วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ถ้าในขณะที่กำลังจะตาย เกิดความห่วง ต้องไปเกิดเป็นอะไร


ถาม: ถ้าในขณะที่กำลังจะตาย เกิดความห่วงพ่อแม่ ห่วงลูก จะต้องไปเกิดเป็นอะไร?

https://www.youtube.com/watch?v=Wu5w0GHxGFE&t=160s
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน "ธรรมะแค่ไหนไม่กลัวตาย?"
26 พฤษภาคม 2561

ดังตฤณ: ถ้าในขณะที่กำลังจะตาย เกิดความห่วงพ่อ ห่วงแม่ ห่วงลูก จะต้องไปเกิดเป็นอะไร
อย่างที่บอกไปนะในช่วงต้นรายการนะครับ ใจผูกอยู่กับใคร ส่วนใหญ่ ความห่วงในช่วงท้ายๆ นี่ก็จะเป็นโซ่ตรวนผูกยึดเราไว้ให้ต้องอยู่กับพวกเขาต่อ จิตวิญญาณที่มีความห่วง มีความอาลัย คือจิตวิญญาณที่สร้างกรรมไว้ในแบบที่จะต้องมาอยู่ใกล้ๆ แต่ใกล้ในฐานะที่เขาไม่ได้เห็นหน้าเราแล้ว เรามีสิทธิ์เห็นหน้าได้อย่างเดียว มันทรมานนะ

คือความห่วง ความอาลัย ถ้ามาก เหนียวแน่นขนาดที่ปรุงแต่งให้เกิดอกุศล คือทำให้เศร้าหมองได้ ส่วนใหญ่นะ ก็ไปไม่ไกล จะอยู่แถวๆนี้แหละ อยู่บ้านเดิมนี่แหละ ขอให้นึกถึงตอนที่เราหลับฝัน เวลาที่เราฝันถึงเรื่องหนึ่งที่เรารู้สึกยึดติดมาก รู้สึกรักมาก หรือว่ากลัวมาก ใจจะดิ้นไปไม่ได้ จะอยู่กับภาพอะไรแบบหนึ่ง ภาพเดิมๆ ภาพซ้ำๆ นั่นแหละ คล้ายๆ แบบนั้น คือเราจะเห็น เห็นหมด เห็นทุกอย่าง เท่าที่ตามนุษย์เห็น เท่าที่หูมนุษย์ได้ยิน หรืออาจมากกว่านั้น น้อยกว่านั้น บวกลบนิดหน่อย แต่ว่าจะเลือกไม่ได้นะ ว่าเราจะเห็นอะไร เมื่อไหร่ หรือไม่เห็นอะไร หนีจากสิ่งนั้นได้มั้ย

อย่างเป็นมนุษย์อยู่นี่ ถ้าไม่พอใจ เดินหนีไป วิ่งหนีไปยังได้ วิ่งหนีนี่ก็คือการแสดงนิมิตของจิตว่า อยากออกห่างไปอย่างรวดเร็ว แต่จิตที่มีความผูกมัดอยู่กับบุคคลอันเป็นที่รัก หรืออยู่ในโลกเก่าๆ มันวิ่งไม่ได้นะ หนีไม่ได้ ไม่อยากเห็นก็ต้องเห็น บางทีนี่บุคคลอันเป็นที่รัก เขามีกรรมในแบบของเขาที่จะต้องเสวย ที่จะต้องรับผล บางทีเป็นกรรมไม่ดี เราไม่อยากเห็นก็ต้องเห็น เขาเป็นทุกข์ เขาร้องห่มร้องไห้ เราอยากปลอบ ปลอบไม่ได้ ไม่อยากเห็นแล้วก็ต้องเห็นอีก ยังต้องเห็นอีกอยู่ดี

ถึงบอกว่าถ้าก่อนตาย ไปผูกพันกับใครแล้วทิ้งไปไม่ได้นี่ เป็นความผูกมัดที่สูญเปล่าเลยนะ ผมเคยให้คำแนะนำไว้ว่า ตอนมีชีวิตอยู่อยากทำอะไรดีๆ ทำให้เต็มที่ ทำให้มากที่สุด รับผิดชอบให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ตอนจะตาย ให้เลิกรักหรือชอบเสีย ให้คิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของเราแล้ว พ้นจากความสามารถที่เราจะไปรับผิดชอบอะไรแล้ว ให้คิดอย่างเดียวเลยว่าไม่เอาแล้ว

