วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

วิปัสสนานุบาล EP 101 (เกริ่นนำ) เข้าใจความกลัวที่เกิดจากประสบการณ์ทางจิต - 25 มีนาคม 2565

EP 101 | ศุกร์ 25 มีนาคม 2565

เกริ่นนำ – เข้าใจความกลัวที่เกิดจากประสบการณ์ทางจิต

 

พี่ตุลย์ : หลายคนบอกว่าพอปฏิบัติ

แล้วมีความรู้สึกหนึ่งขึ้นมาระหว่างวัน

 

คือว่าแต่ละวันนี่ไม่เหมือนกัน บางวัน มีความรู้สึกราวกับว่า

ติดผลของการปฏิบัติ ที่เกิดขึ้นในระหว่างนั่งสมาธิ หรือเดินจงกรม

ไปอยู่ในระหว่างวันด้วย

 

ตัวอย่างเช่น มีความรู้สึกราวกับว่า กายนี้คือธาตุดินอยู่เรื่อยๆ นะ

แล้วพอใครผ่านมาผ่านไป บางทีตกใจ

เอ๊ะ! ทําไมมีความรู้สึกเป็นจริงเป็นจังมาก ว่านี้กายนี้กั บกายของเขานี้

เป็นอะไรทื่อๆ เป็นหุ่นกระบอก เป็นโพรงไม้เป็นตุ๊กตา

เป็นอะไรที่เคยได้เห็นแวบๆ ในทางเดินจงกรม

แต่ว่าอยู่ๆ ปรากฏชัดขึ้นมา

 

อันนี้ ก็ทําความเข้าใจไว้นิดหนึ่ง ว่าแต่ละวันไม่เหมือนกัน

แล้วถ้าวันไหน จับพลัดจับผลู

จิตมีอาการรวม จิตมีอาการที่ผ่องใส แผ่ออก   

แล้วก็มีความรับรู้กายนี้ โดยความเป็นธาตุดินอย่างชัดเจน  

แล้วก็พลอยเห็นร่างของคนอื่น กลายเป็นธาตุดินไปด้วย

 

จะเป็นประสบการณ์ที่แปลกประหลาด

ไม่เหมือนกับตอนที่คุยกันในไลฟ์ว่า เห็นเป็นธาตุดินๆ อย่างนี้

 

ตอนที่เรายังไม่เคยมีประสบการณ์ เห็นเป็นธาตุดินจริงๆ 

จะมีแค่ความรู้สึกรางๆ ว่า กายนี้เป็นอะไรทื่อๆ

เป็นวัตถุ เสมอกับวัตถุอื่นๆ

 

แต่พอจิตเต็มดวงขึ้นมา จิตมีอาการที่แผ่ออก

รู้เรา รู้เขา โดยไม่มีการเทียบเขาเทียบเรา

มีแต่อาการ เทียบธาตุหก กับธาตุหก

มีแต่อาการ เทียบขันธ์ห้า กับขันธ์ห้า

 

ประสบการณ์แรกๆ จะทําให้เกิดอาการตื่นตะลึง

หรือว่ากระทั่งหวาดกลัว ในบางคนที่ไม่ได้เตรียมใจไว้ก่อน

 

เหมือนกับย้ายไปอยู่อีกโลกหนึ่ง

ทั้งๆ ที่อยู่กับฉากสถานการณ์ หรือว่ามีรูปทรงสีสันอะไรเหมือนเดิม

เหมือนกับ ที่รับรู้มาทั้งชีวิต แต่พอจิตต่างไป เหมือนย้ายไปอยู่อีกมิติ

ที่ความจำได้หมายรู้ ความจดจํา ความสําคัญมั่นหมายนี่

พลิกเปลี่ยน จากเดิมที่มีตัวฉันแน่ ๆ  มีตัวเธอแน่ ๆ

กลายเป็นไม่มีตัวใครอยู่ที่ไหนสักแห่ง 

 

นี่ ตรงนี้ ก็เกิดความ ..

