วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

พี่ฉอดสัมภาษณ์คุณดังตฤณ (ช่วงที่ ๒)

<< อ่านบทสัมภาษณ์ก่อนหน้า

พี่ฉอด : ต้องถามย้อนกลับไปนิดหนึ่งก่อนว่า มีความสนใจในเรื่องแบบนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่คะ?

ดังตฤณ : ก็.. ตั้งแต่ประมาณ ม. ๕ นะครับ ผมก็เหมือนเด็กทั่วไป ที่มีความทุกข์ มีความสุข มีความคาดหวัง มีความสงสัยเกี่ยวกับชีวิต เท่าๆกับเด็กธรรมดาทั่วไปในวัยนั้น แต่ของผมอาจจะ... ล้ำหน้า มีความสงสัยล้ำหน้าเด็กรุ่นเดียวกันมานิดหนึ่ง คือตรงที่ว่า ถ้าหากว่าเราเกิดมาแล้วไม่ได้ชอบทำอะไรเลยสักอย่างเดียว มันจะมีชีวิตไปเพื่ออะไร อันนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้อยากศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของจิตวิญญาณจริงจัง

ตอนนั้นไม่ได้นิยามว่ามันคือธรรมะ แต่นิยามว่า เออ... เป็นเหตุผลภายใน เป็นเหตุผลของจิตวิญญาณที่ต้องการแสวงหาคำตอบ ที่น่าพอใจที่สุดในชีวิต จริงๆแล้วคุณพ่อก็พยายามที่จะปูพื้นฐานธรรมะมาให้ตั้งแต่เด็กๆซึ่งก็มีอยู่ก่อนหน้านะครับ เพียงแต่ว่ามาอยู่ในช่วงที่ลงล็อกจริงๆตอนช่วงประมาณ ม. ๕ ครับ

พี่ฉอด : ก็คือเริ่มต้นจากโจทย์ที่ไม่ได้เป็นเรื่องศาสนา

ดังตฤณ : ไม่ใช่เรื่องศาสนา ครับ

พี่ฉอด : เป็นเรื่องความสนใจหรือความอยากรู้ส่วนตัว กับเรื่องทั่วๆไปของชีวิตก่อน แล้วอะไรคือสิ่งที่ลากพาเราจนเข้าไปสู่เรื่องศาสนาได้?

ดังตฤณ : ตอนแรกก็... อ่านหนังสือในห้องสมุดของโรงเรียน ทีนี้อยู่ๆก็นึกอยากรู้ขึ้นมาว่าวิปัสสนาทำกันอย่างไร ก็ได้อ่านหนังสือของท่านอาจารย์ธรรมรักษา ที่เกี่ยวกับสมาธิและวิปัสสนาโดยตรง ตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้น

พี่ฉอด : ค่ะ ก็คือเกิดสิ่งที่รู้สึกว่า...

ดังตฤณ : 'ใช่' แล้ว

พี่ฉอด : เราได้คำตอบ ได้คำตอบเพิ่มมากขึ้น ก็เลยศึกษามาเรื่อยๆ

ดังตฤณ : ครับ ใช่ครับ

พี่ฉอด : ชีวิตช่วงเด็กๆของคุณตุลย์เป็นอย่างไรบ้างคะ?

ดังตฤณ : ก็เหมือนเด็กธรรมดาทั่วไปน่ะนะครับ คือ...

พี่ฉอด : เป็นคนกรุงเทพฯ?

ดังตฤณ : คือ... เกิดที่ ชลบุรี แล้วก็มาเรียนตั้งแต่ ป.๑ นะครับ จริงๆแล้วเป็นขี้สงสัยน่ะนะครับ แล้วก็เต็มไปด้วยความกลัว ที่ไร้เหตุผล แล้วช่วงเด็กเนี่ย ด้านไม่ดีจะมีให้เห็นชัดกว่าด้านดี

พี่ฉอด : เช่น... อย่างไรคะ (หัวเราะ)?

ดังตฤณ : อย่างเช่นปากคอเราะร้าย ทำอะไรไม่ค่อยคิดถึงใจคนอื่น แล้วขี้เกียจเรียนอย่างยิ่งเลย คือ.. ไม่ใช่เด็กเกเรนะครับ คือไม่ใช่ประเภทที่ว่าหนีเรียน หรือว่าปีนกำแพงโรงเรียนทุกบ่าย...

