วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2556

๑.๘๔ เด็กเกิดมาไร้ตำหนิ คือเกิดชาติแรก?

๑.๘๒ จิตตั้งมั่นเป็นอย่างไร?

๑.๘๑ ไขมันในกายเป็นธาตุอะไร?

๑.๗๗ ทำอย่างไรจะบรรลุธรรมภายใน ๗ ปี?

ถาม : หนังสือ "๗ เดือนบรรลุธรรม" เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงหรือเกิดจากจินตนาการครับ? สงสัยว่าต้องปฏิบัติอย่างไรจึงจะบรรลุธรรมอย่างช้าใน ๗ ปีอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสรับประกันไว้? เพราะเห็นหลายท่านที่ปฏิบัติมานานไม่มีความก้าวหน้า รวมทั้งตัวผมเองด้วย

รับฟังทางยูทูป :  http://youtu.be/xZT_N2ggdqc

ดังตฤณ :  
คำตอบนะครับ จินตนาการล้วนๆครับ
แต่เป็นการเอาประสบการณ์ในการปฏิบัติ
ที่ผมคุยกับคนที่เจริญสติมาเยอะ เอามารวมๆกัน
เพื่อที่จะมาลำดับหลักการและแนวทางปฏิบัติ
ที่เรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ว่า..

ถ้าคนปกติธรรมดาเริ่มต้นนี่เค้าคิดกันอย่างไร
เค้าเกิดแรงบันดาลใจกันอย่างไรถึงอยากจะมาเจริญสติ
แล้วที่พระพุทธเจ้าท่านสอน เอาตั้งแต่ขั้นแรกเลย ดูลมหายใจอย่างไร
เกิดความรู้สึกอย่างไร
เกิดอุปสรรคอย่างไร
แล้วในชีวิตประจำวันมันรู้สึกกันจริงๆอย่างไร
คนธรรมดาทั่วๆไปนี่แหละ

ก็ลองไปอ่านดูในเวป http://www.dungtrin.com/7months นะครับ
สำหรับคนที่ยังไม่ได้อ่าน

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ส่วนที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรับประกันไว้นี่
ท่านรับประกันเฉพาะ
คนที่ทำตามแนวทางของท่านอย่างเต็มที่นะครับ
แล้วส่วนใหญ่คนที่ทำได้เต็มที่จริงๆก็คือ
พระหรือบรรพชิตที่สละโลกแล้ว
ตั้งใจทำกันเต็มที่ ไม่ใช่ทำกันเล่นๆ
ไม่ใช่ดูกันผิวๆ
ไม่ใช่แค่ทันอารมณ์ตัวเองแล้ว
ก็หวังจะบรรลุธรรมภายในกี่ปีกี่ปี

คือให้ตัดสินกันง่ายๆก็แล้วกันว่า
ใจของเราในหนึ่งวัน ๒๔ ชั่วโมงนี่ ผูกกับอะไรโดยมาก
ถ้าหากว่าผูกกับเรื่องข้างนอก ส่งออกนอกตลอดเวลา
แล้วบอกว่าตัวเองปฏิบัติธรรมแล้ว
๕ นาที ๑๐ นาที
หรือว่าจะปลีกวิเวกไป ๑๐ วัน ๒๐ วันอะไรก็แล้วแต่
อย่างนี้ถือว่าใจของคุณยังไม่ได้ผูกอยู่กับการเจริญสติปัฏฐาน

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

คำว่า "เจริญสติ"
ก็ย่อมาจากคำว่า "เจริญสติปัฏฐาน" นี่ล่ะ
สำนวนของพระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า
เป็นการเจริญสติปัฏฐาน
ไม่ใช่เจริญสติในแบบที่มีสติเฉยๆนะ
ไม่ใช่มีสติรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่
แบบนี้ยังไม่ถือว่าใช่นะ

นักยิมนาสติกนี่
มีสติมากกว่าคนเจริญสติส่วนใหญ่เป็นสิบๆเท่านะครับ
เพราะรู้อิริยาบถ
รู้ทุกกระดิกทุกส่วนการเคลื่อนไหวของร่างกาย
แต่เค้าก็ไม่ได้บรรลุธรรม เพราะว่าจิตเขา
ไม่ได้จดจ่ออยู่กับการเห็นกายใจโดยความเป็นของไม่เที่ยง
โดยความเป็นของไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
จิตของเขาหมกมุ่นและผูกพันอยู่กับท่าทางและการร่ายรำ
เพื่อให้ได้รางวัล เพื่อให้ได้คำชม เพื่อให้ได้ตัวตน

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

เหมือนกัน ถ้าหากว่าเราอยู่ในโลก
เราเป็นฆราวาส แล้วใจเรา..
ผูกพันกับ งาน
ผูกพันกับ การได้เงิน
ผูกพันกับ การได้แฟน
หรือแม้กระทั่งผูกพันกับ การปฏิบัติเพื่อให้ได้มรรคให้ได้ผล
แบบนี้มันจะไม่จดจ่อ
มันจะไม่รู้อยู่กับการแสดงความไม่เที่ยงของกายใจ
ลมหายใจเข้าก็ไม่รู้ ลมหายใจออกก็ไม่รู้
ทั้งเข้าและออกเป็นเวลานานๆก็ไม่รู้
มันไม่ได้มีการรับรู้อยู่กับความไม่เที่ยงของกายใจ
มีแต่ความรับรู้อยู่ว่า
ทำอย่างไรฉันจะได้มรรคได้ผล
ทำอย่างไรฉันจะได้ความก้าวหน้า