บางที พอตระหนกเสร็จ แล้วก็อาจจะมีความรู้สึกขึ้นมา สงสัยว่า

เอ๊ะ! แบบนี้เรียกว่าบรรลุมรรคผลหรือเปล่า 

เอ๊ะ! นี่เป็นการเห็นสภาวะ เห็นธาตุหก

โดยความเป็นของที่ไม่มีตัวใคร ไม่มีบุคคล

อย่างนี้ ก็น่าจะเข้าข่ายแล้วกระมัง

 

ลักษณะของจิตที่มีความตั้งมั่น

รับรู้กายโดยความเป็นวัตถุ ในบางวันนี่

เป็นจิตที่พูดง่ายๆ ว่า มีสมาธิ

แล้วก็เห็นกายใจโดยความเป็นธาตุหก

 

ซึ่งแน่นอน อยู่ในทิศทางที่จะคืบหน้าเข้าหามรรคผล

แต่ยังไม่ใช่มรรคผลนะ

 

แล้วถ้าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรามีข้อสังเกตได้ว่า

จิตที่มีอาการเห็นแบบนั้น รู้แบบนั้น ไม่ได้คงเส้นคงวา 

วันหนึ่งเกิดขึ้นเอง

อีกวันหนึ่งพยายามทําอย่างไร ก็กลับไปเห็นแบบนั้นไม่ได้ 

พยายามรวมจิตเข้าไปแบบเดิม ไม่ได้นะ

 

นี่ คนก็จะเกิดความสงสัยว่า เอ๊ะ.. แบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

แล้วจะทําอย่างไร ให้เกิดขึ้นได้บ่อยๆ

 

ตรงนี้ เรามาทําความเข้าใจร่วมกันนะครับ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พอหลายๆ ท่านเริ่มมีประสบการณ์ 

หลับตาเดินจงกรมได้ แล้วรู้สึกว่า เหมือนวัตถุนี้เด้งไปเด้งมา

เหมือนผนังด้านหนึ่ง กับผนังอีกด้านหนึ่ง เป็นไม้แบต

ที่ตีลูกแบตนี้ ให้กระดอนไปกระดอนมา

ไม้เทนนิสที่ (ร่าง) นี่เหมือนลูกกลม ที่เด้งไปเด้งมาอย่างนี้นะ 

มีความรับรู้ชัดเจน ตรงนั้นน่ะเป็น.. เขาเรียกว่า การสร้างสัญญาชนิดหนึ่ง

 

คําว่า สัญญา ในทางพุทธ หมายถึงการจําได้หมายรู้

การที่จิตมีความสําคัญมั่นหมาย

ยึดติดว่าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ชื่อนั้น ชื่อนี้

อย่างที่เรายึดติดโดยธรรมชาติ ก็จะมีความรู้สึกว่า

กายนี้ใจนี้ เป็นตัวของเรา 

นี่เรียกว่า อัตตสัญญา 

 

เมื่อเดินจงกรมเป็น  รู้สึกราวกับว่า

วัตถุนี้เคลื่อนไป ท่ามกลางวัตถุอื่นอื่น ไม่มีใครอยู่ในนั้น

 

ถ้าจิตมีความคงเส้นคงวา มีอาการเปิดรอบ รับรู้ได้รอบ

รู้สึกว่าไม่มีใคร รู้สึกว่าไม่มีตัวเรา รู้สึกว่าไม่มีบุคคล 

มีแต่วัตถุ ที่อยู่ท่ามกลางวัตถุ

แล้วจิตเป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติ ที่เข้ามาครองวัตถุนี้

วัตถุหมายเลขหนึ่งนี้ 

 

อย่างนี้พลิกสัญญา กลายเป็นอนัตตสัญญา

รู้สึกว่า ไม่ใช่ตัวเรา ไม่มีตัวใครอยู่ในนี้

 

