วันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

วิปัสสนานุบาล EP 128 (เกริ่นนำ) ลางบอกเหตุความเอาจริง - 2 พฤษภาคม 2565

วิปัสสนานุบาล EP 128 | จันทร์ 2 พฤษภาคม 2565

เกริ่นนำ - ลางบอกเหตุความเอาจริง

 

พี่ตุลย์ : วันก่อนพูดถึงลางบอกเหตุ หรือว่านิมิตหมาย

 

นิมิตหมายทางใจนะ ไม่ใช่นิมิตหมายภายนอก

นิมิตหมายทางใจว่า .. อย่างไรถึงเรียกว่าเฉียด อย่างไรถึงเรียกว่าใกล้แล้ว

 

ถ้าปกติ คนเราจะเอานิมิตหมายกันภายนอก ว่ามีเทวดามาบอกบ้าง

หรือว่ามีอะไรที่ลึกลับพิสดาร ที่เหนือๆ มนุษย์ทั้งหลาย

โดยเฉพาะคนไทย จะชอบ

แต่ไม่สนใจลางบอกเหตุ ที่เป็นไปภายใน

ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ใน โพชฌงค์ 7

 

ซึ่ง เมื่อสํารวจตรวจสอบดู

ถ้าเรามีไม่ถึงห้าสิบเปอร์เซ็นต์ มีไม่ถึงครึ่ง ก็อย่าเพิ่งไปท้อ

ของแบบนี้นี่ ไล่ตามกันได้ ไล่กวดกันได้

ไม่ใช่ อาศัยวาสนา หรือว่าบุญเก่ามาเป็นตัวกําหนด

แต่อาศัยบุญใหม่เป็นสําคัญ

 

ตรงนี้พระพุทธเจ้าท่านให้การยืนยันนะ ท่านตรัสว่า

ใครก็ตาม บําเพ็ญเพียร ทําเต็มที่

ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในสติปัฏฐานสูตร

รับรองว่าอย่างมากที่สุด ไม่เกินเจ็ดปี .. อย่างไรก็ได้

 

แล้วไม่ใช่ได้แค่โสดาปัตติผลนะ แต่เจ็ดปี .. คำว่าเจ็ดปีนี่

ได้อย่างขั้นต่ำ อนาคามิผลนะ

ไม่ใช่แค่ข้ามเส้นแรก .. เส้นแรกนี่แบบว่า เบ ๆ (เบสิก) ไปเลย

ถ้าพยายามกันจริง ๆ เอาจริง

 

ทีนี้ ลางบอกเหตุของการเอาจริง ดูจากข้างนอกไม่ได้

ดูจากแบบว่า มีพระพระอาทิตย์ขึ้นทางตะวันตกที่หลังบ้านเราอะไรอย่างนี้

ไม่มีแบบนั้น

 

ความเพียรนี่ รู้ได้เฉพาะตน เป็นปัจจัตตัง

แล้วก็เป็นสิ่งที่ เราสามารถสํารวจตรวจสอบได้

จากองค์ประกอบทั้งเจ็ดของโพชฌงค์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว

 

มีสติเป็นอัตโนมัติ แล้วก็มี ธัมมวิจยะ

ไม่ใช่ว่ามีสติแล้วแช่เฉย หรือว่า มีแค่ความรู้เนื้อรู้ตัวแบบนักยิมนาสติกอะไรแบบนั้นน่ะ เขาเก่งกว่าเราอีก

 

แต่ต้องมีธัมมวิจยะ ต้องมีความเพียรที่ต่อเนื่อง

ต้องมี ปีติ เป็นเครื่องยืนยันว่า เราเพียรมาถูกทาง ไม่ใช่ยิ่งเพียรยิ่งเครียด

มีปีติ แล้วก็มีปัสสัทธิ สงบกายสงบใจ มีสมาธิ มีอุเบกขา

 

ซึ่งก็แจกแจงจาระไน ..

คือไม่สามารถที่จะถอดออกมาได้ แบบละเอียดยิบเป๊ะๆ นะ

แต่ว่าที่ผมลิสต์ไว้คราวที่แล้ว

(อ่านถอดเสียงที่ https://dungtrinanswer.blogspot.com/2022/05/ep127-30-2565.html )

 

ก็พอน่าจะประมาณได้ว่า คนที่มีความฝักใฝ่นี่

จะเกิดอะไรทางใจ แล้วก็ใจไปอยู่ที่ไหน

 

โดยมากไม่อย่างนั้น เราบอกว่าอยากเฉียดๆ อยากได้ๆ

แต่ดูเลย ว่ามีลางบอกเหตุอะไร ที่เราสามารถสํารวจด้วยตัวเองได้ไหม

จะไปเอาคําพยากรณ์จากคนอื่น หรือว่าวิ่งไปหาครูบาอาจารย์

ที่ท่านจะบอกว่า เออ ใกล้แล้ว สองวันนี้แหละ สามวันนี้แหละ

แล้วก็ตัวเอง คือไม่ทําอะไรเลย ไม่ได้ดูว่าใจนี่ ฝักใฝ่ที่จะทิ้งจริงรึเปล่า

 

อันนี้คือต้องมาบอกกัน เอาแบบเป็นข้อสรุปง่ายๆ สั้นๆ นะ

บอกว่า ขึ้นต้น คนจะมาถึงใกล้เส้นได้ ก่อนอื่นต้องอยากได้

เอาจริงๆ เลย ไม่มีหรอกที่แบบว่า ไม่ได้อยากได้ แล้วเดี๋ยวก็มาเองอะไรอย่างนี้

 

ไม่อยากได้ แล้วมาเองนี่ .. ไม่มีนะ

เท่าที่เห็นมาทั้งชีวิต ไม่มีแบบนั้น

ประเภทแบบว่า ขึ้นมาเรื่อยๆ เฉื่อยๆ

บอกว่าธรรมะ คือเรื่องสบายๆ ธรรมแท้ ต้องเรียบง่าย

แล้วง่ายจริงๆ แบบใช้ชีวิตไม่ทําอะไรเลย

ไม่เพียรอะไรทั้งสิ้น โลกก็ไม่เอา ธรรมก็ไม่สู้

 

แบบนี้นี่ คือ เข้าใจผิดตั้งแต่เริ่ม

 

พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสนะว่า ต้องอาศัยตัณหา ดับตัณหา

 

อันนี้ท่านแจกแจงจาระไนไปด้วยนะว่า ได้ยินว่า คนโน้นคนนี้บรรลุธรรม

ขั้นโสดาบันบ้าง ขั้นอนาคามีบ้าง หรือว่าอรหันต์บ้าง

แล้วเกิดแรงบันดาลใจ อยากจะได้อย่างท่าน เสร็จแล้วลงมือปฏิบัติ

 

ไม่อย่างนั้นนะ ถ้าเริ่มต้นขึ้นมา บอกไม่อยากได้

ก็จะไม่เอาจริง แล้วก็เรื่อยเฉื่อย หาข้อสรุปเอาเอง

ไม่ฟังว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนอะไร

แล้วก็จะมักจะสอนตัวเอง คิดเองเออเอง

หรือไม่ก็ ฟังอะไรที่ถูกกับจริตตัวเอง ขอเอาง่ายไว้ก่อน

 

ต้องอยากได้ แล้วถึงจะได้ฟังพระพุทธเจ้าจริงๆ ว่าท่านตรัส

ตามสเปกของท่านนี่ ต้องมาแบบนี้ นี้ นี้

แล้วก็เกิดมาตรวัดเครื่องชี้ เช่น กิเลสเบาบางลง

โดยเฉพาะข้อโมหะ มีความรู้สึกในตัวในตนน้อยลงเรื่อยๆ อย่างนี้  

 

ทีนี้ ขึ้นต้นต้องอยากได้ .. แต่ปลายทาง หลังจากปฏิบัติมาดีแล้ว

ต้องเข้าใจว่า ความอยากได้ เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องรู้ว่า

เป็นเครื่องปรุงแต่งตัวตน

 

คือ ถ้าอยากได้มรรคผลให้ตัวเองอยู่

ความอยากนั้น ประกันเลย ว่าไม่ได้

 

เพราะว่ามรรคผลคือการทิ้งตัวตน ไม่ใช่เอาตัวตน

 

ตรงนี้ ถ้าไม่เข้าใจ จะนึกว่าความอยากคือสะพาน

หรือเป็นเครื่องหมายวัด ว่านี่ฉันยังอยู่ในทางอยู่นะ ฉันยังอยากได้อยู่

 

จริงๆ ไม่ใช่ ความอยากเป็นเครื่องขวาง เป็นกําแพง

 

ทีนี้ คนก็อาจจะสงสัยกันว่า เอ๊ะ.. ย้อนแย้งขนาดนี้ แล้วจะทําอย่างไร

ปฏิบัติไป จะไม่ให้หวังอะไรเลยหรือ?

 

จริง ๆ แล้วผู้ปฏิบัติมาตรงทาง และมาได้เฉียดแล้วนี่

จะมีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า ความสุขอยู่กับปัจจุบัน เป็นตัวตั้ง

 

ถ้าปฏิบัติมาถูกจริง จะมีความสุข ความพอใจ

 

ไม่ใช่ความพอใจที่จะอยู่สบาย ๆ เรื่อย ๆ เฉื่อย ๆ ไม่ทําอะไรเลย

แล้วบอกว่า นี่ฉันมีสิทธิ์

 

มีเยอะมากเลยนะในโลกนี้ ที่บอกไม่ทําอะไรเลย

คือเอาจริงๆ ดูไปแล้วนี่แทบไม่ทําอะไรเลย

แล้วก็ยังเพลิดเพลิน หลงอยู่กับอะไรแบบโลกๆ อยู่

แต่คิดว่าตัวเองก็มีสิทธิ์

แบบนี้ ไม่ใช่สุขในแบบที่เรากําลังพูดถึง

 

ความสุขแบบที่เรากําลังพูดถึง คือ

ความสุข อันเกิดจากการเพียรมาเพียงพอ

จนพิสูจน์ตัวเองได้ว่า นี่ ควรค่าแก่ความสุข ที่ได้อยู่กับปัจจุบัน

 

ภาวะที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นอย่างไร รับรู้ตามจริง

แล้วมีสมาธิ มีปีติ มีสุข แบบที่ควรแก่อัตภาพ

คู่ควรแก่ความเพียรที่ได้สะสมมาแล้ว

จนกระทั่งเห็นว่า ภาวะอะไรเกิดขึ้น ภาวะนั้นย่อมหายไปเป็นธรรมดา

ไม่เห็นต้องแคร์อะไร

 

แล้วตรงนี้ ก็จะเกิดความมั่นใจว่า

จิต มีการเข้าโหมดทิ้ง ไม่ใช่เข้าโหมดเอา

 

คือถ้ายังเข้าโหมดเอาอยู่ ที่เพียรไปเพื่อจะเอาเข้าตัวเข้าตน

นึกว่ามรรคผล คือรางวัล

นึกว่ามรรคผล จะทําให้มีหน้ามีตา

หรือ นึกว่ามรรคผล จะทําให้อะไร ๆในชีวิต

เปลี่ยนแปลงไป ในแบบที่กิเลสต้องการ       

ก็จะเห็นว่านั่นเป็นโหมดเอา เป็นโหมดเข้าใจผิด

 

แต่ถ้าโหมดทิ้ง คือปฏิบัติมาไม่หวังอะไรเลย

อันนี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้นะ

คือถ้ามาตรงทางจริง ๆ แล้ว แม้มรรคผลนิพพานก็ไม่หวัง

 

คือท่านตรัสไว้ตอนแรกว่า ต้องอาศัยตัณหาดับตัณหา

มีความอยากได้มรรคผลมาเป็นตัวตั้ง เพื่อที่จะตั้งเป้าว่า จะดับตัณหา

แต่พอมาถึงใกล้เส้นแล้ว กลายเป็นว่า

แม้มรรคผลและนิพพาน ก็ไม่พึงปรารถนา

คือพึงปรารถนา แต่จะเห็นภาวะที่เป็นปัจจุบัน

 

ถ้ารู้สึกว่าใจเย็น ถ้าเรารู้สึกว่า ดูไปเรื่อยๆ ได้ และดูเรื่อยๆ จริง

คือไม่ใช่ดูบ้าง ไม่ดูบ้าง ดูวันนี้แล้ว อาทิตย์หน้าค่อยมาดูอีกครั้ง

แบบนี้ ก็ต่อไม่ติดนะ .. กําลังนี่

 

ทีนี้ เท่าที่ได้เห็นเลยจากในห้องนี้นะ

คนในห้องนี่ ทําให้ได้เห็นอย่างหนึ่ง

คนที่มีความเพียรจริง จะไม่มีข้ออ้าง

ทําไปเรื่อยๆ ทําๆ ทั้งวัน

 

คําว่า ทําทั้งวันไม่ใช่ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง

แต่ทํามาเรื่อย ๆ เท่าที่จะหาจังหวะ หาโอกาสได้

 

ตอนนี้ มีอยู่หลายคนมากๆ ที่เข้าใจจุดนี้

ไม่ใช่บอกว่า หลาย ๆ คนมีสิทธิ์ เพราะบุญเก่าดี สะสมมาดี

ส่วนใหญ่เท่าที่เห็นนี่ บุญใหม่ทั้งนั้น

บุญใหม่ อันเกิดจากความเพียร บุญใหม่ อันเกิดจากการเอาจริง

 

ชาวพุทธ ว่ากันไปแล้วนี่ มีบุญกันมาทั้งนั้นนะ .. บุญเก่า

แต่บุญใหม่คือตัวตัดสินว่า จะต้องไปต่อยาวๆ

หรือว่าเอาแค่สั้นๆ แล้วจบ

 

เพราะคนมีบุญนี่ อย่างที่เราเคยคุยกันมา

คนมีบุญ ไม่ใช่คนที่จะได้ไปนิพพานเสมอไป

คนมีบุญมาก บางทีนี้ไปย้าวยาว ยาวๆ

เพราะว่ามีความน่าติดใจในสังสารวัฏเป็นเครื่องล่อ

เป็นเหยื่อให้ตะครุบ หรือว่าวิ่งไล่งับ เยอะไปหมด

 

แล้วก็ถ้าหากว่าเราไม่เข้าใจ ว่านั่นคือเหยื่อล่อ

แต่เห็นว่าเป็นรางวัลของการเป็นคนมีบุญ

ก็จะต่อบุญ แล้วไปเจอกับอะไรก็ไม่รู้ ในครั้งใหม่

ที่เกิดแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่

 

อันนั้น ก็เป็นเรื่องที่น่าสลดใจของสังสารวัฏ

 

แต่เรื่องที่น่าดีใจของสังสารวัฏก็คือ ทางมีเปิดเป็นระยะ ๆ  

นาน ๆ ที เปิดที แต่ถ้าเปิดแล้ว เราไม่มีปัจจัยให้เห็นช่อง

หรือว่าเห็นช่องแล้ว ไม่มีปัจจัยให้เห็นทาง

ทางเดิน ที่เป็นทางตรง ก็มีโอกาสพลาด

 

ในสังสารวัฏนี่

โอกาสพลาด มีมากกว่าโอกาสที่จะเข้าช่องได้ เข้าทางได้

เดินอยู่บนทางได้ และไปจนถึงเส้นนะ

 

นี่แหละ ที่เรามาสร้างแนวโน้มร่วมกัน

มาทําให้บรรยากาศในห้อง เป็นการบิลท์ (built)

แบบถูกทิศถูกทางตั้งแต่เริ่มเลย

 

เริ่มต้น บิลท์กันด้วยความอยาก

ปลายทาง มาตบให้เข้าที่ ด้วยความใจเย็น

ใจเย็นร่วมกัน แล้วเห็นว่ าปัจจุบัน วินาทีนี้ น่าพอใจที่สุด

______________

วิปัสสนานุบาล EP 128 | จันทร์ 2 พฤษภาคม 2565

เกริ่นนำ - ลางบอกเหตุความเอาจริง

ถอดเสียง : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=aZGO5oqTckI

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น