ดังตฤณ: สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มสนใจการเจริญสติใหม่
จะไม่ค่อยเข้าใจว่าเค้าเริ่มดูกันอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงความปรุงแต่งทางใจ
ส่วนใหญ่จะนึกถึงอะไรที่ยากและน่าเบื่อ วันนี้เราจะมองกันแบบนักเจริญสติในเมืองที่คลุกคลีอยู่กับภาพเสียงที่มีสีสันเร้าใจอยู่ตลอดเวลา แล้วจะพบว่าการเจริญสติให้เห็นการปรุงแต่งของจิต ไม่ใช่เรื่องไกลตัว
วันนี้เราจะมองกันแบบนักเจริญสติในเมือง
ที่คลุกคลีอยู่กับภาพเสียงที่มีสีสันเร้าใจอยู่ตลอดเวลา
แล้วจะพบว่าการเจริญสติให้เห็นการปรุงแต่งของจิต
ไม่ใช่เรื่องไกลตัว !
• หลายคนบ่นว่าติดเพลง
คล้อยตามเพลงหรืออินไปกับเพลงมาก ๆ
ก็นั่นแหล่ะครับที่เรียกว่า
ใจเราถูกปรุงแต่งไปตามเพลงแล้ว
• ถ้าหากเรารู้วิธี
ที่จะเห็นความปรุงแต่งทางใจขณะอินไปกับเพลง
ก็เรียกว่ายังมีความสุขแบบโลก ๆ
แต่ในขณะเดียวกัน
ก็เริ่มก้าวเข้าสู่พรมแดนของการเจริญสติบ้างแล้ว
สามารถถอดถอนอาการจมลงไปตามอารมณ์เพลงมากเกินไปได้บ้าง
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
• ลองมาใช้เสียงเพลงบรรเลงที่ไม่มีเนื้อร้อง
ซึ่งผมเปิดให้ฟังมาหลายคืน
เพื่อเป็นการสาธิตให้ว่าความปรุงแต่งตามทำนองเพลง
โดยปราศจากเนื้อร้องนั้นเป็นอย่างไร
• เพลงที่คุณได้ยินเป็นทำนองเพลงที่ฟังใสซื่อน่ารัก
ชวนให้อยากยิ้มมุมปากหน่อย ๆ
อันนี้เพราะเสียงเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น
ที่ประกอบกันเป็นทำนองสดใส
สร้างอารมณ์สดใสขึ้นมา
ตัวอารมณ์สดใสนั่นแหล่ะ
ที่ทำให้เราบอกว่าเสียงแบบนี้น่ารัก
ฟังแล้วนึกอยากยิ้ม
• ที่นี้ผมจะไม่ให้ฟังแต่ทำนองแต่บอกชื่อเพลงด้วย
เพลงนี้ชื่อ “ความอบอุ่นกลางสายฝน”
ถ้าคุณนึกถึงชื่อนี้แล้วฟังเพลงใหม่
ลองดูนะครับว่า
จะมีอาการปรุงแต่งทางใจแบบใดเกิดขึ้น
...เพลงบรรเลง...
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
• หลายคนอาจจินตนาการตาม
เช่น เสียงกีตาร์ เหมือนเสียงสายฝนสาดโปรย
และสำหรับบางคน เสียงเพลงอาจเตือนให้จำได้
ถึงช่วงขณะที่อบอุ่นในท่ามกลางความเย็นฉ่ำวันฝนตก
แต่ถ้าเคยเกิดความอบอุ่นกลางสายฝนมาก่อน
จะกับแฟน กับพ่อแม่พี่น้อง
เพื่อนพ้องที่คุ้นเคย
หรือกระทั่งเคยดูหนังน่าประทับใจที่ฝังอยู่ในความทรงจำก็ตาม
ใจคุณจะเหมือนถูกดึงดูดเข้าไปล็อคติด
อยู่กับจินตภาพที่สวยงามตามอารมณ์เพลงทันที
• คนฟังเพลงนี้นะครับ
ถ้าใจไม่โฟกัสไปกับเสียงเพลงจริงจัง
จิตจะค่อย ๆ ออกอาการเหม่อลอยหรือฟุ้งซ่าน
เสียงจะไม่เข้ามากระทบหู
หรือเสียงกระทบหูแต่จินตภาพไม่เกิด
อันนี้ก็เรียกว่า
ใจปรุงแต่งไปตามคลื่นความฟุ้งซ่าน
ที่แทรกขึ้นมาระหว่างการฟังเพลง
• แต่ถ้าระหว่างการฟังเพลงหรือหลังฟังเพลงจบแล้ว
เรายังมีความรู้สึกอ้อยอิ่ง ติดอยู่ในใจ
ก็แปลว่าใจของเราถูกเพลงปรุงแต่งเต็มขั้น
อย่างที่เรียกกันทั่วไปว่า“อิน” กันนั่นแหล่ะ
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
