วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

จะแยกได้อย่างไรว่า ปัญญาที่เกิดไม่ใช่ความคิดที่เราได้มาจากการจดจำ


จะแยกได้อย่างไรว่า ปัญญาที่เกิดไม่ใช่ความคิดที่เราได้มาจากการจดจำ มาจากสิ่งที่เราได้อ่านได้ฟัง แล้วบอกจิตให้คิดตามนั้น?
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน นั่งสมาธิแล้วกลัวตายให้ทำอย่างไร?
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2561


ดังตฤณ: อันนี้ตอบได้ง่ายๆเลยนะ ตามหลักที่พระพุทธเจ้าท่านวางไว้นี่ สิ่งที่ท่านต้องการคือ การมีภาวะรับรู้เป็นปกติ พูดง่ายๆ ว่าจิตที่รู้ว่าอะไรๆ ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน ไม่เป็นปกตินะ อย่างนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่เราต้องการเป็นอันดับหนึ่ง อันดับสำคัญ อย่าไปมองเรื่องมรรคผล อย่าไปมองเรื่องหลุดพ้นจากกิเลส แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ให้มองเป็น #จิตที่มีความเป็นปกติ ที่จะรับรู้ว่า สิ่งใดที่มากระทบเรา สิ่งนั้นไม่เที่ยง ปฏิกิริยาของใจที่สวนออกไปกับสิ่งกระทบนั้น ก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน
ถ้าหากว่าเรารู้ได้เป็นปกติ จะไม่สงสัย ที่รู้ได้เป็นปกตินั่นแหละ ที่ท่านเรียก “สัมมาสมาธิ” คือมีสติอย่างเดียวไม่พอนะ มีสติอย่างเดียวบางทีนี่เราอาจจะอาศัยความคิดประกอบเข้าไปก็ได้ แต่ถ้าหากจิตมีความรับรู้อยู่เป็นปกติ คือรู้สึกอยู่อย่างนั้นเลยนี่ อยู่ว่างๆ นี่จิตว่างๆ ว่างเปล่า สบายๆ อยู่ เสร็จแล้วพอมีเรื่องในหัว ผุดขึ้นมา บอก เอ๊ะ คนนั้นนี่ยังไม่คืนเงินเรานี่ ใจนี่จากเดิมที่ว่างๆ สบายๆ อยู่ กลายเป็นทุกข์ กลายเป็นดิ้นรน กลายเป็นมีความรู้สึกกระวนกระวายอยากโทรไปทวงทันที ถ้าความรู้สึกว่าเราจะต้องทวงหนี้ เราเป็นทุกข์กับสิ่งที่ยังไม่ได้คืนนี่ มันกัดกินใจเราไปหมด นี่อย่างนี้เรียกว่า ยังไม่รู้เป็นปกติ
ถ้ายังต้องพิจารณา ถ้ายังต้องมาบอกตัวเองว่า เออ อันนี้คือภาวะอย่างหนึ่ง ความกระวนกระวายนี่ เป็นแค่สิ่งที่ผ่านมา แล้วเดี๋ยวจะผ่านไป ความกระวนกระวายนี่ เดี๋ยวนับเอาเสียหน่อย กี่ลมหายใจถึงจะค่อยๆ จางลง อย่างนี้ยังไม่ใช่ของจริง อย่างนี้ยังเป็นสิ่งที่เรายังต้องคิดๆ ช่วย หรือว่าจะต้องเอาความทรงจำเก่าๆ ที่ครูบาอาจารย์สอน หรือว่าที่เคยอ่านเคยฟังมานี่ มาประกบกิเลสตัวนั้น อย่างนี้ยังไม่ใช่ปัญญาที่เกิดขึ้นจริง ยังเป็นปัญญาในระดับจินตนาการเท่านั้น

