วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

วิปัสสนานุบาล EP 93 (เกริ่นนำ) ความเข้าใจสำคัญกว่าสมาธิ - 14 มีนาคม 2565

วิปัสสนานุบาล EP 93 | จันทร์ 14 มีนาคม 2565

เกริ่นนำ – ความเข้าใจสำคัญกว่าสมาธิ

 

พี่ตุลย์ : ที่เราทำกันมา ไม่ใช่ทำอะไรอย่างเดียว

และหวังว่าวันนี้ อย่างน้อยคนก็ต้องได้เข้าใจแล้วว่า

คำว่า อานาปานสติ

 

เอาแค่คำนี้คำเดียว ที่เข้าใจผิดกันมาช้านาน

ไม่ใช่ แค่เรื่องของการมาจ้องลมหายใจ

มาบอกว่านี่ฉันดูแล้วนะ ลมหายใจเข้าลมหายใจออก

นั่งหน้านิ่วคิ้วขมวดเป็นชั่วโมงๆ แล้วบอกว่าฉันทำอานาปานสติแล้ว

แต่ไม่ได้ผลไม่เวิร์ค ไม่ถูกจริตกับฉัน เพราะไม่ใช่ (ทาง)

 

ตรงนี้ ถ้าไม่เข้าใจ ไม่มีทางที่จะทำอานาปานสติได้

ไม่ควรแก่การไปอ้างว่า ตัวเองทำอานาปานสติแล้ว

หากปราศจากความเข้าใจนะ

 

การที่ผมย้ำว่า ความเข้าใจสำคัญกว่าสมาธิ

เพราะว่าบางคน นานทีปีหนได้สมาธิ แต่ไม่มีความเข้าใจ

ไม่มีความรู้มากพอที่จะเอาสมาธินั้นไปต่อยอด

ก็ได้แต่เป็นนักภาวนาประเภทขี้บ่น

 

บอกว่าเคยทำสมาธิได้ แต่พอไปพยายามอีก

อย่างไรๆ ก็ไม่สามารถที่จะทำได้ เพราะไม่เข้าใจ

ว่าตัวเองนี่ ได้สมาธิครั้งหนึ่ง แล้วพยายามที่จะเข้าถึงใหม่

พยายามก๊อปปี้ของเดิมที่เคยได้แล้วนึกว่าดี

ไม่สร้างเหตุ ไม่สร้างปัจจัยแบบ 1 2 3 จำทางเข้าไม่ได้

แล้วจะไปเข้าสมาธิแบบดีๆ ที่เคยทำได้ ได้อย่างไร

 

ตลอดทั้งชีวิต ก็กลายเป็นนักภาวนาขี้บ่น

ที่เห็นตัวเอง เป็นผู้ถูกกระทำ เหมือนอะไรสักอย่าง

ฟ้าดิน หรือว่าชะตา หรือ อะไรสักอย่างที่ไม่ใช่ความผิดของตัวเอง

มาขัดขวาง ไม่ให้ตัวเองสามารถภาวนาได้ ทั้งๆที่เคยทำได้มาแล้ว

ต้องมีอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่เป็นมารขัดขวาง

 

ตรงนี้ก็ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว สิ่งที่ขัดขวางก็คือความไม่เข้าใจนั่นเอง

 

ทั้งชีวิต ทำสมาธิแค่ไม่กี่ครั้งนะ

จิตรวมลง แบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ว่ามาได้อย่างไร

ก็นึกว่าตัวเองสามารถทำสมาธิได้ แต่ต้องมีอะไรสักอย่างขัดขวาง

 

เรื่องความเข้าใจ บางทีก็เป็นเรื่องน่าเห็นใจ

เพราะว่าถ้าอยู่ๆ ให้ศึกษาพระไตรปิฎกด้วยตนเองตามลำพังตั้งแต่เริ่ม

ก็ไม่สามารถที่จะทะลุทะลวงด่านของความยากเกี่ยวกับภาษานะ

เพราะว่าสิ่งที่บันทึกกันมานี่ ..

