วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

วิปัสสนานุบาล EP133 (บทความเต็ม) - 9 พฤษภาคม 2565

EP133 | จันทร์ 9 พฤษภาคม 2565

เกริ่นนำ - เจริญสติเอาชนะอารมณ์ลบ

 

พี่ตุลย์ : ถึงแม้ว่าจะยังเทียบธาตุเทียบขันธ์ไม่ได้

ถึงแม้ว่า จะยังไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองก้าวหน้าไปถึงไหน

 

แต่ขอแค่หลับตาเดินจงกรมได้

คือเดินได้ ด้วยความรู้สึกว่า เท้ากระทบอยู่ในใจของเรา

แล้วก็กลับตัวได้ แบบไม่ต้องชนโน่นชนนี่ (หรือ) เดินบนเสื่อโยคะสั้น ๆ

 

แค่นี้ ก็จะรู้สึกเข้ามาในกายได้ชัดกว่าเดิมมากขึ้น

แล้วส่งผลพลอยได้ไปอยู่ระหว่างวัน ให้รู้สึกถึงกายได้มากขึ้นด้วย

 

เพียงเท่านั้น ก็สามารถจะเอาชนะอารมณ์ลบได้หลายหลากครับ

เช่น อารมณ์คิดมาก อารมณ์เคร่งเครียดที่สูญเปล่า

หรือว่าอารมณ์น้อยใจ สงสารตัวเองอะไรจําพวกนี้

 

ดูง่ายๆ ถ้ารู้สึกเข้ามาที่กาย แบบเป็นอัตโนมัติ

ไม่ต้องเพ่ง ไม่ต้องพยายามฝืน ไม่ต้องพยายามที่จะระลึกนึกถึงมากนี่ +อยู่ๆ ปรากฏขึ้นมาเอง ระหว่างวัน

 

อารมณ์ลบต่างๆ จะปรากฏชัด

เริ่มต้นเค้าราง ตั้งแต่จุดต่างๆ ของร่างกายนั่นแหละ

 

ยกตัวอย่าง ถ้าหากว่ามีอารมณ์สงสารตัวเอง ซึ่งคนนี่เป็นกันเยอะ

ไม่จํากัดว่าจะต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น

แม้แต่ผู้ชายตัวโตๆ ก็สงสารตัวเองเป็น

 

แล้วเดี๋ยวนี้ ก็สงสารตัวเองเก่งกันถ้วนหน้าด้วย พอทุกข์นิด ทุกข์หน่อย

หรือว่าต้องลําบากกว่าคนอื่น ที่ตัวเองมองเห็นด้วยตาเปล่า

ก็เกิดความรู้สึกเหมือนกับ เออ.. ทําไมเราต้องมาเป็นแบบนี้

แล้วจิตก็จะแคบเข้ามา

 

แต่เริ่มต้น คนจะมองจิตตัวเองกันไม่ออกหรอก

แต่ว่าจะสามารถรู้สึกได้ว่า เกิดอาการจุก เกิดอาการแน่น ตัวงอ

ลักษณะของกาย ที่กําลังปรากฏอยู่

ณ ขณะที่เกิดอารมณ์น้อยใจ เกิดอารมณ์สงสารตัวเองนี่ สังเกตได้ง่าย

จะมากับลมหายใจที่ห้วนสั้น มากับอาการที่หงอย ๆ

ร่างกาย อยากจะถูกกดลงต่ำ ไม่ใช่เหมือนกับพร้อมจะเงยหน้าขึ้นสูง อะไรแบบนี้

 

ถ้าแค่เห็นอาการทางกาย แล้วระลึกได้ว่า

จิตแบบนี้เป็นจิตที่คับแคบ ไม่เหมือนตอนที่แผ่กว้าง ๆ ในขณะเดินจงกรม

 

แบบนี้ ก็เกิดสติ แบบที่จะช่วยให้เรา พ้นจากอารมณ์จมน้ำ

อารมณ์สงสารตัวเอง อารมณ์คิดมาก อารมณ์ฟุ้งซ่าน

 

อารมณ์อะไรก็แล้วแต่ ที่เป็นอารมณ์ลบ

สามารถสังเกตได้ จากจุดใดจุดหนึ่งของร่างกายเป็นตัวตั้ง

แล้วก็มาถึงการปรุงแต่งจิต

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าใครเดินจงกรมหลับตา

แล้วมีความรู้สึกถึงเท้ากระทบได้ต่อเนื่อง จิตเปิดแผ่ออกมาได้บ้าง

แล้วทําทุกวัน ก็เหมือนกับมีทุน มีตัวตั้งอยู่ในเรา

ให้เปรียบเทียบได้ว่า อารมณ์ที่ผิดปกติไปกว่านั้น

จิตที่คับแคบไปกว่านั้น แตกต่างไปอย่างไร

 

แต่ถ้าหากว่าไม่มีตัวจิตเปิด เป็นตัวเปรียบเทียบ

เป็นเครื่องชี้ว่า อันนี้แตกต่างไปแล้ว

อย่างนั้นก็อาจจะดูยากหน่อย

 

ซึ่งอันนั้นแหละ คือวิสัยของคนธรรมดาทั่วไป

ถ้าหากว่าเกิดอารมณ์ลบ

ก็มักจะติดอยู่ในอารมณ์ลบ แล้วก็ทางออกได้ยาก

 

อันนี้ คือข้อได้เปรียบแล้วนะ สําหรับคนที่เดินจงกรมหลับตาเป็น

เพราะฉะนั้น ถ้าแค่รู้เท้ากระทบ

ใจเปิดแผ่ มีความสว่าง มีความสบายได้นี่ ขอให้ถือว่ามีทุนแล้ว

 

ยังไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับคนที่ก้าวหน้า

แล้วเกิดความรู้สึกเหมือนกับว่า เทียบเขาเทียบเรา

แล้วเรายังต่ำชั้นกว่า เรายังสู้ไม่ได้

หรือว่าเรายังไปไม่ถึง ต้องก้าวอีกไกล อะไรแบบนั้น

 

มองข้อดี อย่าไปมองที่เรารู้สึกว่า ยังต้องดีกว่านี้อีกแค่ไหน

_______________

 

- แพร -

 

พี่ตุลย์ : จะมองด้วยตาเปล่า

แล้วถามตัวเองว่า ในอิริยาบถที่กำลังนั่งอยู่

หรือถ้าใครเดิน หรือยืนอยู่ก็ตาม

มองผู้สาธิตแล้ว ใจเรารู้สึกเป็นสุข หรือทุกข์

 

การปรุงแต่งทางความสุข หรือความทุกข์ของแต่ละคนนี่ แตกต่างกัน

 

อย่างถ้าหากว่า กําลังมีความฟุ้งซ่านจัด กําลังมีความรู้สึกคึกคะนอง

มาเห็นคนที่เดินจงกรม หรือนั่งสมาธิ

อาจจะเกิดความทุกข์ขึ้นมาแบบหนึ่งก็ได้

เกิดความรู้สึกขัดแย้ง ไม่เข้ากับจิตของตัวเอง

 

แต่ถ้าหากว่า เป็นกลุ่มคนที่หวังเอาดี หวังเจริญสติ หวังเอาธรรม

มานั่งดู แล้วถามตัวเองว่า มีความสุขหรือมีความทุกข์

 

คําตอบ จะวัดว่า

มีความกลมกลืนกันไปในทางเดียวกัน มากหรือน้อย

 

ทีนี้ ถ้าหากว่าเราดูอยู่นานพอ

เราก็จะเริ่มบอกตัวเองได้อีกอย่างหนึ่งว่า

ฝั่งผู้สาธิต จิตมีความหยาบกระด้าง หรือว่ามีความเกลี้ยงเกลา

จิตมีความเบา หรือว่ามีความหนัก

 

ถ้าเรารับรู้ถึงความรู้สึกขั้นพื้นฐาน

อย่างที่มนุษย์ทั่วไปสามารถรับตามกันได้ จากการมองกันนานพอ

เราก็จะจับสังเกต แล้วสามารถรู้ได้ว่า

 

ก้าวกระทบแต่ละก้าว จังหวะกระทบ ที่ช้าเร็ว ตามจังหวะของผู้สาธิต

ก่อให้เกิดความคมของสติ หรือความทื่อของการรับรู้

ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าสว่าง หรือว่า มืด

ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าใส หรือว่าขุ่น

สุดท้ายคือ ก่อให้เกิดความรู้สึกว่า แผ่กว้าง หรือว่าหดแคบ

 

การรับรู้ อย่างที่เราสามารถมองด้วยตาเปล่า

จริง ๆ แล้ว ก็มีข้อจํากัด

แต่ถ้าหากมองนานพอ จะค่อย ๆ เกิดความเก็ต (get)

เกิดความรู้สึกเหมือนกับว่า มีใจของเรา ไปอยู่กับการเดินของผู้สาธิตด้วย

 

ถ้าหากการรับรู้ภายใน เป็นไปในแบบที่เข้ามาในภาวะ ..

รายละเอียดของภาวะภายใน จะเป็นไปในกายก็ตาม

หรือว่าจะเป็นในใจก็ตาม

 

คุณสมบัติทั้งหมดที่ตามมา

ไม่ว่าจะเป็นความคม ความใส ความกว้าง ความสว่างที่แผ่ออก

เราลองนึกตามว่า ถ้ามีสติที่คม มีความสว่าง ความใสที่แผ่ออกกว้าง

การรับรู้ภายใน ที่เกิดจากก้าวกระทบแต่ละก้าวนี่ เป็นอย่างไร

 

นี่.. เราจะค่อยๆ เริ่มรู้สึกถึงน้ำหนักของฝ่าเท้า

ตามจังหวะช้าเร็วของก้าวย่างที่กระทบ กระทบ กระทบ

แล้วก็รู้สึกถึง สิ่งที่แผ่ออกมาจากตรงกลาง

 

และในลักษณะที่แผ่ออกมาจากตรงกลางนั้น

มีความรับรู้อย่างไร มีความเห็นอย่างไร .. ยึด หรือว่าปล่อย

 

ตรงนี้ คีย์เหล่านี้ ถ้าจับได้ ก็จะเกิดความซึมซับ เข้าถึงกัน

แล้วถ้าหากต่างฝ่าย ต่างมีความรับรู้ในทิศทางเดียวกัน

เห็นว่า ที่เรียกว่ากายใจนี้ ปรากฏรายละเอียดอะไรบางอย่าง ที่ชัดขึ้น

 

ที่เดิมที มีความรู้สึกว่า นี่กายเรา นั่นกายเขา .. เหมือนแตกต่างไป

เพราะว่าจิตที่มีความคม จิตที่มีความสว่าง แล้วแผ่กว้างออกนี่

จะไม่มองด้วยความรู้สึกว่า กายนี้เป็นกายเรา

แต่เหมือนเห็นอะไรสักอย่างหนึ่ง

 

ตอนแรกๆ ก็อาจจะไม่กล้านิยาม

แต่พอพิจารณาตามจริง อาศัยสิ่งที่กําลังรับรู้อยู่ ว่า

จริงๆ แล้วกายนี้ ยกตั้งขึ้นมา มีอะไรบางอย่าง ที่ทําให้หยัดตั้ง

ไม่ใช่อยู่ ๆ กล้ามเนื้อ หรือว่าความรู้สึก เกี่ยวกับตัวตน

จะสามารถที่จะค้ำจุนให้ตัวของมันเองตั้งอยู่ได้ แต่ต้องมีโครงกระดูก

 

แล้วการมีโครงกระดูก ถ้าหากว่าเรารู้สึกว่า เป็นกระดูกของเรา

ก็จะรู้สึกแปลกๆ ขัดแย้ง

 

เพราะว่าความรู้สึกเป็นตัวเรานี่

เดิมที ถูกรายงานออกมาจากเงากระจก หรือว่ากล้องเซลฟี่ทั้งหลาย

รับรู้มาทั้งชีวิต จากเงากระจก แล้วก็กล้องเซลฟี่

ว่าหน้าตาตัวตนของเรา มีเนื้อมีหนัง มีหูมีตา มีจมูกมีปาก

มีผม มีเสื้อผ้าหน้าผมอะไรสักอย่างหนึ่ง

ขึ้นอยู่กับว่า แต่ละวันจะปรากฏอย่างไร

 

กลับกลายมาเป็น รู้สึกว่าข้างในนี่

เป็นโครงกระดูก ที่แยกออกจากกันเป็นซี่ ๆ มีช่องว่างห่างกันเป็นซี่ ๆ

มีกะโหลก มีกระดูกมือ กระดูกเท้า

 

ก็จะจําตัวเองไม่ได้ จะมีความรู้สึกว่า

เออ.. ที่เราจําว่าเรามีหน้าตาอย่างไร ชื่อแซ่อย่างไรมาทั้งชีวิตนี่

ทําไมเหมือนหายไป

เมื่อเกิดการประจักษ์ เกิดการรับรู้ถึงโครงกระดูกภายใน

 

ถ้าเป็นไปด้วยกัน คือถ้าซิงค์ (sync) กัน มองแล้ว เราเกิดความรู้สึกได้

ถามตัวเองง่าย ๆ .. ถ้ามองมานานพอ .. ว่าในอิริยาบถนี้ของเรา

ถ้าด้วยจิต แบบที่ผู้สาธิตกําลังดํารงอยู่

เกิดความรู้สึกว่า อิริยาบถอย่างที่กําลังเกิดขึ้นในเรานี่ 

จะท่านั่ง ท่ายืน หรือท่าเดิน ก็ตาม ข้างในนี่คืออะไร หยัดตั้งอยู่ด้วยอะไร

ความรู้สึกเกี่ยวกับโครงสร้างภายในของร่างกายนี้ ปรากฏต่อใจอย่างไร

 

อันนี้ คือ ถ้าพวกเราในห้องทํามาในทิศทางเดียวกัน

จะสามารถแพร่กระแสของการเห็น

ของประสบการณ์ที่เกิดขึ้นภายใน ให้ถึงกันได้

 

ทีนี้ ถ้าหากเรามองว่า ภาวะทางกายของผู้สาธิต

ที่เดินกลับไปกลับมา มีความเป็นอย่างนั้นได้ด้วยตัวของมันเอง

ได้ด้วย โครงกระดูก ที่เคลื่อนไปเคลื่อนมาด้วยตัวเอง ได้หรือเปล่า?

 

ดูไปนะ ดูลักษณะที่เกิดขึ้นในหน้าจอ

มีร่างกายเคลื่อนไปเคลื่อนมานี่ เห็นได้ด้วยตาเปล่า

แต่ที่เราจะสามารถสัมผัสได้ด้วยใจ ก็คือว่า

กายนี้ ไม่ได้เดินไปเดินมาด้วยตัวของมันเอง

 

ถ้ามีแค่โครงกระดูกอยู่ข้างใน ไม่มีใจของใคร สั่งให้กายเดิน

จะเดินเองไม่ได้นะ

 

นี่แหละ เราจะเริ่มรู้สึกถึงจิต ที่แฝงอยู่ในกาย

เริ่มรับรู้คําที่ว่า จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว

 

กายนี่ ไม่มีทางเลย ที่จะเดินกลับไปกลับมาด้วยตัวเอง

ต้องมีจิตที่ครองอยู่ เป็นผู้ลากพา ให้กายเคลื่อนที่ไป

และเมื่อเราสามารถสัมผัส รู้สึกถึงใจที่ครองร่างกายอยู่ได้

เราก็จะสามารถสัมผัส แล้วก็รับรู้ได้เช่นกันว่า

ใจที่แฝงอยู่ในกาย มีความแผ่ออกไป หรือว่ามีความคับแคบเข้ามา

 

แล้วถ้าหาก เรารับรู้ว่า มีทั้งกายมีทั้งใจ ที่กําลังเดินไปเดินมาอยู่

มีทั้งสองอย่าง มีทั้งสองภาค มีทั้งสองสภาวะ ที่เจือปนอยู่ด้วยกัน

เราก็จะย้อนกลับมา รู้ว่า ณ อิริยาบถที่เป็นของปัจจุบันของเราเอง

ณ บัดนี้ ก็มีความเป็นเช่นนั้น

 

อยู่ๆ โครงกระดูก ไม่สามารถยกตั้งขึ้นมาในท่านั่งได้เอง

ต้องมีอะไรอีกอย่างหนึ่ง บงการอยู่เบื้องหลัง

อะไรที่บงการอยู่นั้น ถ้าหากเราสามารถรับรู้ได้ว่า

กว้างหรือว่าแคบ สว่างหรือว่ามืด

ตัวนี้ ก็เป็นการเห็นทั้งกายเห็นทั้งจิต ควบคู่กัน

 

ตอนที่เราเห็นทั้งกาย เห็นทั้งจิต

ที่มีความสงบเงียบเชียบอยู่ภายใน

เราจะรู้สึกว่า ไม่มีใครอยู่ในนี้

 

มีแต่ภาวะของรูปที่แสดงออก

แล้วก็ภาวะของนาม ที่กําลังแสดงอยู่

มีแต่การแสดงตัวเอง ของสภาวะ

 

ส่วนผู้รับรู้ ผู้สังเกตการณ์ก็คือ จิต

จิตนี่ รู้ภาวะอื่นได้ แล้วก็รู้ภาวะของตัวเองได้

 

ถ้ารู้ทั้งภาวะของกาย รู้ทั้งภาวะของใจไปพร้อมกันได้นานพอ

ถ้ามีความรู้สึกว่า กายนี้อยู่ส่วนกาย ไม่มีใคร

จิตนี้อยู่ส่วนจิต ไม่มีใคร .. ได้นานพอ จะเกิดความรู้สึกว่าว่าง

เกิดความรู้สึกว่า เออ! ที่เคยหลงว่ามีตัวมีตนนี่ .. หนัก แล้วก็ทึบ

แต่ที่รู้ตามจริง ว่าในกายนี้ไม่มีใคร ในจิตนี้ไม่มีใครนี่ .. จะว่างเบา

 

พอเราสังเกตว่า ในความว่างความเบาจากอุปาทานในตัวตน

เมื่อหายไป กลางอก จะมีความรู้สึกแบบหนึ่งขึ้นมา

คือคล้าย ๆ กับเป็นโพรง เป็นของกลวง ของเปล่า

เป็นความว่างอีกแบบหนึ่ง ที่ว่างยิ่งกว่าอากาศ

 

ความว่างแบบที่รู้สึกว่า ละเอียด ประณีตกว่าอากาศ

นั่นแหละ คือความว่างจากอุปาทาน

ซึ่งเป็นความว่าง ที่เกิดขึ้นจากการที่เรามานั่งสมาธิ เดินจงกรม

เห็นกายใจ โดยความเป็นอนัตตา

 

คำว่า อนัตตา ก็คือ โดยความเป็นของจริงตามที่เป็นอยู่

ไม่ใช่ของปลอมที่ใจไปยึด แล้วก็ตีความทึกทัก แบบเพี้ยนๆ

 

ภาวะของอนัตตา แสดงการประชุมกันของสิ่งต่างๆ

ตั้งต้นอาทิ ก็เช่นภาวะทางกายหยาบ ๆ นี้

แล้วก็ภาวะทางใจ ที่ละเอียดกว่า

 

อย่างพวกเรา

สามารถเห็นกาย โดยความเป็นธาตุดินเสมอกันกับวัตถุอื่นๆ ได้

นั่นก็คือ การรับรู้ว่า กายไม่ใช่วัตถุชิ้นเดียวในจักรวาลของธาตุหก

แล้วก็ ใจ ไม่ใช่สิ่งเดียว ไม่ใช่ภาวะเดียว

ที่มีอยู่ ดํารงอยู่เป็นศูนย์กลางจักรวาล หรือศูนย์กลางของโลก

 

แต่เมื่อกายเมื่อใจมารวมกัน

มันเกิดความรู้สึกยึดมั่นสำคัญผิด แบบเพี้ยน ๆ ขึ้นมา

นึกว่ามีอัตตา มีตัวเรา มีก้อนความเป็นเราอยู่ก้อนหนึ่ง ก้อนเดียว

 

แล้วก้อนนี้ ก็ถูกสําคัญมั่นหมายด้วย ว่าเที่ยง

ถูกสําคัญมั่นหมายด้วยว่า เออ.. นี่ใช่เรา มีใครอยู่ในนี้

มีใครอยู่มาตลอด แล้วก็จะมีอีกตลอดไปด้วย

 

การสําคัญมั่นหมายผิดๆ ทําให้เกิดความคิด

เกิดความฟุ้งซ่านเกี่ยวกับตัวตน เกิดความรู้สึกดิ้นรน

จิตมีอาการดิ้นพราดๆ ได้ ไม่เลือกเวลา

 

แต่เมื่ออาการดิ้นพราดๆ เพราะความมีตัวมีตน สงบระงับลง

แล้วมีสติแยกออกว่า กายอยู่ส่วนกาย จิตอยู่ส่วนจิต

 

ไม่ได้มีอะไรเพิ่มนะ แต่ว่าของเดิม คืออนัตตา ก็ปรากฏ

มันปรากฏอยู่แล้ว อนัตตา .. ไม่ต้องไปสร้าง

 

แค่ว่าจิตของเราจะถอยลงสู่ความสงบ

เหมือนกับคลื่นน้ำที่กระเพื่อม

กลับสงบลงสู่ความราบคาบ เหมือนกับแผ่นกระจก ได้หรือเปล่า

 

ถ้าจิตมีความสงบ เหมือนแผ่นกระจกได้

ถ้าจิตมีความตื่นรู้ต่อเนื่อง ได้นานพอ

ถ้าจิตมีอาการพร้อมทิ้ง ไม่ใช่พร้อมยึด

 

นั่นแหละ จิตแบบนั้นแหละ ที่จะมีความเสมอกันกับอนัตตา

คือเห็นแม้กระทั่งตัวเอง

จิตรู้ตัวเองได้ว่า ตัวเองก็เป็นอนัตตาชิ้นหนึ่ง ในธรรมชาติเช่นกัน

 

จิตที่รู้ตัวเองว่าเป็นอนัตตา

จิตที่ไม่มีความสําคัญมั่นหมายว่า

จิตนี้เป็นใคร จิตนี้มีชื่ออะไรนามสกุลอะไร

เป็นจิตที่มีความตื่นรู้ในแบบพร้อมทิ้งเสมอ

 

พูดง่าย ๆ.. จิตที่มีความพร้อมทิ้ง

คือจิตที่สามารถรู้ตัวเองว่าเป็นอนัตตา

 

คือถ้ารู้อะไร ๆ ทั้งจักรวาล ว่าไม่ใช่ตัวตน

แต่เสร็จแล้ว มาติดอยู่กับความรู้สึกของตัวเอง ว่าจิตน่าจะเป็นเรา

นี่ก็ไปไม่รอด

 

แต่ถ้าหากว่า มีความส่องสว่าง

มีความตื่น มีความนิ่ง มีความคมชัดต่อเนื่องนานพอ

และรู้ตัวเองด้วยว่า นี่ก็ภาวะหนึ่ง ไม่มีใครอยู่ในนี้ ไม่ใช่ใครอยู่ที่ไหนทั้งนั้น

 

จิตแบบนั้นแหละ

ที่จะพ้นออกไปจากการเกาะกุมของอุปาทานได้จริง

 

