วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

วิปัสสนานุบาล EP126 (เกริ่นนำ) ที่ฝึกกันอยู่ตรงทางหรือไม่ - 29 เมษายน 2565

EP126 | ศุกร์ 29 เมษายน 2565

เกริ่นนำ - ที่ฝึกกันอยู่ ตรงทางหรือไม่

 

พี่ตุลย์ : ที่ผ่าน ๆ มาทุกคนเคยได้ฝึก

จะสมาธิ หรือว่าเดินวิปัสสนา

ตามที่ตัวเองเข้าใจอย่างไรก็ตามนะ

 

ไม่ว่าจะได้รับคำสอนมาอย่างไร ศึกษามาด้วยตัวเองอย่างไร

แล้วลงมือทำลงมือปฏิบัติ ก็จะมีประสบการณ์

ที่เกิดขึ้นภายใน อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ

 

ไม่ว่าจะเริ่มต้นด้วยทุกขเวทนา

หรือเกิดความรู้สึกอึดอัด ไม่เข้าใจหลงทาง

พอหลับตาปุ๊บ เหมือนเข้ารกเข้าพง

หรือแม้ลืมตา แต่ก็ไม่ทราบว่าจะต่อสู้กับความเหม่อได้อย่างไร

 

หลับตา ‘เข้าป่า’ ลืมตาก็ ‘เข้าเมฆเข้าหมอก’

 

กลายเป็นว่าจะลืมตาหรือหลับตา

ไม่ทราบจะทำท่าไหน ถึงจะเดินอยู่บนเส้นทางของการเจริญสติ

อันนี้ เป็นเรื่องธรรมดา

 

ทีนี้ อย่างคนที่เริ่มจะเป็นสมาธิบ้าง

บางทีก็จะประสบปัญหาเหมือนๆกัน คือจ้องอยู่กับอะไรอย่างหนึ่ง

ด้วยความรู้สึกว่า เราต้องเห็นอะไรอย่างนั้นให้ชัด

 

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากบริกรรม ไม่ว่าจะด้วยคำภาวนาแบบใด

ก็จะยึดเอาคำภาวนาแบบนั้นๆ ไว้หนึ่งเดียว

บอกว่า สมาธิคือการเห็นสิ่งนั้นสิ่งเดียว

ซึ่งถูกต้อง

 

แต่ว่าการเห็นสิ่งเดียว จี้เข้าไป

หรือว่าเห็นด้วยจิตกว้างๆ เปิดสบาย

อันนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งไม่สามารถที่จะมาชี้นำกันได้ง่ายๆ

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากว่าฝึกเอง หรือว่าครูผู้สอนอยู่ห่างๆ

หรือครูผู้สอนเอง ไม่เข้าใจว่าจิตที่เพ่งจี้ไปคับแคบที่จุดเล็กๆ

กับการที่จิตเปิดกว้าง รู้อิริยาบถปัจจุบันเป็นที่ตั้ง

แล้วค่อยไปรู้สิ่งที่เป็นจุดจำเพาะ เช่นลมหายใจ

มีประสบการณ์กันอย่างไร อันนี้เป็นสิ่งที่ยาก

 

แล้วยิ่งถ้าหากว่าเกิดมีสมาธิบ้างแล้ว แล้วจะให้เห็นอะไร

ถ้าหากว่าเห็นตัวนี้ตัวเดียว ร่างนี้ร่างเดียว

ส่วนใหญ่ ก็จะติดอยู่กับกรอบจำกัด

ความรู้สึกว่า ถ้ามีหนึ่งเดียวตัวเดียวนี่ เป็นเครื่องหมายของตัวตน

 

อันนี้แกะออกยากมากนะ

ต่อให้มีสมาธิ แล้วเกิดความรับรู้เข้ามาถึงอิริยาบถปัจจุบัน

และเห็นตัวเดียวทื่อๆ

ก็หลุดออกจากกรอบความรู้สึกว่า

มีหนึ่งเดียวตัวเดียวในจักรวาลไม่ได้

 