ซึ่งถ้าเห็นแบบแวบๆ ถ้าเห็นแบบ ผลุบๆ โผล่ๆ

รอบหนึ่งเห็นได้ชัด อีกรอบหนึ่งมีความคิดขึ้นมา แทรกซ้อนขึ้นมา

แล้วเกิดความรู้สึกว่า มีเราในความคิด

ดูไม่ทัน ว่าอันนั้นเป็นเศษภาวะความคิด

ที่โผล่ขึ้นมา ที่จุดบนสุดของธาตุดิน

มองไม่ออกว่า อันนั้น คือส่วนของขันธ์ห้า

 

ก็จะมีความรู้สึกในตัวตนขึ้นมา มีอัตตสัญญาขึ้นมา

ทําให้รู้สึกปลอดภัย ทําให้รู้สึกว่า เออ.. ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงนะ 

ก็ยังมีตัวเราอยู่นี่ ที่พยายามเดินจงกรม 

แล้วก็พยายามที่จะปฏิบัติธรรม พยายามที่จะภาวนา 

ตามไกด์ไลน์ว่า ให้เห็นกายใจโดยความเป็นธาตุหก

 

แต่ไม่ได้รู้สึกว่า ตัวตน ตัวเรานี่ แตกต่างไปที่ไหน 

เหมือนกับการกําหนดชั่วคราวว่า นี่เป็นอนัตตานะ

แล้วรู้สึกขึ้นมาชั่วระยะหนึ่ง  นาทีหนึ่งบ้าง สองนาทีบ้าง

 

ต่อเมื่อเราทําบ่อย ๆ ทําซ้ำ ๆ  ทําเรื่อย ๆ

จนกระทั่งอนัตตสัญญาก่อตัวขึ้นมา  ประกอบกับจิตที่เต็มดวง

มีความตั้งมั่นเป็นสมาธิ  มีความแผ่ มีความใส มีความส่องสว่าง

มีความพร้อมจะรับรู้แบบ 360 องศา จริง ๆ เป็นปกติ

 

แบบนี้นี่ เข้าไปอยู่ในระหว่างวัน ใช้ชีวิตปกติธรรมดา 

บางที ก็เกิดอาการเหมือนกับจับพลัดจับผลู

แต่อย่างมีเหตุผลนะ มี background มีที่มาที่ไปนะ

ไม่ใช่ว่าด้วยจับพลัดจับผลู แบบบังเอิญ

บังเอิญ .. ไม่มีในพุทธศาสนานะ มีแต่เหตุปัจจัย ที่เรารู้บ้างไม่รู้บ้าง

 

ส่วนที่ตอนนี้เรารับรู้ก็คือว่า เราเดินจงกรม

แบบตั้งใจที่จะเห็นว่ากายนี้ใจนี้ สักแต่เป็นธาตุหก นี่

มีทิศทางมีเป้าหมายชัดเจน ไม่ใช่อาศัยความบังเอิญพาไป 

 

การที่เราอยู่ระหว่างวันแล้วอยู่ ๆ เกิดความรู้สึก

เกิดความกระจ่างชัดขึ้นมา

เกิดความรู้สึกว่าชัดเจน กระจะใจว่า เป็นธาตุหก

เหมือนกับ (กาย) กลายเป็นอะไรทื่อ ๆ ขึ้นมา .. ร่างกายนี้นะ

แล้วก็เสมอกับร่างกายอื่น ๆ ที่เหมือนกับหุ่นทื่อ ๆ 

ไม่มีชีวิตจิตใจ ไม่มีบุคคล  

 

ตัวนี้ ที่เราก็เห็นภาพรวมว่า เกิดจากการสะสมอนัตตสัญญามากพอ

ที่จะทําให้จิตรวมดวง แล้วก็เห็นโดยความเป็นเช่นนั้น

ซึ่งก็จะมีแยกย่อยออกไปมากมาย 

 

บางคน เกิดความรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวตน แล้วแฮปปี้ จิตใสใจสบาย เปิดโล่ง 