แพร : ก็เหมือนที่พี่ตุลย์บอกค่ะ พอเดินไปด้วย ในหัวเงียบ จิตใสใจเบา 

สติคือรู้เท้ากระทบ ก็กระทบต๊อก ๆ ไป ใจไม่ได้คิด 

ว่าง เห็นแต่ตรงกลางที่ว่า มีแสงกลับไปกลับมา หัวก็ไม่ได้คิดอะไร

มีแต่ความว่าง สว่างปีติเกิด ไม่เห็นว่าเป็นเรา

 

คือ คือแพรรับรู้อยู่แล้วว่า ตัวนี้คือโครงกระดูกฉาบทาด้วยเลือดเนื้อ

รู้ว่าตั้งแต่แรกเกิด เราเป็นแค่ก้อนเลือด

แค่มามีข้าวและน้ำ อาหาร เลยทําให้เรามีกระดูกยืดตัวออกมา

จริง ๆ แล้วไม่มีเรามาตั้งแต่ต้น

ถ้าเราไม่มี อาหาร ไม่มีน้ำ ตัวเราก็ยืดไม่ได้

มีชีวิตอยู่ได้ เกิดจากธรรมชาติทั้งนั้น

 

ยิ่งมาปฏิบัติ ก็ทําให้เข้าไปถึงจิตเข้าไปถึงใจว่า

ทั้งหมดทั้งมวลนี่ ถ้าแค่ชําแหละกรีดเนื้อออกมา ก็เห็นแค่เลือด

ยิ่งเราเป็นผู้หญิง มีรอบเดือนทุกเดือน ก็ไม่มีอะไรเป็นเราเลยจริง ๆ

ที่ออกมาก็ เลือดอะไรก็ไม่รู้

 

วันนี้ จิตเงียบสว่างโล่ง เป็นแค่กระดูก กระทบ กระทบ กระทบ

หัวก็เงียบกริบไปเลยค่ะ กว้างสว่าง

จริงๆ แพรสัมผัสอย่างนี้มาหลายครั้งแล้ว ถ้าทําเองนะคะ

 

วันนี้ ก็อย่างที่พี่ตุลย์บอก

เพราะไม่มีความคิดผุดขึ้นในหัวก็เลยไม่เห็น

แต่ถ้าแพรทําเอง ในบางรอบ

บางวันก็เป็นความไม่เที่ยงขาขึ้น บางวันก็เป็นความไม่เที่ยงขาลง

ถ้าขาลง ก็อาจจะเกิดจากการทํางาน

พอมาปฏิบัติ ก็จะมีความคิดผุดขึ้น

เราก็จะเห็น เออ ความคิดผุดขึ้น เราแยกออกมาดูเห็นว่าไม่ใช่เรา

ความคิดนั้นก็หายไป เราไม่ได้ไปตรึกนึกต่อ อย่างนี้ค่ะ

 

แต่สภาวะที่เกิดขึ้นในวันนี้ทั้งหมด ที่เดินมา

คือไม่มีความคิดอยู่ในหัวเลยค่ะ เป็นอนัตตา แบบอนัตตาจริงจริง

แพรไม่ได้คิดว่ามีใครอยู่ในนี้จริงๆ

 

ความรู้สึกแพร ไม่ได้รู้สึกว่า นี่คือตัวเรามาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว

ทุกคนก็เป็นธาตุขันธ์ เกิดมาจากก้อนเลือดก้อนเนื้อเหมือนกันทั้งนั้น

แค่มีอุปาทานเข้ามาเกาะกุมจิตใจ

ให้เราหลงยึดไปว่าคือตัวเรา คือของๆ เรา

 

พี่ตุลย์ : ตอนที่ใส ตอนที่เบา

ตอนที่เหมือนกับมีแสง ที่เดินไปลอยไปลอยมา

เป็นจังหวะที่ ถ้าปรากฏอะไรละเอียดขึ้นมา ก็จะรับรู้ว่าเป็นของชั่วคราว

แล้วก็เป็นของที่ไม่มีหน้าไม่มีตา ไม่มีใคร ไม่มีตัวเราอยู่ในที่นี้หรือที่ไหน

 

จังหวะนั้น เป็นจังหวะที่จิตเรียกว่า หลุดออกจากอุปาทานชั่วขณะหนึ่ง

พอมีความปรุงแต่งขึ้นมา เราสามารถเห็นได้

มีอาการยึด .. ยึดมาก หรือยึดน้อย หรือไม่ยึดเลย

 

เปรียบเทียบไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากขึ้นเรื่อยๆ

ว่าการยึดนี้ บางทีไม่ได้หลุด เพียงเพราะว่าเราเห็นอนัตตา

แต่เกิดจากการสะสมไปนานพอ

ดีแล้ว อนุโมทนา

 

แพร : วันนี้ เป็นวันคล้ายวันเกิดของแพร ก็ขอถือฤกษ์วันนี้

ถวายการปฏิบัติภาวนา ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ขอรวมจิตรวมแผ่นดิน อุทิศธาตุขันธ์ ให้แก่พระพุทธศาสนา

 

แล้วก็ตอบแทนพี่ตุลย์

ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ที่ประเสริฐที่สุดตั้งแต่เด็กมาเลยค่ะ

 

เชื่อว่า พี่ตุลย์ ไม่ใช่ครูบาอาจารย์ที่ประเสริฐที่สุดเฉพาะหนูคนเดียว

แต่ก็คือ กับพี่ ๆ เพื่อน ๆ ทุกคนในห้อง ทุกท่าน

ก็ขออนุโมทนาสาธุการกับพี่ตุลย์ และผู้ปฏิบัติทุกท่านทุกคน

ขอให้ ทุกคนเจริญในธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ส่งเสริมกัน เป็นแสงสว่างให้แก่กัน

หนูก็จะทํานุบํารุงศาสนา จนร่างกายแตกดับสลายไปค่ะ

 

พี่ตุลย์ : การเกิดที่ประเสริฐที่สุด

คือการเกิดมาสร้างเหตุแห่งการไม่เกิดอีก

 

พี่ก็ขออนุโมทนาสาธุการ กับการเกิดมาครั้งนี้ของแพร

เพื่อทําเหตุ ทําปัจจัย ให้ไม่ต้องเกิดมาเป็นทุกข์แบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่อีก

อนุโมทนาสาธุการจ้ะ

---------------------

-  โจ  -

 

พี่ตุลย์ : สิ่งที่น่าสังเกตคือ เวลาที่จิตของเราแผ่กว้าง

แล้วก็มีความตั้งมั่นเป็นปกติมากขึ้น

พร้อมกัน สามารถรับรู้ถึงความเคลื่อนไหวของกาย

โดยไม่เกิดความเป๋ หรือไม่เกิดอาการที่เราคล้อยลงสู่ความเหม่อ

หรือเกิดอาการที่มีโมหะมาห่อหุ้มนี่

 

จิตที่มีความใส ที่มีความนิ่งเงียบ แล้วก็แผ่กว้าง

พร้อมรู้ความเคลื่อนไหวของกาย จะแยกออกมาชัดขึ้นๆ

 

ความแยกออกมาชัดขึ้นนี่ จะอยู่ในรูปของการรู้ว่า

จิตอยู่ส่วนจิต กายอยู่ส่วนกาย

จิตไปอยู่ตําแหน่งไหน ไม่สําคัญ

สําคัญที่ว่าจิตรู้ตัวเอง ว่ามีภาวะแบบหนึ่ง

ส่วนกายก็เป็นภาวะอีกแบบ แยกต่างหากจากกันอย่างเด็ดขาด

 

มีความสัมพันธ์กันในแง่ที่ จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว

จิตเป็นผู้ครอง เป็นผู้ถือคุมบังเหียน ว่าจะให้ไปทางไหน

จะให้หยุดหรือไม่หยุด จะให้หมุนหรือไม่หมุน

 

การที่เราเห็นว่า กายเป็นบ่าวของจิต

ถือเป็นจุดเริ่มต้น ที่จะเกิดความเข้าใจว่า จิตเป็นผู้ออกคําสั่ง

จิตเป็นผู้มีเจตนา ส่งอิทธิพลกระทําให้ร่างกาย

ภาวะทางกายนี่ มีอันเป็นไปต่างๆ

 

พอเรามีความรับรู้อยู่ในโฟกัสนี้ได้นานพอ

สิ่งที่ตามมาคือความรู้สึกว่า ตัวเรา ของเรา จะน้อยลงๆ

 

อย่างนี้ ถือว่าโอเคนะ

ตอนที่จะมีโมหะมาคลุม หน้าตาเป็นอย่างไร

 

และถ้าหากว่า มองได้ทันทุกครั้ง

ความตื่น ความรู้ ความมีสติ ก็จะเกิดประกอบกับจิต

ทําให้จิต มีความใสขึ้นๆ ใสในแบบที่จะทิ้ง

ขณะเดียวกัน เมื่อกลับมาขุ่น ก็ไม่เกิดความเสียใจ

ไม่เกิดความรู้สึกว่า จิตของเราตกลง

 

แต่เกิดความรับรู้ว่า รอบไหนมีโมหะมาห่อหุ้มคลุมจิต

จะบางหรือจะหนาก็ตาม เราก็รู้ว่าจิตมีความขุ่นมัวลง

และความขุ่นมัวนั้น จะตั้งอยู่นานแค่ไหน ก็ตามใจชอบ

 

ขอแค่ว่าจิตยังมีสติ จิตยังมีความเห็น

สตินั้นแหละ ความเห็นนั้นแหละ

ที่จะทําให้ม่านหมอกของโมหะนี้ สลายตัวไป

 

จะบางก็ตาม จะหนาก็ตาม

สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด ตอนที่จะมีม่านหมอกโมหะจรมาหุ้มจิต

ก็คือการรู้มัน

 

คือบางที สมองจะปั่นความคิดอยู่เรื่อยๆ จะมากบ้างน้อยบ้าง

แต่ถ้าขอแค่เรามีศูนย์กลางการรับรู้ ที่มีความคงเส้นคงวามากพอ

แผ่ออกมา มีความใส มีความสว่าง แผ่ออกมาจากกลางอกได้

เกิดความรับรู้ว่า ความคิดที่อยู่บนสมองนี้ เป็นคนละที่กัน

มันแยกส่วน แยกชั้น ชัดกว่าน้ำกับน้ำมันอีก

 

จิตเป็นธรรมชาติส่องสว่าง

มีความผ่องใสออกมาจากตรงกลาง

 

ส่วนความคิด มีธรรมชาติอีกแบบหนึ่ง

มีความยุบยับ มีความหยุมหยิม

มีอาการเหมือนสายหมอก มีอาการเหมือนฝุ่นฟุ้ง

แล้วแต่ว่า แต่ละจังหวะ

สมองจะผลิตคลื่นความคิดแบบไหนออกมา ให้เกิดความรู้สึก

 

นี่ก็จะตรงตามตําแหน่งเอ็กซ์วายแซดนั่นแหละ

จิตที่ส่องสว่างออกมาจากกลางอก มีเอ็กซ์วายแซดตําแหน่งหนึ่ง

ความคิด ที่เป็นคลื่นส่งออกมาจากหัว

หัว มีตําแหน่งเอ็กซ์วายแซดอยู่ตรงไหน ความคิดก็ปรากฏอยู่ตรงนั้น

 

พอเราสามารถแยกออกจากกันได้เด็ดขาด

ความคิดอยู่ข้างบน ส่วนจิตที่ส่องสว่างอยู่ตรงกลาง

สติของเรา จะค่อย ๆ ทําให้เกิดการแยก

 

แยกแบบหนึ่ง แบบที่รับรู้ว่า

ความคิดไม่ใช่จิต ความคิดไม่ใช่ตัวของเรา

 

แต่ถ้าความคิดกับจิต มาผสมกันได้เมื่อไหร่

พูดง่ายๆ ว่าจิตกลับไปยึด กลับไปโยงกับความคิด

นี่ก็มีตัวตนของเราเกิดขึ้นมา นี่คือธรรมชาติ

 

จิตยึดความคิด ความคิดก็เป็นตัวเรา

ความคิดครอบงําจิตได้

ความคิดก็ทําให้เกิดความรู้สึกในตัวเราขึ้นมาในจิต

 

แต่ถ้าหากว่า จิตอยู่ส่วนจิต ความคิดอยู่ส่วนความคิด

แยกออกจากกันเป็นต่างหากได้

ไม่ทำให้เกิดโมหะเข้ามาครอบคลุมจิต

 

นี่ ตัวนี้แหละ ที่จะเกิดความก้าวหน้าขึ้นแบบหนึ่ง

 

คนส่วนใหญ่

พอไปถึงความก้าวหน้าแบบที่มีจิตใสใจสว่าง มีความสบาย

มักจะคาอยู่ตรงนั้น

 

เวลาที่โมหะเคลื่อนกลับมาครอบงํา หรือมาฉาบจิตอยู่บาง ๆ นี่

บางทีมองไม่ออก

 

แต่ถ้าเรามองออก ก็จะยกระดับขึ้นไป

กลายเป็นความรับรู้อีกแบบหนึ่ง คือความคิดไม่ได้หยุด

หรือหยุดบ้าง ก็เป็นจังหวะ ตามจังหวะ

 

แต่ตัวที่จะเป็นเครื่องชี้

ว่าใครสามารถเห็นสภาวะได้ตรงตามจริง

แบบที่จะหลุด แบบที่จะพ้น ออกมาจากอุปาทานได้

ดูกันตรงที่ สามารถแยกได้ไหมว่า

จิตอยู่ส่วนจิต ความคิดอยู่ส่วนความคิด

 

อย่างพอเราสัมผัสได้ถึงความเป็นวัตถุของกายนี้

ที่มีความโปร่ง ที่มีความเบา ที่มีความเป็นวัตถุ

ไม่แตกต่างจากวัตถุอื่นๆ ในห้องนี่

ก็จะเกิดความรู้สึกสงบเงียบภายใน

 

แล้วถ้าใจของเราตั้งสว่าง ส่องออกมาจากกลางอกอยู่ได้

เวลาความคิดโผล่ขึ้นมาในหัว ก็จะเหมือนกับโผล่ขึ้นมาเก้อๆ

คล้ายๆ กับน้ำผุด ที่ผุดขึ้นมา แล้วก็ตกกลับเงียบหาย

กลายเป็นน้ำเรียบสงบตามเดิม

 

นี่ ตัวนี้ที่จะเป็นความต่าง

 

คือความคิด มาของมันเรื่อย ๆ ตราบเท่าที่สมองยังทํางาน

 

แต่ยิ่งคิด ยิ่งรู้ว่าความคิดไม่ใช่จิต

อยู่คนละชั้นกัน แยกเป็นต่างหากจากจิต

นั่นแหละ ที่จะเริ่มมีสติแบบพุทธ

 

แล้วก็เวลาที่ปัญญาเกิด ปัญญาแบบพุทธเวลาเกิด

เกิดขึ้นที่จิต ไม่ใช่เกิดขึ้นที่สมอง

 

พูดง่ายๆ ว่าความคิด พาเราไปฉลาดจริงไม่ได้

แต่จิตเท่านั้นที่สามารถแยกออกว่า รูปอยู่ส่วนรูป นามอยู่ส่วนนาม

และแม้แต่นาม ก็แยกเป็นต่างหากจากกันด้วย

นี่แหละที่จะเป็นเครื่องชี้ที่แท้จริง

 

โจ แยกออกได้ไหม ว่าต่างกันอย่างไรกับคราวที่แล้ว

 

โจ : อย่างคราวที่แล้ว ตอนที่โมหะเข้ามาเคลือบบางๆ ผมแยกไม่ออก ตอนแรกไม่รู้ครับ ว่ามันคือโมหะ

มันจะคิดกึ่งกึ่ง หรือว่าไม่คิดอะไรประมาณนี้ จนพี่ตุลย์บอกถึงได้รู้

 

แต่ว่าครั้งนี้ ใช้วิธีที่พี่ตุลย์บอก คือเหมือนเพิ่มสมถะเข้ามา

ตอนก่อนที่จะเดินไปแต่ละครั้ง ให้เหมือนบ่มตรงนั้นขึ้นมาก่อน

แล้วก็ ตอนที่รู้ตอนที่ดูครั้งอื่นว่า ..

 

พี่ตุลย์ : อันนี้สําคัญมาก ขอพูดแทรกนิดหนึ่ง

ถ้าเราเข้าใจว่า จิตแบบไหนที่พร้อมดูอะไรได้บ้าง

แล้วเสร็จแล้ว บ่มให้จิตมาถึงจุดนั้น คือจําทางเข้าได้ แล้วก็ไปใช้ดู

นี่เรียกว่า เป็นการอาศัยสมถะนํา

 

แล้วสมถะ มีประโยชน์ตรงที่ ถ้าเข้าที่เข้าทาง ทําได้เป็นปกติ

จําทางเข้าได้ เกิดขึ้นทุกวันแล้ว

ก็เหมือนกับ เรามีโอกาสที่จะเจริญวิปัสสนาอย่างต่อเนื่องทุกวัน

 

เพราะถ้าเข้าที่เข้าทางนี่ ก็เกิดประสบการณ์แบบ ..

ของเดิม ที่อันไหนได้อยู่แล้ว เราก็จะได้อีก

อันไหนที่ยังไม่ได้ ก็จะคืบหน้าขึ้นไป ทีละนิดทีละหน่อย

 

ไม่อย่างนั้น ถ้าเราเจริญสมถะกันไม่เป็น

หรือว่าไม่มีทุนสํารองอยู่เป็นตัวตั้ง

บางที ทํามาถึงจุดหนึ่ง จะรู้สึกเคว้งๆ จะรู้สึกวนไปวนมา

วนลูปแล้วก็หาทางออกไม่เจอ

 

มีความรู้สึกเหมือนกับว่า เอ๊ะ! แบบนี้ ภาวะแบบนี้

ที่เคยรู้สึกว่ากายไม่ใช่เรา กายเป็นวัตถุนี่ เคยเกิดขึ้น แต่จําทางเข้าไม่ได้

 

มีความรู้สึกว่า เอ๊ะต้องตรงไหน อย่างไร ทําไมถึงทําไม่ได้อีก

หรือ ที่ละเอียดไปกว่านั้น

เคยเกิดประสบการณ์ว่า จิตอยู่ส่วนจิต

มีความนิ่ง มีความเงียบ มีความกว้าง มีความสว่าง มีความใสแบบหนึ่ง

แล้วสามารถเห็นได้ว่า ความคิดเป็นสิ่งผุด

เกิดขึ้นแป๊บหนึ่ง แล้วหายไป กลับเงียบลง

 

เคยเห็นแบบนั้น แต่จะไปเห็นแบบนั้นอีก ทําไม่ถูก

แล้วไปพยายามก๊อปปี้ ไปพยายามที่จะเร่ง เพื่อที่จะเอาภาวะนั้นกลับคืนมา

 

ทีนี้ทําไม่ได้ ก็กลายเป็นความอยาก กลายเป็นจงใจ กลายเป็นเจตนา

กลายเป็นว่า ปฏิบัติด้วยตัวตน จะเอาความไม่มีตัวตน

ซึ่งขัดแย้ง ย้อนแย้ง

 

แต่ถ้าหากว่าทําสมถะเป็น

คือเห็นว่า ต้องถึงจุดนี้ และ ณ จุดนั้น เกิดอะไรขึ้น

เกิดโมหะ มาครอบ มาฉาบ มาบัง แล้วอ่านออก

 

นี่ตัวนี้สําคัญมาก

ถ้าสามารถที่จะรับรู้ได้ด้วยตัวเอง อธิบายตัวเองถูก

แล้วสามารถเผื่อแผ่มาให้คนอื่นได้ด้วยนี่ มีประโยชน์ยิ่ง

เพราะเวลาที่เราจะเห็นจริง แล้วเห็นต่อเนื่อง

เห็นออกมาจากการจําทางเข้าได้

 

ไม่ใช่เห็นแป๊บหนึ่ง วันหนึ่ง แล้วอีกครึ่งปีต่อมาถึงเห็น

 

หรือว่าอย่างพวกเรานี่

อาจจะอีกสองสามวันต่อมา ถึงจะเห็นอีกครั้ง แบบนั้นไม่ต่อเนื่อง

 

แต่ถ้าหากว่าจําทางเข้าได้ มีกําลังสมถะมากพอ

แล้วก็รู้ มีความเข้าใจว่า จะใช้กําลังสมถะที่จุดไหน ไปดูอะไร

นี่ ตัวนี้ ที่จะทําให้ต่อเนื่องทุกวัน

 

โจ : จากครั้งที่แล้วที่ผมฟังจากพี่ตุลย์ ก็ลองไปย่อยดู

ก็รู้ว่า เป็นเพราะว่าบางครั้ง เดินนานเกินไป

แล้วเหมือนดูจิตอย่างเดียว แล้วไม่ทันครับ

ก็เลยก็เลยหาวิธีว่า ควรจะทําอย่างไร ก็คือใช้ท่าสอง

กับการเทียบเทียบธาตุ ระหว่างเวลาที่เดินกับกลับตัวแบบนี้

จนบ่มไปถึงจุดหนึ่ง จะเริ่มรู้ไปเองครับ

 

คืออย่างเมื่อกี้ ตอนที่ฟังพี่แพรพูด ตอนก่อนจะจบ

ก็เหมือนภาวะแยกออกมาหมดเลย

คือมีปีติตรงนั้น แล้วจิต ตัวจิต ตอนเริ่มเดินมาตั้งแต่แรก

ก็ยังจะสตาร์ท ของมันตามปกติ

แต่ว่า ตรงจุดนั้น ทําให้เหมือนเห็นชัดขึ้นว่าจิตแยกออกมา

 

แล้วหลังจากนั้น ก็แยกออกมาเรื่อยๆ

ตอนที่ความคิดเข้ามา ก็เห็นของมันส่วนหนึ่ง

ตอนที่มีโมหะเข้ามาคลุม ก็จะเห็น

แล้วตอนแรกที่พี่ตุลย์เรียก จะมีสภาวะที่คล้ายกับจะตื่นเต้นนิดหนึ่ง

แต่ว่าเหมือนไม่ได้ตื่นเต้น

 

คือปกติ เวลาที่ตื่นเต้นอย่างนี้ จะเข้ามาคลุมได้หมดเลย

แต่เหมือนตอนนี้จะแยกภาวะออกไป

จนถึงตอนนี้ก็ยังรู้สึกว่าแยกออกมาอยู่

คล้ายกับว่าจิตส่วนหนึ่ง แล้วก็ภาวะที่เหลืออีกส่วนหนึ่งครับ 

 

พี่ตุลย์ : มีบางจุดที่ถ้าหาก โจสังเกตว่า

.. อย่างสปีดปกติที่ใช้นี่ ก็โอเคแล้ว

แต่จะมีบางจังหวะที่ อย่างเพิ่งลงมาจากท่าสอง

อาจจะทดลองดู เพิ่มสปีดให้เร็วขึ้น แล้วซอยเท้าให้สั้นขึ้น

มีสปีดที่เพิ่มขึ้นนิดหนึ่ง

 

อย่างตอนนี้ ที่พี่ดูไป มีความรู้สึกว่า

ถ้าสปีดมากกว่านี้นิดหนึ่ง จิตจะใส แล้วก็เห็นเข้ามามากกว่านี้

จะเหมือนกับตอนนี้ เนื้อหนัง เหมือนกับบางลงแล้ว

เรารู้สึกขึ้นมาวูบๆ วาบๆ

 

