บทสัมภาษณ์คุณดังตฤณจากคลื่นกรีนเวฟ
รายการ 'คืนพิเศษ คนพิเศษ'
ครั้งที่ ๗๙
ถอดเทปโดย : คุณกลางชน
แห่งเว็บลานธรรม
ช่วงที่ ๑
เสียงผู้ประกาศชาย:
"เสียดาย...คนตายไม่ได้อ่าน
หนังสือชื่อสะดุดหู
ที่สร้างปรากฏการณ์ทำให้หนังสือธรรมะขาดตลาดได้อย่างไม่น่าเชื่อ ภายในเวลาไม่กี่เดือน
พิมพ์ไปแล้วถึงยี่สิบครั้ง ด้วยยอดขายเกือบหนึ่งแสนเล่ม"
เสียงผู้ประกาศชาย:
"เสียดาย...คนตายไม่ได้อ่าน ในความรู้สึกของ สิเรียม
ภักดีดำรงฤทธิ์"
"..เป็นคนชอบอ่านหนังสือธรรมะอยู่แล้วน่ะนะคะ
พอเดินร้านหนังสือแล้วเจอเล่มนี้ก็ปิ๊งในชื่อของหนังสือก่อน แต่พออ่านเข้าไปแล้วเนี่ย
ถือว่าเป็นหนังสือที่ให้ความรู้ให้แง่คิดในเรื่องของธรรมะ
แล้วก็การใช้ชีวิตโดยไม่ประมาทด้วย เพราะฉะนั้น พออ่านจบแล้ว ก็จะทำให้เราสำรวจตัวเราเองแล้วก็ช่วยเตือนสติ
ช่วยเตือนใจเรา ให้เราดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาทน่ะค่ะ"
เสียงผู้ประกาศชาย:
"คุณจักรภพ เพ็ญแข รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ฝ่ายการเมือง"
"ตอนที่เห็นหนังสือ
'เสียดาย...คนตายไม่ได้อ่าน' เนี่ยนะครับ ก็นึกว่าเป็นความ
'เฉี่ยว' ของนักเขียน
ที่ตั้งชื่อได้โดนใจ คงจะมีผลดีต่อการขาย แต่พอจับอ่านเข้าจริงๆเนี่ย
...ผมเปลี่ยนใจนี่คือคนปฏิบัติธรรมจนถึงขั้นที่สามารถกลับออกมาจากป่าหิมพานต์ แล้วก็เอาทุกข์ของคน
ซึ่งตัวเขายังจำได้อยู่เนี่ย มาตีแผ่ทีละขั้น ทีละตอน แล้วก็เล่าให้ฟังด้วยว่า
มันเกิดอะไรขึ้นกับใจ เป็นการวิเคราะห์จิตใจของผู้ที่จะเตรียมการสำหรับรับธรรมะได้ดีที่สุดเลย
ผมอ่านแล้วเกิดความรู้สึกเลยว่า
นี่แหละ..คือธรรมะของคนรุ่นใหม่ ผมอยากแนะนำให้ทุกคนได้อ่านหนังสือคุณดังตฤณ แล้วก็ไม่ต้องไปนั่งเสียดายอยู่ในหลุม
(หัวเราะ) แล้วก็บอกว่า เสียดาย...คนตายไม่ได้อ่าน"
เสียงผู้ประกาศชาย:
"คุณ...
คงเสียดายถ้าไม่ได้อ่าน และเรา... คงเสียดาย ถ้าไม่ได้เชิญดังตฤณมาเป็นคนพิเศษของเรา
'คืนพิเศษ
คนพิเศษ' ครั้งที่ ๗๙
ยินดีต้อนรับคุณศรันย์ ไมตรีเวช เจ้าของนามปากกา 'ดังตฤณ'
เป็นคนพิเศษในค่ำคืนนี้...."
(เสียงปรบมือ)
. . . . . . . . . . . . . . . . . .
. . . . . . . . . . . . .
พี่ฉอด: วันนี้เราได้รับเกียรติมากๆจากคุณศรันย์
ไมตรีเวช เจ้าของนามปากกา 'ดังตฤณ' ขออนุญาตเรียกคุณตุลย์
สวัสดีค่ะคุณตุลย์
ดังตฤณ: สวัสดีครับพี่ฉอด
และก็ท่านผู้ฟังทุกท่านนะครับ
พี่ฉอด: พี่ฉอดก็เป็นคนนึงเหมือนกันที่เดินไปที่ร้านหนังสือ
แล้วก็ไปเจอหนังสือเล่มนี้เข้า แล้วก็ไปซื้อมาอ่าน แล้วในที่สุดก็เลยถึงขั้นซื้อแจก
(หัวเราะ)
ดังตฤณ: โอ้โห..
