วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

วิปัสสนานุบาล EP 98 (เกริ่นนำ) ความเข้าใจในการใช้คำ ขันธ์ห้า ธาตุหก - 21 มีค. 65

EP 98 | จันทร์ 21 มีนาคม 2565

เกริ่นนำ : ความเข้าใจการใช้คำ ขันธ์ห้า ธาตุหก

 

พี่ตุลย์ : สวัสดีทุกท่านนะครับ พบกันวันจันทร์ตั้งแต่เก้าโมงถึงเที่ยง

 

สําหรับวันนี้ ก็เป็นการไลฟ์มาจากนอกสถานที่นะครับ

ก็ของดสวดมนต์ในช่วงเริ่มต้น

 

วันนี้อยากจะคุยนิดหนึ่งก่อน เกี่ยวกับเรื่องของความเข้าใจในการใช้คํา

 

มาถึงตรงนี้ หลาย ๆ ท่านคงจะเริ่มแยกออก

แต่บางท่านก็อาจจะยังสับสนอยู่เกี่ยวกับการใช้คําของผม

 

อย่างเช่นว่าจังหวะไหน ถึงควรใช้คําว่า กายใจ

จังหวะไหนใช้คําว่าขันธ์ห้า

จังหวะไหนใช้คําว่าธาตุหก

 

เริ่มต้นขึ้นมา เอาตามความรู้สึกของคนปกติธรรมดาทั่วไป

คนปกติทั่วไปนี่ จะไม่มองว่าตัวเองคือขันธ์ห้า ตัวเองคือธาตุหก

แต่ .. ตัวเองคือตัวเอง

จะมีความรู้สึกในตัวตนอยู่

 

พอเรามาดูว่ารายละเอียดของตัวตนประกอบด้วยอะไรบ้าง

ไม่ว่าใครก็จะรู้สึกนะว่า ต้องประกอบด้วยร่างกายแน่ ๆ

ส่วนจิตใจ แล้วแต่ความเชื่อ

 

อย่างถ้าทางตะวันตก

ทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน ก็ไม่ยอมรับการมีอยู่ของสปิริต (spirit)

แต่ยอมรับการมีอยู่ของมายด์ (mind) นะ

เพราะว่ามายด์ กับ เบรน (brain) คืออันเดียวกัน

สมองกับจิต คืออันเดียวกัน

 

แต่ถ้าบอกว่า สปิริต หรือ วิญญาณ หรือ โซล (soul)

ที่แยกเป็นต่างหากจากร่างกาย อย่างนี้นี่ไม่ยอมรับ

เพราะไม่สามารถใช้หูตาในการรับรู้

ไม่สามารถใช้เครื่องมือพิสูจน์แบบที่จับต้องได้ในทางวิทยาศาสตร์

มาพิสูจน์การมีอยู่ของสปิริต หรือว่าตัวโซล

 

ทีนี้พอเรามองว่าคนทั่วไป แม้แต่ทางตะวันตก

บอกว่ามีบอดี้ (body) แล้วก็มี มายด์ นะ

 

มายด์ หมายถึงสมอง แต่ว่าถ้าฝั่งตะวันออกของพวกเรา

จะมีพื้นเพความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องของจิตวิญญาณอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงคําว่า กายใจ ก็จะหมายถึงตัวตนของเรา

ซึ่งประกอบด้วย ร่างกาย แล้วก็ จิตวิญญาณ

 

หรือบอกว่า จะเป็นใจในแบบตามความเชื่อคนรุ่นใหม่ ก็คือ

ใจคือ สมอง หรือใจคือภาวะธรรมชาติอะไรก็ช่าง

นี่เป็นการประกอบอยู่ด้วยความรู้สึกในตัวตน

 

เพราะฉะนั้น ถ้าผมใช้คําว่า กายใจ

หมายถึง ตัวบอดี้แล้วก็มายด์ ตามความรับรู้ของคนทั่วไป

 

กายกับใจนี้ .. กายนี้ใจนี้มีตัวตนอยู่

ไม่แบ่งแยกว่าเป็นเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาไหน

หรือว่า ตามความเห็นของใครทั้งสิ้น

เพราะทุกคนต้องยอมรับโดยพื้นฐานว่า มีสองส่วนประกอบกันอยู่แน่ ๆ

 

แล้วทีนี้มาบอกว่า จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าวอย่างนี้