ทีนี้ ถ้าหากว่าเพิ่มสปีด เอาเท้ากระทบ พูดง่ายๆ ว่าเพิ่มพื้นที่การรับรู้

ตัวที่สมองเกี่ยวกับการรับรู้สัมผัส ถี่ขึ้น เพิ่มมากขึ้น

ก็จะส่งให้เกิดการรับรู้การเห็น ชัดขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

 

ลองไปทดลองดูว่าจะเกิดผลอย่างไร แล้วเดี๋ยวคราวหน้ามาดู

ตอนนี้เคยรู้สึกถึงภาวะภายในเป็นอย่างไรบ้าง ไหนลองเล่าให้ฟังนิดหนึ่ง

เริ่มใสขึ้นแบบครึ่งๆ แล้วใช่ไหม บางทีออกมาแวบๆ วาบๆ อะไรอย่างนี้

 

โจ : ใช่ครับ เหมือนกับมีหลายครั้งที่กระพริบๆ

แล้วก็ เหมือนตอนนี้ครับ ข้างในว่าง ว่างมากๆ

แบบว่า รู้สึกถึงว่าข้างในเป็นโพรงเข้าไปเลย

 

พี่ตุลย์ : ไปลองทดลองดู

ตอนจังหวะที่เพิ่งลงจากท่าสอง ลองเพิ่มสปีด

 

คือไม่ใช่เพิ่มอยู่ตลอด

แต่หมายความว่า ลองทดลองสักห้าหกรอบอะไรอย่างนี้

แล้วดูว่าภาวะภายใน จะปรากฏชัดขึ้นไหม

 

ตอนนี้ ที่เห็นคือเหมือนกับ จิตมีกําลังแล้ว ฐานตั้งดีแล้ว

ทีนี้ ถ้าเพิ่มความใสเข้าไปให้ ความใส ที่มาพร้อมกับความคม

 

ซึ่งเกิดจากการเพิ่มสปีด รู้เท้ากระทบ

แต่อย่าให้เกร็ง อย่าให้มีส่วนใดส่วนหนึ่ง จะหน้าแข้งหรืออะไร

ที่จะมีอาการผิดปกติขึ้นมา อย่าให้เกิดขึ้น

 

ให้มีความผ่อนคลาย สบาย แต่ว่าสปีดเร็วขึ้น

แล้วกระทบนี่ ทําให้ใจของเรา อยู่กับความรู้สึกถึงความเป็นกายในปัจจุบัน

เด่นชัดขึ้น คมชัดขึ้น

พี่อยากจะดู จะออกหัวออกก้อยอย่างไร

 

-----------------

- น้านี -

 

พี่ตุลย์ : เอาเฉพาะที่เห็นด้วยตาเปล่านี้คือ

พี่นี เดินมาหลายชั่วโมงแล้วแน่ ๆ เพราะฉะนั้นตอนนี้ไม่ห่วงแล้ว

ก็ขอให้เดินเต็มที่เลย

 

ลักษณะของจิต ที่มีความคงเส้นคงวา

ลักษณะของสติ ที่มีการรับรู้ถึงเท้ากระทบไปเรื่อยๆ

แล้วยิ่งเดิน ยิ่งมีความรู้สึกว่ากายเบา

ยิ่งมีความรู้สึกว่า กายไม่ใช่ของเรานี่

เป็นทิศทางการเดิน ที่รับประกันได้ด้วยใจของเราเอง

ว่าถูกทางการทิ้งอุปาทานแน่ๆ

 

สิ่งที่จะเป็นไป ไม่ใช่เพื่อที่จะเอาอะไรมาให้ใคร

 

ที่เดินไป เดินไปนี่ เหมือนซ้ำไปซ้ำมา เดินกลับไปกลับมา

แต่สิ่งที่ไม่ซ้ำ สิ่งที่ก้าวหน้ามากขึ้นๆ

ก็คือการรับรู้ที่เป็นไปเอง เป็นปกติมากขึ้น

ว่ากายนี้จริงๆ แล้วเป็นแค่หุ่นกระบอก

โพรงไม้อะไรโพรงหนึ่ง ที่มีจิต มาอาศัยอยู่

 

แล้วธาตุดินนี้ เมื่อมีจิตที่ทรงสติ รับรู้ว่าไม่ใช่ของๆ มัน ไม่ใช่ของๆ ใคร

จิตจะมีความเปิด มีความกว้าง มีความสว่าง มีความใส

ซึ่งบันดาลให้กายปล่อย หลั่งสารดีๆ ออกมา

มีความสดชื่น มีความชุ่มชื่น มีความเบิกบาน

 

คําว่าเบิกบานใจนี้ ไม่ใช่แค่ให้ความรู้สึกที่จิตอย่างเดียว

ไม่ใช่ว่า จิตมีความเปิดกว้างอย่างเดียว แต่ว่าส่องสว่าง

แล้วก็บันดาลให้ภาวะทางกายนี้ มีความสดใส มีความชุ่มชื่น

พูดง่ายๆ ว่าดูเหมือนอายุน้อยลง

 

ยาที่ดีที่สุดสําหรับกาย

ก็คือสิ่งที่อยู่ติดกายตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง

ซึ่งก็ไม่มีอะไรที่ไกลเกินไปกว่า ภาวะทางใจ

แล้วก็ลมหายใจ

 

ลมหายใจที่ยาว สดชื่น ไปปลุกสติให้ตื่น เต็ม

ไปทําให้สมองดีขึ้น ไปทําให้ได้ออกซิเจนในสมองมากขึ้น

 

แล้วภาวะของกาย ที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นนั่นเอง

ก็ย้อนกลับมาปรุงแต่ง ให้จิตมีความสามารถอยู่กับความเบิกบาน

อยู่กับความชุ่มชื่น นั้นได้นานขึ้น

 

ความพอใจ หรือว่าฉันทะที่เกิดขึ้นนี้

แน่นอนว่า ไม่ได้เกิดขึ้นจากความแห้งแล้ง

ไม่ได้เกิดขึ้นจากความทุกข์

แต่ต้องเกิดขึ้นจากความชุ่มชื่น

 

ถ้าทําอะไร แล้วชีวิตมีความชุ่มชื่นมากขึ้น

ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหน เพศใด สิ่งที่เหมือนกันก็คือ

เกิดฉันทะ ที่จะอยู่กับสิ่งนั้นให้นานขึ้นๆ

 

เท่าที่เห็นกับตา มีหลายคนที่

ประเภทตอนแรกๆ เดินตอนยังไม่เข้าใจ ก็จะฝืนๆ แข็งๆ

แล้วก็ต้องบังคับเวลา

แต่ว่าพอมีความรู้สึกที่ เบา สบาย

เบาเนื้อ เบาตัว เบากาย เบาใจ

แล้วก็เกิดความเคยชิน กับความเบากายเบาใจนั้น มากขึ้นๆ

เป็นกันเอง กับความกายเบาใจนั้นมากขึ้นๆ

 

เรื่องบังคับเวลานี่หายไป กลายเป็นว่า ว่างเมื่อไหร่ ไปเมื่อนั้น

 

เวลาที่ธรรมะเจริญขึ้นในชีวิตของเรานี้ จะมาในหลายรูปแบบ

และรูปแบบหนึ่งก็คือ เราจะอยากอยู่กับธรรมะนานๆ

อยากอยู่กับธรรมะบ่อยๆ อยากอยู่กับธรรมะนี้ ให้มากกว่าอยู่กับสิ่งอื่น

 

และธรรมะนี้ ที่เอาทุกข์ออกจากใจของเราได้

เพราะเอาตัวตน ออกจากความสําคัญผิดของใจได้

 

เป็นธรรมะที่เราต้องรอนะ ..

 

เราต้องรอกันนานมาก กว่าที่มหาบุรุษสักองค์หนึ่ง

อย่างเช่นพระพุทธเจ้า จะมาตรัส จะมาชี้ทาง ชี้บอก

 

คนทั่วไป เข้าใจว่าพุทธศาสนานี่ ตายไป เดี๋ยวเกิดใหม่ก็เจออีก

ไม่ง่ายแบบนั้น..

 

กว่าจะเจอแต่ละครั้งได้นี่ คือ ต้องรอมหาบุรุษที่เป็นโพธิสัตว์

ที่บําเพ็ญบารมีแบบที่ เป็นไปไม่ได้ ชั่วกัปชั่วกัลป์ เป็นอนันตชาติ 

 

พระโพธิสัตว์ส่วนใหญ่ เอาเป็นว่าเกินเก้าสิบเปอร์เซ็นต์

อาจจะถึงเก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์ก็ได้ ผ่านไปไม่ถึง

ไปไม่ถึงฝั่งอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

 

ส่วนใหญ่ทนความทุกข์ในสังสารวัฏกันไม่ไหว ก็พากันลาหมด

เหลือแค่ไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์

 

จริงๆ ต้องบอกว่าเป็นหนึ่งในร้อยล้านด้วยซ้ำ โอกาสที่จะได้เป็น

คือปรารถนาพุทธภูมิ บําเพ็ญมานานพอ แล้วก็ไปได้ถึงนี่

น่าจะน้อยกว่าหนึ่งในร้อยล้านอีก

 

เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะพบพุทธศาสนา

โอกาสที่จะมีพระพุทธเจ้ามาตรัส ..

 

พวกเรามีวาสนาที่สุดแล้ว

ถ้าปล่อยให้ตายไปชาตินี้ โดยไม่ได้รู้ทาง ไม่ได้เข้าถึง

ก็มีแต่วิญญาณหลังความตายนั่นแหละ

ที่จะรู้ว่าน่าเสียดายขนาดไหน

 

ก็ถือว่าเราได้ยายนี กับยายเพ็ญ

โชคดีมาก ที่มาเป็นบุคคลผู้เป็นแบบอย่าง ในห้องของพวกเรา

 

คือตราบเท่าที่ยังมีชีวิต ตราบใดยังมีชีวิต ตราบใดยังมีลมหายใจ

ก็ยังสามารถเอาลมหายใจนั้น มาต่อ มาสร้างทางให้มรรคให้ผลเกิดขึ้น

 

ของยายนี ปกตินี่ไม่ค่อยเดิน แต่มาเดินเป็นชั่วโมง ๆได้

นี่ก็ถือเป็นสิ่งน่าอัศจรรย์

 

จริงๆ ธรรมะนี่อัศจรรย์กว่านั้น

แต่ว่าอัศจรรย์ขนาดนี้ ก็ถือว่า เราได้เห็นตัวอย่าง

ว่าธรรมะ เวลาส่องสว่างแล้ว เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตคนคนหนึ่งได้

 

สิ่งที่เห็นได้ชัด แล้วก็อยากพูดถึงในวันนี้

ก็คือเรื่องของความชุ่มชื่นปีติ

แล้วก็กําลังทางกาย ที่มีความมั่นคงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างน่าแปลกใจ

 

แล้วสิ่งที่จะบอกได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ

ลักษณะภายในของจิต ที่มีความเบิกบาน มีความสดใส

มีความตั้งมั่นมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

จริง ๆ แล้วผมสารภาพว่า

ตอนแรกไม่ได้คาดหมาย ว่าพี่จะมาได้ถึงขนาดนี้

แต่นี่ก็เรียกว่า เป็นความรู้สึกทึ่ง แล้วก็อัศจรรย์ใจ ที่มาได้ขนาดนี้

 

เพราะปกติแล้ว ถ้าหากว่าไม่ได้เดิน

โอกาสที่จะมาถึงจุดที่รู้สึกถึงสติ ที่เป็นไปกับอิริยาบถนี่

แทบจะเป็นศูนย์เลย .. ยากมาก

 

ถ้านั่งสมาธิอย่างเดียว โอกาสที่สติจะกํากับอยู่กับกาย

ตามติดกับกายเป็นเงาตามตัว ยากมาก

 

ทีนี้ พี่ทําได้ถึงขนาดนี้ ผมอยากให้พี่ดูต่อ

ว่าจิตเริ่มจะมีอาการคล้ายๆ กับว่า สละออก

ไม่เหมือนกับ เราให้ทานนะ

 

เราให้ทาน

จริงๆ เป็นการสละออกสิ่งที่เป็นของหนัก ที่เป็นเปลือกหยาบๆ

ทิ้งออกจากจิต ให้เบาขึ้น

 

แต่ว่าลักษณะการที่จิตของพี่ในช่วงนี้ เริ่มจะ คลายออก

คล้ายๆ กับการที่เราไม่ยึดติด อยู่กับสิ่งที่กําลังปรากฏ

จะเป็นร่างกายก็ดี หรือว่าจะเป็นสภาพความรู้สึกนึกคิดอะไรก็ดี

 

อย่างของพี่นี ถ้ามีความคิดอะไรเข้ามา ในช่วงที่เดินจงกรมนี่

พี่จะมีความรู้สึกเหมือนกับว่า ความคิดนั้น เอาก็ได้ ไม่เอาก็ได้ 

 

แต่เดิม ต้องเอาไว้ก่อน

แต่ตอนนี้ เอาก็ได้ ไม่เอาก็ได้

แล้วบางที มีความรู้สึก เออ.. เลิก ๆ คิดไปก็ได้

 

ตรงที่เลิกๆ คิดไปก็ได้ แล้วจิตมีความผ่องแผ้วมากขึ้นๆ

ตรงนี้ เป็นเครื่องหมายบอก เป็นลางบอกเหตุว่า

จิตเริ่มจะไม่ยึดความคิด

 

แล้วถ้าจิตไม่ยึดความคิดได้ จะไม่ยึดอะไรทั้งโลกเลย

 

พี่นี ช่วยลองเล่าให้ฟัง เมื่อกี้เดินจงกรมแล้ว

เกิดความรู้สึกหรือประสบการณ์อย่างไรขึ้นมาบ้างครับ

 

น้านี : ตอนแรกก็หัวเหมือนงงๆ เหมือนกันค่ะ

ก่อนหน้านี้สองวัน ขาก็เจ็บ กลัวว่าจะส่งการบ้านไม่ได้

ก็แปลกใจว่าวันนี้ พอทําได้

 

เดินไปตอนแรก บางครั้ง ข้างในก็ว่างๆ โล่งๆ

บางครั้ง ก็รู้สึกถึงความคิดเข้ามาๆ

ก็ทำท่าที่สอง รู้สึกสงบดีขึ้น เบาขึ้น มีจิตที่มั่นคงขึ้นค่ะ แล้วก็โล่งๆ

 

พี่ตุลย์ : อย่างที่ตอนความคิดเข้ามา พี่มีความรู้สึกใช่ไหม

เหมือนกับคิดก็ช่าง ไม่คิดก็ช่าง แล้วก็ไม่เอาความคิดก็ได้

 

ตรงนี้สําคัญมาก

เพราะเป็นเครื่องหมายบอกว่า จิตเริ่มไม่เอากับความคิด

แล้วพอจิตเริ่มไม่เอากับความคิด มาอยู่กับภาวะของตัวเองมากขึ้น

ขอให้พี่สังเกต ตอนที่จิตทิ้งความคิดได้ มีภาวะที่เบ่งบานออกมา

 

พอสลัดความคิด

คือไม่ใช่สลัดทิ้งแบบเห็นว่า เป็นความคิดที่ฉันไม่อยากจะเอา

แต่ว่าสลัด ในลักษณะที่ จิตไม่อยากไปเป็นพวกเดียวกับความคิด

ในระดับนั้นเลย

 

ในระดับของความคิดหยาบๆ

เราอาจจะ เอ้ย! เรื่องนี้ไร้สาระ คิดไปปวดหัวเปล่า แล้วก็สละทิ้ง

แบบนั้นคือคนธรรมดาทั่วไปก็ทําได้

 

แต่ว่าที่กําลังเกิดขึ้นนี้ เหมือนกับว่าจิตอยากอยู่ส่วนจิต

ความคิดนี้ ให้อยู่ฝั่งความคิดไป เป็นคนละพวกกัน

 

อันนี้เป็นลางบอกเหตุที่ดีมากๆ

ถ้าพี่ดูต่อไปอย่างนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด

ถ้าวันไหนเกิดปวดขา พี่นั่งดูเฉยๆ แค่นี้

ก็เทียบเท่ากับที่ได้ในวันนี้นี้แหละ

 

เวลาคิดเข้ามา แล้วเราเห็นจิตนี้ตั้งเด่น เหมือนกับดวงไฟ

เห็นว่าความคิดนี้เข้ามายังไม่ถึงจิต แล้วมอดดับไปก่อน

เหมือนกับแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ แบบนี้ จะดีมากๆ

 

ถ้าเห็นต่อไปเรื่อยๆ ก็ประเสริฐที่สุด

 

น้านี : หลังๆ ที่เดิน เท้ากระทบพื้น

แล้วกระดูกเหมือนกับกระทบกับพื้น ดังก๊อกๆ ไปอยู่พักหนึ่ง

กระดูกเหมือนกับจับอยู่ที่พื้น เสียงดังออกมาถึงข้างนอก เพราะอะไรคะ

 

พี่ตุลย์ : ต้องเข้าใจอย่างนี้ครับ

คําว่าการปรุงแต่งของจิตนี้ เป็นไปตามความรู้ชัด

เรารู้ชัดถึงสิ่งไหน ก็จะปรุงแต่งสิ่งนั้นขึ้นมา ที่ประกอบแวดล้อมอยู่ด้วยกัน

 

เช่น ถ้าหากว่าเราเริ่มรับรู้ถึงความเป็นโครงของกาย โดยความเป็นกระดูก

จิตที่มีความรู้ชัดแบบนั้น ก็จะปรุงแต่งเครื่องแวดล้อมขึ้นมา

เช่นถ้ามีแต่กระดูก ไม่มีเนื้อหนังห่อหุ้ม แล้วจะเกิดอะไรขึ้น

ก็เกิดเสียง ของแข็งกระทบของแข็ง ดังก๊อกก๊อก

 

อันนี้เป็นสิ่งที่เราไม่ต้องไปสนใจ

ว่าเป็นความจริง หรือเป็นสิ่งที่คิดไปเอง หรือว่าสิ่งที่จิตปรุงแต่งขึ้นมาเอง

 

เอาแค่ว่าในความเห็นชัด

จะมีการปรุงแต่งแวดล้อมขึ้นมาประกอบพร้อมเสมอ

 

ในเวลาที่จิตมีสมาธิ ในเวลาที่จิตตั้งมั่น แล้วก็เห็นอะไรคมชัด

สิ่งที่เกิดขึ้น ขอให้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี

เพราะเมื่อเกิดการรับรู้ถึงความเป็นโครงร่างนี้

เป็นของแข็ง ที่กระทบของแข็งนี่

เป็นเครื่องหมายบอกว่าจิตของเรา

กําลังดิ่งไปแน่วไปในอาการ ก้าวข้ามความเชื่อ ไปสู่ความรู้จริง

ว่ากายนี้จริง ๆ แล้ว แค่ธาตุดิน เป็นแค่วัตถุชิ้นหนึ่ง

ไม่แตกต่างจากท่อนฟืน ท่อนไม้ ที่มากระทบพื้น

 

เมื่อเรารับรู้ถึง ท่อนฟืน ท่อนไม้ ที่กระทบพื้นพร้อมเสียง

ถามว่า มันดูเป็นจริงเป็นจังขึ้นไหม

ต้องตอบว่าดูเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น

 

แล้วความดูเป็นจริงเป็นจังมากขึ้นนั่นแหละ

ที่จะทําให้ จิต เกิดการประจักษ์แจ้ง

เกิดความรู้แจ้ง แบบแน่วเข้าไป มีอธิโมกข์ มีความปักใจแน่วเข้าไป

ก้าวข้ามความเชื่อ ไปสู่ความรู้จริงว่า

กายนี้มีความเสมอกับวัตถุรอบ ๆ ห้อง แล้วกายนี้ ถูกครองอยู่ด้วยจิต

 

อย่างตอนนี้ พี่จะมีความรับรู้แทบจะเป็นปกติแล้ว

คือกายอยู่ส่วนกาย จิตอยู่ส่วนจิต จิตเป็นเป็นผู้ครองกายอยู่

พี่เกือบจะรู้ได้เป็นปกติแล้ว

 

อันนี้ ยิ่งมีจิตที่ส่องสว่าง ยิ่งมีจิตที่แผ่

แล้วอย่างที่คุยกันเมื่อกี้ ถ้ารู้สึกว่าจิตเป็นคนละพวก เป็นคนละสภาวะ

เป็นคนละหมู่เหล่ากันกับความคิด

จิตอยู่ส่วนจิต ความคิดอยู่ส่วนความคิด

 

อันนี้ มีเครื่องหมายบอก เดี๋ยวจิตพี่จะเบ่งบานมากขึ้นๆ

ยิ่งจิตเบ่งบานมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งเอื้อต่อการรับรู้ที่ใสขึ้น ชัดขึ้น

 

แล้วเวลาที่รู้ใส รู้ชัด จะปรากฏเสียงก๊อกๆ ของกระดูกกระทบพื้นก็ดี

หรือว่าจะมีปรากฏการณ์อะไรอย่างอื่นแวดล้อม ที่ทําให้ประจักษ์ชัด

ว่ากายนี้ ใจนี้ เป็นแค่สภาวะที่กลมกลืน

เป็นแค่ของชิ้นหนึ่ง ในอีกหลายๆ ชิ้นในห้อง

 

อันนี้แหละ ที่เราต้องการ อันนี้แหละที่เราเอาเป็นเป้าหมาย

ไม่ต้องสนใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้น จะปรากฏให้คนอื่นในโลกรับรู้ด้วยหรือเปล่า

หรือว่าเป็นจริงตามนิยามของชาวโลกหรือเปล่า

 

แต่ขอให้มาปรุงแต่งใจ ให้เกิดการเห็นชัด

แล้วก็พร้อมทิ้งเท่านั้นแหละ

-------------------

- แก้ว -

 

แก้ว : เมื่อกี้เห็นอากาศค่ะ อากาศว่าง

แล้วก็ เดินไปเดินมา เห็นจิต จิตผู้รู้ เป็นผู้ดูอยู่ข้างบน

แล้วก็มีกายที่เคลื่อนไหวอยู่ข้างล่าง มีแสงเป็นดวงกว้าง

 

พี่ตุลย์ : ครั้งนี้  มีจุดที่เป็นจุดน่าสังเกตที่ดีขึ้นจุดหนึ่งคือ

เวลาที่ความฟุ้งซ่านเข้ามา เราไม่ยื้อ เราไม่ไปพยายามปัดแบบทันทีทันใด

เข้ามาแล้ว เรามีท่าทีโต้ตอบที่ดีขึ้น คือไม่รับ แล้วก็ไม่ผลักไส

 

ทีนี้ จะมีอาการนิดหนึ่ง แค่นิดเดียวว่า

พอเรารู้สึกว่าความฟุ้งซ่านเข้ามา.. เฮ้ย ตอนนี้อยากจะเงียบ

จะมีคลื่นรบกวน เข้ามารบกวนเราได้นิดหนึ่ง

 

แต่พอเรารู้ตัวว่า มีอาการดิ้นรน อยากผลักไส เราทิ้งไปได้

เราทิ้งอาการดิ้นรน แล้วก็ปล่อยให้มันเป็นไป

แล้วก็กลับไปอยู่กับโฟกัสเดิมที่เรามีอยู่

 

อันนี้ เป็นจุดที่ดีขึ้น

 

ถ้าเดิม เราอยู่ในไลฟ์ แล้วมีความฟุ้งซ่านจรเข้ามา เราจะไม่เอาเลย

เราจะไม่อยากให้เกิดขึ้น กลัวจะไม่ดี

วันนี้ มีจุดนี้ ที่พี่อยากตั้งเป็นข้อสังเกต

 

ส่วนความสว่าง ความว่าง

ทีนี้ต้องมาทําความเข้าใจกันนิดหนึ่ง

 

ความสว่างของอากาศ ความว่างของอากาศ เป็นสิ่งที่ดี

เพราะเป็นสมถะ ที่จะเกื้อกูลให้เกิดการรับรู้ได้กว้าง ได้ชัด ได้นาน

 

ทีนี้ เราต้องมองว่า เมื่อมองที่จุดสรุป มองที่จุดที่ตอนท้ายๆ

ว่าหลังจากมีการรับรู้แบบหนึ่งๆ ขึ้นมา

จะเป็นความว่าง จะเป็นความสว่าง

หรือจะเป็นปรากฏการณ์อะไรทางจิตก็ตาม

 

ท้ายแล้ว ที่สุดแล้ว มีอารมณ์แบบหนึ่ง

รู้สึกว่าใจเราทิ้ง ในสิ่งนั้น หรือว่ายังมีอาการใยดี มีอาการยินดี

 

ถ้าหากว่ายังมีอาการใยดี ยังมีอาการยินดีอยู่

ก็มองว่าอาการยินดีนั้น คือเครื่องร้อยรัดชนิดหนึ่ง

คือสังโยชน์ชนิดหนึ่ง คือเครื่องผูกติดอยู่กับอะไรที่ดี ๆ นั้น

 

ซึ่งโอเค ดีกว่าเราไปติดอยู่กับโลก

แต่ว่าตอนนี้ จะเป็นความว่างความสว่างอะไรก็ตาม

ขอให้เกิดขึ้นนาน ๆ เถอะ ดีทั้งนั้น

แต่ว่าเรามีความใยดียึดติดแฝงอยู่ไหม

 

เพียงแค่พิจารณาเฉยๆ  เพียงแค่ตั้งข้อสังเกตเฉย ๆ

ในที่สุด เราจะเห็นชัดขึ้นๆ ว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เรารู้ว่าไม่เที่ยง

ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความสว่าง อากาศว่างหรืออะไรก็ตาม

มีอาการไม่เที่ยงขาขึ้น คือดีขึ้น

หรือว่าไม่เที่ยงขาลง คือเสื่อมลง เสมอ

 

ตัวนี้ แก้วสามารถสังเกตได้แล้ว

 

ที่ผ่านมาโอเค เราเห็นความไม่เที่ยงแบบโลกๆ

เราสละความยึดติดแบบโลกๆ ได้มาเป็นเปลาะๆ

 

แต่ทีนี้ พอมาถึงจุดที่จิตเริ่มดี จิตเริ่มมีความเป็นสมาธิอีกแบบหนึ่ง 

เฉียดๆ กันระหว่างสมาธิแบบที่เป็นสมถะ กับสมาธิที่เป็นแบบพุทธ

 

ถ้าเราสามารถสังเกตว่า สมาธิทุกแบบ ที่เกิดขึ้นในเรา

เราเห็นตรงปลายทางของมัน ว่ามีความยินดี มีความยึดติด

มากหรือน้อย หรือไม่มีเลย

 

อย่างเมื่อกี้ มีอุเบกขา แต่อุเบกขานั้น..