ขอบคุณมากครับพี่ฉอด
พี่ฉอด: เพราะว่าพออ่านแล้วจะรู้สึกอยากให้คนอื่นอ่านด้วย
ก็เลยโทรศัพท์ไปที่... อันนี้ยังไม่เคยได้เล่าให้ฟังมาก่อนหน้านี้นะคะ
เล่าไปพร้อมกับคุณผู้ฟังเลย ...โทรไปที่สำนักพิมพ์ค่ะ แล้วก็ไปถามเขาว่า
ถ้าจะซื้อเยอะๆเนี่ย เขาก็ลดราคาให้ ซื้อมาเยอะมาก แล้วก็แจกลูกน้อง (หัวเราะ)
ดังตฤณ: คราวหลังเอาจากผมฟรีๆเลยนะ
สำหรับพี่ฉอดนะครับ
พี่ฉอด: อยากอุดหนุนค่ะ อุดหนุนค่ะ (หัวเราะ) ทีนี้
คุณผู้ฟังกรีนเวฟหลายๆคนอาจจะสงสัยว่า เอ๊... หนังสือเล่มนี้มีดียังไงนะ ทำไมใครต่อใครหลายๆคนถึงพากันพูดถึง
แม้แต่พี่ฉอดเองก็รู้สึกอย่างที่ว่านี้ ตอนนี้พิมพ์ไปสักกี่ครั้งแล้วคะ?
ดังตฤณ: นั่นล่ะครับ
อย่างที่บอกไปในต้นรายการ ประมาณ ๒๐ ครั้ง คืออันนี้เป็นข้อมูลเดือนมิถุนายนนะครับ
พี่ฉอด: ถ้านับเป็นจำนวนเล่มที่ได้จำหน่ายออกไป
ประมาณสักเท่าไหร่คะ?
ดังตฤณ: คือจะมีช่วงแรกๆที่พิมพ์
๒,๕๐๐ เล่มบ้าง แล้วก็มีสองครั้งที่พิมพ์
๑,๐๐๐ เล่ม
นอกนั้น จะพิมพ์ครั้งละ ๕,๐๐๐ เล่ม นับตั้งแต่ดีเอ็มจีเห็นแน่นอนแล้วนะครับว่าหนังสือน่าจะไปได้เรื่อย
ๆ
พี่ฉอด: ค่ะ
สิริรวมตอนนี้...
ดังตฤณ: ก็...
น่าจะเฉียดๆที่...
พี่ฉอด: เกือบๆแสนนึงใช่มั้ยคะ
ดังตฤณ: ตามต้นรายการครับ
ใช่ครับ
พี่ฉอด: ที่บอกอย่างนี้เนี่ย
จะบอกว่าเป็นที่น่ายินดีที่คนจำนวนนับแสนคนที่มีโอกาสได้อ่าน นะคะ
ดังตฤณ: ครับ
ก็ดีใจตรงจุดนั้นด้วยครับ
พี่ฉอด: ก่อนอื่น สิ่งแรกที่ทุกคนเจอหนังสือเล่มนี้แล้วเห็นปุ๊บ
แล้วจะต้องรู้สึกสะดุดก่อนก็คงจะเป็นชื่อ ได้ชื่อนี้มาได้ยังไงเอ่ย
ดังตฤณ: จริงๆแล้วก็มีคนที่เขาขอให้ผมเขียนหนังสือให้ญาติเขาซึ่งกำลังจะตาย
ตอนนั้น คือรับไอเดียมา ก็บอกว่า เออ ดีเหมือนกัน เพราะว่าที่ผ่านมาเนี่ย เหมือนกับเขียนหนังสือให้คนเป็นมาตลอด
ยังไม่เคยเขียนหนังสือให้คนใกล้ตาย เพราะว่าคำถามของคนเป็นกับของคนที่กำลังจะตายเนี่ย
แตกต่างกัน มันก็เป็นอะไรที่แปลกใหม่สำหรับเรา เป็นคอนเซปต์เป็นไอเดียที่ เออ
น่าจะทำ
ทีนี้
ก็ยังคิดไม่ออกว่าจะเขียนยังไงให้คนที่ใกล้จะตายได้อ่าน หนังสือจะออกมาในแนวที่ว่าเป็นเล่มเล็กๆแล้วก็พูดถึงวิธีเตรียมตัวก่อนตาย
