วิปัสสนานุบาล EP 89 | อังคาร 8 มีนาคม 2565
เกริ่นนำ – ความยากในการได้มรรคผล
พี่ตุลย์ : วันนี้มาคุยกันนิดหนึ่ง เรื่องของ ‘ความยาก’
ที่จะได้มรรคได้ผล
เพราะถ้าหากว่าไม่คุยกันบ้างเลย
ก็อาจจะเข้าใจว่า
มรรคผลนี่ ง่ายเกินไป
หรือยากเกินเอื้อม ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง
ที่พอดีๆ ปานกลางไม่ค่อยมี
สำหรับคนที่ไม่เข้าใจไม่รู้ไม่เห็น
เพราะอะไร?
เพราะว่า การที่เราอยู่กับการปฏิบัติ
ที่ไม่รู้ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร
อย่างไรๆ ก็ เดาทางไม่ถูกว่าง่ายหรือยาก
เป็นสิ่งที่เราจะทำได้ในชาติปัจจุบันไหม
หรือว่าจะเป็นเรื่องของอนาคตชาติ
ที่เขาว่าๆ กันว่า
ขอให้บุญนี้ จงสำเร็จถึงมรรคผลในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้นเถิด
อะไรอย่างนี้
ความรู้สึกที่ว่า มรรคผล
เป็นเรื่องของอนาคต เป็นเรื่องที่ไกลเกินตัวนี่
ปลูกฝังกันมาจนกระทั่ง
เกิดความรู้สึกว่า
ชาตินี้ เป็นชาติที่เราต้องเตรียมเสบียงไว้เยอะๆ
ทำบุญไว้เยอะๆ
ไปทำสังฆทาน แล้วก็กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล
แล้วอธิษฐานขอให้ได้สักชาติหนึ่ง
ในอนาคตกาลเบื้องหน้า
อันนี้เป็นเป็นสิ่งที่สะสมกันมา
ทีนี้ วันนี้ ช่วงก่อนที่เราจะไลฟ์กัน
ผมอยากพูดถึงตรงนี้
เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า
ความยากความง่ายนี่
เอาแบบที่เห็นภาพเลย
เห็นภาพกันชัดๆ
เอาแบบที่ยืนพื้นอยู่บนความจริงในบุคคลหนึ่ง
ที่มีตัวตน คุยกันได้
สามารถที่จะรับฟังกันได้แบบนี้
โตขึ้นมาจากความเป็นเด็ก
เบบี้ ขึ้นมาเป็นแบบนี้แล้ว
ยากหรือง่าย เอาอะไรมาวัด
ก่อนอื่นเลยคือ ขอบอกว่า
เรื่องของการได้มรรคผล
ถ้าทำถูก ง่ายนิดเดียว
แต่ใช้เวลาพอสมควรแก่อัตภาพ
ปัญหาคือทำอย่างไรล่ะ
ที่ถูก
ตรงทำอย่างไรที่ถูกนี่ไม่ใช่บอกว่า
ไปอยู่กับพระอรหันต์มั้ง
ไปพบพระพุทธเจ้ามั้ง แล้วเดี๋ยวก็จะง่าย
ไม่ใช่แบบนั้น
พระพุทธเจ้าตรัสเอง
แม้เกาะสังฆาฏิท่าน ติดตามท่านอยู่กี่ปี ตลอดชีวิตนี่
ก็อาจจะเป็นผู้ห่างไกลมรรคผลได้
เพราะเรื่องความใกล้ความไกลมรรคผล
ไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย
ไม่ได้อยู่ที่การเอากายของเรา
ไปตั้งไว้ใกล้กับใคร หรือสถานที่แห่งไหน
แต่เป็นเรื่องของการเอาใจของตัวเอง
ไปอยู่ในทิศในทางที่จะสุกสว่าง เจริญขึ้นตามลำดับ เข้าเป้ามรรคเข้าเป้าผล