 

จริงๆ แล้ว นี่ถือว่าเป็นโชคดีแล้ว

เพราะเดิมที พระไตรปิฎก ไม่อยู่ในรูปของภาษาไทยด้วยซ้ำ

 

ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นผู้ช่วยทำให้ภาษาต่างประเทศ

กลายมาเป็นภาษาไทยนี่ท่านมีบุญคุณอย่างล้นเหลือแล้ว

ที่ทำให้เราสามารถอ่านพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยได้

 

แต่กระนั้นเนื่องจาก .. อย่างคำบาลีนี่นะ

คำเดียว บางทีดิ้นไปได้ 30 ความหมาย

ถ้าหากผู้แปลไม่เข้าใจจริงๆ ว่าประสบการณ์เชิงปฏิบัติ

หรือว่านัยยะความหมาย ที่พระพุทธเจ้าท่านปรารถนาจะสื่อนี่เป็นอย่างไร

โดยบริบท โดยความเป็นประโยค รูปประโยค โดยจุดประสงค์

เนื้อหาโดยคอนเทกซ์ (context - บริบท) เป็นอย่างไร

 

บางที ก็ไม่สามารถที่จะถ่ายทอดเนื้อความเดิมออกมา

บางทีเราอ่านไป แล้วก็รู้สึกติดขัด รู้สึกไม่เข้าใจ รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้

ที่เราจะไปทำความเข้าใจพระไตรปิฎกด้วยตัวของเราเอง

 

ทีนี้ อย่างในเมืองไทยนี่ก็มีผู้เป็นปราชญ์

แล้วก็มีความสามารถที่จะเข้าถึงบาลี

ซึ่งท่านก็เรียบเรียง ทำให้พระไตรปิฎกมีลำดับมีขั้นตอน

ที่เหมือนกับอ่านจากง่ายไปหายาก

 

เช่นว่า แก่นสารของพุทธศาสนาคืออะไร

ท่านก็ไปยกเอาพุทธพจน์ว่า

การเข้าถึงมรรคผลนิพพาน นั่นแหละคือแก่นสาร

คือเป้าหมายของพุทธศาสนา

อย่างอื่น เหมือนเปลือก เหมือนกระพี้

 

ตรงนี้ ถ้าหากใครอยากจะศึกษา ก็อาจจะหาอ่าน

พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน ของอาจารย์ สุชีพ ปุญญานุภาพได้

 

อันนี้ ที่เกริ่นมาก็จะบอกอย่างหนึ่งว่า

ถ้าหากได้เข้าไปศึกษาด้วยตัวเอง กล้าๆ นิดหนึ่งไม่ต้องกลัว

บอกว่าจะต้องไปศึกษา จะต้องมีหลักแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถืออะไรนี่

จริงๆ สามารถที่จะอ่านไปได้ด้วยตัวเอง

 

เพราะอย่างอาจารย์สุชีพนี่ ท่านท่านกรองไว้ให้แล้ว จากง่ายไปหายาก

แล้วถ้าใครได้อ่านตามลำดับ ก็จะเห็นว่าท่านพยายามดึง

เอาเนื้อหาเฉพาะเน้นๆ ที่เป็นเนื้อมา ให้ได้ทราบว่า

สิ่งที่เรารู้สึกว่า เป็นตู้พระไตรปิฎก

ที่เหมือนกับมหาสมุทรความรู้ ที่ไม่มีทางที่ใครจะเข้าถึงได้ทั้งหมด

จริงๆ แล้ว เป็นไปได้ ถ้าหากเรารู้จุดที่จะเริ่ม รู้จุดที่จะต่อยอด

 

แต่ว่าเรื่องของเนื้อหาการภาวนา

เราจะพบว่าไม่มีหรอก ที่ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า

ทำอย่างนี้ คำบริกรรมเดียวถึงนิพพานเลย

 

ถ้าง่ายขนาดนั้น ไม่ต้องรอพระพุทธเจ้าอุบัติ

ไม่ต้องรอให้หนึ่งกัปหนึ่งกัลป์ มีพระพุทธเจ้าได้อย่างมาก 5 พระองค์

หรือบางกระแสก็บอก 10 พระองค์อย่างนี้

 

หนึ่งกัปหนึ่งกัลป์นี้ เอาจำนวนชาติ เป็นล้านชาติ

 

ล้านชาตินี้ บอกมี 5 (องค์) มี 10 (องค์) ลองคิดดูก็แล้วกัน

ว่าต้องรอกันนานขนาดไหน ถึงจะมีประตูไปสู่นิพพานเปิดอ้าขึ้น

 