ลองดูว่า คําว่าอุเบกขานี่ตั้งอยู่กับอะไรได้บ้าง

 

อย่างถ้าว่าง แล้วก็สว่าง แล้วอุเบกขา

อย่างนี้ก็คือต้องมีสมาธิ ถึงจะเกิดอุเบกขา

 

แต่ถ้าหากว่า มีความฟุ้งซ่านเข้ามา มีอาการยื้ออยู่นิดหนึ่ง

แล้วเราเข้าใจว่า อาการยื้อนี่ไม่ดี

อันนี้ ก็คืออุเบกขาอีกชนิดหนึ่ง

 

แล้วก็ พอออกมา ถอนออกมาจากสมาธิ

กลับสู่โลกที่เราเป็นถือว่าโลกหยาบ

ยังมีอุเบกขาแบบเดียวกันนั้น อยู่หรือเปล่า

 

ถ้าหากว่าอุเบกขา ตั้งอยู่ได้ทุกสถานการณ์

มีความไม่ยินดียินร้าย ในทั้งสภาพที่ดี และไม่ดี

 

อันนี้ ก็คืออุเบกขาในแบบพุทธ

ที่จะค่อยๆ ยอมรับสภาพ ยอมรับความจริง ได้มากขึ้นๆ

ทั้งหยาบและละเอียด

 

แก้ว : ขอรายงานสภาวธรรมที่เกิดขึ้นเมื่อคืน

แล้วก็ขอรายงานจากช่วงอาทิตย์ก่อน ว่า

หนูไม่รู้จะทําอย่างไรกับสมถะของหนู

หนูก็เลยพาโครงกระดูกออกไปทําอะไร ๆ ด้วย

 

แล้วก็เห็นว่า กายนี้ไม่ใช่ของเรา

แล้วดูในจิต จิตดวงนี้เวลาจะเกิดความความโมโห หรือว่าอวิชชาขึ้น

จะขึ้นเป็นควันขึ้นมาในตรงนี้ (วนมือบริเวณใบหน้า) ค่ะ

บางทีเปิดกว้าง ก็จะเป็นหมอกจางๆ

แต่เมื่อไหร่ที่มีความยื้อ ความยึดว่าเป็นตัวตนของเราขึ้นมา

ในกะโหลก จะมีแผ่นบาง ๆ ติดอยู่ด้านบน บาง ๆ มืด ๆ ดํา ๆ ก็ดูไป

 

แล้วก็เข้าใจเรื่องรูปขันธ์ ธาตุขันธ์มากขึ้น

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

เข้าใจว่า สิ่งเหล่านี้ ถ้าเกิดตัดตอนขึ้นมาอันหนึ่ง ก็คือดับ

ถ้าคิดต่อก็ต่อเนื่อง อย่างนี้

 

ถ้าเกิดการตัดได้บ่อย ๆ ความยื้อ ความยึดความเป็นตัวเรา

อวิชชาพวกนี้ก็จะไม่ก่อขึ้น

 

เมื่อคืน เกิดสภาวะตอนนอนอยู่ แล้วก็ฟังธรรมไปด้วย

เกิดความสว่าง ก็เลยปิดมือถือ

แล้วก็หายใจเข้ารู้จิตที่ว่าง หายใจออกรู้จิตที่ว่าง

รู้จิตดั้งเดิมที่เป็นอยู่ คือไม่มีอะไรอยู่เลย แล้วเกิดความเศร้าใจ

มันขาวโพลนทะลุกําแพงไปหมด

ทั้งๆ ที่หูก็จะได้ยินเสียงวิ้ง แล้วก็ได้ยินเสียงภายนอก

แต่ว่าเกิดความสังเวชใจ หรืออะไรก็ไม่รู้ขึ้นมา..

 

พี่ตุลย์ : ตอนนี้แหละ ตอนนี้อุเบกขาเกิดขึ้น กํากับจิตของเราจริง

 

แต่ อุเบกขา แบบนี้ยังต้องสะสมต่อไปเรื่อยๆ

จนถึงจุดที่อิ่มตัว แล้วก็มีความมั่นคงมากกว่านี้

 

คือจิตของเรา โอเค มีฐาน

แต่ฐานความตั้งมั่นมีหลายแบบ

ฐานความตั้งมั่นด้วยสมาธิ แล้วก็ฐานความตั้งมั่นด้วยอุเบกขา

 

ฐานความตั้งมั่นด้วยอุเบกขา ตอนนี้เริ่มก่อตัว แต่ยังไม่ใช่ถึงจุดที่สุด

ต้องสะสม แล้วก็ทําให้ฐานแข็งแรงมากขึ้นๆ

 

ทีนี้ มีเรื่องหนึ่ง ที่เคยอธิบายมาแล้ว

วันนี้มาอธิบายซ้ำ ในโอกาสที่แก้วพูดถึงเรื่องความรู้สึกในตัวตน

 

ความรู้สึกในตัวตนนี้จริงๆ แล้วก็คืออุปาทาน

 

เคยมีคนถามพระพุทธเจ้า ว่าอุปาทาน กับอุปาทานขันธ์นั้น

อย่างเดียวกัน หรือว่าคนละอย่าง

 

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า จะอย่างเดียวกันก็ไม่ใช่

หรือว่าจะบอกว่า ไม่ใช่อย่างเดียวกันก็ไม่เชิง

 

คือคําว่าอุปทานขันธ์นี่ เรามาทําความเข้าใจกันก่อน

อุปทานขันธ์ เคยพูดมาหลายครั้ง ก็คือ

ภาวะทางกายนี่

 

กาย .. สมมติเป็นศพ อย่างนี้

ถ้าสมมติว่า วิญญาณจะเข้าไปสิง

นึกว่า เออ.. ตัวเองสามารถจะไปเป็นเจ้าของศพนั้นได้

นั่นแหละ อันนั้นแหละ ประมาณนั้นแหละ

ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ไฟที่เป็นมหาภูติรูปอยู่ .. มีอยู่แค่ไหน

อันนั้น ก็สามารถเป็นที่ตั้งของอุปาทานได้

 

นอกจากนั้น ก็มีทั้ง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

คือความรู้สึก เป็นสุขเป็นทุกข์ ความจําได้หมายรู้

ความปรุงแต่งนึกคิด เป็นดีเป็นชั่ว เหมารวมทั้งจิตวิญญาณ

เหล่านี้เป็น อุปาทานขันธ์

หมายความว่า เป็นที่ตั้ง รวมหัวกัน

ก่อให้เกิดความรู้สึกเป็นตัวเป็นตนได้หมด

 

คําว่าอุปาทาน ในที่นี้ก็คือ ความรู้สึกว่ามีตัวตนนั่นเอง

ความรู้สึกในตัวตน ไม่ใช่ไปแปะอยู่ที่หัว ไม่ใช่กระจุกอยู่ในอก

ไม่ใช่ว่า มีที่ตั้งอยู่ที่ใดที่หนึ่งแน่นอน

 

อันนี้ คนที่ภาวนามา มักจะตั้งข้อสังเกต

แล้วก็รู้สึกว่า เออ.. เห็นแล้ว

ว่าที่ตั้งของความรู้สึกในตัวตน อยู่ที่ไหนประมาณใด

 

แต่จริง ๆแล้ว ทั้งหมดทั้งปวงที่รวมหัวกัน

พร้อมจะปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกในตัวตน นั่นแหละ

อุปาทานขันธ์ทั้งหมดนั่นแหละ พร้อมจะทําให้เกิดอุปาทาน

 

มันมี ใจ ประกอบอยู่ด้วย

ใจนี่ ถ้าไม่มารับรู้ว่ามีอะไรแปะอยู่ตรงไหน ก็ไม่เกิดความยึดขึ้นมา

 

เวลามีปรากฏการณ์ทางกายอะไรขึ้นมาก็ตาม

ใจนี่แหละ จะไปเป็นผู้ยึด ผู้เกิดอุปาทานสําคัญมั่นหมายผิดๆ

ว่าอันนั้นเป็นตัวเรา 

 

อันนี้ สรุปว่าความรู้สึกในตัวตน ไม่ใช่เกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่ง

แต่โอเค แก้วสามารถจับจุดสังเกตได้ว่า

เพราะมีความรู้สึกคาๆ อยู่แบบนี้ เลยเกิดความรู้สึกยึดติดขึ้นมา

ซึ่งก็ใช่ ณ โมเมนต์นั้น ถูกต้อง ณ โมเมนต์นั้น

 

แต่จริง ๆ แล้วนี่ สามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้

ขอเพียงมีการรวมหัวประชุมกัน ระหว่างกายกับใจนี้

ขาด ใจ ไม่ได้ด้วยนะ

 

จิตหรือใจ ถ้าหากว่ายังสามารถรับรู้อะไรในกายนี้ได้อยู่

นั่นแหละทั้งนั้นเลย ทั้งหมดนั่นเลย

ที่จะก่อความรู้สึก มีน้ำหนักของตัวตนขึ้นมา

 

ตอนนี้ ถือว่ามีอุเบกขา ช่วงนี้เริ่มเป็นอุเบกขาจริง

อย่างที่พี่บอกว่า เริ่มมีฐานของอุเบกขา ที่ก่อตัวขึ้นมา

 

ทีนี้ สิ่งที่เราจะทําต่อก็คือ สิ่งที่ทำๆ อยู่นั่นแหละ

แล้วก็สังเกตว่า ความรู้สึกเฉย ๆ ความรู้สึกวางเฉย

ความรู้สึกเหมือนไม่ยินดียินร้าย ความรู้สึกเหมือนจิตนี่ตั้งอยู่ รู้อยู่

แล้วไม่เอา ไม่มาใยดี มากขึ้น ๆ หรือเปล่า

 

อย่างเมื่อกี้ ที่พี่ชี้เป็นจุดแรก แล้วแก้วไม่ได้พูด ก็คือว่า

แก้วจะเลือกพูดสิ่งที่เป็นสมาธิ แต่พี่เลือกพูดสิ่งที่เป็นของจรเข้ามา

มีความคิดรบกวน มีคลื่นรบกวน 

 

อาจจะเกิดจากการที่ว่า สมาธิถึงจังหวะที่จะดร็อป

หรือเกิดจากการที่เราไลฟ์อยู่ก็ตาม แต่สรุปก็คือความคิดที่จรเข้ามา

 

เดิมที แก้วจะไม่เอา ๆ

จะเหมือนคนดิ้นๆ ออกจากเชือกที่ถูกมัดติดอยู่กับเสา แล้วดิ้นไม่ออก

แต่ว่าตอนนี้ ดิ้นนิดเดียว แล้วพอรู้ตัวว่า เออ เกิดอาการดิ้น

แล้วเราทิ้งอาการดิ้น ไม่ใช่ทิ้งความคิด

 

ตัวนี้ ที่พี่ถือว่าเป็นสัญญาณบอกว่า เริ่มมีอุเบกขาในแบบหนึ่ง

 

มีเหตุ มี setting มีไลฟ์แบบนี้

ปรุงแต่งให้จิตของเรา ผิดปกติไปจากตอนที่ทําสมาธิอยู่คนเดียวแบบนี้

แล้วมีสติขึ้นมาได้

 

ตัวนี้ ที่พี่ถือว่าเป็นลางบอกเหตุของอุเบกขาชนิดหนึ่ง

 

ทีนี้ อุเบกขานี่ละเอียดอ่อนลึกซึ้ง

แล้วก็มีอะไรมากกว่าที่เรา จะแค่มาทํากันแบบ สบายๆ อย่างนี้

 

ชีวิตจะโยนอะไรยากๆ มาลองอุเบกขาของเรา

เหมือนกับหินลองทอง

 

ซึ่งตรงนี้แหละ ที่พี่บอกว่า ถ้าแก้วจะเอาการบ้าน

เอาการบ้านที่จุดนี้

 

อุเบกขาตอนนี้มีฐานแล้ว

ขอแค่ว่าทําให้ฐานนี้เหมือนกับคนเทปูน เทให้กว้างขึ้น

เอาเหล็กมาเสริมให้แข็งแรงขึ้น ให้มีความรู้สึกว่ามั่นคงมากขึ้นๆ

 

เสร็จแล้ว เราสามารถจะรู้ได้ด้วยใจว่า

คําว่าอุเบกขาที่แท้จริง คือความเบาใจ เบากริบ

เหมือนกับไม่มีใครอยู่ในนี้เลยจริงๆ

แล้วก็แผ่กว้างออกไป หดกลับมายาก

 

ตรงที่เราฝึกนี้แหละ ที่มีความต่อเนื่องอย่างที่ทําๆ อยู่นี่แหละ

ที่จะได้เห็นต่อไปว่า จะพัฒนาขึ้นไปได้แค่ไหน

---------------------

- ตั้น -

 

พี่ตุลย์ : วันนี้ จะชี้ให้ดูภาวะหนึ่งที่ตั้นน่าจะพร้อมดูได้

 

ที่ผ่านมา สามารถรู้ได้แล้วว่า

ตอนความคิดแบบที่เหวี่ยงเข้ามาแบบ random

เหมือนแหที่เหวี่ยงมาจากข้างนอก เข้ามาคลุมจิต

 

รวมทั้งเราเริ่มรู้จักแล้วว่า เออ ถ้ามีอาการตั้งใจคิด แบบแรงๆ

ทําให้จิต เสียจากความเป็นสมาธิอย่างไร

 

นี่ ตัวที่เราเริ่มรับรู้ได้ทั้งสองแบบหยาบๆ

 

วันนี้พี่จะชี้ให้ดู .. ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ตั้นยกมือขึ้นฟ้า

หรือว่าตอนที่เราเดินรับรู้ ความเป็นธาตุนี้ก็ตาม

จะมีความคิดอีกชนิดหนึ่ง

 

ไม่ใช่ random เหวี่ยงมาจากข้างนอก

ไม่ใช่ว่าเราจงใจคิดเรื่องถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

ไม่ใช่จงใจแก้ปัญหาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

 

แต่เป็น ความตรึกนึก ที่ผุดอยู่กลางจิต

 

ความตรึกนึก อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสนะ

อย่างเราจะนึกถึงลมหายใจ ก็เรียกว่าการตรึกนึก มีวิตักกะ

ตัววิตักกะคือการตรึกนึกถึง

 

พูดง่ายๆ อาการของจิต

มีการใคร่ครวญ หรือโฟกัสถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างต่อเนื่อง

 

ตัวนี้ ถ้ามองเผินๆ ก็เหมือนกับว่า

เป็นแค่การที่จิต ไปจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

แต่ถ้าหากว่า เราเห็นออกมาจากจิตแบบนี้ มาถึงขั้นนี้

จะรู้สึกเหมือนหมุดตรึง ให้ตัวตน อยู่ใจกลางของจิต อยู่บางๆ

 

คือไม่ใช่ว่า อาการตรึกนึกนี้ผิด

ไม่ใช่อาการตรึกนึกนี้ จงหายไป .. ไม่ใช่แบบนั้น

 

แต่พี่กําลังพูดว่า ถ้าเรามองเห็นว่า

ในขณะที่เราเดินรู้เท้ากระทบๆ ไป

มีอาการของใจ ที่ตรึกนึกอยู่

อยู่กลางใจเลยนะ อยู่แนบเป็นอันเดียวกับจิต

 

เรา ไปรับรู้ถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็เพราะว่า

จิตมีทิศทางมาจากการสั่งการ จากใจกลางนี้แหละ

ตรงที่ตรึกนึกอยู่ ตรงที่นึกถึงอะไรอยู่บางอย่าง

 

ทีนี้ประเด็น ถ้าหากว่า ตั้นสามารถที่จะรับรู้อย่างที่พี่บอก

ว่ากลางใจของเรา มีเหมือนมีหมุดยึด

หมุดยึดความรู้สึก เป็นตัวเป็นตนบางๆ

 

ก็จะเห็นว่า อาการของใจแบบนั้น เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ

ในขณะที่เราทําสมาธิ หรือเดินจงกรม

 

ถ้าเห็นอาการตรึกนึกดังกล่าว

 

อย่างตอนนี้ เริ่มเห็นแบบครึ่งๆ

เริ่มเห็นแบบ ไม่แน่ใจว่าเห็นจริงหรือเปล่า

อันนี้ เขาเรียกว่าจิตยังมีความแส่ส่ายอยู่นิดหนึ่ง

 

คือพอตั้งใจฟังพี่พูด ตั้งใจดูเข้าไป

เห็นอะไรอย่างหนึ่ง อยู่ตรงกลางของจิตจริงๆ

เป็นคล้ายๆ หมุดยึดความรู้สึกในตัวเรา ที่มีอยู่บางๆ

 

แต่หมุดยึดนี่แหละ ถ้าส่องสังเกตเข้าไป เป็นอาการที่ เรานึกถึงบางอย่างอยู่

ซึ่งอาการนึกถึงอย่างนี้ เป็นอาการเดียวกัน กับความรู้สึกว่าเป็นตัวของเรา

 

เห็นไหม พอเราดูอยู่เฉยๆ จะมีอาการแบบหนึ่ง

ถ้าหากว่า ไม่แส่ส่ายสงสัย

ก็จะรับรู้ว่าอาการตรึกนึก เป็นสิ่งที่อยู่แยกเป็นต่างหาก จากจิตผู้รับรู้

 

จิตที่รับรู้ ถ้าไม่มีอาการแส่ส่าย

จะมีอาการเฉย แล้วแผ่ออกไป กว้างออกไป

แต่ถ้าเมื่อไหร่ มีอาการแส่ส่ายสงสัย เอ๊ะ ใช่ หรือไม่ใช่ ที่กําลังรู้อยู่

 

แบบนี้ จิต ก็เป็นอันเดียวกับความสงสัย

หรือว่าเป็นอันเดียวกับการตรึกนึกไปแล้ว

 

นี่คล้าย ๆ อย่างนี้ เห็นไหม มีอีกชั้นหนึ่งของจิตที่รับรู้ออกมา

เหมือนแยกตัวออกไปจากอาการตรึกนึก

 

เดิมนี่เป็นอันเดียวกันเลย จากอาการตรึกนึก

เหมือนจิตมีที่แคบอยู่ที่หนึ่ง ที่ตรงกลาง

ถึงแม้ว่าดูเผินๆ เหมือนกับว่าจิตของเรากว้าง

แต่มีจุดยึด หรือหมุดยึดอยู่ตรงกลาง

 

ตรงนี้ ซึ่งถ้าเราเห็น สังเกตออก

อ๋อ มันเกิดขึ้นจากอาการตรึกนึกถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

จิตก็จะแยกออกไปจากอาการตรึกนึกนั้น

 

และถ้าจิตเราวางเฉย ไม่มีอาการแส่ส่าย ไม่มีอาการสงสัย

เห็นไหม จะเหมือนกับเกิดความรู้สึกว่า มีอีกตัวหนึ่ง

แยกออกไปเป็นต่างหาก จากอาการตรึกนึก

 

เดิมที จิตรวมอยู่ด้วยกันเลย กับอาการตรึกนึกนั้น เป็นอันเดียวกัน

เหมือนกําเนิดขึ้นมาจากหมุดยึดนั้น

ส่งความเป็นกระแสจิตออกมาจากหมุดยึดนั้น

 

แต่พอเราเห็นหมุดยึดนั้นปุ๊บ เหมือนกับหลุดออกมา

แล้วก็แยกออกไป เป็นอีกตัวหนึ่ง

 

ดู แล้วก็สังเกตเห็น..

อ๋อ ที่มีลักษณะอยู่ตรงกลางแคบๆ ก็คืออาการเจาะจง

คืออาการที่เราตรึกนึกถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

 

นี่ พอจิตมีสภาพที่แยกออกมาเป็นต่างหากได้

เหมือนกับหมุดยึดนั้น ถูกถอน

 

แต่จริง ๆ ไม่ได้ถอนไปไหน

อาจจะยังอยู่ในรูปของการที่ เรา รับรู้ถึงลมหายใจ

รับรู้ถึงการที่เรายกแขนชูมือสุด รับรู้ถึงความว่าง ด้วยอาการที่ประคองไว้

 

อย่างอันนี้ ถ้าไม่มีอาการประคองไว้ นี่

ไม่มีทางที่เราจะรับรู้อยู่อย่างนี้ได้

ที่รู้สึกถึงความกว้างโล่ง เพราะว่ามีอาการประคองไว้

 

ทีนี้ ถ้าเราแค่เห็น .. ความต่าง มีแค่นั้นแหละ ..

