25 สิงหาคม 2561
ดังตฤณ: หลวงพ่อพุธเคยไปสอนลูกศิษย์ของท่านคนหนึ่งบอกว่า
ไม่ชอบคำว่าพุทโธ ท่านก็ถามว่า ชอบชื่อแฟนไหม บอกว่าชอบ ก็เอาชื่อแฟนนั่นแหละ
ไปบริกรรม อย่างนี้ก็มีเหมือนกัน แล้วปรากฏว่าทำได้ด้วย
คำว่า “พุทโธ” นี่นะ
แปลว่า “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน” ที่นำมาใช้เป็นคำบริกรรม
ก็เพราะว่าเป็นคำที่จำง่าย แล้วก็เป็นคำที่จิตนี่หน่วงไว้แล้ว
มีความง่ายที่จะตื่นรู้ คือเป็นเรื่องลึกลับนิดหนึ่ง บางทีไม่ใช่แบบเป็นเหตุผล
เป็นแบบคณิตศาสตร์ว่า เอ๊ะ แล้วทำไมทีคำอื่นถึงไม่ง่ายต่อการเป็นสมาธิล่ะ
คำว่าพุทโธนี่
คือ เราคิดอย่างนี้ก็ได้ว่า มีความหมายแบบที่เป็นสากล ว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น
ผู้เบิกบาน ภาษาไทยก็เรียกตามภาษาดั้งเดิมนั่นแหละว่า พุทโธ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น
ผู้เบิกบาน ถ้าหากว่าเราบริกรรมคำนี้ ต่อให้ไม่รู้คำแปล
แต่ความหมายของคำนี้ที่มีอยู่ครอบโลก ก็จะทำให้เกิดพลังแบบหนึ่ง ที่ทำให้ง่ายต่อการเป็นผู้รู้
ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน สำคัญคือว่า ไม่ใช่แค่ชื่อ ไม่ใช่แค่คำ แต่เป็นจิตของเราด้วย
ที่นึกถึงคำนั้นแบบไหน
อย่างถ้าสังเกตตัวเองดีๆ
คุณจะเห็นนะว่าคำว่าพุทโธๆๆ นี่ อย่างเวลาผมพูด พุทโธๆๆ คำนี้ มีความหนัก ความเบา
ความดัง ความค่อยสม่ำเสมอ พุทโธๆๆ แต่เอาเข้าจริงจิตนี่นะถ้าหลับตานึกถึงคำว่าพุทโธอย่างเดียว
จะมีการกระโดด เดี๋ยวหนัก เป็นพุทโธ ตัวเป้งๆ โตๆ ... เดี๋ยวเบา เป็นพุทโธ
ตัวเล็กๆ ...
ถ้าหากว่า
เราเป็นพุทโธหนักๆ ก็พุทโธๆ อาการของจิต จะเค้น แต่ถ้าพุทโธแผ่วๆ
หรือพุทโธแบบเลือนๆ พุทโธแบบเลอะเลือน อันนั้นเป็นอาการของใจที่กำลังเลื่อนลอย
กำลังเบลอๆ แต่ถ้าหากว่าใจกำลังโฟกัส (focus) อยู่จริงๆ มีโฟกัสที่พอดี จะมีความสม่ำเสมอของ
พุทโธๆๆ เหมือนกับตอนที่เราอ่านหนังสืออย่างมีสมาธินี่ คำในหน้าหนังสือจะปรากฏเป็นเสียงกระซิบในหัวของเราสม่ำเสมอ
ยิ่งถ้าใครอ่านหนังสือได้เร็วขึ้นเท่าไหร่ เสียงในหัวจะยิ่งเหมือนกับเบา
เหมือนกับเงียบหายไปนะ นี่ก็เหมือนกัน คือพุทโธนี่ ถ้าเราเป็นสมาธิมากขึ้นเท่าไหร่
พุทโธนี่จะเป็นเส้นตรง จะมีความสม่ำเสมอ จะมีความคงที่ จนกระทั่งหายไป
อันนี้ก็คือพูดง่ายๆว่า
เราอย่ามาเกี่ยงกันแค่เรื่องของคำอย่างเดียว ให้ดูเรื่องของจิตด้วยว่า
จิตที่บริกรรม พุทโธ หรือ จิตที่บริกรรมคำไหนๆ ก็ตาม ตามสำนักไหนก็ตาม
เป็นจิตแบบใด เป็นจิตแบบที่มีอาการเค้น มากแค่ไหน เป็นจิตที่เลื่อนลอยหรือเปล่า
เป็นจิตที่มีสมาธิแล้วหรือยัง ถ้าจิตที่เค้นนี่ จะรู้สึก พุทโธนี่หนักๆ
หรือคำบริกรรมนั้นๆ จะหนัก เหมือนกับเป็นตัวใหญ่เท่าหม้อแกงเลย
แต่ถ้าหากว่าเรามีจิตที่เลื่อนลอยนะ จะแผ่ว จะกระโดดๆ เดี๋ยวหนักบ้างเดี๋ยวเบาบ้าง
เดี๋ยวมาถี่ๆ เดี๋ยวมาแบบห่างๆ ไม่สม่ำเสมอ แต่ถ้าหากว่าเป็นสมาธิ จะมีความคงที่
มีความคงเส้นคงวา
ผมมีอุบายง่ายๆ
อย่างถ้าเราเขียนคำว่า พุทโธๆๆ ไว้ในหน้ากระดาษ แล้วก้มลงอ่านเงียบๆ ให้สังเกตว่า
เออ มีคำว่าพุทโธๆๆ ในหัวของเราประมาณไหน ให้จำเสียงกระซิบแบบนั้นไว้
แล้วก็เอาไปนึกต่อ โดยไม่ต้องอ่านตัวหนังสือ คือเขียนใส่หน้ากระดาษไว้ พุทโธ
สักห้าคำ สิบคำ แล้วอ่านไป จะมีเสียงขึ้นมาในหัวว่า พุทโธๆๆ
แล้วเสร็จแล้วเราก็เอาไปบริกรรมต่อ
อันนี้ทำนองเดียวกันนะ
ต่อตัวคำถาม บอกว่าจะเอาชื่อคนที่เราชอบมาบริกรรมได้ไหม
ก็เอาชื่อคนที่เราชอบมาเขียนใส่หน้ากระดาษ แล้วก็สังเกตดู เวลาเราอ่าน ด้วยสายตา
มีความสม่ำเสมอในหัวแค่ไหน เกิดเสียงกระซิบแบบไหน
ก็ให้จำเสียงกระซิบนั้นเป็นคำบริกรรมนะครับ แล้วก็ค่อยดู ค่อยเปรียบเทียบ ทีละช่วงๆ
ว่าจิตของเราเค้นไหม จิตของเราเป็นทุกข์อึดอัดไหม จิตของเรามีความสุขไหม
จิตของเราสบายไหม หรือจิตของเราเลื่อนลอยไป ก็จะปรากฏในคำบริกรรมนั่นแหละ นะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น