นั่งสมาธิในห้องพระแล้วกลัว
นั่งสมาธิในห้องนอนจะได้ผลแตกต่างกันออกไปไหม?
รับฟังทางยูทูบ https://youtu.be/DPhVztKjRic
อันนี้ก็เคยได้ยินหลายคนเหมือนกันบอกว่า
ถ้าอยู่ในห้องพระแล้วสวดมนต์ หรือนั่งสมาธิจะรู้สึกกลัว
อาจจะเป็นเพราะว่าเคยไปดูหนังผีกันไว้มาก
คือใจมันไปโยงว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์หมายถึงว่าจะต้องเกี่ยวพันกับสิ่งลี้ลับ
หรือว่าจิตวิญญาณอะไรที่เขาจะมาขอส่วนบุญ เขาจะมาขอกันในห้องพระนั่นแหละ
จริงๆแล้วถ้าเราสร้างบรรยากาศทางใจไว้ว่า
อยู่กับพระไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องผีสางเทวดา หรือว่าอะไรที่มองไม่เห็น
มีแต่สิ่งที่เรารู้สึกได้ สัมผัสได้ด้วยใจว่าพระปฏิมาเป็นความสว่าง
พระปฏิมาเป็นมงคล มันก็จะเกิดความสว่างเยือกเย็น เกิดความรู้สึกอบอุ่น
มีความรู้สึกปีติ
ไม่ใช่พอไปนั่งในห้องพระแล้วจิตมันไปนึกโยงโดยที่บางทีก็อธิบายไม่ได้ทำไมถึงกลัว
บางคนก็อธิบายได้นะ บางคนนี่คุณพ่ออาจจะสะสมพระแบบที่ดูขลัง
แทนที่ดูแล้วเหมือนเป็นที่พึ่ง คือโต๊ะหมู่บูชาก็ไม่ได้มีแต่พระพุทธรูป
แต่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาอื่นเข้ามาปนอยู่ด้วย หรือว่าแม้กระทั่งพระพุทธรูปเอง
บางทีก็ดูไม่ใช่มีความสวยงามประณีต หรือว่าน่าจะเป็นที่เคารพรัก
แต่กลายเป็นหน้าตาดุอะไรแบบนั้น มันก็เป็นไปได้ทั้งนั้น
ไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตาม เราจะสั่งสมมาจากหนังผี
หรือว่าเรามาเห็นพระพุทธรูปที่เรารู้สึกว่าน่าเกรงขามอย่างไรก็แล้วแต่
ถ้าจิตของเราไม่เลื่อมใส ไม่นึกถึงความสว่าง ไม่นึกถึงความเย็น
ก็จะเกิดความปรุงแต่งแกว่งไปอีกทางหนึ่งได้เป็นธรรมดา
เพราะว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มักจะคู่กับความลี้ลับ พอนึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ใจจะจัดเข้าพวกไปเป็นสิ่งลี้ลับ หรือว่าสิ่งที่แตะต้องไม่ได้
เป็นนามธรรมที่จับต้องยาก หรือว่ามีความน่าเกรงขามยิ่งใหญ่
ซึ่งใจของเราปรุงแต่งไปได้เป็นต่างๆ ที่ผมพูดมาทั้งหมดก็จะบอกว่า
มันเป็นลักษณะความปรุงแต่งของใจ ซึ่งถ้าเราเห็นเหตุผลความปรุงแต่งทางใจได้
ความกลัวมันลดลงแล้วทันทีครึ่งหนึ่ง ขอให้จำไว้นะ
อะไรก็แล้วแต่ที่เราอธิบายไม่ได้ว่าที่มาที่ไปคืออะไร
เราจะมีความกลัวสิ่งนั้นซ่อนอยู่ลึกๆเหมือนกับที่คนโบราณไม่สามารถจะอธิบายได้ว่า
ฟ้าร้องฟ้าผ่าได้อย่างไร ก็กลัว นึกว่าเป็นเทพเจ้าบันดาล
ทีนี้ถามว่าปฏิบัติในห้องพระกับปฏิบัติในห้องนอน สวดมนต์
หรือว่านั่งสมาธิอย่างไรก็แล้วแต่ อันไหนได้บุญมากกว่ากัน? อยู่ในที่ที่ใจของเราสบายแล้วมีความเลื่อมใส นั่นแหละที่ ที่ได้บุญที่สุด
เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านเคยตรัสไว้ มีคนถามว่า ‘ทำทานตอนไหนได้บุญมากที่สุด?’
