วันพุธที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2556

๑.๑๓ สงบสลับฟุ้ง ออกจากสมาธิแล้วซึม

ถาม :  เวลาทำสมาธิจะเกิดความรู้สึกนิ่งสงบสลับกับฟุ้งซ่าน ซ้ำไปซ้ำมา เข้าๆออกๆ ถ้าเป็นแบบนี้ถือว่าทำมาถูกทางไหมครับ แล้วบางครั้งตอนออกจากสมาธิแล้วก็รู้สึกซึมๆ ไม่ก็รู้สึกตึงจนเครียด ไม่ทราบว่าจะแก้สภาวะเหล่านี้ได้อย่างไรครับ ขอบคุณครับ?

รับฟังทางยูทูป
: http://youtu.be/XMlPLLGPlFk


ดังตฤณ:  เอาตรงคำถามแรกก่อน
ที่ว่ารู้สึกนิ่งสงบ สลับกับฟุ้งซ่านซ้ำไปซ้ำมานะครับ
อันนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคน ณ เวลาที่จิตยังไม่ตั้งมั่น
หรือแม้ว่าจิตตั้งมั่น ต่อให้ได้ถึงฌานแล้วนะ
จิตก็จะมีอาการแบบนี้ให้ดูเสมอนะครับ

เป็นเรื่องที่เราต้องบอกว่า
ไม่ได้เกิดกับเฉพาะคนที่ฝึกสมาธิเท่านั้น
แต่เกิดกับทุกคนบนโลก !

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

เอาเป็นว่าพูดอย่างนี้ก่อนแล้วกัน
คือที่เขาบอกกันตามหลักการของวิทยาศาสตร์คือ
สมองมีคลื่นไฟฟ้า แล้วคลื่นไฟฟ้านี่ก็ส่งออกมาอยู่ตลอดเวลา
ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นคลื่นไฟฟ้าที่มีระเบียบหรือไม่มีระเบียบ
ถ้าไม่มีระเบียบหน่อย ก็เรียกว่าเราจะรู้สึก
ถึงความกระจัดกระจายกระเจิดกระเจิงไม่ค่อยเป็นระเบียบนะ
ก็คือฟุ้งซ่านนั่นเอง
คิดเรื่องโน้นเรื่องนี้
ว่ากันทางกาย ก็คืออาการของสมองอย่างหนึ่งนะครับ
มันไม่มีทางที่จะสงบอยู่ได้ตลอดเวลา
หรือว่ามีความเรียบมีความเป็นระเบียบอยู่ได้ตลอดเวลา

ลักษณะอย่างนี้แหละที่ทางพุทธเราเอาไว้ดูว่า
เดี๋ยวมันก็ฟุ้ง
เดี๋ยวมันก็สงบ
เห็นโดย "ความเป็นของไม่เที่ยง"


ความไม่เที่ยงนี่
ไม่ใช่ว่ามีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งให้ดูนะ
ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะนอกตัว หรือว่าในตัวเรา
สามารถมองเห็นลักษณะของความไม่เที่ยงที่ปรากฏอยู่ได้เสมอ

แม้กระทั่งในเวลาทำสมาธินี่ คนส่วนใหญ่เข้าใจผิด
หรือว่าหลักการทำสมาธินอกแนวพุทธนี่นะ
บางทีเขาจะบอกให้บังคับจิตให้สงบ
ให้บังคับความฟุ้งซ่าน ให้มันระงับลง
ทางพุทธไม่เอานะ ไม่เอาแบบนั้น !

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ทางพุทธจะเอาแค่สิ่งที่เกิดขึ้นตามจริง
เพื่อให้เกิดการยอมรับตามจริง

พอยอมรับตามจริงนั่นแหละ ปุ๊บ! สติมันเกิดแล้ว
แล้วสติเจริญขึ้นตอนที่เราสามารถที่จะเห็นได้เรื่อยๆ
ในการที่ไม่ไปต่อสู้ ในขณะเดียวกันก็ไม่ไปต้อนรับขับสู้
ว่าความฟุ้งซ่านมันจะมาเมื่อไหร่ มันจะหายไปเมื่อไหร่
เราไม่สู้ แล้วก็ในขณะเดียวกัน...
ไม่ไปให้การสนับสนุนด้วย