หรือว่าเป็นพุทธวิธีเพื่อที่จะตายอย่างสงบ อะไรทำนองนี้น่ะนะครับ ตอนแรกๆคิดอยู่
แต่ยังไม่ได้ตกลงปลงใจว่าจะเขียนแนวไหน
ทีนี้
มีอยู่วันนึง หลังจากที่เขาขอมา สักประมาณเดือนหรือสองเดือนเนี่ย ผมกำลังจะเข้าห้องน้ำ
แล้วก็เกิดแว่บนึกขึ้นมาว่า เอ๊... ญาติคนที่เขาขอเนี่ย เสียชีวิตไปแล้วรึยัง? ถ้าหากว่าเสียชีวิตไปแล้วเนี่ย
ก็น่าเสียดายเหมือนกัน ที่เรายังคิดไม่ออกเลยด้วยซ้ำว่าจะเขียนในแนวไหน มันก็เลยบวกกันออกมา
เสียดาย... ถ้าคนตายจะไม่ได้อ่าน
พี่ฉอด: ก็เลยปิ๊งขึ้นมาเป็นคำนี้
ดังตฤณ: ครับ
นั่นล่ะครับ พอปิ๊งคำนี้ขึ้นมาปุ๊บ ก็เกิดแรงบันดาลใจที่จะคิดคอนเซปต์ของหนังสือให้มันจริงจังขึ้นมา
เราก็ได้ตรงนั้นที่ว่า คนเป็นจะถามอย่างหนึ่ง ถามว่าทำยังไงจะรวย ทำไงถึงจะสวย
จะหล่อ ทำไงถึงจะมีแฟนเยอะ
แต่ว่าคนตายเนี่ย
ก็จะมีคำถามไปอีกแบบนึงเลยว่า นรก สวรรค์ ชาติหน้า มีจริงรึเปล่า? ถ้าหากว่ามี
จะเตรียมตัวตายยังไง? และทุกชาติทุกภาษาจะเป็นแบบนี้
คนที่เขามีความรู้สึกว่าจะอยู่ไปได้เรื่อยๆมัน... จะมองไปอย่างนึง คนที่ไม่มีอะไรจะให้มองแล้ว
ไม่มีอนาคตจะให้มองแล้ว ก็จะได้คำถามอีกแบบนึง มาสู่ใจ และเขาต้องการคำตอบที่...พูดง่ายๆว่าเตรียมตัว
เพื่อการเตรียมตัวว่า ถ้าหากเขาจะต้องตายไปในภาวะแบบนี้ ควรจะทำใจยังไง ควรจะคิดยังไง
หรือว่าทำบุญอะไรยังไง
เพราะฉะนั้น
มันก็เลยเอามารวมไว้เลย สำหรับคนเป็น เราก็ให้คำอธิบายว่า ตรงนี้
ที่เขามาเป็นอย่างนี้เนี่ยไม่ว่าจะเป็นหญิงเป็นชาย จะรวย จะฉลาด หรือว่าจะมีฐานะดี
อะไรต่อมิอะไรต่างๆมันเพราะอะไร
แล้วก็ถ้าหากว่า
จะตายไปแล้วเนี่ย มีสิทธิ์ไปไหนได้บ้าง
หากว่าถือเอาตามพฤติกรรมที่กำลังทำๆกันอยู่ทุกวันนี้ ที่กำลังประพฤติปฏิบัติกันเป็นปกตินี่แหละ
มันไปไหนได้บ้าง
แล้วสุดท้ายก็คือ
ถ้าหากยังมีชีวิตอยู่เนี่ย ระหว่างมีชีวิตอยู่ ทำยังไงถึงจะคุ้มค่าที่สุด
มันก็ออกมาเป็นคำถามสามข้อใหญ่
ๆ
คือเกิดมาเป็นอย่างนี้ได้ยังไง
แล้วถ้าตายแล้วจะไปไหนได้บ้าง
แล้วก็ถ้ายังอยู่
ควรจะทำอะไรที่ดีที่สุด
อันนี้ก็เลยกลายเป็นคอนเซปต์
คือไม่ใช่เฉพาะคนตายอย่างเดียว แต่ว่ายังสำหรับคนเป็นด้วย
พี่ฉอด: นั่นก็เลยเป็นที่มาของว่า เอ้อ...