ราวกับว่าอยู่ในความฝัน ที่เต็มไปด้วยรูปหลอก  

เป็น Solid dream เป็นความฝันที่ตั้งคงอยู่

 

ไม่ใช่ความฝัน ที่เป็นฝันแบบเหลวไหล เลอะเลือนในชั่วข้ามคืน

แต่เป็นความฝัน ที่มีรูปหลอกคงอยู่ อย่างมีเหตุมีผล มีต้นปลาย

มีการปรับเปลี่ยนสภาพอะไรไปเรื่อยๆ

โดยที่จิตนี้ มีความรู้สึกเหมือนเป็นอิสระ แยกออกเป็นต่างหาก

ไม่เข้ามายึด ไม่เข้ามาเกี่ยว ไม่เข้ามาข้อง

 

ตรงที่จิต รู้สึกเป็นอิสระจากความฝัน 

ความฝันที่ เต็มไปด้วยที่มาที่ไป และคงรูปหลอกไว้

นี่ ตรงนี้ .. จิตนั้นจะมีความรู้สึก เออ.. เรามีความพ้นจากความหลง

 

คือยังไม่ต้องถึงมรรคถึงผล ก็มีอาการที่เป็นอิสระแบบนั้นได้

รู้สึกว่าพ้นออกมาจากความหลงได้  พ้นออกมาจากโมหะได้

โมหะ เหมือนจะเป็นเปลือกที่เปิดออกนะ

แล้วก็ทําให้จิตใสใจโล่ง แฮปปี้ที่จะเห็นโดยความเป็นอย่างนั้น

 

อันนี้จะไม่มีปัญหา จะมีความรู้สึกดีนะ

ที่จิตมีความเป็นอิสระอย่างนั้นเสียได้

แล้วก็ให้จิต มีความเป็นอิสระไป

จิตใสใจเปิด 360 ไป โดยไม่มีข้อกังขา โดยไม่มีข้อสงสัย

โดยไม่มีความหวาดระแวง หรือว่าหวาดกลัวอะไรขึ้นมา

 

แต่ปัญหา จะมีกับบางคน ในบางวันที่เห็นว่า

กายนี้เป็นธาตุดินขึ้นมาแห้ง ๆ เหมือนขอนไม้ผุพัง

แล้วจิต เป็นวิญญาณที่มาอาศัยอยู่ในโพรงไม้ ที่ใกล้จะผุพังนั้น

แล้วเกิดความหวาดกลัวขึ้นมา

 

คือจิตนี่ ถ้าเราเกิดความเข้าใจจริงๆ ว่า

ที่เกิดความหวาดกลัวขึ้นมา ก็เพราะว่าจิต มีความแห้งเหี่ยว

ไม่ได้ มีความสดใส ไม่ได้มีอาการแผ่ออก

จิตมีอาการอุดอู้คับแคบ แล้วประกอบพร้อมด้วยอนัตตสัญญา

 

คือเป็น อนัตตสัญญา เหมือนกัน แต่ว่าจิตออกอาการห่อเหี่ยว

มีอาการแห้งแล้ง มีอาการหม่นๆ กระเดียดไปในทางอกุศล

เหมือนกับดูหนังผี แต่ว่าไม่ได้ดูด้วยตา แต่ว่าสัมผัสออกมาจากใจเลย

 

เหมือนตัวเองนี่แหละเป็นผี ที่มาอาศัยโพรงไม้ที่ผุพัง

แล้วก็เกิดความรู้สึก เห็นใครต่อใครเป็นผีไปหมดเลย

เดินเต็มถนน เดินเพ่นพล่านเหมือนซอมบี้ บางทีนี่มีน้ำเลือดน้ำหนอง

 

คือเป็นไปได้ ทั้งๆ ที่ลืมตาอย่างนี้เลยนะ

แต่จิตนี้เขาเรียกว่า มีความตั้งมั่น

แล้วก็เห็นภาวะทางกาย โดยความเป็นอุคหนิมิตบ้าง หรือปฏิภาคนิมิตบ้าง

 