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ความก้าวหน้าไม่ได้เกิดจาก
การมีอุบายปฏิบัติธรรมแบบใดแบบหนึ่งที่ใครคิดขึ้นมา
แต่ความก้าวหน้าเกิดจาก
การปฏิบัติถูก ปฏิบัติตรง อย่างต่อเนื่อง
"ความต่อเนื่องนั่นแหละ คือ ความก้าวหน้า

คือถ้าให้ผมตอบสั้นๆภายในเวลาแค่ไม่กี่นาที
คงต้องตอบให้อยู่ภายในขอบเขตเท่านี้
ยังไงลองอ่าน ๗ เดือนบรรลุธรรมดีๆนะครับ
มีรายละเอียดอยู่ในนั้นหมดแหละ
ว่าที่พระพุทธเจ้าท่านรับประกันไว้ไม่ใช่ทำกันง่ายๆ
ไม่ใช่แค่เจริญสติกันแบบสบายๆ

แม้แต่ตัวละครนี่ก็อย่างที่ผมดำเนินเรื่องนะ
คือ ตื่นตี ๔ ทุกวัน
แล้วก็มานั่งทำสมาธิ มาเดินจงกรม
เสร็จงานก็กลับเข้าบ้าน
แล้วก็เห็นบ้านเป็นเหมือนสวรรค์ของนักปฏิบัติธรรม
ปิดประตูแล้วก็ไม่ข้องเกี่ยวกับใคร
หรือข้องเกี่ยวบ้าง แต่ก็มีอาการ มีลิมิต มีการยับยั้งชั่งใจ
แล้วก็ตั้งใจทำตามที่พระพุทธเจ้าสอน




๑.๘๐ อยากยอมรับตามจริงได้แบบจริงๆ

๑.๗๘ นั่งสมาธิแล้วอึดอัด ทำอย่างไรดี?

๑.๗๖ จิตที่ส่งออกนอก เหตุแห่งทุกข์

๑.๗๕ การทำสมาธิ เจริญสติ ดูขันธ์ ๕

๑.๗๔ สวดมนต์อย่างไรให้ได้บุญ?

ถาม เป้าหมายของการสวดมนต์ที่แท้จริงคือเพื่ออะไรคะการสวดมนต์เป็นการฝึกสมาธิได้ด้วยหรือเปล่าบางทีถ้านอนไม่ดึกก็จะสวดเกือบชั่วโมง การที่เราสวดมนต์แล้วขอพร เช่น เรื่องขอให้สอบได้หรือเรื่องของอนาคตนี่ ถือว่าสมควรหรือเปล่า?

รับฟังทางยูทูป 
http://youtu.be/prjwJJkZdnw

ดังตฤณ ]การสวดมนต์ที่แท้จริง คือการที่ทำให้จิตใจของเราเป็นไปตามคำที่เราสวด
การสวดมนต์มีหลายแบบ สวดแบบอ้อนวอนก็มี สวดแบบขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มาช่วยเหลือก็มี

"แต่การสวดแบบพุทธ คือการสวดแบบจาระไนธรรม"
มีการสรรเสริญว่า
:  เทวดาไปเป็นเทวดาบนชั้นฟ้า เสวยทิพยสุขด้วยกรรมอันใด
:  พระพุทธเจ้ามีคุณอันวิเศษยิ่งใหญ่อย่างไร
:  พระธรรมมีคุณวิเศษยิ่งใหญ่อย่างไร
:  พระสงฆ์ปฏิบัติตัวเช่นไรจึงควรแก่การสรรเสริญ
ควรแก่การนบไหว้ ควรแก่การนอบน้อมให้
ควรแก่การยอมเอาศีรษะก้มกราบลงกับพื้น
หรือควรแก่การเป็นเนื้อนาบุญให้เราทำบุญ
มีการ จาระไนธรรม’ แบบนี้เรียกว่าเป็นพุทธ

หรือการแผ่เมตตา การเจริญพุทธมนต์
:  บางทีมีเรื่องของการผูกมิตร ขอให้เป็นมิตรกัน
:  ขอให้มีความเมตตาต่อกัน
:  ขอให้คุณธรรมที่ท่านได้แล้วจงมีความแก่กล้ายิ่งๆขึ้นไป

อะไรแบบนี้เรียกว่าเป็นพุทธ คือ ไม่ได้ไปขอ !

ของพุทธนะ
:  ไม่มีการอ้อนวอนขอ
:  มีแต่  การสรรเสริญ
:  มีแต่  การแผ่เมตตา หรือ
:  มีแต่  การจาระไนคุณ

ถ้าหากพบบทสวดไหนที่มีการอ้อนวอนขอ
หรือมีการเรียกร้องให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มาปกป้อง
อันนั้นไม่ใช่แนวทางของพุทธ
เป็นแนวทางของพราหมณ์ เป็นแนวทางของศาสนาที่นับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นใหญ่ เข้าใจว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์สามารถดลบันดาลอะไรให้เราได้ แต่ของเรา จะเน้นเรื่อง ความเข้าใจเกี่ยวกับกรรมและการพ้นทุกข์ เพราะฉะนั้นอะไรที่เกี่ยวข้องกับการจาระไนกรรมได้ พุทธศาสนาเอาหมด !

เมื่อเราสวดสรรเสริญพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์อยู่ โดยทางตรงจิตจะเกิดความปิติ
จะเกิดความรู้สึกว่าเข้าใจ มันเป็นการรีเฟรชความทรงจำและจิต ให้สอดคล้องกับแนวทางของพุทธศาสนา แต่ในทางที่ลึกลับไปกว่านั้น การที่จิตของเราจูนติดเข้ากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนาก็จะมีพลังพุทธคุณ พลังธรรมคุณ และพลังสังฆคุณมาปกป้องเราด้วย !

คำว่าปกป้องในที่นี้ เอาชัดที่สุดคือ ทำให้จิตเราเองเป็นกุศล ไม่ไปแปดเปื้อน ไม่ไปเกี่ยวข้อง ไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไรที่เป็นอกุศลง่ายๆ การที่เราถูกปกป้องไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับอกุศลได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะด้วยคำพูด ความคิด การกระทำนั่นแหละ คือ การปกป้องที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต !

เพราะอะไร ?

เพราะว่าทำให้ชีวิตที่กำลังมีลมหายใจอยู่อย่างนี้เป็นชีวิตที่ดี เป็นชีวิตที่สว่าง เป็นชีวิตที่ไม่เกลือกกลั้วอยู่กับคูถ มูตร สิ่งสกปรก แล้วต่อไปก็ประกันได้ว่าจะไม่ไหลลงไปสู่ทุคติภูมิ

บางทีนะคนอุตส่าห์ไปหาเกจิอาจารย์ ได้ไสยคุณมาปกป้องกระสุน ไม่ให้ทะลุอกได้ มีจริง หนังเหนียวจริง อันนี้ยืนยัน มีจริงไม่ใช่ไม่มีจริง แต่ว่าปกป้องไม่ให้จิตถลำลงไปสู่ความเป็นผู้หลงผิด คิดทำบาปทำชั่วอันนี้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไหนก็ปกป้องไม่ได้ โดยเฉพาะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกเรียกเข้ามาปกป้องกระสุนเนี่ยมักจะได้แต่ดูด้วยความสมเพชเวทนาว่าเราปกป้องเขาได้แต่เนื้อหนัง แต่ว่าปกป้องจิตของเขาไม่ให้ไหลลงสู่อบายนี่ไม่ได้ !

มันเป็นเรื่องที่จะต้องมีแก่ใจที่จะเข้าใจเรื่องของกรรม เรื่องของวิบากเอาเอง ซึ่งวิธีที่ง่ายที่โบราณได้ให้ไว้ คือให้เป็นบทสวด

ถ้าเราเข้าใจบทสวดว่าแปลว่าอะไร ท่องได้ขึ้นใจ
:  จะมีทั้ง  ความรู้สึกของปีติ’ ที่ได้ท่องบาลี และก็
:  มีทั้ง  ความเข้าใจ
:  มีทั้ง  ปัญญา’ ที่ถูกรีเฟรชทุกวัน

ดังนั้น เป้าหมายของการสวดมนต์ที่แท้จริง
ก็จะจำแนกไปตามเนื้อหาของการสวดนั่นแหละ

-------------------------------------------------------------
ที่ถามว่าการสวดมนต์เป็นการฝึกสมาธิได้ด้วยหรือเปล่า ?

ถ้าหากคุณสวดมนต์ด้วยความตั้งใจจะเปล่งเสียงเต็มปากเต็มคำ
อิติปิโส ภควา อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ…’
สวดด้วยใจอาจหาญ สวดด้วยใจที่หนักแน่นเป็นกุศล มันเป็นสมาธิได้แน่ !

แต่ประเภทที่สวดงึมงำๆ สวดไปฟุ้งซ่านไป นอกจากจะไม่ได้สมาธิแล้ว เผลอๆยังทำลายสมาธิอีกด้วย ระวังนะพวกชอบสวดมนต์นะ สวดลวกๆนี่มันทำให้จิตเบลอได้นะครับ ผมสังเกตมาหลายคนแล้ว ประเภทที่กะจะมาเอาบุญตอนสวดมนต์ กลายเป็นมาสร้างต้นตอของบาป !

ลองสังเกต เราสวดมนต์ด้วยอาการอย่างไร
จิตของเราก็เป็นไปตามอาการแบบนั้นนั่นแหละ

อย่างถ้าสวดมนต์ไปแล้วก็ฟุ้งซ่านเรื่อยเปื่อยไปด้วยนี่นะ เวลาทำงานก็จะออกแนวเดียวกัน หรือแม้กระทั่งกำลังคุยกับใครอยู่ กำลังคุยเรื่องสำคัญอยู่ มันก็จะคอยคิดเลื่อนเปื้อนเลอะเทอะ ไปที่โน่นที่นี่ กระโดดไปเป็นจิงโจ้เลยนะไม่สามารถที่จะหยุดอยู่กับที่ได้

นี่ก็เพราะว่า เราทำบุญด้วยอาการของใจอย่างไร ชีวิตและใจโดยรวมนี่มันก็จะเป็นไปตามนั้น
สำคัญนะตอนทำบุญ อาการของใจนี่ ถ้าไม่สำรวม ถ้าไม่ระวัง

