นจึงได้คำขึ้นต้นเป็นมหา คำเดิมคือ สติปัฏฐาน 4 รวมกันเป็น 'มหาสติปัฏฐานสูตร'
ส่วนแรงบันดาลใจว่าจะเขียน 'มหาสติปัฏฐานสูตร' ขึ้นมา ก็เพื่อที่จะยกเอาพุทธพจน์ดั้งเดิมมาเป็นหลักตั้ง
แล้วก็แจกแจงด้วยประสบการณ์ตรงของผมเอง และนักภาวนาอื่นๆ ว่าปฏิบัติในจุดนั้นๆ
ที่พระองค์ปฏิบัติแบบเป๊ะๆ แล้วได้ผลเป็นอย่างไร เกิดประสบการณ์แบบไหน
ซึ่งการนำเสนอด้วยวิธียกพุทธพจน์เป็นที่ตั้งแล้วเอาประสบการณ์จริงมาเป็นตัวสนับสนุนพุทธพจน์
แสดงให้เห็นว่า ถึงยุคสมัยเปลี่ยนไปเป็นพันๆ ปี
หรือถึงแม้ว่าจะไม่ต้องนุ่งเหลืองห่มเหลืองแบบพระ
เป็นฆราวาสอยู่ก็ยังสามารถปฏิบัติได้ นี้เรียกว่าไม่จำกัดกาล ไม่จำกัดบุคคล
ไม่จำกัดแม้แต่สถานที่ เพียงแค่รู้จริงๆ ว่าจะเอาสติมาตั้งไว้ในกายในใจ
ก็เป็นผลพิสูจน์ยืนยันว่าพุทธพจน์เป็นอกาลิโก ไม่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย
เรายังสามารถเห็นผลได้ตลอดไป ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
ขอเพียงอุปกรณ์อย่างเดียวคือ ใจแบบมนุษย์ หรือกายแบบมนุษย์ ตรงนี้คือที่มาของ 'มหาสติปัฏฐานสูตร'
เดิมทีตั้งใจทำเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ แถมไปกับ 'ทางนฤพาน' เพราะว่า
'ทางนฤพาน' เราพยายามสร้างให้เป็นแรงจูงใจ
แนวทางปฏิบัติและผลของการปฏิบัติอยู่ในที่เดียวกัน
พออ่านไปแล้วคนส่วนใหญ่เกิดความไม่มั่นใจ เพราะมันเป็นนวนิยาย ก็มักจะถามกันว่า ปฏิบัติตามหนังสือได้หรือเปล่า
ผมเลยตัดปัญหาว่า ออกหนังสืออีกเล่มหนึ่งเป็นการปฏิบัติธรรมล้วนๆ
ซึ่งแสดงพุทธพจน์เป็นหลักตั้งก่อนด้วย
แล้วเอาประสบการณ์ตรงทั้งของตนเองและของคนอื่นมาสนับสนุนพุทธพจน์
ไม่ใช่สนับสนุนความเห็นของตนเอง แต่สนับสนุนพุทธพจน์ขึ้นมาเป็นหลักตั้ง จะเห็นว่า
ทั้งเล่มของมหาสติปัฏฐานสูตรมีพุทธพจน์นำขึ้นมาก่อน
ไม่ได้นำขึ้นมาด้วยความเห็นของเรา เพราะ
ฉะนั้นสารบัญจะเป็นสารบัญที่เกิดจากหัวข้อธรรมะหลักใน 'สติปัฏฐาน 4' คือไม่ใช่สารบัญที่เกิดจากการคิดของเรา หรือความเห็นของเรา
..
.. .. .. .. .. .. .. .. ..
เป็นการโยงโลกสมมติมาสู่ธรรมะ
พล็อตเรื่องของผมมีตัวละคร
และมีความจริงอยู่ในนั้นด้วยคือกฎแห่งกรรม ปกติถ้าเป็นนิยายในโลกมายาทั่งๆ ไป
ไม่ต้องคำนึงถึงความจริงก็ได้ เอาความสนุกเข้าว่า หรือเอาอารมณ์ดรามาอย่างเดียว
ตัวละครจะเลวแค่ไหนไม่ต้องรับผลความเลวก็ได้ ตัวละครจะดีแค่ไหน ไม่ต้องรับผลของความดีนั้นก็ได้
แต่พล็อตของผมก็คือว่า เอาธรรมะมานำเสนอในรูปแบบนวนิยายนั่นหมายความว่า
ตัวละครสมมติขึ้นได้ พล็อตเรื่องสมมติขึ้นได้ แต่กฎแห่งกรรมจะไม่มีการสมมติ
คือตัวละครแต่ละตัวมีที่มาที่ไป ไม่ใช่แค่พื้นเพครอบครัว
ความรู้ ความเชื่อ แต่เป็นแบล็กกราวเกี่ยวกับกรรมและวิบากด้วย เช่นว่า
ถ้าหากสมมติตัวละครเป็นนางเอก แล้วนางเอกหลงตัว มีการเอาแต่ใจตัวเอง
สิ่งที่นิยายของผมจะทำหน้าที่ก็คือ แสดงให้เห็นว่า ในช่วงที่หลงตัว
ในช่วงที่เอาแต่ใจตัวเอง มันจะมีผลกรรมอะไรที่ปรากฎออกมาชัดๆ ซึ่งถ้าหากว่า
คนที่มีลักษณะบุคคลิกเช่นเดียวกับนางเอก อ่านดูก็จะรู้ว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ เช่น 'กรรมพยากรณ์' ตอนแรก ชนะกรรม
จะมีเสียงสะท้อนจากคนที่มีนิสัยเแบบเดียวกับนางเอกที่ชื่อลานดาวมากันเยอะมากว่าเขาเป็นอย่างนั้นจริงๆ
เขาอ่านแล้วก็สะท้อนกลับมาว่า เหมือนเอาชีวิตเขาไปเขียน ทั้งๆ ที่จริงเราไมได้เอาชีวิตเขาไปเขียน
แต่เรารู้ว่ากรรมแบบนั้นถ้าทำแล้วจะเกิดผลอย่างไร
เช่น ผู้หญิงที่ชอบไปหลอกผู้ชายมากๆ
หรือว่าชอบไปทำให้เขาหลง โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้ชอบเขา ในที่สุดวันหนึ่ง
มันก็จะต้องเจอหมากปราบเซียนของกรรมวิบากของกฎแห่งกรรม คือ
กฎแห่งกรรมจะส่งใครสักคนที่มาชนะใจเขา แล้วทำให้เขารัก
ทำให้เขาหลงในแบบที่มันเป็นไปไม่ได้ สำคัญอยู่ตรงที่ว่า
พออยู่ในเรื่องจริงไม่มีใครมาบอก ว่านี่เป็นผลกรรมที่เกิดจากการไปหลอกเขามา
มันถึงต้องถูกหลอกบ้าง หรือไม่สมหวังบ้าง
คือบางทีไม่ได้ถูกหลอกแต่ว่าไปรักคนที่ไม่สามารถจะรักได้ คือต้องผิดหวังบ้าง
เป็นกฎของการสะท้อนกลับ เราส่งแรงอะไรกลับไป คือทำให้คนอื่นรู้สึกอย่างไร
ไอ้ความรู้สึกแบบเดียวกันนั้นวันหนึ่งมันจะย้อนกลับมาหาตัวเรา นี่คือกฎแห่งกรรม
กฎของการสะท้อนกลับ ผมเอากฎแห่งกรรมจริงๆ มาพูด
นี่อาจจะเป็นนิยายธรรมะในแบบที่ทำให้คนยุคเดียวกันเข้าใจว่ากฎแห่งกรรมยังมีอยู่นะ
ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน
..