เหมือนกับว่า ศูนย์กลางของโลก ศูนย์กลางของจักรวาล

ยังคงเป็นไปในอิริยาบถนี้ไม่เลิก

 

ความรู้สึกเกี่ยวกับตัวตน ไม่ได้หายไปไหน

 

ทีนี้ ถ้าหากว่าเราได้ไปศึกษาในพระไตรปิฎกจริงๆ

ในเรื่องของสติปัฏฐาน 4 จริงๆ จะเห็นว่า

พระพุทธเจ้า ท่านไม่ได้เพ่งจ้องสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเดียว

ท่านจะให้เครื่องเทียบเคียงมาด้วยเสมอ

 

เช่นว่า อย่างถ้าจะให้แยกว่าตัวความรู้สึกเป็นสุข

อันเกิดจากการได้รู้ลมหายใจไปโดยความมีกายสงบ

มีปีติขึ้นมา มีปีติ รู้ว่ามีปีติ

รู้เข้ามาที่ปีติ จับจุดรู้เข้ามาที่ปีติ แล้วหายใจออก

รู้เข้ามาที่ปีติ หายใจเข้า

ตัวนี้ รู้สองอย่างพร้อมกัน

 

ที่คนไม่สอน หรือว่าเดี๋ยวนี้กระทั่งไปพูดว่า จิตรู้ได้แค่อารมณ์เดียว

โดยอ้างอิงมาจากอายตนสูตร

 

ซึ่งอายตนสูตร ถ้าไปเทียบกันในอายตนบรรพ ของสติปัฏฐานนี่

จะเห็นเลยว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เห็นแค่

‘ตาประจวบรูป’ หรือว่า ‘หูประจวบเสียง’

แต่ท่านให้รู้ปฏิกิริยาทางใจด้วย ว่ายึด หรือไม่ยืด

 

การที่เราได้ย้อนกลับไปทบทวน ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร

จะได้เห็นว่าพระองค์ท่าน ไม่ได้สอนให้เพ่งอะไรทื่อๆ อย่างเดียว

เพราะถ้าเพ่งอะไรทื่อๆ อย่างเดียว โดยไม่มีเครื่องเปรียบ

จิตจะเกาะอยู่กับความรู้สึกในตัวตน หายไปไหนไม่ได้

 

อย่างในห้องของเรา ที่ทำๆกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังๆ

อาจจะเน้นเป็นพิเศษก็เรื่องของธาตุหก

ซึ่งวันนี้ผมเอามาให้ดูชัดๆเลยนะว่า ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้

 

ก่อนอื่น เอาตัวที่เป็นความหมายก่อน ที่อยู่ในพระอภิธรรม

เราพูดกันถึงธาตุหก นี่หมายความว่าอย่างไร

 

คือถ้าให้เรามีความเข้าใจจริงๆ ว่า พอมีสมาธิแล้ว แล้วเรามาดูกายใจ

ในอีกแง่มุมมองหนึ่ง บอกว่าเป็นธาตุหกนะ

บอกว่าธาตุหก มีธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ และวิญญาณนั่นเอง

อย่างที่เราพูดกันมาเยอะแล้ว

 

แล้วหลายคนก็สงสัยว่า ทำไมต้องแจกแจงเป็นธาตุหก

 

อันนี้ ก็เคยกล่าวไปในแง่ของการปฏิบัตินี่

ถ้าเราสามารถรู้เห็นว่า ธาตุเหล่านี้เป็นสิ่งประชุมประกอบกัน

เห็นด้วยจิต .. ไม่ใช่ด้วยความคิด

ไม่ใช่ด้วยความจำ .. ไม่ใช่ด้วยจินตนาการ

แต่เป็นการเห็นเข้ามาตรงๆ นี่เลยว่า อิริยาบถปัจจุบันนี้

เป็นที่ตั้งของดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ และวิญญาณ

คืออันเป็นที่สุดนี่ ก็คือวิญญาณธาตุ หรือว่าธาตุรู้

 