ถ้าหากว่าเรามีความหนักแน่น มีความคิดที่ตั้งใจจะถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา โอกาสที่จะเกิดสมาธิขึ้นมานี่ สูงมาก คนที่ตั้งใจสวดมนต์หลายๆรอบด้วยความเคารพในพระรัตนตรัยจริงๆ เวลานั่งลงทำสมาธิ จะดูลมหายใจ หรืออยากจะสวดพุทโธอะไรก็แล้วแต่ มันมีความรู้สึกเหมือนกับว่าลงได้ง่าย มีความสว่าง ก็เพราะว่าตอนสวดมนต์จิตใจมันนุ่มนวลลงอยู่แล้ว มีความสว่างนำอยู่แล้ว พอเอาความนุ่มนวล เอาความสว่างของจิตมารู้มาดูลมหายใจหรือคำบริกรรมพุทโธเข้านี่ มันก็เหมือนกับกลมกลืน เหมือนกับมีความชอบใจ เหมือนกับมีความรู้สึกว่าอยู่เรียบง่ายกับลมหายใจหรือคำบริกรรมพุทโธนี่สบายดีอยู่แล้ว มีความสุขดีอยู่แล้ว ไม่ต้องกระโดดไปหาอะไรอย่างอื่นก็ได้ นี่มันจะรู้สึกแบบนี้ แล้วก็เลยได้กลายเป็นสมาธิขึ้นมา
-------------------------------------------------------------

ระยะเวลาของการสวด
ถ้าวัดเป็นชั่วโมงวัดเป็นนาทีนี่นะ บางทีไม่ได้เท่ากับวัดเป็นคุณภาพของจิต

ถ้าหากคุณภาพของเสียง
คุณภาพของจิตที่ใช้ในการสวดมนต์

เป็นไปอย่างดี เป็นไปอย่างประณีต 
๕ นาที ๑๐ นาที
บางทีได้ผล ได้บุญ ได้สมาธิ
ยิ่งกว่าคนที่สวด ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมงเสียอีก !

ผมเคยเห็นนะ คนสวด ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมงนี่ นึกว่าได้บุญ ไปเชื่อคำโฆษณาว่า บทสวดบางบทนี่จะทำให้เกิดเป็นเทวดานางฟ้า จะทำให้รวยยิ่งใหญ่ จะทำให้ไปเป็นพระเจ้าจักรพรรดิอะไรต่อมิอะไร แต่ขณะสวดจิตเต็มไปด้วยความโลภ จิตเต็มไปด้วยความฟุ้งซ่านอยากจะเลิกสวด แต่สวดไปเพราะนึกว่าสวดไปแล้วจะได้รางวัล ไปเอาความคิดแบบที่ลงทุนน้อยแต่ได้กำไรมากมาเป็นตัวตั้งนี่ การสวดมนต์แทบจะไม่ได้อะไรเลยนะ มันได้แต่ความโลภ !

คือลองนึกภาพดูนะครับ คนนั่งอยู่ ๓ ชั่วโมง ๔ ชั่วโมง ด้วยความตั้งใจว่าฉันจะเอาความเป็นเทวดา ฉันจะเอาความเป็นนางฟ้า ฉันจะเอาเงินล้าน ถามหน่อย ความรู้สึกมันมืดหรือว่าสว่าง ถามหน่อย ความรู้สึกมันแคบหรือว่าเปิดกว้างสบาย ?

ถ้าหากคุณเอาความรู้สึกของตัวเองเป็นตัวตั้งได้ สำรวจเข้ามาที่ใจ แล้วใจรู้สึกอย่างไร เปิดกว้างหรือปิดแคบ ตัวนี้แหละ มันยิ่งกว่าจะไปกะเกณฑ์เอาว่าต้องสวดให้ได้กี่ชั่วโมงหรือกี่นาที ! การที่เราเอาจิตเป็นตัวตั้ง เราจะรู้สึกเพลิดเพลิน บางทีชั่วโมงนาทีผ่านไปนี่ ไม่รู้สึกตัวหรอก

ในสมัยพุทธกาล มีหญิงชาวบ้านคนหนึ่งมีความเคารพเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มาก
และระลึกถึงพระพุทธเจ้า ด้วยอาการประมาณว่า เราบริกรรมพุทโธ พุทโธประมาณนั้นแหละ จนจิตเกิดสมาธิ ประจวบกับนางมีอภิญญาติดตัวมาแต่ก่อนด้วย ถึงขั้นที่ว่าพอเกิดปีตินี่ตัวเบาเหาะได้เลย เหาะจากบ้านที่ตัวเองถูกพ่อแม่กักไว้ เป็นลูกสาวอายุยังน้อย ลอยไปทำการบูชากราบพระพุทธเจ้าได้ถึงที่วัดเชตวันฯเลย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่อยู่ในตำนานของพุทธนะครับ ไม่ใช่เรื่องเกินวิสัยที่คนมีอภิญญาจะทำได้จริงๆ ไม่ใช่แค่เรื่องเล่าเล่นๆ ทุกวันนี้ก็มีนะครับที่เขาไปฝึกสมาธิในแบบจะทำให้ตัวเบา มีการแข่งกระโดดกบกันด้วยซ้ำ คือนั่งขัดสมาธิกันอยู่ แล้วก็กระโดดลอยขึ้นมา ใครจะลอยไปได้ไกลกว่ากัน ก็มีพวกที่เขาฝึกสมาธิกันเพื่อฤทธิ์เพื่อเดชกันโดยเฉพาะ