ฉะนั้น ถ้าเราทำไว้ในใจ ว่าเส้นทางไปนิพพานไม่ใช่ง่ายๆ

ก็จะได้ไม่เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ทำนิดทำหน่อย วัน สองวัน

พอไม่ได้ขึ้นมา พอไม่ได้ผล หรือว่าไม่เกิดความคืบหน้า

ก็จะได้ไม่เกิดความรู้สึกว่า สงสัยจะทำไม่ได้หรอก

เพราะว่าเรื่องง่ายๆ แค่นี้ เรายังทำไม่ได้เลย

 

แต่จริงๆ ก็คือ อะไรๆ ที่ปรากฏอยู่ให้เราเห็นอย่างนี้ในห้องวิปัสสนานุบาล

หรือว่าผู้ที่เดินจงกรม ผู้ที่ทำสมาธิ เจริญอานาปานสติกันได้นี่

แต่ละคนไม่ได้ทำกันเล่นๆ ไม่ได้ทำกันวัน สองวันนะ

 

แล้วสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ ก็คือ

การที่เราจะรู้กายใจโดยความเป็นอนัตตา โดยความเป็นรูปนาม

ไม่ใช่อยู่ๆ จ้องไปที่จุดใดจุดหนึ่ง แล้วบอกว่า นี่ฉันดูแล้ว

ฉันพยายามแล้ว ฉันเพียรแล้วไม่ใช่แค่นั้น

 

ถ้าสมมติสั่งให้เพ่งปลายจมูกจุดเดียว เพ่งไปทั้งชีวิต

ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลได้

ถ้าหาก เข้าใจว่าเพ่งจุดใดจุดหนึ่ง แล้วจะบรรลุมรรคผล

จะเห็นกายใจโดยความเป็นรูปนาม .. นี่เข้าใจผิดอย่างมหันต์

 

ถอนจิตออกจากหล่มของมิจฉาทิฎฐิไม่ได้

ก็ทำไม่สำเร็จ ก็ทำแล้วไม่คืบหน้า

 

แต่ถ้ามีความเข้าใจว่า

พระพุทธเจ้า เวลาท่านตรัสเกี่ยวกับเรื่องการภาวนา

ท่านตรัสในเชิงเปรียบเทียบเสมอ ยกตัวอย่างเช่นอานาปานสติ

 

ท่านไม่ได้บอกให้ดูลมหายใจ

ไม่ได้บอกว่า ให้เห็นไปนะ ว่าลมหายใจเป็นอย่างนี้

ท่านตรัสจาระไนชัดเจนมาก ว่าเริ่มต้นขึ้นมา

รู้ว่ากำลังหายใจออก หรือหายใจเข้า

 

ถ้าหาก คุณไม่ล็อคความคิดไว้ว่า

จะต้องอยู่เฉยๆ อย่างนี้ แล้วก็รู้ลมหายใจออก รู้ลมหายใจเข้า

ตัวจะเบี้ยวอย่างไรก็ได้ หัวจะวางไว้ตรงไหนก็ได้

 

อันนี้ก็จะค่อยๆ ทำความเข้าใจในลำดับขั้นต่อๆ ไปว่า

อิริยาบถที่สบาย อิริยาบถที่เอื้อให้หายใจได้สะดวก

เป็นสิ่งที่ควรตั้งไว้เป็นหลักเริ่มต้น

 

อย่างเช่นที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส

อยู่ๆ ท่านไม่ได้บอกว่า ให้รู้ลมหายใจขึ้นมา

ท่านบอกว่า ให้นั่งคอตั้งหลังตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า

 

คืออยู่กับปัจจุบัน อย่าห่วงไปข้างหลัง อย่าหวังไปข้างหน้า

แล้วให้รู้ว่า เวลาที่หายใจออก รู้ว่าหายใจออก

เวลาที่หายใจเข้า รู้ว่าหายใจเข้า

นี่เห็นไหม มีภาวะไล่ลำดับมา

 

แล้วเวลาที่พระองค์ให้รู้ลมหายใจ ท่านไม่ให้รู้ลมหายใจอย่างเดียว

ท่านยกเอาภาวะภายในมาเป็นตัวตั้งด้วย

 