เสียดายนะ ถ้าหากว่าตายไปโดยที่ไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้
ดังตฤณ: ใช่ครับ
พี่ฉอด: ก็เป็นอะไรดูจะที่ท้าทายสำหรับพวกเราๆอย่างมากน่ะนะคะ
พี่ฉอดเชื่อว่าคำถามหนึ่งที่อยู่ในใจคนเป็นๆเสมอๆ ก็คงจะอยู่แถวๆนี้แหละว่า เออ..
เราตายแล้วไปไหน ตายแล้วยังไง แล้ว... ความตายดูจะเป็นความลับดำมืดอยู่ในใจทุกคน
และทุกคนก็มีสิทธิ์ได้เจอแค่ครั้งเดียว แล้วมาบอกต่อกันก็ไม่ได้ด้วย (หัวเราะ)
ดังตฤณ: ใช่ครับ
พี่ฉอด: เพราะฉะนั้น ก็ดูเป็นเรื่องของความท้าทายยิ่งขึ้น
ทีนี้ ในฐานะที่เราเป็นคนเขียนเนี่ยค่ะ
คุณตุลย์คิดว่าอะไรทำให้คนสนใจหนังสือเล่มนี้มากขนาดนี้
แล้วก็ให้การตอบรับมากขนาดนี้?
ดังตฤณ: ผมคิดว่าคงเป็นคำตอบที่โดนใจน่ะนะครับ สำหรับความสงสัยของคนธรรมดาทั่วไป
อย่างที่เรียนแล้วว่าทำไมถึงเกิดมาเป็นอย่างนี้ ตายแล้วสาบสูญ หรือว่าไปไหนได้บ้าง ตลอดจนกระทั่ง
ระหว่างมีชีวิตอยู่ควรจะทำอะไรให้คุ้มค่าที่สุด เพราะว่าคำถามเหล่านี้เป็นคำถามสามัญ ถ้าได้คำตอบที่โดนใจ
ก็จะมีความพอใจขึ้นมา
ทีนี้
ที่โดนใจเนี่ยนะ ไม่ใช่เพราะว่าผมคิดขึ้นเอง แต่ว่าเพราะผมยกพุทธพจน์มาแสดงเป็นหลักตั้งอย่างชัดเจนก่อน กับทั้งใช้ภาษาและก็ความรู้แบบคนรุ่นใหม่เข้าไปประกอบ ก็เลยทำให้หลายคนอ่านแล้วไม่รู้สึกว่าต้องเชื่ออะไรแบบงมงาย ไม่มีคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผลพอรับฟังได้
พี่ฉอด: เพราะฉะนั้น
จุดที่สำคัญจุดนึงก็คงจะเป็นเรื่องความง่ายของการใช้ภาษา หรือว่าการอธิบายที่เป็นเรื่องที่...
คนรุ่นใหม่อ่าน ส่วนใหญ่เรามักจะนึกถึงว่า
หนังสือที่เขียนอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องแบบนี้ มักจะเป็นเรื่องยากๆเป็นภาษายาก
ๆ
ดังตฤณ: อย่างพี่ฉอดบอกว่าง่าย
แต่ก็มีบางคนบอกว่ายากเหมือนกัน
พี่ฉอด: ก็ยังยากอยู่บางส่วน
ใช่มั้ยคะ?
ดังตฤณ: คือบางทีนะครับ
ผมเห็นว่าขึ้นอยู่กับแบ็คกราวนด์ของแต่ละคน อย่างตอนเนี้ยะ ที่ทราบสถิติล่าสุด
คนอ่านที่อายุน้อยที่สุดเนี่ย เก้าขวบ เขาบอกว่าเขาอ่านได้ แล้วเอาไปโรงเรียนด้วยนะ แต่ว่าบางคนคือ...