ที่ผมพูดถึงคำถามเกี่ยวกับเรื่องสวดมนต์นี้ยาวหน่อยเพราะว่า มันเป็นต้นทาง ก็ขอใช้เวลาไปเยอะนิดนึงมันตรงกับความสงสัยของคนหลายๆคนที่จะสวดมนต์

ถ้าสวดมนต์เป็นนี่นะ
มันจะได้อานิสงส์ยิ่งใหญ่มหาศาลเลย
จริงๆแล้วก็เป็น "ทางลัด"
ที่จะช่วยให้คนธรรมดาคนหนึ่ง
ได้เกิดสมาธิได้อย่างยิ่งใหญ่ทีเดียว !

ยิ่งใหญ่ในที่นี้ก็คือ
สามารถมาเจริญสติ รู้ตามจริง เห็นตามจริง ต่อได้นะครับ

-------------------------------------------------------------

เรื่องสวดมนต์แล้วขอพร
ก็ไม่เป็นไรถ้าหากว่าเราเพิ่งเริ่มต้น จะขอพรบ้างมันก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่ว่าจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการสวดมนต์ไม่ใช่การขอพร

พระพุทธเจ้าท่านเคยตรัสนะ เวลาไปขอพรท่าน ท่านบอกว่า
เราตถาคตเลิกให้พรนานแล้ว "
พรเป็นสิ่งที่ทำให้คนลุ่มหลงงมงาย นึกว่าจะได้อะไรดีๆจากใครได้เพียงด้วยวาจา

จริงๆพระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องของ กรรมที่ให้ช่วยตัวเอง ไม่ใช่ไปขอให้คนอื่นช่วย ถ้าหากว่าท่านช่วยได้ขึ้นมา คนก็ไปหลงติดว่า เออ! ท่านเป็นผู้วิเศษแล้วก็ไปขอท่าน ไม่ทำกรรมกันเอาเอง

ฉะนั้นการที่เราขอพรโอเคไม่เป็นไร แต่ขอพรให้ถูกหลักก็แล้วกัน คือ
:  ขอให้จิตของเราเป็นสมาธิ
:  ขอให้จิตของเรามีกำลัง
มีความกระตือรือร้นที่จะไปอ่านหนังสือ ขอให้สมองของเราในเวลาทำสอบมีความปลอดโปร่งมากพอ แต่อย่าขอให้สอบได้นะ

ขออะไรก็ได้ ขอเกี่ยวกับจิต

แต่อย่าขอให้สอบได้ การขอให้สอบได้ ขอจากตัวเอง ขอให้อ่านหนังสือเถิด ขอให้ทำความเข้าใจดีๆเถิด แล้วในที่สุดนะครับน้องจะเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของกรรมอย่างชัดเจน

๑.๗๓ ดูจิตอย่างไรให้ถูกต้อง?

๑.๗๒ ไม่มีบุญเก่าจะบรรลุธรรมได้หรือไม่?

๑.๗๑ นั่งสมาธิแล้ววูบเหมือนไฟดับ?

๑.๗๐ สติเกิดขึ้นได้จากการฟังธรรม?

๑.๖๙ ภาวนาอย่างไรให้เกิดมรรคผล?

๑.๖๙ ภาวนาอย่างไรให้เกิดมรรคผล?

๑.๖๘ สัตว์เห็นรูปเป็นปรมัตถ์หรือสมมุติ?

๑.๖๖ โกรธง่ายฝึกสติอย่างไร?

๑.๖๕ ความไม่เที่ยง คิดพิจารณาเอาได้ไหม?

๑.๖๔ ทำไว้ในใจโดยแยบคาย คืออะไร?

ถาม :  ทำไว้ในใจโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) เป็นอย่างไร?

รับฟังทางยูทูป
: http://youtu.be/uhbrVu04qEo


ดังตฤณ: 

ทำไว้ในใจโดยแยบคาย ก็คือ
การที่เรา มีความรู้มากพอ’ 
แล้วก็ พิจารณาไตร่ตรองดีแล้วนะครับ

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเกิดความสงสัยอยู่ว่า
เอ๊ะ! นี่เรากำลังทำถูกหรือทำผิด?
เรากำลังเจริญสติถูกหรือผิดอยู่?
ถ้าปล่อยให้เกิดความสงสัยครอบงำจิตใจไปเรื่อยๆ
มันก็จะไม่หลุดออกจากความรู้สึกเป็นทุกข์

--> แต่ถ้าหากว่าเรา พิจารณาว่า
คำสอนที่พระพุทธเจ้าท่านประทานไว้คืออย่างไร

ขึ้นต้นมาเจริญสติปัฏฐาน ๔
ท่านให้ดูว่า หายใจเข้าให้รู้ หายใจออกให้รู้
หายใจยาวให้รู้ หายใจสั้นให้รู้
แล้วความรู้นั้น มันจะมาเป็นผู้ดูกองลมทั้งปวงไปเอง

