ถาม : ก็ใหม่ทั้งการนับถือศาสนาพุทธและก็ใหม่มากๆ เรื่องนั่งสมาธิ เพราะคิดว่าเพิ่งจะเริ่มนั่งจริงๆ จังๆ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ผมจะพยายามนั่งตอนกลางคืนเพราะว่าเป็นเวลาที่ไม่มีใครยุ่งเกี่ยว ก็จะตั้งนาฬิกาปลุกขึ้นมาตอนตีหนึ่งครึ่ง จะสวดมนต์ก่อนแล้วก็นั่งสมาธิ แต่ตอนที่นั่งกลางคืนมันรู้สึกเดี๋ยวปวดหลัง เดี๋ยวเมื่อย เดี๋ยวคัน เดี๋ยวอะไรต่างๆ
รับฟังทางยูทูบ : https://youtu.be/Mbgq7bk23ZA
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๗ การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส๙ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ ครั้งที่ ๗ การเจริญสติในชีวิตประจำวันแบบฆราวาส๙ กันยายน ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก
ดังตฤณ:
ก็นั่งเก้าอี้แบบนี้ คือถ้ายังมีความติดขัดทางร่างกาย พี่แนะนำให้นั่งเก้าอี้เพราะว่ามันก็เป็นสมาธิได้เหมือนกัน จริงๆ ที่มีความติดขัดเกี่ยวกับร่างกาย เมื่อยขบหรืออะไรก็แล้วแต่ เป็นเพราะว่าเอ็นโดรฟิน (Endorphine) มันยังไม่ได้หลั่งออกมาช่วย แต่ถ้าเรานั่งเก้าอี้จนกระทั่งคุ้น แล้วค่อยไปนั่งขัดสมาธิเพชรมันจะครบวงจรมากขึ้น
ถาม : ตอนกลางคืนผมจะนั่งครึ่งชั่วโมง ก็รู้สึกว่าไม่ค่อยสบายตัว แต่เราก็นั่ง เสร็จแล้วก็แผ่เมตตา ตื่นเช้ามาก็ไปทำภารกิจเสร็จก็จะกลับมาสวดอีกรอบหนึ่งและนั่งต่อ ช่วงเช้าจะเป็นช่วงที่นั่งแล้วสบายขึ้น เหมือนความเมื่อยมันน้อยลงและสงบขึ้น เลยไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้ซักเท่าไหร่เพราะว่ายังใหม่และพยายามอ่านหนังสืออะไรต่างๆ ไม่รู้ว่าสิ่งที่ผมทำมันถูกต้องหรือเปล่า และจะต้องเพิ่มเติมตรงไหนถึงจะสามารถบรรลุไปในเป้าหมายก็คือการบรรลุมรรคผลนิพพาน ก็พยายามหาวิธีครับ
ดังตฤณ:
อย่างเมื่อกี้ตอนนั่งสมาธิเนี่ย คือเราจะรู้สึกถึงลมหายใจได้ชัดเป็นห้วงๆ แล้วก็พอฟังๆ ไป บางครั้งบางคราวรู้สึกสว่างใช่ไหม รู้สึกเหมือนกับว่างๆ โล่งๆ
ถาม : แรกๆ จะบีบๆ