อุคหนิมิต ก็คือ นิมิตเสมือนนะ เสมือนจริงซ้อนขึ้นมา

อย่างเช่น มีความรู้สึกราวกับว่า นั่นเป็นโครงกระดูก นี่เป็นโครงกระดูก

 

หรือถ้าเป็น ปฏิภาคนิมิต คือเป็นนิมิตที่หน่วงไว้ได้ด้วยใจ

ย่อขยาย หรือว่าทําให้เปลี่ยนแปลงอย่างไรได้ตามปรารถนา

เห็นเป็นซากศพ ที่มีตับไตไส้พุง ทะลักพรวดพราดออกมาจากท้อง

หรือว่ามีน้ำเลือดน้ำเหลือง ไหลนองออกมา

แบบที่เป็นไปได้ดั่งใจ อะไรแบบนั้น

 

ซึ่งเฉียดกันมาก กับอาการของภาพหลอนของคนป่วยโรคจิตนะ

แต่ว่าอันนี้ ยืนพื้นอยู่บนสมาธิจิต ซึ่งจะมีความรับรู้ไปอีกแบบหนึ่ง

ไม่ได้รู้สึกว่าจะคุ้มคลั่งอะไร เพียงแต่ว่าบางที

จิต ถ้าหากว่าไม่ได้ใส ใจไม่ได้เปิดไม่ได้โล่งจริง ๆ ไม่ได้เป็นอิสระจริง ๆ

บางทีก็เกิดความกลัว หรือเกิดความแห้งเหี่ยวขึ้นมาได้

 

ตรงนี้ ถึงได้บอกว่า ถ้าเราเจริญสติมา

จะด้วยการดูกายดูจิตอย่างไรก็แล้วแต่นี่

บางทีไปถึงจุดที่ ของเก่าของใหม่มารวมกัน

แล้วเกิดการแสดงภาพอะไรขึ้นมา โดยที่เราคาดหมายไม่ได้

 

ตรงนี้ ถ้ามีกําลังของสมถะไว้ดีๆ มีความเข้าใจดีๆ  

คือคุยกันให้รู้เรื่องนะว่า เออ.. จิตที่เราควรตั้งเป้าไว้ คือจิตแบบไหน

 

คือจิต ที่มีความผ่องใส

คือจิต ที่มีความสุข

คือจิต ที่สะอาดด้วยศีล

คือจิต ที่มีความเมตตาด้วยการให้ทาน

คือจิต ที่มีความตั้งมั่น เป็นสมาธิในแบบในเปิด 360 ได้นี้

เป็นจิตที่เหมาะควรที่สุด

 

ไม่ว่าจะรู้ ไม่ว่าจะเห็นอะไรขึ้นมา แบบไม่รู้เหนือรู้ใต้

อยู่ๆ เราใช้ชีวิตอยู่ดีๆ ระหว่างวัน ก็เห็นโน่นเห็นนี่ขึ้นมา

 

ทีนี้ ถ้ามีจิตที่เป็นอิสระ ถ้ามีจิตแบบเปิดแผ่ 360

จะไม่มีความน่ากลัวใดๆ จะไม่มีความรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึง

มีแต่ว่า เออ.. เห็นได้นะ

 

แล้วจะคล้ายกับ เห็นออกมาจากมิติที่เป็นต่างหาก แยกออกมาใสๆ

แล้วเห็นอะไรทั้งหลายนี้ จะเป็นวัตถุก็ดี

เป็นซากศพ เป็นขอนไม้เน่าเปื่อยผุพังก็ดีนี้

ของเหล่านั้น จะคล้ายคล้ายของหลอก เป็นเหมือน โฮโลแกรม

เป็นเหมือนกับแผ่นใส ที่เราไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วย

 

คือใจนี้ พอสดชื่น มีความใส เบิกบาน มีความเปิด 360

จะไม่เข้าไปอิน ในแบบที่.. โอ้โห ขนลุกขนชัน แล้วก็จิตหด

 