พี่ฉอด : ทะเลาะวิวาท ชกต่อย อะไรอย่างงี้?

ดังตฤณ : ครับ ไม่ใช่แบบนั้น คือมีบ้าง แต่อืม... เป็นเด็กขี้เกียจเรียนก็แล้วกัน เพราะเหตุผลคือ ไม่เห็นเหตุผลความสำคัญของการมีชีวิตว่า จะอยู่ไปเพื่อเรื่องน่าชอบใจอะไรได้ คือ ตรงนั้นแหละ... ที่เป็นปมน่ะนะครับ คือเรารู้สึกกับชีวิตว่า รู้สึกสังสัยว่า ทำไมเราต้องมี ทำไมเราต้องเป็น อย่างทำการบ้านเนี่ย ทำไมเราต้องมานั่งหลังขดหลังแข็ง คือมัน... มีเหตุผลอะไรที่เราต้องมาเหนื่อยแบบนี้ แล้วเราสงสัยจริงๆ แล้วมันสงสัยที่ค่อนข้างจะล้ำเส้นเด็กวัยเดียวกัน เพราะเด็กวัยเดียวกันเนี่ย ก็... จะไม่คิดอะไรมาก อย่างมากเขาให้ทำก็ทำ เบื่อบ้างอะไรบ้าง ก็จะไม่อยากหาคำตอบ

พี่ฉอด : สงสัยแล้วถึงขนาดต่อต้านไหมคะ ไม่ทำ อะไรอย่างเนี้ยะ?

ดังตฤณ : ไม่ถึงขนาดต่อต้าน คือผมทำมาตามกฎเกณฑ์ของสังคมทั่วไป อย่างเขาจะจบปริญญาตรีกัน ผมก็พยายามเรียนให้จบนะ บอกตรงๆว่าจะเอาใจพ่อ จะเอาใจแม่ ถ้าสมมติว่าเกิดมา มีตัวคนเดียวเนี่ย บางที อาจจะไม่ได้เรียนจบปริญญาตรีก็ได้ คือคนที่เรียจบปริญญาตรีเนี่ย ส่วนใหญ่นะ เขาเห็นพอยท์ว่า จะออกมาทำงานแน่นอน จะออกมามีชีวิตที่เป็นสุข มีครอบครัว มีเงินดือน

แต่สำหรับผม การเรียนปริญญาตรี คล้ายๆกับว่าเรียนเพื่อเอาใจพ่อแม่ แล้วก็บอกตัวเองว่า ไอ้ตรงนี้เนี่ย เราทำหน้าที่แล้วนะ แต่ระหว่างที่เรียนเนี่ย จริงๆแล้วก็เข้าห้องสมุด แล้วก็ไปเปิดพระไตรปิฎกอ่าน คือตำราเรียนเนี่ย ถึงเวลาต้องอ่าน ก็อ่านตามหน้าที่ บ้าง... แต่ว่าใจไม่ได้รัก ตอนเข้าห้องสมุด ไปเปิดพระไตรปิฎกฉบับประชาชน ของท่านอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพเนี่ยอันนั้นมีความรู้สึกเหมือนไปกินขนม เหมือนได้เวลากินขนม และเป็นขนมที่ชอบ และก็กินได้ไม่เบื่อ

พี่ฉอด : แล้วก็ยังจบมาด้านคอมพิวเตอร์

ดังตฤณ : ใช่ครับ

พี่ฉอด : ทำไมถึงเลือกเรียนทางด้านนี้ล่ะคะ?

ดังตฤณ : เพราะช่วงนั้นนะ สารภาพตามตรงว่า เพราะรู้สึกว่ามันเข้ากับผู้ชาย ความเป็นผู้ชาย คือเหมือนกับว่า ตามความคิดของเด็กวัยรุ่นเนี่ย ถ้าหากว่าเรียนอะไรที่มันเป็นแมน มันก็น่าจะดีกว่าเรียนอะไรประเภทที่...เดี๋ยวคนหาว่าเป็นผู้หญิงอะไรเงี้ยะนะ

ทั้งที่จริงแล้วเนี่ย ถ้าเอาความถนัด เราอาจจะถนัดเรื่องภาษามากกว่า แต่ว่าโดยความรู้สึกเนี่ย บอกว่า ชายน่าจะเรียนเกี่ยวกับกลไกอิเลคทรอนิคส์ แล้วประจวบกับที่ว่าช่วงก่อนที่จะเรียนคอมพิวเตอร์เนี่ย มีความสนใจทางคอมพิวเตอร์อยู่จริงๆด้วยระดับหนึ่ง

พี่ฉอด : แล้วในที่สุดได้เอามาใช้ประกอบอาชีพไหมคะ?