ถ้าหากเราสามารถทราบได้ ถึงภาวะของวิญญาณธาตุ

พร้อมกันไปกับการเห็นธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม

หรือเอาแค่ธาตุเดียวก็พอ .. ธาตุดิน

เป็นที่แฝงที่อาศัยของวิญญาณธาตุหรือธาตุรู้

 

เพียงเห็นได้นี่ นั่น ยกเป็นวิปัสสนาได้แล้ว

ถือว่าเกิดการ แยกรูปแยกนามได้

เห็นว่ารูปนามประกอบกัน ประชุมกัน

ไม่ใช่มีก้อนตัวก้อนตนอยู่ก้อนเดียว

แบบที่เราเข้าใจมาแต่อ้อนแต่ออก

 

อย่างอันนี้ ท่านยกว่าในธาตุหก นั้นปฐวีธาตุเป็นอย่างไร คืออะไร

 

ก็ธาตุที่มีความแข็งกระด้างอย่าง

ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ปอด กระดูก ม้าม หัวใจ

อาหารเก่าอาหารใหม่ อะไรก็แล้วแต่

ที่ถูกยึดว่าเป็นตัวเป็นตนของเราได้

 

อุปาทินนกรูป’ รูปอันเป็นที่อาศัยของอุปาทาน

หรือว่าความยึดมั่นสำคัญผิด ว่าเป็นตัวเป็นตนได้

อันนี้ เรียกว่าเป็นธาตุดินภายใน ปฐวีธาตุภายใน

ซึ่งก็คือ ตัวนี้ทั้งตัว

 

ส่วน ปฐวีธาตุภายนอก

อะไรๆ ก็แล้วแต่ ที่จะเป็นของแข้นแข็ง

ที่เราจะยึดว่าเป็นของๆ เรา หรือว่าเกี่ยวเนื่องกับเรา ตัวเรา

เดินไปตามถนนหนทาง มีสิ่งกีดขวางอะไรต่างๆ

นี่ก็ถือว่าเป็นธาตุดินภายนอก ที่เกี่ยวข้อง

ที่จะให้เกิดอุปาทานเกี่ยวเนื่องกับตัวของเรา อย่างนี้

 

ถามว่า ที่เราทำๆ กันมา ให้ความรู้สึกแบบนี้ได้ไหม

ว่ามีธาตุดินหมายเลขหนึ่ง มีธาตุดินหมายเลข สอง สาม สี่ ที่เกี่ยวเนื่องกัน

 

แล้วถ้าหากว่า เราสามารถตั้งต้น เกิดประสบการณ์ออกมาจากภายใน

ว่าเป็นวัตถุธาตุเสมอกัน แล้วก็รู้สึกว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

เอาแค่ความรู้สึก ที่ตั้งขึ้นมาอ่อนๆ นี่แหละนะ

ถือว่าเขาเค้าแล้ว คือเห็นว่ามีทั้งภายใน มีทั้งภายนอก

 

แล้วเราจะได้ประสบการณ์ เปรียบเทียบได้กับตอนที่ เราเพ่งจ้อง

เข้ามาที่ภายในกายนี้ตัวเดียวหนึ่งเดียว

รู้สึกไปว่า มีแค่ตัวนี้ตัวเดียวให้ดูว่าเป็นอนัตตา เป็นอนิจจัง

 

ตัวนี้ ความรู้สึกที่เกาะกุมอยู่ มีเพดานจำกัดอยู่

มีอะไรที่เป็นกรงขังคับแคบอยู่นี่

ก็จะยังคงทำให้เราเกิดความรู้สึกว่า

นี่เป็นการเห็นอนัตตาของเรา มีคำว่าของเราขึ้นมาอยู่ดี

ในใจของเรานะ ส่งเสียงของเราๆ ขึ้นมา

 

แต่เมื่อใดก็ตาม ที่เราเกิดประสบการณ์เทียบว่า

ธาตุดินนี้ ธาตุดินหมายเลขหนึ่ง

มีความเสมอกัน กับธาตุดินหมายเลข สอง สาม สี่

ความรู้สึกในเราเจือจางลงทันที

เพราะว่าเห็นว่า นี่เป็นแค่วัตถุหนึ่ง

 