ก็อายุมากแล้ว บอกอ่านยาก เป็นอะไรที่เขารู้สึกอ่านไม่รู้เรื่อง
อย่างนั้นก็มีเหมือนกัน
คือเราก็ยอมรับทั้งสองทางนะ เราก็มองว่า
จะยากหรือง่ายเนี่ย บางทีมันตัดสินกันด้วยแบ็คกราวด์ หรือว่าความรู้สึกของคนอ่านเหมือนกัน
ไม่ใช่อยู่ที่ตัวหนังสืออย่างเดียว
พี่ฉอด: รวมไปถึงการเปิดรับด้วย
เปิดใจที่จะรับกับสิ่งที่อ่านด้วย
ดังตฤณ: คงจะอย่างนั้นครับพี่ฉอด
พี่ฉอด: เพราะว่าแรกๆจำได้ว่าครั้งแรกเปิดที่อ่าน จะอ่านแบบคนธรรมดาสามัญทั่วไปมาก คือเลือกอ่านเฉพาะหัวข้อที่อยากรู้ก่อน
(หัวเราะ)
ดังตฤณ: น่ะ
ถ้าอ่านแบบนั้นได้นะพี่ฉอด จะเป็นการอ่านที่เหมาะที่สุด
พี่ฉอด: ประมาณว่าแบบ อุ๊ยตาย ทำแบบนี้แล้วสวย
ชั้นอ่านก่อน ชั้นอยากสวย (หัวเราะ) อะไรอย่างเงี้ยะนะคะ
แล้วค่อยกลับมาอ่านอีกทีนึงในรายละเอียด ก็จะทำให้เข้าใจมากขึ้น
ดังตฤณ: ครับ ครับ โอ
ที่จริงแล้วนี่เป็นคำแนะนำในการอ่าน สำหรับคนยังไม่ได้อ่านได้ดีมากเลยนะครับ
พี่ฉอด: อ๋อเหรอ ทำไมคะ? (หัวเราะ)
ดังตฤณ: เพราะว่าบางคนนะพี่ฉอด
เขาอ่านเรียงตามลำดับ
พอไปเจอคำอะไรที่...
อย่างเช่น อจินไตย อย่างเนี้ยะ เขาวางเลย เขาบอกศัพท์ธรรมะ เขาไม่เอา
ชาตินี้ตั้งใจไว้ว่าจะไม่อ่านธรรมะ (หัวเราะในลำคอ)
แต่ว่าถ้ามีคำถามอะไรที่เขารู้สึกว่ามันไม่ใช่ธรรมะ
มันเป็นเรื่องใกล้ตัวเขา อย่างเช่นทำยังไงจะรวยเนี่ย อย่างนี้อยากอ่าน ซึ่งจริงๆแล้วมันก็คือธรรมะนั่นแหละ
เพียงแต่ว่าเขาไม่รู้ว่า
ตรงนั้นเป็นหลักการ
เป็นกฎ เป็นเกณฑ์ของธรรมชาติ
อะไรที่เป็นเกณฑ์ของธรรมชาติ
อะไรที่เป็นกฎของธรรมชาติ เป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติ นั่นแหละ 'ธรรมะ' ทั้งหมด
พี่ฉอด: ทีนี้ถ้าเกิด... ใครสักคนนึงที่ไม่นับถือศาสนาพุทธล่ะคะ แล้วอ่านหนังสือเล่มนี้จะได้มั้ยคะ?