หรือว่าใจของเรา อยู่ห่างลิบโลกจากเส้นทางของมรรคผล
เริ่มต้น ความยากนี่
จริงๆ แล้ว ต้องย้อนไปโน่นเลย
ก่อนที่เราจะพูดว่าใจอยู่ใกล้หรืออยู่ไกลกับมรรคผล
เริ่มต้นความยาก ไม่ใช่นับจากการทำสมาธิ
เดินจงกรมถูกหรือไม่ถูกอะไรแบบนั้น
แต่เริ่มจาก การรู้จักให้ทาน
ให้ทานแบบไหน
ถ้าให้ทานแบบหวังผล
หวังว่าจะได้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วย
หรือว่าหวังไปนู่น
อธิษฐานว่าขอให้ได้มรรคผลในยุคพระศรีอาริย์
ขอให้ได้มรรคผล ในพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง
เบื้องหน้า
อย่างนี้ เป็นการให้ทานในลักษณะที่
ไม่ใช่จะเอาจิตให้เข้าจุดได้
เพราะจิตเตลิดไกล ด้วยจินตนาการในการทำทาน
แบบที่ไม่รู้ว่า เมื่อไหร่
ถึงจะได้รับผลของทาน
แต่ถ้าหากว่าเริ่มรู้จักทำทาน
ด้วยการคิดสละออก
คือเอาง่ายๆ เห็นคนตกยาก
แล้วอยากช่วย และช่วยสำเร็จ
แล้วเกิดความรู้สึกปลื้มใจมากๆ
กับการช่วยสำเร็จนั้น
โดยไม่ได้คิดอะไรทั้งสิ้น
ไม่ได้หวังว่าจะให้เกิดผล
หวังว่าจะให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์นี่มามองเห็น
มาเห็นหัวเราอะไรแบบนี้
ความปลื้มที่เป็นหลักฐานของการช่วยแบบสละให้
สละออก ให้เปล่า
ตรงนั้นแหละ ที่จะเริ่มเป็นสัญญาณบอกว่า
จิตนี่เริ่มเข้าที่เข้าทาง
ถ้าหากว่าทำทาน ในลักษณะที่สละออกเป็นประจำสม่ำเสมอ
จนกระทั่งมีความสุขที่จะสละออก
มีความสุขที่จะให้เปล่า
แบบไม่หวังผลอยู่เรื่อยๆ เป็นปกติ
นี่ตัวนี้ สัญญาณบอกว่า
เราสามารถที่จะทิ้งตัวทิ้งตนในขั้นสุดท้ายได้
เพราะว่า การสละออกแบบไม่เอาเข้าตัว
ก็คือการสละออกซึ่งตัวตนนั่นเอง
นี่ในระดับการให้ทาน
เริ่มแล้วสัญญาณบอก
นอกจากนั้น ก็ยังมีเรื่องของการรักษาศีล
ถ้าสำรวจเข้ามาแล้วว่า
การรักษาศีลของเรา
เป็นไปเพื่อการฟอกจิต ให้ใสสะอาด
ฟอกจิตให้มีความรู้สึกว่า
สดใส ไม่เบี้ยวบิดผิดเพี้ยน
อย่างนี้ ก็เรียกว่าเป็นสัญญาณบอกความตรงทาง
แต่ถ้ารักษาศีลด้วยเหตุผลอื่น
เช่นบางคนบอกว่า
ฉันจะรักษาศีล 8 เพื่อให้ตัวตนนี่สูงส่งเหนือมนุษย์
เหนือกว่าชาวบ้านชาวเมืองเขา
แล้วก็ไปดูถูกชาวบ้านชาวเมืองเขา
บางคนกินมังสวิรัติบ้างกินเจบ้าง
เพื่อที่จะไปเปรียบเทียบเห็นว่า
คน(อื่น)ใจร้าย นี่ฉันคนใจดี
ฉันเป็นเทวดาอะไรแบบนั้น
นี่เรียกว่าเป็นการถือศีลแบบลูบคลำ
เป็นการถือศีล ในแบบที่จะส่งเสริมมานะอัตตา
ไม่ใช่การที่เราถือศีลแล้ว
จะฟอกให้จิตใสใจสะอาด
