วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

เป็นคนจิตใจไม่ดี ชอบว่าคนอื่นในใจ ควรแก้อย่างไร


ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน นั่งสมาธิแล้วกลัวตายให้ทำอย่างไร?
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2561


ดังตฤณ: นิยามตัวเองใหม่นะ เป็นคนจิตใจปกติเหมือนคนธรรมดาทั่วไป ที่เดิมที ไม่มีใครคิดดีหรอก เชื่อเถอะ เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสนะ บอกว่า จิตคน นี่ เหมือนกับ น้ำ ที่มีธรรมชาติไหลลงต่ำ คือไม่ต้องไปทำอะไรเลย อยู่เฉยๆ มันไหลลงต่ำได้เอง เหมือนอย่างความคิดนี่ ที่คิดไม่ดีนะ มันไม่ใช่อยู่ๆ มีตัวความคิดไม่ดีติดตั้งอยู่ในจิตของเรา แต่ว่าจิตของเรามีความมืด ได้มากกว่าความสว่าง มีความทุกข์ ได้มากกว่าความสุข มีความอยากอิจฉา ริษยา เปรียบเทียบ เทียบเขาเทียบเรา มากกว่าที่จะเทียบกับตัวเองเมื่อวานนี้ ว่าดีขึ้นหรือยัง
อาการของจิตเหล่านี้ มันปรุงแต่ง นึกออกไหม อย่างเวลาเราร้อนนี่ เรามักจะนึกอยากด่าคน หรือว่าอยากสาปแช่งคนอยู่ในใจ แต่เวลาเราหนาวๆ เวลาเรารู้สึกเย็นๆ อากาศสบายๆ นี่ เราจะมีแก่ใจมองหาอะไรดีๆ ได้ จิตมันมีการปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลาด้วยสภาพแวดล้อม หรือไม่ก็สภาวะของจิตเอง

ถ้าสภาวะของจิตมันกำลังวุ่นวาย ฟุ้งซ่าน แล้วก็ชอบไปดูละคร ชอบไปดูอะไรที่ทำให้รบกวนจิตใจ มันก็อยู่ในภาวะพร้อมที่จะคิดไม่ดีอยู่ตลอดเวลา อยู่ในภาวะ เหมือนกับยืนอยู่บนเวที หรือว่ายืนอยู่ในป่ารกที่เต็มไปด้วยยุง เต็มไปด้วยอากาศที่อบอ้าว หรือว่าเต็มไปด้วยสภาพที่เป็นพิษ เป็นมลพิษ เราพร้อมที่จะป่วยไข้ เราพร้อมที่จะรู้สึกตะครั่นตะครอ รู้สึกร้อนๆ หนาวๆ อาการแบบนี้ของจิตนี่ ทำให้เราคิดไม่ดีอยู่ตลอดเวลา พร้อมที่จะมองใครไม่ดีอยู่ทุกคน
อย่างเจอใครใหม่นี่ คิดแล้ว คนนี้นี่ สมมติว่าเป็นคนที่ทำงาน จะต้องติดต่อกัน เอ๊ะ เขาจะโกงหรือเปล่า หน้าตาดีๆ เดี๋ยวนี้ หน้าตาดีๆมักจิตใจชั่วร้าย คดโกง ชอบเอาเปรียบ โน่น นี่ นั่น คือเราเสพย์แต่ข่าว หรือว่าเจอแต่ประสบการณ์ที่เหมือนกับ บีบ ให้เราคิดไปในทางนั้น แล้วก็เกิดความเคยชินที่จะคิดกับทุกคนที่เจอหน้าใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งคนที่เราอยู่ด้วยมานาน บางทีก็คิดระแวง เพราะปัจจุบันนี่ มีสมบัติส่วนตัวเป็นมือถือกันนี่ จ้องแล้ว เอ๊ะ ก้มหน้ายิ้มๆ นี่ คุยกับใคร หรือ เอ๊ะนี่ พิมพ์ พิมพ์จังเลย พิมพ์อยู่นั่นแหละไม่หยุดสักที แอบโฉบผ่านไป ดู เอ๊ะนี่คุยเรื่องอะไรกับใคร อ้าว นี่คุยกับผู้ชายไม่เป็นไร อะไรแบบนี้นี่ มันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แล้วการที่เรานี่ไม่มีช่วงเว้นวรรคเลย ก็กลายเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ทางความคิดลบ
ปฏิกิริยาลูกโซ่ทางความคิดลบมีความหมายยังไง มีความหมายว่า พอความคิดไม่ดีกับคนๆหนึ่งเกิดขึ้น ทำให้จิตใจของเรานี่แย่ เต็มไปด้วยความระแวง เต็มไปด้วยความระวัง เต็มไปด้วยความรู้สึกเคียดแค้นเก่าๆ เต็มไปด้วยความรู้สึกเหมือนกับอยากจะเอาให้ได้แบบเขาบ้าง ขอลัดๆ ได้ไหม วิธีไหนที่ได้เร็วๆ แบบเขา อยากได้แบบนั้น ความรู้สึกแย่ๆ ที่ตกค้างอยู่ ขยะทางอารมณ์ที่ไม่ไปไหน เหมือนกับขยี้ ขยำให้จิตเป็นก้อนๆ เป็นอะไรที่มั่วๆ และความรู้สึกมั่วๆ เป็นก้อนๆ ร้อนๆ ตรงนั้นนี่ ก็ผลิตความคิดไม่ดี ระลอกต่อมา ไม่ต้องเจอหน้าใคร คิดถึงหน้าคนเก่าๆ ที่เรารู้สึกเกลียดชัง หรือเรารู้สึกระแวงอยู่
ฉะนั้น ก็เกิดเป็นความคิดไม่ดีขึ้นมา แล้วความคิดไม่ดีนั้น ก็ไปทำให้อกุศลจิตยังคงอยู่ คือเลี้ยงอกุศลจิตไว้ ฉะนั้นไปเจอคนใหม่ ไปเจอคนต่อมา ก็คิดไม่ดีกับเขาอีก นี่แหละปฏิกิริยาลูกโซ่ทางความคิดไม่ดีนะ เป็นแบบนี้ .. .คิดไม่ดี แล้วเกิดอกุศลจิต อกุศลจิตทำให้เกิดความคิดไม่ดี ความคิดไม่ดี ทำให้เกิดอกุศลจิต ... อย่างนี้เรียกว่า ปฏิกิริยาลูกโซ่ทางอกุศลธรรม คิดไม่ดีแล้วก็เกิดอกุศลจิต อกุศลจิตก็ไปจุดชะนวนความคิดไม่ดีต่อไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ

ถามว่าทำยังไง นี่แหละ ตอนที่เราเริ่มต้นตั้งคำถามแบบนี้ เขาเรียกว่าเป็นศุภนิมิต ในโลกทางวิญญาณ เขาถือว่าเป็นศุภนิมิตแล้ว ถ้าสมมติว่าเรามีเทวดาค่อยดูแลรักษาอยู่นี่ พอแค่เราตั้งคำถามนี้ ท่านเห็นแล้ว นี่ มีแสงสว่าง มีอะไรบางอย่างที่เป็นกุศลเกิดขึ้นมาในจิตของเราแล้ว ทีนี้ทำยังไงให้ชะนวนที่เกิดขึ้นนี้ กลายเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ทางกุศลจิตขึ้นมา นั่นก็คือ เราเคยมองแง่ไม่ดีกับคนไว้ยังไง จำแง่ไม่ดีกับคนไว้ยังไง ลองงัดเอาแง่ดีของเขาขึ้นมา ทันทีที่คิดไม่ดีเกี่ยวกับเขา
คนเรามีทั้งมืด ทั้งสว่าง มีทั้งดี มีทั้งไม่ดี แล้วก็ความทรงจำของเราเกี่ยวกับตัวเขา ก็ต้องมีทั้งดีและไม่ดีเหมือนกัน ทันทีที่แอบคิดไม่ดี จะอยู่หน้าเขา หรือว่าลับหลังเขาก็ตาม บอกตัวเองว่า เรื่องไม่ดีของเขานี่ เป็นกรรมของเขา ที่คิดไม่ดี นี่คือกรรมของเรา ถ้าหากว่าเราตั้งใจจะเปลี่ยนจากความคิดไม่ดีนี้ ให้กลายเป็นความคิดที่ดีขึ้น ชีวิตของเราก็จะพลิกจากลักษณะคว่ำ เป็นหงายขึ้นมา เตือนตัวเองให้ได้แบบนี้บ่อยๆ นะ พอทันทีที่นึกเรื่องไม่ดีของใคร ง่ายๆ เลย เอาเรื่องดีมาชน เอาของดีมาสู้ เหมือนกับให้มีสองคนอยู่ในตัวเรา รู้แล้วรู้รอดไปเลย ฝ่ายหนึ่ง ตั้งหน้าตั้งตาจะฉุดตัวเองลงต่ำ อีกฝ่ายหนึ่งก็ตั้งอกตั้งใจที่จะฉุดตัวเองขึ้นสูงนะ
พอมีความเคยชินสักครั้ง สองครั้ง ที่เวลาคิดไม่ดีกับใครแล้วนึกถึงแง่ดีของเขาขึ้นมาทันที ครั้งแรกๆ เหมือนจะแพ้ เพราะว่าคนมักจะสู้ความเคยชินที่ผ่านๆ มาของตัวเองไม่ค่อยจะได้หรอก แต่ถ้าหากว่าเรายังมีแก่ใจที่จะทำให้เกิดขึ้นครั้งที่สอง ครั้งที่สามไปเรื่อยๆ ในที่สุด ปฏิกิริยาลูกโซ่ทางความคิดดี จะจุดติด จุดชะนวนติด สังเกตได้ว่า ทันทีที่คิด ตั้งใจจะคิดไม่ดีกับใคร จะเอะใจขึ้นมา นี่อย่างนี้เกิดสติ เรียกว่า รู้ตัวว่ากำลังคิดไม่ดี แล้วนึกทันทีถึงอะไรดีๆ เกี่ยวกับตัวคนๆ นั้น ต่อให้เขาเคยทำให้เราเจ็บใจมาขนาดไหนก็ตาม อาจนึกแง่ดีว่า เขาเป็นคนที่กตัญญูกับพ่อแม่เขา ดูเขารักลูกนะ หรือว่า นี่ท่าทางเขาถึงแม้จะโผงผาง พูดจาจิกกัดให้เราเจ็บใจได้ง่ายๆ แต่ดูท่าทางจะซื่อสัตย์ดี ไม่คดโกง ไม่เจ้าเล่ห์อะไรแบบนี้ หาเรื่องดีๆ ที่จะเอามารีบสู้กัน หรือกลบทับความทรงจำที่เป็นลบชองเรานะ
ก็อาจไม่ได้ถึงขนาดว่า เปลี่ยนจากเกลียดเป็นรัก หรือเปลี่ยนจากหมั่นไส้เป็นชื่นชม แต่อย่างน้อยเปลี่ยนจากความมืดในใจของเราเองเป็นความสว่างขึ้นมาได้ แล้วถ้าสว่างบ่อยๆ เราจะติดใจรสชาติความสว่างนั้นมากขึ้นทุกทีนะครับ