ดังตฤณ: บีบเป็นช่วงๆ ของเราคือเวลาที่ลมหายใจปรากฏชัดเนี่ย มันจะเหมือนกับมีความคิดหรือความฟุ้งซ่านมันโผล่ขึ้นมา แล้วเวลาดู..บางทีมันยังดูไม่ออกว่ามันขึ้นมาแล้วหายไปยังไง ถ้าต่อไป ไปทำด้วยตัวเอง คือสังเกตแค่ว่า ลมหายใจเข้าครั้งนี้ มันมีความรู้สึกเหมือนกับคลื่นรบกวนมันโผล่ขึ้นมาในหัว ลมหายใจออกไปคลื่นรบกวนมันเท่าเดิมหรือเปล่า หรือว่ามันหายไปจากหัว สำหรับเรา..คือสังเกตอยู่แค่นี้ถือว่าน่าจะใช้ได้ เพราะว่าเมื่อกี้นี้เราเห็นลมหายใจโดยความเป็นของที่มันแสดงความไม่เที่ยงได้ แต่ความฟุ้งซ่านมันยังเป็นตัวเราอยู่ เข้าใจพ้อยท์ไหม คือว่าความฟุ้งซ่านพอมันขึ้นมาเรายังรู้สึกว่า เนี่ย..เราคิด
ถาม : ใช่ๆๆ
ดังตฤณ:
เนี่ย..มันเป็นกลุ่มเป็นก้อนเพราะว่าของเราเป็นคนค่อนข้างจะคิดชัดเจนพอสมควร หมายถึงเวลาที่คิดเรื่องปกติอะไรอย่างเนี้ยนะ พอมันโผล่ขึ้นมาในหัวมันจะมีความชัดเจนพอสมควรในความรู้สึกแบบเก่าๆ ตอนที่เราไม่ได้นั่งสมาธิหรือว่าตอนที่เราไม่ได้ตั้งใจมาดูความเกิดดับ มันจะติดกันเป็นก้อนหรือติดกันเป็นสาย
ถาม : ทีนี้อย่างตอนผมดู พี่บอกว่าให้ดูลมหายใจเฉยๆ ใช่ไหมครับ แต่ความรู้สึกผมมันเหมือนว่าเพ่งหรือเปล่า มันเหมือนกับเราไปบังคับมัน
ดังตฤณ:
มันชัดไง คือลมหายใจของเรามันลากยาว มันลากยาวอยู่เรื่อยๆ ตอนช่วงต้นๆน่ะ ที่สบายเพราะว่าลากลมหายใจยาว แต่มันพยายามจะให้ยาวอยู่เรื่อยๆ น้องลองไปสังเกตใหม่อย่างที่พี่ว่า จริงๆ ร่างกายไม่ได้ต้องการลมหายใจยาวตลอด คือของเราตั้งอกตั้งใจ และในขณะเดียวกันเราก็พยายามผ่อนคลายตามที่พี่พูดด้วย แต่เนื่องจากมันยังจูนไม่ตรงกัน คือยังไม่คุ้น ก็มีความพยายามหลายๆ ทางพร้อมกันมันก็เลยได้ดีด้านหนึ่งและเสียอีกด้านหนึ่งนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่เราเหมือนมีความพยายามทำความเข้าใจตามไปด้วย กลายเป็นคลื่นความคิด กลายเป็นระลอกความคิดขึ้นมา แล้วพอมันมีความคิดชัดเจนมันก็กลับไปเป็นตัวเราเต็มที่
น้องลองสังเกตสิ ตอนที่เรารู้สึกถึงลมหายใจสอง-สามระลอกแรก มโนภาพของเรามันจะไม่มี มันจะเหมือนว่างๆ ไป อย่างที่คุยกัน..ว่าช่วงแรกมันมีช่วงของความรู้สึกสว่างด้วย แต่พอความคิดกลับเข้ามาปุ๊บ มันจะเป็นอีกความรู้สึกหนึ่ง มโนภาพตัวเราที่เรากำลังนั่งอยู่ หน้าตาแบบเรามันจะกลับมาปรากฏใหม่ อย่างนี้ทบทวนไป เข้าใจใช่ไหมว่ามันเกิดอะไรขึ้น
ถาม : เข้าใจครับ
ดังตฤณ:
เมื่อไปนั่งเอง แล้วเกิดภาวะอย่างนั้นขึ้นมาใหม่ ก็แค่บอกตัวเองว่า เออเนี่ย ตอนนี้ความคิดมันกลับมาปรากฏอย่างชัดเจนในหัว ระลอกลมหายใจเนี่ย..เรามีความรู้สึกเป็นตัวเรา แล้วเราก็กลับไปดูใหม่ ลมหายใจต่อไป ระลอกความรู้สึกเป็นตัวเรามันค่อยๆ เสื่อมลงหรือว่ามันยังชัดเจนเท่าเดิม คือบางทีมันไม่ได้มาในรูปความฟุ้งซ่านแบบกระวนกระวายในหัว มันมาในรูปก้อนความคิดที่ชัดเจน อย่างของน้องตอนที่มันกลับเข้ามา มันเป็นก้อนความคิดของความพยายามทำ พยายามตั้งใจให้ดี พยายามตั้งใจให้มันสงบให้มันสบาย จนกระทั่งมันกลายเป็นอาการล๊อค เฉพาะของน้องเนี่ย..สังเกตว่ามโนภาพในตัวเรามันเกิดขึ้นชัดหรือเปล่า ถ้าชัด ตรงนั้นให้สังเกตดูว่าในหัวมันรู้สึกหนักๆหรือเปล่า คำว่าหนักไม่ใช่หนักอึ้ง แต่หมายถึงว่ามันมีความเข้มข้นของกลุ่มความคิดเกิดปรากฏขึ้นมา มันแตกต่างจากตอนที่เรารู้สึกถึงลมหายใจอย่างเดียวแล้วว่างสบาย เป็นคนละความรู้สึกกัน เป็นคนละน้ำหนักกัน
ถ้าเรารู้สึกถึงความแตกต่างได้ อันนั้นแหละ..คือเรียกว่าดูเป็นแล้ว ดูความแตกต่างเป็น เมื่อดูความแตกต่างได้ว่า เออ ตอนน้ำหนักความคิดมันเข้มข้นขึ้นมา กับตอนที่มันเบาบางหรือสลายตัวไป เราจะค่อยๆจับสังเกต แต่ละระลอกลมหายใจมันไม่เหมือนกัน การปรุงแต่งไม่เหมือนกัน บางครั้งก็ไม่มีความรู้สึกถึงมโนภาพของตัวตนเลยหรือว่าไม่มีความคิดในหัวเลย แต่บางครั้งมันก็มีอาการที่ปรุงแต่งขึ้นมา มีความเข้มข้นของกลุ่มความคิดในหัว ตอนแรกๆ มันจะรู้สึกว่าภาวะสองภาวะแตกต่างกัน แต่พอมีความคุ้นคือพูดง่ายๆ ว่าสมาธิของเราอยู่ตัว สติของเรามีความเข้มแข็งมากขึ้น มันจะเห็นเลยว่าตอนที่เกิดความคิด ก่อความคิดขึ้นมาในหัว ก็ตอนที่เราไมได้รู้สึกถึงลมหายใจ แต่ไปรู้สึกอยากจะคิดหรืออยากจะกลับมาเป็นตัวเราใหม่
ถาม : อย่างนี้ถ้าเรานึกออกปุ๊บ เราตัดไปที่ลมหายใจเลยได้ไหม
ดังตฤณ:
ไม่ใช่ๆ ไม่ใช่ตัดไปที่ลมหายใจนะ หลักการของอานาปานสติจริงๆ ตอนแรกเราพยายามสร้างความคุ้นเคยกับลมเข้า-ลมออก สังเกตมันว่า เดี๋ยวก็เข้าเดี๋ยวก็ออก เดี๋ยวก็ยาวเดี๋ยวก็สั้น จนกระทั่งมันมีความคุ้นจริงๆ และจิตมีความเป็นผู้ดู ผู้สังเกตการณ์อย่างเดียว แต่ต่อมาเมื่อเรามีความคุ้น มีความรู้สึกเกี่ยวกับลมหายใจชัดเจนดีแล้ว ควรจะอาศัยลมหายใจเป็นเครื่องสังเกต คือเราแค่บอกตัวเองว่าในขณะที่หายใจเข้าอย่างนี้ เกิดภาวะแบบไหนขึ้นมา ของเราเนี่ย..