วันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2561

พบคนกำลังทำผิดศีล แล้วนิ่งเฉย จะมีวิบากหรือไม่



ถาม : หากคนอื่นกำลังทำผิดศีล การที่เราไม่พยายามทำอะไร จะทำให้ตัวเรามีวิบากอะไรไหมครับ?

ดังตฤณ : เรียกว่าเป็นการดูดายก็ได้นะครับ อย่างพระพุทธเจ้าท่านก็บัญญัติพระวินัยไว้ข้อหนึ่ง บอกว่า ถ้าเห็นภิกษุอื่น ทำอาบัติ ต้องอาบัติแล้วไม่เตือน เราพลอยติดอาบัติไปด้วย แต่ไม่ได้อาบัติเท่าเขา แต่เป็นอาบัติทุกกฏ แปลว่าอาบัติเล็กๆ น้อยๆ ที่ยอมๆ ได้อภัยได้ เพียงด้วยการกล่าวแก้ กล่าวประกาศให้คนอื่นรู้ว่า เราผิดวินัยข้อนี้ไปนะครับ นี้เป็นเรื่องของพระ

แต่เรื่องของพระก็เป็นแบบอย่างได้ แสดงให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าโดยแนวทางของพุทธ ไม่อยากให้มีการดูดาย

เวลาเราเห็นคนอื่นกำลังเดือดร้อน คนอื่นจมน้ำ เรากระโดดลงไปช่วย หรือว่า เอาห่วงยางโยนลงไปเพื่อให้เขาตะเกียกตะกายขึ้นมาได้ ให้รอด แต่เวลาคนกำลังจะผิดศีล หรือ สร้างความเดือดร้อนให้จิตวิญญาณของตัวเอง สร้างความเดือดร้อนเป็นภัย ให้กับโลกภายนอกอย่างไม่จำกัด แล้วเราไม่พยายามทำอะไรให้ดีขึ้น ก็จะรู้สึกอยู่ว่า อย่างนี้เราดูดายไป

ทีนี้ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า พระพุทธเจ้าท่านเคยตรัสไว้อีกข้อหนึ่งคือว่า ถ้าพูดแล้วเห็นว่ามีประโยชน์ อันนั้นควรพูด แต่ถ้าพูดแล้วรู้สึกว่า ไม่มีประโยชน์ อย่าไปพูดเลย ฉะนั้นตรงนี้เอาเข้ามารวมด้วย คือว่า เราไม่ดูดายแล้ว เราตั้งจิตไว้ ตั้งทิศทางไว้ว่า จะช่วยให้คนที่เขากำลังจะทำความผิดพลาดทางวิญญาณ เราตั้งใจช่วยเขา แต่จะช่วยแล้วได้ประโยชน์อะไรมั้ย ถ้าช่วยแล้วได้ประโยชน์ พูดหรือว่าแสดงท่าที ภาษากายอะไรต่างๆ แล้วจะเกิดประโยชน์ขึ้นมา เอาเลย ช่วยเลย

แต่ถ้าพิจารณาแล้ว ช่วยแล้วยิ่งแย่หนักขึ้นกว่าเดิม เขาจะโมโห เขาจะเกิดทิฐิมานะ ยกตัวอย่างเช่น คนเป็นพ่อเป็นแม่ หรือว่าเป็นญาติที่อาวุโสกว่าเรา ธรรมดาเวลาทำผิดอะไร เขาจะมีอัตตาของเขา มากั้นเป็นกำแพงหนาๆ ไม่อยากให้ใครมาเตือน ยิ่งลูกหลาน ยิ่งคนที่อาวุโสน้อยกว่ายิ่งแล้วใหญ่เลยนะครับ ก็จะมีความยาก

ถ้าหากว่าเราพิจารณาว่าพูดไปเดี๋ยวนั้นแล้วไม่เกิดประโยชน์เราพักไว้ก่อนนะ คือไม่ใช่ต้อง โอ๊ย ไม่ได้สิ กำลังทำผิด ถ้าเราไม่เตือนเดี๋ยวจะเป็นการดูดาย เป็นการติดเวรติดกรรมไป อะไรต่างๆ อย่าไปเร่งร้อนขนาดนั้น ให้รอจังหวะได้ การช่วยมีหลายจังหวะ

หรือถ้าหากว่าจะกี่จังหวะก็ตาม เรามีความรู้สึกว่ามันพ้นขอบเขตความสามารถที่จะไปช่วยเขา ก็อาจดึงความสามารถของคนอื่นที่เหนือกว่าเขา หรือว่าเป็นที่ยอมรับนับถือของเขามาตักเตือนแทน หรือถ้าหากว่าไม่มีเลย ในโลกนี้เขาไม่เอาใครเลย ไม่สนใจนับถือ หรือว่าให้การยอมรับใครเลย ไม่มีการมาให้เกียรติใครทั้งสิ้น นอกจากเกียรติของตัวเอง อัตตาของตัวเอง ถ้ากรณีนี้ก็สามารถที่จะ “อุเบกขา” คือ เราตั้งจิตไว้ก่อน เป็นเมตตา กรุณา แล้วก็มุทิตา คือมีความอยากให้เขาได้ดี แล้วก็ลงมือช่วย กรุณาอนุเคราะห์ด้วยการลงมือเต็มที่ แล้วก็มีจิตพร้อมจะยินดี ถ้าหากว่าเขาได้ดีตาม แต่ถ้าหากทำมาทั้งหมดแล้ว หรือพิจารณาว่า กำลังเมตตา กรุณา กับมุทิตาของเรา ไม่เพียงพอที่จะไปช่วยอะไรเขาได้ ก็ต้องอุเบกขา คือ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

คำว่าอุเบกขา ไม่ใช่อยู่ๆ ขึ้นต้นมาดูดายนะ แบบนั้นไม่ใช่พรหมวิหารนะ ไม่ใช่อุเบกขาที่มีเมตตานำ แต่เป็นอุเบกขาชนิดที่มีใจจืดชืด ใจดำ ใจร้ายใจดำ เป็นตัวนำเป็นที่ตั้ง อุเบกขาที่ถูกต้อง ต้องผ่านการพยายามมาแล้ว เมตตาช่วยเหลือแล้ว ถ้าไม่สำเร็จก็ค่อยพิจารณาว่า เป็นเรื่องของสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ต่อให้เป็นญาติ ต่อให้เป็นพ่อแม่ ต่อให้เป็นบุคคลอันเป็นที่รักของเรา ถึงแม้ว่าจะรักขนาดไหน แสนรักขนาดไหน เราก็จำเป็นต้องมีอุเบกขา แล้วก็ระลึกถึงข้อเท็จจริงว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปห้ามญาติไม่ให้ฆ่ากันถึงสามรอบ รอบที่สี่ยังยกทัพมาอีก ท่านก็บอก สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม เห็นมั้ย พระองค์นำเป็นแบบอย่างไว้ก่อนแล้ว ถึงแม้พระองค์จะมีพระญาณ รู้อยู่ทั้งรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่พระองค์ก็พยายาม ที่จะช่วยก่อน แล้วช่วยไม่ได้ ท่านถึงอุเบกขา ตัวนี้นะครับ


ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน จิตรวม vs จิตค้าง
13 ตุลาคม 2561
.. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
▶▶ คำถามช่วง – ถามตอบ ◀◀

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น