จริงๆ ก็ส่อ หรือสื่อถึงความรู้สึกในตัวตนเช่นกัน

คือหมายความว่า เรามีตัวมีตน มีความรู้สึกในตัวตน

ที่บังคับควบคุมภาวะทางกาย ให้เป็นไปดังใจนึกได้

จะให้ลุกขึ้นไปฆ่าคนก็ได้

จะให้ลุกขึ้นไปลักทรัพย์ใครก็ได้

จะให้ลุกขึ้นไปผิดประเวณีอะไร อย่างใดนี่

ร่างกาย ไม่มีทางขัดขืน ไม่มีทางปฏิเสธ

ในแง่ของกรรมนะ ในแง่ของพฤติกรรม ที่จะแสดงออกซึ่งเจตจํานง

 

เจตจํานง มาจากความรู้สึกทางใจ หรือว่าอารมณ์ทางใจ

ที่มีความเป็นตัวเป็นตน รู้สึกเป็นตัวเป็นตนในเรา

อันนี้ก็คือคําว่า จิตเป็นนายกายเป็นบ่าว

 

ทีนี้พอบอกว่า เรามาเจริญสติกัน

แล้วเห็นภาวะทางกายทางใจนี่แตกต่างไป 

พอเกิดสมาธิขึ้นมา มีความรู้สึกว่า ภาวะทางกายนี้ ไม่เหมือนร่างกายปกติ

ที่เรานิยามกันว่า เป็นกายของฉัน เป็นกายที่เป็นเครื่องหมาย

บอกว่า หน้าตาแบบนี้ รูปร่างแบบนี้ คือตัวไอเดนทิตี้ (identity)

ตัวสัญลักษณ์บอกเป็นเอกลักษณ์ว่า หน้าตาแบบนี้คือชื่อนี้ นามสกุลนี้

ไม่รู้สึกแบบนั้น

 

อย่างถ้า ใครสามารถเห็นร่างกายโดยความเป็นกระดูกได้มาแล้ว

นี่ จะเกิดประสบการณ์อีกแบบ

ลบความจําเก่า ๆ อย่างน้อยชั่วขณะนั้น ที่เห็นร่างกายเป็นกระดูก

ว่าเหมือนกับภาวะอะไรอย่างหนึ่ง

ที่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวตน ไม่เกี่ยวข้องกับตัวฉัน

เป็นภาวะธรรมชาติอะไรชนิดหนึ่ง ที่บอกได้ว่าความรู้สึกต่างไป

 

ตรงนี้ ถึงได้มีการเรียกชื่ออื่นแทน

ภาวะทางกายเรียกว่าเป็น รูป

ส่วนภาวะทางใจ ที่มีความปรุงแต่ง ไม่ใช่แค่ว่าเป็นจิตวิญญาณอย่างเดียว

แต่มีความรู้สึก มีความนึกคิดอะไรอย่างนี้

เราก็เหมารวมเรียกว่าเป็น นาม

 

รูปกับนาม ตัวนี้..

เหตุผล พูดง่าย ๆ ก็คือแปรไปตามประสบการณ์ การรับรู้ภายใน

 

อย่างพวกเราที่อยู่ในห้องวิปัสสนานุบาล

ฝึกเดินจงกรมหลับตา แล้วเกิดประสบการณ์ขึ้นมาว่า

เวลาที่ร่างกายนี้ ไปยืนเทียบกับผนัง รู้สึกถึงความเป็นวัตถุ

แล้ววัตถุนั้น ไม่ได้มีตัวของมันโดยลําพัง

ยังมีภาวะของลมหายใจเข้าลมหายใจออก

นี่.. สำนึกรู้สึกแตกต่างจากปกติ

 

ถ้าจะเรียกแค่รูปแค่นาม ก็รู้สึกจะสั้นไปนิดหนึ่ง คร่าวๆ ไปนิดหนึ่ง

น่าจะมีรายละเอียดเพิ่มเติมขึ้นมา เป็นภาวะที่แยกต่างหากเป็นชั้นๆ

 

ก็เลยถึงได้มีการจัด เซ็ตของ รูปและนาม ขึ้นมาใหม่

 

ถ้าแยกได้ตามลักษณะภาวะที่คงรูปคงร่างอยู่ เรียกว่า ธาตุดิน

ที่มีอาการพัดเข้าพัดออก เรียกว่า ธาตุลม

แล้วก็ที่บางทีรู้สึกถึงช่องว่างได้

ระหว่างธาตุดินหมายเลขหนึ่งกับธาตุดินหมายเลขสอง

ก็เรียกว่า อากาศธาตุ

ส่วนตัวที่รับรู้ทุกสิ่ง ตัวที่รับรู้ธาตุอื่นๆ

เราเรียกว่าธาตุรู้ หรือว่าวิญญาณธาตุ

 