ถ้าตั้งต้นได้แล้ว รู้สึกถึงลมหายใจได้แล้ว คือไม่ต้องไปพยายามจับให้มั่นคั้นให้ตาย ของเราจะเป็นแบบนี้ไง คือจิตมันเหมือนจะจับให้อยู่ เหมือนจะเอาให้ชัด เพราะวิธีคิดที่ผ่านมามันเป็นประเภทถ้าไม่ชัดมันไม่ยอมหยุด มันไม่ยอมเลิกราที่จะหาความชัดเจน รู้สึกใช่ไหม ถึงความเป็นคนที่จะไม่ยอมหยุด
ถาม : พยายามที่จะให้เห็นลมหายใจอยู่ตลอดเวลา
ดังตฤณ:
การพยายามมันมีข้อดี ทำให้เราไม่วอกแวกง่าย แต่มันมีข้อเสีย..ตรงที่ว่าใจมันจะมีอาการยึดแบบจับให้มั่นคั้นให้ตาย ซึ่งพอความคิดมันก่อตัวขึ้นมา แม้กระทั่งความฟุ้งซ่านเล็กๆน้อยๆ ก็ทำให้มโนภาพของเรามันกลับมาเต็มได้ อัตตาของเรามันกลับมาเต็มได้ ที่พี่บอกว่าอย่ากลับไปพยายามดูแบบจับลมหายใจให้ได้ ก็เพราะว่าอาการของเรา พอกลับไปที่ลมหายใจมันจะไปบังคับเอาให้ได้อย่างใจ เป็นลมหายใจยาว เป็นลมหายใจที่ชัด เป็นลมหายใจที่เราแน่ใจว่า เออเนี่ย..มันจะไม่หายไปไหน ตัวนี้แค่สังเกตก็พอ ว่าในอาการนั้น ลมหายใจนั้นเนี่ย เรามีอาการพยายามอยู่แค่ไหน
เอ้อ..เนี่ยอย่างนี้ดี เมื่อกี้ที่หายใจ แล้วเรารู้สึกเฉยๆ ว่ามันหายใจเข้าหายใจออก เห็นไหม มโนภาพเกี่ยวกับตัวตนหรือว่ากลุ่มก้อนความคิดมันไม่ได้หนาแน่น เออ..อย่างนี้ใช้ได้ ที่มันจะต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
ถาม : เวลาคิดปุ๊บ ลมหายใจหายไปเลย
ดังตฤณ:
ใช่ สังเกตแบบนี้นะ ว่ามันแตกต่างกันยังไง ตอนที่กลุ่มความคิดมันกลับมาหนาแน่นกับตอนที่มันสลายตัวไป แล้วเหลือแต่ความรู้โดยไม่มีอาการพยายามจับให้มั่นคั้นให้ตาย อย่างนี้ดี
ถาม : มาถูกทางแล้วใช่ไหมครับ
ดังตฤณ:
ใช่ๆ คือเริ่มต้นอย่างนี้ มันจะเริ่มไม่อยาก เพราะว่าตอนแรกขึ้นมามันควรจะอยากอยู่หรอก อยากได้มรรคผล อยากได้ฌาน อยากได้สมาธิ อย่างโน้นอย่างนี้ เพราะถ้าไม่มีความอยากมันก็ไม่รู้จะทำยังไง แต่พอมาเริ่มฝึกจริงๆเนี่ย คือเราต้องสังเกตเห็นว่าตัวความอยากนั่นแหละ มันเป็นต้นเหตุของความยึดมั่นถือมั่น มันเป็นต้นเหตุของอุปาทานว่าเราจะเอานั่นเอานี่ มรรคผลที่แท้จริงไม่ใช่ได้นั่นได้นี่ แต่ทิ้งทุกอย่างทั้งหมดที่มันยึดอยู่ว่าเป็นตัวเรา เป็นของเราหรือเกี่ยวเนื่องอยู่กับเรา นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่จิตมันจะเริ่มไม่เอา เนี่ย..