.. .. .. .. .. .. .. .. ..
'มหาสติปัฏฐานสูตร', 'ทางนฤพาน' มาจนถึง 'กรรมพยากรณ์' ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง?
บอกตามตรงว่า
รู้สึกแปลกใจเพราะคนที่ชอบกับคนที่ไม่ชอบมันไม่แน่นอน บางคนชอบธรรมะอยู่ก่อน
แต่พออ่าน 'ทางนฤพาน' แล้วอาจไม่ชอบก็ได้ ขณะที่บางคนไม่ชอบธรรมะอยู่ แต่พอมาอ่าน
'ทางนฤพาน' ตั้งแต่ต้นจนจบ
อ่านแค่ไม่กี่วันก็จบ คือเอาแบ็คกราวนด์ของคนอ่านมาเป็นตัวชี้ไม่ได้
แต่อย่าง 'กรรมพยากรณ์' เป็นนวนิยายเป็นตอนๆ ในนิตยสาร 'บางกอก' มันเกิดจากออกแบบว่าเราจะเขียนให้กับคนที่ยังไม่มีพื้นฐานทางศาสนา
ยังไม่มีความสนใจทางศาสนาได้อ่านแล้วเกิดความสนใจ หันมาสนใจเรื่องกรรมวิบาก
หันมาสนใจว่าพระพุทธเจ้าพูดอะไร
หันมาสนใจว่าถ้าปฏิบัติตนตามหลักพุทธศาสนาแล้วจะเกิดอะไรขึ้น พูดง่ายๆ
ว่าเราหวังผลกับคนที่ยังไม่เคยฟังว่าพระพุทธเจ้าพูดว่าอะไร แต่ 'ทางนฤพาน' เราคาดหวังอยู่ก่อนนิดๆ
ว่าคนมาอ่านต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพุทธศาสนาพอสมควร เนื่องจาก 'ทางนฤพาน' ตอนที่เขียน
ยังไม่มีตัวอย่าง ยังไม่มีผลสะท้อนจากผู้อ่าน ยังไม่มีความเข้าใจอะไรทั้งสิ้น
บทแรกเอาธรรมะขึ้นมาพูดเลย เพราะตอนแรกเขียนลงในนิตยสารเกี่ยวกับธรรมะ
พูดเรื่องโลกๆ ไม่ได้
ส่วน 'กรรมพยากรณ์' เกิดขึ้นจากการได้รับผลสะท้อนจาก 'ทางนฤพาน' มาแล้ว
เรารู้แล้วว่าคนไม่ผ่านกันใน 2-3 บทแรก
เพราะเขาเห็นว่าเป็นธรรมะ เห็นว่าเป็นของยาก แต่ 'กรรมพยากรณ์' 5-6 บทแรก แทบจะไม่มีธรรมะเลย เป็นเรื่องสนุกๆ ที่คนทางโลกเขาชอบอ่านกัน
คือไม่ต้องให้เขาฝืนใจ เรารู้ว่าเบื้องปลายเราต้องการให้เราได้รับฟังธรรมะอย่างไร
อีกกลุ่มหนึ่งเราได้ผลสะท้อนทันทีจาก 'ทางนฤพาน' ว่าเขาเปิดปุ๊บวางปั๊บ
ไม่เอาเลย ตั้งแต่เห็นชื่อ 'ทางนฤพาน' แล้ว เขาไม่ต้องการธรรมะ เขาต้องการความสนุก เพราะฉะนั้นพอเราเข้าใจจุดยืนตรงนี้
เขียนเรื่องใหม่ เราก็ให้เขาไป ให้ความสนุกนำธรรมะขึ้นมา
แต่ในขณะเดียวกันเราไม่ทิ้งจุดยืน
เรายังต้องการให้เขาเกิดความเข้าใจในเรื่องกรรมวิบาก
เรายังต้องการให้เขาเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าพูดอะไรเป็นแก่นสาร นี่แหละคือ 'กรรมพยากรณ์' และเนื้อหาก็บอกว่า
ถ้าอยากจะเปลี่ยนแปลงกรรมจะต้องทำอย่างไร แต่ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจเสียก่อนว่า
เราถึงกำลังเป็นอย่างที่เป็นอยู่ นี่แหละก็จะโยงเข้าไปในกรรมวิบากอย่างครบวงจร
หลักของกรรมวิบากจะบอกเราว่าที่เรามาเป็นแบบนี้เพราะทำอะไรมา
และเพื่อที่จะเอาชนะตนเอง ชนะกรรมเก่าของตนเอง จะต้องทำกรรมแบบไหน
จะต้องทำกรรมที่เป็นคู่ตรงกันข้ามกันอย่างไร มันเป็นที่มาของคำว่า 'ชนะกรรม' เพราะตัวเอกของเรื่องพยายามเอาชนะในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ในที่สุดผลออกมาเป็นความชื่นใจ หลังจากรู้แล้วว่าหลักกรรมวิบากเป็นอย่างไร
ตัวเองจะต้องทำอย่างไร จึงจะไปถึงสิ่งที่ตัวเองต้องการ
'กรรมพยากรณ์' ตอน 2
เราก็จะออกแบบไปอีกแบบหนึ่ง เป็นตอน 'เลือกเกิดใหม่' ชื่อตอนเหมือนกับว่า พูดถึงอนาคต
แต่เราจับจุดคนที่เชื่อเรื่องภพชาติกันแบบไม่มีพื้นฐานประกอบ คือจะเชื่อกันเฉยๆ
ว่าจะต้องเกิดใหม่ ถ้าทำบุญจะต้องเป็นคนรวย เป็นคนมีอำนาจอะไรทำนองนี้
คือแทนที่จะเชื่อคร่าวๆ ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
เราจะนำเสนอรายละเอียดผ่านชีวิตธรรมดาของตัวละคร พูดง่ายๆ
จะให้ข้อสรุปว่าการใช้ชีวิตในปัจจุบันของแต่ละคนนั่นแหละ
คือวิธีการเลือกเกิดใหม่ของแต่ละคน ไม่ใช่ว่า เราตั้งใจจะไปเกิดเป็นนั่นเป็นนี่
แล้วทำอะไรแค่อย่างไรอย่างหนึ่ง แต่จะแจกแจงลงไปเลยว่า
สิ่งที่ทุกคนทำอยู่ทุกอย่างนั่นแหละ เป็นตัวกำหนดว่าชาติหน้าจะเป็นอะไร
มีคุณสมบัติแบบไหน มีความอยาก มีความประณีตต่างกันอย่างไร
สมมติว่าเราจะไปเลือกเกิดใหม่ เป็นมนุษย์
เป็นหญิงหรือเป็นชาย หน้าตาดีขนาดไหน เป็นคนมีฐานะร่ำรวยหรือยากจน
และก็เป็นคนที่มีระดับสติปัญญาน้อยหรือมาก
อันนี้ก็จะแยกไปเขียนเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งคือ 'เสียดาย...คนตายไม่ได้อ่าน'
..
