วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

วิปัสสนานุบาล EP124 (ปิดท้าย) เทียบเคียงสภาวะในระหว่างฝึกกับบัญญัติศัพท์ทางพุทธ - 26 เมษายน 2565

วิปัสสนานุบาล EP124 | อังคาร 26 เมษายน 2565

ปิดท้าย - เทียบเคียงสภาวะในระหว่างฝึกกับบัญญัติศัพท์ทางพุทธ

 

พี่ตุลย์ : หลังๆ นี่คนจับจุดได้นะ ว่าเดินไปถึงจุดหยุดแล้ว

มีความรู้สึกว่าสัมผัสผนัง ด้านหน้า ด้านข้าง ด้านหลัง

แล้วเป็นตัวตบจิต ให้มาอยู่กับความรับรู้ภายใน นิ่งๆ ใสๆ

 

เวลาเคลื่อนไป รู้สึกเหมือนกับว่า

กายนี้ เป็นวัตถุชิ้นหนึ่ง ที่เคลื่อนไปรอบๆห้อง

ตรงนี้ เป็นจุดที่เรากำลังโฟกัสกันอยู่

 

ทีนี้ ถ้าหากเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า

แล้วตรงที่เป็นภาวะอย่างนี้ เขาเรียกว่าอะไร

บางทีต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจนะ

 

เราเริ่มขึ้นมา จากการเห็นกายใจ

คำว่า กายใจ ใช้สำหรับคนที่เหมือนกับ

ยังไม่มีความเข้าใจอะไร เกี่ยวกับศัพท์ธรรมะเท่าไหร่

จะได้อย่างน้อยรับรู้ว่า เวลาที่เราดูนี่ เราดูกันที่กายใจ

ที่กำลังปรากฏอยู่อย่างนี้

 

ขอบเขตการรับรู้ภาพรวม จะได้ปรากฏชัดก่อน

 

เสร็จแล้วแยกออกมา คำว่า กายใจ ไม่พอนะ

คำว่ากายใจนี่ เป็นแค่ภาพเลือนๆในหัว

พระพุทธเจ้าตรัสแยก จำแนกออกมาเลยว่า ให้รู้ลมหายใจก่อน

หายใจออก ให้มีสติรู้ว่าหายใจออก

หายใจเข้า ให้มีสติรู้ว่าหายใจเข้า

 

นี่เห็นไหม พระองค์ไม่ได้บัญญัติศัพท์ขึ้นมายากๆ ตั้งแต่ต้น

ท่านให้เห็นอะไรที่รับรู้ตรงกันได้ ว่ากำลังหายใจออก หรือหายใจเข้า

ไม่ใช่ขึ้นต้นมา ท่านใช้ศัพท์อะไรที่ยุ่งยาก

 

แต่ต่อมา พอมีการหายใจออก มีการหายใจเข้า

แล้วมีความสงบ ก็เกิดความสุข

 

ตรงนี้ ต้องเริ่มแยกออกมาบัญญัติเรียก

เพราะถ้าเรียก เป็นสุขเป็นทุกข์เฉยๆ

บางทีฟังแล้วไม่เข้าใจว่า คือสิ่งไหน เป็นภาวะอย่างไร

 

ท่านก็เลยต้องบัญญัติคำว่า เวทนา ขึ้นมา

 

เวทนามีทั้ง สุขเวทนา มีทั้ง ทุกขเวทนา

เราก็รับรู้ เราก็ดูว่า หายใจครั้งไหน มีความรู้สึกเป็นสุข

หายใจครั้งไหน มีความรู้สึกเป็นทุกข์

 

ต่อมา อย่างคนที่เจริญอานาปานสติมาได้

จนกระทั่งเกิดความรู้สึกว่า มีความสุขหายใจออก มีความสุขหายใจเข้า

จับจุดได้ว่า ให้ตั้งต้นมาจากความสุขก่อน แล้วค่อยหายใจออก

ตั้งต้นมาจากความสุข แล้วหายใจเข้า

 

