วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

วิปัสสนานุบาล EP127 (เกริ่นนำ+ปิดท้าย) ลางบอกเหตุใกล้บรรลุ - 30 เมษายน 2565

วิปัสสนานุบาล EP127 | เสาร์ 30 เมษายน 2565

เกริ่นนำ - ลางบอกเหตุใกล้บรรลุ

 

พี่ตุลย์ : เดือนที่ผ่านมา เราคุยกันเรื่องความก้าวหน้า ของหลาย ๆ ท่าน

 

ความก้าวหน้าในแบบที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า

จากทุก ๆ ท่าน ที่ก็น่าจะตามไลฟ์มาอยู่เรื่อย ๆ

 

คือถ้าเป็นพวกเราจริง ๆ ที่ตามมาด้วยกัน

น่าจะเห็น ๆ ด้วยตาเปล่า มาเป็นเวลาช่วงใหญ่ ๆ  

ครึ่งปีที่ผ่านมา เริ่มต้นจากส่งคลิป แค่ของใครของคนนั้น

แล้วก็ค่อย ๆ เขยิบขึ้นมา เป็นการไลฟ์ร่วมกันครับ

 

แบบที่เราเห็นกันอยู่นี่ คงไม่ใช่เรื่องเกินวิสัยไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ

ถ้าหากเราจะพูดถึงความก้าวหน้า ในแบบที่หวังอะไรได้บ้าง

 

หวังว่าที่เราทํา ๆ กันมานี่

บอกว่า เจริญสติปัฏฐานสี่ แบบที่พระพุทธเจ้าสอน

 

โอเค อาจจะอาศัยอุบาย อาศัยรูปแบบอะไรที่เป็นการเฉพาะ

แต่ว่าพอยท์ก็คือ ขอให้เกิดประสบการณ์ทางจิต

รับรู้อะไรต่อมิอะไร ภายในขอบเขตของกายใจนี้ แตกต่างไปจากเดิม

ในแบบที่หวังร่วมกันว่า จะเข้าทิศเข้าทาง

แบบที่พระพุทธเจ้าตั้งเป้าหมายไว้ให้

อย่างชัดเจนเป็นขั้นเป็นตอนตามลําดับ

 

หลายท่านบอกว่า .. ไหน? ขอชี้มาให้ชัด ๆ ได้ไหม

ที่บอกว่า บางคนมีสิทธิ์ บางคนใกล้อะไรต่าง ๆ นี่

ขอชัด ๆ อีกนิดหนึ่งได้ไหม  

 

แทนที่จะมาบอกว่า อันนี้โอเค อันนี้ดีอะไรต่าง ๆ

ขอเป็นรายละเอียดภายใน ที่สามารถเช็คกับตัวเองได้

มีเช็คลิสต์ ให้ได้เกิดความเข้าใจอย่างกระจ่าง

ไม่ใช่แค่บอกว่า ดี ไม่ดี ได้ไม่ได้ ใช่หรือไม่ใช่ อะไรแบบนี้

 

วันนี้เลยทํามาแบบที่ จะได้เห็นเป็นลายลักษณ์อักษรเลย

พูดกันแบบตรงไปตรงมาชัดเจน ว่าประสบการณ์อย่างไร

ที่เรียกว่าปฏิบัติตามแนวทาง ที่เรียกว่าเห็นกายใจเป็นรูปนาม

นี่เรายํ้ากันตรงนี้ก่อน

 

วันนี้เราคุยกันชัด ๆ เอาชัวร์ ๆ เลย

ปฏิบัติตามแนวทาง เห็นกายใจเป็นรูปนาม

จะแยกเรียกเป็นขันธ์ห้า หรือว่าธาตุหกก็ตาม แต่ว่าเอาเป็นว่า

เราเจริญสติมาในแบบที่ จะรู้กายใจโดยความเป็นรูปนาม

แล้วมีลางบอกเหตุอะไร ที่เกิดขึ้นปกติ

 

ถึงแม้ว่า โอเคไม่ได้เกิดขึ้นตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง

แต่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ เป็นปกติ

รู้สึกว่าเป็นเหมือนกับสมบัติที่เรามีอยู่ เป็นเรื่องธรรมดาของเรา

เน้น ว่าเกิดบ่อยเป็นปกติ

เหล่านี้ให้นับว่ามีสิทธิ์ข้ามเส้นได้

 

อันแรกเลยคือ ตื่นมามีจิตใสใจเงียบ

รู้เข้ามาที่ร่างนอน แล้วก็จิตสว่างเต็มเอง

 

อันนี้เป็นลางบอกเหตุอันแรก ซึ่งอาจจะไม่เหมือนกัน

บางคนที่ใกล้จะเฉียดเส้นแล้ว อาจจะไม่มีอาการแบบนี้ก็ได้

 