.. .. .. .. .. .. .. .. ..
'เสียดาย...คนตายไม่ได้อ่าน' พิมพ์ถึง 16 ครั้งกับสำนักพิมพ์ดีเอ็มจี
ภายในเวลาไม่กี่เดือน มีอะไรอธิบายปรากฏการณ์นี้ เป็นการตลาดช่วยด้วยหรือเนื้อหามาแรง?
คือเราตอบคำถามให้ตรงใจคน ยิงให้เข้าเป้า ทำภาษาให้ง่าย
คิดไตเติ้ลให้น่าสนใจ อย่าง 'เสียดาย...คนตายไม่ได้อ่าน' รู้ตั้งแต่แรกว่า คนน่าจะสนใจ ถามว่านี้คือการตลาดไหม ใช่
คือฉากหน้าเราดี ข้างในต้องดีด้วย หนังสือบางเล่ม ไตเติ้ลดีมาก อยากอ่าน
แต่อ่านแล้วไม่ได้อะไรเลยก็มี
พอมาทำเองก็คิดว่า ไตเติ้ลดี เนื้อหาต้องดีด้วย
ผมไมได้แค่นำเสนอว่า ทำกรรมอะไรมาถึงได้มาเป็นแบบนี้ แต่นำเสนอด้วยว่า
ที่กำลังทำอยู่ในปัจจุบันตายไปแล้วจะไปอยู่ที่ไหนได้บ้าง ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้
นอกจากนั้นก็ยังมีพูดถึงว่าที่ยังมีชีวิตเป็นมนุษย์อยู่ทำอะไรแล้วเกิดประโยชน์สูงสุด
เรียกว่าพูดครบเลยว่าที่มาที่ไป ที่เรามาเป็นอย่างนี้เป็นอย่างไร
และเราจะใช้ชีวิตอย่างไรไม่ให้เกิดทุกข์ซ้ำซาก
..
.. .. .. .. .. .. .. .. ..
ชื่อ 'เสียดาย...คนตายไม่ได้อ่าน' ได้มาอย่างไรคะ?
ขณะที่ผมเขียน 'กรรมพยากรณ์' ตอน 2 อยู่
ก็มีคนมาบอกว่า ญาติเขาป่วยกำลังจะตาย
เขาขอให้ผมเขียนหนังสือให้เล่มหนึ่งให้ญาติเขา เป็นหนังสือสำหรับคนตายโดยเฉพาะ
ตอนแรกๆ ผมก็รับมา ก็คิดว่าน่าสนใจดี เพราะที่ผ่านมาเขียนหนังสือให้กับคนเป็น
ยังไม่เคยเขียนให้กับคนที่กำลังจะลาโลก เพราะคนที่กำลังจะลาโลก จริงๆ
แล้วมีกำลังที่จะศึกษาธรรมะมากกว่าคนที่เป็นอยู่
เพราะคนที่เป็นอยู่มีแต่ความประมาท แต่คนที่กำลังจะตาย รู้แน่ว่าจะไม่รอด
เพราะฉะนั้นเอาอะไรติดตัวไปได้ก็จะเอาไปเต็มที่
พอผมรับคำขอนั้นมา แต่ก็ยังนึกไม่ออกว่าคอนเซปต์ของหนังสือจะเป็นอย่างไร
วันหนึ่งตอนกำลังจะอาบน้ำ ก็เกิดนึกถึงญาติที่เขาขอมาว่าป่านนี้ตายไปหรือยัง
ก็เลยเกิดความรู้ตอนนั้นว่า น่าเสียดายนะถ้าเขาไม่ได้อ่าน ก็เลยผูกออกมาว่า 'เสียดาย...คนตายไม่ได้อ่าน' พอคำนี้ปิ๊งขึ้นมาก็รู้สึกว่าน่าสนใจทั้งคนที่กำลังจะไป
และคนที่กำลังอยู่ด้วย พอได้ไตเติ้ลปุ๊บคอนเซปต์ก็ตามมาว่า
คนกำลังจะตายเขาอยากรู้อะไร แล้วคนกำลังอยู่เขาอยากรู้อะไร คือคนกำลังจะตาย
กับคนที่กำลังอยู่อยากรู้ไม่เหมือนกัน
คนกำลังอยู่มักจะถามกันว่าเกิดมาทำไม
แทนที่เราจะไปตามคำถามแบบชาวโลกว่า เกิดมาทำไม เราชี้เป็นประเด็นชัดเจนเลยว่า
ที่มาเกิดเป็นแบบนี้ เพราะอะไร ทำกรรมอะไรมา นั่นก็คือว่า
มาเกิดเป็นมนุษย์ได้อย่างไร เป็นหญิงเป็นชายได้อย่างไร ทำไมถึงหน้าตาดี
ทำไมถึงฐานะดี ทำไมถึงสติปัญญาดี เราก็จะแจกแจงชัดเจน
..
.. .. .. .. .. .. .. .. ..
ที่คุณศรันย์ศึกษามาเกี่ยวกับกรรมกำหนดมาเกิดนี่ไม่มีฟลุ้คเลยหรือคะ?