จะแยกได้อย่างไรว่า ปัญญาที่เกิดไม่ใช่ความคิดที่เราได้มาจากการจดจำ


จะแยกได้อย่างไรว่า ปัญญาที่เกิดไม่ใช่ความคิดที่เราได้มาจากการจดจำ มาจากสิ่งที่เราได้อ่านได้ฟัง แล้วบอกจิตให้คิดตามนั้น?
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน นั่งสมาธิแล้วกลัวตายให้ทำอย่างไร?
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2561


ดังตฤณ: อันนี้ตอบได้ง่ายๆเลยนะ ตามหลักที่พระพุทธเจ้าท่านวางไว้นี่ สิ่งที่ท่านต้องการคือ การมีภาวะรับรู้เป็นปกติ พูดง่ายๆ ว่าจิตที่รู้ว่าอะไรๆ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน ไม่เป็นปกตินะ อย่างนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่เราต้องการเป็นอันดับหนึ่ง อันดับสำคัญ อย่าไปมองเรื่องมรรคผล อย่าไปมองเรื่องหลุดพ้นจากกิเลส แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ให้มองเป็น #จิตที่มีความเป็นปกติ ที่จะรับรู้ว่า สิ่งใดที่มากระทบเรา สิ่งนั้นไม่เที่ยง ปฏิกิริยาของใจที่สวนออกไปกับสิ่งกระทบนั้น ก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน
ถ้าหากว่าเรารู้ได้เป็นปกติ จะไม่สงสัย ที่รู้ได้เป็นปกตินั่นแหละ ที่ท่านเรียก “สัมมาสมาธิ” คือมีสติอย่างเดียวไม่พอนะ มีสติอย่างเดียวบางทีนี่เราอาจจะอาศัยความคิดประกอบเข้าไปก็ได้ แต่ถ้าหากจิตมีความรับรู้อยู่เป็นปกติ คือรู้สึกอยู่อย่างนั้นเลยนี่ อยู่ว่างๆ นี่จิตว่างๆ ว่างเปล่า สบายๆ อยู่ เสร็จแล้วพอมีเรื่องในหัว ผุดขึ้นมา บอก เอ๊ะ คนนั้นนี่ยังไม่คืนเงินเรานี่ ใจนี่จากเดิมที่ว่างๆ สบายๆ อยู่ กลายเป็นทุกข์ กลายเป็นดิ้นรน กลายเป็นมีความรู้สึกกระวนกระวายอยากโทรไปทวงทันที ถ้าความรู้สึกว่าเราจะต้องทวงหนี้ เราเป็นทุกข์กับสิ่งที่ยังไม่ได้คืนนี่ มันกัดกินใจเราไปหมด นี่อย่างนี้เรียกว่า ยังไม่รู้เป็นปกติ
ถ้ายังต้องพิจารณา ถ้ายังต้องมาบอกตัวเองว่า เออ อันนี้คือภาวะอย่างหนึ่ง ความกระวนกระวายนี่ เป็นแค่สิ่งที่ผ่านมา แล้วเดี๋ยวจะผ่านไป ความกระวนกระวายนี่ เดี๋ยวนับเอาเสียหน่อย กี่ลมหายใจถึงจะค่อยๆ จางลง อย่างนี้ยังไม่ใช่ของจริง อย่างนี้ยังเป็นสิ่งที่เรายังต้องคิดๆ ช่วย หรือว่าจะต้องเอาความทรงจำเก่าๆ ที่ครูบาอาจารย์สอน หรือว่าที่เคยอ่านเคยฟังมานี่ มาประกบกิเลสตัวนั้น อย่างนี้ยังไม่ใช่ปัญญาที่เกิดขึ้นจริง ยังเป็นปัญญาในระดับจินตนาการเท่านั้น