เหมือนกับว่าที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส เป็นกายในกาย

คือเป็นธาตุดิน ที่เป็นส่วนที่ทำให้เกิดอุปาทานภายใน

อันเป็นของภายในนะ

 

ยังมีธาตุดิน อันเป็นส่วนของอุปาทานภายนอกอีก

ซึ่งพอเราได้ประสบการณ์แบบนี้ แล้วเอาไปเทียบเคียง

มีอีกอันหนึ่ง ที่คราวนี้กล่าวไว้ชัดๆ เลย

 

นี่ไม่ใช่พระพุทธเจ้าตรัสไว้

แต่ว่าเป็นสิ่งที่พระสาวกในสมัยพุทธกาล อยู่ในพระสูตรบอกว่า

ปฐวีธาตุเป็นอย่างไร

 

คืออันนี้จะมาพูดกันในแง่ว่า จะดูอย่างไร

ท่านบอกว่าธาตุดิน ที่เป็นไปภายในก็มี ภายนอกก็มี

ปฐวีธาตุ ที่เป็นไปภายในคืออะไร

ก็สิ่งที่ทำให้เกิดอุปาทานภายในขึ้นมาได้

 

ทีนี้ มีคำกล่าวที่แตกต่างจากในพจนานุกรม หรือว่าในอภิธรรมนะครับ

ก็คือว่า.. ดูกร ผู้มีอายุทั้งหลาย

ธาตุดินภายในไหนก็ตาม

จะเป็นภายใน หรือภายนอกก็ตาม

 

อันนี้ พูดง่ายๆ นะ เพราะบางทีภาษาแปลก็อาจจะฟังแล้วยากนิดหนึ่ง

สำหรับยุคเรานะ

 

แต่ว่าเอาง่ายๆ ก็คือว่า

จะเป็นธาตุดินภายในนี้ ในกายนี้ หรือภายนอกที่เราสัมผัสได้ก็ตาม

 

พวกเรานักเจริญสติ

พึงเห็นปฐวีธาตุนั้น หรือว่าธาตุดินนั้น

ด้วยปัญญาชอบตามจริงว่า นั่นไม่ใช่เรา

เราไม่เป็นนั่น .. นั่นไม่เป็นตนของเรา

 

ตรงนี้ ต้องถามตัวเองว่า

ตรงกับที่เรากำลังปฏิบัติกันอยู่หรือเปล่า

ตรงกับความรู้สึก ที่เกิดขึ้นจากภายใน อันเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้น

ในการเดินจงกรมหลับตา หรือว่าจะเป็นการนั่งสมาธิอยู่ก็ตาม

 

เมื่อเราเห็น .. ตรงนี้สำคัญ

คือเห็นไปแล้ว เพื่ออะไร

 

เห็นปฐวีธาตุเหล่านั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงแล้ว

ย่อมเบื่อหน่ายในธาตุดินเหล่านั้น ย่อมยังจิตให้คลายกำหนัด

คือคลายความยินดี

 

ไม่ใช่เอาเฉพาะตรงที่ว่า มีราคะ มีความอยากเสพกามอย่างเดียว

แต่หมายรวมเอาถึง การที่เรามีความยินดี

ยึดติดว่าจะหวงร่างกายนี้ไว้ จะเอาร่างกายนี้ไว้

ไม่อยากให้มันตาย ไม่ว่าจะเป็นของเรา หรือว่าบุคคลที่เรารักตาม

 

ถ้าหากว่าปฏิบัติได้ตรง ปฏิบัติได้จริง ตามสเปกนะ

ที่มีอยู่ในอันนี้ ก็อยู่ในพระสูตรจริงๆ

เป็นสิ่งที่ภิกษุในสมัยนั้น ท่านกล่าวสอนกัน

น่าจะเป็นภิกษุผู้เป็นอาจารย์สอน

ซึ่งก็สามารถประมาณได้ว่า พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้แหละ

 