ทีนี้ถือศีลไป พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ผลของการถือศีลที่ถูกต้อง
ที่ทำให้จิตใสใจเบา
มีผลให้เห็นตรง เห็นถูก
แล้วก็มีจิตที่พร้อมจะตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ง่าย
จิตที่ใสที่เบา มีความโล่ง
กำหนดนิดเดียว
ก็อยู่กับอะไรอย่างหนึ่ง
อย่างนั้นอย่างเดียว
นี่อันนี้ความง่ายของสมาธิ
แต่ถ้าจิตบิดเบี้ยวด้วยการผิดศีลผิดธรรม
แค่จะมาทำสมาธิ ก็เห็นเป็นเรื่องตลก
ถ้ายิ่งบอกว่า มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เห็นเป็นเรื่องขำ ที่หลอกลวง
หรือว่ากระทั่ง เห็นเป็นเรื่องของคนไม่ปกติอะไรแบบนั้น
นี่ตรงที่ความสำคัญของศีล
เป็นตัวบอกได้เหมือนกันว่า
สิ่งที่เราจะรู้ เราจะเห็น
แล้วเป็นสมาธิได้
จะตั้งอยู่ได้ จะทรงอยู่ได้แค่ไหน
นานแค่ไหน
ถ้ายังผิดศีลผิดธรรมอยู่
โอกาสที่จะฟุ้งซ่านจัด
โอกาสที่จะมีความสกปรกติดอยู่ค้างคาอยู่
จะสูงมาก
ที่จะตั้งมั่นเป็นสมาธิใสๆ
ก็ยาก
อย่าว่าแต่จะไปอาศัยสมาธิ
มารู้กายใจ
โดยความเป็นธาตุ โดยความเป็นขันธ์นี้
ทีนี้ กรณีที่ทำทานเพื่อจะสละออก
ถือศีลเพื่อฟอกจิตให้สะอาด มีความขาวมีความใสได้บ้างแล้ว
ถามว่ามาเพียงพอจะได้มรรคผลไหม
ไม่พอนะ แต่ตรงกันข้ามเลย
คือถ้าทำทานแล้ว ถือศีลได้ตลอดทั้งชีวิต
แต่ไม่เจอเส้นทางที่จะมาเอามรรคเอาผล
ไม่รู้วิธีที่จะมาดูกายใจ
กลายเป็นว่าอย่างไรรู้ไหม
ถ้าตายไป ก่อนที่จะได้พบทาง
หมายความว่าทุกอย่างรีเซ็ตใหม่
ชาติภพ คือการลืม เกิดใหม่นี่ลืมหมด
ว่าตัวเองเคยทำทานเคยถือศีลมาตลอดชีวิต
แต่ผลลัพธ์ ส่งให้ไปเกิดในที่ๆ
ดี ในที่สุกสว่าง
ในที่เจริญรุ่งเรือง
ในที่พ่อแม่รักเอ็นดู ใครต่อใครพะเน้าพะนอ อยากโอ๋
นี่ตรงนี้ ธรรมชาติมนุษย์
เวลาเกิดมาพร้อมกับการถูกโอ๋
แล้วก็ทำอะไรได้ดั่งใจไปทุกอย่าง
ก็คือเหลิง แล้วก็สำคัญตนผิด
นึกว่าตัวเองนี่ เป็นศูนย์กลางโลกศูนย์กลางจักรวาล
แล้วโตขึ้น โอกาสที่จะทำบาปทำกรรมอะไรนี่
มีมากกว่าคนอื่นเขา
สังสารวัฎโหดอย่างนี้
คือถ้าถางทางมาถูกที่จะออกจากสังสารวัฏ
แต่ถ้าหากว่า ทำแค่ทาน
รักษาแค่ศีล
จบชาติหนึ่ง ไปเกิดใหม่นี้
ซวยได้ง่ายๆ
คือเหมือนกับว่า แทนที่จะมีสิทธิ์ที่จะหลุดพ้นออกไป
กลายเป็นว่าเจอยางเหนียวที่ติดหนึบ
ชวนให้ติดหนึบหนักเข้าไปอีก
ตัวนี้ก็เป็นอีกความยากหนึ่ง
เห็นไหม ว่าไม่ได้เริ่มต้นจากความยากที่ว่า
มาทำสมาธิ มาเดินจงกรมนะ
ทีนี้คือ ชาติที่จะเข้าจุดได้นี่