จะได้ไม่ต้องวิ่งตามลมหายใจ

จะได้มีจิตที่อยู่กับที่ แล้วก็รู้สึกถึงสายลมหายใจ

 

จากนั้นเริ่มละเอียดอ่อนแล้ว

เพราะว่าจิตที่มีความสุขมากๆ มีความผ่องใส

ท่านก็ให้ดูเข้าไปว่า รู้เข้ามาที่จิตหายใจออก รู้เข้ามาที่จิตหายใจเข้า

จิตที่ผ่องใส เป็นตัวตั้งของการทำความรู้จักกับจิตในเบื้องต้น

 

แรกๆ ท่านไม่ได้มาให้ทำความรู้จักกับอกุศล ทำความรู้จักกับจิตอะไร

ที่ซับซ้อนพิสดาร หรือว่ามีศัพท์อะไรที่ยากๆ ยาวๆ

ท่านบอกง่ายๆ ว่า จิตมีความผ่องใส

รู้เข้ามาที่จิตหายใจออกรู้เข้ามาที่จิตหายใจเข้า

 

ตรงนั้นเวลาที่จิตสงบก็จะได้รู้ว่า นั่นคือจิตชนิดหนึ่ง

และเมื่อจิตไม่สงบ ก็จะได้รู้ว่านั่นก็คือจิตอีกชนิดหนึ่ง

 

ตั้งต้นมาจากอะไรที่เห็นได้ชัด เห็นได้ง่าย เห็นได้ใหญ่ๆ ก่อน

แล้วจากนั้น พอกลับมามองย้อนว่าเป็นภาวะที่แตกต่างไป

จะได้ง่ายกับการย่อย

 

ทีนี้ พอเริ่ม เห็นทั้งกาย เห็นทั้งเวทนา เห็นทั้งจิตบ่อยๆ

อันนี้แหละเริ่มเขยิบขึ้นสูง

 

ที่เรามาพูดๆ กันนี่ บางทีอาจจะดูยุ่งยากสำหรับคนที่เพิ่งมาใหม่

บอกว่าเดินจงกรมหลับตาไป ดูธาตุ 6 ดูขันธ์ 5

แม้แต่คนที่ทำเป็นแล้ว บางทีก็ยังอาจจะสงสัยว่า

จังหวะใด เอาไว้ดูกายใจโดยความเป็นธาตุ 6

จังหวะไหนดูโดยความเป็นขันธ์ 5

 

เพราะบางคนนี่พอสงบๆไป รู้นะว่าอันนี้คือธาตุดิน

ในธาตุดินนี้ ที่เดินไป เทียบกับวัตถุอื่นๆ รอบห้อง

แล้วเป็นวัตถุเสมอกัน อันนี้เป็นธาตุดิน

 

และธาตุดินนี้ เป็นธาตุดินเดียว

ที่มีลมหายใจ ผ่านเข้าผ่านออก .. นี่คือธาตุลม

ในธาตุดิน ธาตุลมนี้ มีจิตครองอยู่ มีจิตรู้อยู่

มีจิตสว่าง ที่เสถียรที่ตั้งมั่น

 

แต่บางที ก็เกิดความสงสัยว่า ด้วยจิตที่มีความตั้งมั่นสว่างใส

บางทีก็มีตัวความสุขล้นหลามขึ้นมา

อย่างนี้ก็ดูนอกธาตุ 6 แล้วสิ

 

จริงๆ แล้วนี่เป็นอันเดียวกัน

 

พระพุทธเจ้าตรัสว่า เวลาที่ดูขันธ์ 5 ดูมหาภูตรูปก่อน

อันนี้เริ่มยาก จริงๆ แล้วศัพท์นี้ก็คือธาตุ 4 ดิน น้ำ ไฟ ลม

ซึ่งย่อที่สุด ก็คือธาตุดิน

 