นี่อันนี้ เป็นการจัดเซ็ตขึ้นมาใหม่

 

พระพุทธเจ้าท่านบัญญัติว่าเป็น ธาตุหก

เห็นกายใจโดยความเป็นธาตุหกนี่

คือเห็นโดยความสัมพันธ์กันระหว่างดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศแล้วก็วิญญาณ

 

ตัววิญญาณธาตุ เอาง่ายๆ คือเราเห็นเป็นดวงรู้ ดวงสว่างดวงหนึ่ง

เป็นภาวะที่ประกอบประชุมอยู่ในดิน น้ำ ไฟ ลม และอากาศนี้

สามารถเห็นธาตุอื่นๆ ได้

ตัวของมันเอง เป็นสิ่งเดียวในจักรวาลของธาตุหก ที่สามารถรู้ธาตุอื่นๆได้

ธาตุอื่นๆ นี่ เป็นที่ตั้ง เป็นที่แสดงให้ดูเฉยๆ

ไม่ได้มีความสามารถรับรู้อะไรได้

นี่ถึงได้เรียกว่าเป็นธาตุหก

 

พูดง่ายๆ ว่าถ้าจิตนิ่งเงียบ ไร้ความคิด

มีแต่เห็นตัวเองปรากฏชัด โดยความเป็นภาวะสว่าง ว่าง

แล้วก็ ธาตุอื่นๆ ปรากฏให้จิตรับรู้ว่า เป็นดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ

เราเรียกว่า ธาตุหก

 

แต่ถ้าเมื่อไหร่ เกิดความฟุ้งซ่านขึ้นมา .. นี่ ตัวนี้นะ

หรือมีความคิดนึก เจตจํานงอะไรอย่างอื่น

นอกเหนือจากที่ จะดูกายใจโดยความเป็นธาตุหก

 

แบบนี้เราจะไปเรียกเป็นธาตุหก ก็เหมือนกับไม่เพียงพอที่จะใช้อธิบาย

ก็เลยต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ขันธ์ห้าขึ้นมาอธิบายแทน

เป็นของอันเดียวกัน แต่ว่าเราเห็นต่างแง่ต่างมุม

 

คือเวลาที่เรายืนอยู่ .. ยกตัวอย่าง

อันนี้ยกตัวอย่างที่เทียบเคียงได้กับการปฏิบัติของพวกเรานะ

เวลาที่เห็นร่างกายไปยืนประจันอยู่กับผนัง

แล้วเกิดความรู้สึกว่า ช่องว่างที่อยู่ระหว่างร่างกายของเรากับผนังนี่

มีอะไรคลุ้งๆ ยุ่ง ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า

จิตของเรากําลังฟุ้ง ๆ ยุ่ง ๆ อยู่นั่นเอง

 

ตัวที่เห็นฟุ้ง ๆ เห็นยุ่ง ๆ นั้น เราจะเห็นโดยความเป็นธาตุหกก็ไม่ได้

เพราะว่า ในเซ็ตของธาตุหกนี่ ไม่มีความฟุ้งซ่านอยู่

ไม่มีภาวะปรุงแต่ง คิดนึก

ตรงนี้ก็เลยบอกว่าเป็นขันธ์ห้า

 

ขันธ์ห้านี่ ถ้าเอาตามโดยนิยาม

ใครจะไปบอกว่าเป็นธาตุห้าอะไรแบบนี้ก็ได้

แต่ต้องมีความเข้าใจว่า มีเซ็ตของความสัมพันธ์กันอย่างไร

 

นั่นก็คือว่า

รูปขันธ์นี้ ตั้งอยู่ ยืนอยู่ แล้วมีความรู้สึก เป็นสุขเป็นทุกข์

รูปขันธ์นี้ ยืนอยู่แล้วมีสัญญา ตัวความจําได้หมายรู้ สําคัญมั่นหมาย

ว่านี่เป็นตัวเป็นตน หรือว่าไม่ได้เป็นตัวเป็นตน

ถ้าเป็นตน ก็เรียกว่า อัตตสัญญา

ถ้าไม่เป็นตัวเป็นตน ก็เรียกว่า อนัตตสัญญา

 