เห็นไหม มันไม่ได้จะเอาอะไร เห็นไหมก้อนความคิดมันเหมือนหายไป มันเหมือนกับไม่มีอิทธิพลที่จะทำให้ใจเราไปยึดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งแรงเกินไป มันแค่มีความคาดหวังอยู่เป็นระลอกๆ ทุกลมหายใจมีแค่ความคาดหวังว่าเราจะรู้ เราจะดูตามที่มันเป็น เนี่ย…ตอนนี้มันเริ่มหลุด ที่หลุดนี่คือมันเริ่มเหมือนกับมีอะไรที่มันคลุกคลิกๆอยู่ในหัว รู้สึกได้ไหม รู้สึกใช่ไหม
ถาม : ครับ
ดังตฤณ:
อ่าเนี่ย คือพอเรารู้ถึงอาการคลุกคลิกๆอยู่ในหัว แล้วเหมือนกับไม่ได้ทำอะไร แค่ลมหายใจนี้เรายอมรับที่มันเห็นว่าหายไป ตัวนี้แหละ..ลักษณะของความไม่เที่ยงนี่มันกำลังแสดงตัว มันแสดงตัวอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก เราแค่เอาลมหายใจเข้าออกเป็นเครื่องตั้งในการสังเกต ไม่ใช่ว่าเราจะไปยึดลมหายใจให้ชัดเจนอยู่ตลอดเวลา อันนี้คือหลักของอานาปานสติที่แท้จริง
ถาม : มีแนะนำอะไรเพิ่มเติมไหมครับ
ดังตฤณ:
ตรงนี้แหละ..คือถ้าทำได้อย่างนี้มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดแล้ว ทีนี้ก็สังเกตเอาเองว่าในแต่ละลมหายใจมีภาวะอื่นภาวะใดภายในขอบเขตกายใจให้ดูอีก
ถาม : คือถ้ากลางคืนผมตื่นขึ้นมาแล้ว ผมสามารถนั่งพิงได้ใช่ไหมครับ
ดังตฤณ:
ได้ ตราบใดที่เรายังรู้สึกอยู่ว่ามันเป็นอิริยาบถที่เป็นปัจจุบันจริงๆ เป็นลมหายใจที่เป็นปัจจุบันจริงๆ มันใช้ทำสมาธิได้หมดแหละ ไม่ว่าจะนั่งในท่าไหน เท่าที่พี่พบมาหลายคนไปติดอุปสรรคอยู่ตรงนี้ คือพยายามเอาท่านั่ง ไม่ได้พยายามเอาลักษณะจิตที่พร้อมจะเป็นสมาธิ บางคนทำเป็นสิบปี ทำแล้วเลิก ทำแล้วเลิกก็เพราะว่ามาติดเรื่องท่านั่งนี่แหละ มันมีความเมื่อยขบมันมีอะไร ถ้าเรานั่งเก้าอี้แบบสบายๆ จนกระทั่งเกิดสมาธิได้แล้ว มันรู้สึกเหมือนกับมีความสุข มีปีติ ตรงนี้มันจะไม่เมื่อยขบ แล้วกลับไปนั่งสมาธิเพชรอีกทีหนึ่งจะรู้สึกสบายขึ้น จะรู้สึกว่ามันไม่มีความทรมาน ไม่ได้เอาตัวมาทรมานเปล่า แล้วก็เวลานั่งไปก็จะเกิดความรู้สึกว่า เออ ตอนนั่งขัดสมาธิเพชรความรัดกุมหรือว่าพลังที่โคจรอยู่ทั่งร่างเนี่ย มันแน่นกว่า มันหนาแน่นกว่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น