แต่ถ้าหากว่ามีอะไรประมาณนี้ อย่างน้อยเป็นนิมิตหมาย

เป็นเครื่องหมายบอกกับเราเองได้ ว่าตอนนี้

สติของเราเกิดขึ้นเป็นอัตโนมัติแล้ว

เป็นสติ แบบที่ประกอบด้วยความเข้าใจว่า เกิดสติแล้ว จะให้รู้อะไร

 

คําว่าสตินี่ คือระลึกรู้ได้ว่า อะไรเป็นอะไรอยู่ตรงหน้า

 

ทีนี้ ถ้าอะไรเป็นอะไรอยู่ตรงหน้า

ไม่ใช่เรื่องงาน ไม่ใช่เรื่องของข้างนอก

แต่เป็น ข้างใน ภายในกายใจนี่ ดูกันได้ตั้งแต่ตอนตื่นขึ้นมา

ตอนที่เราเริ่มมีสติเป็นวาระแรก ลืมตาตื่น รู้เข้ามาที่ไหน

 

ถ้าหากว่าเป็นอัตโนมัติ รู้เข้ามาที่กายที่ใจ

อย่างนี้เรียกว่าเป็น สติสัมโพชฌงค์

แบบที่จะเป็นองค์ประกอบ หรือว่าเครื่องหมายบอกเหตุของมรรคของผล

 

จากนั้นเมื่อลุกจากที่นอน

ความรู้สึกเข้ามาที่กายใจ ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปกติ

คือไม่ใช่ว่ามีแค่วาระแรก

 

มีบางคน เกิดสมาธิขึ้นมา ตอนช่วงที่เกิดสติรู้ตัวตื่น

เสร็จแล้วพอลุกขึ้นมา หายเลย

นี่แสดงว่าสติ ไม่ได้มีความจดจ่ออยู่กับกายใจจริง

เกิดขึ้นแค่เป็นแว็บๆ  

 

แต่ถ้าหากว่าลุกขึ้นจากที่นอน ยังมีความรู้สึกว่ารู้เนื้อรู้ตัว

หรือบางคนเกิดความรู้สึกว่า ร่างกายมีมูฟเม้นท์

การเคลื่อนไหว ยังเป็นไปตามปกติ

แต่การรับรู้ คมละเอียดขึ้น ราวกับเห็นเป็นภาพสโลว์โมชัน

 

แบบนี้ ก็เรียกว่าเป็นสติสัมโพชฌงค์ ได้เช่นกัน

 

ข้อใดข้อหนึ่งนะ ตื่นขึ้นมา หรือว่า ลุกออกจากเตียง

หรือว่าอยู่ระหว่างวัน มีสติเข้ามาที่กายใจอยู่เรื่อย ๆ  

โดยที่ไม่ได้บังคับ ไม่ได้ตั้งใจ

 

อันนี้แสดงว่าเราประกอบเหตุ ให้เกิดผลลัพธ์ที่กลายเป็นอัตโนมัติขึ้นมา

 

คําว่า อัตโนมัติ สําคัญมาก

คือไม่ได้จงใจ แต่ว่าเข้ามาเอง

ผ่านวาระ ผ่านขั้นตอนของการจงใจมา

ตอนเริ่มต้นนี่ ไม่มีใครที่อยู่ ๆ เกิดสติอัตโนมัติได้เอง เป็นไปไม่ได้

ต้องมีการกําหนด ต้องมีการจงใจ

แม้แต่พระพุทธเจ้า ก็ให้ขั้นให้ตอนมาตามลําดับชัดเจน

ไม่มีที่อยู่ ๆ ทํา ๆ ไป อยู่ ๆ ไป แล้วสติจะเกิดขึ้นมาได้เอง

 

ขั้นต่อไปคือ เรานึกออกบอกถูกอยู่เรื่อย ๆ ว่า

สิ่งที่เห็นในกายใจ เป็นของหลอกชั่วคราว

อันนี้ถือว่าเป็น ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

 

คือถ้ามีสติเข้ามาในกายใจอยู่เรื่อย ๆ  

แล้วสตินั้น ส่งผลให้เราเกิดความเห็นว่า กายใจเป็นของหลอก

ไม่ใช่ว่ามีสติ เห็นว่ากายใจนี่เป็นของดี เป็นตัวเรา เป็นของน่ายึดเอา

แต่เป็นของหลอกชั่วคราว

 

อย่างนี้ แสดงว่าจิตของเรา

เห็นกายใจโดยความเป็นธรรมะ ข้อใดข้อหนึ่ง

จะโดยความเป็นของไม่เที่ยงของลมหายใจก็ตาม ของอิริยาบถก็ตาม

หรือถ้าเป็นอะไรที่แอดวานซ์กว่านั้น ก็อาจจะเห็นว่า

กายนี้ ใจนี้ เป็นขันธ์ห้า หรือเป็นธาตุหก

สามารถเห็นรายละเอียดที่มาปรุงประกอบกันแบบชัดเจน แยกแยะได้ชัด

 