ตรงนี้ ถ้าหากว่าเรา พิจารณาว่า
เออ! เรากำลังรู้อะไรอย่างหนึ่งชัดๆหรือเปล่า?
ว่าลมหายใจมันเข้า ลมหายใจมันออก
ลมหายใจมันยาว ลมหายใจมันสั้น
เดี๋ยวก็มีลักษณะเป็นอย่างหนึ่ง
เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไป เดี๋ยวก็คลี่คลายไป

ถ้า พิจารณาว่า
เออ! เรากำลังรู้อะไรอย่างหนึ่งว่าไม่เที่ยงจริงๆนี่
มันจะเกิดความรู้สึกมั่นใจขึ้นมา
มันจะเกิดความรู้สึกว่า
ออ! ที่เราเกิดความสงสัย แล้วไม่หายสงสัยนี่
ก็เพราะว่าเราเอาแต่สงสัย
แต่ไม่ได้ดูอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

นี่คือตัวอย่างง่ายๆที่จะยกให้ฟังว่า
การพิจารณาโดยแยบคายเป็นอย่างไรนะครับ

วันนี้เวลาอาจจะสั้นไปนิดหนึ่ง

ก็คงอธิบายได้เท่านี้

๑.๖๓ นั่งสมาธิแล้วตัวหาย

๑.๖๓ นั่งสมาธิแล้วตัวหาย

๑.๖๒ นั่งสมาธิแล้วร้อนฝ่ามือ

๑.๖๑ ทำอย่างไรให้จิตตั้งมั่น?

ถาม :  ทำอย่างไรให้จิตตั้งมั่น?

รับฟังทางยูทูป
: http://youtu.be/slcKnO0aYgc


ดังตฤณ:  ง่ายๆเลยนะครับ สำหรับผู้ที่ยังใช้ชีวิตทางโลกอยู่นะครับ

พูดคำไหนคำนั้น อย่าเป๋ !

เพราะพูดคำไหนแล้วไม่ทำคำนั้น
ก็คือการที่จิตปรุงแต่งไปหลากหลาย
แล้วความตั้งมั่นไม่เกิดขึ้นในจิตที่หลากหลายหรอก
แต่ความตั้งมั่นจะเป็นเพื่อนเป็นพวกเดียวกันกับจิตที่มีใจเดียว
กับจิตที่มีลักษณะเป็นหนึ่งเดียว จิตที่มีลักษณะว่า
ตั้งใจทำอะไรแล้วทำจริง
ไม่โลเล ไม่เหลาะแหละ ไม่ล้มเลิกกลางคันนะครับ
แล้วก็เป็นจิตที่ไม่ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยาก แต่พยายามที่จะทำให้เรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย
คือจิตมีอะไรจดจ่ออย่างเดียว
ไม่พยายามที่จะคิดอะไรซับซ้อน
ไม่พยายามที่จะคิดอะไรที่ในลักษณะวกไปวนมา
ถ้าหากว่าจิตของเรามีลักษณะความคิด
ที่เป็นพวกเดียวกันกับการเปลี่ยนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย
อันนี้ก็มีส่วนที่จะทำให้จิตตั้งมั่นได้เหมือนกันนะครับ

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

เรื่องของความตั้งมั่นของจิต
นอกจากเราจะทำนิสัยในชีวิตประจำวั
นสอดคล้องกับจิตที่ตั้งมั่นแล้วนะครับ
ก็จำเป็นที่จะต้องทำให้จิตใจมีความเยือกเย็น จิตใจมีความสว่างด้วย

วิธีที่ง่ายที่สุดและสั้นที่สุด
ที่พระพุทธศาสนาได้ถือปฏิบัติเป็นธรรมเนียมกันมาก็คือ
สวดมนต์บทที่เย็น
บทที่มีความสามารถที่จะให้เราหลั่งรินเอาความเมตตาออกมาได้
นั่นก็คือ สวดสรรเสริญพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
เรียกสั้นๆว่าบทอิติปิโสนั่นเอง


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ถ้าหากว่าใครสวดบทนี้เป็นประจำถึงแม้ว่าจะไม่รู้คำแปลเลย
ก็จะมีความรู้สึกถึงสัมผัสถึงความศักดิ์สิทธิ์ สัมผัสถึงสิ่งที่อยู่สูง
และใจที่ผูกกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือใจที่สว่าง
ยิ่งถ้าหากว่าเราสามารถจะ
เปล่งเสียงเต็มปากเต็มคำ

อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทธโธ ภะคะวา…’

ถ้าทำได้เปล่งเสียงเต็มปากเต็มคำได้
จิตก็จะมีความรู้สึกผูกพัน
จิตจะมีความรู้สึกว่าถูกปรุงแต่งด้วยแก้วเสียงที่เป็นกุศล
ยังจิตให้เป็นกุศลมากขึ้นมากขึ้น

แล้วถ้ายิ่งสวดหลายรอบ
แต่ละรอบดูไปด้วยว่าจิตมีความฟุ้งซ่านหรือไม่มีความฟุ้งซ่าน
ต่างกันกับรอบก่อนๆอย่างไร
เปรียบเทียบไปปัญญามันเกิดแล้ว
ก็กลายเป็นปัจจัยของความตั้งมั่นขึ้นมาได้มาก