ดังตฤณ : ครับ พอจบอออกมาก็ทำซอฟท์แวร์อยู่ในช่วงต้นๆ จริงๆแล้ว ผมเริ่มต้นวิชาชีพด้วยการสอนคอมพิวเตอร์ในปีสุดท้ายก่อนจบด้วย พอจบมาแล้วถึงได้ทำงานเกี่ยวกับซอฟท์แวร์ ซึ่งตอนนั้น อาจารย์สุชัย ธนวัฒน์เสถียร เนี่ยก็... คิดทำเกมส่งออกนอก ภายใต้ชื่อบริษัท ไอโซแฟคท์ ก็ไปเป็นเกมดีไซน์เนอร์ให้เขา แล้วขณะเดียวกัน ก็เป็นโปรแกรมเมอร์ไปด้วย

แล้วระหว่างนั้น เพื่อนที่บริษัทไอโซแฟคท์ ก็แนะนำให้เขียนบทความคอมพิวเตอร์ให้กับซีเอ็ด พอเขียนไปพักหนึ่ง ก็ขยับขึ้นเป็น เขียนหนังสือคอมพิวเตอร์

พี่ฉอด : อืม... ก็มาแนวนั้นแล้วล่ะ (หัวเราะ) แต่ในที่สุดแล้ว ก็วกกลับมาในสิ่งที่บอกว่าเป็นขนมหวานสำหรับชีวิตตัวเองจนได้

ดังตฤณ : ครับ คือมาเขียนธรรมะเนี่ย ที่พูดมาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ข้างต้นเนี่ย ผมพูดถึงการเขียนเพื่อการเลี้ยงตัวเป็นเรื่องเป็นราว แต่ความจริงแล้ว ก่อนหน้านั้น บทความชิ้นแรกเลยที่ออกสู่สายตาคนอ่านทั่วไปจะเป็นบทความธรรมะ คือเขียนให้กับนิตยสารเครือโลกทิพย์ฉบับหนึ่งน่ะนะครับ เพราะฉะนั้น คือก็กล่าวได้ว่าผมเขียนแนวธรรมะมาตั้งแต่ต้น แล้วมีช่วงหนึ่งที่เขียนคอมพิวเตอร์...บ้าง เพื่อเลี้ยงตัว

พี่ฉอด : แล้วมาถึงวันนี้นี่ ถือว่าเขียนหนังสืออย่างเดียวเลยไหมคะ?

ดังตฤณ : ใช่ครับ

พี่ฉอด : ทำไมไม่ได้คิดว่าจะใช้วิชาคอมพิวเตอร์ในการประกอบอาชีพใดๆอีก คิดว่าการเขียนหนังสือ ควรจะเขียนหนังสืออย่างเดียว?

ดังตฤณ : มัน... มันถึงจุดที่รู้สึกว่า... พอแล้ว สำหรับหนังสือคอมพิวเตอร์ เพราะเราก็เขียนมาพอสมควร และเรารู้สึกว่าตรงนั้นมันไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพราะปัจจุบันมันก็เหมือนกับ... ช่วงที่หันมาออกหนังสือธรรมะโดยตรงเนี่ย เราก็เหมือนกับ.. เออ.. เราขอแค่พออยู่ก็พอ แล้วก็เหมือนคล้ายๆความรู้ความสามารถ ทักษะความชำนาญในการเขียน มันเริ่มเป็นไปได้ ที่เราจะเขียนหนังสือแนวอื่น

พี่ฉอด : ไม่ทราบว่าจะละลาบละล้วงเกินไปหรือเปล่าที่จะตั้งคำถามนี้ เป็นคนอยากรู้อยากเห็นค่ะ (หัวเราะ)