จริงๆ มีคำอ้างอิงที่เป็นของพระพุทธเจ้า

แต่ว่าอันนี้ จะชัดนิดหนึ่ง เวลาที่เรามาแกะเป็นคำพูดว่า

ท่านปฏิบัติกันอย่างไร ท่านเล็งแลกันอย่างไร

 

ถ้าหากว่าเรามองแบบคิดๆ ตอนยังไม่มีสมาธิ

ก็อาจจะนึกว่าท่านให้คิดๆ เอา เคยได้ยินมาแล้ว

แม้แต่ครูบาอาจารย์ดีๆ เลยนะ ที่ท่านก็เรียกว่ามีสมาธิ มีอะไรนี่

ท่านเคยพูดให้ได้ยินกับหูเลย บอกว่าท่านให้คิดเอา

ว่าของภายในร่างกายมีอย่างนี้ๆ

พูดง่ายๆ มองว่าท่านสอนให้ใช้จินตนาการ หรือให้ใช้ความคิด

 

ซึ่งถ้าดูในมหาสติปัฏฐานสูตร .. ไม่ใช่เลยนะ

พระพุทธเจ้าท่านสอน อย่างอานาปานสตินี่ชัดเจน

ถ้าใครอ่านรู้เรื่อง ถ้ามีประสบการณ์มาก็จะเห็นเลยว่า

ผู้เจริญอานาปานสติได้ จนกระทั่งเห็นขึ้นมารำไรอยู่แล้วว่า

ภายในกายนี้ ประกอบด้วยอะไร มีโครงสร้างอย่างไร

มีอะไรแออัดยัดทะนานอยู่

สามารถที่จะเริ่มรู้ได้อยู่แล้ว ตั้งแต่ตรงนั้น

ยังไม่ต้องเขยิบไปไหนเลย

 

แต่ถ้าหากว่า มาตามลำดับ

เอาอานาปานสติ มาใช้รู้อิริยาบถต่างๆ

ไม่ใช่แค่อิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง

 

รู้ทุกๆ อิริยาบถ ว่าแตกต่างไปเรื่อยๆ

เปลี่ยนจากตัวหนึ่ง ร่างหนึ่ง ไปเป็นอีกร่างหนึ่ง

ซึ่งคนที่มีประสบการณ์จากอานาปานสติอย่างดี จะเห็นเลยนะ

 

ถ้าหากว่าเรามารู้อิริยาบถนั่ง โดยความไม่ใช่บุคคล

เห็นว่าอิริยาบถนั่ง เปลี่ยนไปเป็นอิริยาบถยืน

จะเกิดสัญญา หรือว่าความจำได้หมายรู้

เกี่ยวกับอิริยาบถชุดหนึ่งๆ แตกต่างกัน

 

ตัวนั่ง เป็นตัวหนึ่ง ตัวยืน เป็นอีกตัวหนึ่ง

ถ้าไม่มีความคิดมาเชื่อมโยงว่า นี่เรากำลังนั่ง นั่นเรากำลังยืน

จะมีแต่สัญญา ด้วยความจำได้หมายรู้

ในรูปนั่ง กับรูปยืน เป็นคนละรูปกัน

 

พอเขยิบขึ้นมาเห็น แบบที่เป็นอิริยาบถแยกย่อย

จะหมุนคอ จะพูด จะขยับมือไม้อะไรก็แล้วแต่

หรือว่า แม้กระทั่งกิน ขับถ่าย

ก็จะเห็นเป็นชุดๆ เห็นเป็นเซตๆ

 

ก็จะเริ่มมีจิตที่ใสใจที่เบามากพอ ที่จะคว้านลึกลงไป

เห็นกระดูก ตับ ไต ไส้ พุง

เป็นเรื่องที่จิตต้องถึง เป็นปัจจัตตัง

และน้อยคนในโลกไปได้ถึงตรงนั้น

 