• เราสามารถเห็นความแตกต่างที่ตรงนี้
ดนตรีที่ปราศจากเสียงร้อง
ปราศจากภาษามาปรุงแต่งใจ
ให้เล็งไปแคบๆตามเนื้อร้องนั้น
: บางคนนึกถึงหนุ่มหล่อ
ถึงสาวสวยที่เพิ่งตกหลุมรัก
: บางคนนึกถึงนิยายที่พึ่งอ่าน
: บางคนนึกถึงภาพยนตร์ที่เพิ่งดู
: บางคนนึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวไกลๆที่อยากไปให้ถึง
ซึ่งก็สุดแล้วแต่ว่าอารมณ์เพลง
จะมาตรงกับอารมณ์ทางใจของใครท่าไหน
• แต่ถ้ามีการกำกับคำเข้ามาว่าอารมณ์เพลงนี้สื่ออะไร
ก็จะมีการบังคับให้เกิดจินตภาพขึ้นมาตามคำ
เช่น ขณะที่คนแต่งแต่งเพลงนี้
ทำนองลอยมาตามลมฝนหอมเย็นที่โชยมาทางประตูหน้าต่าง
ความฉ่ำชื่นของอากาศ
ทำให้นึกถึงความฉ่ำชื่นที่เป็นท่วงทำนองประมาณเดียวกัน
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
• ไม่ว่าใจของคุณจะล็อคติดกับอารมณ์แบบไหน
หรือกระทั่งไม่รู้สึกอะไรเลย
เหล่านั้นแหล่ะเรียกว่า ‘การปรุงแต่งทางจิต’
• ความรู้สึกยินดีหรือไม่ยินดีเกิดก่อน
แล้วจากนั้นค่อยกระตุ้นให้เกิดความทรงจำแบบไหน
จากนั้นถ้าความทรงจำมีพลังแรงพอ
ใจของคุณจะค่อยๆ
ด่ำดื่มหรือปักแน่วลงไปมากขึ้นเรื่อย ๆ
แม้กระทั่งเพลงจบใจก็ไม่ถอนจากความรู้สึกอ้อยอิ่งนั้น
• แต่คนส่วนใหญ่จะไม่รู้สึกรู้สา
กับเพลงบรรเลงที่ปรุงแต่งจินตนาการอย่างเป็นอิสระประเภทนี้นัก
เพราะมักชอบแบบที่มีเนื้อร้องมาไกด์เลย
ไกด์ให้เห็น ๆ
เลยว่าจะให้เราเห็นภาพทางใจอย่างไร
จะให้เศร้าขนาดไหน หรือจะปลุกเร้า
ให้เกิดความด่าคนหรืออยากให้อภัยคนยังไง
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
• ทั้งหมดนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า
ภาษาเป็นสิ่งที่ครอบงำใจมนุษย์
เมื่อเราเห็นว่า
แท้จริงแล้ว มีแต่จะครอบได้หรือครอบไม่ได้
: ถ้าครอบได้
ก็ทำให้เราติดอยู่ในอารมณ์นั้นนาน ถอนยาก
: แต่ถ้าครอบไม่ได้
ก็ทำให้เราติดอยู่ในอารมณ์นั้นเดี๋ยวเดียวหรือไม่ติดเลย
• การมองเห็นเข้ามาในสภาพทางใจ
ที่เกิดขึ้นจริงขณะฟังเพลงดังกล่าวนี้นะครับ
จะเป็นจุดเริ่มต้นให้ค่อยๆ มองอย่างเข้าใจว่า
ที่เราถอนใจจากใครบางคนไม่ได้
ก็เพราะในหัวของเรา
มีคำคำหนึ่งหรือหลายๆคำคอยชักใยอยู่เบื้องหลัง
ให้นึกถึงเหตุการณ์ในความทรงจำดีหรือว่าร้าย
เมื่อนึกออกและสิ่งที่นึกนั้นมีพลังแรงพอ
จิตก็จะถูกดูดติดไปไหนไม่รอด
ต่อเมื่อเราเกิดสติเห็นความอ้อยอิ่ง
หรืออาการถอดใจไม่หลุด
ใจก็เหมือนว่าง วาง ไม่วอกแวก ไม่วุ่นวาย
ไม่เห็นว่าภาวะความไม่เที่ยงที่ล่วงลับไปแล้วจะน่าติดใจตรงไหน
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..
• นี่แหละครับ การเจริญสติเห็นความปรุงแต่ง
คุณสามารถฟังเพลงแล้วพบเห็นการปรุงแต่งทางใจได้เสมอ
เป็นยึดมากหรือยึดน้อย
สำคัญคือไม่ว่าจะยึดระดับไหน
ในที่สุดสิ่งที่ยึด ตลอดจนอาการทางใจที่ยึด
จะต้องสาบสูญคลี่คลายกลายเป็นอื่นเสมอ
ลองสังเกตดูนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น