อันนี้ ก็เป็นเรื่องที่เราคุยกันมาตลอดเวลาอยู่แล้วครับ

ประการที่เราจะแยกได้อีกอันหนึ่ง ที่บอกว่าเป็น ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ก็คือ

เมื่อหลงไปรู้สึกว่ามีตัวตน ก็เห็นเป็นชั่วขณะของโมหะที่ครอบจิต

 

พูดง่าย ๆ  ว่าเห็นจิตเป็นส่วนหนึ่ง

เห็นโมหะที่เป็นเมฆหมอก ที่หนาทึบ ที่ครอบงําจิต เป็นอีกส่วนหนึ่ง

 

คนส่วนใหญ่แยกไม่ออก .. เอาอย่างนี้..

ไม่มีสิทธิ์แยกเลย ว่าโมหะคืออะไร

เพราะว่ารู้สึกอยู่ตลอดเวลาตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ชั่วกัปชั่วกัลป์

ว่าจิตนี้กายนี้เป็นตัวของเราแน่ ๆ เป็นตนของเราแน่ ๆ

หรือถ้าไม่ใช่กายใจนี้ ต้องมีอัตตาต้องมีตัวตนอะไรสักอย่างอยู่ที่อื่น

ในภพอื่นชาติอื่น ที่ใดที่หนึ่งแน่ ๆ เรียกว่ามีโมหะครอบจิต

 

แต่ถ้าหากว่าเจริญสติมา จนกระทั่งมีสติเป็นอัตโนมัติแล้ว

ก็จะสามารถแยกแยะได้ คือคําว่าธัมมวิจยะ นี่ พูดกันไม่รู้จบ

แต่ว่าถ้าแยกกันได้แบบคร่าวที่สุดก็คือว่า

ถ้ามีโมหะมาครอบจิต อย่างน้อยเกิดความรับรู้

สามารถแยกแยะได้ว่า นี่ความรู้สึกในตัวตนแบบนี้ มีโมหะมาครอบ  

แล้วถ้าโมหะนี้หายไป ความรู้สึกในตัวตนก็หายตาม อะไรทํานองนี้

 

ถ้าหาก ไม่มีตัวจําแนกแยกแยะได้ว่า

กําลังเกิดอะไรขึ้น ถึงรู้สึกเป็นตัวเป็นตน

หรือเกิดเหตุปัจจัยอะไร เราจึงเกิดความรู้สึกว่าเป็นอนัตตา

แบบนี้ก็จะยังไม่พูดได้เต็มปากเต็มคํา ว่าเป็น ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

 

ลางบอกเหตุต่อไปคือ เมื่อสติหลุดออกไปจากกายใจ

จะมีความเต็มใจกลับมามีสติรู้สึกถึงกายใจได้เอง

 

คือไม่ใช่ต้องฝืน ไม่ใช่ต้องบังคับ

ถ้ายังต้องฝืน ถ้ายังต้องสั่งให้ตัวเองกลับมารู้กายใจ

มีการขู่มีการปลอบ มีการเหมือนกับยื้อแบบนี้

ยังไม่ใช่วิริยะ ในแบบที่จะเป็น วิริยสัมโพชฌงค์

ยังเป็นวิริยะ ในแบบมีตัวมีตนอยู่

 

คือถ้าหากว่ามีตัวนํามา เป็นสติสัมโพชฌงค์ กับธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

ก็จะมีความลื่นไหลแล้ว จะมีความรู้สึกว่าเป็นไปเองแล้ว

คําว่าเป็นอัตโนมัติ สําคัญที่ตรงนี้น่ะ

 

ถ้าหากว่า เรารู้สึกเหมือนกับว่าพร้อมจะกลับมารู้กายใจ

ถึงแม้ว่าจะแวบไปทางอื่น ถึงแม้ว่าจะออกไปข้างนอก ส่งจิตออกนอกบ้าง

แต่ก็จะมีคล้าย ๆ  กับความเป็นยางยืด หนังสติ๊ก

ที่ดีดกลับเข้ามาที่กายใจนี้ โดยไม่ต้องฝืน

โดยมีความรู้สึกว่า ฐานที่มั่นที่อยากอยู่จริง ๆ  

ที่อยากมารู้จริง ๆ  ให้ต่อเนื่องคือ กายใจนี้

 

และลางบอกเหตุอีกอันหนึ่งก็คือ

รู้สึกสนุก กับการเดินจงกรม นั่งสมาธิมากกว่ากิจกรรมอื่น

 

คือบางคนบอกว่า.. โอเค ถ้าทําได้ อนุโมทนา

อันนี้พูดจากใจจริง ๆ  

 