ไม่มีฟลุ้ค ไม่ว่าจะเชื่อหลักของวิทยาศาสตร์หรือหลักของพระพทุธเจ้า
มีอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือว่า ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ
ทุกอย่างต้องไหลมาแต่เหตุเสมอ ผลต้องไหลมาแต่เหตุ ไม่ใช่อยู่ๆ เกิดขึ้นลอยๆ
ไม่มีเหตุ ไม่มีที่ไปไม่มี
ทุกอย่างไหลมาแล้วไปสู่จุดจบเพื่อแปรเปลี่ยนไปเป็นสภาพอื่นเสมอ
แม้แต่ความพอใจและความไม่พอใจที่เรามาเกิดเป็นมนุษย์ แม้แต่เพศ
มีกรรมเป็นตัวกำหนดเสมอ
นั่นคือส่วนเกี่ยวกับ 'เกิดมาทำไม' ที่คนอยากรู้กัน
คราวนี้สำหรับคนจะตายเขาก็ต้องการรู้ว่าที่เขาทำๆ มาทั้งชีวิตจะส่งเขาไปอยู่ไหน
เพราะคนกำลังจะตายจะเริ่มเชื่อว่าไอ้ที่ตายท่าทางจะไม่ใช่จุดจบ เพราะจะมีสังหรณ์
มีสัญชาตญาณ ซึ่งแต่ละศาสนาจะให้คำตอบไม่เหมือนกัน
แต่คนเราไม่สามารถรู้ได้ด้วยตัวเองว่าตายแล้วจะไปไหน ผมก็เลยเอาพุทธพจน์มาแสดงว่า
ถ้าทำกรรมแบบนี้จะไปได้แค่นี้ แค่นี้ ถ้าอ่านมาถึงตอนที่ว่าตายแล้วไปไหนได้บ้าง
คนก็น่าจะเกิดคำถามขึ้นมาว่า เกิดตายไปเรื่อยๆ แบบไร้แก่นสาร
มันน่าจะมีอะไรที่เป็นจุดสูงสุดซึ่งเป็นคำตอบที่น่าพอใจแล้วเป็นหลักการที่น่าปฏิบัติในปัจจุบัน
เป็นส่วนสุดท้ายของหนังสือ
นั่นคือว่าที่กำลังมีลมหายใจอยู่ในปัจจุบันนี้ควรจะทำอะไร
จึงจะคุ้มค่าที่สุด ก็จะนำพุทธพจน์มาอีกว่า โลกันตรนรก เป็นที่ที่มืด
เป็นที่ซึ่งน่ากลัว แสงพระอาทิตย์ส่องไปไม่ถึง แล้วก็มีภิกษุถามท่านว่า ไอ้ที่ๆ
มืดกว่าโลกันตรนรกมีอีกไหม พระพุทธเจ้าตรัสว่ามี นั่นคือ ความไม่รู้
ความยึดมั่นถือมั่นที่ทุกคนกำลังมีอยู่นั่นแหละ ยึดมั่นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน
ยึดมั่นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง พูดง่ายๆ ก็คือ จิตใจที่มืดบอดของทุกคนนั่นแหละ
น่ากลัวที่สุด
โลกันตรนรกยังพ้นกันได้ เมื่อหมดแรงส่งของกรรม
แต่ความมืดบอดของจิตใจที่ไม่รู้แล้วสำคัญว่ารู้ ตรงนี้แหละที่น่ากลัว
เพราะมันจะไม่หมดไปโดยบังเอิญ และจะไม่หมดไปโดยที่กรรมเก่าหมดการให้ผล
ความไม่รู้เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ไปเรื่อยๆ ไม่มีวันที่จะออกได้ด้วยการบังเอิญ
หรือไม่มีวันจบได้ด้วยการหมดแรง
แต่จะจบได้ด้วยการศึกษาพุทธพจน์ที่ตรัสแสดงถึงความจริง
และได้ปฏิบัติตามแนวทางที่จะหลุดพ้นออกจากความไม่รู้
..
.. .. .. .. .. .. .. .. ..
ในเรื่องของกรรม
สามารถเปลี่ยนกรรมหนักเป็นเบาได้ไหม?
การเอาชนะกรรมไม่ใช่เพียงวันสองวัน
ไม่ใช่แค่การปฏิบัติอะไรง่ายๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่มันต้องมีการลงทุนลงแรง
ทำตามที่พระพุทธเจ้าตรัสตามสติปัฏฐาน 4 อย่างทุ่มกายถวายชีวิต อย่างพระองคุลิมาล แม้กระทั่งว่าจะโดนชาวบ้านเอาอะไรขว้างปา
ท่านก็ไม่โต้ตอบ ไม่ทำร้ายกลับ ต้องใช้เวลา และใช้หลักการที่ถูกต้อง
การชนะกรรมไม่ง่าย แต่ทำได้ ถ้าหากว่ารู้จริงๆ ว่าจะชนะได้อย่างไร
แต่คนที่ชนะกรรมกันไม่ได้เพราะไม่รู้ทาง หรือรู้ทางแต่ไม่ทำจริง ไม่เอาจริง
หรือทำจริงแต่ไม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะคนปัจจุบันจะมีความอดทนน้อย รักความสบาย
พอมาทำอะไรที่ทวนกระแสเลยมีกำลังอ่อน พอปฏิบัติไปหน่อยก็ไม่ไหวแล้วก็เลิก
มันก็ไม่ได้ผล
..
.. .. .. .. .. .. .. .. ..
จุดประสงค์ในการเขียนหนังสือทุกเล่ม?
ข้อแรก ตั้งใจจะให้รู้ ให้เข้าใจจริงๆ
ว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าอย่างไร ข้อสอง
ให้ศึกษาว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้สามารถประยุกต์ใช้กับชีวิตจริงได้
เป็นของจริง ไม่ใช่ของที่คิดเอา แต่งเอา และข้อสาม
มีการตั้งความปรารถนาไปถึงประโยชน์ทสูงสุดที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
จะหวังให้คนได้ปฏิบัติทำความเพียรกันอย่างต่อเนื่องแบบพระทั้งหมด
ผมไม่ได้หวังถึงขนาดนั้น แต่ให้มีเชื้อไว้ มีเหตุไว้ มีปัจจัยไว้ทำในชาตินี้
ไม่ใช่อธิษฐานทำในชาติอื่นๆ
ผมมักพูดเสมอว่า การที่เราสั่งสมนิสัยแบบไหนไว้
นิสัยแบบนั้นแหละที่จะติดตามตัวเราไปเหมือนเงา เช่น ถ้าหากเราตั้งความปรารถนาว่า
ขอให้ข้าพเจ้าได้มรรคผลนิพพานในชาติใดชาติหนึ่งเถิด
มันก็จะกลายเป็นนิสัยติดตัวไปทุกชาติเลย แต่ถ้าชาตินี้
เราตั้งใจไว้เลยว่าขอปฏิบัติให้เต็มที่จากฐานที่มีอยู่
จุดเริ่มต้นที่ตัวเองกำลังเป็นอยู่ ขอทำเต็มที่ให้ได้มรรคผลนิพพานในชาตินี้
จะได้หรือไม่ได้ไม่สำคัญ เอาใจไว้ก่อนว่าใจสู้หรือเปล่า เอาตัวนั้นไว้ก่อน
ถ้าหากมีใจสู้ ต่อให้ไม่ได้ในชาตินี้ แต่มันก็จะสั่งสมไว้ในชาติต่อๆ ไปว่า
ขอให้ข้าพเจ้าปฏิบัติจนได้มรรคผลนิพพานในชาติปัจจุบัน
นี่แหละตรงนี้แหละที่ผมพยายามเน้น คือเราสั่งสมวิธีคิดอย่างไร นิสัยแบบไหน
ตรงนั้นแหละที่จะติดตามตัวเราไป
..
.. .. .. .. .. .. .. .. ..
มีคนเคยกล่าวว่า
ถ้าตั้งจิตให้ได้มรรคผลนิพพานในชาตินี้
กรรมหนักทั้งหลายจะถั่งโถมมาจนตั้งรับไม่ไหว เลยเกิดความกลัว?
การที่คนแสดงความเชื่อกัน เราต้องแยกให้ออกว่า
สิ่งที่เขาพูด อาจเป็นประสบการณ์ตรงของเขาก็ได้ แต่ขอให้พิจารณาว่าตรงนั้น
เป็นหลักความเชื่อ หรือประสบการณ์เฉพาะตน มันไม่ใช่ความจริงสากล การที่เราพูดว่า
เราตั้งใจอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นอยากได้มรรคผลนิพพานในชาติปัจจุบัน
แล้วต้องเผชิญกับอุปสรรค เรามาพิจารณาดูว่า เป็นหลักสากลจริงไหม
ในสมัยพุทธกาล มีอุบาสก อุบาสิกา มีพระ มีภิกษุณีเยอะแยะเลย
ที่ปรารถนามรรคผลนิพพานแล้วปฏิบัติได้ภายใน 3 วัน 7 วัน หรือว่าบรรลุธรรมต่อหน้าพระพุทธเจ้า
นี่ก็สามารถมายันได้ว่า ถ้าอยากได้มรรคผลนิพพานในชาติปัจจุบันแล้วจะเผชิญอุปสรรค
อันนี้ก็ไม่เป็นความจริง เพราะคำว่าสัจจะสากล
สัจจะความจริงที่ยั่งยืนต้องไม่มีข้อยกเว้น
นี่ถ้ามีเพียงคนเดียวที่ตั้งสัจจะแล้วปฏิบัติจนได้มรรคผลนิพพานแสดงว่าไม่เป็นความจริง
..