ก็เลยเป็นสิ่งที่มาสื่อกันได้ยากว่า

ที่ท่านสอน ท่านไม่ได้สอนให้จินตนาการเอา

แต่ท่านสอนให้เห็นเข้าไปด้วยจิตจริงๆ

ด้วยจิตแบบว่าเป้งๆ เลย เต็มดวง ที่มีความสว่างที่ใส

เพื่อที่จะรับรู้ทั้งภายในและภายนอก โดยความเป็นวัตถุเสมอกัน

โดยความเล็งไป ด้วยจิตที่มีความสว่างที่มีความใสพอ

 

เห็นว่ารูปเหล่านี้ หรือว่าธาตุดินเหล่านี้ เป็นของหลอก

เป็นเหยื่อล่อ เครื่องตั้งให้เข้าไปยึดเอา

สำคัญผิดเอาว่าเป็นตัวของเรา

 

พอเรามีจิตที่สว่างที่ใสมากพอ

แล้วเห็น ว่าทั้งภายในทั้งภายนอก ไม่ใช่บุคคลไม่ใช่เราเขา

 

คือพอเห็นว่าเป็นของหลอก เห็นเป็นมายากล

ก็จะเบื่อหน่ายไม่อยากยึดเอา

 

จิตที่เบื่อหน่ายไม่อยากยึดเอา ‘ไม่ใช่เบื่อแบบเบื่อโลกๆ’

ไม่ใช่เบื่อเจืออยู่ด้วยโทสะ

 

แต่เป็นการเบื่อแบบ ถอนตัวออก

เบื่อแบบอยากจะทิ้งขว้างไปเสีย ไม่เอา

 

ซึ่งจิตแบบนั้น เป็นจิตอีกแบบหนึ่ง

ไม่ใช่เบื่อ แล้วก็ไม่รู้จะทนแบบกล้ำกลืนได้อย่างไร  

กลืนไม่เข้าคายไม่ออก แล้วไม่รู้จะทำอย่างไร

 

แต่จิตที่มี ‘สมาธิแบบพุทธ’ จะสามารถเห็นด้วยปัญญา

แล้วก็ถอยออกมาเสีย ไม่อยากเข้าไปยึดไว้อีกต่อไป

อยากจะทิ้งไปเสีย

 

อันนี้คือประเด็นว่า

ที่เรากำลังทำๆกันอยู่นี่ เราทำกันมาตรงทางไหม

แล้วจิตของเราเข้าสเปก แบบที่ท่านว่าไว้หรือเปล่า

 

ถ้าหากว่าเข้าสเปก

ถึงแม้ว่า .. โอเค เราเจริญอานาปานสติด้วย เราเดินจงกรม

ซึ่งสมัยพุทธกาลมีหลักฐานว่า พระภิกษุในพุทธศาสนา

มีกิจธุระที่สำคัญ คือนั่งและเดินโดยมาก

 

อันนี้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสเองบอกว่า

ถ้ามีคนในศาสนาอื่นมาถามว่า ภิกษุในพุทธศาสนานี้ทำอะไรกันโดยมาก

ท่านบอก ให้บอกว่า นั่งกับเดินโดยมาก

นั่งกับเดินกันทั้งวัน คือนั่งสมาธิ แล้วก็เดินจงกรมนั้นเอง

 

เพราะคงไม่ใช่เดินตรงไปออกนอกวัด

ไปไหนต่อไหนตามใจชอบนะ

คือเดินในความหมายว่ากลับไปกลับมา

 

มีหลักฐานว่าพระพุทธเจ้า ท่านเดินจงกรม

แม้พระองค์จะเป็นพระพุทธเจ้าแล้วนะ ท่านก็ยังเสด็จเดินจงกรมอยู่

 

ทีนี้ เดินจงกรมมีหลายแบบเหลือเกิน

ถ้าหากว่าแบบใด พาให้ไปถึงความจริง

เกี่ยวกับธาตุดินภายใน เกี่ยวกับธาตุดินภายนอกได้

แล้วเกิดความรู้สึก อย่างที่ยกมาให้ดูนี่แหละว่า

เห็นตับ ไต ไส้ พุง เห็นโครงกระดูกได้นะ

 