ดังตฤณ : ครับ ได้ครับ

พี่ฉอด : คือว่า ที่คุณตุลย์เขียนเอาไว้ว่า อะไรก็ตามแต่ มันมีที่มาที่ไป หมายความว่า มันต้องมีเหตุมา แล้วมันถึงจะมีผล ทีนี้อย่างวันนี้ ถ้าลองคิดกันว่า เพราะอะไรคุณตุลย์ถึงได้มาเป็นคนเขียนหนังสือธรรมะ เพื่อให้ผู้คนได้อ่านแล้วก็ได้รู้ได้เข้าใจในสิ่งที่ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น?

ดังตฤณ : ผมจำความรู้สึกของตัวเองได้ ในช่วงที่มีความสงสัยในชีวิตอย่างมาก แต่ละครั้งที่ผมได้คำตอบอะไรแต่ละอย่างเนี่ย มันมีนิสัยส่วนตัวอย่างหนึ่ง ตั้งแต่เด็กๆ พอรู้อะไร เห็นอะไรแล้ว อยากให้คนอื่นเขารู้หรือว่าได้เห็นตาม หรือว่าถ้า... คำถามอะไรที่เป็นคำถามพื้นๆคำถามที่ถามกันทั่วไป หรือข้อสงสัยที่คนส่วนใหญ่อยากรู้อย่างเห็นกันเนี่ย ถ้าสมมติว่าผมเกิดไปได้คำตอบอะไรที่โดนใจ ที่มันรู้สึกว่าใช่จริงๆ ก็อยากจะทำให้คนอื่นๆได้รู้ได้เห็น หรือว่าเข้าใจตามตัวเอง

และจริงๆคือคำตอบเหล่านั้น ไม่ใช่อยู่ๆเราไปนั่งหลับตา แล้วไปได้คำตอบมา แต่... ได้ไปศึกษาว่าพระพุทธเจ้าพูดว่าอย่างไร ครูบาอาจารย์เราพูดว่าอย่างไร แล้วก็ อื้ม ได้คำตอบที่เป็นข้อสรุปว่า นี่แหละ ใช่จริงๆ คือ 'ใช่จริงๆ' ตรงนั้นไม่ได้หมายความว่า เรานั่งนึกเอาว่าน่าจะใช่ แต่เรา 'เห็น' จริงๆว่าชีวิตมันเป็นแบบนี้ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วเนี่ย ซึ่งเป็นคำพื้นๆนะ แต่ว่าถ้าลงลึกลงไปในรายละเอียดเนี่ย ทำดีมันมีหลายแบบ ทำชั่วมีหลายแบบ อื้ม มันก็ได้จริงๆได้คำตอบโดยรวมแบบที่ง่ายๆนั่นแหละ ที่ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

อย่าง... ผมมีความหดหู่หรือมีความเศร้าใจมาตั้งแต่เด็กๆโดยหาสาเหตุไม่เจอ ทีนี้ ถ้าเราเอาธรรมะมาอธิบาย มันก็ค่อยๆได้คำตอบ ซึ่งพอได้คำตอบแล้ว ชีวิตเรามันมีความสุขมากขึ้น นั่นก็คือ โอเค โดนใจเราแล้ว

แล้วทีนี้... อันนี้พูดในเชิงที่... ค่อนข้างจะเปิดเผยนิดหนึ่งนะครับ ถ้าไม่พูดลงรายละเอียด บางทีมันอาจจะมองไม่เห็นภาพชัด คือ อย่างเรื่องความเศร้า ทำไมเด็กบางคนมันเศร้ามาตั้งแต่เด็กๆ ทำไมยังไม่ทันมีเรื่องอะไรที่น่าจะทุกข์ร้อนมากมายเนี่ย แต่ก็เกิดความรู้สึกเหงาอยู่ลึกๆหรือว่ามีความรู้สึกว่าล้มเหลวมา อะไรทำนองนั้น