.. .. .. .. .. .. .. .. ..
เรื่องนี้สะท้อนอยู่ในหนังสือ '7 เดือนบรรลุธรรม'?
เล่มนี้แสดงไว้ค่อนข้างละเอียด 7 เดือนที่ผมพูดถึง คือคนที่พร้อมจะปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าเป๊ะๆ
แล้ว ตัวละครที่อยู่ใน '7 เดือนบรรลุธรรม' ก่อนหน้านั้น เขาปฏิบัติสมาธิภาวนามาแล้วช่วงหนึ่ง แต่ไม่ได้ผล
เพราะว่าไปเชื่อแนวการสอนที่ไม่ตรงกับจริตของตน หรือไม่ตรงกับพระพุทธเจ้า
แต่พอมาเริ่มต้นวันแรกที่เขาถือศีลสะอาดแล้ว มีสติ มีสัมปชัญญะอย่างคนธรรมดาดีพอแล้ว
มาเริ่มจับจุดตั้งหลักจากแนวทางสติปัฏฐาน 4
ที่พระพุทธเจ้าตรัสเป็นขั้นเป็นตอน ตรงนั้น 7
เดือนจึงเป็นไปได้ ด้วยความเพียรอย่างต่อเนื่อง
ใน '7
เดือนบรรลุธรรม' ผมเขียนไว้ในคำนำชัดเจนว่า
โปรดอ่านตรงนี้ก่อน เป็นเรื่องแต่งนะ แต่เป็นเรื่องแต่งที่รวบรวมเอาประสบการณ์จริงของตัวผมเอง
และเพื่อนนักปฏิบัติภาวนา รวมทั้งคำสอนของครูบาอาจารย์ต่างๆ มารวมไว้ให้สอดรับกัน
ประสานกับมหาสติปัฏฐานสูตร
ในท้ายเล่มจะบอกเลยว่า
ทั้งหมดที่เขียนมาเป็นไปตามมหาสติปัฏฐานสูตรโดยแท้เลย คือเริ่มจากการดูลมหายใจ จนเกิดสติคมชัด
แล้วก็มาดูอิริยาบถ การเคลื่อนไหวทางกาย
แล้วก็มาดูความสุขความทุกข์เป็นของไม่เที่ยง มาดูสภาวะจิตสภาพต่างๆ มาจนถึงบทท้ายๆ
สำรวจตัวเองตามแนวมรรคมีองค์แปดว่า
ขณะนั้นจิตตนเองมันดำเนินไปตามมรรคมีองค์แปดแล้วหรือยัง และในบทส่งท้ายผมก็บอกว่า
ทั้งหมดเป็นเรื่องแต่งนะ
แต่เรื่องแต่นี้เกิดขึ้นมาเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจมหาสติปัฏฐานสูตรอย่างง่ายๆ
จุดสำคัญของ '7 เดือนบรรลุธรรม' สิ่งที่ต้องการไม่ได้ตั้งใจให้คนอ่านเกิดกิเลสว่าจะทำให้ได้
7 เดือนตามนั้นบ้าง แต่จุดสำคัญคือ
เมื่ออ่านเรื่องนี้จบแล้วกลับมาอ่าน 'มหาสติปัฏฐานสูตร'
จะเข้าใจว่าตอนนี้ตัวเองอยู่ตรงไหน
ควรปฏิบัติอย่างไรตามแนวสติปัฏฐาน 4 ไม่ต้องไปถกเถียงตามแนวความเชื่อต่างๆ
เพราะความเชื่อต่างๆ บางทีเป็นการจับเฉพาะจุดของสติปัฏฐาน 4 ออกมาแล้วมาเน้นปฏิบัติกัน
แต่สติปัฏฐาน 4 ที่จะปฏิบัติตลอดสายตั้งแต่ต้นไปหาปลายที่เอามาเขียนอย่างละเอียดใน
' 7เดือนบรรลุธรรม'
..
.. .. .. .. .. .. .. .. ..
ต้องบวชด้วยไหม?
พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างชัดเจนในมหาสติปัฏฐานสูตร ว่า
ใครก็ตามถ้าได้ปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน 4 แล้ว อย่างสูงไม่เกิน 7 ปีได้อรหันตผล
อย่างกลางไม่เกิน 7 เดือน อย่างเร็วไม่เกิน 7 วัน คือได้อรหันตผลนะ แต่ใน '7 เดือนบรรลุธรรม'
แสดงไว้แค่โสดาปัตติผล แล้วตัวละครก็เป็นแค่ฆราวาสที่ทำงานในออฟฟิศหนึ่ง
คืออย่าไปดูว่าบรรลุหรือไม่บรรลุธรรม แต่ขอให้ดูรายละเอียดที่แสดงไว้ว่า
ฆราวาสก็สามารถปฏิบัติธรรมได้ โดยที่ไม่ต้องแยกตัวเข้าป่า
ไม่ต้องแม้แต่กระทั่งว่าถือศีล 8 เอาแค่ถือศีล 5 ให้บริสุทธิ์ก็เพียงพอแล้วที่จะเป็นบันไดขั้นแรก
..
.. .. .. .. .. .. .. .. ..
แล้วจะ 'เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว
' ได้อย่างไร ถ้าเริ่มต้นจากบันไดขั้นแรก?
เล่มนี้เป็นถามตอบจากคอลัมน์ในนิตยสาร 'บางกอก' เนื่องจากผมได้ผลสะท้อนจากผู้อ่านมากต่อเนื่องหลายปี
แล้วเห็นความจริงอย่างหนึ่งว่า คำถามไม่มีทางสิ้นสุด คำตอบก็ไม่มีทางสิ้นสุด
แต่เราสามารถเลือกได้ว่าคำถามอะไรที่คนถามกันบ่อยมากที่สุด
แล้วคำตอบแบบไหนที่ตอบแล้วจะเกิดความเข้าใจครอบคลุมเนื้อหาทางพุทธศาสนากว้างมากที่สุด
นี่เป็นที่มาของ 'เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว ' อย่างเช่นคำถามที่คนชอบถามว่า กรรมมีจริงหรือเปล่า ตายแล้วไปไหน เป็นต้น
ทุกวันนี้คนไทยยังอยากได้คำตอบอยู่ตลอดเวลา
..
.. .. .. .. .. .. .. .. ..