เห็นว่าอาการประคองไว้ นี่เป็นลักษณะหนึ่ง

เป็นอาการหนึ่งของจิต ที่ทําให้เกิดความรู้สึกในตัวเรา

แฝงขึ้นมาเป็นเงา ตามอาการนั้น

จิตก็จะแยกออกไป รับรู้อาการนั้น สักแต่ว่าเหมือนกับเป็นหมุดยึดตัวตน

 

เห็นไหม จิตจะกว้างขึ้นอีกแบบหนึ่ง

ไม่ใช่กว้างขึ้น แบบว่าแผ่กว้าง

แต่มีอาการรับรู้แยกออกไป แล้วก็เป็นการรับรู้ อยู่กว้างๆ ใสๆ

 

ซึ่งถ้าหากว่า มีอาการรับรู้อย่างนี้คงเส้นคงวามากขึ้น

ความคิด หรือแม้อาการตรึกนึก ที่อยู่ที่กลางจิต ใจกลางจิต

ก็จะเป็นสิ่งถูกรู้ชนิดหนึ่ง รู้ว่าจริงๆ แล้วไม่ใช่ตัวเรา

 

กําจัดออกไปทีละชั้น ทีละเปลาะ ความรู้สึกในตัวตน

 

ตัวที่กําจัดยากที่สุด ก็คืออาการตรึกนึกนี่แหละ

เพราะว่า อาการตรึกนึก มีหลายแบบเหลือเกิน

มาหลายรูปหลายแบบ

 

บางที มีการตรึกนึกแบบหยาบๆ ซึ่งจับได้ไล่ทันไม่ยาก

เพราะแค่สังเกตว่า ถ้าจงใจแล้วรู้สึกตัวเกร็งๆ

แบบนั้น ก็มีความเป็นตัวเป็นตน แบบหนาๆ ขึ้นมา

 

แต่อาการตรึกนึกอยู่ตรงกลางแบบนี้ ดูยาก

แต่ถ้าดูได้ เห็นไหม จิตแยกออกมาเป็นอีกแบบหนึ่ง

ออกมาอยู่ในฐานะของการเป็นคนละพวกกัน กับอาการตรึกนึก

 

นี่ เห็นไหม ความรู้สึกในตัวเรานี้ เหมือนหายไปอีกแบบหนึ่ง

 

จริงๆ นี้มีความรู้สึกในตัวเรานี้ แฝงอยู่ในทุกชั้นของจิตนั่นแหละ

แต่ว่าจะแปลก แล้วก็แตกต่างออกไป

ไม่ได้มีตัวเราในแบบที่ เป็นหมุดยึดจิตอยู่ตรงกลาง

มีความเป็นอาการตรึกนึกของจิตนี้เกิดขึ้น

แล้วไม่มีจิตเข้าไปยึด ไม่มีจิตเข้าไปเป็นพวกเดียวกัน

 

วันนี้น่าจะดูเพิ่มเติมกันที่ตรงนี้ เมื่อกี้เข้าใจไหมที่พี่พูด

 

ตั้น : เห็นครับ ตอนแรกคือผมเห็นอยู่แล้วตั้งแต่เริ่ม

ตรงกลาง แบบมีอะไรบางอย่าง แต่เอาไม่ออกเสียที

ผมก็รู้ว่าเป็นอย่างนี้แหละครับ

 

พี่ตุลย์ : ที่เอาไม่ออกนี้ เพราะว่าเราไปพยายามกําจัดทิ้ง

เหมือนเห็นเป็นสิว หรือเห็นเป็นเห็บอะไรที่เกาะติดอยู่

แล้วเราไปพยายามเอามือปัด ซึ่งไม่ใช่

 

จริงๆ แล้วก็คือ เห็นมัน แล้วก็เห็นด้วยจิตที่ตั้งอยู่ในอาการที่ถูกต้อง

ตั้งอยู่ในลักษณะ passive มีอาการตั้งรับ ไม่ใช่ active ไปทําอะไรกับมัน

 

เมื่อกี้นี้ ขึ้นต้นมามีอาการแส่ส่าย เห็นใช่ไหม

คือเหมือนกับตอนที่เราเห็น แล้วเกิดความรู้สึกสงสัยใช่หรือไม่ใช่

นี่ก็คือ ไม่ใช่แน่ๆ

 

ตอนแรกทําเป็นเฉยๆ ก่อน แล้วก็รู้ รู้อยู่เฉยๆ

แต่ต่อมาเหมือนมีอาการที่ใจของเรา มีอีกตัวหนึ่งแยกออกมาเอง

แต่แยกออกมาแค่แป๊บเดียว แยกออกมาแบบว่าแผ่วๆ

ไม่ได้แยกออกมาชัด

 

อย่างไรก็ตาม นี่คือทิศทาง

ถ้าหากว่าตั้นสามารถสังเกตตรงนี้ได้

ในที่สุดจะมีอาการที่ ตรึกนึกอยู่ตรงใจกลางของจิต

แต่สติ ก็ดูออกมาเป็นต่างหาก แล้วจะดูด้วยความเข้าใจมากขึ้น  

 

วันนี้ เหมือนกับแค่มาเบสิกว่า จะดูอย่างไร

เสร็จแล้ว ตั้นต้องไปดูซ้ำๆ เอาเอง

จนกระทั่งถึงจุดหนึ่ง ที่พี่ชี้ให้ว่า

เออ เหมือนแยกออกมาบางๆ แต่แยกออกมาแป๊บเดียว

เพราะว่า ยังไม่มีความเป็นอุเบกขา ที่จะก่อให้เกิดความเสถียร

 

แต่พอเราเข้าใจว่า จะดูจากจุด ดูอย่างไร เดี๋ยวจะเสถียรขึ้นเรื่อยๆ

และความเสถียรนี่แหละ เป็นที่มาของอุเบกขาที่แท้จริง

 

ตั้น : เหมือนบางทีก็ไม่เกิดขึ้นน่ะครับ

เราต้องดูตอนมันเกิดขึ้นอย่างเดียวหรือเปล่าครับ

 

พี่ตุลย์ : นี่ไง ต้องทําสมถะมาก่อน แล้วให้เกิดอาการตรึกนึกแบบนั้นแหละ

 

ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ พุ่งพรวดขึ้นมา นาทีแรก เราเห็นได้แบบนั้นเลย

เป็นไปไม่ได้

 

ก็ทําสมาธิ ยืนท่าสอง เดินหลับตาเทียบเทียบธาตุไป

ทําอะไรก็แล้วแต่ ที่เราทําได้แล้ว

จนกระทั่งเข้าจุด ที่เรารู้สึกว่าเหลือแต่จิต กับหมุดยึดเล็ก ๆ จุดนี้แหละ

 

ที่เราตั้งข้อสังเกตว่า ถึงแม้ว่าจิตดูเหมือนกว้าง

แต่จริงๆ แล้วมีหมุดยึด บาง ๆ อยู่ตรงกลาง

เป็นหมุดยึดความรู้สึกในตัวในตน

 

นี่ .. ตัวนี้ พอเราเข้าถึงจุดนี้อีก เราก็ดูซ้ำ แบบที่พี่พูด

 

ความยาก อยู่ตรงที่ว่า

พอไปถึงจุดนั้น บางทีไม่มีสติเตือนตัวเอง ก็อาจจะใช้วิธีทำซ้ำแบบวันนี้

แล้วก็ฟังไลฟ์ควบคู่ไปด้วย สักห้าครั้ง สิบครั้งอะไรอย่างนี้

จนกระทั่งขึ้นใจจริง ๆ ว่า เออ.. เราทํามาถึงจุดที่พร้อมจะดูแล้ว

สามารถที่จะแยกออกมาดูเป็นเป็นต่างหากได้

 

ตั้น : ครับ คือเห็นจริงๆ ว่าเหมือนจะมีอยู่

ข้างนอก ดูเหมือนจะสว่างกว้าง แต่ว่าข้างในจะมีจุดหนึ่งจริงๆ

อันนี้เห็นแล้ว เห็นชัดๆ เลยครับ

 

พี่ตุลย์ : อันนั้นแหละ เขาเรียกว่าอาการตรึกนึก

ถ้าพ้นจากอาการตรึกนึกได้นี้ จะเหลือแต่จิต

รู้สึกแต่ว่า เออ.. จิตไม่มีจุดศูนย์กลาง เหมือนกับสว่างว่าง

แล้วก็เป็นอิสระอยู่ ไม่มีใครเป็นผู้นึกผู้คิดอยู่

 

แต่จริงๆ ยังมีลําดับของความรู้สึกในตัวตน ที่ละเอียดขึ้นไปกว่านั้นอีก

คือเป็นจิตทั้งดวง

 

แม้แต่พระอนาคามี ท่านยังเอาชนะไม่ได้เลย

ในตอนที่ท่านเข้าสมาธิแบบ ได้สมาบัติแปดด้วย เป็นพระอนาคามีด้วย

ท่านยังเอาชนะจิตแบบนั้นไม่ได้

 

คือเป็นชั้นๆ จะยากขึ้นไปเรื่อยๆ

แต่ว่าตอนนี้ ถ้าเราทําได้ จุดนี้เป็นจุดเริ่มต้น

ที่จะเห็นอะไรละเอียดยิ่งๆ ขึ้นไป

 

คือจากฐานมาถึงตรงนี้ ดูเหมือนแบบว่าชัน แล้วก็ขึ้นยาก

แต่จากตรงนี้ขึ้นไป จะเริ่มง่ายแล้ว

เพราะว่าเราเข้าใจ เบสิกมากพอที่จะเห็นว่า

ตัวตนนี้เกิดขึ้นกับทุกสภาวะของจิตนั่นแหละ

 

แต่ที่จะเกิดขึ้นหยาบๆ ตอนแรก

สําหรับคนธรรมดาทั่วไปไม่รู้อะไรเลย ไม่เคยมาฝึก

ไม่เคยมาทําความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องทุกข์และการดับทุกข์

เกี่ยวกับเรื่องกาย เวทนา จิต ธรรมนี้

 

ก็จะมีความฟุ้งซ่านห่อหุ้ม

แล้วความฟุ้งซ่านนั้น จะเป็นอันเดียวกันกับความรู้สึกในตัวตน

 

แต่พอเรามาทําความเข้าใจว่า

ความฟุ้งซ่านผ่านมาแล้วผ่านไป เข้าไม่ถึงจิต

เห็นแล้ว ความฟุ้งซ่านไม่ใช่ตัวเรา

 

แต่พอมีความจงใจที่จะคิดถึงเรื่องอะไรขึ้นมา

ความจงใจ ก็กลายเป็นตัวเราอีกแล้ว

 

เป็นตัวเราที่ต้องดูว่า เอ๊ะ.. ถ้าจงใจถ้าใส่น้ำหนักไป

เกิดความรู้สึกในอัตตาขึ้นมาแบบนั้นแบบนี้

จนกระทั่งเห็น อ้อ.. ถ้าไม่จงใจก็ไม่มีอัตตานี่หว่า ไม่มีอัตตาแบบนั้น

 

เสร็จแล้วสังเกตเปรียบเทียบไป เปรียบเทียบมา

ความจงใจ กลายเป็นตัวตนแบบหยาบๆ ที่เราทิ้งได้

 

เสร็จแล้ว พอมาทําสมาธิอยู่ในขั้นที่เราต้องตรึงไว้ ด้วยความตั้งใจ

นี่ตัวนี้แหละ ที่เหมือนกับการตรึกนึกยังผุดขึ้นกลางจิตของเรา

ซึ่งพอพี่ชี้ปุ๊บ ก็เกิดความสงสัย เอ๊ะ มั่นใจว่าเห็นนะ

แต่ว่าจะใช่หรือไม่ใช่.. ตรงนี้ไม่ใช่แล้ว

 

เสร็จแล้วความสงสัยตรงนี้ พอหายไป

กลายเป็นอุเบกขา กลายเป็นว่าจิตแยกออกมา

จิตอยู่ส่วนจิต อาการตรึกนึก อยู่ส่วนอาการตรึกนึก

อย่างนี้เราก็เริ่มเห็นแล้ว .. อ้อ จับได้แล้ว อาการตรึกนึกหน้าตาเป็นแบบนี้

พอหายไป ก็กลายเป็นใจว่างๆ

 

เดี๋ยวขั้นต่อไป

จะเห็นว่าใจว่าง เป็นอิสระ

ตั้งมั่นอยู่โดยไม่มีอาการตรึกนึก มีความเป็นอิสระอยู่

ตรงนี้ ก็จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาอีกว่า เออ.. เป็นอิสระอย่างนี้นี่เอง

คือจิตที่ไม่ต้องมีอาการตรึกนึก

 

จิตสามารถคงสภาพเป็นอิสระอยู่ได้เอง แล้วก็ยึดตัวเองอีกว่า

อาการเป็นอิสระ ปราศจากการตรึกนึกนี่เอง คือภาวะที่ใช่

 

พอมีความรู้สึกว่า ภาวะที่ใช่ .. มีคําว่า ใช่ ปุ๊บ

ตัวนี้มีตัวตนขั้นละเอียดเข้ามา เคลื่อนเข้ามายึดแล้ว

 

อย่างที่ พระพุทธเจ้าท่านตรัส อุปาทานขันธ์ห้า รวมหัวกัน

เป็นที่ตั้งของอุปาทาน หรือว่าความรู้สึกในตัวตน

พอมีความรู้สึกในตัวตนขึ้นมานี่ เรารู้สึกว่า เอ๊ะนี่ต้องใช่เราแน่ ๆ

เสร็จแล้ว พอเริ่มพิจารณาเห็น .. นี่เป็นแค่ของไม่เที่ยง

เป็นของปรุงประกอบ เกิดจากเหตุปัจจัย

 

เพราะฉะนั้นเขยิบชั้น เลื่อนขึ้นมาจนกระทั่งถึงจิตที่เป็นอิสระ

ที่ดูเหมือนกับว่า มีหนึ่งเดียว อันเดียว มีอยู่ดวงเดียว

ที่ลอยเด่น เป็นอิสระอยู่ ก็น่าจะไม่มีความรู้สึกในตัว ตนแล้ว

 

แต่หารู้ไม่ นั่นแหละ ยังเป็นอุปาทานขันธ์อยู่

คือที่ตั้ง คือเหยื่อล่อของความรู้สึกในตัวตนอยู่

 

พวกพระพรหม แม้อรูปพรหมถึงหลุดไปไม่ได้

ก็เพราะว่าภาวะของจิตนี่ ทําให้เกิดการหวงจิต

ทําให้เกิดการรู้สึกว่า นี่ใช่ นี่ดี นี่เป็นอิสระ

 

ตรงนี้ ที่จะต้องมีสติ ไล่ตาม วิ่งไล่กวดกันแบบ..

คือไล่กวดกันหน้ามืดทั้งชาตินั่นแหละ

กว่าที่จะจับได้ไล่ทันว่า แม้จิตก็ไม่ใช่เรา

แม้จิตที่ปรากฏใสๆ อยู่ จริงๆ แล้วก็เป็นจิต ที่ถูกอวิชชาห่อหุ้มอยู่

 

นี่ตัวนี้ เรายังไม่ถึงไปถึงขั้นนั้น

แต่ว่าเอาถึงขั้นที่ว่า รู้สึกว่า จิตนี้ไม่ใช่เรา กายนี้ไม่ใช่เรา

นี่แค่นี้ ณ ปลอดภัยสําหรับเรา ๆ ท่าน ในห้องนี้แล้ว

 

ตั้น : ตอนนี้ ฝึกที่จะหาหาข้อมูลเกี่ยวกับการเดินปัญญาอยู่ครับ

ก็เหมือนเริ่มเข้าใจมากขึ้นแล้วครับ ผมควรจะหาต่ออีกไหม หรือว่าอย่างไร

ผม เข้าใจแล้วว่าเที่ยง ไม่เที่ยงคืออะไร แต่บางทียังมีความคิดอยู่

 

พี่ตุลย์ : คราวที่แล้วพี่ไม่ได้พูดว่า จะให้ตั้นหาให้พอแค่ไหน

สเปกอยู่ที่ตรงไหน อะไรอย่างไร

 

พี่บอกว่าช่วงนี้ เป็นช่วงที่จำเป็นต้องเป็นอย่างนี้

คือ มีลักษณะของการหาข้อมูลประกอบเสริมด้วย

มีประสบการณ์ตรง อันเกิดจากการทําได้แล้วด้วย

ตัวนี้ยังขาดไม่ได้ .. พี่พูดอย่างนี้ ยังขาดไม่ได้

 

พี่แค่พูดไว้ล่วงหน้าว่า ถ้าเราอ่านไปเรื่อยๆ สะสม

หรือว่าพูดคุยกับโจ เสวนาธรรม หรือว่าสังเกต จินตนาการอะไรต่างๆ

เพื่อที่จะทําให้จิต รู้สึกพอใจว่า มันน่าจะเข้าใจ น่าจะมีหลักฐาน

น่าจะมีข้อมูลประกอบอะไรพร้อม

คือเอามาเรื่อยๆ เลย เอามาถึงอายุห้าสิบหกสิบก็ได้

 

ประเด็นคือที่พี่พูดไปนี้ เพื่อให้สังเกตว่า

จิตนี้จะอยากได้ข้อมูลน้อยลง

ข้อมูลแบบภายนอก หรือแม้แต่ข้อมูลจากอันเกิดจากจินตนาการ

 

แต่จิตจะความพอใจ ที่จะเสพประสบการณ์ภายในโดยตรง มากขึ้นๆ

ประสบการณ์ กินพื้นที่ของจิตมากขึ้นๆ

ทําให้เกิดสติ และปัญญาในอีกแบบหนึ่ง

ซึ่งอันนี้เป็น character ของคนที่ปฏิบัติจริง

 

ประเด็นที่พี่พูดนี่ก็คือ จะให้แยกแยะว่า

ถ้าเป็นนักทฤษฎี

ก็จะโหยหิว แล้วก็กอบโกยเอาอักษร

หรือว่าคําพูดที่เป็นข้อมูลธรรมะเข้าหัว ไม่รู้จบ

จะมีความอิ่มใจ แค่เฉพาะตอนที่ได้ยินได้ฟัง หรือได้อ่าน

แล้วก็รู้สึกว่า เราได้เข้าใจธรรมะแล้ว เรารู้ธรรมะแล้ว

 

แต่ว่าคนที่เป็นนักปฏิบัติ

จะมีความรู้สึกว่า ข้อมูลความรู้ อะไรที่เข้ามาประกอบนี่

จะมากหรือน้อยก็ตาม .. โอเค เป็นประโยชน์ แต่เป็นประโยชน์ที่เปลือก

แต่ที่เป็นแก่น คือการรับรู้สิ่งที่เป็นปรมัตถ์ตรงๆ

คือความเป็นกายเป็นใจนี้

 

ปรมัตถ์ ก็คือกายใจนี้ ที่ไม่มีใครอยู่ในนี้

เห็นแบบเป็นภาวะล้วนๆ ไม่ได้มีบุคคล ไม่ได้มีเราเขาอยู่

 

ซึ่งตรงนี้ จะมาบวกกัน

 

คือ อย่างบางคน บางท่าน แม้ท่านจะปฏิบัติมาได้ ลึกๆ แล้ว

แต่ท่านก็ยังอ่านอยู่ ยังฟังอยู่ ด้วยความรู้สึกบันเทิงในธรรม

รู้สึกว่าเป็นเครื่องปรุงแต่ง

คือแทนที่จะไปคิด หาอะไรแบบโลกๆ เข้าใส่หัว ด้วยความเคยชินแบบเก่าๆ

ก็กลายเป็นว่า เอาความรู้ธรรมะแง่มุมต่างๆ ที่ตัวเองยังไม่รู้

หรือยังเข้าใจไม่ทั่วเข้ามา แล้วก็มาบวกกัน กับประสบการณ์ภายใน

 

ซึ่งอันนี้ พี่แค่ชี้ว่าตอนแรกๆ แน่นอนต้องมีตรงนี้ (แตะศีรษะ) เยอะ

แล้วตรงนี้ (แตะบริเวณใจ) ต้องน้อยกว่า แต่จะเพิ่มพูนมากขึ้น ๆ

จนกระทั่ง ตรงนี้ (แตะศีรษะ) รู้สึกว่า เออ.. แค่นิดเดียว ก็อิ่มแล้ว

เหมือนกับคนที่ได้อาหารดีขึ้นเรื่อย ๆ

เลยมีความรู้สึกอิ่มอยู่ข้างในตั้งแต่ตั้งแต่อยู่ในมุ้ง

 

ตั้น : เราจะมั่นใจได้อย่างไรครับ ว่าที่เราทําอยู่กําลังเดินปัญญาอยู่

ดูไม่ค่อยออก บางทีไม่ค่อยมั่นใจว่าเดินปัญญาอยู่จริงๆ หรือเปล่าครับ

 

พี่ตุลย์ : พี่ถึงบอกตั้งแต่เมื่อคราวที่แล้ว ว่า

ช่วงที่เหมือนกับเป็นช่วงที่ต้องหาข้อมูลเข้าหัวด้วยนี่ มันจําเป็น

เพราะถ้าเราเกิดความสงสัยขึ้นมา แล้วเราหยุดที่จะหาข้อมูลเพิ่ม

ความสงสัยก็จะยังคาอยู่

 

แต่พี่แค่ตั้งข้อสังเกตว่า การหาข้อมูลจะน้อยลงๆ

เมื่อเรามีความมั่นใจกับภาวะภายในมากขึ้นๆ

โอเค คืออาจจะพูดในคนละมุมกัน

แต่ว่าก็เป็นสิ่งเดียวกันกับที่พี่ว่านี่แหละ

 

คือความเชื่อว่า ..