ต้องมีทั้งสุข ที่เพียงพอจะอำนวยความสะดวกให้เรา
สามารถปฏิบัติ มีเนื้อตัว
มีสติ แล้วก็มีฐานะ
ไม่ถึงขนาดว่า ต้องทำงานตัวเป็นเกลียวตลอด
24 ชั่วโมง
มีเวลาได้พักหายใจหายคอบ้าง
มีสิทธิ์ที่จะเลือกว่า
มีเวลาว่างสักครึ่งชั่วโมงต่อวัน
จะเอามาดูหนังดูละคร
หรือว่าเอามานั่งสมาธิเดินจงกรม
อย่างน้อยต้องมีความสุขระดับที่เลือกได้ว่า
จะมีเวลาว่างเอามาทำอะไร
แล้วก็ต้องมีความทุกข์ที่เพียงพอ จะเกิดแรงดัน จากภายใน
มีกำลังกดดันเพียงพอ
ที่จะผลักให้อยากออกจากความเป็นอย่างนี้
ตัวนี้ ทั้งสุขทั้งทุกข์
ต้องบาลานซ์กัน
ไม่สุขเกินไปแล้วก็ไม่ทุกข์เกินไป
ในที่สุดแล้วนี่ก็คือ
โจทย์ข้อสำคัญ
มีความอยากออกจากสังสารวัฏ
มีความอยากออกจากความเป็นอย่างนี้แล้ว
จะเจอทางออก หรือจะเจอทางย้อนกลับ
โจทย์ข้อนี้นี่ ยากมาก
ใครๆ ก็บอกว่าตัวเองเป็นทางออก
ตัวเองนี่พบทางออก
แต่ว่า จะออกจริงหรือไม่ออกจริง
คือสังสารวัฏนี่ไม่ว่าเลยนะ
เพราะจริงๆ แล้วนี่
สังสารวัฏ พยายามปกปิดทางออกที่แท้จริงด้วย
ไม่ใช่ส่งเสริมให้เกิดความรู้
เกิดความเข้าใจ
หรือว่าเกิดการพบทาง
ที่เหมาะกับตัวเองได้ง่ายๆ
ตรงข้ามเลย พยายามปิดบัง
พยายามซ่อนเร้น
แล้วพยายามที่จะบิด
ทำให้เบี้ยวบิดเพี้ยน การมองเห็น
การไปพบเจอทางที่เหมาะกับตัวเองอะไรต่างๆ
นี่
ไม่ใช่เรื่องที่จะมาแบบว่า
ดีดนิ้ว.. ปิ๊ง แล้วก็ได้เจอ
หรือว่าได้รู้สึกว่า
ปฏิบัติไปนี่ ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ มีแต่ขึ้นกับขึ้น
อันนี้ จะยกตัวอย่างบุคคลที่เราก็ได้พูดถึง
ได้พาดพิงถึงว่า
เขาก็เป็นพยานสำคัญของห้องนี้ว่า
เราปฏิบัติกันนี่ แล้วได้ผลอย่างไร
ทีนี้ ที่จะเอามาให้ดูนี่
ไม่ใช่จุดที่ถูก
แต่ว่าเป็นจุดที่ ยังมะงุมมะงาหราอยู่
ยังผิดอยู่
บอกว่า 7 เดือนดูเหมือนเวลาแป๊บเดียว
แต่ถ้าหากว่า รวมเอาการปฏิบัติทั้งหมดมาคลี่เป็น timeline จริงๆ นี่เยอะ
มีผ่านผิดผ่านถูกอะไรมาเยอะ
ผ่านป่ารก
ผ่านอะไรที่เป็นขวากหนามหรือว่ากับระเบิด
อันนี้จะยกตัวอย่างเฉยๆ
นี่แค่เป็น ตัวอย่างความเข้าใจผิด
เพื่อที่จะได้เห็นว่า
คนๆ หนึ่งนี่
ต่อให้เรียกว่า มาทำตามที่พระพุทธเจ้าสอนแล้ว
ก็ไม่ใช่ว่าประสบการณ์ภายใน
จะเอื้อให้มีความรู้ความเห็นที่ถูกที่ชอบเป็นลำดับ
เหมือนกับขึ้นบันไดเลื่อน
จะยกตัวอย่างให้ดู
อันนี้ที่เขาเล่ามา ไม่ได้มีการตัดต่ออะไรทั้งสิ้น
และนี่เป็นข้อความที่มาจากไลน์
คือ มีอยู่วันหนึ่ง
บอกว่า ...