ผู้อ่านที่เป็นสมาชิกดังตฤณดอทคอม
ตอนนี้มีเยอะไหม
วันละหมื่นกว่าคนที่เข้าเวปไซด์ เอาเป็นรูปธรรมดีกว่า
อย่างงานสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมา มีคนไปขอลายเซ็นต์ตั้งแต่บ่ายโมงถึงหนึ่งทุ่ม
มีเด็กอายุตั้งแต่ 14 ปี
เขาอ่าน 'เสียดาย...คนตายไม่ได้อ่าน' บางคนก็อ่าน
'กรรมพยากรณ์ ' อันนี้เป็นรูปธรรมว่า
เขาซื้อของเขามาเอง อ่านเอง ไม่ใช่ได้รับการเกลี้ยกล่อมมาจากใคร
ก่อนหน้านั้นที่ผมเจอกับตัว ก็มีเด็กอายุ 12 ปี อ่าน '7 เดือนบรรลุธรรม ' ซื้อด้วยเงินของเขาเอง
คนที่อายุสูงสุดก็อายุ 90 ปี ที่ยังมีสายตาที่อ่านหนังสือได้
ผมประทับใจที่สุด มีผู้สูงอายุท่านหนึ่งอายุ 80 ปี ขับรถเองเพื่อไปซื้อหนังสือ 'มหาสติปัฏฐานสูตร' ที่สำนักพิมพ์ธรรมดา
พอหนังสือเล่มอื่นๆ ออกมาผมส่งไปให้ถึงที่เลย เป็นจุดว่า บางทีเราไปมองคนแก่ว่า
แก่แล้วไร้สมรรภาพ ไม่จริง แก่แล้วปฏิบัติธรรมได้เร็วกว่าคนหนุ่มสาวก็มี
เพราะเขารู้ตัวแล้ว
..
.. .. .. .. .. .. .. .. ..
พิมพ์กับสำนักพิมพ์ธรรมดากี่เล่มคะ?
มี 'ทางนฤพาน'
เป็นเล่มแรก ตอนนี้ก็พิมพ์ครั้งที่ 4 แล้ว 'มหาสติปัฏฐานสูตร' พิมพ์ครั้งที่ 9 ตามมาด้วย '7 เดือนบรรลุธรรม' ก็พิมพ์ครั้ง 7 เล่มสุดท้ายคือ 'วิปัสสนานุบาล' สำหรับเล่มหลังนี้จุดกำเนิดมาจากร้านหนังสือ
เขาบอกว่า มีคนอ่านมาบอกว่า เห็นนานแล้วหนังสือคุณดังตฤณ แต่ยังไม่พร้อมจะอ่าน เพราะหนาเกินไป
ช่วยไปบอกคุณดังตฤณหน่อยให้เขียนหนังสือเล่มเล็กๆ ลงมานิดหนึ่ง ผมเลยเอาเลย
เพราะความตั้งใจจริงคืออยากเขียนหนังสือเล่มเล็กอยู่แล้วให้มันราคาถูกที่สุดชนิดเหมือนกับให้เปล่า
20 บาทได้ยิ่งดี
แต่เขียนหนังสือธรรมะเล่มเล็กไม่ใช่เรื่องง่าย ประการแรกควรจะมีคนเชื่อถือแล้วพอสมควร
ประการที่สองเนื้อหาที่อยู่ในหนังสือเล่มเล็กๆ นั้นมันจะต้องครอบคลุม
จะต้องเข้าเป้า จึงจะเป็นประโยชน์ เพราะหนังสือเล่มเล็กๆ เขาเอาไว้ทิ้งกัน
คือไมได้เอาไว้อ่าน ไม่ได้เอาไว้ปฏิบัติ นี่คือที่มาของวิปัสสนานุบาล
คำว่าวิปัสสนาคือการรู้เห็นตามความเป็นจริง ส่วนอนุบาล
ก็คือขั้นแรก เริ่มต้นเมื่อมาสนธิกันก็เป็น 'วิปัสสนานุบาล' เป็นขั้นแรกของการปฏิบัติวิปัสสนา
แค่ร้อยกว่าหน้า
..
.. .. .. .. .. .. .. .. ..
แล้ว 'หลวงพ่อสติ' ที่ออกมาคู่กับหนังสือเล่มเล็กที่พิมพ์กับสำนักพิมพ์ดีเอ็มจี ราคา 990 บาท ที่มาที่ไปอย่างไร?
'หลวงพ่อสติ' คือส่วนที่แยกออกมาจาก
'วิปัสสนานุบาล' นี่แหละ คือ 'วิปัสสนานุบาล' อ่านแล้วไม่ต้องถอนสายตาออกจากหนังสือ
อ่านแล้วปฏิบัติได้เลย อยู่เดี๋ยวนั้นเลย ให้ดูว่าขณะนี้ลมหายใจเข้าหรือลมหายใจออก
ลมยาวขึ้นหรือสั้นลง แล้วมีอยู่ข้อหนึ่งที่แสดงไว้ใน 'วิปัสสนานุบาล'
ว่า
ถ้าคุณรู้ว่าการรู้ลมหายใจหมายถึงการเริ่มมาอยู่กับปัจจุบันจริงๆ ส่วน 'หลวงพ่อสติ' เป็นเครื่องมือคล้ายๆ
กับนาฬิกาจับเวลาที่ใช้ระบบเตือนแบบสั่น
ซึ่งผมเคยแนะนำให้เข้าไปซื้อได้ด้วยตัวเองที่ Invisibleclock.com แต่แพงนะ ราคา 1,600 บาท
พอคนสนใจกันมาก ใช้แล้วได้ผล ถามกันเข้ามาเยอะ
คราวนี้ก็มาคิดกันว่า น่าจะทำกันเองได้ คุณพัฒน์ ลดาวงศ์วิวัฒน์
กับบรรดาญาติธรรมได้ร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาอุปกรณ์นี้ขึ้นมา ตอนแรกก็ทำแจกฟรี
แต่พอแจกฟรีแล้วใช้งบสูงมาก ต้องมีผู้บริจาคมาเรื่อยๆ พอคุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย
เจ้าของสำนักพิมพ์ดีเอ็มจีได้รู้ แล้วผมก็เอาอุปกรณ์ชิ้นนี้ไปให้แกลอง
แกลองห้อยอยู่ชั่วโมงเดียงสั่งฝ่ายการตลาดเลยให้ทำออกมาขายให้เคียงกับต้นทุนมากที่สุด
คือราคา 990 บาทพร้อมคู่มือเล่มเล็ก
คือผมไปอธิบายหลักการให้คุณดนัยฟังว่า มันจะสั่งเตือนทุกสองนาทีไม่ต้องทำอะไรเลย
รู้ลมหายใจอย่างเดียว แล้วรู้แค่ครั้งเดียว อย่าไปพยายามรู้ให้ต่อเนื่อง
รู้ทุกสองนาทีตามการสั่นของหลวงพ่อสติ แล้วจะรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
..
.. .. .. .. .. .. .. .. ..