ในที่สุดเราก็จะเห็นว่า
ทั้งความฟุ้งและความสงบ มันมาๆไปๆ ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย
เหตุปัจจัยอะไร ?
ถ้าฟุ้งซ่าน ก็คือมีความปล่อยใจ
มีอาการที่จิตนี่ 'ไม่สามารถโฟกัส' อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
แต่ถ้าสงบก็คือมีเหตุให้ใจของเรานี่ไป 'สงบอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้
'

เราก็เห็นความเป็นอย่างนั้นแหละ
เห็นว่าเหตุของความเป็นอย่างนั้นมัน
ไม่สามารถทนอยู่ได้ตลอดเวลา
เพราะอะไร ?

เพราะว่ามันไม่ใช่สมบัติที่แท้จริงของใคร
มันมีเหตุของการสืบต่อกันมา


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ถ้าหากว่าเราเป็นคนที่มีความปรุงแต่งทางใจ
ไปในทางสงบโดยมาก
ไปในทางเรียบโดยมาก
เป็นในทางที่คิดอะไรอยู่กับสิ่งเดียว แบบเรียบง่าย
นั่นก็เป็นเหตุของสมาธิ

แต่ถ้าหากว่าเราเป็นคนที่ว้าวุ่นกระสับกระส่าย
คอยแต่ฟังคอยแต่จะดูอะไรที่มันปรุงจิตให้วุ่นวาย
อย่างนี้ก็มีคลื่นความฟุ้งซ่านสะสมอยู่เยอะ
แล้วก็มาปรากฏในสมาธิอย่างชัดเจนนี่แหละ !

เวลาที่เราจะตั้งใจจะดูลมหายใจ
เวลาที่เราตั้งใจจะบริกรรมอะไรก็แล้วแต่
มันจะอยู่ได้ไม่นาน
แล้วคลื่นความฟุ้งซ่านที่สะสมไว้
มันก็จะผลักดันตัวเองออกมาให้ปรากฏ
ความฟุ้งซ่านปรากฏมาก ความสงบปรากฏน้อย


แต่ถ้าหากว่า
เราฝึกสมาธิไปเรื่อยๆ
เราใช้ชีวิตประจำวันสอดคล้องกับความเป็นสมาธิ
เราก็จะรู้สึกว่าความสงบมันมาบ่อยกว่าความฟุ้งซ่าน
แล้วก็สามารถที่จะอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ได้นานกว่าปกติที่ผ่านมาในชีวิต อันนี้ก็จะเป็นผล !

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

อันนี้ก็จะพูดง่ายๆว่า คือสรุปคำตอบ
ตรงนี้ผมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญเลยพูดยาวหน่อยนะ

เวลาทำสมาธิ
อย่าไปตั้งใจว่าจะให้มันสงบ
อย่าไปตั้งใจว่าจะให้ความฟุ้งซ่านมันระงับลงไป
มันเป็นไปไม่ได้ !
มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย
ว่าเราสั่งสมความฟุ้งซ่านมามากแค่ไหน
แล้วก็สั่งสมเหตุแห่งสมาธิมามากเพียงใดนะครับ

มันจะปรากฏสลับกันไปสลับกันมา
ตามเหตุปัจจัยที่เราสั่งสมไว้นั่นแหละ !

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ส่วนคำถามที่ว่าออกจากสมาธิแล้วรู้สึกซึมๆ
หรือไม่ก็รู้สึกตึงจนเครียดมันมาจากอะไร ?