อย่างเช่น ถ้าทำไปจนถึงกระทั่งจุดที่กายสงบระงับ กายสังขารระงับ

มีความรู้สึกว่าไม่อยากจะกระสับกระส่าย เอาร่างกายไปใช้ในเชิงกิเลส

หรือสังเกตดูร่างกายไม่เกร็ง มีความผ่อนพัก ผ่อนคลาย

นั่นก็เป็นสิ่งที่เรียกได้ว่า เป็นกายสังขารระงับ คือกายไม่แกว่งในเชิงกิเลส

 

แบบนี้ เกิดปีติขึ้นมา พระพุทธเจ้าก็ให้ดูตัวตั้งคือ ปีติ

รู้ว่ามีปีติ หายใจออก รู้ว่ามีปีติ หายใจเข้า

 

เสร็จแล้วก็ไล่ไปตามลำดับ

รู้จิด แล้วก็รู้ว่า จิตที่ตั้งมั่นนี่ สามารถที่จะมองเห็น

ว่าอะไรๆ ที่กำลังปรากฏเป็นสภาวะปัจจุบัน ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

สามารถปลดเปลื้องพันธะ ความยึดเหนี่ยว ความยึดมั่นว่า

อะไรๆ ในกายในใจนี้ เป็นตัวเป็นตนได้

 

พระพุทธเจ้าท่านตรัสมา แล้วก็เวลาที่ท่านจะให้เจริญสติต่อ

ท่านก็ให้เห็นภาวะคู่

 

อย่างเช่นถ้า ตัวความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ นี่

ท่านไม่ได้บอกว่าให้ดูความสุขอย่างเดียว

ท่านให้รู้ด้วยว่า เดี๋ยวก็มีความทุกข์มาเป็นตัวเปรียบเทียบ

 

หรือสภาวะของจิต

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านที่นิยมดูเข้ามาที่จิต ท่านก็ให้ดูว่า

 

จิตมีทั้งสงบ และฟุ้งซ่าน

จิตมีทั้งสมาธิ แล้วก็เสื่อมจากสมาธิ

จิตมีทั้งตั้งมั่น และไม่ตั้งมั่น

จิตมีทั้งหลุดพ้นชั่วชั่วคราว แล้วก็จิตมีทั้งกลับมายึดใหม่

 

นี่ท่านให้เห็นเป็นภาวะเทียบเคียง

เหมือนอย่างที่เราคุยๆ กันว่า เพื่อที่จะเห็นกายโดยความเป็นวัตถุธาตุ

 

เริ่มต้นขึ้นมานี่ อาจจะยากสำหรับคนที่ยังเข้าไม่ถึงฌาน

ไม่สามารถที่จะดูตับไตไส้พุงตัวเองได้ ซึ่งนั่นเป็นธาตุดินของแท้นะ

แล้วเวลาที่เรามีจิตที่สว่างมากพอ กว้างมากพอ

สามารถทะลุทะลวงตับไตไส้พุงได้

ก็สามารถที่จะมองเห็นของคนอื่น

เป็นตับไตไส้พุง เป็นถุงใส่อึได้เหมือนกัน

 

เปรียบเทียบแล้ว จะได้เข้าใจว่าคำว่าธาตุดินเป็นอย่างไร

อันนี้สำหรับคนที่ไปถึงฌานแล้ว ได้อาโลกกสิณแล้วนะ

 

แต่อย่างที่เราฝึกกัน เราก็ใช้อาศัยภาวะเทียบเคียง

เช่นธาตุดินหมายเลขหนึ่ง กับธาตุดินหมายเลขสอง

พอมายืนเทียบเคียงกันแล้ว สามารถสัมผัสได้ด้วยจิตธรรมดาๆ

ไม่จำเป็นต้องมีสมาธิลึกซึ้งอะไร

 

ก็เป็นภาวะเทียบเคียง ในแบบที่จะจุดชนวนให้เกิดความเห็นว่า

เป็นวัตถุ เป็นที่ตั้งของ รูปนาม ซึ่งสามารถเห็นได้

เกิดความรู้สึกได้ว่า ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา

 

หรืออย่างที่พระพุทธเจ้าท่านสอนในสติปัฎฐาน 4

ว่าเมื่อเห็นอะไรภายในกายภายในใจนี้

ก็ให้เห็นภาวะเทียบเคียงคือกาย หรือว่าใจของคนอื่นควบคู่ไปด้วย

 

