วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2562

การเจริญสติแบบให้รู้สึกตัว คำว่า “รู้สึกตัว” คืออย่างไร


ถาม : การเจริญสติแบบให้รู้สึกตัว คำว่า “รู้สึกตัว” คืออย่างไร จะทำอย่างไรให้รู้สึกตัวอยู่เรื่อยๆ

ดังตฤณ
ถ้าไปอ่านในสติปัฏฐานสูตร หรือ มหาสติปัฏฐานสูตร พระพุทธเจ้าท่านใช้คำนี้นะ “มีความรู้สึกตัว”
รู้สึกตัว ในนิยามของท่าน ที่จับต้องได้เป็นรูปธรรม ก็เริ่มนับจากการมีสัมปชัญญะ

ขึ้นต้นมา พระพุทธเจ้าท่านแบ่งอย่างนี้ ให้ดูกายก่อน มันจับต้องได้เป็นรูปธรรม มันชัดเจน ไม่ต้องไปสงสัยว่าผิดหรือถูกนะ
หายใจเข้า หายใจออก นี่ ถ้าใครรู้ไม่ตรง แปลว่าไม่มีสติแน่นอนนะ หายใจยาว หรือหายใจสั้น นี่ก็รู้กันได้ง่ายๆ

จากนั้น พอเริ่มที่จะมีภาวะของ “จิตผู้รู้กองลมทั้งปวง”
จิตเหมือนกับถอยไปเป็นผู้ดูอยู่ต่างหากจากลมหายใจ อันนี้ ตรงนี้เริ่มละเอียดขึ้นมา

พอเราหายใจเป็น แล้วก็มีภาวะ ผู้รู้ ผู้ดูกองลมทั้งปวง ก็สามารถต่อยอด
คือพลิกนิดเดียว พิจารณาว่า นี่เรากำลังนั่งอยู่ ที่หายใจอยู่นี่ อยู่ในอิริยาบถนั่ง
อิริยาบถนั่งเป็นยังไง มีคอตั้งหลังตรง หลังตั้งอยู่อย่างนี้
ด้วยอาการอย่างนี้ เรียกว่า อิริยาบถนั่ง

พอลืมตาขึ้นมา ไปไหนๆ เราก็สังเกตอยู่อย่างนั้น หายใจเข้าหรือหายใจออก
ด้วยอาการหายใจเข้า หายใจออกที่สังเกตไว้แล้วว่าไม่เที่ยง
ก็จะพลอยทำให้เกิดความรู้สึกถึงสภาพอิริยาบถปัจจุบัน ว่าไม่เที่ยงตามไปด้วย
มันต้องขยับอยู่ตลอดเหมือนกับหุ่นที่อยู่นิ่งไม่ได้ ต้องถูกบังคับให้เคลื่อนไหว
เพราะว่ามีปัจจัย คือกล้ามเนื้อ จะค่อยๆ รัดตัว ค่อยๆ เกร็ง
ก็เลยมีความบีบคั้นให้ต้องผ่อนคลายด้วยการเคลื่อนไหว จะค่อยๆเห็นไปอย่างนี้

ตอนแรกๆ จะเห็นแต่อิริยาบถหลัก แค่ทื่อๆ คอตั้งหลังตรงอยู่อย่างนี้เรียกว่านั่ง
แต่ต่อมาเห็นกระทั่งอาการขยับไหว ความจำเป็นต้องขยับไหว
นี่ตรงนี้ เข้าสู่ “สัมปชัญญบรรพ” แล้ว คือมีความรู้เข้ามาว่า นี่มันกำลังจะต้องขยับแล้ว

พระพุทธเจ้าเลยบอกว่า นี่เป็นความรู้สึกตัว เป็นความรู้เนื้อรู้ตัว
ที่ว่าเป็นสัมปชัญญะ หมายความว่า เริ่มแล้ว เริ่มมีสภาพคล่องทางจิต ทางสติ
ที่จะสามารถเห็นได้โดยไม่จำเป็นต้องไปเพ่ง ไปเค้น ไปพยายามเห็น
มันเห็นขึ้นมาเองด้วยจิตที่เป็นสมาธิ เห็นด้วยจิตที่ดูลมหายใจเป็น
แล้วก็จิตเริ่มเป็นผู้รู้กองลมทั้งปวงได้

ตรงนี้ถ้าหากเราไปเอานิยามแบบเป๊ะๆ นี่ เดี๋ยวจะเป็นเรื่องหนักหัวไปเปล่าๆ
แต่ว่าถ้าเราพิจารณาตามพระพุทธเจ้า ไปตามลำดับขั้นนี่
เราจะเห็นเลยว่า การที่ท่านให้ ดูลมหายใจก่อน ดูอิริยาบถก่อน
แล้วดูความเคลื่อนไหวปลีกย่อย เป็นลำดับต่อมา มีความหมายสืบเนื่องกัน
แล้วทำให้เราเข้าลู่เข้าทางได้ง่าย และก็เป็นลำดับ เป็นขั้นตอน
ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก ไม่ต้องไปพยายามคาดเดานะครับ
ทุกอย่างเหมือนกับจับต้องได้มาตั้งแต่จุดเริ่มต้นเลย
แบบที่พระพุทธเจ้าประทานแนวทางไว้นะครับ!

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน บทสวดมนต์ที่ช่วยให้เป็นสมาธิง่าย
▶▶ คำถามช่วง ถามตอบ ◀◀
วันที่ 2 มี.ค. 2562

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น