แต่ถ้าเป็นปัญญาของจริง อยู่ว่างๆ อยู่สบายๆ อยู่ดีๆ จิตอยู่ดีๆ ไม่ได้เป็นทุกข์ไม่ได้เป็นร้อนอะไร เกิดความคิดผุดขึ้นมา เอ๊ะ นี่ยังไม่ได้คืนเงินเรานี่ นี่ก็เลยกำหนดนัดมาตั้งนานแล้ว พอเกิดความกระวนกระวายขึ้นมา เรายังไม่ได้คิดเลย (ความคิด) นี่เป็นภาวะ (ความคิด) นี่เดี๋ยวจะแสดงความไม่เที่ยง แต่จิตเกิดความรู้สึกขึ้นมา เท่าทันว่า ความคิดอยากจะทวงเงินนี่เป็นแค่อาการ เหมือนกับมีอะไรดันๆ ออกมา มีอะไรป่วนๆ อยู่ข้างใน หรือว่ามีอะไรที่ทำให้หัวหูร้อน เสร็จแล้วความเป็นปกติของจิตที่ยืนอยู่บนพื้น เป็นพื้นจิตพื้นใจนี่นะ ทำให้ภาวะวุ่นวายตรงนั้น กลายเป็นแค่ส่วนเกินของภาวะปกตินี้ กลายเป็นภาวะที่เรารู้สึกว่า นี่มีอะไรแปลกปลอมบางอย่างเกิดขึ้น และภาวะแปลกปลอมนั้นไม่ใช่สิ่งที่เราต้องแคร์ (care) นะ
อันนี้เป็นระดับของจิตนะ ไม่ใช่ความคิด ว่าเราจะต้องใส่อะไรลงไป มันรู้สึกขึ้นมาเองว่า ที่ผุดขึ้นมานี่ไม่ใช่เรานี่ อยู่ๆ มันผุดขึ้นมาจากความว่างของจิต จิตเดิมทีอยู่ว่างๆ เฉยๆ มันผุดความคิดเกี่ยวกับเรื่องเงินเรื่องทองขึ้นมา แล้วเกิดความทุกข์ความร้อนขึ้นมา ถ้าจิตเราเป็นปกติ เป็นสมาธิอยู่ มันจะมีความรู้สึกว่า ภาวะปรุงแต่งที่ผุดขึ้นมาให้ใจเร่าร้อนเป็นทุกข์นี่ เป็นแค่ภาวะแผ่วๆ ที่พร้อมจะผ่านไป มันเห็นของมันเอง
อย่างนี้มั่นใจได้ว่าจิตที่มันเห็นว่าแผ่วๆ แล้วก็ผ่านๆไปนี่นะ จะกลับมาว่างเหมือนเดิม ความว่างนั้นจะไม่สงสัยตัวเอง จะมีความรู้สึกว่า เออนี่ ที่ตั้งอยู่อย่างนี้ เรียกว่าเป็นสมาธิอยู่อย่างนี้ นี่เรียกว่า รู้เป็นปกติ จะไม่มีความคิดสงสัยตามหลังมาอีก เพราะว่าสิ่งที่อยู่เป็นปกติคือ จิตที่พร้อมจะรู้อะไรก็ตามที่มันผ่านเข้ามากระทบ หรือแม้แต่กระทั่งปฏิกิริยาทางใจ ที่ปกติจะผลิตความรู้สึกมีตัวตนออกมา ก็จะสักแต่ว่ามีปฏิกิริยาออกมาอย่างนั้นเอง จะมีความรู้สึกเหมือนกับว่างๆ โหวงๆ โปร่งๆ กลวงๆ นะ แต่ถ้าเป็นความรู้สึกยึดมั่นถือมั่น จะรู้สึกแน่นๆ ทึบๆ จับต้องได้ แบบว่ารู้สึกว่านี่มีตัวตนอยู่แน่ๆ มีตัวเราอยู่ในนี้แน่ๆ ตัวนี้แหละที่ไม่ใช่ปัญญาของจริง ไม่ใช่ปัญญาในระดับ “รู้” เป็นปัญญาในระดับ “คิด”
ปัญญามีอยู่สามระดับ ปัญญาในระดับ “ฟัง” ฟังมา รับฟังมา สดับตรับฟังมา หรืออ่านมานะครับ
แล้วก็ปัญญาในระดับ “นึกๆ คิดๆ” อย่างเช่นเมื่อกี้ที่ยกตัวอย่าง พอเกิดภาวะอะไรขึ้นมา เกิดความทุกข์ขึ้นมาแล้วเราคิดว่า นี่เป็นภาวะอย่างหนึ่ง เดี๋ยวมันก็ต้องหายไปในอีกไม่กี่ลมหายใจ อย่างนี้ยังเป็นคิดแบบ จินตนาการ
แต่ถ้ามันรู้อยู่เองเป็นปกติ ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แล้วเหลือแต่ “ใจ” ที่ยังว่างอยู่ ว่างอย่างรู้ ไม่มีตัวตน ตัวนี้นี่ เป็นปัญญาแบบภาวนาแล้ว เป็นปัญญาในระดับที่หวังความเอาตัวรอดได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บางคนอาจนึก เอ๊ะ แล้วทำไมผมบอกว่า ผมแนะว่า ควรจะนับลมหายใจ นับอายุลมหายใจ ก็เพื่อที่จะให้เป็นปัญญาในระดับจินตนาการเต็มขั้น ปัญญาในระดับจินตนาการเต็มขั้นนี่นะ ในที่สุดจะต่อยอดขึ้นไปให้จิตรวมลง แล้วก็กลายเป็นภาวะ “รู้ ตื่น เบิกบาน” แล้วก็ไม่ต้องจินตนาการ ไม่ต้องมาเค้นคิด
คือจิตนี่ ถ้าทำให้เดินไปในทิศทางที่ถูก เดี๋ยว(จิต) ไปไกลได้เอง มันถึงจุดหมายได้เอง แต่ถ้าให้มันย่ำอยู่กับที่ หรือว่าเดินไปผิดทิศผิดทาง ยังไงก็ไปไม่ถึงที่ๆเราต้องการ อย่างยกตัวอย่าง บางคนบอกว่า เอาล่ะ ฉันมีจริตนิสัยในทางที่จะดูจิตอย่างเดียวนะ เสร็จแล้วพอเกิดปฏิกิริยาทางใจอะไรขึ้นมาจริงๆ ยกตัวอย่างเดิมนี่ อย่างอยากจะทวงเงินคืน เป็นทุกข์เป็นร้อน คือทวงเงินนี่ ต้องทวงนะไม่ใช่ไม่ทวง แต่ว่า ทำไมต้องเป็นทุกข์เป็นร้อน นี่ ตัวนี้ที่มันเป็นส่วนเกินมา
ถ้าเป็นคนปกติ จะมีความรู้สึกว่า เอ๊ย ถ้าถึงเวลาทวงเงินแล้วนี่ มันต้องเป็นทุกข์สิ ไม่เป็นทุกข์นี่ผิดปกติ แล้วก็ลืมหมดเลย เรื่องภาวนา เรื่องอะไรต่อมิอะไร ต่อให้เคยภาวนามากี่ปีก็ตาม พออารมณ์ครอบงำแล้ว ลืมทุกอย่าง ปล่อยให้อารมณ์ครอบงำต่อไป นี่ตัวนี้ที่คือข้อแตกต่าง
ถึงแม้ว่าเราจะภาวนามา บอกว่า ฉันภาวนามาสิบปี แต่ถ้าหากว่า ท่าทีที่เรามองว่า ฉันจะดูจิตอย่างเดียวนี่ แต่พอปฏิกิริยาทางใจเกิดขึ้นแรง ความทุกข์เกิดขึ้นแรงเกิน เกินกว่าที่จะให้ดู ดูไม่ได้แล้วนี่ ก็ปล่อยใจหลงไปตามมัน ไม่มีทุน หรือว่าตัวกำลังหนุนที่จะช่วยให้เรามารับมือกับความทุกข์แรงๆ ที่เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเรามานับลมหายใจ แต่ละครั้งที่เกิดความทุกข์ขึ้นมา มันอยู่ได้กี่ลมหายใจ อันนี้อยู่ในทิศทางที่จะได้สังเกตจริงๆ ว่าความทุกข์ทุกชนิดนี่ มันอยู่ได้ไม่กี่ลมหายใจก็ต้องเหือดแห้งไป ระเหยหายไป
พอเราได้ข้อสรุปแบบนี้หลายๆ ครั้งเข้า จิตเขาไม่ต้องไปพึ่งลมหายใจ พอความทุกข์หรือปฏิกิริยาทางใจร้อนๆ เกิดขึ้นปุ๊บ มันสามารถรู้ขึ้นมาได้เองเลย มีสติเท่าทันเลยว่าเดี๋ยวมันก็จะต้องหายไป พอสังเกตดู เออ มันก็หายไปจริงๆ ด้วย พอหายใจก็จะเหลือแต่ใจว่างๆ ที่ไม่มีความทุกข์ไม่มีความร้อนนะ


วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

มีทุกขเวทนาทางกายมากๆ จะเจริญสติอย่างไร


รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ทางออกของโทษประหาร 23 มิถุนายน 2561

https://www.youtube.com/watch?v=JMx6OXbGip0

ดังตฤณ : ถ้าทุกขเวทนา หรือว่าความทุกข์ทางกาย ทางใจหนักเกิน บางทีต้องยอมรับความจริงว่า สติมาไม่ได้นะ สู้ไม่ไหว หรือมาไม่ทัน
.
สิ่งที่เราจะทำกันจริงๆ ในแบบของคนเจริญสติก็คือว่า ดูทุกข์เล็กๆ น้อยๆ มาก่อน คือเตรียมไว้ก่อนหน้า ไม่ใช่เพิ่งมาเริ่มทำกันตอนที่กำลังทุกข์มากแล้ว ทุกข์แก่กล้าสาหัส ไม่มีสติของใครที่ไหนที่จะสามารถตามได้ทัน หรือว่าเกิดขึ้นได้นับหนึ่งกันที่ตรงทุกข์หนักๆ นะ
.
จริงๆ แล้วต้องนับหนึ่งกันที่ทุกข์เบาๆ ทุกข์แบบในชีวิตประจำวันที่ หงุดหงิดใครบ้าง หรือว่าเกิดความรู้สึกไม่ได้อย่างใจบ้าง หรือว่าเกิดความรู้สึกว่า โอ้ย เกิดความหิว หรือว่าเกิดความรู้สึกว่าร้อนเหลือเกิน ประเภท ... โอ๊ยเล็กๆ ไม่ใช่โอ๊ยใหญ่ๆ ... แบบนั้น ที่เราควรจะฝึกไว้ก่อนต้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้เกิดสติพื้นฐาน สามารถทำความเข้าใจ สามารถทำการรับรู้ได้ง่ายๆ ว่าอย่างนี้เรียกว่าทุกข์ ทุกขเวทนา มันเกิดขึ้นที่ลมหายใจไหน แล้วค่อยๆ คลี่คลายผ่านไปที่ลมหายใจไหน มันดับไป หายไป นับหนึ่งที่ลมหายใจนี้ ทุกข์เล็กๆ ทุกข์น้อยๆ มีแค่ความหงุดหงิดเกิดขึ้นมา แค่ความรู้สึกหงุดหงิดหรือขุ่นเคืองทางใจนี่ เสร็จแล้ว สองสามลมหายใจต่อมาสังเกตดูอีกที อ้าว ตอนนี้ใจว่างหายไปแล้วจากความทุกข์แบบเดิม
.
นี่เรียกว่าเป็นการฝึกสตินะ รู้ทุกข์เล็กๆ น้อยๆ เพื่อที่จะเป็นพื้นฐานต่อไปว่าเวลาที่เจอกับทุกข์ที่มันหนักขึ้น ประสบทุกข์ที่ดำมืด ทำให้จิตใจนี่ตกต่ำดำมืด เราก็จะมองเห็นว่า เออ มันเป็นทุกข์เหมือนกัน เพียงแต่ว่าอันนี้ใหญ่กว่า รับมือยากกว่า
.
ถ้าหากว่าคนมีสติขั้นพื้นฐาน รู้ทุกข์เล็กๆ น้อยๆ โดยความเป็นของไม่เที่ยงมาแล้ว ก็จะมีแก่ใจ มีกำลัง มากพอที่จะมองว่า ถึงแม้ทุกข์หนัก ก็เป็นรสชาติของความทุกข์อันเดียวกันนั้นเอง ถึงแม้จะบอกว่า โอ๊ย นี่เหมือนโลกทั้งใบทับอยู่ ก็เป็นความทุกข์โดยเนื้อหานี่ มันเหมือนกับ คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเลนะ จะเป็นทะเลที่ชายหาด หรือว่าที่ก้น ที่ท้องมหาสมุทร มันก็เป็นทะเลเหมือนกัน มันเป็นทะเลอันเดียวกัน ความรู้สึกจะเป็นอย่างนั้น
.
สำหรับคนที่สังเกตเห็นว่าทุกข์ไม่เที่ยงมาแต่ไหนแต่ไร ทุกข์เล็ก ทุกข์น้อย กำลังแสดงความแปรปรวนไปในแต่ละลมหายใจ พอเกิดความทุกข์อย่างใหญ่ขึ้นมาก็จะเข้าสูตรเดิม มานับหนึ่งตรงที่ว่า เออ ลมหายใจนี้นะ มันทุกข์ใหญ่หลวงเหลือเกิน จะด่าวดิ้นให้ได้แล้ว แต่เสร็จแล้วอีกสองสามลมหายใจต่อมา ความทุกข์ที่ราวกับถูกโลกทับทั้งใบ ก็กลายเป็นเหมือนกับยกภูเขาออกจากอกได้ชั่วคราวขณะหนึ่ง
.
ชั่วขณะที่เห็นว่าทุกข์ใหญ่หลวงนั้น จะเป็นโรคภัยไข้เจ็บ หรือว่าจะเป็นทุกข์ทางใจก็ตาม สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ขอแค่สังเกตเห็นแค่นิดเดียว
.
คนที่มีฐานสติจะได้ข้อสรุปให้กับจิตว่า นี่ก็ทุกข์ นี่ก็ความไม่เที่ยงของทุกข์เหมือนกัน มีความไม่เที่ยงมีความแปรปรวนไป ให้เราดูได้เหมือนกัน ตัวนี้ก็จะเกิดสติตั้งมั่นขึ้นมา แล้วก็ ทุกข์ขนาดไหนเราก็เห็นเป็นความไม่เที่ยงได้เหมือนกันหมด โอเค จะมีทุกข์บางกรณีที่เห็นเป็นความเที่ยงได้จริงๆ นะ แต่ทุกข์แบบนั้นหายาก ทุกข์ส่วนใหญ่นะ ต่อให้ทุกข์หนักขนาดไหน มันสามารถที่จะแสดงความไม่เที่ยงให้เราดูได้ในไม่กี่ลมหายใจ สำคัญตรงที่ว่า เรามีพื้นฐานของสติไว้พร้อมจะรับมือกับมันหรือเปล่าเท่านั้นเองนะ!