ไม่ใช่เพื่อที่จะเป็นผู้วิเศษ

แต่เพื่อที่จะได้เห็นว่า ภาวะที่เหมือนๆ กัน ต่างก็ให้ความรู้สึกแบบเดียวกัน

ว่าเกิดจากเหตุปัจจัย แล้วก็ต้องเสื่อมไปเป็นธรรมดา

 

ถ้าใครได้ไปถึงจุดที่ สามารถเทียบเคียงว่า

กายนี้เป็นวัตถุ กายนั้นก็เป็นวัตถุเสมอกัน จะรู้เลยว่าไปได้เร็วนะ

มีความรู้สึกขึ้นมาชัดๆ ได้อย่างรวดเร็ว ในเวลาไม่กี่วันว่า

ทั้งของเราของเขา มีความเสมอกัน

 

บางคนนี่ เห็นกายตัวเองชัดตอนหลับตาภาวนา ตอนเดินจงกรมอยู่

แต่พอลืมตาขึ้นมา ไม่รู้จะภาวนาต่ออย่างไร

ไม่รู้จะเอาสิ่งที่ได้มา ในขณะนั่งสมาธิ เดินจงกรม มาใช้ในชีวิตระหว่างวันอย่างไร

 

เพราะไม่เข้าใจ ว่าจะมองอย่างไรนะ

 

อันนี้จริงๆ พระพุทธเจ้าท่านก็เปรียบเทียบไว้แล้ว

ให้ข้อเปรียบเทียบไว้นะว่า ของเราอย่างไร ของเขาอย่างนั้น

พิจารณาไปเรื่อยๆ ก็เหมือนกับได้ลงสนามภาวนาทั้งวัน

 

แต่ถ้าไม่เข้าใจ หรือไปบอกว่า คงไม่ใช่มั้ง

การภาวนา จะมา เทียบเขา เทียบเราได้อย่างไร

จะมา ส่งจิตออกนอก ได้อย่างไร

 

ถ้าเข้าใจคำว่า ส่งจิตออกนอก

ก็จะรู้ว่า หมายถึงส่งออกไปนอกภาวะขันธ์ห้า หรือว่าธาตุหก

ไม่ได้ดูโดยความเป็นขันธ์ห้า หรือธาตุหกนะ

แต่ดูด้วยความเป็นตัวตนบุคคลเราเขา แล้วก็มีกิเลส

อย่างนี้คือส่งจิตออกนอก

 

หรืออย่างบอกว่า เทียบเขา เทียบเรา

ไม่ใช่เทียบตัวเรา ไม่ใช่เทียบเขา

แต่เป็นเทียบขันธ์เทียบธาตุนะ

 

เห็นไหม ที่พูดมาทั้งหมด จะบอกว่าเป็นเรื่องของความเข้าใจล้วนๆ

 

คุณจะถือแนวปฏิบัติ หรือว่าจะมีรูปแบบการปฏิบัติอย่างไรก็ตาม

ถ้าปราศจากความเข้าใจขั้นพื้นฐาน

ว่าพระพุทธเจ้าท่านปรารถนาจะให้เห็นอะไร

เถียงกันตาย เถียงกันไม่รู้กี่ชาติ

 

ตายไปชาตินี้ แล้วเกิดใหม่ วกกลับมาอยู่ในแวดวงการภาวนาอีก

เพราะว่าทำกรรมอย่างไร กรรมย่อมพยายามรักษาเส้นทางตัวเองไว้

ถ้าเคยได้ภาวนามาก่อน ก็ต้องได้กลับมาภาวนาอีกนะ

 

แล้วถ้าเคยภาวนาในแบบที่ไม่เข้าใจ หมกมุ่นอยู่กับวิถีของการถกเถียง

วนลูป อยู่กับโลกของอาการแบ่งสำนัก หรือว่าแบ่งแนวทางการปฏิบัติ

โดยที่หลงลืมหรือ ไม่เคยรับรู้เลย ว่าพระพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างไร

 

ก็จะเป็นอีกหนึ่งความยาก ที่เราจะเห็นได้ ประจักษ์ได้ด้วยตัวเอง

ไม่ว่าเกิดมาชาติไหนนะ ว่านี่เป็นอีกด่านความยากของสังสารวัฏ

 