ตอนแรก ต้องอาศัยความเชื่อก่อน ว่าเรามาถูกทาง

ต้องดิ่งไปถึงจุดหนึ่ง

จุดพิสูจน์ว่า กิเลสเราน้อยลงหรือเปล่า ตัวตนเราลดลงหรือเปล่า

เกิดความรู้ความเห็นว่า กายนี้ใจนี้ เป็นธาตุหก เป็นขันธ์ห้าจริงหรือเปล่า

นี่ต้องเดินไป จุดหนึ่ง และถึงจุดนั้น

ถึงจะตัดสินได้จากประสบการณ์ภายใน ว่าใช่ หรือไม่ใช่

 

อย่างขึ้นต้นมา ตอนแรกบอก โอเคตําราว่าไว้อย่างนี้

แล้วเราปฏิบัติ เห็นตามตําราไหม แล้วเทียบเคียงกัน

ก็เกิด.. ที่เขาเรียกว่า ตบกันไป ตบกันมาให้เข้าที่

เหมือนมือถูมือ เท้าถูเท้า แล้วสะอาดขึ้น เป็นการชําระกันและกัน 

 

อย่างจุดนี้ ที่ตั้นบอกว่า เรื่องธาตุหก เรื่องพันธ์ห้า

เห็นมาบ้างแล้ว เห็นมาจากประสบการณ์ตรงบ้างแล้ว

ถามว่า ถ้าจะให้เกิดความเชื่อมั่นว่า

ยังอยู่ในทาง ยังตรงยังใช่ .. เอาอะไรมาวัด

 

ก็คือการที่ใจของเรานี่ เบาลง เบาลง

เบาจากอาการยึดลง ทีละน้อยๆ

แล้วก็พิสูจน์ได้จากพฤติกรรมทางความคิด พฤติกรรมทางจิต 

ที่ยังยึดอะไรเพี้ยน ๆ หรือว่ามาอยู่กับอะไรในโลก มากน้อยแค่ไหน

 

คือใจของคนที่มาถูกทางนี่ จะรู้ตัวอย่างหนึ่งว่า

มีความแห้ง มีความสบาย มีความรู้สึกผ่อนคลาย

เหมือนกับคนที่ขึ้นจากน้ำ มาพักบนบก

 

บนบก ก็มีบกหลายแบบ

บกแบบที่พร้อมจะถูกกระชากกลับลงน้ำ

หรือว่าบกแบบที่ห่างจากน้ำมาก

 

ตัวที่เราจะดูความแห้งความสบาย เกิดจากอะไรได้บ้าง

ความแห้งความสบาย ที่เกิดจากการที่

ไม่อยากกลับไปแบบโลกวุ่น ๆ .. แบบนี้ง่าย

เพราะใคร ๆ ก็รู้สึกว่าโลกวุ่น น่าเบื่อ

 

แต่ที่แบบว่า อยากกลับไปยึด ยึดแบบโลก ๆ .. นี่ เริ่มยาก

เพราะว่าใจ จะอย่างไร ก็มีความหวง มีความอาลัยเป็นพื้นฐาน

เหมือนแม่เหล็กมีธรรมชาติดูดติด อย่างไร ๆ ก็ยังอยู่ตรงนั้น

 

ทีนี้ ถ้าเราปฏิบัติไปแล้ว เกิดความรู้สึกว่า

แรงดึงดูดความเป็นแม่เหล็กนี่ น้อยลง ๆ แบบนี้ก็เข้าทาง

 

แล้วยิ่งถ้าตื่นขึ้นมาทุกวัน เรารู้สึก เอ้ย.. ยังอยู่ แต่น้อยลง

ตื่นขึ้นมาอีกวัน เอ้ย ยังอยู่ แล้วกลับมากขึ้น

แต่ว่าเรามีทาง ที่จะทําให้น้อยลง มีทางแม่นยํา

มีทางที่เราทําซ้ำได้ มีทางที่เราจําทางเข้าได้

 

นี่ตัวนี้ จะค่อยๆ มาประกอบประชุม แล้วทําให้เกิดความมั่นใจ

ไม่ใช่ความมั่นใจอันเกิดจาก .. ฉันเชื่อของฉันอย่างนี้แหละ

แต่มั่นใจจากการตรวจสอบพิสูจน์แล้วก็เห็น

ทําซ้ำกี่ครั้ง ก็เห็นว่าผลยิ่งปล่อย .. นี่แหละความมั่นใจ

 

ตั้น : แล้วตอนแรกที่พี่ตุลย์เกริ่น ให้รู้ถึงความ วิตก

คือฌาน หรือเปล่าครับ หรือมีชื่อเรียกอะไรไหมครับ

 

พี่ตุลย์ : องค์ประกอบของสมาธิ ในแบบที่เรียกว่าฌานสมาบัติ

มีองค์ ประกอบอยู่ห้า (ประการ)

วิตักกะ คือตรึกนึก

 

อย่างเมื่อกี้นี้ ตรึกนึก ในระดับที่จะตรึงให้จิตอยู่กับสมาธิ

นั่นคือวิตักกะ คือความสามารถของจิต

ที่จะหน่วงนึกถึงอะไรบางอย่างไว้ในใจ

แล้วทําให้เป็นหมุดยึดสมาธิไว้

 

วิจาระ คือใจของเราเงียบ

อย่างถ้าแส่ส่ายสงสัย อย่างนี้เรียกว่าไม่เงียบ

แต่ถ้าหากว่า รู้ไปเบาๆ รู้ไปแบบใสๆ

รู้ไปแบบที่มีความสัมผัสแนบ เหมือนพอรู้สึกถึงลมหายใจ

แล้วลมหายใจมีเหลืออยู่หนึ่งเดียวในโลก

เหมือนกับจิตนี้มีมือ แล้วจับลมหายใจได้ถนัด

อย่างนี้เรียกว่าวิจาระ

 

ส่วนปีติและสุข เกิดจากการที่จิตไม่ดิ้นรน มีความวิเวก

และร่างกายหลั่งเอ็นโดรฟินออกมา

แบบนั้นคือ ปีติ ที่เป็นองค์ประกอบของฌาน

 

อาจจะมีความรู้สึกเย็น วิเวก

หรือไม่ก็อาจจะมีความรู้สึกซู่ซ่าเหมือนกับน้ำพุฉีด

นั่นเป็น ปีติในฌานเหมือนกัน

 

แล้วก็มีความสุข อันเกิดจากปีติมาควบคู่กัน

ถ้าปีติ มีความเย็น ความสุขก็เย็นเช่นกัน

 

ทีนี้ จริงๆ แล้วบางแห่งพระพุทธเจ้าตรัสแค่สี่ประการนี้ขององค์ประกอบสมาธิ ก็ถือว่าเป็นปฐมฌานแล้ว

 

แต่ในหลังๆ มีการอธิบายเสริมประกอบว่า

จริงๆ จิตต้องมีลักษณะตั้งมั่น เป็นหนึ่ง รู้อารมณ์เดียว

คือเอกัคคตา ประกอบอยู่ด้วย

 

เอกัคคตานี่ คือจิตใหญ่ เป็นมหัคคตะ

จิตใหญ่แล้วก็รู้อารมณ์หนึ่งเดียว แม้แต่เสียงก็ไม่ได้ยิน หูดับอะไรแบบนั้น

แต่จริง ๆ ถ้าดูในพระไตรปิฎก ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่ารู้อารมณ์เดียวนี่

ขึ้นต้นด้วยฌานสอง คือไม่มีวิตักกะ ไม่มีวิจาระแล้ว

คือ ปลิดวิตักกะ ปลิดวิจาระทิ้งได้แล้ว

 

อย่างของตั้นเมื่อกี้นี้ ไม่ได้ถึงฌาน

ไม่ได้เป็นปฐมฌาน ยังไม่ได้ขึ้นทุติยฌาน

แต่ว่าเป็นอาการของจิตที่เป็นสมาธิ แบบที่เราพออนุมานได้ว่า

ถ้าขึ้นปฐมฌาน หรือว่าขึ้นทุติยฌานจะประมาณไหน

 

อนุมานแบบมีองค์ประกอบคล้ายๆ กันนี้

แต่เป็นทุติยฌานจริงนี่

จะมีสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเรียกว่า เป็นธรรมเอก ผุดขึ้น

 

คือท่านไม่เรียกว่าเป็นความสว่าง ไม่เรียกว่าเป็นดวงจิต

คนที่ไปถึงตรงนั้น จะมีความรู้สึกเหมือนกับ

มีความสว่างอย่างใหญ่ ผุดโพลงขึ้นมา

แล้วก็ตั้งมั่นอยู่อย่างนั้น เป็นอิสระ โดยไม่มีอาการนึกคิดถึงอะไร

 

ไม่ตรึกนึกถึงลมหายใจ ไม่ตรึกนึกถึงอะไรที่เป็นเครื่องแวดล้อม

จะมีลักษณะของจิตทรงตัวอยู่ได้เอง ผุดผ่อง ผ่องใส

โอฬาร แบบที่ไม่มีประมาณว่า อยู่ตรงกลางที่ไหน หรือว่ามีขอบเขตที่ไหน

จะมีความเป็นอิสระอย่างใหญ่นี้ ผุดขึ้น

 

ตรงนี้ ที่เราทําความเข้าใจ ทําความรับรู้

แต่สิ่งที่เราฝึกๆ กันอยู่นี่ ก็คือแบบเดียวกัน

เป็นไปเพื่อการเห็นว่า ทุกองค์ประกอบของจิต

เป็นแค่การปรุงแต่งชั่วคราวตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวใคร

----------------

- หลิว -

 

พี่ตุลย์ : แต่ละคนก็จะมีสไตล์จัดการกับตัวเอง

เคลียร์จิตเคลียร์ใจ เคลียร์ความคิด

เคลียร์ความวุ่นวายอะไรทั้งหลาย ที่มาจากเปลือกชีวิต

 

แล้วก็ถ้าหากว่าเวิร์คก็คือเวิร์ค

ไม่มีหรอกว่า จะต้องฟิกซ์ (fixed) ไว้ตายตัวให้เหมือน ๆ กันไปหมด

 

สปีดของแต่ละคนอาจจะไม่เท่ากัน

ไม่ว่าความมีใจอยู่กับเท้ากระทบ

บางคนอาจจะต้องใส่แรงนิดหนึ่ง

อย่าไปกลัวเรื่องสมถะ

อย่าไปกลัวเรื่องติดอยู่กับเพดานที่จะก้าวข้ามไม่ได้

ขอแค่ว่าเคลียร์อุปสรรคออกจากใจของเราได้นี่ โอเคหมด

 

ถ้าหากว่าเปลือกของชีวิต ส่งทั้ง ฟ้าฝน มืดครึ้มมา พายุหนัก

เราจะไปทําเอื่อยๆ แล้วก็หวังให้หายไป ก็คงยาก

แต่ถ้าหากว่าเราสังเกตออก จับจุดตัวเองถูก

ว่าสไตล์แบบไหน สปีดเพียงใด พอที่จะจัดการ ให้จิตใสใจเปิด

เหมือนกับฟ้าโล่ง หลังฝนได้ โอเคหมด

 

ความโอเคนี้ ก็จะส่งผลให้ พร้อมที่จะรับรู้อะไรตรงตามจริง

ถ้าจิตยุ่งๆ อยู่นี้ไม่มีทางที่จะรู้ตามจริง

ออกห่างเลย อยู่ไกลๆ เลย

 

แต่ถ้าหากว่า จิตโล่ง จิตใส จิตเบา

จิตเคลียร์ มีคาแรคเตอร์ของความเป็นสมาธิครบ แบบนี้

เวลามาพูดเรื่องรู้ตามจริง คุยกันรู้เรื่อง

 

จากเดินชนโน่นชนนี่ กลายเป็นวิ่งแล้วไม่ชน

ก็ถือว่ามาถูกทางของเราแล้ว ถือว่าจับทางตัวเองถูกว่า

จะต้องมีเหตุปัจจัยอะไรประกอบอยู่ แล้วจะทําให้จิตนี้

ลงเป็นความนิ่ง ความเบา ความใสได้

 

อย่างถึงจุดที่เรามีความนิ่ง ความเงียบ ความใส

เราก็สังเกตดูด้วยว่า ที่เคลื่อนที่ไป เร็วหรือช้าก็ตาม มีอะไรอยู่ข้างใน

 

อย่างเช่น ถ้าจิตของเราสามารถที่จะใสขึ้นมาได้

ณ ขณะที่รู้เท้ากระทบ แล้วก็รู้ว่าที่กระทบแบบใสๆ นั้น

มีโครงรูปโครงร่างอยู่ข้างใน ที่เริ่มต้นจากอะไรๆ ที่เป็นซี่ๆ

หรือว่าอะไรที่เป็นก้อนเนื้อ

 

ถ้าหากว่าเราเห็นแค่ไหน จากจิตที่ใส ณ จุดกระทบนั้น

ก็จับจุดตรงนั้น เป็นเหมือนกับเครื่องปรุงแต่ง

ให้จิตเห็นไปตามนั้น เอาตามจริง 

 

หลิว : วันนี้ตื่นเต้น แล้วก็ขาสั่น คล้ายกับว่าปวดเข่านิดหนึ่งอยู่แล้วค่ะ

ก็เหมือนกับโคลงเคลงนิดหนึ่ง แต่ว่าเบา สว่าง ก็ดูไปเรื่อยๆ

 

พี่ตุลย์ : มีความสงัดเงียบจากความคิดด้วย

อารมณ์ที่อยากนึกคิดหายไป ด้วยการจัดการตามสไตล์เรา

 

หลิว : ค่ะ ถ้าเดินช้าแล้วจะฟุ้ง.. แต่ก่อนเดินช้าได้

แต่พอมาเดินเร็วปุ๊บ กลับไปเดินช้าไม่ได้

จะเดินช้าได้ก็ต่อเมื่อ ตอนเดินเร็วแล้วฟุ้งๆ มาก

แล้วก็ไม่ได้ลืมตาดูประตู จะลืมตาก็ต่อเมื่อ ฟุ้งแล้วตาอยากลืมเอง

ไม่รู้ว่าทำถูกไหม

 

พี่ตุลย์ : คําว่าถูก คําว่าผิด บางทีผูกโยงอยู่กับสเปก

 

ถ้าเอาตามสเปกนี่ เราเดินมาถึงไหนแล้ว

โอเคอาจจะยังไม่ได้มาตามสเปกแบบ สเปกเหนือ ๆ อะไรแบบนี้

แต่ว่ามาตามสเปกที่ถูกต้อง ที่จะจัดการกับความรู้สึกนึกคิดภายในของเรา

แล้วก็เอาจิตของเรา มามีสติ อยู่กับภาวะที่เป็นอิริยาบถปัจจุบันของกาย

หรือกระทั่งความเคลื่อนไหวของใจ

 

เวลาที่ความคิดเงียบเสียงลงได้ จิตจะเบ่งบานออกมา

 

จิตที่เบ่งบาน ไม่ได้มีแค่ความสว่าง แต่ มีความเงียบ พร้อมรู้ มีสติ ตื่น

พร้อมที่จะเห็นอะไรตรงตามจริง

ตรงนี้แหละ ที่มาถูกสเปกแล้ว มาถูกทางแล้ว

 

คําว่ามาถูกทาง ไม่ใช่ว่าไปถึงจุดหมาย

ไม่ใช่ว่าต้องไปให้ข้ามเส้น หรืออะไรถึงไหนเสียก่อน

แต่มาถูกทางในแบบที่จะตรงแน่วไป

แล้วยิ่งคืบหน้า ยิ่งรู้ได้ด้วยตัวเองว่า มีสิทธิ์ไปถึงเส้นได้

 

การที่เราเริ่มรับรู้ว่า ใจของเราเงียบ จิตของเราใส โปร่งเบา

ตรงนั้น ถ้าหากว่ามีความตั้งมั่นมากขึ้น เป็นไปเอง

แล้วก็เกิดความรู้สึกว่า เป็นธรรมดาของเรา เป็นปกติของเราแล้ว

 

ตรงนั้น ค่อยเอาไปรับกระทบ แล้วก็จะเห็นว่าพอรู้กระทบทุกรอบ

คืออยู่ด้านหน้า ด้านซ้าย ด้านหลัง ทุกรอบ

แล้วมีจิตใสใจเงียบด้วย

 

อาจจะเปิดตาขึ้นมาเช็คนิดหนึ่งว่า ที่เห็นอยู่ในระยะสายตา

ใช่ เท่าที่รู้สึกสัมผัสระหว่างกายกับผนังหรือเปล่า

 

แค่นี้ ไม่นาน ก็เกิดการเห็นทะลุ

จะเริ่มจากทะลุเข้ามาในร่างนี้

หรือว่าทะลุออกไปเห็นรายละเอียดรอบห้องก็ตาม

ได้ถึงจุดแบบที่เราต้องการ จากการจงกรมหลับตาเหมือนกัน

 

อันนั้นคือสเปกของการจงกรมหลับตา

 

แต่ถามว่าตรงนี้ มาถูกทางหรือยัง .. ถูกแน่นอน

เพราะว่าเราจัดการกับความคิดของตัวเองได้

 

หลิว : สัปดาห์ที่แล้ว ใจพัง วันนี้ก็เลยอาจจะเละอยู่

มีทุกขเวทนาทางกายด้วย ก็เท่าที่ได้ก็คือวันนี้ค่ะ

 

พี่ตุลย์ : ก็พอดี ธรรมะจัดสรรวันให้ แล้วก็เราจะรู้สึกว่า

เกิดขึ้นมาจากเหตุปัจจัยอะไรก็แล้วแต่

แล้วเราจําทางเข้าได้เสมอ

นั่นแหละ คือจุดเปลี่ยนที่แท้จริงของชีวิต

 

เพราะคนเรา มีไม่กี่คนในโลกหรอก

ที่สามารถจําทางเข้า มาสู่จุดของความเงียบทางใจได้

 

ส่วนใหญ่ลืมวิธี หรือไม่ก็พยายาม

พยายามแล้ว พยายามอีก ไม่ลืม .. แต่พยายามแล้วไม่ได้

 

ถ้าเราสามารถทําได้ แล้วทําได้เรื่อยๆ

ก็จะมีจุดอื่น ที่สามารถมั่นใจได้ว่า จะก้าวต่อ

ยิ่งก้าวไปได้ไกลขึ้นเท่าไหร่ เรายิ่งย้อนกลับมาเห็นว่า

ที่ผ่านมาในชีวิต จะได้อะไรมา หรือว่าเสียอะไรไป

ไม่สําคัญเท่ากับ ได้จุดที่จิตของเรา จะเงียบได้

 

ถ้าจิตของเราเงียบได้ทุกวัน

แปลว่าชีวิตของเราดีขึ้นทุกวัน

ไม่ใช่ดีเท่าเดิม จะดีขึ้นทุกวัน

 

และถ้าในความเงียบนั้น มีความรู้ มีความตื่น

มีความรับทราบ แบบพร้อมยอมรับจริง ๆ

ว่าในกายนี้ ในใจนี้ ไม่มีใครอยู่

นี่ตัวนี้แหละ ที่จะสุดประเสริฐ

 

ค่อย ๆ มาตามทางแล้ว อย่าไปอย่าไปมัวจําว่า

อาทิตย์ที่แล้วเละ หรือไม่เละ แค่ไหน

จําว่าตอนนี้ เราถึงจุดคลิกที่จะเอาจุดนี้เข้ามาให้ชีวิตเราทุกวันแล้วหรือยัง

 

หลิว : สิ่งกระทบ มักจะมาตอนที่มีเวทนาทางกายอยู่

มาพร้อมกันโครมเดียว ก็รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว

ที่ทุกข์มากขึ้นไปอีกก็คือ จะมีอารมณ์ มีความคิด ทําให้รู้สึกว่ามีตัวตน

คราวนี้เราก็รู้สึกว่า เราพอใจความคิดนั้นอยู่

เพราะว่ามีหลักฐานซัพพอร์ตจากการเห็นการฟัง

ใจก็ยังวนเวียนอยู่กับความคิดนั้น ที่ก่อให้เกิดตัวตน

เลยทําให้ใจวางไม่ได้

 

แต่อีกใจหนึ่งขัดแย้งกัน บอกว่า ถ้าไม่เดินหน้าทิ้ง ก็ไม่พ้นทุกข์

อารมณ์ตรงนี้ เป็นมาสองสามเดือนนี้

ควรต้องทําอย่างไร ถ้าเกิดแบบนี้อีก แล้วที่(อารมณ์)ดับ ดับเพราะอะไรคะ

 

พี่ตุลย์ : หนึ่ง คือความตั้งใจจริง อันดับแรกเลย มีไฟ

สอง คือสปีดเร็วพอ ที่จะแย่งพื้นที่ความฟุ้งซ่าน

สาม คือสติของเรา จดจ่ออยู่กับตรงนั้นนานพอ

 

พูดง่าย ๆ มีจุดที่ยื้อ หรือว่าทําให้ความคิดของเราเบาบางลงได้จริง

แล้วเราพยายามต่อเนื่องนานพอ

ก็เลยเกิดความรู้สึกว่า เออไม่ได้เอาชนะเราได้หรอก

 

ทีนี้อย่างพอเราพูด ที่เราวิเคราะห์ตัวเอง ก็ถูก

คือเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ถ้าไม่คิด ปล่อยเฉยๆ เป็นแม่ชี

หรือว่าเป็นหัวหลักหัวตอนี่ ชีวิตก็ไม่เคลื่อนที่

ก็ไม่ได้ไปไหน ก็ย่ำอยู่กับที่กัน ก็ถูก

 

แต่คิด มีวิธีคิดหลายแบบ

บางคน ยิ่งคิด ยิ่งใกล้ขอบเหวเข้าไปทุกที

บางคนยิ่งคิด ยิ่งได้บันไดไต่เชือกขึ้นจากเหว

 

ถามตัวเองง่าย ๆ ว่าการคิดนี้ คิดให้มากหรือคิดให้น้อย

แล้วคิดอย่างไร คิดให้ถูกทิศถูกทาง

 

ตรงที่มีสติ มีความเงียบจากความคิดนั่นแหละ

คือจุดเริ่มต้นที่เราจะถามตัวเอง

 

อย่าพยายามหาคําตอบในขณะที่

เรายังอยู่กลางใจกลางพายุทอร์นาโดของความคิด

เพราะแบบนั้น จะเดินทางผิดเสมอ

 

พอมีความตั้งใจจริง มีไฟแล้วทําให้ต่อเนื่องมากพอ

เราก็รู้ด้วยตัวเองว่าความคิดนี้

จริงๆ ก็เป็นแค่สิ่งแปลกปลอมภายนอก

ซึ่งเราจัดการได้ ด้วยวิธีการทางสมาธิ

 

แต่ก็มีวิธีอื่นอีก เช่นทําให้ปัญญาของเรานี้ เกิดขึ้น

แล้วก็ถอดถอนความรู้สึกเป็นตัวเป็นตนออกมาจากความคิด

ซึ่งก็อันนี้แหละเป็นขั้นต่อไปที่เดี๋ยวก็จะเข้าใจมากขึ้น

 

-------------------

- เก่ง –

 

พี่ตุลย์ : เป็นธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ

เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว

เวลาที่เราจะมาจงกรม หรือว่าทําสมาธิก็ตาม

จะไม่ใช่สิ่งผิดแปลก จะไม่ใช่สิ่งที่เป็นต่างหาก เป็นของอื่น

 

เสร็จแล้วพอถึงจุดหนึ่ง ที่จิตเกิดความรับรู้ว่า

นี่เป็นสิ่งที่ทําให้ชีวิตของเรา เข้าสู่จุดที่มีความสมดุล

จุดที่มีความรู้สึกว่า จิตดี ๆ เป็นแบบนี้ 

จิตดีๆ ไม่ต้อง หาอะไรรุงรังมาเข้าตัวมากมาย

มีแต่สละอะไรที่รุงรัง รกหัว รกตัวออกไป

 

ตัวนี้แหละที่ จะค่อย ๆ เข้าจุด แล้วก็เข้าฝักมากขึ้นๆ

 

สังเกตดู พอเราสามารถรับรู้

เหมือนกับสัมผัสได้ เป็นเค้า เป็นเงา

เดินผ่านอะไร แล้วรู้สึกถึงความเป็นวัตถุ จะชัดหรือแค่พร่าเลือนก็ตาม

แต่น้อมกลับมา ย้อนทําให้เกิดความรู้สึกว่า

ร่างกายนี้ หัว ตัว แขน ขานี้ ก็เป็นวัตถุอีกชิ้นหนึ่ง ที่ปรากฏอยู่ในห้อง ไม่ได้มีความแตกต่าง ไม่ได้มีความเป็นเจ้าของ ในวัตถุอื่นๆ ที่อยู่ในห้องเลย .. ในทางธรรม