ตอบ อาการซึมนี่นะ
มันจากการที่เรายังมีกำลังไม่ทรงตัว
ยังไม่ตั้งมั่น มันยังไม่ได้ความสดชื่นจากสมาธิ

ถ้าหากว่านั่งสมาธิไปนานพอ
มีประสิทธิภาพมากพอ ได้ผลมากพอนะ
ร่างกายมันจะมีความสดชื่น
จากการที่มันหลั่งสารอะไรดีๆออกมานะครับ
ส่วนจิตใจก็จะมีความเบิกบานจากอาการที่...
คือถ้าจิตเป็นสมาธินี่นะ
มันจะเปิด มันจะกว้างออก
มันจะมีความเบา มันจะมีความใส
ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเหตุปัจจัย
ให้เกิดความสดชื่น ให้เกิดความเบิกบาน ไม่เซื่องซึมนะ

และหากว่าเซื่องซึมก็อย่าเพิ่งท้อนะ
อย่าไปมองว่าเราทำผิดหรือว่าทำถูก

ให้มองว่ามันเป็นอย่างนี้แหละ
การที่เราไปออกแรง
หรือว่าไปพยายามทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานานๆนี่
มันก็ต้องเหนื่อยเป็นธรรมดา
ตอนที่สมาธิมันยังไม่เบ่งบานนะ
ตอนที่ร่างกายมันยังไม่หลั่งสารอะไรดีๆออกมานี่
ต้องมีสภาพของคนที่ทำอะไรมาเหน็ดเหนื่อยเป็นธรรมดานะครับ
.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ส่วนอาการตึงจนเครียดนี่แหละ คือปัญหา !
หรือว่าเป็นโจทย์ที่เราต้องมาตีให้แตก
ขอให้สังเกตว่าการทำสมาธิของเรานี่
มันมีอาการของการจดจ่อมากไปหรือเปล่า
มันมีอาการของการฝืนตัวเองมากเกินไปหรือเปล่า
มันมีความเต็มใจของการทำสมาธิแค่ไหน

ลองสังเกตง่ายๆเลย
ถ้าหากเรามีอาการของ "การเต็มใจทำสมาธิ"
มีอาการของความสดชื่น ความสบาย
มันจะไม่เครียด !


ตรงข้ามเลย คือถ้ามีความเครียดมาทั้งวัน
ถ้าสั่งสมขยะทางอารมณ์มาทั้งวัน
มันจะเหมือนกับว่าหายไปหมด
เหมือนกับอะไรที่มันเกรอะกรังอยู่ในหัวหรือว่ากลางอกนี่
มันจะหลุดไป !

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ถ้าทำมาถูกทาง
ขอแนะนำนะครับว่าวิธีสังเกตง่ายๆเลย
สังเกตบ่อยๆว่า ฝ่าเท้า ฝ่ามือ และใบหน้าของคุณนี่
: มันมีอาการตึงขึ้นมาเมื่อไหร่
มีอาการเครียด มีอาการเกร็ง
มีอาการงองุ้มขึ้นมาเมื่อไหร่
ไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่งของสามจุดใหญ่นี้
คือ ฝ่าเท้า ฝ่ามือ และ ทั่วทั้งใบหน้า
มันจะมีอาการเครียด มันจะมีอาการเกร็งขึ้นมานะ
ถ้าหากว่าคุณสามารถรับรู้ ณ จุดที่มันเกิดขึ้น
แล้วผ่อนคลายให้มันมีความสบายออกไป
คุณจะรู้สึกว่า มีสติ มีความรู้ตัว
และมีความพร้อมที่จะรู้อย่างผ่อนคลาย

แล้วพอออกจากสมาธินี่ แทนที่จะเครียดนะ
ความเครียดหรือว่าอารมณ์ทั้งหมด
ที่มันเป็นขยะทั้งหลาย ที่มันสั่งสมมาตลอดวัน
มันจะพลอยหายไปด้วย เอาแค่สังเกตอย่างนี้แหละ


พูดง่ายๆนะ ช่วงแรกๆนี่
อาจจะเอาตรงนี้เป็นหลักเลยก็ได้
รู้ส่วนไหนของฝ่าเท้า ฝ่ามือ ใบหน้า
มันเกร็ง มันขมวด ขึ้นมาเมื่อไหร่นะครับ
พอรู้ก็ให้มันเกิดการคลายซะ
พอคลายให้รู้สึกสบายตัว
แล้วค่อยไปดูลมหายใจใหม่นะครับ


เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ในช่วงแรกๆ
แล้วจะรู้สึกเลยว่าอาการเครียดหลังจากที่ออกจากสมาธินะ
มันหายไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น