ถ้าหาก เรามองว่า

ต้องไปเกิดในยุคที่พระพุทธเจ้าทรงพระชนม์อยู่ จะง่ายที่สุด

ก็ไม่เชิงนะ ไม่เชิงว่าจะง่าย ไม่แน่ว่าจะง่ายหรือเปล่า

 

ถ้าหากว่าเราไม่ได้ไปถือกำเนิดอยู่ในตระกูลที่ พระพุทธเจ้าเสด็จผ่าน

หรือว่าพระพุทธเจ้าประทับจำพรรษาอยู่นานๆ อะไรแบบนี้

อยู่ไกลๆ ลิบๆ นี่ก็ อาจจะแบบนี้แหละ

มีการถกเถียงกันว่าต้องปฏิบัติอย่างไร

 

แล้วก็ ถ้าไม่ใช่รูปแบบที่ตรงใจเป๊ะๆ

คือ ถ้าหากไม่ตรงกับที่เราคิด ไม่ตรงกับที่เรารู้สึก

ทั้งๆ ที่เป็นแนวทางที่เป็นไปได้ เราอาจจะปฏิเสธ

 

หรืออย่างในสมัยพุทธกาล ก็มีให้เห็นว่า

ลูกศิษย์ของครูบาอาจารย์ ก็มีอัธยาศัยที่แตกต่างกัน

เช่นถ้าไปอยู่สำนักของพระสารีบุตร

ท่านก็จะเน้นเจริญปัญญา แต่เจริญปัญญาของท่านนี่

ความหมายก็คือ ท่านให้ดูความหลากหลายของ จิต

ที่มาจากความหลากหลาย ของการกระทบกระทั่งทางกาย

 

หรืออย่าง ถ้าไปทางสำนักของพระโมคคัลลานะ

ท่านก็จะออกแนว ทำจิตให้เป็นสมาธิ ทำจิตให้มีความรู้ความเห็น

ในแบบที่ออกแนวฤทธิ์เดชอะไรแบบนั้น

 

ก็มีความแตกต่างกันเสมอ

ไม่ใช่ว่าทุกคนที่เกิดในพุทธกาล ยุคพุทธกาล

แล้วจะได้เรียนธรรมจากพระพุทธเจ้าโดยตรงเสมอไป

 

ก็จะบอกว่า การทำความเข้าใจ สำคัญอย่างใหญ่หลวง

ถ้าไม่มีสัมมาทิฏฐิ

โอกาสที่จะเกิดสัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นไปไม่ได้เลย

 

แต่ถ้าหากว่ามี สัมมาทิฏฐิ แล้ว จะปฏิบัติรูปแบบไหนแนวใด

ถ้าหากว่ารูปแบบนั้นแนวนั้น เอื้อ หรือเกื้อกูลให้เกิดสมาธิจิตได้

ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ที่เราจะเกิด สัมมาสติ เกิดสัมมาสมาธิ

 

ทีนี้ อย่างช่วงหลังๆ เราอยู่ในห้องวิปัสสนานุบาลกัน

ผมก็ย้ำเสมอว่า เรื่องของรูปแบบ มีดีตรงที่

เราอยู่ในฟอร์แมตแบบเดียวกันแล้ว

สามารถที่จะเห็นได้ว่าใครทำตามฟอร์แมตนี้แล้ว คืบหน้ามาอย่างไร

ก็จะสะดวกที่จะพูด ที่จะมาโค้ชกัน

 

ไม่อย่างนั้น คือต่างคนต่างทำตามใจชอบ

แล้วบอกว่าให้มาโค้ชให้ .. บางทีก็ลำบาก ไม่รู้จะเอาจุดไหนมา

เพราะว่าแต่ละคน ก็จะมีอยู่ในใจตัวเอง ว่าอยากให้อยากให้ดูให้ตรงนี้

ที่ทำมานี่ ไม่รู้แหละว่าจะทำมาแนวไหน แต่ขอให้ต่อยอดจากตรงนั้น

 

หนึ่ง คือบางทีผมเอง ไม่มีความเชี่ยวชาญไม่มีความชำนาญ

ในแนวทางวิธีการแบบที่ท่านทำกันมา

สอง คือถ้าเอามารวมๆ กันแบบนี้ จะไม่สามารถที่จะสัมผัส

รู้สึกถึงความคืบหน้าของตัวเอง เทียบเคียงกับคนอื่น

 