ขณะยังมีชีวิตทำให้ดีที่สุด ขณะจะตาย ปล่อยให้ได้มากที่สุด ให้มันกลายเป็นความเห็นไป เห็นสิ่งที่ควรจะเห็นก่อนตาย ก็คือว่า ที่ผ่านมาทั้งหมด คือฝันไปทั้งสิ้น

ลองนึกดูถึงชั่วคืนที่ผ่านมา ถ้าหากว่าใครจำความฝันของตัวเองได้ชัด จะชัดแค่ไหนก็ตาม ก็กลายเป็นแค่ “ภาพที่เลื่อนลอย” เป็นนิมิตที่หายไป แล้วหยิบจับอะไรนี่มาใช้อีกไม่ได้แล้ว เหมือนกับแบบนั้น เหมือนกัน ก่อนชีวิตจะสิ้น มันระลึกถึงชีวิตทั้งชีวิตที่ผ่านมา ไม่ต่างอะไรจากความฝัน เอาไปไม่ได้อีกแล้ว หยิบจับอะไร จับต้องอะไรไม่ได้แล้ว ถึงมีมืออยู่บางทีมือหมดแรงแล้วที่จะไปจับ ที่จะไปยึด เหลือแต่ใจที่ยังคงจับยึดอยู่อย่างสูญเปล่า

สรุปคือ ถ้ายังยึดมั่น ถือมั่นอยู่กับพ่อแม่ลูกอันเป็นที่รัก นั่นคือความเสี่ยงที่จะเราจะกลายมาเป็นจิตวิญญาณที่ยังวนเวียนอยู่แถวนี้ ที่เดิม ทั้งๆที่ควรจะไปดีได้
แต่บางคนก็มีนะ คือจิตยังหวง ยังห่วง ยังอาลัย แต่ท้ายๆนี่ คือบุญที่ทำมาทั้งชีวิต มีเกิน ชนะความยึดติดความอาลัยตรงนั้น ตัดฉัวะ ให้จิตขาดไปพร้อมนิมิตดีๆ แล้วก็ คือลืมความทรงจำเก่าๆ ถูกล้าง จะมีช่วงล้าง ช่วงภวังค์ เป็นภวังค์แบบพิเศษที่ไม่ได้เกิดขึ้นขณะมีชีวิตเป็นภวังค์ที่ล้างความทรงจำเดิมๆ ว่าตัวเองเคยเป็นใครมานะ ภวังค์ตรงนั้นถ้าหากว่าเนรมิตขึ้นมาจากบุญ กองบุญที่ใหญ่เกินความอาลัย ก็สามารถที่จะตัดความผูกมัด หรือว่าสายโซ่ระหว่างจิตกับโลกเดิมได้ ก็มีสิทธิ์ไปดีได้เหมือนกัน แต่แบบนั้นนี่ คือต้องทำบุญทุกวันจริงๆ แล้วก็ทำบุญในขณะที่ใจมีความผูกพัน มีความชื่นชม พูดง่ายๆ ว่าสวรรค์ติดตั้งไว้ในจิตเรียบร้อยแล้ว พร้อมแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ใช่แบบนั้น 

คนส่วนใหญ่ถ้ามีความยึดติด มีความอาลัย มีความผูกติดกับบุคคลแล้วนี่ ก็จะอารมณ์ขึ้น อารมณ์ลง กับบุคคลเหล่านั้นแหละ พูดง่ายๆ ถ้าจิตของเราถูกปรุงแต่งด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลที่ใกล้ชิดได้มากๆ มีความเซนซิทิฟ (sensitive) มีความอ่อนไหว เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย นี่ตัวนี้ ที่จะเป็นตัวเสี่ยง เวลาจะตายถ้าไปผูกพันกับบุคคล มักจะถ่วงให้ต้องติดอยู่ข้างล่าง ติดอยู่กับพื้นดิน ไม่ขึ้นสูง ลอยขึ้นพ้นบรรยากาศโลกไม่ได้นะ ฉะนั้นคือตัดความเสี่ยงออกให้หมด อย่าให้มีความยึดติดที่สูญเปล่า มีความผูกมัดที่ไร้ผล ที่ไร้ประโยชน์นะ ซ้อมไว้ ลองย้อนกลับไปดูตั้งแต่ต้นรายการ ผมพูดถึงประเด็นนี้ว่าเวลาจะซ้อม ถ้าจะให้เป็นมรณสติจริงๆ เรานึกไม่ออกว่าทำกันยังไง ให้ดู สังเกตดูว่าใจเรานี่ทิ้งใครได้บ้าง หรือทิ้งใครไม่ได้บ้างนะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น