หรือถ้าจําได้หมายรู้ว่า ร่างยืนนี้ชื่ออะไรนามสกุลอะไร

เกิดความหมายมั่นขึ้นมา นี่ก็เรียกว่าเป็น สัญญาขันธ์

 

ส่วนของสัญญาขันธ์ ปรุงแต่งไปให้เกิดความคิดนึกอย่างไร

ให้เกิดความคิดนึกว่า ฉันจะพยายามปฏิบัติธรรม

ตัวนี้ก็เป็นความตั้งใจในฝ่ายดี ตั้งใจในฝ่ายที่เป็นกุศล

 

แล้วพ้นจากความเป็นกุศลไปด้วยคือ มีความเป็นกลาง

ไม่เหนือกว่าความเป็นอกุศล เหนือกว่าความเป็นกุศล

ตัวที่เรา พูดง่ายๆ ว่า ถ้าเห็นความคิดนึก ถ้าเห็นความฟุ้งซ่านขึ้นมา

เราตกเข้าข่าย เป็น ขันธ์ห้า

 

รูปขันธ์นี้ กําลังประกอบประชุมอยู่ ด้วยความปรุงแต่งแบบไหน

มีเวทนา มีสัญญา มีสังขารขันธ์แบบใด นี่ตรงนี้

แล้วส่วนวิญญาณขันธ์ ก็คือตัวที่รับรู้ขันธ์อื่นๆ ทั้งหมด

 

ที่พูดมาที่กล่าวมา ถ้าหากว่าเป็นคนอื่น ที่ยังไม่ได้เกิดประสบการณ์ปฏิบัติ

ก็อาจมองว่าเป็นเรื่องฟั่นเฝือ ว่าทําไมต้องไปบัญญัติศัพท์ไว้มากมาย

แต่ถ้าหากว่า เราคุยกันในแบบคนปฏิบัติ

ที่เริ่มเห็นกายใจออกมาจากประสบการณ์ภายใน

อันนี้จะเริ่มเห็นความสําคัญ เริ่มเห็นความจําเป็นว่า

ถ้ามีความเข้าใจในการใช้ศัพท์เหล่านี้อยู่บ้าง

เวลาสื่อสาร ก็พูดง่าย

 

เรากําลังพูดกันเรื่องว่า คุณเห็นตัวตน

คุณเห็นด้วยความรู้สึกว่า มีตัวตน

หรือว่าคุณเห็นด้วยความรู้สึกว่าเป็นรูป เป็นนาม นะ

 

แล้วแทนที่เราจะใช้คําสั้น ๆ คร่าว ๆ ว่า เห็นโดยความเป็นรูปนาม

เราระบุ แล้วก็แจกแจงจาระไนเป็นรายละเอียดไปเลย

ว่าเรากําลังเห็นโดยความเป็นขันธ์ห้า หรือว่าเป็นธาตุหก

เพื่อที่จะได้ตั้งมุมมองไว้ในการภาวนา

เพื่อเห็นความเป็นธาตุหก หรือความเป็นขันธ์ห้า ว่าเป็นอนัตตา

ชัดเจนกระจ่างยิ่ง ๆ ขึ้นไป

 

พอมีประสบการณ์พวกนี้ทํานองนี้ คุณจะเข้าใจได้ว่า

พอพูดเรื่องขันธ์ห้า แล้วเห็นเข้ามาโดยความเป็นขันธ์ห้าจริง ๆ

หรือ เห็นเข้ามาโดยความเป็นธาตุหกจริง ๆ นี่

เกิดความเข้าใจ ประกอบกํากับสติ แล้วมีความมั่นใจ มีความแน่วไป

ที่จะเห็นโดยความเป็นเช่นนั้น ละเอียดละออชัดเจนกระจ่างยิ่ง ๆ ขึ้น

 

Point คืออย่างนี้นะ นี่คือความสําคัญ

แล้วยังมี การจําแนกเป็นอื่นๆ อีก เช่น อายตนะหก

หรือว่าอย่างความเป็นธาตุนี่ ไม่ได้มีแค่ธาตุหก

แต่พระพุทธเจ้าจําแนกออกเป็นธาตุสิบแปดบ้าง ธาตุสองบ้าง

 

ยกตัวอย่าง อันนี้อาจจะฟังไปแล้วยังไม่เข้าใจ

แต่ว่าเราสามารถอนุมานได้

จากการที่ พวกเราเริ่มเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องธาตุหกกันแล้ว

 