กรรมจากอกุศลมโนกรรมจะมาในรูปแบบใด

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน การทำสมาธิจำเป็นเพียงใดต่อการบรรลุธรรม?
25 สิงหาคม 2561

https://studio.youtube.com/video/eLuk0DhbYQU/edit

ดังตฤณ: กรรมจากอกุศลมโนกรรม จะมาในรูปแบบใดได้บ้าง พระพุทธเจ้าตรัสว่า มโนกรรมสำคัญที่สุด มโนกรรมใหญ่ที่สุด ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ถ้าหากว่าใจน้อมไปนึกถึงสิ่งใด หรือว่ามีวิธีคิดแบบไหนนะ มโนกรรมก็เกิดขึ้นแบบนั้น

มโนกรรมคือต้นตอของชีวิตทั้งหมด เพราะฉะนั้น การรับผลของมโนกรรมก็คือการมีชีวิตทั้งหมดที่เรากำลังเป็นอยู่นั่นแหละ กรรมเก่า บางทีอาจเบียดเบียนถ้าเรามีความทุกข์ แต่มโนกรรมใหม่ที่เป็นบุญ ที่เป็นกุศลอาจทำให้ทุกข์นั้นไม่ต้องเกิดขึ้นก็ได้ ถ้ามโนกรรมของเรา เป็นมโนกรรมในแบบที่จะพิจารณาให้เห็นนะว่า ความทุกข์ไม่เที่ยง เกิดขึ้นเดี๋ยวก็ต้องดับไป แล้วก็เห็นจริงๆว่าทุกข์นี่เกิดขึ้นที่ลมหายใจไหน แล้วก็หายไปที่ลมหายใจไหน เห็นจริงๆ บ่อยเข้า ก็เป็นมโนกรรมในแบบที่จะทำให้เกิดความสุขได้ ทั้งๆที่กำลังรับเวร รับกรรมอยู่ รับบาปรับกรรมเก่าอยู่ กำลังมีความทุกข์ มีความอัตคัต มีความขัดสน ไม่มีเงินจะใช้ แต่ใจกลับเบา ใจนี่กลับเกิดความรู้สึกปลอดโปร่ง เออ จะมีก็ได้ ไม่มีก็ได้

อย่างคนคุกนี่หลายคนอ่านหนังสือธรรมะ หรือว่าฟังธรรมะ แล้วเกิดความรู้สึกว่า เออ โชคดีนะที่มาติดคุกแล้วได้ฟังธรรมะ ตอนอยู่นอกคุกไม่เคยได้ฟังเลย อันนั้นโชคร้ายกว่า นี่บางคนนะนักโทษนี่ ปฏิบัติธรรมเป็น เจริญสติได้ ใช้ชีวิตคุ้มกว่าคนที่อยู่นอกคุกเสียอีกนะ นี่แหละ ผลของมโนกรรมที่น้อมเอาธรรมะมาใส่ตน มาประดิษฐานในตน

คนนอกคุกนี่รู้ธรรมะกันได้เยอะ จำธรรมะกันได้มาก แต่ว่ามีธรรมะกันได้น้อย เพราะอะไร เพราะเป็นอิสระเกินไป นึกอยากจะทำอะไรก็ทำ นี่ มโนกรรมต่างกันแล้ว รู้ธรรมะเยอะแยะเลย แต่มโนกรรมนี่ไม่เอา ไม่เอามาอยู่ในใจ ไม่เอามาประดิษฐานไว้ในใจ มีความอยากจะทำอะไรตามใจชอบ นึกอยากทำอะไรก็ทำ แล้วก็อ้างว่า เออ รู้ธรรมะแล้ว แต่กองไว้ก่อน ขอเอาสิ่งที่ใจชอบ กิเลสนี่นิยม เอาตัวนี้ก่อน อันนี้ก็คือมโนกรรม เลือกเอง แล้วก็รับผลเอง รับผลคือ ไม่ได้ธรรมะจริง มีแต่จำได้ว่าธรรมะ เขาพูดว่าอะไร ตอนนี้บุคคลสำคัญทางพุทธศาสนา เข้าไปอยู่ในคุกกันเยอะแยะเลย ก็ไม่รู้ว่า จะมีมโนกรรมแบบใหม่ ได้เอาธรรมะเข้าตัว เอาธรรมะเข้าสู่ใจกันมากน้อยแค่ไหน

ใช้ชื่อคนที่เราชอบเป็นคำบริกรรมได้ไหม

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน การทำสมาธิจำเป็นเพียงใดต่อการบรรลุธรรม?
25 สิงหาคม 2561

ดังตฤณ: หลวงพ่อพุธเคยไปสอนลูกศิษย์ของท่านคนหนึ่งบอกว่า ไม่ชอบคำว่าพุทโธ ท่านก็ถามว่า ชอบชื่อแฟนไหม บอกว่าชอบ ก็เอาชื่อแฟนนั่นแหละ ไปบริกรรม อย่างนี้ก็มีเหมือนกัน แล้วปรากฏว่าทำได้ด้วย

คำว่า “พุทโธ” นี่นะ แปลว่า “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน” ที่นำมาใช้เป็นคำบริกรรม ก็เพราะว่าเป็นคำที่จำง่าย แล้วก็เป็นคำที่จิตนี่หน่วงไว้แล้ว มีความง่ายที่จะตื่นรู้ คือเป็นเรื่องลึกลับนิดหนึ่ง บางทีไม่ใช่แบบเป็นเหตุผล เป็นแบบคณิตศาสตร์ว่า เอ๊ะ แล้วทำไมทีคำอื่นถึงไม่ง่ายต่อการเป็นสมาธิล่ะ

คำว่าพุทโธนี่ คือ เราคิดอย่างนี้ก็ได้ว่า มีความหมายแบบที่เป็นสากล ว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ภาษาไทยก็เรียกตามภาษาดั้งเดิมนั่นแหละว่า พุทโธ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้าหากว่าเราบริกรรมคำนี้ ต่อให้ไม่รู้คำแปล แต่ความหมายของคำนี้ที่มีอยู่ครอบโลก ก็จะทำให้เกิดพลังแบบหนึ่ง ที่ทำให้ง่ายต่อการเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน สำคัญคือว่า ไม่ใช่แค่ชื่อ ไม่ใช่แค่คำ แต่เป็นจิตของเราด้วย ที่นึกถึงคำนั้นแบบไหน

อย่างถ้าสังเกตตัวเองดีๆ คุณจะเห็นนะว่าคำว่าพุทโธๆๆ นี่ อย่างเวลาผมพูด พุทโธๆๆ คำนี้ มีความหนัก ความเบา ความดัง ความค่อยสม่ำเสมอ พุทโธๆๆ แต่เอาเข้าจริงจิตนี่นะถ้าหลับตานึกถึงคำว่าพุทโธอย่างเดียว จะมีการกระโดด เดี๋ยวหนัก เป็นพุทโธ ตัวเป้งๆ โตๆ ... เดี๋ยวเบา เป็นพุทโธ ตัวเล็กๆ ...