ถ้าหากว่าเราไม่โยงไปในเหตุผลซึ่งมันลี้ลับไปกว่าสิ่งที่เราสามารถรู้ได้ด้วยตาเปล่า มันก็ไม่สามารถหาคำอธิบายอะไรได้ แต่ถ้าสามารถโยงกลับไปถึงอะไรบางอย่างที่มันอยู่เบื้องหลังจริงๆ มันเป็นเหตุผลจริงๆเนี่ย ตรงนั้น เราก็ได้คำตอบ พอเราได้คำตอบว่า เออ ชาติก่อนมันมีนะ แล้วที่ต้องมีชาติก่อน ก็เพราะว่า มันมีสิ่งที่ปรากฎอยู่เป็นผล ที่เรากำลังประจักษ์ ที่เรากำลังเสวยผลอยู่ในขณะนี้

ถ้าหากว่าช่วงเด็กเป็นช่วงที่... ผมอยากจะเรียกว่า 'พิสูจน์ได้' เป็นเครื่องพิสูจน์ เป็นเครื่องสะท้อน เป็นเวทีแสดงตัวของกรรมเก่าอย่างเต็มที่ เพราะช่วงเด็กเราไม่สามารถช่วยตัวเองได้เราไม่สามารถที่จะกำหนด นึกปรารถนาว่าเราจะรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น คือ กรรมเก่าเล่นงานได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง และก็มาในจังหวะที่เราไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ เอาตัวรอดได้

ทีนี้ ตรงนี้เนี่ย ผมอยากพูดแค่ตรงที่ว่า เออ ผมได้คำตอบว่าชาติก่อนมันมีจริง และถ้าหากว่า เรามาพูดให้คนยุคเดียวกันฟังอย่างเข้าใจเนี่ยนะ เราก็พูดถึงสิ่งที่เขาเคยกันมาแล้ว ในช่วงเด็กเนี่ย เราก็สามารถที่จะสื่อสารกับเขาได้ มันมีความรู้สึกสนุก ที่จะทำให้คนอื่นๆได้เห็นตาม แล้วก็ตรงนั้น มันก็เป็นความสุขชนิดหนึ่ง

พี่ฉอด : จริงๆแล้ว จะบอกว่าเป็นเรื่องดี หรือว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายดีคะ ที่เรามีชาติก่อนจริงๆแต่ว่า.. เราไม่ได้รับอนุญาตให้จำอะไรได้?

ดังตฤณ : ถ้าหากว่า ทุกคนสามารถที่จะจำอดีตชาติได้ อืม... ผมว่ามันจะวุ่นกว่านี้นะ เพราะบางทีเราจำได้ก็จริงนะว่า เราเป็นอะไรมา แต่ว่าเราจะรู้สึกกระอักกระอ่วนน่ะ

อย่างหลายคู่นะครับ ที่เป็นสามีภรรยากัน หรือเป็นแฟนกันเนี่ยนะครับ ถ้าเขาจำได้ว่าเคยเป็นพ่อเป็นลูกกันมา หรือว่าเคยเป็นพี่เป็นน้อง อะไรต่างๆเนี่ย มันก็คงจะรู้สึกประดักประเดิดที่จะมาจับคู่จู๋จี๋กัน แล้วก็จะมีเงื่อนไขอะไรเกิดขึ้นอีกเยอะแยะ ที่ทำให้ชีวิตมันไม่เป็นอิสระอย่างที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้

เพราะฉะนั้น ในแง่ของการลืม ที่ธรรมชาติขีดเส้นไว้แบบนั้น มันมีเหตุผลที่จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปอย่างที่มันกำลังเป็นอยู่ ไม่ใช่เป็นความอยุติธรรม แต่มันเป็นสิ่งที่ 'ควร' จะเป็นไป เพื่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า 'ธรรมชาติ'

พี่ฉอด : ซึ่งบางที สมมติเราเกิดมาตอนนี้ แล้วเราเจออะไรก็ตาม ที่มันเป็นเรื่องร้ายๆเป็นเรื่องไม่ดี แล้วเราก็มีคำตอบว่า อ๋อ... เพราะว่าเราเคยทำมาเมื่อก่อน เราก็อาจจะรู้สึกเถียง อันนี้ พูดแทนตัวเองว่า ก็ตอนนั้นก็ไม่เห็นรู้เลย ถ้ารู้ก็ไม่ทำซิ (หัวเราะ) มันจะมีอารมณ์หนึ่งเกิดขึ้นนะคะ