ธาตุดินที่เรายังเห็นอยู่นั่นแหละ ว่ามีลมหายใจเข้าออก

ตีว่านั่นแหละคือ มหาภูตรูป คือ รูปขันธ์

 

แล้วทำไมต้องมีคำว่า รูปขันธ์ ด้วย .. จำยาก

 

เพราะถ้าไม่แยกเรียก ก็จะไม่มีทิศทาง

พอเจริญก้าวหน้ามาถึงจุดหนึ่ง สติมีกำลังมากขึ้นถึงจุดหนึ่ง

(คน) จะพูดคล้ายๆ กันบอกว่า

ไม่รู้จะพูดว่าอะไร ไม่รู้ว่าจะอธิบายว่าอย่างไร

 

ประมาณว่า รู้สึกโล่งๆ รู้สึกสว่างๆ รู้สึกว่าไม่มีตัวใคร

ไม่สามารถบอกได้ด้วยซ้ำ ไม่กล้าพูดเต็มปากเต็มคำ

ว่ากำลังเห็นกายกำลังเห็นใจ เพราะว่าละเอียดกว่านั้น

พอมาถึงจุดหนึ่ง

 

แต่ทีนี้ พอเรามีคำศัพท์ไว้ใช้ บอกว่าได้อธิบายตัวเอง

ตอนที่ธาตุดิน ธาตุลม ปรากฏชัด

มีจิตสว่าง แยกออกเป็นต่างหาก

เป็นคนละชั้น เป็นคนละสภาวะกับธาตุดินและธาตุลม

 

เสร็จแล้ว มีความสุขขึ้นมาล้นหลาม

ตัวนี้เราก็จะได้เข้าใจว่า มีอีกเซตหนึ่งของความสัมพันธ์

ที่เอาไว้อธิบายตัวเอง เอาไว้บอกตัวเองว่า กำลังเห็นอะไรอยู่

 

เห็นรูปขันธ์เป็นตัวตั้ง มีธาตุดิน มีความเป็นโครงกระดูก

มีความเป็นวัตถุเสมอกับวัตถุอื่นรอบห้อง

แล้วเห็นว่าในวัตถุนี้เป็นวัตถุชิ้นเดียวในห้อง ที่มีความสุขล้นหลามมหาศาล

ตัวนี้เรียกว่าใน รูปขันธ์เป็นที่ตั้ง เป็นที่อาศัย ของสุขเวทนา

 

และในสุขเวทนานี้ ถ้ามีความจดจำ

จำได้หมายรู้ ว่าอย่างนี้ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

ก็เรียกว่า เป็น อนัตตสัญญา คือมีความจำได้หมายรู้

มีความหมายมั่นสำคัญไป ว่าสิ่งนี้ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

 

แต่ถ้าหากว่า เกิดความรู้สึกเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา

ก็เรียกว่า อัตตสัญญา ความรู้สึกในตัวตน ความรู้สึกว่ามีตัวตน

 

หรือไปจำสิ่งอื่น เรื่องราวต่างๆ ในชีวิต

หรือผู้คนที่เราหลงรัก ที่เราเกลียดชัง โผล่ขึ้นมาในหัว

แล้วเราจำได้ว่า ที่โผล่ขึ้นมาในหัวนี่คือใคร ชื่ออะไร หน้าตาเป็นอย่างไร

อย่างนั้นก็เป็น สัญญา ความจำได้หมายรู้

เกี่ยวกับรูปภายนอก ที่เข้ามาอยู่ภายใน

 

เห็นไหม มีคำอธิบาย

ซึ่งพอจิต จำเป็นคำๆ ก็จะไม่พล่านไป จะไม่พร่าเลือน

จะเห็นแบบบอกตัวเองได้

 

แรกๆ อาจจะยังต้องบอกตัวเอง ว่า

นี่เขาเรียกว่า สัญญาขันธ์ ปรากฏขึ้นแล้ว

ตอนคิดดีคิดชั่ว กับสัญญาขันธ์ที่เกิดขึ้น

อันนี้เรียกว่าสังขารขันธ์

พอแยกออกก็จะได้รู้ว่านี่เขาเรียก สังขารขันธ์

 

จากนั้นถึงที่สุด ถ้าสงสัยว่า

เรากำลังรู้แบบเป็นวิปัสสนาอยู่หรือเปล่า?