จําไว้ว่า ถ้ามีความกลัว นั่นคือลักษณะของจิตหด

ถ้ามีความ ใสสบาย นั่นคือลักษณะของจิตที่เปิดแผ่ กว้าง

แล้วแยกออกมาเป็นต่างหาก

 

ซึ่งตรงนี้ ถ้าเราทําความเข้าใจกันดีๆ ว่า

เดินจงกรมหลับตา ช่วยให้เกิดจิตแบบนี้ขึ้นมาได้อย่างไร

 

จะเห็นค่าว่า ที่ทํา ๆ กันอยู่นี่นะ

ไม่ได้มาเดินให้ตรงทางแบบหลับตาเท่

ไม่ได้มาทํากันเล่น ๆ ให้เกิดความรู้สึกว่าเราเก่ง

ที่สามารถหลับตาเดินจงกรมได้

 

แต่เป็นการที่เรามาเห็นร่วมกัน มาเห็นไปด้วยกัน

มาเห็นไปพร้อม ๆ กันว่า เมื่อเดินจงกรมหลับตาได้

โดยกําหนดว่า กายอันเป็นธาตุดินหมายเลขหนึ่งนี้

เสมอกันกับผนัง และวัตถุรอบด้าน

เป็นธาตุดินหมายเลข สอง สาม สี่ จะพื้น จะเพดานอะไรนี่

 

ตอนแรกๆ นี่เอาแบบง่ายๆ ก่อน

เทียบธาตุดินกับธาตุดินนะ ที่อยู่.. ตอนหยุดยืน

หรือพอเราสามารถรับรู้ขึ้นมาได้เองว่า ที่อยู่ด้านหลังคือผนัง

อยู่ด้านหน้าคือผนังอีกด้านหนึ่ง ที่เรากําลังจะเดินไป

จะค่อยๆ รับรู้ขึ้นมาแล้ว

 

นี่จะเป็นการที่เราค่อยๆ ตบจิต ให้เข้าที่เข้าทาง

แล้วก็เปิดจิตให้สามารถ สัมผัสรับรู้สิ่งรอบด้านได้

แบบที่เป็นไปเอง ตามกําลังของจิต

 

มีความใส มีความเบา มีความรู้สึกราวกับว่า

เปิดไปเห็นด้วยตาอีกแบบหนึ่ง .. ไม่ใช่ตาที่สาม แต่ด้วยจิตทั้งดวง

ที่มีความใส มีความเคลียร์ สามารถสัมผัสรอบ

แล้วก็รู้เลยว่านี่นะ เราเข้าใกล้เป้าหรือยัง เข้าใกล้ผนังด้านหนึ่งหรือยัง  

 

ตรงที่จิตใสใจเปิดแบบนี้

พร้อมจะเห็นอะไรก็ได้ ที่พระพุทธเจ้าทรงปรารถนาจะให้เห็น

โดยความเป็นขันธ์ห้า โดยความเป็นธาตุหก

 

จะเป็นของที่ คนอื่นมองแล้วน่ากลัวนะ แต่เรามองแล้ว

มีความรู้สึก เหมือนกับรู้ออกมาจากห้องใส ที่เป็นห้องกระจก

ที่อยู่ห่างออกมา เป็นอีกมิติหนึ่ง ที่ไม่เกี่ยวข้องกับอะไรที่น่ากลัว

กับอะไรที่แตกพัง กับอะไรที่แสดงความเป็นหุ่น ที่ไม่มีชีวิต ไร้จิตใจ

 

ตรงนี้ ก็พูดมาทั้งหมด จะบอกว่า

ถ้าเรามีกําลังสมถะไว้ดีพร้อม เวลาเห็นอะไรขึ้นมา จะไม่กลัว

แล้วจะไม่มีความตระหนก

ไม่ว่าจะอยู่ในขณะ นั่งสมาธิ เดินจงกรม หรือระหว่างวันก็ตาม

ไม่ว่าจะจับพลัดจับผลู มาแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้ แบบไม่ทันตั้งตัว