ดังตฤณ : ใช่ครับ เพราะมนุย์เราเนี่ย ชอบหาความยุติธรรม ด้วยการเข้าข้างตัวเอง คือ... อันนี้คือไม่ได้พูดถึงพี่ฉอดนะ

พี่ฉอด : (หัวเราะ)

ดังตฤณ : คือพูดโดยรวมทั่วไปนะครับว่า มนุษย์เนี่ยจะเข้าข้างตัวเองว่า ควรจะเป็นอย่างนั้น ไม่ควรจะเป็นอย่างนี้ แต่อีกปีหนึ่งต่อมา ไอ้ความควรจะเป็น หรือไม่ควรจะเป็นของเราเนี่ย มันอาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ นี่ขนาดคนคนเดียวกันนะ นี่ยิ่งถ้ามนุษย์เอามารวมๆกันเข้าเนี่ย มันยิ่งต่างความเห็น

ถ้าสมมติว่า อ่ะ... จะยกมือโหวตให้ธรรมชาติเป็นแบบนั้นแบบนี้ แล้วธรรมชาติจะเป็นไปตามนั้นเนี่ยนะ คงวุ่นวายน่าดู เพราะทุกคนจะโหวตเอาแต่อะไรเข้าตัวเอง คือการที่เราไม่สามารถรู้ได้ว่า ธรรมชาติเขาออกกฎอะไรไว้บ้างเนี่ย จริงๆแล้วคือความโหดร้ายของธรรมชาติอย่างหนึ่ง เป็นการแสดงความโหดร้ายของธรรมชาติอย่างหนึ่ง

เพราะถ้าสมมติว่ามีเสาอะไรขึ้นมาสักเสากลางโลกนะ บอกว่า นี่ ข้อหนึ่ง กฎ ถ้าฆ่าสัตว์จะอายุสั้น ข้อสอง ถ้าขโมยทรัพย์ ถ้าลักทรัพย์ เดี๋ยวทรัพย์จะพินาศ อะไรต่อมิอะไร ออกกฎไว้ชัดเจนเนี่ย แล้วทุกคนไม่สามารถเถียงได้ อย่างนี้มันก็มีแต่คนทำดี

พี่ฉอด : ชีวิตจะง่ายเข้า

ดังตฤณ : ครับ คือมันจะไม่มีอะไรที่เป็นสองด้าน เรื่องบุญเรื่องบาปเนี่ย มันจะมีแต่บุญอย่างเดียว อันนั้นมันจะไม่เป็นธรรมชาติ ธรมชาติคือมีสองขั้ว มีด้านเหนือ มีด้านใต้ มีขั้วบวก มีขั้วลบ มีด้านขาว มีด้านดำ ตรงเรื่องของบุญของบาปก็เหมือนกัน

'บุญ' เป็นตัวแทนของความสว่าง 'บาป' เป็นตัวแทนของความืด แล้วถ้าเรามีแต่ด้านสว่างอย่างเดียวเนี่ย การดำเนินไปของธรรมชาติก็จะสะดุดชะงัก เพราะมันไม่มีการเหวี่ยงตัวของน้ำหนักที่จะทำให้เกิดการเคลื่อนที่ไป

พี่ฉอด : ย้อนกลับมาที่เมื่อกี้นิดหนึ่ง ประโยคที่ว่า 'ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว' อาจจะมีหลายๆคนเถียงอยู่ในใจตอนนี้ว่า ทำดีมาตั้งเยอะ ไม่เห็นจะได้อะไรดีเลย หรือบางคนอาจจะ เห็นๆอยู่ว่าเขาเป็นคนทำชั่ว แต่ทำไมเขาถึงยังได้อะไรดีกว่าเราเยอะอยู่ อะไรเงี้ยะค่ะ?