 

ถ้าหากว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร ปรากฏพร้อมกัน

กับการรับรู้ว่า จิตที่มีความสว่าง จิตที่มีความว่าง ความใส

ความตั้ง ความทรงอยู่ เป็นแบ็กกราวด์หลังสุด

อย่างนี้ให้เชื่อมั่นได้เลยว่า กำลังเป็นวิปัสสนาอยู่ เพราะครบเซตขันธ์ 5

 

อันนี้คือความหมายว่า ทำไมพระพุทธเจ้า

ต้องมาบัญญัติกายใจโดยความเป็นเซต

 

เซตของขันธ์ 5 ถ้าเรารู้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร ปรากฏพร้อมกัน

แล้วก็รู้สึกว่า มีตัวจิตผู้รู้ เป็นผู้รู้อยู่เป็นตัวสุดท้าย คือ วิญญาณขันธ์

อย่างนี้ เห็นเป็นวิปัสสนาแน่นอน ความรู้สึก ณ ขนะนั้นจะรู้สึกถึง

การประชุมประกอบกันของภาวะต่างๆ ไม่ใช่ก้อนตัวก้อนตน

 

ทำนองเดียวกัน ถ้าไม่ได้รู้สึกถึงเวทนา ไม่ได้รู้สึกถึงสัญญา สังขาร

แต่รู้สึกถึงความชัดเจนว่าวัตถุนี้ โครงกระดูกนี้

กำลังเคลื่อนไปเคลื่อนมาอยู่ในห้อง

รู้สึกถึงวัตถุต่างๆ ที่เรียงรอบเรียงรายอยู่

แล้วเกิดความเห็นว่า ในวัตถุที่เป็นธาตุดินนี้มีลมหายใจอยู่

 

ถ้าหากว่าสามารถบอกตัวเองได้ว่า ที่

กำลังเป็นธาตุดินที่กำลังเป็นธาตุลมนั้น มีสภาพรับรู้เบื้องหลัง

คือวิญญาณธาตุ อันเดียวกันกับวิญญาณขันธ์

 

ถ้ามีความเป็นจิตที่เป็นผู้รับรู้อยู่

ก็ให้มั่นใจว่าตรงนั้นเป็นวิปัสสนาเช่นกัน

เพราะว่าอยู่ในเซตของธาตุ 6

 

คราวนี้เห็นความสำคัญนะ ว่า

ทำไมเราถึงต้องมีบัญญัติศัพท์

ทำไมเราถึงได้ใช้เช็คความแน่ใจว่า

เรากำลังรู้แบบเป็น สมถะ หรือรู้แบบเป็น วิปัสสนา

 

การที่เห็นแค่ .. เอาเห็นรางๆ ก็แล้วกันนะ

เห็นแค่รางๆ ว่ากายนี้เป็นโครงกระดูก

ถ้าเราไปบอกนักวิชาการ บอกเราเห็นโครงกระดูก แค่นี้

เขาจะบอกว่า ยังไม่ใช่

 

แต่ถ้าเราสามารถบอกได้ว่า ในอาการเห็นที่เราเห็น

ที่เป็นโครงกระดูก นี่เป็นส่วนหนึ่งของธาตุดิน

แล้วเราสามารถเห็นว่า มีวิญญาณขันธ์ หรือมีวิญญาณธาตุ เป็นผู้รู้ผู้ดู

 

เราสามารถจำแนกแยกแยะได้ สามารถบอกได้ว่า

นี่คือการประชุมประกอบกัน

 