 

ในทางโลกสมมตินี่ ของเราทั้งนั้น .. สมบัติพัสถาน ของเราทั้งนั้น

ใครมาแย่งเอา คนนั้นก็ถือได้ชื่อว่าเป็นขโมย เราก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ถูกขโมย

 

แต่ในทางธรรมนี่ เมื่อจิตมีความนิ่ง ความใส

มีความสามารถสัมผัสได้ชัดพอ เอาแค่พอประมาณ

จะเห็นขึ้นมาว่า เออ เสมอกัน

 

ที่เป็นความจริงทางธรรม จะสวนทางกับความจริงทางโลกอย่างสิ้นเชิงเลยความจริงทางธรรมนี่ก็คือว่า ใครมาถือเอาวัตถุในห้อง

หรือว่าแม้กระทั่ง มาถือเอาวัตถุชิ้นนี้ ที่เป็นกาย เป็นวัตถุหมายเลขหนึ่งนี้

จะถือออกไปไม่ได้

 

เพราะโดยความเป็นวัตถุดั้งเดิม โดยความเป็นธาตุดินดั้งเดิมนี่

ไม่มีใครอยู่ในนี้ และไม่มีของใครอยู่ในนั้น

 

จิตจะฟุ้งบ้าง กระตุกบ้าง อะไรบ้าง เราก็มองเป็นภาวะ

อย่ามองเป็นตัวเรา ทําหรือไม่ทําอะไร

มองเป็นจิต เขามีอาการกระตุกให้ดู แล้วเดี๋ยวก็กลับขยายออกไป

มีอาการของจิต ที่เดี๋ยวก็ขุ่นขึ้นมา เดี๋ยวก็กลับใสออกเหมือนเดิม

 

ลักษณะที่มีความเป็นไปต่าง ๆ

ที่เรารับรู้ได้ว่า เหล่านั้น คือปฏิกิริยาทางธรรมชาติ

จะค่อยๆ ปรุงแต่งให้เกิดความเข้าใจชัดขึ้น ๆ ว่าไม่มีใครอยู่ในนี้

แม้แต่ปฏิกิริยาทางใจ ก็ไม่มีใครเป็นตัวผู้มีปฏิกิริยา ผู้เกิดปฏิกิริยา

ไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของปฏิกิริยานั้น

 

ปฏิกิริยานั้น เป็นเรื่องของธรรมชาติ

ไม่แตกต่างจากที่มีไฟจุดขึ้น เอาไปลนวัตถุ ไปลนขี้ผึ้ง ก็จะหลอมเหลวละลาย 

 

หรือว่าหนังสติ๊ก ถ้าถูกยืด ก็จะยืดออก

ถ้าปล่อยไป ก็จะดีดกลับหดตัวลงอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งพุ่งไปข้างหน้า

สิ่งเหล่านี้ เป็นภาวะทางธรรมชาติเหมือนกัน

 

จิตแบบนั้นถ้ามีอะไรไปกระทบ ก็หุบแบบไมยราพ

ถ้าหากว่าไม่มีอะไรกระทบแล้ว ก็กลับบานขึ้นมาใหม่

 

การที่เรามองเห็นว่า ภาวะของจิตปฏิกิริยาของใจ เป็นแค่ธรรมชาติชนิดหนึ่ง

ที่เกิดขึ้นเป็นขณะๆ ณ จุดกระทบ

จะทําให้ความรู้สึกเกี่ยวกับตัวเรา ในกระทบนั้น ค่อยๆ แผ่ว แผ่ว แผ่ว

แล้วก็กลายเป็นความรับรู้ถึงสภาวะ ที่เกิดขึ้นตรงตามจริง

 

กายเป็นอย่างไร อยู่ส่วนกาย ใจเป็นอย่างไรอยู่ส่วนใจ

 

เก่ง : เห็นว่าตรงหัว จะเหมือนกับที่พี่ตุลย์เคยบอก

ว่าเป็นสามร้อยหกสิบองศา แต่ยังไม่ครบรอบค่ะ เหมือนว่างๆ

 

แล้วก็ก่อนหน้านี้ ทําพร้อมๆ กับเพื่อนๆ ผู้ปฏิบัติทุกท่าน

บางทีตอนทําอยู่ นิ่ง แล้วเหมือนยืนอยู่ในห้อง

แต่ไม่ใช่อยู่ในห้องเราเอง ความรู้สึกเหมือนคล้ายๆ อย่างนั้น 

เหมือนที่พี่ตุลย์บอกว่ารู้สึกถึงสนามฟุตบอล ในคราวที่แล้ว

ก็รู้สึกถึงว่าแผ่ออกไป ตรงพื้นอย่างนี้ ไม่ทราบว่าเข้าใจถูกหรือเปล่า

 

พี่ตุลย์ : ถูกนะ ถ้ารู้สึกอะไรนี่ ถูกหมด

 

จําไว้ว่าทุกสิ่งที่เรารู้สึก จะเป็นจริงหมด

ถ้ารู้สึกกว้าง แปลว่าความกว้างเกิดขึ้นจริงๆ

แล้วถ้ารู้สึกว่าเหมือนกับย้ายไปอยู่ข้างนอก นั่นก็คือการปรุงแต่งจิต

ที่เป็นจริงเสมือนหนึ่งว่า เรากําลังไปอยู่ข้างนอกจริงๆ เป็นมิติทางใจ

มิติทางใจ รู้สึกอย่างไร ใช่หมด

 

ประเด็นก็คือว่า รู้สึกไปอย่างนั้น แล้วเกิดผลอย่างไร

 

เกิดผลลัพธ์เป็นปัญญาแบบพุทธ เกิดสติ

เกิดปัญญาแบบพุทธขึ้นมา มาก น้อย ลึกแค่ไหน

 

อย่างเมื่อกี้นี้ ถ้าจิตกระตุก

แล้วเรามีสติทันว่า เออ อันนั้นเป็นภาวะ เป็นปฏิกิริยาชนิดหนึ่งของจิต

รู้สึกจริงๆ ว่าเป็นปฏิกิริยาของจิต เป็นจิตดวงหนึ่ง ไม่ใช่จิตของเรา

ไม่ใช่จิตของใคร ไม่มีตัวใครอยู่ในจิต

เรียกว่าปัญญาแบบพุทธ

 

แต่เมื่อกี้พอกระตุก พี่ต้องพูด เราถึงมองเห็น

อย่างนี้เรียกว่า เป็นสติที่เกิดจากการฟัง การพิจารณาสิ่งที่ล่วงไปแล้ว

 

แต่ประเด็นคือว่า ปัญญาที่เกิดจากการฟัง ปัญญาที่เกิดจากการคิดตามนี้

ถ้าหากว่ามีพัฒนาการ คือเราเอาไปทําเองบ่อยขึ้นๆ

ในที่สุดแล้ว จะกลายเป็นสมบัติของเราขึ้นมาจริงๆ

กลายเป็น ภาวนามยปัญญา

 

เก่ง : อาทิตย์ที่แล้วต้องสารภาพ ที่พี่ตุลย์เคยบอกว่า

สังสารวัฏ ท่านสามารถดึงให้ลงไปสู่กิเลสได้นี่

โอ้โห.. ปรากฏแก่ตัวเองชัดเจน แล้วก็รู้สึกว่า .. ไม่ใช่เสียใจ

แต่รู้สึกแบบว่า ทําไมเราอ่อนแออย่างนี้

แต่หลังจากนั้นก็ไม่เป็นไรแล้ว

หรืออย่างมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น หลังๆ นี่

 

พี่ตุลย์ : ความรู้สึก พอจี๊ดขึ้นมาว่า

โอ๊ย ทําไมเราไม่เอาไหน ทําไมเราอ่อนแอ โน่น นั่น นี่ 

อย่าให้เป็นสิ่งที่ผ่านมาเสียเปล่า

 

พอเรารู้สึกอย่างนั้นแล้ว มองด้วยว่า

นี่เป็นปฏิกิริยาทางใจชนิดหนึ่ง ที่ทนรับความจริงไม่ได้

ถึงเกิดความรู้สึกเข้ามาในใจว่า .. เอ้ย เรายังไม่ค่อยเอาไหน

 

แต่จริง ๆ แล้ว เราเอาไหนมากแล้ว เรามาไกลแล้ว

มาไกล ถึงจุดที่สามารถมีสติ มองย้อนกลับไปเห็นว่า

เออ ตัวเรานี้ยังถูกสังสารวัฏดึงดูดกลับไป

 

เก่ง : สามารถดึงได้ยิ่งกว่าพลัง.. โอ้โหมาก

ปรากฏแก่ใจ คําพูดของพี่ตุลย์นี่ขึ้นมาในหัวเลย

 

คือมีอยู่วันหนึ่ง เก่งเสพบันเทิง

แล้วอีกวันหนึ่ง พี่ตุลย์บอกว่า เสพบันเทิงขวางนิพพาน

โอ้โห โดนใจมาก เพราะว่าเพิ่งทําไปเมื่อคืนนี้

แล้วก็หลงเพลิดไปเลยค่ะ แต่ว่าอีกคืนหนึ่งก็ไม่เป็นไร

 

แต่ก็มีข้อวัดอีกอันหนึ่งในระหว่างวันที่จะมาส่งให้พี่ตุลย์ฟังก็คือ

เหตุการณ์ปรากฏเหมือนเดิม ที่มากระทบ

เดี๋ยวนี้ ค่อนข้างคุม คือจะไม่มีอะไรที่ปั่นจี๋ หมุนขึ้นมาแบบเดิม

จะสลัดทิ้ง หรือว่าไม่สนใจ หรือว่าสามารถคงสติ

แล้วก็พูดกลับไปให้เขาฟัง ให้เขาหยุดได้

 

พี่ตุลย์ : ถึงจุดที่เก่งสมชื่อแล้ว

 

การที่จะวัดว่าเรามาถึงไหนนี่ ก็วัดได้หลายแบบ

แล้วแบบหนึ่งก็คือ การมีปฏิกิริยาเป็นคําพูดที่สวนกลับนี่แหละ

 

ส่วนเรื่องของความบันเทิง พี่ไม่อยากให้ไป worry มาก

เพราะว่าฆราวาสเรา ก็ยังต้องเสพ ต้องอะไรเป็นธรรมดา

เพียงแต่ว่า สังเกตไปเรื่อยๆ

 

ถ้าเราจมอยู่กับอาการบันเทิง แบบเต็มร้อยเลย

สมมติว่า ดูหนังไปจนเกือบจะจบเรื่อง เป็นหนังที่เราอินมาก ๆ

แล้วลองนึกดูว่า เอ้ย เราสามารถที่จะกลับมามีสติ

รู้ภาวะทางใจ ภาวะทางกายได้ไหม จะรู้สึกว่า อยู่คนละโลกกัน

จะรู้สึกว่าภาวะปรุงแต่งมั่วๆ ตรงนั้น ไม่อินกับธรรมะ

ไม่สามารถจะมาเอาอะไรกับธรรมะ

 

เพราะว่าตอนที่มั่ว ๆ แล้วก็พัวพัน ติดพันอยู่กับความบันเทิงนี่

เป็นคนละจิต กับตอนที่เรามีความนิ่ง มีความโปร่ง มีความโล่ง

ที่มีความพร้อมรับธรรมะ

 

นี่ เราพิจารณาเห็นตามจริง ตามที่เกิด ว่า

เอ้ย จิตยุ่งๆ แบบนี้เป็นจิตที่มีความยึดติดสูง

จิตยุ่งๆ แบบนี้ มีความโน้มเอียงที่จะพัวพันกับโลก

ถูกแรงดึงดูดโลกดูดติด แล้วก็ไม่สามารถข้ามพ้นมา

 

มองตามจริง อย่าให้สิ่งที่เกิดขึ้น ผ่านไปอย่างสูญเปล่า

จะรู้สึกขึ้นมาเรื่อย ๆ ว่า แบบนี้คือจิตบันเทิง แบบนี้คือจิตวิเวก

เราก็ให้เปรียบเทียบไปเรื่อย ๆ

 

เก่ง : ความเบื่อที่เกิดขึ้นตอนนี้ มุ่งไปในทางที่ถูกถูกทิศถูกทางบ้างไหม หมายถึงว่า บางทีเบื่อแต่ไม่ได้เจือด้วยโทสะว่า อุ๊ยอันนี้ฉันไม่ชอบ ไม่ใช่

แต่เห็นแล้ว เหมือนปลงสังเวช

 

พี่ตุลย์ : เบื่อมีสองอย่าง .. หนึ่ง เบื่อแบบ แหนงหน่าย

แหนงหน่ายนี้ อาจจะเกิดจากการทําซ้ำ แล้วก็เสพซ้ำๆ

แล้วก็รู้สึกว่าเออ แหนงหน่าย

 

แต่ยังมีอีกคําหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสคือ คลายความยินดี

 

แหนงหน่ายนี่ ใครๆ ก็แหนงหน่ายได้

แต่คลายความยินดีนี้ เป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้ง มันซุกอยู่ใต้พรม

 

คลายความยินดี หมายถึง

การที่ใจของเรา ถอดถอนออกมาจากอาการยึด อาการโยง

อาการเชื่อมสัมพันธ์กับอะไรแบบโลก ๆ

แล้วมามีปีติ มามีสุข กับความวิเวกของจิต

คลายความยินดีจากโลก แล้วมายินดีกับธรรมะ

 

ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ต้องสะสม

ไม่ใช่ว่าวัน สองวัน บอกแหนงหน่าย แล้วเราจะคลายความยินดีได้

ยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่ว่าก็ขึ้นบันไดขึ้นบันไดมาเรื่อย ๆ ทีละขั้นทีละขั้น

-------------------

 - จิ๋ว -

 

จิ๋ว : จิ๋วไปทําตามที่พี่ตุลย์สอนคราวที่แล้วค่ะ

พี่ตุลย์มีอะไร จะแนะนำไหมคะ

 

พี่ตุลย์ : สิ่งที่เห็นเป็นอันดับแรกเลย หัวโล่งขึ้น

ไม่ใช่โล่งทั้งหมด โล่งขึ้น

แล้วก็มีสติคิดอ่าน ทางมาทางไป หรือว่าปัจจุบันกับอนาคต

ด้วยจิตที่ปลอดโปร่งมากขึ้น

 

จิตที่อยู่ตรงกลาง จะมีความพร้อม

มีความโน้มเอียงที่จะเป็นกุศลมากขึ้น มีความสว่างมากขึ้น

 

เวลาที่เดินจงกรม เวลาที่ฝึกสมาธิ รู้เรื่องมากขึ้น

ไม่ได้ทําไปแบบหุ่นไร้วิญญาณ ทําไปแบบคนที่มีสติ

แล้วก็จะมีความคิด ความอ่าน กลับมาเป็นตัวของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ

 

อันนี้คือทิศทาง แต่ยังไม่ถึงที่สุดนะ

เพราะความรู้สึกเป็นตัวของตัวเอง ที่จะร้อยเปอร์เซ็นต์นี่คือว่า

เราคิดทะลุแล้ว ว่าชีวิตจริง ๆ ของเรานี่อยู่ตรงไหน วางอยู่ตรงไหน

แล้วก็มีความโน้มเอียงมาทางธรรม

 

โน้มเอียงมาทางธรรมนี่ ก็คือ

โน้มเอียงมาสู่จิต ที่มีความเป็นกุศล เป็นภายใน

ถ้าจิตที่มีความเป็นกุศลนี้

เบ่งบานมากขึ้นแข็งแรงมากขึ้น มีความตั้งอยู่ได้มากขึ้น

อันนั้นแหละ ที่เป็นการปักหลักอยู่กับธรรมจริงๆ

 

ธรรมะนี้ ไม่ได้อยู่ข้างนอก แต่อยู่กับฐานของจิต

ฐานของจิตยิ่งกว้างขึ้นเท่าไร ดวงจิตยิ่งมีความใสขึ้นเท่าไร

นั่นแหละ ที่เราจะยิ่งรู้สึกเป็นกันเองกับธรรมะ

แล้วก็มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้นเท่านั้น

 

อย่างที่เราเห็นอยู่ด้วยตัวเองอยู่แล้ว

พอเรากลับมามีความสุขกับการจงกรมจริงๆ

ไม่ใช่มีความสุข อันเกิดจากการอยากให้มาแทนที่ความทุกข์

มีฉันทะขึ้นมา จะอาจแบบว่าสักยี่สิบสามสิบเปอร์เซ็นต์

 

ยี่สิบสามสิบเปอร์เซ็นต์นั้น ทําให้เราจําได้ นึกออกบอกถูกว่า

ธรรมะ เวลาที่มาตั้ง มาประดิษฐานอยู่ในชีวิตของเรานี่ เป็นไปเพื่ออะไร

ไม่ใช่เป็นไป เพื่อแทนที่สิ่งที่เราได้มา หรือเสียไป

แต่เป็นไป เพื่อจะเป็นจุดศูนย์กลาง เป็นเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต

 

ระหว่างวัน สิ่งที่เห็นก็คือเวลาเราอยู่ระหว่างวัน

บางทีมีแก่ใจที่จะดูเข้ามาข้างในเป็นพัก ๆ

อาการของใจเป็นอย่างไร แล้วก็มีอาการแบบนี้

มีสติ หรือไม่มีสติ ขาดสติหรือว่ามีสติอยู่  .. เริ่มมีใจ

 

คนเรานี่ เริ่มจากการมีใจนี่แหละ

 

ถ้าหากว่ามีใจให้กับสิ่งใด

สิ่งนั้นจะค่อย ๆ มาเป็นส่วนประกอบ

มาเป็นของจริงในชีวิตเรามากขึ้นๆ 

-------------------

- หมวย -

 

หมวย : รอบที่แล้ว ถามอาจารย์ไปว่า

ใจแน่นๆ ตอนเดินจงกรม ตอนไป (หยุดยืน) เทียบค่ะ

แล้วอาจารย์บอกว่า ใจอยากจะเห็นชัดๆ ตอนเทียบ ก็เลยทําให้แน่น

 

ก็กลับมาดูว่าสาเหตุที่เราแน่นนี้

เพราะว่ามีความลงไปดูตรงกลางอกมากเกินไป

 

ก็เลยใช้อุบายบอกตัวเองว่า ก็เดินๆ ไป แล้วก็ดูความแน่น

ถ้า ดูลงไปแล้วยิ่งแน่น เราก็จะเปลี่ยนความรู้สึกให้ไปดูเท้ากระทบ

ให้ไปดูความเคลื่อนไหวอื่น ๆ หรือไปยกท่าสอง

ก็จะมีความรู้สึกว่า ความแน่นที่กลางอก คลายลง

 

ก็เลยรู้สึกเลยว่า เพราะใจเรา ไปเกาะติดตรงกลางอก

พอเราคลายจากความรู้สึกตรงนั้น เอาใจไปอยู่ที่อื่น ใจก็คลาย

ก็เลยทําให้เกาะบ้าง แน่นบ้าง คลายบ้าง

เวลาแน่น ก็ดูไป ใช้อุบายหลายรูปแบบ

ดูความไม่เที่ยง ความบังคับไม่ได้ก็คลายลงได้เหมือนกัน

 

พี่ตุลย์ : นี่เป็นความคืบหน้า เริ่มจาระไนธรรม เป็นผู้จาระไนธรรมได้

แบบว่ามีความละเอียดชัดเจน แล้วก็ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้น

 

การรู้จักช่างสังเกตนี้แหละ จะเป็นโค้ช ให้ตัวเองได้ตลอดไป

แล้วก็สิ่งที่เกิดขึ้น อย่างตอนนี้ที่เห็นเลย จิตเปิด

 

จิตเปิด แล้วรับรู้ความรู้สึกแข็งๆ ของผนังได้เกือบจะเป็นปกติ

เกือบจะนะ สามารถที่จะเทียบได้ว่า

กายนี้ของเราก็วัตถุชิ้นหนึ่ง ไม่แตกต่างจากอะไรแข็งๆ

ที่สามารถสัมผัสได้เกือบทุกรอบ

 

แล้วจิตที่เปิด จิตที่ใสนี้ เกิดจากการที่ยึดกายน้อยลง

ยึดความรู้สึกว่า มีเราอยู่ในกายนี้ ให้แบบว่าค่อยเป็นค่อยไป

แบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่รีบร้อน ไม่ผลีผลาม ไม่มีอาการด่วนได้

 

ซึ่งนี่แหละ พอมาถึงจุดนี้ คือไม่ใช่แค่เราต้องบีบบังคับให้ตัวเองมีฉันทะ

แต่ตอนนี้ ฉันทะเริ่มยืนพื้นอยู่บนความสุข

ที่เกิดสัมผัสได้ รู้เท้ากระทบได้ แล้วจิตเปิดเบิกบานได้

 

ก็ถือเป็นอีกคนหนึ่ง ที่ผ่านจากการยึดติดกับวงจรชีวิต

ที่เป็นภายในนะ

ความยึดความคิด ความอะไรต่อมิอะไรขึ้นมาได้อีกคนหนึ่ง

 

หมวย : ปกติจะสวดมนต์ แล้วก็นั่งสมาธิ

ทีนี้ เหมือนว่าใจจะชอบนั่งสมาธิ พอนั่งไปสักพักหนึ่ง

จะเห็นจิตแน่นๆ เราก็จะดูว่าสภาวะจิตแน่นๆ ใช้อุบายดูสภาวะจิตไป

ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาเพื่อทดสอบ

 

บางครั้ง ใจก็มีความรู้สึกว่าดี เกิดขึ้นดีแล้วเราจะได้ดู

บางครั้งแน่น แต่บางครั้งก็คือคลาย

 

พอคลาย คือจิตเบาแล้วนุ่มนวล

 

พี่ตุลย์ : ดีหมดเลย คือไม่ไม่ว่าจะด้วยการเห็นแบบไหน

แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าจะด้วยเหตุปัจจัยแตกต่างกัน

แต่ผลลัพธ์เหมือนกัน คือใจของเราดีขึ้น

 

อันนี้ จิตดีขึ้นจริงๆ ของคุณหมวยตอนนี้

ถ้าเทียบกับเดิมที่หมกอยู่กับความคิด แล้วก็จม เหมือนกับมีอะไรแปะหัวอยู่ตลอดเวลา

 

ตอนนี้เปิดโล่ง แล้วพอจะย้อนกลับเข้ามา อยากจะกลับมาแปะใหม่

ของเราตอนนี้ ที่แย่ที่สุดเลยก็คือว่าอยู่แป๊บหนึ่ง

แล้วเรารู้สึกว่า เฮ้ยเป็นของแปลกปลอม เสร็จแล้วก็ค่อย ๆ หายไป

นี่คือแย่ที่สุด

 

แต่ส่วนใหญ่ จะออกแนวที่ว่า

จิตมีความตื่น มีความพร้อมที่จะมารับรู้อะไรที่กําลังอยู่ตรงหน้า

จะเป็นลมหายใจก็ตาม จะเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวก็ตาม

แล้วก็เดี๋ยวจะค่อย ๆ คืบ หน้าเข้าไปอีก เพราะว่าตอนนี้จับหลักถูก

 

จับหลักถูก จากการที่มีสติสังเกต แล้วก็สามารถเห็นได้ว่า

อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ทั้งทางที่เป็นคุณและทางที่เป็นโทษ