คือเขามีความเข้าใจ
ว่าสังโยชน์คืออะไร
ขึ้นต้นด้วยสักกายทิฏฐิ
มีราคะ มีโทสะ นี่เป็นสังโยชน์
แล้วมอง คือมองด้วยมุมมองของการทำความเข้าใจ
จากคนเข้าใจทฤษฎี จากคนที่เข้าใจหลักการว่า
ถ้าจะบรรลุมรรคผล ต้องตัดสังโยชน์ให้ได้
ทีนี้พอมีกำลัง กำลังของจิต
และเริ่มจะมองเห็นกิเลสชนิดต่างๆ
เป็นสังโยชน์ ก็จะมองอย่างนี้
อันนี้ตัดทอนมา มีต้น
มีปลาย แต่ตัดทอนเอาเฉพาะที่เป็นสาระมา
บอกว่า.. เกิดราคะแรงอีกรอบ
แล้วสังโยชน์หยาบร้อนจากการนี้
ก็โดนถอนอีกรอบจนเกลี้ยงเกลา
คือมีกำลังจิตมากพอ
ที่จะเห็นราคะ
เป็นของที่รุกล้ำเข้ามา
เป็นศัตรูที่บุกเข้ามา
แล้วด้วยกำลังจิต สามารถที่จะผลักให้ศัตรูถอยร่นออกไปได้หรือว่า
ตกตายไปได้
จากนั้น ก็เกิดโมหะในหมวดเหม่อลอยขึ้นมา
สังโยชน์จากการนี้
เป็นสังโยชน์ที่ไม่แรงและร้อนเท่าราคะ
แล้วก็โดนถอนจนเกลี้ยงเช่นกัน
คือใช้กำลังจิต
พูดง่ายๆ ว่า มีการมองเห็นถึงกำลังจิตของตัวเองว่า
สามารถขับไล่ข้าศึกศัตรู
หรือที่เขามองว่านี่เป็นสังโยชน์
เป็นเครื่องยึด ที่จิตของตัวเองนี่ไปเกาะยึดกิเลสแบบไหนขึ้นมา
นี่เป็นการ .. เขาเรียกว่า
เป็นการเล่นทางจิต
มองเหมือนว่า.. คือไปอ่านคำครูบาอาจารย์มาว่า
จิตนี่อยู่กลางอก แล้วก็ใช้คำใช้อะไรแบบที่ครูบาอาจารย์ใช้กัน
เช่นบอกว่า แผลกลางอกถูกแหวกออก
เผยให้เห็นสังโยชน์ใหญ่ของจริง
นึกว่าตัวเองเห็นสังโยชน์ของแท้แล้ว
ตรงกลางตัว
นิมิตทางจิต มองเห็นสังโยชน์
ราวกับเป็นรากที่พันกัน
ยั้วเยี้ยซับซ้อนอยู่ตรงกลาง
เห็นสังโยชน์เป็นสายไฟ
เห็นสังโยชน์เป็น อะไรที่เข้ามาพัวพันมารอยรัด
ซึ่งอันนี้เป็นการบวกๆ
กัน ระหว่างการทำความเข้าใจตามทฤษฎี
กับการที่มีกำลังจิตมากพอ
ที่จะมองเห็นภาวะภายในด้วยความเป็นนิมิต
นี่ก็เข้าไปบวก บอกว่า
จิตอยู่กับศรัทธาอย่างนั้น
ไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง
ไม่มีตัวตน ไม่เข้าไปร่วมขบวนการ
นึกว่าตอนนั้นนี่ ไม่มีตัวตนแล้ว
แต่ทั้งหมดที่รู้สึกอยู่นั่นแหละ
ทั้งหมดที่เห็นนั่นแหละ
คือกระบวนการอย่างหนึ่ง
ของตัวตน
แสงแบบเมื่อคืน ..