ไม่บอกไม่กล่าวว่า จะให้เกิดอาการเห็นอย่างนั้นอย่างนี้

หรือว่าเรามีกําลังมากพอ จะจงใจที่จะเห็น

 

อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส

ความสามารถของผู้ปฏิบัติ ที่มากพอนี่

สามารถกําหนดของหอม ให้กลายเป็นของเหม็นก็ได้

กําหนดของเหม็น ให้กลายเป็นของหอมก็ได้

หรือว่ากําหนดสิ่งที่น่าดู ให้กลายเป็นสิ่งที่ไม่น่าดู

กําหนดสิ่งที่ไม่น่าดู ให้กลายเป็นของน่าดูนะ

 

พูดง่าย ๆ ว่า จิตที่สามารถเห็นอะไรโดยความเป็นนิมิตตามปรารถนาได้

เป็นความสามารถเฉพาะตัว ของผู้ปฏิบัติมาถึง

ไม่ใช่ว่าเราจะต้องรู้ตามจริง อย่างเดียว

บางที พระพุทธเจ้าท่านก็สอนไว้อย่างนี้

 

ตรงนี้เป็นความสามารถ..

จริงๆ แล้วพระพุทธเจ้าระบุ.. เป็น(ความ)สามารถของอริยบุคคล

หรือว่าผู้ที่มีการเจริญสติมาเข้มข้นแล้วนะ  

 

เวลาที่เราอยู่ในโลกที่น่าเกลียด หรือโลกที่น่ารังเกียจ

ก็สามารถกําหนด ให้เป็นโลกที่น่าพิศมัยได้ จะได้ไม่ทุกข์เกินไป

 

หรือ เวลาที่เราไปติดใจ เกิดความพิศมัยอะไรขึ้นมา

อย่างเช่น เพศตรงข้าม หรือว่าอะไรที่น่าติดใจ น่ายึดติดทั้งหลาย

เราก็สามารถกําหนด โดยความเป็นของน่ารังเกียจได้

ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ ในแต่ละขณะ ในแต่ละสถานการณ์

 

เพราะว่าบางสถานการณ์นี่ เราไปกําหนดรู้ตามจริงอย่างเดียวไม่ได้

เช่น บอกว่ารู้ตามจริงว่า อันนี้ สัมผัสนี้ ผัสสะแบบนี้ นุ่มนิ่มน่าพอใจ

 

แบบนี้ คือกําหนดได้สองสามวินาที

เสร็จแล้วก็คล้อยหลงตามสัมผัส ที่น่าพึงพอใจนั้น

แล้วก็กลายเป็นความติดใจ

 

อันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ว่า

บางสถานการณ์ เราไม่ใช่ว่าจะรู้ตามจริงเฉพาะหน้าอย่างเดียว

ขึ้นอยู่กับว่าเราเห็นไหมว่า สิ่งที่กําลังสัมผัสอยู่ หรือว่ากําลังกินอยู่นี้

เป็นเหตุให้เกิดความติดใจ ติดหลง

แล้วก็เพลิดเพลินยินดี จนกระทั่งกู่ไม่กลับ

 

จิตนี่ก็เสื่อมจากภาวะที่เป็นอิสระ

กลายเป็นว่าหลงติด แล้วก็ถูกดูดติด

เหมือนกับแม่เหล็กที่มีพลังแรง

ดูดจิตของเรา ที่เป็นขี้เหล็กให้เข้าไปติดอยู่

แล้วออกมาไม่ได้ แบบนี้นะครับ

_________________

EP 101 | ศุกร์ 25 มีนาคม 2565

เกริ่นนำ – เข้าใจความกลัวที่เกิดจากประสบการณ์ทางจิต

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป :

https://www.youtube.com/watch?v=Oy469vCS7xs

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น