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

จะสังเกตว่าคนที่สวดอิติปิโสบ่อยๆ
เวลาลงนั่งทำสมาธิ เวลาที่ดูลมหายใจ เข้าออก
จะรู้สึกว่าสามารถอยู่กับลมหายใจผูกพันกับลมหายใจได้ง่าย
นั่นเพราะอะไร ?
เพราะว่าจิตมีความพร้อมที่จะดู

คนที่ทำสมาธิไม่ค่อยได้ส่วนใหญ่ไม่ใช่อะไรหรอก
เพราะว่าจิตไม่มีความพร้อมที่จะดูนั่นเอง
จิตไม่มีความเยือกเย็นพอ
จิตยังมีความฟุ้งซ่านซัดส่าย
หรือว่ามีความโลภอยากได้ความนิ่ง อยากกำจัดความฟุ้งซ่านมากเกินไป
จนกระทั่งมันเป็นต้นเหตุของความฟุ้งซ่านขึ้นมาซ้อนๆกันไปอีกนะครับ


๑.๖๐ เห็นกายแยกกับจิต เป็นสัมมาสมาธิ?

ถาม :  ช่วงนี้หัดแยกขันธ์อยู่ สามารถเห็นกายกับจิตแยกกันได้ แต่ไม่แน่ใจว่าแบบนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิหรือเปล่า? ขอคำแนะนำด้วย? 

รับฟังทางยูทูป
: http://youtu.be/JQ6jkdPpHII

ดังตฤณ:  คำว่า ‘สัมมาสมาธิ
หมายถึงสมาธิที่เกิดจากการที่เราเจริญสติมาถูกทาง
และที่จะเจริญสติได้ถูกทาง
ต้องมี ‘สัมมาทิฐิ’ เป็นตัวนำหน้า

พูดง่ายๆถ้าหากว่าเราตั้งมุมมองไว้ถูกต้อง
ว่ากายใจไม่เที่ยง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
อันนี้เรียกว่าเป็นอันดับแรก
ที่จะนำทางเข้ามาสู่การเห็นที่ถูกต้อง

แล้วถ้าหากว่าเราตั้งมุมมองในการเจริญสติถูก
คือสามารถที่จะรู้สึกถึงกาย รู้สึกถึงใจได้
โดยไม่ไปคาดหมายมากเกินไป ไม่ไปเพ่งมากเกินไป
ในขณะเดียวกันไม่ปล่อยให้จิตใจเหม่อลอยหรือฟุ้งซ่าน
ก็ในที่สุดก็จะได้เกิดการรับรู้ขึ้นมาว่ากายในขณะนี้มันไม่เที่ยง
เช่น ลมหายใจเดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออก
มันสักแต่เป็นลมพัดขึ้นพัดลง พัดเข้าพัดออกแบบนี้
จนไม่รู้สึกว่าลมหายใจเป็นเรา


จากนั้นอิริยาบถมันจะแสดงตัวเป็นอย่างไรอยู่
ก็รู้สึกได้ชัดเจนตามมา
แล้วจะสุขจะทุกข์อย่างไร จะฟุ้งซ่านหรือว่าจะสงบ
ภาวะภายในเป็นอย่างไร รู้จริงตามนั้น ตามที่มันกำลังปรากฏอยู่นี่

อย่างนี้ในที่สุดแล้ว พอใจมันไม่วอกแวกไปไหน
มันมีความสนใจ มันมีฉันทะ

ที่จะเข้ามารู้สึกถึงภาวะทางกายทางใจอยู่เรื่อยๆ
มันเกิดสมาธิขึ้นมา มันเกิดความตั้งมั่นของการรับรู้
ความตั้งมั่นของการรับรู้นั่นแหละคือสมาธิ
ไม่ใช่ว่าเราจะต้องแยกให้ได้อย่างนั้นอย่างนี้
หรือว่าเราจะต้องไปมีภาวะใดภาวะหนึ่งเป็นพิเศษเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

บางคนรู้สึกว่ากายกับจิตแยกกันแล้ว ไปพยายามก๊อปปี้
เข้าใจว่านั่นเป็นสภาพของสมาธิ เป็นสภาพของวิปัสสนาฌาน
แท้ๆแล้วนี่ จริงๆก็คือว่า เมื่อไหร่เราตั้งใจก๊อปปี้ของเดิมขึ้นมา
ไม่เอาภาวะตามจริง
ที่กำลังปรากฏต่อหน้าต่อตามาเป็นตัวตั้งนะครับ
ตรงนั้นกลายเป็นการปรุงแต่งไปเรียบร้อยแล้ว
กลายเป็นการหลอกตัวเองไปเรียบร้อยแล้ว
กลายเป็นการทำสมาธิชนิดหนึ่ง
ที่มันไม่ได้ให้ผลเป็นการปล่อยวางอย่างแท้จริง
แต่ให้ผลเป็นการปรุงแต่งแบบหนึ่ง
กลายเป็นสภาพหลอกอย่างหนึ่งไม่ใช่ของจริง !