คือถ้าไม่ได้เดินจงกรมไม่ได้นั่งสมาธิ

แต่อยู่ระหว่างวัน รู้สึกว่ามีความสนุก

กับการเห็นกายใจได้ตลอดเวลาต่อเนื่อง

อันนั้นขออนุโมทนา

 

แต่ถ้าหากว่าเอาการปฏิบัติแบบในห้องเรา

เราคุยกันว่า การตั้งหลัก .. การตั้งหลักสติ การตั้งหลักที่จะเห็นกายใจ

ต้องเริ่มกันด้วยการนั่งสมาธิ หรือการเดินจงกรม เป็นเรื่องเป็นราว

 

เหมือนกับในสมัยพุทธกาล ใครถามว่า

ปกติพระภิกษุในพุทธศาสนาทําอะไรกันโดยมาก

พระพุทธเจ้าให้ตรัสตอบ ให้บอกว่า นั่งโดยมาก เดินโดยมากทั้งวัน

ก็คือนั่งสมาธิ แล้วก็เดินจงกรมโดยมากนั่นเอง

 

ถ้าหากว่าสนุกกับการ .. อันนี้สําคัญ

สนุกกับการเดินจงกรม หรือนั่งสมาธิโดยมาก มากกว่ากิจกรรมอื่น

ก็วัดได้ว่าเรามี วิริยสัมโพชฌงค์

 

คือความสนุกนี่ พูดง่าย ๆ ก็คือ ฉันทะ

ฉันทะ ฝรั่งเรียก passion .. มีใจ มีไฟ

มีความรู้สึกที่เต็มอิ่ม อยู่กับการที่มานั่งสมาธิ เดินจงกรม

แบบไม่ใช่แค่ไม่ฝืนใจ

 

แต่เอาเป็นว่ามีความรู้สึกเหมือนกับว่า

ทั้งชีวิตนี่อย่ากอุทิศให้กับตรงนั้นแหละ

 

โดย ความรู้สึกที่มีแรงผลักดัน มีแรงขับดัน เต็มอิ่ม

ไม่ใช่มีความรู้สึก เหมือนกับฝืน หรือว่าทรมานใจเหลือเกิน

ที่จะต้องมานั่งสมาธิ เดินจงกรม

 

ถัดจากนั้น ก็มีเรื่องของลางบอกเหตุที่ว่า

ตัวของจิตเองมีความผ่องใส มีความเปิดเต็ม

 

คําว่าเปิดเต็มก็คือ ไม่มีความคิดครอบ เปิดออกแบบใส ๆ

แล้วก็รู้ด้วยว่า เป็นต่างหากจากความคิด ไม่ถูกความคิดครอบงําได้ง่าย ๆ มีปีติได้ง่าย แม้จะอยู่ระหว่างวันก็ตาม

ไม่จํากัดอยู่เฉพาะว่าในทางจงกรม หรือว่าในที่นั่งสมาธิอย่างเดียว

 

อยู่ระหว่างวัน ที่จิตมีความผ่องใส

ก็พร้อมจะบันดาลปีติหรือฉีดปีติออกไป แต่ปีตินี่ไม่ใช่แบบฉีดอย่างเดียว

เอาแค่เย็น ๆ เอาแค่ความรู้สึกว่า สงบแบบวิเวก

โน้มน้อมไปทางวิเวก แค่นี้ก็เรียกว่าเป็นปีติ

ในแบบที่จะเป็น ปีติสัมโพชฌงค์ แล้ว

 

ไม่ใช่ต้องปีติหวือหวาเสมอไป ไม่ต้องฉูดฉาดมีสีสัน

ปีติอ่อน ๆ อิ่มใจ รู้สึกว่ามีความเย็น มีความสงบระงับ

กายใจไม่กวัดแกว่ง อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นปีติแล้ว  

 

ซึ่งก็จะมีผลบอกว่า กายนี้ จะผ่อนคลาย

พวกที่เกร็งบ่อย ๆ  หรือว่า กัดปากไม่รู้ตัว เท้าจิก

หรือว่ามือนี่ คอยจะกำเกร็งอะไรแบบนี้

ไม่ใช่เครื่องหมายบอกของปีติสัมโพชฌงค์แน่นอน

 

เพราะว่าพอกายผ่อนคลาย ใจผ่องใส

จะรู้สึกถึงความสบายอย่างเป็นไปเอง ที่เนื่องอยู่กับจิต

 

คือจิตถ้าผ่องใส อะไร ๆ ตามมาแบบนี้แหละ

กายสงบระงับไม่กวัดแกว่ง ใจสงบระงับไม่กวัดแกว่ง

แบบนี้ คําว่าเนื่องอยู่กับจิต คือมารู้อยู่ที่จิตนี่

เห็นเลยสําหรับคนที่มีปีติสัมโพชฌงค์เป็นปกตินี่

จะรู้เข้ามาที่จิต ที่แผ่ ที่เบ่งบานออกมาอยู่เรื่อย ๆ

 

