ดังตฤณนำรับชมคลิป ))คลื่นปัญญา(( ฝึกรู้อิริยาบถที่ตั้งลมหายใจ
เสียงบรรยายโดย คุณดังตฤณ
จุดประสงค์ของคลื่นปัญญาคลิปนี้คือ
ช่วยให้คุณเกิดสติเห็นอิริยาบถต่างๆโดยความเป็นของเปลี่ยนได้
กับทั้งอาศัยอิริยาบถเดินเป็นแบบฝึกสมาธิ เพื่อเห็นรายละเอียดความเป็นกายลึกซึ้งยิ่งๆขึ้นในขั้นต่อๆไป
เดิมที่เมื่อนั่งอยู่
คุณจะเห็นว่ามีตัวเองนั่งอยู่ และราวกับศรีษะของคุณคือศูนย์กลางโลก
หรือใจกลางจักรวาลที่ผลิตความรู้สึกในตัวตนออกมาไม่ขาด
แต่หลังจากเห็นกลุ่มความคิดที่เดี๋ยวรวมตัวกันเป็นเมฆหมอกในหัวบ้าง
สลายตัวลงเหลือแต่หัวโล่งๆบ้าง ที่ตรงนั้นหลุมดำแห่งความเป็นตัวตนจะหายไปชั่วขณะ
มีเพียงสภาพทางกายที่ยกตั้งหลังตรงอยู่ ประกอบด้วยหัว ตัว แขนขา
และเท้าที่ไม่ปรากฏชื่อ นามสกุลใครอยู่ในขอบเขตนี้
ตรงนี้แหละที่จะเกิดประสบการณ์เห็นมีแต่อิริยาบถนั่ง ไม่มีผู้นั่ง
อิริยาบถนั่ง
คือสภาพทางกายในท่าคอตั้งหลังตรงทำมุมฉากกับพื้น
โดยมีก้นเป็นอวัยวะรับน้ำหนักส่วนบนของร่างกาย
แรงโน้มถ่วงของโลกจะกระทำต่อกล้ามเนื้อในทางรั้งลง คุณจะรู้สึกถึงมัดเนื้อต่างๆ ที่ต้านทานการโน้มถ่วงของโลก
แล้วสะสมตัวจนเกิดความเครียดตึงนานไปจนรู้สึกเมื่อยและต้องขยับเปลี่ยนท่า
หากรู้สึกได้ประมาณนี้ ก็ได้ชื่อว่าเห็นเหตุของความไม่เที่ยงในอิริยาบทนั่งแล้ว
ต่อมาเมื่อมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง
ให้ต้องเปลี่ยนตำแหน่งที่อยู่ของกาย ย้ายจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง
ธรรมชาติก็ออกแบบให้มีอิริยาบถเดินเพื่อการนั้น แล้วที่จะได้ชื่อว่าเป็นท่าเดิน
ก็เมื่อมีการก้าวขาสลับซ้ายขวาไปข้างหน้า
โดยมีฝ่าเท้าทำหน้าที่แบกรับน้ำหนักทั้งหมดของร่างกาย จากความจริงดังกล่าว
เราจึงสามารถจับจุดได้ว่า ถ้าจะมีสติเห็นอิริยาบถเดินให้ต่อเนื่อง
ก็ควรมีสติรู้สัมผัสกระทบระหว่างฝ่าเท้ากับพื้น เมื่อทราบอัตราเร็วของจังหวะเท้ากระทบนานพอ
คุณจะทราบเองว่า อิริยาบถเดินไม่อาจมีอัตราเร็วคงที่ บางครั้งควรช้าลง เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ
บางครั้งควรเร็วขึ้น เพื่อปรับสภาพเหม่อซึมของการเดินให้มีชีวิตชีวาขึ้น
การเห็นเหตุที่ควรเร็วบ้างช้าบ้างนั้น
ได้ชื่อว่าเห็นเหตุของความไม่เที่ยงในอิริยาบถเดินแล้ว
การจะเดินให้เกิดสมาธิได้
ก็มีจุดเริ่มต้นเหมือนนั่งสมาธิคือ ร่างกายต้องมีความอ่อนควร ไม่เกร็งทีส่วนใดส่วนหนึ่ง
เท้าของคุณต้องเตะตรงแบบไม่เกร็ง คอควรตั้งหลังควรตรง
ไหล่เปิดเชิดหน้ามองตรงขนานกับพื้น
โดยมีศูนยกลางสติอยู่ที่การรับรู้จังหวะช้าเร็วของเท้ากระทบ การรู้จังหวะช้าเร็วของเท้าที่อ่อนควร