เดี๋ยวจะก้าวหน้าขึ้นไปอีก เพราะจับจุดถูกแล้ว

---------------------

- กวาง -

 

กวาง : รู้สึกเหมือนสมองทํางานได้ดีขึ้น

ระดับจิตของตัวเอง เหมือนกับอยู่ในระดับคนปกติทั่วไปแล้วใช่ไหมคะ

 

พี่ตุลย์ : ดีกว่าคนปกติ

 

คนปกติที่ ถ้าเราพูดถึงคนปกติที่อยู่ในสังคมทั่วไป ทุกวันนี้

มีความพร้อมที่จะฟุ้งจัด พร้อมที่จะเป็นพวกสมาธิสั้น

อย่างพอกําลังคุย ๆ อะไรอยู่เรื่องหนึ่ง

ในหัว ผุดความคิดขึ้นมา โดยที่ไม่สามารถควบคุมได้

 

หรือว่าอย่างพอพยายามทําสมาธิอยู่

จิตคิดไปถึงเกมส์หรือว่าทีวี หรือว่าอะไรที่ติดค้างคาใจอยู่

นี่คือคนปกติทั่วไป ที่เป็นเรื่องของยุคไอที

 

แต่ของกวาง ถึงตอนนี้มีอยู่นะ รอยแยกของจิต

ที่จะปล่อยให้ความคิดอยากโน่นอยากนี่กลับมา

แต่ว่าไม่มากเท่าคนทั่วไป น้อยกว่า เบากว่า

 

แล้วก็มีความชอบใจที่จะอยู่สงบๆ บ้าง อยู่กับตัวเองบ้าง

อยู่กับการจงกรมบ้าง ถึงแม้ว่าจงกรมบางวันรู้สึกเหมือนอะไรฝืดๆ ฝืนๆ 

ยังไม่ได้กลมกลืน เป็นหนึ่งกับชีวิตของเราร้อยเปอร์เซ็นต์

แต่จะมีหลายๆครั้ง ที่เรารู้สึกว่า มาเดินเพราะอยากได้ความสุขจากการเดิน

ไม่ใช่เพราะว่าเราจะทําให้เป็นอะไรขึ้นมา เป็นเงื่อนไข เป็นอะไรของชีวิตขึ้นมา

 

ตัวนี้ที่แตกต่างจากคนธรรมดาทั่วไป ที่พี่บอกว่า above average มานิดหนึ่งคือตรงนี้

ตรงนี้มีข้อเปรียบเทียบคือ เรามีที่พึ่งทางใจเป็นตัวเอง

เป็นใจเป็นสมาธิ เป็นความวิเวกมากกว่าคนอื่นๆ

ที่ต้องพึ่งพาอะไรภายนอกร้อยเปอร์เซ็นต์ คือเกินร้อยด้วย

 

กวาง : อย่างเช่นเราไปรวมกลุ่มกับญาติๆ รุ่นๆ กันหรืออะไรอย่างนี้

เขาจ้อกแจ้กคุยนู่นคุยนี่ แล้วเราเดินออกมารู้สึก ไม่มีสาระค่ะ

 

พี่ตุลย์ : เพราะใจเราเริ่มไม่วุ่นเท่าเขา

ถ้าใจเราวุ่นเท่าเขา จะอยากอยู่กับเขา

แต่ถ้าใจเราวุ่นน้อยกว่าเขามาก จะเริ่มรู้สึกว่าไม่อยากเสียจิต

ไม่อยากเสียความวุ่นน้อย ให้กลับไปเป็นวุ่นมาก

 

จริงๆ ถ้าเพื่อการปฏิสันถาร หรือว่าเพื่อการทักทาย

โอภาปราศรัยในแบบที่คนรู้จักมักคุ้นกัน ทําต่อกัน นี่ก็ดี

แต่การที่ไปคลุกคลี หรือว่าทําให้จิตของเรานี้วุ่นเท่าเขา ก็เป็นการเสียจิต

 

ก็ดีแล้ว ถ้าหากว่าเราคิดที่จะปลีกตัวมา เมื่อถึงเวลาอันควร

 

 

กวาง : รู้สึกเหมือนกับ ศักยภาพสมองดีขึ้นที่คิด ไอเดียอะไรต่างๆ

เมื่อก่อนสองชั่วโมงจะแบตฯ หมด บางทีต้องไปนอน

แต่ตอนนี้ นั่งทําไปสี่ชั่วโมง แล้วนั่งสมาธิต่ออีกหนึ่งชั่วโมงสบาย ๆ

รู้สึกว่าสมองเห็นชัดเลยว่าดีขึ้น ใช่ไหมคะ

 

พี่ตุลย์ : ไม่ใช่แค่ดีขึ้น แล้วก็ไม่ใช่คิดไปเอง

แต่สิ่งที่ชีวิตจะบอกเราว่าตัวของมันดีขึ้นนี่

ไม่ใช่จากการที่เราสังเกต แวบๆ วาบ ๆ

แต่เราสังเกตว่า มีอะไรยืนทนเป็นปกติ อยู่กับตัวเราเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน เป็นปี

 

ถ้าหากว่าสิ่งที่เข้ามา เป็นสิ่งที่จะมาอยู่กับชีวิตของเราจริงๆ

เราจะรู้สึกเป็นปกติกับมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ตรงนี้ พอมองย้อนกลับไปข้างหลัง โอ้โห เราเป็นใครมาก่อนจําไม่ได้แล้ว

กลายเป็นใครอีกคนหนึ่ง ที่เปลี่ยนแปลงไป แล้วก็จะนึกขอบคุณตัวเอง

ที่มาได้ ไม่ล้มเลิกไปเสียก่อน ไม่ถอยไปเสียก่อน

 

กวาง : ต้องยกความดีความชอบให้ท่าไกด์มือค่ะ

ก่อนหน้านี้ ทําสมาธิมาตลอดก็ทําไม่ได้ แต่ว่ามาได้ตรงท่าไกด์มือ

แต่ว่าการปฏิบัติ เหมือนกับช่วงนี้ รู้สึกไม่ก้าวหน้าค่ะ

 

พี่ตุลย์ : ความก้าวหน้า ไม่ได้เป็นสิ่งที่รู้สึกเอา หรือคิดเอา

ว่าสเปกความก้าวหน้าจะต้องแบบนี้

ความก้าวหน้า บางทีมาในรูปแบบของการต่อเนื่องกับสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ

 

อะไรดี ๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ คือความก้าวหน้าของชีวิตเสมอ

 

เพราะอะไรที่เป็นความดีที่ต่อเนื่อง คือการพอกพูน ไม่ใช่การที่เท่าเดิม

แล้วถ้าหากว่า สามารถรู้สึกได้ว่าจิตใจของตัวเองเข้มแข็งมากขึ้น

แล้วก็ห่างไกลออกมาจากอาการซึมมากขึ้น นี่ชัดว่า

ที่กวาง บอกว่าไม่ค่อยคืบหน้า จริง ๆ คืบออกห่างจากทรายดูด

คืบออกห่างจากหลุมดํามามากขึ้นๆ

 

ด้วยความเป็นปกติแบบใหม่ของเรานี่แหละ นิวนอร์มอลของเรานี่แหละ

ที่เป็นตัวบอกว่ายิ่ งนานยิ่งห่างหลุมดําออกมามากขึ้นมากขึ้น

 

กวาง : ที่ทําอยู่ก็คือทําต่อไปใช่ไหมคะ

 

พี่ตุลย์ : ที่พี่เห็นคือใสขึ้น

จิตโดยรวมของเราไม่ใช่จิตเฉพาะตอนทําสมาธิ

จิตโดยรวมของเราข้างใน ปลอดโปร่ง มีความใส

มีความผ่องใสออกมา มีประกายความสดใสที่แตกต่างจากเดิมออกมา

แล้วมีความห่างจากหลุมดําออกมาไกลขึ้น

 

ทีนี้ ยังไม่ใช่เรื่องที่พูดอย่างนี้แล้ว ไปเกิดความประมาทขึ้นมาภายหลัง

จิตของกวางยังไม่สามารถนิ่งนอนใจ ยังไม่สามารถที่จะบอกว่า

เอ้ย ฉันอยู่จุดที่ปลอดภัยแล้ว

 

ทุกคนแหละ ถ้าหากว่ายังไปไม่ถึงจุดที่เรารู้ว่าชัดแล้ว เสถียรแล้ว

ต้องบอกตัวเอง เตือนตัวเองตลอด ว่าอะไร ๆ

ถ้าหากว่าสิ่งไหนระวังได้ ก็ระวัง สิ่งไหนเพิ่มได้ ก็ควรเพิ่ม

ต้องเตือนตัวเองแบบนี้อยู่เรื่อยๆ ตามหลักที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้

 

กวาง : เข้าใจค่ะ บางทีเราท้อเรื่องทางโลก ก็จะไปพาลเรื่องทางธรรมหมายถึงหมดกําลังใจไปด้วย ก็เลยเหมือนกับว่า เราไม่ต่อเนื่อง

อย่างนี้ ก็เลยทําให้เราไม่ก้าวหน้า

ถ้าอย่างนี้ กวางควรที่จะฝึกทําฌานเพิ่มขึ้นดีไหมคะ

 

พี่ตุลย์ : ที่กวางพูดมาถูกต้องนะ

คือว่า ถ้าหากเรารู้ตัวว่า ทางโลกมีสิทธิ์ฉุดให้เราตกต่ำลงจากทางธรรมได้ด้วย

เราก็ควรทําทางโลกให้เต็มที่ ให้มีความอิ่มใจ ให้มีความรู้สึกปลอดภัย

แล้วบางทีเราอาจจะต้อง..

 

นี่มาถึงจุดที่จิต เริ่มเป็นอิสระจากการครอบงําแบบเดิม ๆ

หมายความว่า เราสามารถคิดอะไรที่แตกต่าง หาอะไรที่แปลกใหม่

หรือว่าจินตนาการอะไรแบบที่เอาวัตถุดิบใหม่ๆ เข้ามาเสริมเข้ามาเติม

เข้ามาเชื่อม ให้เกิดความแตกกิ่งก้านสาขาออกไป

 

กวางคิดง่ายๆ ว่าถ้าทําเหมือนเดิมไปเรื่อยๆ บางทีท้อไปเรื่อยๆ

อาจจะเป็นเพราะว่าไปถึงทางตัน หรือว่าทางที่เรารู้สึก

เหมือนอนาคตไม่แจ่มชัดพออะไรอย่างนี้

นั่นเป็นเครื่องหมายบอกว่า เราอาจจะต้องเสริมอะไรใหม่ๆ เข้าไป 

นี่ทางโลก พูดถึงทางโลก

 

และถ้าเราสนุกกับการเสริมอะไรใหม่ๆ เข้าไป

แล้วออกจากการครอบงําแบบเดิมๆ ออกจากกล่องใบเดิมได้

ตัวนี้ กวางจะรู้สึกว่าศักยภาพของตัวเองมีมากกว่าที่ตัวเองคิด

ที่พี่เห็นมาตลอด แล้วเคยพูดกับกวางมานานแล้วก็คือว่า

กวางยังคิดอะไรได้มากกว่านี้อีก กวางยังทําอะไรได้มากกว่าที่ทําอยู่  

คือทําจนกระทั่งเกิดความรู้สึกสนุกที่จะทํา มีความตื่นเต้นที่จะทํา

 

กวาง : กวางได้บทสรุปว่าที่จริงแล้ว เราไม่ใช่เป็นคนที่อาภัพขนาดนั้น

แต่เหมือนกับจิต ไม่มีกําลังมากพอจะพยายามที่จะลงมือทํา

ก็เลยกลายเป็นว่า โอกาสอะไรเข้ามา แต่กวางคว้าไว้ไม่ได้

เพราะไม่มีกําลังที่จะพยายาม

 

พี่ตุลย์ : ขอเปลี่ยนคํานิดหนึ่ง ไม่ใช่ไม่มีความพยายาม

แต่เราไม่มีความตื่นเต้น ไม่มีความสนุกมากพอที่จะลองของใหม่

 

เรากลัวไปหมด หรือว่าเรารู้สึกว่า ปล่อยไปเถอะไม่ใช่ทางเรา

ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการอะไรอย่างนี้

 

ใจเราเฉื่อยกับสิ่งที่เข้ามามากเกินไป

 

ทีนี้ ถ้าเราฝึกเข้าโหมดใหม่ มีความรู้สึกชาเลนจ์ (challenge)

มีความรู้สึกตื่นเต้นกับอะไรที่ยากๆ หรือมีความเต็มใจที่จะล้มเหลวมากขึ้น

จะเปลี่ยนจากอาการกลัวเป็นอาการสนุก

จะเปลี่ยนจากอาการที่ เอ้ย ฉันไม่เอาหรอก กลายเป็นว่าอยากจะกระโจนเข้าใส่

 

ตรงนั้นแหละเป็นความหมายของชาเลนจ์

 

กวาง : กวางเคยมีสมาธิที่ดีกว่านี้ ก่อนหน้า แล้วพอเป็นซึมเศร้าก็หายไปหมด

เหมือนเราลอยอยู่ แล้วอยู่ๆ ก็ตกลงไปในเหว

กลายเป็นว่าเราทําอะไรไม่ได้เลย ก็เลยกลายเป็นความกลัว

แต่กวางรู้สึกว่า จริงๆ แล้วความสามารถของเรายังอยู่

เพราะจะโผล่ออกมาเป็นระยะ พอปัจจัยพร้อมก็โผล่ออกมา

กวางก็เลยรู้สึกว่า ถ้าเราแบบปฏิบัติสมาธิไปอย่างนี้เรื่อยๆ

ก็จะขึ้นไปแตะตรงนั้นได้ อย่างนี้ถูกไหมค่ะ

 

พี่ตุลย์ : ไม่ถูก

 

เรื่องทางโลกนี้ เริ่มจากอาการนึกสนุก

จะเหมือนกับ เสี่ยงผิดเสี่ยงถูกปาเป้า อย่างนี้

 

ส่วนใหญ่ อาจจะปาไม่ถูก แต่ว่าวันดีคืนดีปาถูกขึ้นมา

ตรงที่ปาถูก หมายความว่า ใจของเรา ไปเล็งตรงกับอะไรที่ชาเลนจ์พอดี

แล้วเกิดความรู้สึกว่า นึกสนุกอยากทํา อยากกระโจนลงไป

 

ก็รอจังหวะนั้น ถ้าเกิดขึ้นอย่าปล่อยให้ผ่านไป

กระโจนลงไปตามใจที่อยากจะให้ตัวเองไปตรงนั้น

 

กวาง : ควรอธิษฐานขอไหมคะ ว่าให้เกิดขึ้น

 

พี่ตุลย์ : อธิษฐานก็ได้ แล้วก็มองว่า ถ้าทางโลกของเรา มีความรู้สึกดีขึ้น

ทางธรรม เราก็จะรู้สึกว่าไปได้สวยขึ้นด้วย

 

การที่เรามองว่า ใจเป็นใหญ่ใจเป็นประธาน อะไร ๆ ไหลมาจากใจ

หมายความว่า ถ้าใจของเราอธิษฐาน ก็จะพุ่งเป้าไปตามทิศทางนั้น

 

ทิศทางนั้นนะ .. ไม่ใช่ว่าเราก้าวเดินแล้ว

 

เสร็จแล้วถ้าหากหลังอธิษฐาน

ใจของเราไปเจอกับอะไรที่รู้สึกนึกสนุกอยากแล่นตามไป

ก็ลองดูซักตั้งหนึ่ง

 

เรื่องการทําสมาธินี่ เป็นส่วนประกอบ เราทําอยู่แล้ว ทําไปเรื่อยๆ

คือไม่ต้องไปตั้งว่าสเปกจะต้องให้ถึงฌาน แต่ตั้งแค่ว่า

ถ้าทางโลกเรามีใจที่นิ่งเรามีใจที่มี passion

เราก็สามารถที่จะกลับมาปฏิบัติ แบบที่มีความตื่น มีความรู้สึกไม่ท้อ มีความรู้สึกไม่ห่อเหี่ยว

 

กวาง : พูดถึงฌาน เมื่อก่อนทําไปแล้ว ก็เข้าไปได้เลย

เข้าไปเอง ไม่ต้องฝึก และครั้งถัดไปก็เหมือนเป็นวสี

หลับตาแล้วก็ดึงขึ้นมาได้เลย

แล้วกวางก็รู้สึกว่าพวกนี้จริงๆ ไม่ได้หายไป ถ้ามีเหตุปัจจัย..

คือคิดว่าเราก็พอมีเชื้อเพลิงอยู่บ้าง น่าจะติดง่ายกว่าคนที่ไม่ได้มีตรงนี้มา

หมายถึงว่าอย่างน้อยก็ในชาตินี้ที่แบบได้ทําไว้อะไรอย่างนี้ค่ะ

 

พี่ตุลย์ : ถ้าจะหวังเอาแบบจิตรวม

จะเป็นอุปจารสมาธิก็ดี หรือว่าจะเป็นฌานก็ดี

อย่างหนึ่งคือ ต้องสละความยึดติด

 

คือไม่จําเป็นต้องไปบวชชี แต่ว่าเราต้องมีอาการที่ใจนี้ ไม่ข้องเกี่ยวกับโลก

ใจนี้มาข้องเกี่ยวกับโลกภายใน

 

คือโลกภายนอกนี่ เหมือนกับต้องห่างออกมา

 

ทีนี้ พี่มองว่า ถ้ากวางยังบอกว่า งานทางโลกฝ่อ แล้วงานทางธรรมก็พลอยฟีบไปด้วยแบบนี้..

 

กวาง : งานทางโลก ยังไม่ต้องทําก็ได้ค่ะ ทิ้งไปก่อนก็ได้

เอาทางธรรมก่อนไป จนแบบเสถียรก่อน

 

พี่ตุลย์ : ถ้าเอาจิตวันนี้เลย พี่อยากบอกว่า

โอเค เราสามารถมุ่งมาเน้นทางสมาธิได้ .. สามารถ

แต่ก็กลัวว่า ถ้าเรามามุ่งทางสมาธิแล้วไม่ได้ดูซีรีส์ เราจะสิวขึ้นอีก

 

กวาง : ไม่ใช่ค่ะครู กวางไม่ได้ดูมานานแล้วค่ะ

เพราะว่าจิตไม่เอา ดูนานๆ ไม่ไหว

 

พี่ตุลย์ : ถ้าหากว่าเรารู้สึกว่ามีความพร้อมขึ้นมา

มีความฝักใฝ่ มีฉันทะที่จะเอาทางสมาธิ อย่างนี้ก็โอเค

ถ้าเราไม่ฝืน ไม่ทรมานใจ แล้วก็จะต้องแบบว่าต้องมามีวินัย

ต้องมากักตัว ห้ามไปการบันเทิงอะไรนี้

 

เราเห็นเป็นเรื่องชิวๆ เห็นเป็นเรื่องที่ว่า เราไม่ต้องห้ามใจ ไม่ต้องฝืน

แล้วเรามีความสุขกับการทําสมาธิเองได้

ช่วงนี้เอาให้เต็มที่เลยถือว่าน้ำขึ้นให้รีบตัก

 

กวาง : คือทําท่าอย่างนี้ ที่เราทําอยู่ปกติใช่ไหมคะ

 

พี่ตุลย์ : ได้ เพราะกวางบอกเองว่า

ตรงนี้ ช่วยให้เรา happy ขึ้นมาโดยที่ไม่จําเป็นต้องฝืนใจ

 

อะไรก็แล้วแต่ ที่ทําให้เรา happy ขึ้นมาโดยไม่ฝืนใจ โดยไม่ต้องไปบังคับ

นั่นแหละจะช่วยให้เราอยากเข้าหาบ่อยขึ้นๆ

 

แล้วถ้าสิ่งที่เราเข้าหาบ่อยขึ้นนี้ ช่วยให้จิตมีความใส มีความสว่าง

เปิดกว้างมากขึ้นๆ .. นี่ ทิศทางของฌานคืออันแบบนี้แหละ

 

ไม่ต้องปรับรูปแบบ จิตมาอย่างนี้ได้ แปลว่าที่ทําอยู่นี่ดีแล้ว โอเคแล้ว

 

กวาง : เดี๋ยวจะเป็นฌานเองถ้าเราทําไปเรื่อยๆ อย่างนี้หรือคะ

 

พี่ตุลย์ : พี่ไม่รับประกัน แต่ว่าจะบอกได้ว่าจะก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ

 

ถ้าหากว่าเรามีใจฝักใฝ่อยู่กับตรงนี้ แบบไม่นับเวลา

ว่างเมื่อไหร่ก็มาอะไรแบบนี้ อย่างนี้ จะก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ แน่

จะเขยิบขึ้นไปเรื่อย ๆ ไว้มาดูกัน

----------------------

 

ปิดท้าย

 

พี่ตุลย์ : สิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าเราบอกว่าเป็นเรื่องบังเอิญ

จะเริ่มไม่อยู่ในความจดจํา หรือว่าการรับรู้มากขึ้น

 

คนที่อยู่ในห้องนี้ วิถีชีวิตไม่ใช่เป็นแบบคนทั่วไป

ที่บอกว่า เออ รอนะ เมื่อไหร่ดวงชะตาจะดีขึ้น

รอนะ เมื่อไหร่ราชรถจะมาเกย

รอนะ เมื่อไหร่ส้มจะหล่นลงมาจากฟ้าตูม

กลายเป็นระเบิดลงมา กลายเป็นเงินสิบล้านร้อยล้าน

 

รอแบบนั้น เป็นการรอที่สูญเปล่าไปชาติหนึ่ง

 

บางคน อาจได้ แต่ว่าเป็นหนึ่งในล้าน หรือว่าหนึ่งในหมื่น หนึ่งในแสน

แล้วจะมีประโยชน์อะไร ถ้าเราจะต้องเอาตัวไปเสี่ยง

เป็นหนึ่งในหมื่น หนึ่งในแสน หนึ่งในล้านที่จะได้ส้มหล่น

 

แต่ว่าการที่พวกเราอยู่ด้วยกันทุกวัน

แล้วก็ทําอะไรดีๆ ให้คืบหน้าไปด้วยกันทุกวัน

อันนี้แหละ ที่ไม่ใช่การรอคอย

แต่เป็นการสร้างเอากับมือ สร้างเอาจากน้ำพักน้ำแรงจาก

ลําแข้งของตัวเองที่เคลื่อนหน้าไป

เป็น ลําแข้งทางจิต แล้วก็ ลําแข้งทางกาย ที่เดินจงกรมของจริงด้วย

 

ถ้าหากว่าเราบอกตัวเองว่า แต่ละวันเราไม่ได้รอคอย

แต่เราสร้างเองมากขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ

อย่างที่เห็นอยู่ในห้องนี้ หลายคนจากเดิมที่เหมือนกับง่อยเปลี้ย

กลายเป็นคนที่เข้มแข็ง ราวกับจะแบกอุ้มคนได้เป็นสิบขึ้นมาพร้อมกัน

อันนี้แหละครับ เรียกว่าความก้าวหน้า

ที่ไม่ได้มาลอยมาจากฟ้า .. เราเดินไปหาเอง

 

ก็อนุโมทนากับทุกท่านสวัสดีครับ

_______________

วิปัสสนานุบาล EP133 | จันทร์ 9 พฤษภาคม 2565

เกริ่นนำ - เจริญสติเอาชนะอารมณ์ลบ

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=y9pHAljvQv8

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น