ระหว่างวัน แม้ฟุ้งก็จะเห็นความฟุ้งแยกออกจากจิตได้เอง

นี่เป็นที่มาของความสงบระงับ ในที่คําว่า ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

จะไม่ถูกความฟุ้งซ่าน เข้ามากระทํา  

 

ปีติสัมโพชฌงค์ กับปัสสัทธินี่มาด้วยกัน ควบคู่กัน

ตามหลังเป็นเงาตามตัวกันมา

ถ้ามีปีติสัมโพชฌงค์จริง ปัสสัทธิตามมาแน่ ๆ แยกกันไม่ออก

แล้วจะมีความรู้สึกถึงจิตใสใจเงียบ กายสงบระงับ ไม่ค่อยกระสับกระส่าย

 

อาจจะมีบ้างระหว่างวัน หรือว่าในการเดินจงกรม

เดินไปแล้วเมื่อย เดินไปแล้วเกิดความรู้สึกเมื่อยขา ขาเกร็ง

หรือว่า นั่งแล้วปวดหลังอะไรอย่างนี้

อาจจะรู้สึกกระสับกระส่ายขึ้นมาบ้าง รู้สึกเป็นทุกข์ขึ้นมาบ้าง

แต่ไม่ใช่ว่าจะอยากลุกไปทําอะไรที่ตอบสนองกับกิเลส อะไรแบบนั้น

 

ความหมายของการมีกายใจสงบระงับไม่กวัดแกว่งนี่

ควบคู่กันมากับความรู้สึกอิ่ม ความรู้สึกเย็น ความรู้สึกว่ามีจิตที่ผ่องใส

 

จิตผ่องใสนี่ตัวเดียวเลย เป็นตัวนํา

ที่จะทําให้กายใจ เกิดความสงบระงับขึ้นมา

แล้วก็พร้อมที่จะอยู่กับความวิเวก

 

คําว่าวิเวก ก็คืออาการที่จิตไม่ดิ้นรนนั่นเอง

พอจิตไม่ดิ้นรน ภาวะทางกายก็ไม่ดิ้นตาม

 

ถัดจากนั้น ก็คือ .. ตัวนี้เรื่องสําคัญ มาอยู่ช่วงท้าย ๆ

คือว่า สามารถรับรู้กายใจได้นาน สติไม่เคลื่อน

แล้วก็ไม่อยากได้อะไรที่ยังไม่เกิดขึ้นเดี๋ยวนั้น

อย่างประเภทที่ใจเร่งร้อน เป็นพวกควบโขยกม้า จะวิ่งเข้าเส้น

จะเอามรรคผลให้ได้เดี๋ยวนี้ พอไม่ได้แล้วทรมานใจ

อันนี้ยังไม่ถือเป็นสมาธิ เพราะว่าจิต ยังไม่สงบราบคาบจริง

 

ถ้าจิตสงบราบคาบ เป็น สมาธิสัมโพชฌงค์ จริงจะไม่เคลื่อน

สติจะไม่เคลื่อน เวลารู้กายรู้ใจอะไร จะมีความรับรู้ด้วยสติที่บริสุทธิ์

 

แล้วคําว่าสติบริสุทธิ์นี่ ก็ดูง่าย ๆ  

ภาวะปรากฏอยู่อย่างงั้น อาจจะปรากฏเป็นชั่วโมง ๆ ต่อเนื่อง 

โดยความเห็นว่า สักแต่เป็นธาตุดิน สักแต่เป็นกระดูก

สักแต่เป็นภาวะที่สุขสงบ แต่ไม่รู้สึกอยากจะยึด

 

ตัวที่เห็นว่าอะไร ๆ ที่ปรากฏ โดยรูปโดยนาม

เป็นแค่ภาวะ ไม่ใช่บุคคล นี่สติบริสุทธิ์

จะมีความต่อเนื่อง ไม่มีอาการกระเพื่อม

เป็นความอยากได้อะไร อยากเห็นอะไร ในภาวะที่ยังไม่เกิด

 

คือมีความพอใจ มีฉันทะที่จะเห็นเฉพาะภาวะที่กําลังปรากฏ

ว่าไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนของใคร ณ ขณะนั้นเท่านั้น

นี่เรียกว่า สมาธิสัมโพชฌงค์

มีอาการที่ตั้งมั่น ไม่เคลื่อนอยู่โดยประมาณนี้

 

แล้วในความเสถียรนั้น คุณจะรู้สึกได้ว่าใจเปิด คือไม่ใช่ใจปิด

ถ้าเสถียร แต่ว่าใจปิดนี่ สันนิษฐานได้ว่า

กําลังอาจจะเป็นโรคจิตได้ง่าย ๆ หรือว่าเป็นบ้าได้ง่าย ๆ  

 