ถ้าหากว่า เราเป็นพุทโธหนักๆ ก็พุทโธๆ อาการของจิต จะเค้น แต่ถ้าพุทโธแผ่วๆ หรือพุทโธแบบเลือนๆ พุทโธแบบเลอะเลือน อันนั้นเป็นอาการของใจที่กำลังเลื่อนลอย กำลังเบลอๆ แต่ถ้าหากว่าใจกำลังโฟกัส (focus) อยู่จริงๆ มีโฟกัสที่พอดี จะมีความสม่ำเสมอของ พุทโธๆๆ เหมือนกับตอนที่เราอ่านหนังสืออย่างมีสมาธินี่ คำในหน้าหนังสือจะปรากฏเป็นเสียงกระซิบในหัวของเราสม่ำเสมอ ยิ่งถ้าใครอ่านหนังสือได้เร็วขึ้นเท่าไหร่ เสียงในหัวจะยิ่งเหมือนกับเบา เหมือนกับเงียบหายไปนะ นี่ก็เหมือนกัน คือพุทโธนี่ ถ้าเราเป็นสมาธิมากขึ้นเท่าไหร่ พุทโธนี่จะเป็นเส้นตรง จะมีความสม่ำเสมอ จะมีความคงที่ จนกระทั่งหายไป

อันนี้ก็คือพูดง่ายๆว่า เราอย่ามาเกี่ยงกันแค่เรื่องของคำอย่างเดียว ให้ดูเรื่องของจิตด้วยว่า จิตที่บริกรรม พุทโธ หรือ จิตที่บริกรรมคำไหนๆ ก็ตาม ตามสำนักไหนก็ตาม เป็นจิตแบบใด เป็นจิตแบบที่มีอาการเค้น มากแค่ไหน เป็นจิตที่เลื่อนลอยหรือเปล่า เป็นจิตที่มีสมาธิแล้วหรือยัง ถ้าจิตที่เค้นนี่ จะรู้สึก พุทโธนี่หนักๆ หรือคำบริกรรมนั้นๆ จะหนัก เหมือนกับเป็นตัวใหญ่เท่าหม้อแกงเลย แต่ถ้าหากว่าเรามีจิตที่เลื่อนลอยนะ จะแผ่ว จะกระโดดๆ เดี๋ยวหนักบ้างเดี๋ยวเบาบ้าง เดี๋ยวมาถี่ๆ เดี๋ยวมาแบบห่างๆ ไม่สม่ำเสมอ แต่ถ้าหากว่าเป็นสมาธิ จะมีความคงที่ มีความคงเส้นคงวา

ผมมีอุบายง่ายๆ อย่างถ้าเราเขียนคำว่า พุทโธๆๆ ไว้ในหน้ากระดาษ แล้วก้มลงอ่านเงียบๆ ให้สังเกตว่า เออ มีคำว่าพุทโธๆๆ ในหัวของเราประมาณไหน ให้จำเสียงกระซิบแบบนั้นไว้ แล้วก็เอาไปนึกต่อ โดยไม่ต้องอ่านตัวหนังสือ คือเขียนใส่หน้ากระดาษไว้ พุทโธ สักห้าคำ สิบคำ แล้วอ่านไป จะมีเสียงขึ้นมาในหัวว่า พุทโธๆๆ แล้วเสร็จแล้วเราก็เอาไปบริกรรมต่อ

อันนี้ทำนองเดียวกันนะ ต่อตัวคำถาม บอกว่าจะเอาชื่อคนที่เราชอบมาบริกรรมได้ไหม ก็เอาชื่อคนที่เราชอบมาเขียนใส่หน้ากระดาษ แล้วก็สังเกตดู เวลาเราอ่าน ด้วยสายตา มีความสม่ำเสมอในหัวแค่ไหน เกิดเสียงกระซิบแบบไหน ก็ให้จำเสียงกระซิบนั้นเป็นคำบริกรรมนะครับ แล้วก็ค่อยดู ค่อยเปรียบเทียบ ทีละช่วงๆ ว่าจิตของเราเค้นไหม จิตของเราเป็นทุกข์อึดอัดไหม จิตของเรามีความสุขไหม จิตของเราสบายไหม หรือจิตของเราเลื่อนลอยไป ก็จะปรากฏในคำบริกรรมนั่นแหละ นะครับ

วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

คำว่า "สละออก" กับ "ช่างมัน" เหมือนกันไหม


ถาม: คำว่า "สละออก" กับ "ช่างมัน" เหมือนกันไหม




ดังตฤณ: ไม่เหมือนนะ “ช่างมัน” นี่ มีที่ใช้ได้ทั้งทางดีและในทางร้าย
ช่างมันในแบบดูดาย ... ช่างมัน เออ มันจะตายก็ให้ตายไป ไม่ต้องไปช่วยมัน อย่างนี้คือ ช่างมันแบบมีโมหะ ประกอบอยู่ โน้มเอียงที่จะไหลลงต่ำ โน้มเอียงที่จะทำอะไรที่มันร้ายๆ ให้เกิดขึ้นเสียเอง 

ดูดาย กับ คิดร้าย ต่างกันนิดเดียว เฉียดกันนิดเดียวนะ เพราะคิดดูดายช่างมัน ไม่ช่วยทั้งๆที่ช่วยได้นี่ จริงๆแล้วนั่นเป็นอกุศลจิตแล้วนะ เป็นอกุศลจิตแล้ว 
อกุศลจิตนี่ ใกล้กับอกุศลจิตประเภทเดียวกัน หรือประเภทที่อัพเกรดขึ้นใหม่ จาก ... ช่างมัน มันจะตายก็ช่างมัน กลายเป็น ...เออ เราจะฆ่ามันก็ได้ ห่างกันนิดเดียวนะ (การ)ไม่สนใจชีวิตนี่ พอเริ่มไม่มีความเมตตา พอสมองส่วนที่จะมีเมตตาให้คนอื่น ถูกปิด ถูกระงับไป ถูกปิดการใช้งานไปนี่ พอแค้นเคืองใครขึ้นมาก็คิดกำจัดได้ โดยไม่เห็นใจว่าเขามีสิทธิ์จะมีชีวิตต่อยังไง หรือว่า ลูกหลานจะเศร้าโศกเสียใจยังไง มันปิดการทำงาน แล้วก็จัดการตามที่ตัวเองนึกอยากขึ้นมาแบบดิบๆ นี่คือช่างมันแบบ คือเริ่มต้นก็คือช่างมัน ดูดาย แบบดูดาย

ทีนี้มี ช่างมัน แบบที่ครูบาอาจารย์ท่านใช้บอก ... ช่างมัน ...
หมายความว่าใจนี่ไปยึด เช่น บอกว่าใครมาทำให้เราเกิดความขัดเคือง เกิดความรู้สึกเจ็บใจ เกิดความรู้สึกว่า เอ๊ย ไม่น่าทำกันแบบนี้เลย ประเภทจี๊ด ทำไมทำกันแบบนี้ แล้วมีอาการของใจที่บอก “ช่างมัน” ขึ้นมา อันนี้คือ “สละออกซึ่งความแค้น” อย่างนี้ถือว่าเป็น ช่างมันแบบดี

ส่วนคำว่า “สละออก” มีนัยยะ ที่ครอบคลุมตั้งแต่เบื้องต้น ไปจนถึงเบื้องปลาย
สละออกในแบบที่ว่า ตรงนี้เป็นส่วนเกิน เอาไปให้เป็นประโยชน์กับคนอื่นดีกว่า อย่างนี้เรียกสละออกแบบเบื้องต้น
ส่วนสละออกขั้นกลาง อย่างที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า เป็นมหาทาน ก็คือสละออกซึ่งความอยากจะไปทำร้ายใครเขา อยากจะไปเอาเปรียบใครเขา อยากจะไปทำให้ใครเขาเกิดความบาดเจ็บทางใจ หรือการเอาลูกเอาเมียเขามา อะไรต่างๆ นี่อย่างนี้เรียกว่า เป็นการสละออกซึ่งตัวตนที่มันร้ายๆ เป็นการสละออกระดับกลาง
ส่วนการสละออกในแบบที่พระพุทธเจ้าเรียกว่าเป็น การสำรอกตัณหา ก็คือการสละออกซึ่งตัวตน การสละออกซึ่งความสำคัญมั่นหมายผิดๆ ยึดมั่นผิดๆ ว่ากายนี้ใจนี้ เป็นตัวเป็นตนของเรา เรียกว่าเป็นการสละออกขั้นสูงนะครับ ซึ่ง ไม่ใช่แค่ช่างมัน คือ อยู่ๆ เราจะไปบอกว่า ตัวนี้ตนนี้จะมีหรือไม่มี ช่างมัน อย่างนี้ไม่ได้ อย่างนี้แล้วมาบอกว่า คิดแบบเซน คิดแบบง่ายๆ เบาๆ แล้วก็ไม่ต้องมีขั้นตอนซับซ้อน คิดแบบนี้นี่คิดเอาเองนะ ใช้โมหะคิด เพราะว่าถ้าคิดแบบนี้แล้วบรรลุมรรคผลกันได้ หรือว่าไปนิพพานกันได้ พระพุทธเจ้าไม่ต้องเกิดนะ คิดกันเอาเองแล้วก็ไปนิพพานกันเอาเองง่ายๆ ไม่ต้องมีวิธีจากพระพุทธเจ้ามาว่าจะต้องเจริญสติปัฏฐานกันยังไง

สรุปคือ สละออก กับ ช่างมัน บางส่วนอาจจะเข้ากันได้ แต่ส่วนใหญ่ ไม่ใช่นะ สละออกนี่ใหญ่กว่า ส่วนช่างมันนี่ยังเล็กๆ อยู่นิดหนึ่ง



