วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ทำไมคนที่ปฏิบัติธรรมถึงยังมีรักซ้อนได้


ดังตฤณ : เพิ่งอ่านทางนฤพานไปแล้วมีความสงสัยว่า ทำไมคนที่ปฏิบัติธรรมอย่างเกาทัณฑ์ยังสามารถที่จะรักคน ๒ คนได้พร้อมๆกัน เข้าใจว่าเป็นบุพกรรมที่ผูกกันมากับทั้งสองคน แต่มันจะไม่มีความยับยั้งชั่งใจ (ไม่ให้เกิดรักซ้อนหรือ) ?

คือ ผมเขียนถึงจุดนี้นี่นะ จริงๆแล้ว จะบอกเลยว่า ... ตั้งใจบอกเลยด้วยซ้ำว่า “คนที่ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่พระอรหันต์” นะครับ
คนที่ปฏิบัติธรรมเนี่ย เห็นมั้ย อย่างเกาฑัณฑ์ หรือตัวละครที่ผมยกขึ้นมาแต่ละตัวนี่ มีกิเลส เป็นคนธรรมดาๆ แบบนี้แหละ คือการที่ปฏิบัติธรรม ไม่ได้มีหลักประกันอะไรเลยนะ ว่าคนเราจะทำหรือไม่ทำอะไรบ้าง เว้นแต่ว่าจะได้ตั้งใจที่จะรักษาศีล

อย่างในเรื่องทางนฤพานนี่ ผมอาจจะใช้เทคนิคทางภาษานิดหนึ่ง เจาะลึกลงไปในรายละเอียดความคิดในหัวของคน เลยดูเป็นจริงเป็นจัง แต่จริงๆ แล้วนี่ ก็คือมนุษย์ธรรมดานี่แหละนะ ถ้าเรามองเห็นนะครับว่าเราคิดอะไรได้บ้าง เราสามารถที่จะทำผิด ทำพลาดอะไรได้บ้างนี่ เราจะเข้าใจว่าคนปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะช่วงเริ่มต้น ไม่ได้หมายความว่าจะทำอะไรที่ถูกต้องได้เสมอไป

อย่างพูดถึงตัวละครในนิยายนี่ ยังไม่ได้ทำผิดอะไรที่เป็นบาป ผิดลูกผิดเมียใครนะ หรือว่าแม้กระทั่งมีอะไรลึกซึ้งกับนางเอกทั้งสองนี่ ก็ยังไม่ได้เกิดขึ้นนะ

อยากให้มองว่า พออ่านนิยายแล้ว จริงๆ อยากให้มองย้อนกลับมาว่า เรามีความตั้งใจที่จะปฏิบัติธรรมไปเพื่ออะไร แล้วเรามีความสามารถที่จะยับยั้งชั่งใจ ห้ามใจอะไรได้แค่ไหน นะ

ในความเป็นจริงแล้ว คนที่เริ่มปฏิบัติธรรม คือคนที่เริ่มต่อสู้กับกิเลสของตัวเอง ไม่ใช่คนที่สามารถเอาชนะกิเลสของตัวเองได้ทันที ซึ่งถ้าเรามองอย่างนี้ เราจะได้ไม่ตั้งมุมมองหรือว่าตั้งความหวัง ไว้กับคนปฏิบัติธรรมแบบผิดๆ นะ ว่าถ้าปฏิบัติธรรมนี่ ต้องทำนู่น ต้องทำนี่ได้ทันที คือเราจะไม่แปะป้ายว่าผู้ปฏิบัติธรรม คือผู้ที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่ผู้ปฏิบัติธรรม คือผู้ที่แต่ละคน สู้กับกิเลสของตัวเองได้มากหรือน้อยแค่ไหน

ถ้าหากว่า เรามองอย่างนี้ เข้าใจถูกตั้งแต่ต้นแล้วมองเห็นว่า ตัวเราเองก็เช่นกัน ตั้งต้นที่จะปฏิบัติธรรม เริ่มต้นขึ้นมาเลยนี่ ไม่ใช่ไปคาดคั้นกับตัวเองว่า จะต้องไม่คิดอย่างนั้น ไม่คิดอย่างนี้ ก่อนอื่น ให้มีความสามารถที่จะยับยั้งชั่งใจ เรื่องของศีลห้า ให้ได้ก่อน ถ้าศีลห้าข้อไหนบางทีนี่ขาดทะลุไป ก็ไม่ต้องไปถึงขนาดตีอกชกหัว หรือว่าร่ำร้องจะเป็นจะตายว่า เอ๊ย เนี่ย ผิดไปแล้ว เป็นบาปมหันต์ไปแล้ว แล้วก็ไม่สามารถที่จะไปสู้หน้าใครได้อีกว่า ฉันเป็นคนปฏิบัติธรรม คนเราพลาดกันได้ เพราะเราปฏิบัติธรรมเพื่อที่จะต่อสู้กิเลสตัวเอง ไม่ใช่ปฏิบัติธรรมเพื่อที่จะรับประกันว่า ฉันจะไม่พลาดอีกเลย

อันนี้ก็จะได้ให้อภัยตัวเอง แล้วก้าวต่อ คือไม่ใช่อภัยตัวเองเพื่อที่จะเป็นข้ออ้างในการทำผิดครั้งต่อๆ ไป แต่เป็นการให้อภัยตัวเองเพื่อที่จะไปต่อให้ได้ คือพลาดไปแล้ว ตั้งใจว่าจะไม่ทำผิดอีก แล้วก็มีความเข้าแข็งที่จะผ่านแบบฝึกหัดครั้งต่อไปให้ได้ อันนี้แหละที่จะเป็นพอยต์ (point) จริงๆ นะ!

----------------------------------------------------------



รายการ ปฏิบัติธรรมที่บ้าน คำถาม-คำตอบ
วันที่ 10 มีนาคม 2561



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น