จิตที่เสถียร แล้วทําให้เกิดความเป็นปกติ

ต้องเป็นจิตที่มีความเปิด ไม่ใช่มีความปิด

ถ้ารับรู้อะไรได้ต่อเนื่องยาวนาน แต่จิตปิดอุดอู้ ทุกข์ทรมาน

แบบนั้นนี่ เข้าข่ายใกล้บ้า

 

แต่ถ้าหากว่า เสถียร แล้วจิตเปิดกว้าง รับรู้อย่างเป็นไปเอง

อันนี้ ถ้าไม่เฉียดพรหม ก็เฉียดมรรคผลนิพพาน

ตรงนี้เป็นตัวตัดเชือกง่าย ๆ  เลย  

 

แล้วก็ ลักษณะของสมาธิสัมโพชฌงค์ ต้องมีความเป็นจิตใหญ่

 

อย่างน้อยไม่ใช่จิตคับแคบ ไม่ใช่จิตเล็ก

แต่เป็นอาการที่แผ่ขยายออก

อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอนบ่อยๆ ให้แผ่จิตออก

ไม่ว่าจะสอนเรื่องแผ่เมตตา หรือสอนเรื่องแผ่กสิณ

 

พระองค์ ไม่เคยสอนให้มีจิตคับแคบอุดอู้

แล้วความแผ่ออกนี่ ต้องมีความใสเบา

และในความใสเบา จะมีสิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องหมายบอกเหตุ

ว่าเฉียดข้ามเส้นจริง ก็คือ ความปักใจแน่วแน่ในความเบา

 

เบา ไม่ใช่ เพ่ง

ในความเบา ที่แผ่ออก มีความปักใจอยู่กับความกระจ่างว่า

กายใจนี้เป็นรูปเป็นนาม ไม่ใช่ตัวเรา

 

คือบางคนมีสมาธิจริง แต่เกิดน้ำหนัก ตัวตนขึ้นมา

เพราะว่าอาจจะไปมีความเห็น

หรือว่ามีตะกอนของมิจฉาทิฐิอะไรบางอย่าง โผล่ขึ้นมา

หรือไม่ก็จิต ไปเพ่งคับแคบอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่ง

แล้วเกิดน้ำหนัก ความรู้สึกในตัวตนขึ้นมา โดยอาจจะไม่รู้ตัว

 

แต่ถ้าหากว่าเป็นสมาธิ แบบที่เสถียร

ที่คุณจะรู้สึกผ่อง ๆ ใส ๆ  บาน ๆ ออกมา เบิกบานออกมา

แล้วก็มีสิ่งที่เรียกว่า ความปักใจแน่ว รับรู้ว่านี่ไม่ใช่ตัวของเราจริง ๆ

เป็นแค่ภาวะทางธรรมชาตินี่

 

ตัวนี้เรียกว่า อธิโมกข์ ที่ประกอบพร้อมอยู่ในสมาธิสัมโพชฌงค์

 

คือคําว่าสมาธิสัมโพชฌงค์ นี่

ที่จะวัดว่าเป็นสมาธิแบบที่อยู่ในโพชฌงค์

ต้องมีความปักแน่วอยู่กับการรับรู้ เป็นปกติ

ว่ากายนี้ใจนี้ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่ใคร

 

ข้อสุดท้าย อันนี้ที่สําคัญ ที่เป็นลางบอกเหตุ

ถ้าหากเกิดขึ้นกับคุณ ก็เรียกว่าเตรียมไชโยได้

 

นี่เป็นแค่การยกตัวอย่างนะ เพราะถ้าจาระไนนี่ เยอะมาก

อาจจะลิสต์มาได้เป็นพัน ๆ ข้อ

แต่ว่าที่คัดมานี่ เหมือนกับเอามาโชว์เป็นตัวอย่าง

 

ถ้ามีปีติสุขล้นหลาม ก็จะเกิดสติแยกเป็นคนละชั้นกับจิต

คือรู้ มีความรับรู้ว่า ปีติที่ล้นหลามนั้น แยกเป็นคนละชั้นกับจิต

จิต ดูอยู่ เป็นผู้ดูอยู่ นี่เป็นตัวอย่างของอุเบกขา อุเบกขาสัมโพชฌงค์

 

หรือถ้าเห็นกายใจ เป็นแค่ของหลอกชั่วคราว

เวลาที่มันจะหายไป เวลาที่แม้กระทั่งว่า

มันทําท่าเหมือนจะตายจะแตกดับ

ก็ไม่ยินดียินร้าย แม้ว่าจะหายไปอยู่ต่อหน้า

อย่างนี้เรียกว่าเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์

คือลักษณะของจิต จะแยกออกมาเป็นต่างหาก

 