ดังตฤณ: คือจริงๆแล้วเนี่ย
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เพื่อเขียนให้คนในพุทธศาสนาได้อ่าน หลักฐานอย่างหนึ่ง
ผมเห็นคนที่ไม่สนใจธรรมะเยอะเลย คือเค้าสะดุดที่หน้าปก อันนี้เล่าตามตรงนะครับ
จากประสบการณ์ที่ไปยืนๆดูมาบ้างเนี่ย เขาสนใจที่ชื่อหนังสือ 'เสียดาย...คนตายไม่ได้อ่าน' เขารู้สึกว่านี่ไม่ใช่พุทธศาสนา เขาเลยหยิบขึ้นมา แต่พอพลิกดูเนื้อหาด้านใน
เห็นว่ามีคำว่าทาน มีคำว่าศีลอะไร เขาก็วางคืนที่ทันที
คือตรงนี้เราไม่ได้เสียใจนะ
แต่เราได้มุมมองกลับมาว่า ตัวปกหนังสือเนี่ย ไม่ได้ดึงดูดเฉพาะคนที่เป็นพุทธศาสนิกชน แต่ว่าเป็นใครก็ตามที่อ่านภาษาไทยออก
แล้วก็มีชีวิตแบบธรรมดา ๆ คนทั่วไปเนี่ยแหละ ที่ต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ตรงนั้นก็เลยเป็นข้อยืนยันว่าสำหรับปกนะ
เราต้อนรับคนทุกศาสนา
แต่ทีนี้
ในแง่ของเนื้อหา ก็ต้องยอมรับว่า ถ้าหากไม่ใช่คนในพุทธศานา จะรับยากสักนิดนึง
เพราะว่าเนื้อหาทั้งหมดเนี่ย ผมยกพุทธพจน์มาเป็นหลักตั้ง หมายความว่าพระพุทธเจ้าตรัสอะไรไว้
เกี่ยวกับเรื่องไหนเนี่ย
ผมก็เอามาเป็นหลักตั้ง
แล้วค่อยขยายความตามประสบการณ์ ความรู้ หรือว่าความรู้สึกนึกคิดแบบคนรุ่นใหม่
ทีนี้
ขอให้สังเกตก็แล้วกันว่า แต่ละเรื่องแต่ละอย่างที่ผมยกมา อย่างยกตัวอย่างเช่น
ทำไมถึงเกิดมาเป็นมนุษย์เนี่ย มันมีแง่มุมเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ มันมีแง่มุมที่คนรุ่นใหม่
คนยุคเดียวกันกับผมสามารถรับรู้ตามได้ มันมีเหตุมีผลมีที่มาที่ไป
แล้วก็สามารถเอามาลงล็อกกันได้หมด
ผมก็อยากจะขอชี้ตรงนี้ว่า
ไม่ว่าท่านจะเป็นคนที่มีความเชื่อในแบบใดมา หรือว่าแม้แต่คนที่ก่อตั้งธรรมะก็ตามนะครับ ขอให้ลองอ่านดู
แล้วก็ลองดูแล้วกันว่ามันมีเหตุผล หรือว่ามีหน้าไหน บรรทัดไหน ที่จะสามารถเอาไปจูนกับท่านได้ติด
เพราะว่าการจูนกันได้ติด ก็คือการที่มีแง่มุมใดมุมหนึ่งที่สอดรับกัน ยอมรับกันได้ เพราะฉะนั้น
ไม่ว่าจะเป็นคนศาสนาไหน หรือว่าไม่มีศาสนาเลย ก็ขอให้ลองดูเถิดว่า
หนังสือโดยรวมเนี่ยนะครับ ตอบคำถามอะไรท่านได้บ้าง
พี่ฉอด: และตรงไหนบ้างที่จะเอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับชีวิตได้นะคะ?
ดังตฤณ: ตรงที่มีความเข้าใจ...ว่าชีวิตเนี้ยะ มาได้ยังไง แล้วก็ ชีวิตนี้... จะเกิดอะไรขึ้น หลังจากไม่มีชีวิตแล้ว ถ้าหากว่าเรามีความเข้าใจเริ่มต้นกันที่ความเข้าใจเนี่ย มุมมองทั้งหมดในชีวิตมันจะต่างไป คือเราจะเริ่มถามว่า ไอ้เนี่ย
ทำไปแล้ว มันมีโทษรึเปล่า?
ไอ้นี่
ทำไปแล้วเป็นประโยชน์หรือเปล่า?
ไอ้นี่ ทำไปแล้ว
มันจะไปออกหัวออกก้อยท่าไหน?