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

แต่ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะรู้สึกถึง
ภาวะทางกาย ทางใจ ที่กำลังปรากฏได้ตามจริง
เราจะเห็นว่าความตั้งมั่นของการรับรู้
บางครั้งมันแช่นิ่งอยู่เฉยๆนะ มันไม่เคลื่อนไหวไปไหนเลย
ยกตัวอย่างเช่น
เห็นจิตมีความนิ่ง มีความสว่างโพลนอยู่
ไม่ได้มีความแยก ไม่ได้มีความล้ำเลื่อม
ไม่ได้มีการบอกเลยว่าตรงนี้รู้ ตรงนั้นเป็นสิ่งถูกรู้
มีแต่อาการรู้อยู่เฉย มีแต่อาการสว่างโพลนอยู่เฉยๆ
แต่ว่าก็มีปัญญาฌานเกิดขึ้นประกอบด้วย
คือเกิดความรู้สึกจิตที่สว่างโพลนอยู่เฉยๆ
แช่อยู่นิ่งๆนั้นนะ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน อย่างนี้ก็มีได้

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..



คำว่าสัมมาสมาธิที่แท้แล้ว
พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาระดับฌาน

แต่ว่าระดับฌาน ก็ยังแยกเป็นระดับต่างๆ

เรียกว่า ‘อารัมมณูปนิชฌาน
คือเพ่งอยู่เฉยๆ ไม่มีปัญญาฌานประกอบ

คือว่ารู้ว่ามีอะไรปรากฏอยู่ แต่ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นมันเป็นอนัตตา

อีกอย่างหนึ่งคือเป็น
ฌานในอีกแบบหนึ่ง (ลักขณูปนิชฌาน - แอดมิน)
คือเห็นความไม่เที่ยง และ เห็นความไม่ใช่ตัวตน
คือต่อให้มันมีความนิ่งอยู่เฉยๆ
มีอาการสว่างโพลนแต่มีปัญญาฌานประกอบอยู่ด้วย
ว่าลักษณะของจิตที่กำลังปรากฏนิ่งอยู่นั้น ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

พูดง่ายๆถ้าจะเอาภาษาชาวบ้านก็คือ
ถ้ารู้สึกว่าที่อาการปรากฏของสภาวธรรมหนึ่งๆนี่
มันเป็น ตัวเรา’ อยู่
อย่างนั้นเรียกว่าเป็น ฌานแบบที่เพ่งเป็นอารมณ์เฉยๆ


แต่ถ้าหากว่ามีความรู้สึกว่า
สิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ต่อจิตไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
เป็นเพียงของว่าง เป็นเพียงของกลวง
เป็นเพียงของเปล่า ประชุมประกอบกันชั่วคราว
จะด้วยสภาพการเห็นแบบแยกหรือไม่แยกอะไรอย่างไรก็แล้วแต่
ถือว่าเป็นวิปัสสนาจริงหมด
ถือว่าเป็นสิ่งที่จะทำให้ใจถอนออกจากอุปาทานยึดมั่นถือมั่น
ว่านั่นเป็นเรา หรือว่าเรามีอยู่ในสิ่งนั้นนะครับ

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

สัมมาสมาธิ ถ้าพูดกันให้เอาตามพุทธพจน์เป๊ะๆเลย
ก็ตั้งต้นตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป คือมี วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
คืออย่างน้อยที่สุดคือต้องมีความสบาย
แล้วก็มีความรับรู้อยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
แล้วก็มีความตั้งมั่นเป็นเอกัคคตา

เอกัคคตาลักษณะจะเป็นจิตใหญ่จิตใหญ่
มันต้องเข้าถึงด้วยประสบการณ์ตรงถึงจะเข้าใจว่าเป็นอย่างไร
คือจิตปกติมันจะมีความฟุ้งซ่านกระจัดกระจายซัดส่าย
แต่ถ้าหากว่าความฟุ้งซ่านเงียบกริบลงแล้ว
ความคิดมันหายไปจากหัว
แล้วมีกระแสการรวมดวงทำให้เกิดเป็นดวงสว่างอย่างใหญ่ขึ้นมา
แล้วก็ตั้งมั่นอยู่ไม่ไปไหน
ตรงนั้นเรียกว่าเป็นฌานนะครับ

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ขอสรุปนิดนึงว่าหัดแยกขันธ์
หัดที่จะแยกกาย แยกจิต
คือถ้าตามหลักแล้วก็เป็นสิ่งที่ดีนะครับ
แต่ถ้าจงใจแยกโดยก๊อปปี้จากของเดิมที่ทำได้มา
มันจะกลายเป็นการคิดนึก
มันมีการเอาจินตนาการเป็นตัวตั้ง
ไม่ได้เอาของจริงเป็นตัวตั้ง

ถ้าหากว่าเรารับรู้อยู่
ถึงสภาวะที่กำลังปรากฏตามจริงในปัจจุบันทุกครั้ง
เอาตัวปัจจุบันเป็นตัวตั้งทุกครั้ง
แล้วเกิดความรับรู้ได้ทุกครั้ง อันนั้นถูก
เกิดความรับรู้ว่าไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวตนได้ทุกครั้ง
ประกันได้เลยว่ามาถูกทาง


ถ้าหากว่าเราฝึกหัดแยกขันธ์ด้วยการจงใจทุกครั้ง
ว่าเอาแบบที่เราเคยเห็นมาเป็นตัวตั้ง
อันนั้นคือเป็นการเอาของเก่ามาปฏิบัติใหม่
เป็นการก๊อปปี้เอาของเดิมมาใช้ใหม่ 

นั่นก็คือซีร็อก ไม่ใช่ตัวจริงนะครับ !