ลองนึกดูนะ ถ้าคุณดูหนัง และมีความรู้เนื้อรู้ตัวอยู่

เรานั่งอยู่ที่เก้าอี้คนดู เราไม่ได้เป็นตัวละครที่อยู่ในหน้าจอ

จะเกิดความรู้สึกว่า จะเป็นตายร้ายดี เราก็นั่งดูอยู่

ไม่ใช่ว่าเราจะต้องเป็นตายร้ายดีตาม

 

แต่บางคน ถึงแม้เป็นคนดู แต่ก็อินกับมันมาก

เหมือนกับจะต้อง ร้องห่มร้องไห้ หรือว่าจะต้องทุรนทุราย

ตีอกชกหัวตามตัวละครในในจอ

 

การที่เราจะพูดถึงอุเบกขานี่ ต้องมีตัวชี้ ต้องมีตัวบอกใบ้สักนิดหนึ่ง

เวลาที่เกิดอะไรขึ้น จิตของเราแยกออกมาเป็นผู้รู้ผู้ดูอย่างเฉยเมย

มีความเต็มตื่น มีความสว่าง มีความเบิกบานรับรู้

เหมือนกับว่ากําลังเป็นคนดู ที่เห็นหนังเขาโชว์ขึ้นมาหลอก ๆ

แสดงขึ้นมาหลอก ๆ  หรือเปล่า

 

ถ้าเรารับรู้ได้อย่างนั้น ถือว่า มีสติในแบบที่ประกอบอยู่ในจิต

ในแบบที่ ทําให้จิตเป็นอุเบกขาจริง

 

ทีนี้ มาดูว่าองค์ธรรมทั้งเจ็ด เพื่อความพร้อมตรัสรู้ธรรมนี่

พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างไร

 

ท่านบอกว่า อานาปานสติที่เจริญมากแล้ว

มีอานิสงส์คือ ทําให้เกิดสติสัมโพชฌงค์ อันสหรคต ด้วยอานาปานสติ

 

อันนี้เป็นการยืนยันว่า อานาปานสติที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสนี่

ไม่ใช่ให้จ้องลมหาย เฉย ๆ แต่ถ้าหากว่ามีสติอยู่ รู้อะไรอยู่ก็ตาม

แล้วรู้ว่าหายใจออก รู้ว่าหายใจเข้า

 

อย่างนี้เหมือนกับบอกว่า อานาปานสตินี่ พาไปถึงมรรคผลได้

โดยมีเครื่องหมายบอกว่า ตัวโพชฌงค์ ทั้งเจ็ดประการนี่

สามารถเกิดประกอบพร้อม

 

คําว่าสหรคตนี่ คือประกอบพร้อมไปด้วยกัน

คือต่างคนต่างเป็นคนละขั้วกัน

แต่ว่ามาเกิดประกอบพร้อม เหมือนเดินควบคู่กันไป

คนสองคนมาเดินควบคู่กันไป สู่จุดหมายเดียวกัน

 

อันนี้ คือจะบอกว่า

 

สติสัมโพชฌงค์

ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

วิริยสัมโพชฌงค์

ปีติสัมโพชฌงค์

ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

สมาธิสัมโพชฌงค์

และอุเบกขาสัมโพชฌงค์

คือสิ่งที่เมื่อกี้ พูดมาทั้งหมดนี่แหละ

 

ถ้าหากว่าเราเจริญอานาปานสติมาถูก ก็มีสิทธิ์ได้

 

ทีนี้จริง ๆ จะตบท้ายว่า ไม่ใช่แค่เรื่องของการที่

จะบังคับ ต้องมีลมหายใจประกอบอยู่เท่านั้น

อันนี้อธิบายให้ฟัง

 

อย่างในสมัยพุทธกาล ที่พระพุทธเจ้า เจอกับนักบวชศาสนาอื่น

ที่เขาได้ฌาน สําเร็จฌานสมาบัติแปด พบพระพุทธองค์

พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้สอนอานาปานสติ

แต่เอาฐานของสมาธิ ที่กําลังมีอยู่ในนักบวชท่านนั้น

มาเป็นตัวตั้ง ในการตรัสเทศน์ว่า

ขอให้รู้ว่า สิ่งที่กําลังปรากฏอยู่ในจิต เป็นการปรุงแต่งของจิต

ที่ผ่านมานี่ เป็นแค่ของปรุงประกอบ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

 

ทีนี้ ตัวพระองค์เอง ท่านเหนือกว่า มีสมาธิเหนือกว่า มีสติเหนือกว่า เพราะฉะนั้นคนที่เขามีจิตถึง เขาก็จะรู้ว่า ท่านนี้เหนือกว่าเรา

พ้นไปจากสิ่งที่เรายังยึดอยู่ แล้วก็มีสิ่งที่เรายังไปไม่ถึง

 

เพราะฉะนั้น พอพระพุทธองค์ตรัส

ท่านก็สามารถเข้าใจได้อย่างรวดเร็วแล้วก็บรรลุธรรมได้

 

อันนี้ก็ ทํานองเดียวกัน

เวลาที่ บางคนอาจจะบอกว่า

อานาปานสติยังไม่แม่นเท่าไหร่ ยังไม่เก่งเท่าไหร่

ในทางปฏิบัติแล้ว ยังไม่ค่อยรู้ลมมาก

 

แต่ว่ามาเดินจงกรม รับรู้ว่ากายใจนี้เป็นขันธ์ห้า เป็นธาตุหก

เอาเป็นว่า พูดง่าย ๆ ตามประสบการณ์ โดยไม่ต้องใช้ศัพท์

ก็รู้สึกว่ากายนี้เป็นวัตถุชิ้นหนึ่ง แล้วใจเป็นผู้ครอง เป็นผู้รับรู้

ว่ากายนี้ดุ่มเดินไป โดยที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครอยู่ในนี้

อย่างนี้ก็คือเข้าข่ายเหมือนกัน

 

แล้วถ้าหากว่า เอาจากองค์ประกอบทั้งเจ็ด ที่เรียกว่าโพชฌงค์

มาเป็นเครื่องวัดมาเป็นเครื่องชี้

เราสามารถยืนยันกับ ตัวเองได้ เหมือนกับที่ผมบอกว่า

หลาย ๆ ท่านนี่ ในที่นี้ ตอนนี้มั่นใจแล้วว่า มาถูกทาง

 

ไม่ใช่เพราะว่า ได้มรรคผลแล้ว

แต่เพราะว่ารู้สึกว่า ยิ่งวัน

กายใจยิ่งปรากฏ โดยความเป็นของแปลกปลอม

เป็นของหลอก เป็นของอื่น ไม่ใช่ตัวใคร ไม่มีใครอยู่ในนี้ มากขึ้นทุกที

 

เพราะฉะนั้น จะให้ใครก็ตาม จากที่ไหนก็ตาม มาบอกว่า

อันนี้ผิด ทํามาแบบนี้ไม่ถูก หรือบางคนก็ถึงขั้นบอกว่าระวังไปนรก

 

คือนั่นเป็นเรื่องที่เป็นบัจจัตตัง จะรู้ด้วยตัวเอง เห็นด้วยตัวเอง

ว่าเวลาที่กายใจนี้ปรากฏ โดยความเป็นที่ตั้งของอุปาทาน

แล้วใจเราถอยห่างออกมาทุกที 

ที่พูดมาทั้งหมดนี่แหละ จะมีเครื่องหมายบอก

ตื่นขึ้นมา มีความรับรู้ขึ้นมาเอง

ในกายใจมีฉันทะ ที่จะรู้ต่อไปเรื่อย ๆ

 

จนกระทั่ง มาวัดผลว่า เรารู้ได้เป็นปกติ

แล้วรู้อย่างเป็นกลางเป็นอุเบกขา

 

(ส่งท้าย)

วันนี้ เกริ่นขึ้นมา บอกว่าคนที่มีสิทธิ์ข้ามเส้น

สะสมสติ สะสมสมาธิมาแล้ว ได้ความเห็นอะไรบ้าง

ว่ากันเป็นประสบการณ์

 

ทีนี้ ไม่ใช่ไปให้พะวง ว่า

เราจะต้องมาคาดคั้นตัวเอง ให้เห็นอย่างนี้ นี้ นี้  

 

ขอแค่ว่าเราทําไปเรื่อย ๆ นับ หนึ่ง สอง สาม ไป

แล้วจะเกิดผล แบบที่จาระไนไว้นี่หรือเปล่า

อันนั้นเป็นเรื่องของความพร้อมของสภาวะ

ไม่ใช่เรื่องของความอยากของเรา ที่จะให้ไปเกิดเหตุผลแบบนั้น

 

อันนี้ก็จะปิดจบด้วยการเน้นยํ้าว่า ที่พูดไปตอนต้นรายการ

ที่เกริ่นขึ้นมานี่ เป็นเรื่องของการที่สะสมมาแล้ว

แล้วเห็นอย่างนั้นเองเป็นอัตโนมัติ

ไม่ใช่ว่าเรากะเกณฑ์ว่า จงเห็นอย่างนั้น

 

จงเห็นอย่างนั้นนี่ บังคับเอา

จงเห็นอย่างนั้นนี่ มีตัวตน ของผู้เห็น

แต่ถ้าเห็นเอง หลังจากสะสมมาได้อิ่มตัวพอ

นี่แหละ ที่ถึงจะนับว่าใช่ครับ ขอเน้นยํ้าที่ตรงนี้ด้วย

______________

วิปัสสนานุบาล EP127 | เสาร์ 30 เมษายน 2565

เกริ่นนำ ลางบอกเหตุใกล้บรรลุ

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https//www.youtube.com/watch?v=XNxuvZraRQ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น