'หลวงพ่อสติ' ตอนนั้นออกมาพร้อมกับ 'เสียดาย...คนตายไม่ได้อ่าน'
เป็นความบังเอิญที่ออกมาพร้อมกัน ตอนนั้นพอนำ 'หลวงพ่อสติ' ไปให้คุณดนัยใช้ดู
คือความมุ่งหมายตอนนั้นรู้ว่าแกมีชมรม 'คนรู้ใจ' ก็คิดว่าจะเอาไปเผยแพร่ต่อ ก็มองว่า ถ้าทำออกมาวางขายตามร้านทั่วไป
คนทั่วไปจะเข้ามาซื้อหากันง่ายกว่า ไม่ต้องพึ่งในระบบการบริจาคที่เป็นงานอดิเรก
ทำเอาบุญ คือ 'หลวงพ่อสติ' เป็นร้อยๆ
องค์ แจกพรึบวันเดียวหมด แล้วจะให้ทำแบบนี้ไปตลอดได้อย่างไร
มันก็ต้องทำออกมาในรูปแบบมาตรฐานที่คนทั่วไปสามารถหาได้ด้วยตัวเองไม่ลำบากมาก
แล้วก็ไม่แพงเกินไป บางคนอาจว่าแพง แต่ขอให้ไปเปรียบเทียบกับเพจเจอร์ดูว่าแพงไหม
..
.. .. .. .. .. .. .. .. ..
ก่อนหน้านั้นพิมพ์อยู่กับสำนักพิมพ์ธรรมดาแล้วทำไมย้ายมาที่สำนักพิมพ์ดีเอ็มจีคะ
คือนวนิยาย ผมเขียนลงนิตยสาร 'บางกอก' อยู่แล้ว
ผมก็เลยมีสำนักพิมพ์ 'บางกอก' พิมพ์นวนิยาย
ส่วนการพิมพ์หนังสือธรรมะก็พิมพ์กับสำนักพิมพ์ธรรมดา อย่าง 'มหาสติปัฏฐานสูตร'
เล่ม 2 ก็จะพิมพ์กับสำนักพิมพ์ธรรมดา
ส่วนธรรมะร่วมสมัยสำหรับคนรุ่นใหม่ก็จะมาทางสำนักพิมพ์ดีเอ็มจี
..
.. .. .. .. .. .. .. .. ..
นามปากกา 'ดังตฤณ' ที่หมายถึง ต้นหญ้าต้นเล็กๆ ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ดังแล้ว
ชักจะมีตัวตนใหญ่ขึ้นหรือเหมือนเดิม?
ที่ตั้งชื่อเอาไว้ เหมือนกับถ่อมตัว เหมือนหญ้าต้นเล็กๆ
ตอนนี้ถ้าจะเป็นหญ้ายาวเฟื้อยหรือมีวัชพืชก็บอกตัวเองว่านั่นไม่ใช่แล้ว การที่หนังสือขายดี
หรือการที่มีคนรู้จักมาก มันไม่ใช่จุดประสงค์เบื้องต้น
จุดประสงค์เบื้องต้นคืออยากให้คนในยุคปัจจุบันเข้าใจพระพุทธเจ้ากันมากๆ
ถ้าจุดประสงค์เดิมยังอยู่แล้วผมยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม
ก็แปลว่าบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ตั้งแต่แรก ความดังไม่ใช่เป้าหมาย แต่อยากบันทึกเรื่องที่พระพุทธเจ้าสอนให้ปรากฏเป็นรูปแบบที่ถาวรมากที่สุดคือหนังสือ
ผมอยากให้เวลากับตรงนี้มากจริงๆ เพราะผมเคยได้แรงบันดาลใจจากหนังสือ
นิตยสารมาตั้งแต่เด็กๆ แม้เวลาผ่านไป หนังสือก็ยังคงอยู่ ก็คิดว่า
ถ้าใช้ทุกชั่วโมงในชีวิตที่เหลือให้คุ้มค่าที่สุด ทำพระธรรมให้ปรากฏในรูปแบบที่ถาวรมากที่สุด
การที่ออกไปทำกิจกรรมากๆ พบปะผู้คน ไม่ใช่จุดประสงค์เดิม
คนที่ผมพบเจอประจำตอนนี้ก็คือพ่อค้าขายข้าวแกงหน้าบ้าน
ผมไม่ได้สร้างภาพเป็นบุคคลลึกลับ
แต่มีความตั้งใจที่จะเขียนหนังสืออย่างเดียว แล้วงานเขียนก็ช่วยให้ผมรู้จักตัวเองด้วย
รู้ว่าผมต้องการเป็นนักเขียน
ก็ย้อนกลับไปตอบคำถามที่ว่าตอนนี้หญ้ามันยาวขึ้นมาแค่ไหนแล้ว
ผมก็ยังมีจุดยืนเดิม ยอมรับว่ายาวขึ้น แต่ยังคงอยู่ที่พื้นดินตำแหน่งเดิม
ดินไม่ได้สูงขึ้น
..
.. .. .. .. .. .. .. .. ..
ตอนนี้เขียนเรื่องอะไรอยู่คะ?
'กรรมพยากรณ์' ตอน 2 เลือกเกิดใหม่กำลังจะจบ แล้วก็ 'เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว'
เขียนไปเรื่อยๆ ลงในนิตยสาร 'บางกอก' กลางปีนี้จะเขียน 'มีชีวิตที่คิดไม่ถึง' ให้กับสำนักพิมพ์ดีเอ็มจี หลังจากนั้นจะเป็น 'มหาสติปัฏฐานสูตร'
เล่ม 2 ซึ่งค้างไว้หลายปีแล้ว
ก็จะเขียนให้สำนักพิมพ์ธรรมดา
..
.. .. .. .. .. .. .. .. ..
เว็บไซต์ดังตฤณดอทคอมแฟนเยอะไหม?