ดังตฤณ : สิ่งที่จะทำให้คนเราไม่เชื่อเรื่องวิบากกรรมมากที่สุด ก็คือเรื่อง 'คิว' ของการให้ผลกรรมเนี่ยแหละ เราไม่สามารถมองเห็นได้ว่าการที่เขาเสวยสุขในรูปแบบที่... เรารู้สึกหมั่นไส้เนี่ยนะ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร เราเห็นแต่ว่า เอ๊.. เขาโกงนี่ เขาพูดไม่ดีนี่ เขาไปย่ำยีคนอื่นนี่ เขาประพฤิติดทางศีลธรรม อะไรต่อมิอะไรต่างๆเนี่ย แล้วเราไปเห็นแต่ส่วนนั้น แล้วเราก็ตัดสินว่าเขาไม่ควรจะได้เสวยสุข อย่างที่กำลังเป็นอยู่ ไม่ควรที่จะมีรถคันยาวๆขี่ ไม่ควรจะมีบ้านหลังใหญ่ๆได้อาศัย

แต่ทีนี้ ธรรมชาติเขาจะไม่บอกอย่างนั้น เขาบอกว่า เนี่ย ตอนนี้มันถึงคิวที่เขาจะต้องได้เสวยผลดีอยู่ก่อนเหมือน... คนที่เขาสร้างเรือยอตช์ลำใหญ่ๆขึ้นมา ได้ลอยลำไปกลางทะเลแล้ว เขาสร้างของเขามาอย่างนั้น เขาสร้างเรือมาได้ เขาก็สมควรจะอยู่บนเรือ ทีนี้ ไอ้การที่เขาจะเอาค้อนปอนด์มาทุบเรือของเขา โป้งๆๆ เพื่อให้เรือมันแตกทำลายไป อันนั้นก็เป็นสิทธิ์ของเขา แต่ว่า ไม่ใช่พอเขาทุบโป้งเดียว แล้วเรือมันจะล่มลงไปทันทีมัน... บางทีต้องอาศัยเวลา

อันนี้เป็นภาพอันใหญ่ๆคร่าวๆน่ะนะครับว่า ทำไม... เราอยากเห็นเขาล่มจม แต่มันถึงไม่ล่มซะทีก็เพราะว่าเรือของเขาใหญ่ มันใหญ่พอ แต่เมื่อไหร่เขาทุบไปจนกระทั่งน้ำเข้ามาจริงๆ วันหนึ่งเรือก็ต้องล่ม แล้วไม่ใช่สิทธิ์ของเราที่จะไปแช่งเขา ให้รีบล่มจมลง มันเป็นสิทธิ์ของธรรมชาติที่เขาจะตัดสิน แล้วธรรมชาติตรงนั้น ก็คือธรรมชาติกรรมวิบากนั่นเอง

พี่ฉอด : อันนั้นคือกรณีที่ดูเหมือนทำไม่ดี แต่ได้ดี แล้วกรณีที่ทำดีแล้วทำดีไม่ได้สักทีล่ะคะ?

ดังตฤณ : ก็อาจจะเป็นเพราะว่า 'คิว' ที่จะแสดงผลกรรมดีมันยังมาไม่ถึง ทำนองเดียวกันน่ะครับ คือ ถ้าสมมติว่าเขาก่อไฟล้อมรอบตัวเองไว้หลายกอง แล้วเพิ่งมาหาน้ำ หรือว่าคิดวิธีดับไฟได้เนี่ย อยู่ๆไปเอาน้ำสาดโครมเดียว แล้วกองไฟเป็นสิบๆกอง ที่มันใหญ่ๆ มันจะดับทันทีมันก็เป็นไปไม่ได้ มันยังไม่มีเหตุผลอันสมควร

คือหน้าที่ของเราเนี่ย บางทีเนี่ยนะ เราอาจจะต้องทำใจนิดหนึ่ง ธรรมชาติเขาเล่นแบบนี้แหละ เขาไม่บอกกฎเรา แต่ถ้าเราทำถูกกฎ เราก็ได้ผลดี ถ้าเราทำผิดกฎ เราก็ไม่รู้นะว่ามันผิด จนกว่าผลมันจะแสดงออกมา ซึ่งก็... ไม่ประมาทไว้ดีที่สุดครับ

พี่ฉอด : ค่ะ ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ชีวิตก็เป็นเรื่องท้าทายน่าสนุกนะคะ (หัวเราะ) ค่ะ มาถึงช่วงนี้ 'คืนพิเศษ คนพิเศษ' ที่กรีนเวฟค่ะ เราฟังข่าวกันก่อน แล้วสักครู่เราจะกลับมานั่งคุยในชั่วโมงที่สองกันต่อไป อีกสักครู่ค่ะ

อ่านต่อ >>


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น