อย่างเวลาบรรลุธรรม ถ้ามีกําลังสมถะมากพอ

เราจะสามารถย้อนกลับไปดูนิพพานได้ เช็คเพื่อความมั่นใจได้ว่า

ที่เกิดผลญาณ ที่เคยเกิดมรรคจิตผลจิต ตอนที่ได้บรรลุธรรมนี่

บอกว่ามีนิพพานเป็นอารมณ์

ถ้าหากว่าเรามีกําลังสมาธิมากพอ ที่จะเข้าฌาน

ฌานนั้น ทะลุขันธ์ห้าออกไปได้นะ

 

จิตพ้น จิตโพล่งออกจากเครื่องกําบัง คือกําแพงนี้ กายใจนี้ไปได้

ก็สามารถย้อนกลับไปเห็นนิพพานได้อีก

 

ทีนี้อย่าง พวกที่ข้ามเส้นไปได้ตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป

จะรู้แล้วว่าธาตุที่ไม่มีความปรุงแต่ง หน้าตาเป็นอย่างไร

จะมีลักษณะของความว่างแบบนิพพานนะ

รู้สึกว่าว่าง รู้สึกว่าไม่มีนิมิต รู้สึกว่าไม่มีที่ตั้ง

อันนี้อารมณ์ของคนข้ามเส้น ที่สามารถมีสัญญา

จําได้หมายรู้ว่า นิพพานเป็นอย่างไร

 

แล้วเข้าสมาธิ เขาเรียกว่าเป็นการเข้าผลสมาบัติ

สามารถเห็นได้ว่านิพพานหน้าตาเป็นอย่างไร

แต่ไม่ใช่นิพพานตรงนะ ไม่ใช่การดับสัญญา ดับเวทนา

เหมือนกับพระอนาคามี พระอรหันต์

 

อันนั้นท่านเข้านิโรธสมาบัติได้เลย คือเข้านิพพานตรงได้เลย

แต่อันนี้ เป็นการเอาจิตไปรับรู้ ด้วยความจําได้หมายรู้

แล้วก็สามารถเห็นได้ว่า นิพพานอยู่ตรงหน้านี่แหละ

ไม่ได้แยกออกไปที่จักรวาลไหนเลย

 

เพียงแค่จิตนี่ครบ โพล่งพ้นจากกําแพงที่ขวางกั้นอยู่ได้ คือกายใจนี่

ก็สัมผัสนิพพานได้ รู้ได้ว่านิพพานหน้าตาเป็นยังไง

 

อันนั้นแหละ ที่เป็นนิยามว่าทําไมถึงต้องมีคําว่า ธาตุสอง

คือไปเห็นภาวะไม่ปรุงแต่ง เป็นธาตุแบบหนึ่ง

แล้วก็ย้อนกลับมาเห็นทั้งหมดในจักรวาลของธาตุหกนี้

ในจักรวาลของอายตนะหกนี้ ว่าเป็นของปรุงแต่ง

 

คือสามารถแยกออกได้เป็นสองเขต

เขตที่มีการปรุงแต่ง กับเขตที่ไม่มีการปรุงแต่ง

เข้าใจถึงภาวะธรรมชาติที่ดํารงอยู่ ทั้งสองอย่าง

ไม่ว่าเป็นส่วนของการไม่ปรุงแต่ง หรือส่วนของการปรุงแต่ง

นี่ก็เป็นที่มาของคําว่าธาตุสอง

 

แล้วพวกที่สามารถเจริญธาตุสองได้ มีความฉลาดในธาตุสองมากๆ

ก็จะมีความเข้าใกล้ เขยิบเข้าใกล้ ความเป็นสกทาคามี

หรืออนาคามี หรือว่าอรหันต์เข้าไปทุกที

 

นี่เป็นๆ point ที่อธิบายมาทั้งหมด ก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่า

ทั้งหลายทั้งปวงมีความหมาย

ถ้าหากว่าเรามีความเข้าใจว่า ทําไมถึงต้องเรียกแบบนี้

โดยความเป็นกายใจ

โดยความเป็นขันธ์ห้า

โดยความเป็นธาตุหก

 

จะมีการต่อยอด แล้วก็เจาะรายละเอียดลงไปได้มากขึ้นๆ นะ

ในลําดับของประสบการณ์ การภาวนา ที่เราได้ทําไป

แล้วเกิดความเห็นที่ละเอียดลงไปเรื่อย ๆ

 