มีโครงกระดูก มีจิตที่สว่างๆ ไม่ใช่ว่ามีตัวใครอยู่ในนี้

เราเห็นเป็นการประชุมประกอบกัน เรียกว่ารู้สึกเป็น อนัตตาขึ้นมา

 

อย่างนี้ ต่อให้นักวิชาการบอกว่าไม่ใช่

แต่ใจเขาก็จะเริ่มรู้สึกขึ้นมาว่า .. เออ ก็เข้าเค้านะ

 

เพราะคนเรานี่เวลาที่เชื่อไม่ตรงกัน

จะบอกไว้ก่อนว่าอีกฝ่ายหนึ่งผิด

 

แต่ถ้าเราใช้ศัพท์แบบเดียวกันกับเขาได้

ก็สามารถคุยกันรู้เรื่อง สื่อสารกันได้ว่า

สิ่งที่เราเห็น เป็นการเห็นการประชุมกัน ประกอบกัน

ของภาวะทางธรรมชาติที่ต่างชนิดกัน

แล้วรู้สึกขึ้นมาว่าไม่ใช่ตัวตน

ความรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวตน คือ อนัตตสัญญา

 

ทีนี้ คนฟังจะเชื่อไม่เชื่อ

ก็เป็นเรื่องของเขาแล้ว ไม่เกี่ยวกับเราแล้วนะ

 

แต่ในฝั่งของเรา อย่างน้อยเราสามารถอธิบายกับตัวเองได้

ยืนยันกับตัวเองว่า สิ่งที่เห็นนี่ ถอดถอนอุปาทานได้จริง

 

นับจากความรู้สึกเลยนะ

ใจดีขึ้น มีความเป็นกุศลมากขึ้น ใจพร้อมจะยึดน้อยลง

อาการยึดมั่นถือมั่น ทุรนทุรายฟูมฟาย จะเป็นจะตายนี่ หายไป

 

แล้วก็ใจ (จิต) นี่มีความสว่างขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง

สว่างแบบที่ถอดถอนความรู้สึกว่า

ตรงไหนเป็นของเรา ตรงไหนเป็นตัวเรา

 

ตัวที่ชัดขึ้นๆ และจิตมีความใหญ่ขึ้น มีความสว่างขึ้น มีความเด่นขึ้น

ตรงนี้ ถ้าเราอธิบายตัวเองได้

แล้วอธิบายให้คนแวดล้อม ที่เขาพอจะฟัง แล้วเกิดการยอมรับตาม

เกิดการได้ดีตาม เจริญรอยตาม อันนี้จะจบที่ตรงนี้

 

ส่วนที่ว่าใครจะมาบอกว่า จริงไม่จริง ผิดถูก

เป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่เกี่ยวกับขันธ์ 5 นี้แล้ว

เป็นเรื่องของขันธ์ 5 เป็นปัญหาของขันธ์ 5 โน้น

 

ก็มาทำความเข้าใจกันเรื่องศัพท์ทีละนิดทีละหน่อย

จริงๆ เคยพูดไปแล้ว แต่อันนี้มาพูดต่างมุมนิดหนึ่งนะ

เพื่อให้เราได้เข้าใจมากขึ้น

 

การฟังซ้ำๆบางทีเข้าใจมากขึ้น ขึ้นอยู่กับว่า

จังหวะไหน วันไหน มีช่องที่พร้อมรับธรรมแบบไหน

หรือว่าการอธิบายในมุมมองแบบไหน

ก็ถือว่าเราได้คืบหน้ากันไปอีกวันหนึ่งนะครับ

______________

วิปัสสนานุบาล EP124 | อังคาร 26 เมษายน 2565

ปิดท้าย - เทียบเคียงสภาวะในระหว่างฝึกกับบัญญัติศัพท์ทางพุทธ

ถอดคำ : โจ Potchara

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=dt5VZBgl9mc

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น