คือไม่ใช่เฉพาะชาติหน้าที่มองไม่เห็นนะครับ อย่างถ้าหากว่าเราเข้าใจจริงๆนะครับว่า เรื่องของทาน เรื่องของศีล ปรุงแต่งรูปร่างหน้าตาให้เปลี่ยนแปลงไปได้ในปัจจุบันชาติเลยเนี่ย
มันก็จะเกิดกำลังใจ
อย่างที่พี่ฉอดบอกว่า
เอ๊... ทำยังไงถึงสวย ผู้หญิงอ่านก่อนเลย ตรงนี้ก็คือ เล่มนี้ก็จะบอกได้ด้วยนะครับว่า
ไม่ต้องรอชาติหน้านะ
ถ้าหากว่าทำทาน
รักษาศีลจริงๆแล้วก็เข้าใจจริงๆว่า การทำทานรักษาศีล มันคือการทำให้จิตบริสุทธิ์ขึ้น
มันมีความสะอาดมากขึ้น
และความสะอาดของจิตใจ
มันก็ไปปรุงแต่งให้ร่างกายมันดีขึ้น
อย่างทางแพทย์ก็ยอมรับกันทั่วไปว่า
ถ้าหากว่าคิดดี ทำดี พูดดี ไม่เครียด แล้วก็ทำจิตใจให้สบาย
พูดจาอะไรที่มันอ่อนหวาน น่ารัก มันก็มีการหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินออกมา ยิ่งถ้าทำสมาธิ
มันยิ่งหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินออกมามาก มันก็มีความสุขมากทันที แล้วร่างกายมันก็จะปรับเปลี่ยนไปตามความสุข คนที่มีความสุขมากๆในชีวิต
ในแต่ละวันเนี่ย
หน้าตาก็ผ่องใส
เบิกบาน หัวคิ้วไม่ขมวด และผิวพรรณก็เปล่งปลั่ง นี่คือตัวอย่าง
นะครับ
คือเราจะเข้าใจชีวิตออกมาจากอีกมุมมองนึง
คือเราจะเห็นเหตุผลว่าทำไมต้องคิดดี คนมักจะถามว่า ทำไมต้องไปคิดดีด้วยล่ะ
ทำไมต้องพูดดีด้วยล่ะ พูดเอาสะใจไม่ได้เหรอ คือพอโจทย์ของชีวิตมันเปลี่ยนไปแล้วเนี่ย คำถาม คำตอบ
อะไรต่อมิอะไรต่างๆมันก็จะเปลี่ยนไปด้วย แล้วก็วิธีการ 'เลือก'
ใช้ชีวิต
มันก็จะพลิกไปอีกแง่มุมหนึ่ง
พี่ฉอด: จริงๆแล้ว สิ่งที่เราเคยได้ยินมากัน
ที่ผ่านๆมา กับสิ่งที่ได้อ่านจากหนังสือเล่มนี้ บางอย่างน่ะนะคะ
ก็มีผลอย่างที่คุณตุลย์ว่าคือเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตได้ เช่น
เมื่อก่อนเราได้ยินบ่อยๆ 'เกิดหนเดียว ตายหนเดียว' แค่เนี้ยะ...
เราก็จะรู้สึกว่าวิถีชีวิตเรา มันคงต้องทำอย่างนึง
ดังตฤณ: ใช่ครับ ใช่
พี่ฉอด: แต่พอเรามีความเชื่อเรื่องชาติภพขึ้นมา
เราก็จะรู้สึกว่า ชีวิตเราต้องทำอะไร...
อีกอย่างนึงเพื่อเตรียมการไว้
ดังตฤณ: มีการเตรียมตัว
ใช่ครับ พี่ฉอดสังเกตมั้ยครับ คำว่า 'เกิดหนเดียว
ตายหนเดียว' เนี่ย
มันติดหูคนง่ายนะ
พี่ฉอด: ใช่ค่ะ
ดังตฤณ: คือมันสอดคล้องน่ะ
กับความรู้สึกภายในที่บอกว่า ก็มันรับรู้แค่นั้น เกิดมามันไม่มีความจำอะไรมาเลย ถ้าสมมติว่ามีชาติก่อนเนี่ย
ทำไมทุกคนไม่จำได้ล่ะ ทำไมถึงลืม อย่างเงี้ยะ ใช่มั้ย
ทีนี้
เราก็ต้องค่อยๆมาหาคำอธิบาย อย่างเช่นว่า เออ... ตอนที่อยู่ในท้องเก้าเดือนนั้นน่ะ