แต่ถ้าเป็นปัญญาของจริง อยู่ว่างๆ อยู่สบายๆ อยู่ดีๆ จิตอยู่ดีๆ ไม่ได้เป็นทุกข์ไม่ได้เป็นร้อนอะไร เกิดความคิดผุดขึ้นมา เอ๊ะ นี่ยังไม่ได้คืนเงินเรานี่ นี่ก็เลยกำหนดนัดมาตั้งนานแล้ว พอเกิดความกระวนกระวายขึ้นมา เรายังไม่ได้คิดเลย (ความคิด) นี่เป็นภาวะ (ความคิด) นี่เดี๋ยวจะแสดงความไม่เที่ยง แต่จิตเกิดความรู้สึกขึ้นมา เท่าทันว่า ความคิดอยากจะทวงเงินนี่เป็นแค่อาการ เหมือนกับมีอะไรดันๆ ออกมา มีอะไรป่วนๆ อยู่ข้างใน หรือว่ามีอะไรที่ทำให้หัวหูร้อน เสร็จแล้วความเป็นปกติของจิตที่ยืนอยู่บนพื้น เป็นพื้นจิตพื้นใจนี่นะ ทำให้ภาวะวุ่นวายตรงนั้น กลายเป็นแค่ส่วนเกินของภาวะปกตินี้ กลายเป็นภาวะที่เรารู้สึกว่า นี่มีอะไรแปลกปลอมบางอย่างเกิดขึ้น และภาวะแปลกปลอมนั้นไม่ใช่สิ่งที่เราต้องแคร์ (care) นะ
อันนี้เป็นระดับของจิตนะ ไม่ใช่ความคิด ว่าเราจะต้องใส่อะไรลงไป มันรู้สึกขึ้นมาเองว่า ที่ผุดขึ้นมานี่ไม่ใช่เรานี่ อยู่ๆ มันผุดขึ้นมาจากความว่างของจิต จิตเดิมทีอยู่ว่างๆ เฉยๆ มันผุดความคิดเกี่ยวกับเรื่องเงินเรื่องทองขึ้นมา แล้วเกิดความทุกข์ความร้อนขึ้นมา ถ้าจิตเราเป็นปกติ เป็นสมาธิอยู่ มันจะมีความรู้สึกว่า ภาวะปรุงแต่งที่ผุดขึ้นมาให้ใจเร่าร้อนเป็นทุกข์นี่ เป็นแค่ภาวะแผ่วๆ ที่พร้อมจะผ่านไป มันเห็นของมันเอง
อย่างนี้มั่นใจได้ว่าจิตที่มันเห็นว่าแผ่วๆ แล้วก็ผ่านๆไปนี่นะ จะกลับมาว่างเหมือนเดิม ความว่างนั้นจะไม่สงสัยตัวเอง จะมีความรู้สึกว่า เออนี่ ที่ตั้งอยู่อย่างนี้ เรียกว่าเป็นสมาธิอยู่อย่างนี้ นี่เรียกว่า รู้เป็นปกติ จะไม่มีความคิดสงสัยตามหลังมาอีก เพราะว่าสิ่งที่อยู่เป็นปกติคือ จิตที่พร้อมจะรู้อะไรก็ตามที่มันผ่านเข้ามากระทบ หรือแม้แต่กระทั่งปฏิกิริยาทางใจ ที่ปกติจะผลิตความรู้สึกมีตัวตนออกมา ก็จะสักแต่ว่ามีปฏิกิริยาออกมาอย่างนั้นเอง จะมีความรู้สึกเหมือนกับว่างๆ โหวงๆ โปร่งๆ กลวงๆ นะ แต่ถ้าเป็นความรู้สึกยึดมั่นถือมั่น จะรู้สึกแน่นๆ ทึบๆ จับต้องได้ แบบว่ารู้สึกว่านี่มีตัวตนอยู่แน่ๆ มีตัวเราอยู่ในนี้แน่ๆ ตัวนี้แหละที่ไม่ใช่ปัญญาของจริง ไม่ใช่ปัญญาในระดับ “รู้” เป็นปัญญาในระดับ “คิด”
ปัญญามีอยู่สามระดับ ปัญญาในระดับ “ฟัง” ฟังมา รับฟังมา สดับตรับฟังมา หรืออ่านมานะครับ
แล้วก็ปัญญาในระดับ “นึกๆ คิดๆ” อย่างเช่นเมื่อกี้ที่ยกตัวอย่าง พอเกิดภาวะอะไรขึ้นมา เกิดความทุกข์ขึ้นมาแล้วเราคิดว่า นี่เป็นภาวะอย่างหนึ่ง เดี๋ยวมันก็ต้องหายไปในอีกไม่กี่ลมหายใจ อย่างนี้ยังเป็นคิดแบบ จินตนาการ
แต่ถ้ามันรู้อยู่เองเป็นปกติ ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แล้วเหลือแต่ “ใจ” ที่ยังว่างอยู่ ว่างอย่างรู้ ไม่มีตัวตน ตัวนี้นี่ เป็นปัญญาแบบภาวนาแล้ว เป็นปัญญาในระดับที่หวังความเอาตัวรอดได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บางคนอาจนึก เอ๊ะ แล้วทำไมผมบอกว่า ผมแนะว่า ควรจะนับลมหายใจ นับอายุลมหายใจ ก็เพื่อที่จะให้เป็นปัญญาในระดับจินตนาการเต็มขั้น ปัญญาในระดับจินตนาการเต็มขั้นนี่นะ ในที่สุดจะต่อยอดขึ้นไปให้จิตรวมลง แล้วก็กลายเป็นภาวะ “รู้ ตื่น เบิกบาน” แล้วก็ไม่ต้องจินตนาการ ไม่ต้องมาเค้นคิด
คือจิตนี่ ถ้าทำให้เดินไปในทิศทางที่ถูก เดี๋ยว(จิต) ไปไกลได้เอง มันถึงจุดหมายได้เอง แต่ถ้าให้มันย่ำอยู่กับที่ หรือว่าเดินไปผิดทิศผิดทาง ยังไงก็ไปไม่ถึงที่ๆเราต้องการ อย่างยกตัวอย่าง บางคนบอกว่า เอาล่ะ ฉันมีจริตนิสัยในทางที่จะดูจิตอย่างเดียวนะ เสร็จแล้วพอเกิดปฏิกิริยาทางใจอะไรขึ้นมาจริงๆ ยกตัวอย่างเดิมนี่ อย่างอยากจะทวงเงินคืน เป็นทุกข์เป็นร้อน คือทวงเงินนี่ ต้องทวงนะไม่ใช่ไม่ทวง แต่ว่า ทำไมต้องเป็นทุกข์เป็นร้อน นี่ ตัวนี้ที่มันเป็นส่วนเกินมา
ถ้าเป็นคนปกติ จะมีความรู้สึกว่า เอ๊ย ถ้าถึงเวลาทวงเงินแล้วนี่ มันต้องเป็นทุกข์สิ ไม่เป็นทุกข์นี่ผิดปกติ แล้วก็ลืมหมดเลย เรื่องภาวนา เรื่องอะไรต่อมิอะไร ต่อให้เคยภาวนามากี่ปีก็ตาม พออารมณ์ครอบงำแล้ว ลืมทุกอย่าง ปล่อยให้อารมณ์ครอบงำต่อไป นี่ตัวนี้ที่คือข้อแตกต่าง
ถึงแม้ว่าเราจะภาวนามา บอกว่า ฉันภาวนามาสิบปี แต่ถ้าหากว่า ท่าทีที่เรามองว่า ฉันจะดูจิตอย่างเดียวนี่ แต่พอปฏิกิริยาทางใจเกิดขึ้นแรง ความทุกข์เกิดขึ้นแรงเกิน เกินกว่าที่จะให้ดู ดูไม่ได้แล้วนี่ ก็ปล่อยใจหลงไปตามมัน ไม่มีทุน หรือว่าตัวกำลังหนุนที่จะช่วยให้เรามารับมือกับความทุกข์แรงๆ ที่เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเรามานับลมหายใจ แต่ละครั้งที่เกิดความทุกข์ขึ้นมา มันอยู่ได้กี่ลมหายใจ อันนี้อยู่ในทิศทางที่จะได้สังเกตจริงๆ ว่าความทุกข์ทุกชนิดนี่ มันอยู่ได้ไม่กี่ลมหายใจก็ต้องเหือดแห้งไป ระเหยหายไป
พอเราได้ข้อสรุปแบบนี้หลายๆ ครั้งเข้า จิตเขาไม่ต้องไปพึ่งลมหายใจ พอความทุกข์หรือปฏิกิริยาทางใจร้อนๆ เกิดขึ้นปุ๊บ มันสามารถรู้ขึ้นมาได้เองเลย มีสติเท่าทันเลยว่าเดี๋ยวมันก็จะต้องหายไป พอสังเกตดู เออ มันก็หายไปจริงๆ ด้วย พอหายใจก็จะเหลือแต่ใจว่างๆ ที่ไม่มีความทุกข์ไม่มีความร้อนนะ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น