ทำไมนั่งสมาธิและเคลิ้มหลับทุกครั้ง ควรปฏิบัติอย่างไร


ทำไมนั่งสมาธิและเคลิ้มหลับทุกครั้ง ควรปฏิบัติอย่างไร


ดังตฤณ: ก็อยากให้แบ่งไปเดินจงกรมบ้าง เดินจงกรมเอาแรกๆ นี่ ให้รู้สึกถึงเท้ากระทบ แปะๆๆ ก็พอ
การเดินจงกรมนี่ เริ่มต้นขึ้นมาสิ่งที่ต้องท่องเลยนะ คือ เราจะรู้สึกถึงจังหวะกระทบ ไม่ใช่กระทบแค่ หนึ่ง สอง สาม แล้วถือว่าจบ ถือว่าใช้ได้ แต่ต้องรู้ว่ามันมีจังหวะกระทบ แปะๆๆ ไป บางรอบนี่ แปะๆๆ ช้า บางทีมันก็เร็ว บางทีมันรู้สึกชัด บางทีก็รู้สึกไม่ชัด ถ้าจับจังหวะของการกระทบได้ นี่ตัวนี้มันเริ่มเกิดสติ มันเริ่มที่ว่าจิตจะขยายขอบเขตการรับรู้แบบเพ่งเล็ง ให้กลายเป็นแผ่กว้างสบายขึ้น จิตที่มีความสามารถรับรู้ได้กว้างขึ้น เห็นเป็นจังหวะกระทบที่บางทีช้า บางทีเร็ว ไม่เที่ยง ไม่สม่ำเสมอ นะ ความสามารถเห็นแบบนั้นนี่ พอกลับมานั่งสมาธิ คุณจะรู้สึกได้ว่า เออ มันมีความตื่นมากขึ้น มันรู้สึกว่ามีความสามารถที่จะตั้งอยู่ รู้ แล้วก็ดู แล้วก็เห็น อะไรอย่างหนึ่งเป็นระยะเวลายาวนานขึ้น
ขอให้สังเกตเถอะ ที่นั่งสมาธิแล้วง่วงนี่ เพราะว่ามันเห็นแป๊บเดียว เห็นแค่จังหวะสั้นๆ ไม่สามารถเห็นในช่วงจังหวะยาวๆ ได้ จิตมันยังคับแคบ จิตมันยังไม่มีกำลัง จิตมันยังอ่อนแอเกินกว่าที่จะรับรู้อะไรได้นานๆ
ขอให้มองง่ายๆ ว่าถ้าจิตมีกำลังมากพอที่จะเห็นความไม่เที่ยงของภาวะหนึ่งได้ อันนี้ ตัวนี้แหละที่เริ่มจะมีความตื่นตัวขึ้นมานะครับ พอนั่งสมาธิแบบตื่นตัวได้นานๆ ยิ่งตื่นมาก จิตจะยิ่งมีความเข้มแข็ง จิตยิ่งมีสติและกำลังของสมาธิมากขึ้น แล้วก็จะรู้สึกว่า เราต้องการนอนน้อยลงนะ เพราะได้พัก ได้รีแลกซ์ (Relax) อยู่แล้ว ในระหว่างที่เราเจริญสติแล้วก็นั่งสมาธินะครับ

เถียงพ่อแม่ มีโทสะหรือมีเหตุให้ท่านเสียใจทุกข์ใจ มีผลต่อการบรรลุธรรมไหม


ถ้าเถียงพ่อแม่ มีโทสะหรือมีเหตุให้ท่านเสียใจทุกข์ใจ ดุท่านด้วยความเป็นห่วง มีผลต่อการบรรลุธรรมไหม พยายามรู้ทันโทสะ และไม่ลั่นออกทางวาจา แต่บางทีรู้ไม่ทันก็หลุด


ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน บุญอันเกิดจากการสร้างวัด วันที่ 29 กันยายน 2561

https://www.youtube.com/watch?v=tPvaJg85p4s&t=15s

ดังตฤณ
จำไว้แม่นๆ เลยนะ กรรม หรือบาปที่ห้ามมรรค ห้ามผล ห้ามนิพพาน มีอยู่แค่ห้าอย่างเท่านั้น คือ ฆ่าแม่ ฆ่าพ่อ ฆ่าพระอรหันต์ ทำให้พระพุทธเจ้าห้อเลือด อย่างที่พระเทวทัตทำ คือทำร้ายพระพุทธเจ้าได้ที่สุดแค่นั้นแล้ว ต่อให้เป็นมารผู้มีฤทธิ์นะ ก็ไม่สามารถทำให้พระพุทธเจ้าเลือดตกยางออกได้นะ ทำได้อย่างมากที่สุดคือห้อเลือด แต่ถ้ากรรมเก่าของพระองค์เล่นงานพระองค์เอง อันนั้นว่าไปอีกอย่าง อาจจะปวดพระเศียรบ้าง หรือว่าเลือดออกในกระเพาะบ้างอะไรแบบนี้
กับอีกอย่างหนึ่งคือ ทำสงฆ์แตกกัน อันนี้ก็เป็นข้อค่อนข้างจะถกเถียงกันว่า ทำสงฆ์แตกกันนี่ระดับไหน บางทีก็ถ้ายกตามวินัย ตีความตามวินัยเป๊ะๆ ก็ต้องอยู่ในอาวาสเดียวกัน อยู่ในที่อยู่เดียวกัน แล้วก็พยายามยุยงให้สงฆ์แตกกัน แต่บางคนก็บอก โอ๊ย คือถ้าทำให้เกิดการแบ่งแยกนิกาย เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ทำให้พระศาสนาอยู่ไม่ได้ พระสงฆ์ปั่นป่วนไปหมด ทะเลาะกันไปหมด อย่างนั้นก็ถือว่าเป็นสังฆเภทเช่นกัน
อันนี้ก็แล้วแต่ แต่เอาเป็นข้อสรุปว่าถ้าเราไม่ได้ฆ่าพ่อฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ไม่ได้ทำร้ายพระพุทธเจ้า แล้วไม่มีเจตนายุยงให้สงฆ์แตกคอกัน ก็เป็นอันสบายใจได้ กรรมไหนๆ ก็ไม่สามารถที่จะห้ามมรรค ห้ามผลได้นะครับ แม้แต่พระองคุลีมาล ฆ่าคนเกือบพันคน ท่านยังบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ หรือ แม้แต่ ยกตัวอย่างใครดี ในสมัยพุทธกาลที่... นึกไม่ออกนะ ที่ดุพ่อดุแม่ หรือทำร้ายพ่อแม่ อืม จริงๆ แล้วนี่ พอพูดนึกขึ้นได้ พระองคุลีมาล ตอนท่านยังเป็นฆราวาสอยู่ ท่านไล่ฆ่าคนไป ๙๙๙ คน แล้วกำลังจะครบพันคน ตามข้อตกลงที่ให้ไว้กับอาจารย์ ว่าจะฆ่าคนให้ครบพันคน คนที่หนึ่งพันนี่ คือแม่ของตัวเอง คือถ้าพระองคุลีมาลฆ่าแม่ของตนเองสำเร็จนี่ อดเลย เป็นอันว่าไม่สามารถที่จะบรรลุ อย่าว่าแต่บรรลุอรหัตผล ได้ฌานยังทำไม่ได้เลยนะ เพราะว่าถ้าทำอนันตริยกรรม ฆ่าแม่ไปแล้วนี่ จิตมันเหมือนกับ มันขุดตัวเอง มันถอนรากออกมา
พ่อแม่นี่เป็นรากของชีวิต ถ้าถอนรากขึ้นมา ความเจริญไม่มี ไม่มีเหลือ คือยังทำจิตให้เป็นกุศลได้ ทำบุญได้ เหมือนกับอย่างพระเจ้าอชาตศัตรูนี่ ฆ่าพระบิดาไปสำเร็จ ก็ยังเป็นอุปถัมภก ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาได้ คือสามารถกลับใจได้ แต่ไม่สามารถทำสมาธิจนถึงฌาน เพราะถ้าทำสมาธิจนถึงฌานได้ มีสิทธิไปเป็นพรหมก่อน แต่ว่าอนันตริยกรรมนี่ คือ ห้ามไว้แล้ว ห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน ทำไปแค่ครั้งเดียวนี่ คือมันเที่ยง คำว่าอนันตริยกรรม คือเที่ยงที่จะได้ไปนรกก่อน ตายปุ๊บนี่ ไม่ต้องไปที่อื่น ไม่ต้องคิดว่าจะไปที่ไหน ไปนรกก่อนเลย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ใช่ว่าพอรู้อย่างนี้ก็ปล่อยเลยตามเลย ยิ่งทำบาปทำกรรมชั่วร้ายเข้าไปใหญ่อะไรแบบนี้ อย่างนี้ก็ไม่ต้องขึ้นจากนรกกัน ชั่วกัปชั่วกัลป์