มันมีระบบล้างความจำของธรรมชาติเขาอยู่นะ นานตั้งเก้าเดือนเนี่ย
แล้วก็จิตตกเป็นภวังค์อยู่ตลอดเวลา เกือบตลอดเวลาอย่างเงี้ยะ หรือว่าสภาพร่างกาย
ประสาท สมอง อะไรยังไม่พร้อมที่จะทำงาน มันก็เลยเหมือนกับว่า เก้าเดือนนี้ เป็นการลบ ลบความจำออก
ทีนี้บางคนไม่ถูกลบออกหมด
ประเภทระลึกชาติได้อะไรอย่างนี้ มันก็ยังมีติดมา เพราะฉะนั้น
มันก็กลายเป็นข้อถกเถียง เพราะถ้าทุกคนระลึกชาติได้ ไม่ต้องเถียง แต่ถ้าแค่คนสองคนระลึกชาติได้
แล้วบอกว่า เฮ้ย.. มันจริงหรือไม่จริงเนี่ย มาเถียงกัน มาหาคำอธิบายเป็นวิทยาศาสตร์ว่า อ๋อ... มันตกทอด
สืบทอดมาผ่านยีน ผ่านอะไรต่อมิอะไรต่าง ๆ ก็หาคำอธิบายกันมากมาย มันก็กลายเป็นข้อถกเถียงที่ไม่รู้จบ
เพราะฉะนั้น คือ
ถ้าหากว่าเรามานั่งเถียงกันว่าชาตินี้ชาติก่อนมีจริงหรือเปล่าเนี่ย คนทั่วไปจะบอกว่า
'ไม่น่าจะจริง' ตามสามัญสำนึก
ถึงแม้จะมีคนบอกว่าเขาระลึกชาติได้ แต่ทีนี้ถ้าเรา ค่อยๆศึกษา แบบเป็นเหตุเป็นผลไปนะว่า ทำอย่างนี้
มันได้ผลออกมาอย่างนี้ เพราะทำดี มันถึงหน้าตาออกมาดีนะ พูดง่ายๆว่าสืบสาวไปจากเหตุผลที่ยอมรับได้
จับต้องได้ ง่ายๆก่อน
แล้วมันจะค่อยๆสาวลึกขึ้นไปเอง
เมื่อเกิดความสนใจมากขึ้นๆเราก็จะเห็นว่า
พระพุทธเจ้าตรัสอะไรไว้ มีเหตุมีผลเสมอ คำว่า '
เหตุผล' คำเดียวเนี่ยนะ
เป็นแก่นเลยนะของพุทธศาสนา ทุกอย่างมีเหตุผล ไม่ใช่ว่าเกิดขึ้นลอย ๆ ทำไมคนถึงหน้าตาแตกต่างกัน ทำไมแต่ละชาติ
แต่ละเผ่าพันธุ์ถึงมีนิสัยพื้นฐานไม่เหมือนกัน ทำไมคนนึงจิตใจโหดเหี้ยมมาตั้งแต่เด็กๆ ทำไมคนนึงใจดีมาตั้งแต่เด็กๆ สิ่งเหล่านี้มีเหตุผลที่จะอธิบายได้
แต่ถ้าไปจับเอาวิทยาศาสตร์อย่างเดียว
มันจะไม่สามารถอธิบายได้ครอบคลุม บางทีมันก็ต้องมีคำอธิบายที่ดูลึกลับในตอนแรก แต่เมื่อศึกษาไปแล้ว
มันก็จะค่อยๆยอมรับขึ้นมาได้เองในภายหลัง
พี่ฉอด: ค่ะ
และนั่นก็คือสิ่งที่เราจะคุยกันในค่ำคืนนี้นะคะ กับแขกรับเชิญคนพิเศษของเรา
เดี๋ยวสักครู่นึง พักแป๊บนึง เดี๋ยวกลับมาในช่วงหน้า 'คืนพิเศษ
คนพิเศษ' ค่ะ
อ่านต่อ >>
อ่านต่อ >>
พี่ฉอดสัมภาษณ์คุณดังตฤณ (ช่วงที่ ๑)
พี่ฉอดสัมภาษณ์คุณดังตฤณ (ช่วงที่ ๒)
พี่ฉอดสัมภาษณ์คุณดังตฤณ (ช่วงที่ ๓)
พี่ฉอดสัมภาษณ์คุณดังตฤณ (ช่วงที่ ๔)
พี่ฉอดสัมภาษณ์คุณดังตฤณ (ช่วงที่ ๕)
พี่ฉอดสัมภาษณ์คุณดังตฤณ (ช่วงที่ ๖)
พี่ฉอดสัมภาษณ์คุณดังตฤณ (ช่วงที่ ๒)
พี่ฉอดสัมภาษณ์คุณดังตฤณ (ช่วงที่ ๓)
พี่ฉอดสัมภาษณ์คุณดังตฤณ (ช่วงที่ ๔)
พี่ฉอดสัมภาษณ์คุณดังตฤณ (ช่วงที่ ๕)
พี่ฉอดสัมภาษณ์คุณดังตฤณ (ช่วงที่ ๖)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น