ไม่อย่างนั้น อย่างที่คุณน่าจะเคยได้ยินได้ฟังมา หรือกระทั่งตัวเอง

บอกว่า ปฏิบัติไปแล้วเกิดภาวะอะไรขึ้นมาแต่อธิบายไม่ได้

แล้วเสร็จแล้ว ที่อธิบายไม่ได้นี่ หมายความถึงขั้นที่ว่า

เราอาจจะไปต่อถึงมรรคถึงผลไม่ได้

 

ยกตัวอย่างเช่นไม่ว่ายุคไหนสมัยใด ทําสมาธิไปแล้ว

เกิดความรู้สึกว่างๆ โล่งๆ เกิดความรู้สึกว่าสว่างๆ

แต่ไม่รู้ว่าสว่างนั้นคืออะไร หรือว่าที่ว่างๆโล่งๆนั้น คือส่วนใดของชีวิต

เป็นส่วนที่เราก้าวข้ามมิติปัจจุบันไปสู่มิติอื่นแล้วหรือเปล่า

 

แล้วก็บัญญัติชื่อเรียกอะไรกันขึ้นมา ตามแต่ที่ได้เห็นได้ประสบ

แต่จะไม่มีการเขยิบเข้าใกล้ความเป็นสภาวะปรุงแต่ง

ที่ประกอบกัน ประชุมกัน มาหลอกให้รู้สึกว่าเป็นตัวเป็นตน

 

นี่เลยไม่ได้ไปถึงนิพพาน ต่อให้ปฏิบัติในพุทธศาสนาก็ตาม

บอกว่า ฉันเป็นพวกลูกทุ่ง

ฉันไม่ได้มีความอยากจะไปศึกษาปริยัติหรือว่าภาคทฤษฎี

ฉันเป็นพวกนักปฏิบัติ เป็นพวกที่ไม่ชอบมาจําอะไรวุ่นวาย

หรือว่ามาคิดอะไรวุ่นวาย ฉันชอบปฏิบัติไปตรงๆ

 

ซึ่งก็ได้ผลเหมือนกันนะ แต่พอได้สมาธิขึ้นมาแล้วไปต่อไม่ถูก

ไม่รู้ว่าเขาเรียกอะไร ยิ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่ง

ถ้าหากว่าเห็นภาวะทางกาย โดยความเป็นของบิดเบี้ยว

โดยความเป็นของที่ไม่เหมือนกับสิ่งที่คนอื่นเขาเห็นกันนะ

 

แล้วเสร็จแล้วบอกว่า ฉันไปเห็นภาวะอะไรอย่างหนึ่ง

ไม่เหมือนกับมนุษย์ทั่วไปเขาเห็น

พูดง่ายๆ ว่า รู้สึกว่าเห็นเหนือกว่ามนุษย์ธรรมดาทั่วไป

แต่ไม่รู้จะเอามาใช้ประโยชน์อย่างไร รู้แต่ว่าเหนือกว่าสามัญมนุษย์ทั่วไป

 

รู้อยู่แค่นี้ จําอยู่แค่นี้ แล้วก็ติดอยู่แค่นั้น

เข้าสมาธิได้ แต่ไปถึงมรรคถึงผลไม่ได้

 

แต่ถ้าหากว่าเรากัดฟันนิดหนึ่ง บอกว่าโอเค ฉันจะพยายามทําความเข้าใจ

เกี่ยวกับคําว่า ขันธ์ห้า เกี่ยวกับคําว่า ธาตุหก

สามารถคุยต่อกันได้ สามารถที่จะ จาระไนว่า

สิ่งที่กําลังพบ กําลังเห็นในประสบการณ์สมาธิ หรือว่าขณะเจริญสติ

อธิบายตัวเองได้ อธิบายคนอื่นถูก เกิดประโยชน์เรา ประโยชน์เขา

ทั้งเราทั้งเขาสามารถที่จะ ...

 

อย่างเราคุยกัน นี่ เราคุยกันคําว่าธาตุหกบ่อย ๆ

แต่ยังอาจจะไม่มีใครเข้าใจ ไม่เข้าใจเป๊ะ ๆ ว่าธาตุหกกับขันธ์ห้า

ควรใช้ในวาระไหน สถานการณ์ใด ก็มาปรับให้ตรงกันในเช้านี้

__________________

วิปัสสนานุบาล EP 98 | จันทร์ 21 มีนาคม 2565

เกริ่นนำ : ความเข้าใจการใช้คำ ขันธ์ห้า ธาตุหก

ถอดคำ : เอ้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น