สรุปก็คือ เราไม่ได้ทำอนันตริยกรรมแน่ๆ อย่างทำกรรมไปดุพ่อดุแม่นี่ บางทีมันเจืออยู่ด้วยความหวังดี บางทีมันเจืออยู่ด้วยอารมณ์ที่แบบว่า ปุถุชนน่ะ ห้ามไม่ได้มันมีแบบว่าขึ้นเสียงบ้าง อะไรบ้าง ถ้าเรากลับใจ ถ้าเราสำนึกทัน แล้วไปขอโทษขอโพย ไปบีบนวด ไปทำให้ท่านมีความสุข ไปทำให้ท่าน คือ พ่อแม่เป็นรากของชีวิตใช่ไหม ไปบำรุงรากให้มีความสดชื่น ให้มีความพร้อมจะเจริญงอกงาม ชีวิตของเราซึ่งเป็นยอดของรากนั้น ก็สามารถที่จะเจริญงอกงามตามไปด้วยได้ นี่แหละ ตรงนี้แหละ หลักการง่ายๆ เลย จะบรรลุหรือไม่บรรลุนี่ ขึ้นอยู่กับว่า ไปทำอนันตริยกรรมไว้หรือเปล่า แล้วก็เจริญสติถูกทางหรือเปล่านะ
ถ้าผู้ป่วยอาการหนักระยะสุดท้าย แต่ยังยอมรับความตายไม่ได้ การเปิดเสียงสวดมนต์ให้ฟังจะเป็นการทำให้คนไข้ขุ่นมัวไหมคะ?

https://www.youtube.com/watch?v=h6eGGKKzss0&t=3s .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ถอดเครื่องช่วยพยุงชีพเป็นบาปไหม? 4 พฤศจิกายน 2561
อันนี้ก็เป็นอีกแง่คิดหนึ่งนะ คือคนเขายังไม่อยากตายแล้วเราไปบอกว่า ให้ท่องไว้นะ พระอรหันต์ๆ นี่นะ มันกลายเป็นไป เหมือนกับยั่วยุ หรือว่าไปซ้ำเติมให้เขานี่เกิดความรู้สึก เรากำลังแช่งเขาอยู่นะ อันนี้เป็นเรื่องน่าคิดเหมือนกัน คือ คนนี่ ไม่เหมือนกันนะ ถึงแม้ว่าร่างกายจะฟ้องอยู่ว่ากำลังจะตายแน่ๆ แต่ถ้าเขายังไม่อยากตาย เขายังอยากให้เราสู้ให้เขา อยากให้เราใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง ช่วยให้เขามีชีวิตอยู่ ก็อย่าไปพยายามทำให้เขารู้สึกว่าเขากำลังจะตาย แต่อาจชวนคุยเรื่องดีๆ ด้วยการไกด์ (Guide) ว่า ถ้าเรามีใจที่เป็นสุข จะมีความสุขจากการนึกถึงอะไรดีๆ เก่าๆ ก็ตาม หรือว่าจะเป็นเรื่องใหม่ๆ ดีๆ ที่ชวนเขาทำ ก็ตาม บอกว่าความสุขนี้จะทำให้เกิดการหลั่งสารอะไรดีๆ แล้วต่ออายุขึ้นไปได้ ดีกว่าที่จะทำจิตให้เศร้าหมองเคร่งเครียดแล้วก็กลัวตาย หรือว่ากลัวเจ็บนะ แล้วหลั่งสารที่เป็นพิษเป็นภัยอะไรออกมา จะทำให้ร่างกายทรุดหนักแย่หนัก หรือ พูดไปในทางที่ว่า ได้ยินข่าว พลังของความสว่างทางใจที่เกิดจากการคิดดี ที่เกิดจากความสุขในช่วงที่กำลังเจ็บหนัก มีปาฏิหาริย์ ทำให้ร่างกายกลับฟื้นฟูสู่สภาพปกติได้ พูดในทำนองนี้ แล้วทำให้เขาเกิดความหวังเกิดความรู้สึก เบาตัวเบาใจขึ้นได้บ้าง ก็น่าจะดีกว่าที่จะมาพูดถึงทางพระ หรือว่ามาพูดถึงอะไรที่บอกว่าเป็นการเตรียมตัวตาย
ทีนี้คนที่ใกล้จะไปจริงๆ นี่เขาจะรู้ ความรู้สึกในร่างกายจะไม่เหมือนเรานะ ความรู้สึกในร่างกายของคนปกติจะรู้สึกว่าทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง ความรู้สึกเข้าที่เข้าทางเป็นปกตินี่ จะปรุงแต่งให้จิตเกิดความรู้สึกว่ายังอยู่ได้อีกนาน อันนี้คือความรู้สึกแบบเราๆ แต่อย่างสมมติว่า อย่างผมนี่ คือเคยมีประสบการณ์ว่าหัวใจเหมือนทำท่าจะไม่เต้นนี่นะ ความรู้สึกว่ามีชีวิต จะห่างออกไปอย่างสิ้นเชิง จะมีความรู้สึกว่าเหลือนิดเดียว จะมีความรู้สึกว่า นี่กำลังจะไปแล้ว นี่กำลังจะไม่ได้อยู่ในโลกนี้แล้ว นี่กำลังจะต้องเปลี่ยนสภาพ หรือว่า หมดสภาพความเป็นอย่างนี้ ความรู้สึกที่แบบจะมาหลอกตัวเองว่า ร่างกายยังเป็นปกติดีอยู่ ฉันยังสู้ ฉันยังมีสิทธิ์กลับมาได้ จะไม่ค่อยมี จะเบาบางลงไป จะกลายเป็นอีกคนหนึ่งที่รู้สึกเกี่ยวกับตัวเองว่าใกล้จะหมดความเป็นตัวเอง ใกล้จะหมดความเป็นตัวตนแบบนี้
ซึ่งถ้าเขาไปถึงตรงนั้น แล้วเรารู้ว่าเขารู้สึกอย่างนั้นอยู่ อันนี้ใส่เข้าไปได้เต็มที่เลย คือสามารถที่จะบอกไปได้ตรงๆ ว่าให้ทำใจยังไง ให้คิดถึงอะไร หรือว่าจะต้องมีมุมมองแบบไหน คือตอนนั้นนี่ เขาจะอยู่ในสภาพที่พร้อมฟังหมด ที่ยังเถียงได้ ยังไม่อยากตายนี่ ตรงนี้แสดงว่าร่างกายมันยังไม่บอกนะ ว่ากำลังจะไป แต่ถ้าร่างกายเขาบอกมาเมื่อไหร่นี่ คือพูดได้เต็มที่เลย อันนี้ผมไปไกด์ไม่ได้นะว่าจะให้พูดว่าอย่างไร เพราะแล้วแต่ความเชื่อของผู้ป่วยแล้วก็ผู้ที่เป็นญาตินะครับ ว่าจะให้ยึดหลวงพ่อองค์ไหน หรือว่าจะศาสนาไหนนี่ ก็แล้วแต่ แล้วแต่ว่ามีความผูกกันมาอย่างไร นะครับ แต่การไกด์นี่ หลักการที่เหมือนๆกันก็คือ ทำให้เขาสบายใจให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่าเอาอะไรที่ขัดแย้งหรือว่ามีความรู้สึกหนักอก หรือว่าจะต้องมาคิดต่อต้าน หรือว่าจะมาเป็นข้อถกเถียงว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ขอให้มีความโฟกัสอยู่กับจุดสำคัญที่สุดคือจุดความสบายใจของผู้ที่จะไปนะครับ

วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ความไม่สมปรารถนาในรัก เป็นกรรมชนิดใด


ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน การทำสมาธิจำเป็นเพียงใดต่อการบรรลุธรรม?
25 สิงหาคม 2561
ดังตฤณ: อันนี้เป็นคำถามสั้น แต่ต้องตอบกันยาว บางคนนี่มีเรื่องของกรรมเก่าอยู่จริงๆ คือ อาจจะเป็นประเภทชอบหักอกคนไว้เยอะ ในอดีตชาติ แล้วก็อาจเป็นผู้ชายที่หลงรูปตัวเอง สำคัญตัวเองผิด นึกว่าตัวเองนี่เป็นคาสโนว่า จะทำตัวเป็นนักรัก ให้คนอื่นเขารักได้ แต่ไม่ยอมให้ความรักกับคนอื่นเขาไว้ อะไรแบบนี้ เกิดใหม่ก็อาจไม่สมหวังในรักตั้งแต่เกิดจนตายได้เหมือนกัน คือถ้าทำอะไรมาทั้งชาติ ก็อาจถูกวางแผนไว้ให้เป็นไปตามนั้นทั้งชาติได้ อันนี้สำหรับบางคน ซึ่งไม่ค่อยเกิดขึ้น อย่างเราเห็นด้วยตาเปล่านี่ น้อยคนนักที่จะเป็นนักรักประเภท ทำตัวลอยชายไปเรื่อย ให้คนอื่นเขารัก แต่ตัวเองไม่รักใคร ไม่เคยปักหลักรับผิดชอบใคร อะไรต่างๆ ไม่ได้เป็นอย่างนั้นกันถึงห้าสิบ อย่างมากก็สิบ ยี่สิบเปอร์เซ็นต์ อะไรแบบนี้ ก็เลยเหมือนกับจะไม่ค่อยมีหรอกประเภท ตั้งแต่เกิดจนตายจะไม่ได้มีความรักกับใครเขาเลย
ทีนี้ถ้าเราไม่เอาคำตอบจากเรื่องบุญบาปเก่า เรามาดู เรามาพิจารณาได้ไหมว่า มีเหตุผลอะไรที่ทำให้ใจของเรานี่ ทำตัวเป็นขั้วผลัก อยู่เรื่อย ไม่เคยเป็นขั้วดูด หรือว่าชีวิตทั้งชีวิตนี่เหมือนแท่งแม่เหล็กที่มีแต่จะผลักออก ไม่มีดูดเข้ามา ถ้าหากว่า เราค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ ทำความเข้าใจ โดยอาจจะมองจากคนอื่นก่อนก็ได้ว่า เอ๊ะ มีไหมบางคนที่เราเห็น แล้วรู้สึกว่า ไม่อยากสนิทชิดเชื้อมากเกินไป เราเห็นแล้วมีความรู้สึกว่าไม่อยากที่จะเอาชีวิตเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย แล้ว บุคคลแบบนั้นนี่ ไม่ใช่แค่เรานะที่รู้สึก ทุกคนรู้สึกเหมือนกันหมดเลย เหมือนกับเป็นคนที่โดดเดี่ยว ไม่มีใครโคจรเข้าไป เข้าใกล้ชีวิตเขา ต้องอยู่เหงาๆ ทีนี้ถ้าเราเจอบุคคลตัวอย่างประเภทนี้ก็ให้สังเกตว่า มีคุณสมบัติอะไรบ้าง มีเหตุปัจจัยอะไรบ้าง
ยกตัวอย่างเช่น บางทีนี่ไม่ค่อยจะคิดอะไรเหมือนชาวบ้านเขา คือ แอบคิดอยู่คนเดียวข้างใน ไม่ได้ฟังคนอื่นเขาพูดอะไรแบบนี้ อันนี้แค่ตัวอย่าง ไม่ได้บอกว่า คนตั้งคำถามนี่เป็นแบบนี้นะ นี่ยกตัวอย่างเฉยๆ ว่า มีบุคคลบางประเภทที่กรรมปัจจุบันนี่แหละ ทำให้เกิดความรู้สึกแปลกแยกทันทีที่เห็น ทันทีที่เจอ แล้วคนไม่นึกอยากเข้ามาใกล้ บางทีไม่ใช่การทำตัวภายนอก ไม่ใช่การทำหน้าทำตา แต่เป็นกระแสของจิตภายใน ถ้ามีโลกส่วนตัวมากเกินไป มีโลกส่วนตัวสูงเกินไปแล้วข้างนอกไม่ได้มีเสน่ห์มาก โลกส่วนตัวที่สูงเกินไปนั้น ก็อาจเป็นแรงผลักให้คนอื่นเขารู้สึกว่าเข้าไม่ถึง รู้สึกเหมือนนั่งใกล้ๆ แต่ว่าใจอยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบ อะไรแบบนี้ ก็เป็นเหตุได้เหมือนกัน
คืออย่าคิดถึงกรรมเก่าที่เรามองไม่เห็นอย่างเดียว ลองมองดูเหตุปัจจัยภายใน ใจของเรานี่ เราเปิดรับ หรือว่า มีความสามารถที่จะคอนเนค (connect) เชื่อมต่อกับคนรอบข้างแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพศตรงข้าม คือบางทีนี่สิ่งที่เห็นได้ยากที่สุดก็คือตัวเราเอง แต่ถ้าเราสังเกตเอาจากคนที่เราคบ เราเจอ ที่เห็นได้ในชีวิตประจำวันทั่วไป ตามที่ทำงาน ตามโรงเรียน หรือว่า ตามที่สาธารณะก็ตาม เราจะค่อยๆ เก็บไว้เป็นจิ๊กซอว์ (Jigsaw) แล้วมาถามตัวเองว่า เออ ตรงนี้นี่เราเป็นแบบเขาหรือเปล่า จะค่อยๆ เห็นขึ้นมาทีละนิด ทีละหน่อย ทีละชิ้น ทีละอัน แล้วพอมองเห็นตัวเองได้นี่ว่า อ๋อ เราตั้งจิตไว้แบบนี้ ถึงไม่มีใครอยากจะเฉียดเข้ามาใกล้ หรือว่าได้เข้ามาอยู่กับเราจริงๆ
อย่างบางคนนี่นะ คือไม่ใช่ว่าไม่เอาใคร ตรงกันข้าม เอามากเกินไป คือแบบเหมือนกับพอรักใคร ชอบใครแล้วจะมีความกระเหี้ยนกระหือรือ อยากจะให้เขามาชอบหรือว่า อยากให้เขามาหลงนะ ความอยากจะรุกมากเกินไป กระแสที่รุก กระแสที่พยายามจะวิ่งไล่มากเกินไป ทำให้เขาเกิดความรู้สึกอยากวิ่งหนี เคยไหม แบบอยากได้ใครมากเกินไป อยากรู้จักใคร คือ คุณอาจเป็นฝั่งรับน่ะ คือแบบว่ามีใครมาไล่ตามคุณ อย่างพวกเซลส์ พวกแจกใบปลิวตามห้างแบบนี้ ขนาดหน้าตาสวยๆ นะ ปกติคนจะวี้ดวิ้วใช่ไหม คนจะมอง แต่พอเอาใบปลิวมาแจกนี่ กลายเป็นเมินไปเลย กลายเป็นเดินหนี กลายเป็นแบบว่าหลีกไม่เอา เนี่ย
อันนี้คือพูดง่ายๆ เหตุปัจจัย ที่ทำให้ไม่ได้อยู่กับใคร หรือว่าไม่ได้เจอคนที่จะเข้ามาใกล้ชีวิตนี่ ไม่ใช่เรื่องของเก่าอย่างเดียว บางทีเรื่องของใหม่ก็อาจเกี่ยวข้องอยู่ด้วย ซึ่งคือถามสั้นๆ แบบนี้ แล้วผมตอบกว้างๆ แบบนี้ อาจไม่มาลงที่ ไม่รวมลงเป็นคำตอบสำหรับคุณโดยเฉพาะนะ แต่จะบอกเท่านั้นว่าเหตุปัจจัยที่บางที ปรากฎอยู่โต้งๆ ตรงหน้านี่แหละ แต่เราไม่รู้ เพราะไม่เคยสังเกต แต่ถ้าเราลองสังเกตคนอื่นแล้วลองถามตัวเองง่ายๆ ถามเป็นจิ๊กซอว์ (Jigsaw) ทีละชิ้นๆ ว่า แบบนี้ เรามีส่วนเป็นแบบเขาหรือเปล่า จะค่อยๆ เข้าใจตัวเองเหมือนได้เห็นกระจกส่อง มากขึ้นๆ นะครับ!

วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

จะฝึกอย่างไรให้มีสติปัญญา จนแก้ปัญหาได้


รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เจริญสติแก้เครียด  17 มิถุนายน 2561

https://www.youtube.com/watch?v=Pibx6DV8c30

ถ้าหากว่าเรามีความสามารถที่จะรู้ว่าปมปัญหาของโรคเครียด หรือ ว่า ปมปัญหาที่คิดไม่ออกเรื่องไหนก็ตาม มาจากอาการของจิตที่มีอาการกระจุก กระจุกแน่นอยู่ คิดไม่ออกก็กระจุกเข้าไป คิดไม่ออกก็กลุ้มเข้าไป คิดไม่ออกก็มีแต่ร้องคร่ำครวญอยู่ข้างในว่า จะทำยังไงดีๆ อาการแบบนี้นี่แหละที่จะปิดทางออกทั้งหมด
แต่ถ้าเมื่อไหร่เราเจริญสติ แล้วร่างกายผ่อนคลายได้ อาการของจิตเห็นได้ว่า ถ้ากระจุกนะ จะเป็นต้นเหตุของความเครียด ถ้าเบิกบานออก จะเป็นต้นเหตุของอาการเยียวยา เห็นแบบนั้นให้ได้ แล้วก็เข้าใจจริงๆ ว่า สมุฏฐานของความทุกข์ทั้งปวงมาจากการปรุงแต่งของจิต ตัวนี้จะทำให้จิตผ่อนคลาย วันต่อวัน ค่อยๆ คลาย ค่อยๆ คลาย ค่อยๆ คลายออก เบิกบานขึ้นๆ จนกระทั่ง ถึงจุดหนึ่ง จิตนั่นแหละจะมีความฉลาดขึ้นมาเอง
ฉลาดนี่ ไม่ใช่ฉลาดทางสมองนะ แต่จิตที่โล่ง จิตที่เบิกบาน คือจิตที่พร้อมจะแก้ปัญหา จะรับมือกับปัญหาทุกอย่าง ที่คิดไม่ออกเพราะว่ามีอาการกระจุก แต่ถ้า (จิต) เปิด เบิกบาน ก็เหมือนเปิดหลังคารับแสงสว่าง แสงสว่างสาดเข้ามาก็เห็นทุกสิ่งทุกอย่างกระจ่างได้ ตอนที่จิตมีความสบายผ่อนคลาย จะสามารถคิดอะไรได้ปรู๊ดปร๊าด สามารถที่จะทำให้สมองแล่น หายติดขัดนะครับ แล้วก็มีความสามารถที่จะแก้ปัญหาได้เอง
พูดง่ายๆ คือไม่ใช่ว่าจะเจริญสติอย่างไรให้แก้ปัญหาได้ ไม่มีวิธีแบบนั้น แต่ว่า เจริญสติอย่างไรให้ถูกต้อง จนกระทั่งจิตใจผ่อนคลาย สบาย แล้วก็เปิดโล่ง เปิดโล่งแบบพุทธิปัญญา ตรงนั้นแหละที่จะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง!