วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2559

วิธีเจริญสติของคนจิตอ่อนแอ ขาดกำลังใจง่าย (ดังตฤณ)

ถาม :  ตอนนี้จิตไม่มีกำลัง แล้วก็ลอยๆค่ะ  ก็เลยอยากจะขอคำแนะนำ

รับฟังทางยูทูบ
: https://youtu.be/9QR3LeUTbL8
(ที่มา : ดังตฤณวิสัชนา บริษัทเชฟรอน, ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๓)


ดังตฤณ: 
คิดเสียว่ามันไม่เที่ยงก็ดีแล้วนะ
แต่ก่อนมันเครียด ตอนนี้มันไม่เครียดแล้ว
ก็ถือว่าดีแล้ว  ดีกว่าแต่ก่อนแล้ว
คือ คิดในแง่ดีก่อนที่จะไปบอกว่ามันไม่มีกำลัง 
มองในแง่ดีมันจะได้มีกำลังใจ
พอมีกำลังใจ กำลังมันก็มีขึ้นมาแล้วนะ

ตรงนี้แหละของคุณเป็นคนขาดกำลังใจง่าย 
พูดกันตรงๆนะ มันเหมือน อ่อนแอง่าย
..ต้องหากำลังใจ
..ต้องหาที่พึ่ง
..ต้องหาที่ยึดเหนี่ยว
ทีนี้ก็เอาภาวะของตนเองที่มันดีขึ้นนั่นแหละ
เป็นที่ยึดเหนี่ยว 
ว่านี่มันเจ๋งแล้วนะที่ไม่เครียดมากเหมือนแต่ก่อน
แต่ก่อน คือ เครียดแล้วมันคิดอยู่ทั้งวัน
แต่ตอนนี้มันกลายเป็นเหมือนลอยเลยไง สบายๆ
แต่ให้มองว่าไม่เครียดอ่ะดีแล้ว

แล้วต่อไปนะเวลาที่เริ่มจะเหม่อ เริ่มจะลอย
เริ่มจะเกิดความเคยชินที่จะปล่อยใจ
“  ก็รู้ให้ทัน 

พอมีกำลังใจ
แล้วรู้ ณ จุดที่มันจะอ่อนแอลง
มันก็จะเข้มแข็งขึ้นมา
ทีละนิดทีละหน่อยแบบหยอดกระปุก

ฝึกรู้เวทนา แต่สงสัยว่ารู้ถูกไหม? (ดังตฤณ)

ถาม :  ฝึกดูเวทนาอยู่ค่ะ  เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเหมาะกับแนวนี้คะ?

รับฟังทางยูทูบ
: https://youtu.be/4sXAZuU9rOg
(ที่มา : ดังตฤณวิสัชนา บริษัทเชฟรอน, ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๓)


ดังตฤณ: 
ตั้งใจดูเวทนามากเกินไป
มันไปเพ่งเวทนา ไม่ใช่ดูนะ 
เห็นไหมเวลาที่เกิดอะไรขึ้นมา
เราจะถามตัวเองเสมอว่า
ไอ้นี่เรียกว่าอะไร มันจะพยายามแยกแยะนึกออกใช่ไหม

มันเหมือนจะพยายามไปนิยาม 
ตัวอาการนิยามนี่ เขาไม่เรียกรู้นะ
ไม่ได้เรียกรู้อารมณ์ตรงๆ

เขาเรียกว่าไปพยายามคิด
คิดเอาว่ามันคืออะไร เรียกว่าอะไร 
พอคิดมันก็จบอยู่ตรงนั้นแหละ

มันไม่รู้ว่าถูกหรือผิด 
เราชอบนึกในภายหลังไง 
มันไม่รู้ว่าถูกหรือผิด  มันจะไม่แน่ใจ


รู้สึกไหมถึงความไม่แน่ใจ ว่ามัน..  นั่นแหละตรงนั้นอ่ะ
เพราะฉะนั้น  ดูอันดับแรกเลย
คือความไม่แน่ ใจนั้นแหละ

หลังจากที่ดู เราจะเห็นอะไรไม่ต้องสนใจ 
เราดูความรู้สึกไม่แน่ใจ
ดูความลังเลสงสัย
ที่มันแกว่งอยู่ แกว่งอยู่สองข้าง

ซ้าย หรือ ขวา 
ถูก หรือ ผิด

ใช่หรือไม่ใช่  เขาเรียกอะไร
เนี่ย พอเราเห็นอาการแกว่ง เนี่ยเขาเรียกเห็นจริงแล้ว และไม่ต้องนิยาม
ต่อไป

พอเราเห็นอาการแกว่ง ให้บอกได้เลยว่า
นั่นคือ ทุกขเวทนาทางใจ
อย่างนี้เรียกว่า สุขเวทนาทางใจ
มันเริ่มแกว่งนะ



นิสัยตัดสินใจเร็ว ความคิดกระโดด (ดังตฤณ)

ถาม :  (เสียงเทปช่วงถามขาดหาย)

รับฟังทางยูทูบ
: https://youtu.be/WThE6mdp57Q
(ที่มา : ดังตฤณวิสัชนา บริษัทเชฟรอน, ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๓)


ดังตฤณ: 
ความคิดมันยังไวอยู่ เป็นคนคิดไว
เรื่องงานเรื่องอะไรต่อมิอะไร
..บางทีก็ทำงานแบบมีระเบียบ 
..บางทีก็ทำงานแบบตามอารมณ์
แต่คิดเร็วเสมอ และ
บางทียังคิดไม่จบ แต่ตัดสินใจแล้ว  
ตอนที่ใช้อารมณ์ มันจะเป็นแบบนี้
คือยังไม่ทันเห็นอะไรรอบ
แล้วเราอยากจะตัดสินใจเร็ว เป็นคนชอบตัดสินใจเร็ว
แต่บางทีก็ใจเย็น
แต่นานๆทีถึงจะใจเย็นแล้วคิดอะไรรอบคอบสักที

ลองหัดคิดให้รอบคอบ
มันมีผลกับการภาวนา
คือเอารายละเอียดให้ครบเสียก่อน
เพราะบางทีเรารู้สึกว่าเชื่อมั่น  เชื่อมั่นในตนเองสูง
ว่าเนี่ยฉันเซนส์ดี 
แล้วปรากฏว่ามันผิดมาหลายครั้งละนะ
ตรงที่เรารู้สึกว่าเราตัดสินใจเร็ว เราแน่  เราอะไรนี่
ชีวิตก็สอนมาหลายคนแล้วว่าชีวิตมันไม่แน่เสมอไป
บางทีมันเก่งจริงแหละ 
แต่หลายๆทีมันก็ไม่เก่งหรอก

ทีนี้ถ้าหากใจเย็น และตัดสินใจช้าลง
มันจะมีผลเรื่องของการภาวนา
คือ ความคิดมันจะไม่กระโดดเร็วขนาดนี้ 
นี่ความคิดมันพุ่งไปไวเกินไป มันล้ำไปข้างหน้าไวเกินไป
บางทีอยู่กับกายอยู่กับใจ
ความคิดมันกระโดดออกมาแล้ว
มันไม่เย็นพอ

ถาม :  คือกระโดดแล้วเราไม่ทันมันใช่ไหมคะ?

ดังตฤณ: 
มันกระโดดเก่ง มันพุ่งออกมาแล้วเราไม่ทันมัน
แต่ที่ผมพูดในที่นี้ คือ
เราไปปรับจากฐานการทำงาน มันจะมีผล
จะทำให้วิธีคิดในการภาวนา  การเจริญสติ มันช้าลง
มันจะไม่อยากเอาอะไรอย่างใจเร็วไป มันจะใจเย็นลง
นี่ดูมันเหมือนคนใจเย็น หน้าตาแบบนี้คนใจเย็น
แต่จริงๆมันไม่ใช่นะ  ใจร้อน




จิตเบาระหว่างฟังธรรม (ดังตฤณ)

ถาม :  ฟังคุณตุลย์ (ดังตฤณ) แล้วดูลมหายใจไปเรื่อยๆ มันก็สบาย จิตมันก็เบาเรื่อยๆ  ขอคำแนะนำ ครับ

รับฟังทางยูทูบ
: https://youtu.be/YwOTm0J_Xh0


ดังตฤณ: 
จิตมันเป็นธรรมชาติ จิตมันเป็นไปเอง   

ถ้าจิตมันเป็นไปเองแบบนี้  
ให้สังเกตว่า
เมื่อไหร่ที่มันเป็นไปเอง  ด้วยเหตุปัจจัยอะไร
คือเมื่อกี๊มันไม่ได้ฟังอย่างเดียว มันดูไปด้วย
แล้วพี่ดูอย่างไร  พี่ก็ดูอย่างนั้นแหละ 

เมื่อกี๊นะ เหมือนสังเกตเข้ามาที่กาย 
ดูความว่างๆบ้าง ดูความรู้สึกปรุงแต่งบ้าง
มันมีอิริยาบถเป็นหลัก 
คือ ไม่ใช่ไปเพ่งรายละเอียดของกาย
แต่รู้สึกถึงอิริยาบถเป็นหลัก 
แล้วรู้สึกมันเหมือนว่างๆขึ้นมา
บางทีมันก็เหมือนปรุงแต่งขึ้นมา
ถ้าเห็นอย่างนั้นแล้วเป็นธรรมชาติได้ก็เห็นไป

แต่ไม่ใช่ว่าเราดูแบบนี้ แล้วมันจะเป็นแบบนี้ตลอด
มันขึ้นอยู่กับว่าอะไรมากระทบ มีปฏิกิริยาทางใจแค่ไหน
แล้วพี่สังเกตว่าเรารู้อย่างไร
มันเป็นแบบนี้  มันเป็นไปเองแบบนี้ได้
ก็เอาแบบนี้เป็นหลัก

ความคิดกระจัดกระจาย เจริญสติอย่างไร? (ดังตฤณ)

ถาม :  รู้สึกว่าจิตกระจัดกระจายค่ะคุณดังตฤณ

รับฟังทางยูทูบ
: https://youtu.be/xsyly-JiHOU

ดังตฤณ: 

มันกระจัดกระจายแค่ความคิด จิตมันยังโอเคอยู่
มันไม่ได้แตกซ่าน มันไม่ได้เครียดแบบแต่ก่อน
ทีนี้เวลาเราดูนี่
เราก็ดูตรงที่ความรู้สึกว่ามันแตกซ่านกระจัดกระจาย 
เป็นแค่
"ความรู้สึกหนึ่ง"

พอมันรู้สึกว่ามันกระจัดกระจาย
ให้ถามตนเองว่า
มันกระจัดกระจาย มาก หรือ น้อย

แล้วจะเห็นว่า
มันไม่ได้มากอยู่ตลอด ไม่ได้น้อยอยู่ตลอด
เช่นตอนนี้มันก็กลับเข้าที่ เข้าที่แป๊บหนึ่ง
แล้วมันก็กระจัดกระจายใหม่

วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2559

ใจยอมรับความจริงไม่ได้เสียที ทั้งที่พยายามแล้ว (ดังตฤณ)

ถาม :  เมื่อกี๊ตอนที่พี่ตุลย์บอกว่ารู้สึกว่ามันบีบ แต่ตอนนี้รู้สึกมันโล่งขึ้นคะ

รับฟังทางยูทูป
: https://youtu.be/-P8_3DKB6DU
(ที่มา : ดังตฤณวิสัชนา บริษัทเชฟรอน, ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๓)


ดังตฤณ: 
ที่เราพูดคำพูดว่า "เราผ่านไปไม่ได้"
มันเป็นคำพูดที่มาล็อคตัวเอง

ถ้าเราเอาคำนี้ออกไป เหลือแต่ธรรมชาติใจ
ที่มันขึ้นมามืดบ้าง สว่างบ้าง
มืดมากบ้าง มืดน้อยบ้าง

ยอมรับไปตามจริง
มันผ่านไปได้เสมอ
และมันต่างไปเสมอ
มันเปลี่ยนไปเสมอ
ถาม :  แต่มัน เดี๋ยวก็เกิดขึ้นมาอีก คือมันจะกลับขึ้นมาค่ะ ที่มัน บีบเค้น อ่ะคะ
ดังตฤณ: 
ที่มันกลับขึ้นมาแสดงว่าเราเป็นคนธรรมดา 
ถ้ามันไม่กลับขึ้นมาอีก นั่นคนไม่ธรรมดาแล้ว
การที่มันกลับขึ้นมาอีก อันนั้นดี 
เราบอกตนเองว่าเราจะได้ดูต่อ
คือที่ผ่านมา เราบอกตนเองว่าเราพยายามดูแล้ว
เราพูดกับตนเองสองคำนะ 
"พยายามดูแล้ว"
"แต่ผ่านไปไม่ได้"
พอล็อคตัวเองไว้อย่างนี้ก็เสร็จสิ
มันเหมือนสะกดจิตตนเองให้เชื่อว่า
ฉันพยายามแล้ว แต่ไม่สำเร็จมันผ่านไม่ได้
!
แต่ถ้าลองถอดสองคำนี้ออกไป
เหลือแต่คำว่า
"เกิดอะไรขึ้น"
"ก็รู้ตามนั้น"
ยอมรับตามนั้น แค่นั้น
และให้มันกลับขึ้นมาอีกเรื่อยๆ
เราก็จะดูอีกเรื่อยๆ ให้มันมีคำนี้มาแทนที่
แล้วทุกอย่างก็จะผ่านไปเอง
ถาม :  ใจหนูลึกๆ มันเหมือนอยากได้คืนมาตลอดเวลา มันไม่ยอมรับความจริงอ่ะค่ะ
ดังตฤณ: 
ธรรมดา ไม่มีใครยอมรับความจริง 
ถ้าทุกคนยอมรับความจริง
ก็เป็นพระอรหันต์กันหมดแล้ว
ที่ไม่ยอมรับความจริง
ถึงต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนี้

ที่เรามาฝึกกันไม่ใช่ฝึกเพื่อที่จะบอกตนเองว่า 
ทำไมมันถึงไม่ยอมรับความจริง
แต่มาฝึกเพื่อให้เข้าใจว่า 
มันไม่ยอมรับความจริงมาตั้งแต่ก่อนเกิด
มันถึงต้องมาเกิดอยู่ 

ถ้ายอมรับความจริงมันต้องเห็นว่า
อะไรอะไร มันไมเที่ยง
อย่าเริ่มจากคนที่มันอยู่นอกตัว 
แต่ให้เริ่มจากสิ่งที่มันอยู่ในใจ  เป็นภาวะ เป็นขณะๆ
เดี๋ยวมืดบ้างเดี๋ยวสว่างบ้าง
ของเราอ่ะ เวลาทุกข์ มันจะมืด 
พอมืดแล้วจะไม่คิดดีเลย  มันจะคิดแต่ในแง่ร้าย
มันจะมีถ้อยคำที่ ไม่เป็นมงคลผุดขึ้นมา
ก็มองไปง่ายๆ ว่าจิตของเรามืดอยู่
มองง่ายๆแค่นั้น 
แล้วจิตมืดนี่ มันมืดมาก หรือมืดน้อย
อีกแปปนึงถ้าเรามองอยู่อย่างนั้น
เราก็จะเห็นว่า ความมืดมันน้อยลงได้
แล้วมันก็เปลี่ยนขึ้นมาเป็นความสว่างได้


วิธีระงับโทสะกับพ่อและแม่ (ดังตฤณ)

ถาม :  ภาวนาแล้วเห็นความแรงของโทสะ  หรือความไม่ค่อยดีเกี่ยวกับพ่อกับแม่แต่จะเป็นเรื่องของแม่มากกว่า ความที่เราอาจจะเก็บอะไรไว้นานๆเรื่องเกี่ยวกับแม่ มันนานแล้ว ซึ่งจำไม่ได้ แต่มันก็ผุดขึ้นมาผุดขึ้นมา  ก็เห็นอยู่ตลอดเวลา รู้สึกว่ากลัวบาป

รับฟังทางยูทูป
: https://youtu.be/QT4a8z6cde8
(ที่มา : ดังตฤณวิสัชนา บริษัทเชฟรอน, ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๓)


ดังตฤณ: 
แต่ไหนแต่ไร เป็นคนชอบอาละวาด
มันก็เลยโทสะแรง

ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจ
คือ ถ้าไปผูกใจไว้กับแม่ มีโทสะ
มันขยายผลเพราะว่า พ่อกับแม่คือผู้มีคุณใหญ่
ทำอะไรไปมันได้ผลใหญ่เสมอ
ไม่ว่าทางลบหรือทางบวก

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ธรรมชาติมันใจร้ายนะ
พอใครอยู่ใกล้ตัวมากๆ เคยชินกันมากๆ
ก็ทำให้เราอาแต่ใจตัวมากที่สุดเกินใครเหมือนกัน
ลงกับพ่อแม่นี่แหละ  เวลาโทษก็โทษพ่อแม่
เวลาที่ไม่ได้อย่างใจ
เวลาจะออกฤทธิ์ แผลงฤทธิ์อะไรก็กับพ่อแม่นี่แหละ
มันไม่มีความเกรงใจกัน
เพราะถือว่าทำให้เราเกิดมา
แต่ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติจริงๆว่า
ไม่ใช่พ่อแม่หรอก ที่ตั้งใจให้เราเกิดมา 
กรรมต่างหากที่ทำให้เราโยงใยอยู่กับพ่อแม่คู่นี้
และทำให้เรามีกรรมสัมพันธ์กับพ่อแม่คู่นี้

สิ่งที่เราต้องทำกับพ่อแม่เลย
โดยไม่มีเงื่อนไขอะไรอย่างอื่นทั้งสิ้น
ก็คือตอบแทน ท่านเท่าที่จะทำได้ 
ไม่ว่าท่านจะดี หรือไม่ดีกับเราอย่างไร


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

สิ่งที่เราจะต้องคำนึงถึง 
ถ้าหากว่าเราจะเป็นพุทธที่แท้จริง
คือ ตอบแทนท่าน 

และวิธีที่ตอบแทนท่านที่ดีที่สุดที่พระพุทธเจ้าแนะนำไว้
คือให้ธรรมะเป็นที่พึ่งกับท่าน คือหมายถึง
..ให้ท่านมีศรัทธา
..ให้ท่านมี ทาน มีศีล ที่ตั้งมั่นอยู่ในใจ
ถ้าหากไม่ได้เลย
ก็ให้ท่านมีความเข้าใจในแบบเป็นเหตุเป็นผล 
ในแบบที่จะก่อให้เกิดศรัทธา 
ในทางที่มันเป็นมงคลกับตัวท่านเองได้

ซึ่งนั่นจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเราเถียงกับท่าน!

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


ถ้าเราเถียง เราทะเลาะ
หรือเราอารมณ์โกรธกับท่าน 
ไม่มีทางที่จะทำให้ท่านมีเหตุมีผลขึ้นมาได้
ถ้าคิดแบบนี้ว่าเราจะตอบแทนท่าน 
เราจะมีแก่ใจว่าเราอยากจะทำอะไรให้มันดีขึ้น
มันจะออกมาจากข้างใน 
มันจะไม่เผลอง่ายเหมือนแต่ก่อน
แล้วปลูกฝังตัวเองให้อยากตอบแทนท่านให้มากขึ้น มากขึ้น
โทสะมันก็จะลดลงเองด้วยการเห็นว่า 
ยิ่งเรามีโทสะ ท่านยิ่งหลงผิดมากขึ้นเท่านั้น


อยากภาวนาก้าวหน้าจนใจว้าวุ่น (ดังตฤณ)

ถาม :  ภาวนาอย่างไรถึงจะก้าวหน้ามากกว่านี้คะ

รับฟังทางยูทูป
: https://youtu.be/I2tKAf4KUf0
(ที่มา : ดังตฤณวิสัชนา บริษัทเชฟรอน, ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๓)


ดังตฤณ: 
ภาวนาอย่างที่เคยภาวนา
แต่อย่าอยากอย่างที่เคยอยาก


เวลาอยาก เห็นว่ามันเป็นอาการวุ่นวายใจ 
..ของคุณมันเป็นอาการวุ่นวาย      
..มันมีอาการหยุดอยู่กับที่ไม่ได้

..มันมีอาการเคว้งคว้างๆ               
..ยื่นกระจัดกระจายออกไป

..จะเอาอนาคตที่ยังมาไม่ถึง           
..จะเอาผลดีทีมันยังไม่เกิด


ถ้าหากเราเห็นอาการว้าวุ่น 
ตรงนั้นไม่ต้องทำอะไรเพิ่มแล้ว
นั่นคือมีสติอยู่กับปัจจุบัน
มันจะเป็นแบบนี้ ใจมันจะสงบลงชั่วคราว
มันจะเย็นลง มันจะหายอยากไปชั่วคราว
เดี๋ยวดูใหม่ เวลาที่มันกลับมาอยาก  
มันจะเป็นอีกคนหนึ่ง

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

เนี่ยเห็นไหม พอใจมันหมดอยากชั่วคราว 
ใจมันมีความสุขมากเลย

เป็นคนมีความสุขอยู่แล้วนะ
แต่พออยากขึ้นมาเท่านั้นหละ 

มันไม่มีความสุข  มันความสุขหมดไปทันที
มันเป็นคนละคนเลยนะ
ตอนที่คุณมีความอยากกับหมดความอยาก 

แต่การหมดความอยากไม่ใช่ด้วยการสั่ง  
แต่ต้องเป็นการเห็นตามจริงว่า
เราอยากขึ้นมาเมื่อไหร่ 
อาการของความอยากมันมีความว้าวุ่นอย่างไร
เห็นไปตามจริง
แล้วความอยากตรงนั้นมันจะลดระดับมาให้เห็นเอง

พอลดระดับลงมาได้
เราจะปล่อย ความอยากไปเอง 

แต่มันก็กลับมาใหม่เรื่อยๆ
กลับมาแล้วเห็น กลับมาแล้วเห็น 
อย่างนี้ซ้ำไปซ้ำมา 
ในที่สุดเราจะรู้ว่าความอยากมันเป็นของไม่เที่ยงชนิดหนึ่ง 
เป็นอีกภาวะหนึ่งที่เราสามารถรู้ได้
ว่าไม่ควรยึดมั่นถือมั่น


วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2559

กินเหล้าไม่ทำให้ใครเดือดร้อนจะผิดได้อย่างไร (ดังตฤณ)

กินเหล้าไม่ทำให้ใครเดือดร้อนจะผิดได้อย่าไร
ถาม : ตามหลักธรรมะเท่าที่ทราบ การทำบาปคือการทำตัวเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน ผมกินเหล้าอย่างมีสติเป็นประจำ ไม่ทำให้ตัวเองและคนรอบข้างเดือดร้อน แต่พระก็บอกว่าผิดศีลข้อ ๕ อยู่ดี รู้สึกเหมือนเป็นคนไม่ดีเพียงเพราะถือศีล ๕ ไม่ครบน่ะครับ ขอเหตุผลชัดๆหน่อยได้ไหมว่ากินเหล้าอย่างมีสตินั้นเสียหายอย่างไร

> จากหนังสือ เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เล่มที่ ๖

ดังตฤณ: 
การละเมิดศีลข้อ ๕ นั้น ถ้าว่ากันตามจริงก็ถือว่าเบากว่าการละเมิดศีลข้ออื่น คือนอกจากจะอยู่ในข้อสุดท้ายของศีล ๕ แล้ว พระพุทธเจ้ายังกำหนดบทลงโทษสถานเบาแก่ภิกษุผู้ละเมิดวินัยด้วยการเสพสุรา ขอเพียงไม่เสพสุราเป็นอาจิณ ก็จะไม่ขาดจากความเป็นภิกษุ แต่หากพระทำผิดศีลข้ออื่น คือฆ่ามนุษย์หรือลักทรัพย์เกินหนึ่งบาท ก็จัดเป็นผู้แพ้ภัยตนเอง ตามวินัยสงฆ์ถือว่าตายจากความเป็นพระทันที ต้องสึกสถานเดียวเบี้ยวไม่ได้

พูดแบบรวบรัดตัดความ คุณยังไม่เป็นคนเลวอย่างแน่นอน ตราบเท่าที่ยังครองสติอยู่กับตัวได้ แม้เหล้าจะเข้าปากบ้างก็ตาม แต่แม้เหล้าไม่เข้าปาก ถ้าสติขาดลอย ยอมตัวให้กับบาปอกุศลแล้ว อย่างไรก็ได้ชื่อว่าเป็นคนเลว และเป็นการตัดสินใจเลวเอง ไม่ใช่ถูกเหล้าย้อมใจให้เลว

จากภาพที่เห็นด้วยตาเปล่านั้น การดื่มเหล้าไม่ทำให้ร่างกายใครเสียหาย เหล้าต้องมีปริมาณมากพอสมควรจึงจะทำให้มึนจนขับรถออกนอกทาง หรือทำให้ตับแข็งตายในระยะยาว เพราะฉะนั้นในสังคมมนุษย์จึงไม่ติเตียนผู้บริโภคเหล้าพอประมาณ แต่กลับจะส่งเสริมด้วยซ้ำ เพราะเหล้ามีข้อดีประการต่างๆ เช่นทำให้เลือดลมแล่น และเป็นตัวปรุงรสในการชุมนุมสังสรรค์เสวนา หลายกลุ่มหลายเหล่าถึงกับตั้งข้อรังเกียจผู้หลีกเลี่ยงเหล้ายาในงานเลี้ยง ถือว่าทำตัวแปลกแยกไม่เป็นกันเองเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเล็งมาที่จิตซึ่งไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จะพบว่าเหล้าทำความฟกช้ำให้กับจิตทุกครั้งที่คุณปล่อยให้มันล่วงลำคอลงไป หากเอาผู้ที่ ‘คอบริสุทธิ์’ มากินเหล้าอึกแรกๆจะรู้เลยครับ ว่าจิตผิดปกติไป เหมือนฤทธิ์ของพิษร้ายที่ซ่านสู่สมองมันบีบสติให้เล็กลง แล้วขับดันกิเลสประเภทต่างๆให้พองโตขึ้นเรื่อยๆ สติที่เริ่มแหว่งวิ่นและกิเลสที่เริ่มกำเริบง่ายนั่นแหละ ตัวชี้ว่าจิตเริ่มช้ำแล้ว หากปล่อยให้เกิดความช้ำกับจิตมากๆ ไม่เอาบุญมาชะล้างหรือสมานแผลเสียบ้าง ในที่สุดจิตจะช้ำถาวร จิตที่บอบช้ำถาวรจะมีสภาพเหมือนคนสะบักสะบอม ยามใกล้ตายคงประคองตัวขึ้นบันไดสวรรค์ไม่ไหว แต่กลับมีแนวโน้มว่าจะทนแรงฉุดของอบายไม่อยู่

กรณีของคุณนั้น ถ้ากินเหล้าเป็นประจำแบบไม่ขาดสติเลย ไม่เคยเมาสุราอาละวาดเลย ในทางธรรมก็ต้องถือว่า ‘ไม่เลว’ ครับ แต่อย่างไรจิตของคุณก็มีความฟกช้ำดำเขียวอยู่ดี เพราะการกินเหล้าน้อยๆเป็นประจำก็คล้ายถูกทุบเบาๆไม่ขาดระยะ ร้อยหนเหมือนไม่เป็นไร แต่พอขึ้นหลักพันก็ชักช้ำเข้าจนได้

อยากให้มองว่าถ้าคุณทำทานเป็นปกติ และศีลข้ออื่นบริสุทธิ์สะอาดหมด บุญแห่งทานและศีลจะช่วยให้ ‘กล้ามเนื้อจิต’ เกิดความแข็งแรง ฟกช้ำยาก รวมทั้งคืนสภาพได้เร็ว เมื่อใกล้ตายก็อาจแทบไม่ได้รับผลร้ายจากการสั่งสมเหล้าสักเท่าไร

แต่หากคุณเป็นคนตระหนี่ มีศีลที่บกพร่องทุกข้อ บาปทั้งหลายทำให้จิตอ่อนแอและ ‘ขี้โรค’ อยู่โดยเดิม ยิ่งเพิ่มเติมแรงทุบ แรงกระแทกจากเหล้ายาเสริมเข้าไป พอใกล้ตายโอกาสรอดจากนรกก็คงยาก

นั่นคือการพูดตามเนื้อผ้า แต่ถ้าไม่อยากให้พูดคล้ายเอาเรื่องมองไม่เห็นข้างหน้ามาขู่กัน จะลองพิจารณาความจริงที่เป็นปัจจุบันก็ได้ครับ การกินเหล้าจะทำให้คุณมองอะไรอย่างหนึ่งผิดจากความเป็นจริงเสมอ บางทีก็รู้ได้ยากครับว่าอะไรที่ผิด ยกตัวอย่างอย่างนี้ก็แล้วกัน กายที่หนักไม่ปลอดโปร่ง กับจิตที่ขุ่นมัวไม่ใสสะอาดนั้น ไม่อาจยินดีในเหตุแห่งการพ้นทุกข์ พูดง่ายๆคือจิตไม่ใส ใจไม่เบาพอจะรับธรรมะใสๆได้ถนัดถนี่นัก คุณอาจฟังเรื่องทานแล้วยินดี อาจฟังเรื่องศีลข้ออื่นๆแล้วคล้อยตาม แต่จะไม่เห็นด้วยกับการสละต้นเหตุแห่งความมัวเมา เห็นชัดๆว่าเหล้าทำให้มัวเมา เป็นต้นเหตุแห่งความมัวเมาตรงๆ คุณยังทิ้งมันไม่ได้ แล้วจะไปทิ้งเหตุแห่งความมัวเมาอื่นๆอย่างไรไหว?

เท่าที่ผมทราบว่ามีตัวตนจริงๆคือขี้เหล้าหลายรายฟังธรรมะเข้าใจจริงๆ ถึงระดับที่จิตเห็นโทษภัยของการผิดศีลผิดธรรมแล้ว จิตก็ปฏิวัติตัวเอง เกิดความรังเกียจเหล้าบุหรี่โดยไม่มีใครบังคับ เหมือนเกิดใหม่กลายเป็นอีกคนที่ไม่อยากให้มลทินมาแปดเปื้อนตน

พูดง่ายๆ บางคนเมื่อเข้าใจธรรมะจริงจะเลิกเหล้า แต่บางคนต้องเลิกเหล้าเสียก่อนถึงจะเข้าใจธรรมะ อะไรจะมาก่อนมาหลังไม่สำคัญครับ สำคัญที่ธรรมแท้ไม่เข้ากับเหล้ายาแน่นอน

ถ้าชีวิตคุณยังมาไม่ถึงคำถามว่าทำไมต้องเข้าใจธรรมะขั้นสูง หรือยังถูกเป่าหูอยู่ว่าธรรมะขั้นสูงไม่ใช่เรื่องจำเป็นสำหรับคนรุ่นใหม่ อันนี้ก็อาจคุยกันยากหน่อย ความจริงธรรมะขั้นสูงไม่ใช่เรื่องเกินตัวสำหรับใครๆ เพราะธรรมะขั้นสูงคือวิธียุติทุกข์ สรุปคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ประการหนึ่งคือตราบเท่าที่เรายังรักษาเหตุแห่งทุกข์เอาไว้ ให้แสนดีเพียงใดก็ต้องเสวยทุกข์อยู่วันยังค่ำครับ จะวันหนึ่งวันใดเร็วหรือช้าเท่านั้น


________________

คลิกที่บทความเพื่ออ่านต่อ :

วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559

แก้กรรม ทำอย่างไร (ดังตฤณ)

ถาม :   คนเราทุกคนเกิดมาพร้อมกรรมเก่า ถ้าเราต้องการเปลี่ยนแปลงกรรมที่ติดตัวเรามาจากร้ายให้กลายเป็นดี หรือให้เบาบางลง จะต้องทำอย่างไรในชาติปัจจุบัน เช่น เกิดมาแล้วไม่สมหวังในความรัก ทำอย่างไรให้สมหวังในความรัก หรือเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน ทำอย่างไรจะให้ร่ำรวย เป็นต้นค่ะ
(เครดิตถอดเทป : http://vannessa.exteen.com/20110331/entry)

รับฟังทางยูทูป
https://youtu.be/i76IjMkC42Q


ดังตฤณ: 
ก่อนอื่นคุณอยากได้อะไรก็ลองสำรวจดูว่า พฤติกรรมของคุณ สอดคล้องกับสิ่งนั้นหรือเปล่า
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดมาบางคนเนี่ยนะ น่าเห็นใจ รู้สึกว่าตัวเองซื่อมาตลอดเลย และก็ไม่เคยคิดแม้แต่จะไปหลอกลวงใคร แต่ว่าเจอแต่คนหลอกลวง เจอแต่คนที่เข้ามาแป้บนึงแล้วก็จากไป นะ โดยเฉพาะเรื่องความรักอะไรต่างๆเนี่ย บางทีมันก็รู้สึกว่า เอ้ มันไม่สอดคล้อง มันไม่สมเหตุสมผลเลย นะ

จริงๆแล้วตรงนั้นเนี่ย มันอาจจะเป็นเรื่องของอย่างนี้จริงๆนะ
คือถ้าหากว่าเราเคยไปหลอกใครเอาไว้มากๆเนี่ย
การหลอกตรงนั้นเวลาที่มันให้ผลเนี่ย มันก็ให้ผลให้เราเป็นคนซื่อ เป็นคนเชื่อง่าย เป็นคนหูเบา
อันนี้มันมีอยู่นะ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้จริงๆนะ
คนที่มุสาเก่งๆ หลอกคนเก่งๆ แล้วภูมิใจทะนงว่าไม่มีใครจับได้เนี่ย
ในที่สุด พอกรรมเผล็ดผลเนี่ย มันจะกลายเป็นคนหลอกง่าย กลายเป็นคนหูเบา กลายเป็นคนเชื่อง่าย
แล้วก็จะมีใครต่อใครเข้ามารุมสกรัม คือ จะมาหลอกเรา มายำเราตลอด

ตรงนี้ถ้าเรามองว่าโอเค กรรมมันไม่สมกัน มันไม่เห็นจะเป็นเหตุเป็นผลเลย
ว่าเราซื่อแล้วทำไมจะต้องโดนหลอก ก็ดูนะครับว่า มันมีเหตุผลอะไรที่ลึกลับไปกว่านั้น

ทีนี้ถ้า เราอยากจะเปลี่ยน สมมติเนี่ย ผมเอาตัวนี้เป็นตัวตั้งเลย
ทั้งที่เราซื่อแล้ว แล้วจะทำอะไรให้มันดีไปกว่านี้อีกล่ะ
ที่จะได้มาซึ่งคู่ครอง หรือว่าได้มาซึ่งคนที่มารัก มาชอบ

การมีเสน่ห์เนี่ย มันไม่ใช่แค่เรื่องซื่ออย่างเดียว การมีเสน่ห์มันยังมีเรื่องของความเข้มแข็งทางใจ
คนซื่อเนี่ยมักจะ อันนี้พูดตามหลักนะ ตามหลักที่เราเห็นได้ทั่วๆไป
คนซื่อมักจะค่อนข้างจะ Weak ค่อนข้างจะอ่อนแอ ค่อนข้างจะขี้น้อยใจ

ส่วนคนที่มันมีความเข้มแข็งเนี่ย
ต้องการปัจจัยอะไรที่มากกว่าความซื่อ ยกตัวอย่างเช่น มองโลกในแง่ดี
ตัวเรามีแง่ดีอะไรอยู่เท่าไหร่ หรือว่ามีแง่เสียอยู่แค่ไหน เอามารวมๆกันแล้ว เลือกมองแต่ในแง่ดี
ตรงนี้มันก็เป็นส่วนให้เกิดความเข้มแข็งขึ้นมา

คนจะมีเสน่ห์เนี่ย มันต้องเริ่มจากความเข้มแข็ง
เริ่มจากความมีสติ เริ่มจากความมีความสดใส เริ่มจากการที่ เรามีใจเปิดกว้าง แล้วมีความอบอุ่นให้กับคนอื่น

แต่คนที่ขี้น้อยใจ หรือว่าที่รู้สึกว่า ทำไมทำดีถึงไม่ได้ดี
มันมักจะ จิตมันมักจะปิดเข้ามา แล้วก็เกิดอาการที่เรียกว่า เรียกร้องความอบอุ่นจากคนอื่น
เวลาคนอื่นเข้ามาใกล้ๆ เค้าพบว่าเราไม่มีความอบอุ่น เค้าก็จากไป ไม่อยากเข้ามาใกล้

เพราะอย่างนี้ ตามหลักเลยนะ ถ้าใครที่มีความอบอุ่นเนี่ย
จะเป็นผู้แจกจ่ายกระแสความอบอุ่นออกไป แล้วก็ไปเป็นที่พึ่งทางใจให้กับคนที่อยู่ใกล้ชิด

แต่ถ้าคุณมีแต่ความหนาวเย็นอยู่กับตัวเอง รู้สึกสงสารตัวเอง เห็นใจตัวเองมากๆ
คุณจะเอาความอบอุ่นที่ไหน ออกไปกระจายให้คนอื่น
แล้วมันจะมีแรงดึงดูดให้คนอื่นเข้ามาหาคุณได้อย่างไรนะ

อันนี้พิจารณาให้เป็นขั้นเป็นตอนไป


นี้ ถ้าเราพูดในหลักกว้างๆเลยนะ เมื่อกี้พูดแบบเฉพาะเจาะจง
พูดโดยหลักกว้างๆเลย เราเกิดมาเนี่ย กับพ่อแม่คู่นี้ มีเพศอย่างนี้ มีฐานะอย่างนี้ มีระดับสติปัญญาแบบนี้
พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นไปตามกรรมเก่ากำหนดมา
มันมาเลือกเอาโดยความชอบใจในชาตินี้ไม่ได้
มันมีทางเดียว คือต้องยอมรับตามจริงว่า มันมีอยู่แค่นี้แหละ
นี้คือจุดเริ่มต้นนะ ต้องยอมรับตามจริงตรงนี้ให้ได้

ทีนี้เพื่อที่จะพัฒนาขึ้นไป
คำว่าการแก้กรรม ผมอยากให้มองว่ามันคือการแก้นิสัย
ไม่ใช่ไปทำพิธีอะไรซักอย่างนึงเล็กๆ
คนส่วนใหญ่เวลาเนี่ย พอพูดถึงการแก้กรรมขึ้นมาเนี่ยนะ
มันไปพูดถึงพิธีอะไรเล็กๆน้อยๆ ไปสวดมนต์ ไปขอพร ไปอะไรที่มันรู้สึกว่ามันง่ายๆอ่ะ
แล้วก็รู้สึกว่า ถ้าทำพิธีแบบนั้นแบบนี้แล้ว อัปมงคลทั้งหลายจะหายไปจากตัว
ตรงนั้นเป็นความเข้าใจผิดใหญ่หลวงเลย แล้วไม่ใช่วิธีการคิดแบบพระพุทธศาสนา

วิธีการคิดแบบพระพุทธศาสนาก็คือว่า
ร่างกาย ฐานะ จิตใจอะไรต่างๆเหล่าเนี้ยเนี่ยนะ ที่มันได้มาเนี่ย
มันได้มาเพราะเป็นทายาทรับผลกรรมที่เคยทำไว้
เรายอมรับไปเลยว่า เนี่ยเราทำมาอยู่แค่นี้ นะครับ

จากการคิด ได้แค่นี้ จากการพูดได้แค่นี้ จากการทำได้แค่นี้
ถ้าหากเราจะแก้กรรมจริงๆก็คือ แก้นิสัยทางการคิด แก้นิสัยทางการพูด แก้นิสัยทางการกระทำ
ไม่ว่าคุณจะมีนิสัยทางการคิด การพูด การทำอย่างไรอยู่ ต้องปรับให้มันดีขึ้นทั้งหมด
เปลี่ยนจากมืดให้เป็นสว่างมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
นั่นแหละถึงจะเรียกว่าเป็นการแก้กรรมจริง

เพราะว่าสิ่งที่คุณทำอยู่มันให้คุณได้แค่นี้ เท่าที่คุณรู้สึกไม่พอใจอยู่นั่นแหละ
แต่ถ้าหากว่า นิสัยที่คุณเป็นอยู่ ไม่ว่าจะคิด พูด หรือทำ
คุณปรับปรุง ทำให้มันดีขึ้น ทำให้มันสว่างขึ้น
นั้นแปลว่า เป็นประกันเลยว่า คุณจะอยู่บนเส้นทางที่อัพเกรดขึ้น ยกระดับขึ้น

นะ การแก้กรรมที่ถูกต้องก็คือ เล็งเข้ามา นิสัยเสียๆอะไรที่มันมีอยู่
คุณไม่ต้องไปหาหมอดู ถามจากคนรอบตัว ให้เค้าพยากรณ์มาเลยว่า
นิสัยที่เสียที่สุดของคุณคืออะไร พอเค้าพยากรณ์มาแล้ว และคุณยอมรับได้แล้ว
ไม่ต้องไปเจ็บปวด ไม่ต้องไปเจ็บใจ
แต่มีแก่ใจที่จะทำให้มันเปลี่ยนแปลง
นั่นแหละที่เรียกว่าการแก้กรรม

แล้วถ้าหากว่าคุณแก้กรรมได้เป็นนิสัย เป็นอาจิณ
นั่นแหละ รับประกันได้เลยว่า
ไม่ต้องรอชาติหน้า ชาตินี้แหละมันจะดีขึ้นนะ หน้าตาจะดีขึ้น น้ำเสียงจะดีขึ้น
รัศมีที่ออกมาจากกาย กระแสที่มันรินออกมาจากจิต มันจะเป็นที่สบายขึ้น มีความสดใสมากขึ้นนะครับ