จะค่อยๆปรับสติของคุณให้คมชัดขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งหัวโล่ง ความฟุ้งซ่านหายไปชั่วขณะ
แบบที่อาจเรียกกันง่ายๆว่า ข้างบนว่างข้างล่างชัด
และเพื่อฝึกสติรู้อิริยาบถเดินจนเกิดสมาธิจริง
การเดินกลับไปกลับมาอย่างที่เรียกว่าจงกรม นับว่าจำเป็น
เพราะคุณจะได้เห็นเท้ากระทบอย่างถูกต้องนานพอจะเกิดสมาธิได้
โดยไม่วอกแวกไปข้างทางเหมือนอย่างเมื่อเดินตามห้าง
การเดินจงกรม
ก็คล้ายกับการเดินบนทางตรงปกติ ข้อแตกต่างคือเราเน้นการมีสติรู้อิริยาบถเดิน
ไม่ใช่เดินเฉยๆแบบปล่อยจิตปล่อยใจ และนั่นก็หมายความว่า เมื่อหมุนตัวกลับหลังหัน
คุณควรรักษาสติไว้ด้วยจังหวะเดียวกันกับขณะเดิน โดยกลับหลังหันที่ละครึ่งรอบ
สังเกตด้วยว่า การกลับทีละครึ่งเช่นนี้
ทำให้ไม่เกิดความเคว้งงงเหมือนอย่างตอนที่กลับรวดเดียวเต็มรอบ
อย่างที่เราชินๆกันตอนกลับหลังหันธรรมดา
หากเป็นฆราวาสก็มีอุบายหนึ่งที่คุณอาจใช้เพื่อปัดเป่าความฟุ้งซ่าน
และจะทำให้เกิดสมาธิเห็นกายทั้งตัวได้อย่างรวดเร็ว คือ
เพิ่มความเร็วจากการเดินธรรมดาเป็นการวิ่งเหยาะ จะบนทางธรรมดาหรือบนสายพานก็ตาม
เมื่อวิ่งเหยาะสัมผัสกระทบจะถี่ขึ้น เป็นเหตุให้เกิดสติรู้ถี่ขึ้นตามไปด้วย
เมื่อฝึกรู้จังหวะช้าเร็วของเท้ากระทบบ่อยๆ
สติรู้แบบเดียวกันจะเกิดขึ้นเป็นอัตโนมัติในชีวิตประจำวันไปเอง
ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เพียงฝึกเดินจงกรมให้ถูกต้อง
คุณจะขยายเวลาปฏิบัติได้นานขึ้น โดยอาศัยการเดินในชีวิตประจำวันนั่นเอง
เมื่อฝึกนั่งสมาธิและเดินจงกรมจนเกิดสติเป็นอัตโนมัติ
เห็นกายในอิริยาบถนั่งและเดินตามจริง สติเดียวกันนั้น จะเห็นกายในอิริยาบถยืนและนอนได้ถนัดชัดเช่นกัน
อิริยาบถหลัก
อันได้แก่ นั่ง เดิน ยืน นอน เหล่านี้ช่วยให้คุณเห็นสภาพความเป็นกายตามจริงว่า
ตั้งอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งตลอดไปไม่ได้ และเมื่อใดเกิดสมาธิเห็นอิริยาบถ
เมื่อนั้นคุณจะรู้สึกว่าไม่มีตัวใครอยู่ในอิริยาบถ
ซึ่งจะเป็นสะพานเชื่อมไปสู่สติอย่างใหญ่ขึ้น ดังจะได้เห็นกันในคลิปต่อๆไป
จบการรับชมคลิป ))คลื่นปัญญา(( ฝึกรู้อิริยาบถที่ตั้งลมหายใจ
--------------------------------------------------------------------------------
ผู้ถอดคำ แพร์รีส แพร์รีส
วันที่ไลฟ์ ๒๙
กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน)
ช่วง รับชมคลิป
))คลื่นปัญญา(( ฝึกรู้อิริยาบถที่ตั้งลมหายใจ
ระยะเวลาคลิป ๖.๒๐ นาที
รับชมทางยูทูบ https://www.youtube.com/watch?v=LlFQ5kti2jo&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=26
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น