ช่วงสองเดือนที่ผ่านมา 9,000 กว่าคนต่อวัน ช่วงเดือนที่ผ่านมาขึ้นมาถึง 13,000
กว่าคนต่อวัน ก็กำลังดูอยู่เหมือนกันว่าอะไรเป็นเหตุ-ปัจจัย มันก้าวขึ้นมาเยอะมาก
ถ้ามีแนวโน้นแบบนี้ก็ดี เพราะทุกตัวอักษรที่ผมเขียนสามารถเข้าไปอ่านฟรีในนั้นหมด
คือไม่ต้องซื้อหนังสือของผมก็ได้ แต่เข้าไปอ่านที่พระพุทธเจ้าสอนว่าท่านสอนว่าอย่างไร
มีคนหน้าใหม่เข้ามาอ่านทุกวัน ทำให้ผมเห็นผลลัพธ์อย่างหนึ่งคือ
ธรรมะไม่ใช่เรื่องล้าสมัย และตรงกันข้ามเลย ถ้าหากว่าทุกวันนี้ไม่มีธรรมะนั่นแหละ
คนจะล้าสมัย
อย่างในคอลัมน์ 'ชักธงรบ' หน้า 3 ไทยรัฐ
พี่กิเลน ประลองเชิง พูดขึ้นมาคำหนึ่งบอกว่ามันเป็น 'สัญญาณธรรม'
ที่หนังสือธรรมะขายดี คนเขียนไม่ได้ประโยชน์อย่างเดียว
แต่หมายถึงมีคนอีกเยอะเลยที่เริ่มมีความสนใจว่าธรรมะคืออะไร พระพุทธเจ้าพูดอะไร
ถ้าหากว่าหนังสือธรรมะขายดี หมายความว่า
มีคนจำนวนมากที่ไม่ได้เอาเงินส่วนนั้นของเขาไปใช้ในเรื่องโลกๆ
ไม่ได้จ่ายค่าสุรายาเมา
แต่ไปจ่ายเพื่อเอาอะไรบางอย่างที่เขาไม่เคยคิดเลยในชีวิตว่ามันมีอยู่ใกล้ตัวเขาที่สุดเลย
หรืออย่างที่คุณสันติ สถาพรสถิต เจ้าของสำนักพิมพ์ธรรมดา
ได้พูดไว้ว่า
การที่หนังสือธรรมะมายืนอยู่ในตำแหน่งขายดีในร้านหนังสือมันไม่ใช่ประโยชน์ส่วนบุคคล
มันเป็นประโยชน์โดยรวม (ไม่เฉพาะหนังสือของผม) เพราะมีคนอีกเยอะแยะเลยที่สนใจทั้งๆ
ที่ตอนแรกไม่ได้สนใจที่จะซื้อ เพราะเดิมหนังสือธรรมะจะไปอยู่หลังร้าน
แต่เมื่อมาอยู่หน้าร้าน
ก็ทำให้เขาเปลี่ยนใจเมื่อเห็นหน้าปกกับเรื่องที่น่าสนใจสำหรับเขา
ถึงวันนี้คนไทยจำนวนหนึ่งเป็นผู้กำหนดว่าหนังสือธรรมะควรจะอยู่ที่หน้าร้าน
ผมเองก็คิดว่า ถ้าเรายังทำตรงนี้อยู่ก็อยากจะให้ตรงนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ
ไม่ใช่แบบไฟไหม้ฟาง ทำอย่างไรให้คนรู้สึกว่า
นี่ไม่ใช่จุดสุดท้ายที่หนังสือธรรมะมาวางบนแท่นอันดับหนึ่ง หรือแท่นหนังสือท็อปเทน
แต่นี่เป็นเพียงก้าวแรกที่ทำให้หนังสือธรรมะที่มีคุณค่าอีกมากมายของนักเขียนท่านอื่นๆ
หรือของครูบาอาจารย์ท่านอื่นๆ ที่ทำให้เมืองไทยเปลี่ยนแปลงไป
เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่คนรุ่นใหม่ ซึ่งเคยคิดว่าเขาจะไม่สนใจธรรมะอีกแล้ว
กลับพลิกไปว่าคนรุ่นใหม่จะเป็นกำลังสำคัญในการศึกษาและปฏิบัติธรรม
อย่างที่ผมสัมผัสมาว่ามีเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจอ่านหนังสือธรรมะตั้งแต่อายุ
12 ปี พอเขาไปถึงอายุ 20 ปี เขาอาจจะเขียนขึ้นมาเองในแบบที่เด็กอายุ 20
ปีวันนี้ทำไม่ได้ เพราะเขาเริ่มรู้ตั้งแต่อายุ 12 ปี อีก 8 ปี ถ้าเขาเข้าใจธรรมะจริงๆ เขาทำอะไรได้เยอะแยะมากมาย โดยเฉพาะช่วงต้นวัยที่ยังไม่มีอะไรมาบล็อกความคิดเขา
พอเขาได้แรงบันดาลใจอย่างแท้จริง มีความลึกซึ้งในธรรมจากหัวใจ ขอแค่เด็ก 12 ปี ร้อยคนในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเกิดอะไรขึ้น
ตอนนั้น คนอาจจะลืมผมไปแล้วก็ได้ แต่คนรุ่นใหม่ที่เขาสื่อสารด้วยกันเข้าใจ
เขาก็จะมาทำหน้าที่ตรงนี้แทน และอาจทำได้ดีกว่าที่ผมกำลังทำอยู่
คือผมไมได้มองแค่ว่าหนังสือธรรมะขายดี แต่ผมมองว่า
คนที่มาซื้อหนังสือธรรมะขายดีตั้งแต่อายุน้อยอยู่ ได้มีความก้าวหน้าในเส้นทางนี้
อีก 8 ปี 9 ปี
จะจะเกิดอะไรขึ้น ขอให้รอดู
..
.. .. .. .. .. .. .. .. ..
คิดจะทำสำนักพิมพ์เองหรือเปล่า?
ไม่เลย สิ่งที่ผมทำได้จริงๆ ไม่ใช่ธุรกิจ
สิ่งที่ผมทำได้จริงๆ
คือขยายความคิดออกมาจากกรอบแคบจำกัดในโพรงสมองเราดังออกมาเกินขอบเขตของหัวเรา
นี่คือหน้าที่ของนักเขียน ถ้าหากว่าผมพยายามทำในสิ่งที่ไม่ได้ถนัดจริงๆ
จะผิดธรรมชาติเดิมๆ ถ้าต้องเขียนอยู่ด้วย แล้วไปทำอย่างอื่นด้วย
พลังงานจะถูกบั่นทอนไป และถ้าผมทำอย่างอื่นที่เป็นธุรกิจด้วย ผมจะไม่รู้จักตัวเอง
แล้วจะลืมจุดประสงค์เริ่มต้นว่าคืออะไร คือผมทำจริงแล้วโฟกัสอยู่อย่างเดียว
..
.. .. .. .. .. .. .. .. ..
แล้วการปฏิบัติธรรมของคุณศรันย์
เขียนแล้วปฏิบัติไปด้วยอย่างไรบ้าง?
ทุกสิ่งที่เขียนอย่างไรก็ฝึกปฏิบัติไปตามนั้น
ไม่ได้พยายามมาลวงโลก
..
.. .. .. .. .. .. .. .. ..
ครอบครัวล่ะคะ?
สถานภาพตอนนี้ก็โสด
________________
บทสัมภาษณ์คุณดังตฤณทั้งหมด :
รู้จักดังตฤณ
บทสัมภาษณ์คุณดังตฤณ "ชีวิตนี้ไม่มีฟลุ้ค" (บทความนี้)
อ่านบทสัมภาษณ์คุณพ่อวิโรจน์ ไมตรีเวช (คุณพ่อคุณดังตฤณ) >> คลิกที่นี่
อ่านบทสัมภาษณ์คุณดังตฤณ (หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ) >> คลิกที่นี่
ประวัติคุณดังตฤณจากกระทู้ในเว็บลานธรรม
กิเลนประลองเชิง เขียนถึงคุณดังตฤณ (ไทยรัฐ)
รู้จักดังตฤณ
บทสัมภาษณ์คุณดังตฤณ "ชีวิตนี้ไม่มีฟลุ้ค" (บทความนี้)
อ่านบทสัมภาษณ์คุณพ่อวิโรจน์ ไมตรีเวช (คุณพ่อคุณดังตฤณ) >> คลิกที่นี่
อ่านบทสัมภาษณ์คุณดังตฤณ (หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ) >> คลิกที่นี่
ประวัติคุณดังตฤณจากกระทู้ในเว็บลานธรรม
กิเลนประลองเชิง เขียนถึงคุณดังตฤณ (ไทยรัฐ)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น