ตรงที่บอกว่าเทียบเขาเทียบเรา

ใครด้อย ใครเหนือ หรือว่าใครเก่งอะไรนี่ ไม่ใช่แบบนั้นนะ

 

แต่อย่างที่เห็นๆ กัน คือพอเราสามารถดูได้ด้วยตาเปล่า

ว่าใครมีความคืบหน้ามาอย่างไรบ้าง

อย่างน้อย เป็นเครื่องสนับสนุน หรือแรงบันดาลใจ

ให้เกิดความรู้สึกว่าทำๆ มา อย่างน้อยเห็นๆ เลยว่า

สีหน้าสงบลง ดูมีสมาธิมากขึ้น มีออร่า มีอะไรฉายออกมา

ตัวนี้เป็นสิ่งที่ประจักษ์ได้ด้วยตาเปล่า

แต่ที่สัมผัสได้ด้วยใจนี่ ต้องทำด้วยตัวเอง

 

ถ้าทำเหมือนกัน แล้วเกิดความรู้ความเข้าใจจากภายในขึ้นมาว่า

ทำไปแล้ว ตามรูปแบบ ตามฟอร์แมตแบบนี้ แล้วเกิดอะไรขึ้น

เกิดประสบการณ์แบบไหนขึ้น

อย่างนี้เวลาเทียบเคียง จะไม่ใช่เทียบเพื่อที่จะอวดเขาอวดเรา

แต่เป็นการเทียบเพื่อที่จะรู้ว่า เราไม่ได้ทำอยู่คนเดียวตามลำพัง

เราไม่ได้คืบหน้าขึ้นหลังอยู่คนเดียว หัวเดียวกระเทียมลีบ

 

จะมีข้อเปรียบเทียบ มีข้อยืนยัน มีข้อสนับสนุน

จากหมู่เหล่า ที่อยู่ด้วยกันนี่ว่า ถ้าเป็นไปตามนี้ด้วยกันแล้ว

จะมีเส้นทางพัฒนาการ หรือมีประสบการณ์ทางจิต ทางใจภายในแบบไหน

 

แล้วเอาไปเทียบวัดกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านประทานไว้

เป็นความเข้าใจ เป็นตัวตั้ง เป็นหลักต้นได้หรือเปล่า

 

ถ้าหากว่าทำกันมากๆ แล้วมีความรู้สึกว่า

ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เราเขา

กายใจนี้ เป็นแค่รูปนาม ไม่น่ายึดมั่นถือมั่น จิตใสใจเบาปล่อยวางได้

ไม่เกิดอาการอยากจะตีฆ้องร้องป่าว ว่าฉันทำได้ ฉันเจ๋งกว่าแก แกทำผิด

มีความสงบ มีความเบา มีความสันโดษเฉพาะตัว

แล้วก็อยากเกื้อกูลกัน เฉพาะคนที่สามารถเกื้อกูลได้

 

อันนี่ เปรียบเทียบได้ชัดๆ ว่า

ตรงตามที่พระพุทธเจ้าท่านปรารถนาจะให้มาถึงหรือเปล่านะ

แล้วพอเราได้คำตอบที่ตรงกัน

สิ่งที่จะเป็นผลลัพธ์ตามมา คือความเจริญก้าวหน้าไปด้วยกัน

 

ตรงนี้ก็อยากให้เราสำรวจตรวจสอบ

เช็คกันเรื่อยๆ ว่าที่เรากำลังทำๆ กันอยู่

เรามาถึงไหนกันแล้ว

 

วันเวลาล่วงผ่านไป วันเดือนปี ผ่านไปเรื่อยๆ เรากำลังทำอะไรกันอยู่

ถ้าตรวจสอบได้ ถ้ารู้สึกตรงกันได้

ถ้ารู้สึกว่าก้าวหน้าไปด้วยกันได้ ก็เช็คกับสิ่งที่พระเจ้าท่านตรัส

แล้วไม่มีอะไรผิดเพี้ยนไป ก็จะเกิดความมั่นใจ

แล้วเกิดกำลังใจที่จะคืบหน้า รุกคืบไปเรื่อยๆ

จนกว่าจะถึงเป้าหมายนะครับ

_______________

วิปัสสนานุบาล EP 93 | จันทร์ 14 มีนาคม 2565

เกริ่นนำ – ความเข้าใจสำคัญกว่าสมาธิ

ถอดคำ : เอ้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น