เดินไปเดินมา เทียบแล้ว

มีความเป็นวัตถุเสมอกับวัตถุอื่นๆ ได้

ตัวนี้จะไม่มาอยู่ในกรอบอะไรเล็กๆ

 

อันนี้ก็เผื่อไว้สำหรับใครมีเพื่อนสงสัย

ในแบบดีๆ คุยกันแบบบัณฑิต ไม่ใช่คุยกันแบบพาลนะ

คือสงสัยว่าทำไมต้องเทียบด้วย

 

ก็บอกว่าในพระไตรปิฎก ถ้าค้นไป

พระสูตร เกี่ยวกับเรื่องของการปฏิบัติ มีแต่การเทียบเคียงล้วนๆ เลย

ไม่มีให้จ้องสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาตั้งแต่เริ่มเลย

ไม่มีนะ ให้บริกรรมแค่คำเดียว ไปถึงนิพพาน

 

มีแต่ว่าให้เทียบเคียง เพื่อที่จะหลุดออกจากกรอบจำกัดแคบๆ

ที่ขังเราไว้ ให้ติดอยู่กับความรู้สึกในตัวในตน

 

พอได้เทียบธาตุเทียบขันธ์ ทั้งภายในทั้งภายนอก

เห็นโดยความเป็นของเสมอกัน

เป็นภาวะที่เกิดจากเหตุปัจจัย ต้องดับลงเป็นธรรมดา

อันนี้ท่านสอนชัดๆเลยนะ

 

แล้วพอมีประสบการณ์ตรงด้วยตนเอง

จะรู้เลยบอกตัวเองได้ว่า พอเทียบปุ๊บ ตั้งแต่นาทีแรกๆ

ถ้าเราอย่างเช่นสัมผัสได้นะ ผนังอยู่ด้านหน้า ด้านซ้าย ด้านหลัง

แล้วมีความเหมือนๆ กันกับวัตถุนี้คือรู้สึกแข็งๆ

ว่าทั้งกายนี้ ทั้งผนัง เป็นของแข็งๆเหมือนกัน

เกิดความรู้สึกเหมือน กายนี้เป็นวัตถุชิ้นหนึ่งขึ้นมาทันที

 

ภายในเวลาไม่กี่นาทีที่เราทำได้

ตรงนี้ ก็เหมือนกับเป็นร่องรอย .. เป็นเบสิกเบื้องต้นว่า

ตอนที่เขาเห็นกัน ตอนที่เขารู้สึกว่า มีทั้งภายในมีทั้งภายนอกนี่

รู้สึกอย่างไร

 

แล้วพอเดินๆไป อย่างหลายๆ คน มาขึ้นเดือนที่ 7

เกิดความรับรู้ จิตใสใจเบา เห็นทะลุว่า ภายนอกเป็นวัตถุอยู่จริงๆ

แล้วมองย้อนกลับเข้าไป ก็ปรากฏโดยความเป็นโครงกระดูกจริงๆด้วย

แล้วแต่คน ว่าจะเห็นรายละเอียดมากน้อยแค่ไหน

มีตับ ไต ไส้ พุง มีมันสมองมีอะไรขึ้นมา

 

ถ้าหากว่า เห็น แล้วลงเอยที่ว่า รู้  

จิตเป็นแบ็กกราวด์สุดท้าย เป็นพื้นยืนที่สุดว่าเป็น ผู้รู้ผู้ดู

ความเป็นธาตุดินนี้ ความเป็นธาตุดินอื่น โดยความเป็นของเสมอกัน

 

ตัวนี้ ที่เข้าข่ายว่าเรากำลังเห็นธาตุหกอยู่ตามสเปก

ที่ยังมีหลักฐานอยู่ในพระไตรปิฎก ก็ให้ทำความเข้าใจกันไว้

_______________

 

EP126 | ศุกร์ 29 เมษายน 2565

เกริ่นนำ - ที่ฝึกกันอยู่ ตรงทางหรือไม่

ถอดคำ : โจ Potchara

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=Y2xEhmVPlnU

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น