คืออันนี้เป็นสิ่งที่เล่าไว้ตั้งแต่ก่อนหน้า
บอกแสงแบบเมื่อคืน
เมื่อคืนวานนี่สาดแรงลงมาอีกครั้ง
เห็นว่าแสงนี่เป็นเครื่องตัด
พูดง่ายๆ ตอนนี้มีกำลังที่จะตัดสังโยชน์ด้วยแสง
บอกว่าสังโยชน์ใหญ่
ถูกเปิดออกเพื่อรับแสงเต็มๆ
เห็นมันค่อยๆ สลายไปอย่างช้าๆ
จากนั้นมีแสงสาดเข้ามาอีกรอบ
รอบนี้สังโยชน์สลายหายไปจากครรลองการรับรู้
คือกระบวนการถัดจากนี้
ก็บอกว่า ไม่รู้จะเล่าอย่างไร
เป็นประสบการณ์อะไรที่พ้นจากการบรรยาย
ซึ่งแบบนี้ กี่คนๆ
พอเจอ ก็จะเข้าใจว่าตัวเองถึงมรรคผลแล้ว
ส่วนใหญ่ก็จะพูดออกแนวบอกว่า
บรรยายไม่ได้
ไม่สามารถที่จะพูดเป็นภาษามนุษย์
ตรงนี้จะเป็นวิธีที่ง่าย
จริงๆ แล้วนี่ ก่อนหน้าที่จะเล่าแบบนี้
มีอีกหลายครั้ง ที่เหมือนกันมาสะกิดยิกๆ
คือไม่ถามตรงๆ แต่เล่าอ้อมๆ
บอกว่า
เหมือนสักกายทิฏฐิ
หรือว่าความรู้สึกในตัวตนหายไป
เหมือนไม่มีใครแล้ว
มองเข้ามากี่ทีๆ ก็เบา แล้วก็ไม่รู้สึกมีตัวตน
นั่นแหละคือรูปแบบหนึ่ง
ที่ตัวตนหลอกเอา กิเลสหลอกเอา
ที่ยกมาให้ดูจะบอกว่า
แม้กระทั่งมาถูกทาง
แม้กระทั่งเข้าใจอะไรๆ
ทุกอย่างในเชิงทฤษฎี ว่าเขาจะต้องตัดสังโยชน์กัน
แต่วิธีตัดสังโยชน์นี่
ก็ไปเข้าใจเอาตามใจชอบได้
อย่างหลายคนนี่คือมักจะนึกว่า
สังโยชน์เป็นสิ่งที่ใช้กำลังตัดเอา
ห้ำหั่นเอาได้ง่ายๆ
แต่จริงๆ แล้วถ้าให้ถูกทาง
พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้
เหมือนกับการเจาะเปลือกไข่
อันนี้เป็นสิ่งที่พระองค์ตรัสไว้
อยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 5
แต่ไม่พูดรายละเอียด
พระองค์ตรัสไว้จริงๆ
ว่า อวิชชาเปรียบเหมือนการเจาะไข่
ทีนี้ แรง พลัง
ที่จะเจาะเปลือกได้จริงๆ
ไม่ใช่ เหมือนทำตัวเป็นเพชฌฆาต
เอาดาบไปฟาดฟัน ไม่ใช่แบบนั้น
แต่ เป็นการที่เราสะสมสมาธิ
มีกำลังของจิตมากพอ
แล้วไปรู้ไปดูอย่างมีอุเบกขา
อย่างโพชฌงค์ ธรรมอันเป็นองค์เพื่อตรัสรู้
องค์ธรรมเพื่อการตรัสรู้นี่
ขึ้นต้นด้วยสติ ต้องเป็นอัตโนมัติ
แล้วก็มีการพิจารณาธรรม
คือไม่ใช่มีสติเปล่าๆ
..
ต้องเป็นสติในแบบที่เห็นภาวะทางกายภาวะทางใจ
โดยความเป็นขันธ์ห้า
โดยความเป็นธาตุหก หรือด้วยความเป็นรูปนาม
ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง
ที่เป็นของหลอก เป็นเหยื่อล่อ
ให้หลงยึดว่าเป็นตัวตน
จากนั้นต้องมีความต่อเนื่อง
ต้องมีวิริยะ
ไม่ใช่เห็นแป๊บๆ
แล้วอีก 10
ปีค่อยมาเห็นต่ออะไรแบบนี้นะ
ต้องเห็นอย่างต่อเนื่อง
มีวิริยะมากพอ
จนกระทั่งเกิดความรู้สึกสงบเป็นปัสสัทธิ
มีความสงบกายสงบใจ
มีความระงับกาย ระงับใจมากพอ
ที่จะทำให้มีปีติ มีความอิ่มเอิบมากพอที่จะเป็นสมาธิ
มีสมาธิแบบที่ตั้งมั่นพอ
จะเป็นอุเบกขา
ตัวอุเบกขา ถ้าพูดกันตัวเดียวนี่
จะมีความสงสัยว่า คือทำจิตทื่อๆ
บื้อๆ มั้ง?
ไม่ใช่นะ
เป็นอุเบกขาในแบบที่มีการตื่น
มีการรู้
จิตนี่ความสว่างโพลงอยู่
แล้วก็ไม่มีอาการเร่งร้อน
ไม่มีความสำคัญผิด
ไม่มีการเอากำลังไปห้ำหั่นสังโยชน์
สังโยชน์ ไม่ได้มีนิมิตอะไรเป็นแบบนั้น
แล้วพอถึงจุดที่อิ่มตัวจริงๆ
จะรู้จะเห็นเองว่า
จิตแต่ละดวงที่อยู่ตรงกลางนี่
ถูกห่อหุ้มไว้ด้วยเปลือกหนาบางอย่าง
เป็นเปลือกหนาที่ เมื่อเราพิจารณานี่
จะบอกว่า เป็นอวิชชาอย่างหยาบๆ
ก็ได้
เป็นโมหะ
เป็นโมหะหยาบๆ
ที่มีความสำคัญผิดว่ามีตัวตนของเรา
แล้วจิตนี้ ถูกห่อหุ้มให้ยึด
ให้มีความรู้สึกอยู่อย่างนั้นชั่วกัปชั่วกัลป์
จิตทุกดวงที่เกิดดับนี่
มีอะไรห่อหุ้มอยู่แบบนั้นตลอดเวลา
โมหะที่มีเปลือกหนานี่
ถ้าหากว่ามีกำลังของอุเบกขา
ในขั้นสังขารุเปกขาญาณจริง
คือมีความวางเฉยในแบบใคร่พ้นออกไป
มีกำลังมากพอ แล้วสะสมความรับรู้แบบเป็นกลาง
โดยไม่มีเขา ไม่มีเรา
อยู่ในอาการสักแต่ว่า
โดยไม่มีอาการยึดมั่นถือมั่น
ว่าเป็นตัวเป็นตนนานพอ
บ่มตัวนานพอที่จะ สามารถชำแรก
หรือ แหวก
อันนี้เป็นคำที่พระพุทธเจ้าท่านใช้เลยนะ
ท่านใช้คำว่า ชำแรกกิเลส
อันนี้เป็นคำของท่าน
ท่านบอกว่า
ถ้าถึงพร้อมด้วยคุณธรรม
ซึ่งเป็นดุจฟองไข่ที่ไม่เน่า
ควรจะชำแรกกิเลสได้
ควรจะตรัสรู้ ควรจะบรรลุมรรคผล
บรรลุธรรมอันปลอดโปร่งจากกิเลส
อันนี้ คือเป็นคำตรัสของท่าน
และคำตรัสของท่าน อุปมาอุปไมยของท่านนี่
ไม่มีการแบบยกขึ้นมาลอยๆ
สามารถที่จะรู้สึกได้
สามารถที่ประจักษ์ได้ตามนั้นจริงๆ
ตรงจุดที่มีอุเบกขามากพอ
สะสมนานพอ
ไม่มีการอยาก
ไม่มีการเร่งจะเอามรรคเอาผลให้ได้เดี๋ยวนี้
ไม่มีการย่อหย่อนว่า
เดี๋ยวค่อยไปเอาชาติหน้า
อยู่ตรงกลาง อยู่ตรงจุดที่พอดี
ระหว่างความรู้สึกว่า
เอาก็ได้ไม่เอาก็ได้
กับการที่ไม่หยุดไม่หย่อน
มีความเพียร ไม่มีการท้อถอย
จุดที่ เราเห็นโดยอาการสักแต่ว่าไปเรื่อยๆ
กระทั่งมีแรงดันมากพอให้จิตโพล่ง
ทะลุเปลือกออกไปได้
ตรงนั้นแหละที่ใช่
ทีนี้ความยากที่จะไปถึงตรงนั้นแหละ
ต้องผ่านด่าน
ต่อให้ปฏิบัติ อย่างคนที่เป็นพยานเอกคนนี้
คือผ่านความเห็นที่ถูกต้องอะไรมาเยอะแยะ
แต่ไปติดโน่นติดนี่อะไรตลอด
7 เดือนที่ผ่านมา
คือไม่ใช่แบบว่า ทุกอย่างทางโรยด้วยกลีบกุหลาบ
ตรงกันข้ามเต็มไปด้วยขวากหนาม
เดี๋ยวจะให้เขาเขียนเล่าเองว่ามีอะไรบ้างอย่างไรบ้าง
แต่จะสรุปที่ตรงนี้เพื่อเอาประโยชน์ก่อน
เอาประโยชน์กับพวกเราที่ทำมาด้วยกัน
คนหนึ่ง
เคยอยู่ฝั่งเดียวกับเรา
ตอนนี้ข้ามไปแล้ว เป็นพยานปากเอกของห้องวิปัสสนานุบาลนี้แล้ว
ก็ถือว่า ผมเอามาพูดแทนเต็มปากตอนนี้ช่วงนี้ว่า
ทำกันได้ ทำได้จริง
แล้วก็ที่จะทำได้จริงนี่
ต้องถูก ต้องตรง และผ่านอะไรที่ยากๆ
มาเยอะ
ถ้าเป็นสมัยพุทธกาล
บอกได้โสดาบัน เรื่องธรรมดา
ไม่มีใครสนใจเท่าไหร่
คือเทวดานี่ สาธุนะ
แต่ว่ามนุษย์จะรู้สึกเฉยๆ เพราะว่ามีเยอะ
สมัยพุทธกาล ไปไหนก็เจอ
เยอะมากโสดาบันนี่
เพราะสมัยนั้น พระพุทธเจ้ายังอยู่
แล้วก็แรงบันดาลใจมีมาก
หันไปทางไหนก็เจอแต่แสงสว่าง
สว่างโล่ง ระดับอรหันต์
ระดับอนาคาฯ นี่เยอะ
พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอง
มีอยู่เยอะมาก
แต่สมัยนี้ เป็นเรื่องน่าแตกตื่น
เป็นของหายาก
หรือกระทั่งปักใจเชื่อกันมานานแล้วว่า
ไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะบรรลุมรรคผลในการปัจจุบัน
แต่พวกเรา เจริญมาด้วยกัน
แล้วเห็นหน้ากันมา เห็นจิตของกันมา
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ท่านที่มีความสนใจอย่างต่อเนื่อง
ที่จะมองความคืบหน้าของเพื่อนร่วมบ้าน
เพื่อนร่วมห้องแต่ละท่าน
รวมทั้งเอาตัวเองนี่มาประจักษ์ด้วย
ไม่ใช่เอาแต่ดูเขาอย่างเดียว
จะเริ่มเข้าใจ จะเริ่มรู้เห็นว่า
ความเป็นไปได้เกิดขึ้นจากไหน
เริ่มต้นขึ้นจากที่ใด
..
จากจิต ไม่ใช่จากกาย
ไม่ใช่จาก เราจะไปอาศัยอยู่ที่ไหน
บ้านหรือวัดนะ
_______________
วิปัสสนานุบาล EP 89 | อังคาร 8 มีนาคม 2565
เกริ่นนำ – ความยากในการได้มรรคผล
ถอดคำ : เอ้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น