ถ้าผู้ป่วยอาการหนักระยะสุดท้าย แต่ยังยอมรับความตายไม่ได้ การเปิดเสียงสวดมนต์ให้ฟังจะเป็นการทำให้คนไข้ขุ่นมัวไหมคะ?
https://www.youtube.com/watch?v=h6eGGKKzss0&t=3s
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ถอดเครื่องช่วยพยุงชีพเป็นบาปไหม?
4 พฤศจิกายน 2561
อันนี้ก็เป็นอีกแง่คิดหนึ่งนะ คือคนเขายังไม่อยากตายแล้วเราไปบอกว่า ให้ท่องไว้นะ พระอรหันต์ๆ นี่นะ มันกลายเป็นไป เหมือนกับยั่วยุ หรือว่าไปซ้ำเติมให้เขานี่เกิดความรู้สึก เรากำลังแช่งเขาอยู่นะ อันนี้เป็นเรื่องน่าคิดเหมือนกัน
คือ คนนี่ ไม่เหมือนกันนะ ถึงแม้ว่าร่างกายจะฟ้องอยู่ว่ากำลังจะตายแน่ๆ แต่ถ้าเขายังไม่อยากตาย เขายังอยากให้เราสู้ให้เขา อยากให้เราใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง ช่วยให้เขามีชีวิตอยู่ ก็อย่าไปพยายามทำให้เขารู้สึกว่าเขากำลังจะตาย แต่อาจชวนคุยเรื่องดีๆ ด้วยการไกด์ (Guide) ว่า ถ้าเรามีใจที่เป็นสุข จะมีความสุขจากการนึกถึงอะไรดีๆ เก่าๆ ก็ตาม หรือว่าจะเป็นเรื่องใหม่ๆ ดีๆ ที่ชวนเขาทำ ก็ตาม บอกว่าความสุขนี้จะทำให้เกิดการหลั่งสารอะไรดีๆ แล้วต่ออายุขึ้นไปได้ ดีกว่าที่จะทำจิตให้เศร้าหมองเคร่งเครียดแล้วก็กลัวตาย หรือว่ากลัวเจ็บนะ แล้วหลั่งสารที่เป็นพิษเป็นภัยอะไรออกมา จะทำให้ร่างกายทรุดหนักแย่หนัก หรือ พูดไปในทางที่ว่า ได้ยินข่าว พลังของความสว่างทางใจที่เกิดจากการคิดดี ที่เกิดจากความสุขในช่วงที่กำลังเจ็บหนัก มีปาฏิหาริย์ ทำให้ร่างกายกลับฟื้นฟูสู่สภาพปกติได้ พูดในทำนองนี้ แล้วทำให้เขาเกิดความหวังเกิดความรู้สึก เบาตัวเบาใจขึ้นได้บ้าง ก็น่าจะดีกว่าที่จะมาพูดถึงทางพระ หรือว่ามาพูดถึงอะไรที่บอกว่าเป็นการเตรียมตัวตาย
ทีนี้คนที่ใกล้จะไปจริงๆ นี่เขาจะรู้ ความรู้สึกในร่างกายจะไม่เหมือนเรานะ ความรู้สึกในร่างกายของคนปกติจะรู้สึกว่าทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง ความรู้สึกเข้าที่เข้าทางเป็นปกตินี่ จะปรุงแต่งให้จิตเกิดความรู้สึกว่ายังอยู่ได้อีกนาน อันนี้คือความรู้สึกแบบเราๆ แต่อย่างสมมติว่า อย่างผมนี่ คือเคยมีประสบการณ์ว่าหัวใจเหมือนทำท่าจะไม่เต้นนี่นะ ความรู้สึกว่ามีชีวิต จะห่างออกไปอย่างสิ้นเชิง จะมีความรู้สึกว่าเหลือนิดเดียว จะมีความรู้สึกว่า นี่กำลังจะไปแล้ว นี่กำลังจะไม่ได้อยู่ในโลกนี้แล้ว นี่กำลังจะต้องเปลี่ยนสภาพ หรือว่า หมดสภาพความเป็นอย่างนี้ ความรู้สึกที่แบบจะมาหลอกตัวเองว่า ร่างกายยังเป็นปกติดีอยู่ ฉันยังสู้ ฉันยังมีสิทธิ์กลับมาได้ จะไม่ค่อยมี จะเบาบางลงไป จะกลายเป็นอีกคนหนึ่งที่รู้สึกเกี่ยวกับตัวเองว่าใกล้จะหมดความเป็นตัวเอง ใกล้จะหมดความเป็นตัวตนแบบนี้
ซึ่งถ้าเขาไปถึงตรงนั้น แล้วเรารู้ว่าเขารู้สึกอย่างนั้นอยู่ อันนี้ใส่เข้าไปได้เต็มที่เลย คือสามารถที่จะบอกไปได้ตรงๆ ว่าให้ทำใจยังไง ให้คิดถึงอะไร หรือว่าจะต้องมีมุมมองแบบไหน คือตอนนั้นนี่ เขาจะอยู่ในสภาพที่พร้อมฟังหมด ที่ยังเถียงได้ ยังไม่อยากตายนี่ ตรงนี้แสดงว่าร่างกายมันยังไม่บอกนะ ว่ากำลังจะไป แต่ถ้าร่างกายเขาบอกมาเมื่อไหร่นี่ คือพูดได้เต็มที่เลย อันนี้ผมไปไกด์ไม่ได้นะว่าจะให้พูดว่าอย่างไร เพราะแล้วแต่ความเชื่อของผู้ป่วยแล้วก็ผู้ที่เป็นญาตินะครับ ว่าจะให้ยึดหลวงพ่อองค์ไหน หรือว่าจะศาสนาไหนนี่ ก็แล้วแต่ แล้วแต่ว่ามีความผูกกันมาอย่างไร นะครับ แต่การไกด์นี่ หลักการที่เหมือนๆกันก็คือ ทำให้เขาสบายใจให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่าเอาอะไรที่ขัดแย้งหรือว่ามีความรู้สึกหนักอก หรือว่าจะต้องมาคิดต่อต้าน หรือว่าจะมาเป็นข้อถกเถียงว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ขอให้มีความโฟกัสอยู่กับจุดสำคัญที่สุดคือจุดความสบายใจของผู้ที่จะไปนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น