ท่านตรัสตอบว่าตอนที่ใจของเรามีความเลื่อมใสในการให้ทาน มีความอยากให้ทาน
มีความปลาบปลื้มในการให้ทาน จังหวะนั้นแหละที่จิตเกิดโสมนัส
และก็ปรุงแต่งให้บุญกุศลเกิดขึ้นเต็มเม็ดเต็มหน่วย วัดกันที่ใจ อย่าวัดกันที่ห้อง
วัดกันที่ความรู้สึก อย่าวัดกันที่ว่าคนเขาสืบๆความเชื่อกันมา
ว่าต้องอยู่ตรงไหนถึงจะได้บุญเป็นพิเศษ
ถ้าหากว่าเราสวดมนต์นั่งสมาธิในห้องนอน แล้วจิตใจสบายได้กุศล
ประสบความสำเร็จในการสวดมนต์ หรือว่านั่งสมาธิแล้วใจนิ่ง ใจมีความสว่าง
ใจมีความเบิกบาน นั่งไปเลย สวดไปเลย เอาที่ห้องนอนนั่นแหละ อย่าเพิ่งมาที่ห้องพระ
ทีนี้ถ้าหากว่าเราสวดมนต์ หรือว่านั่งสมาธิจนกระทั่งเกิดความนิ่ง เกิดความสว่าง
เกิดความเบิกบาน แล้วใจข้ามพ้นจากอาการกลัวไปได้ ค่อยกลับมาที่ห้องพระ
แล้วเราสังเกตความรู้สึกมันจะต่างไป
ใจของเรานี่แหละเป็นต้นตอความกลัว
ใจของเรานี่แหละเป็นต้นตอความมีปีติ มีความเบิกบาน มีความสุข
ใจของเรานี่แหละถ้าตั้งมั่นแล้ว อยู่ที่ไหนมันก็ได้เหมือนเดิม
แบบเดิมๆความรู้สึกเดิมๆ ได้ความคงเส้นคงวาทางใจแบบเดิมๆ กระแสก็เป็นกระแสแบบเดิมๆ
คือมีความรู้สึกว่าใจของเรา
ถ้าสวดมนต์แล้วก็แปลว่าไปผูกไปเล็งอยู่กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์
สิ่งศักดิ์สิทธิ์คือความสว่าง ใจของเราผูกอยู่กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ด้วยความคงเส้นคงวา
มันก็มีความสว่างคงเส้นคงวา เหมือนกันทุกที่ ไม่ว่าจะอยู่ในโบสถ์วิหาร
ไม่ว่าจะอยู่หน้าหิ้งพระ หรือว่าจะอยู่ในห้องนอนของเราเอง ไม่มีความแตกต่างกัน
อย่าไปตั้งโจทย์ว่าอันไหนได้บุญมากกว่ากัน
คนไทยนี่พอพูดถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พอพูดถึงการทำบุญแล้วนี่ มักจะมีการเทียบวัดเสมอเลยว่า
อย่างไหนได้บุญมากกว่ากัน? ทำอย่างไร?
ที่ไหน? ด้วยอุปเท่ห์ของสำนักใดแล้วจะเกิดบุญกุศลขั้นสูงสุด
เราไปรู้สึกได้หรือเปล่าล่ะ เราเอาความคาดคะเนไปเทียบวัดได้หรือเปล่าล่ะ
บุญนี่มันไม่ใช่ชั่งตวงกันได้แบบตวงข้าวสารนะ มันต้องใช้ความรู้สึกเอา
อย่างไหนที่ทำให้เราปลาบปลื้ม ความปลาบปลื้มนั้นแหละ
ศัพท์ทางธรรมะเรียกว่าเป็นโสมนัส ถ้าหากว่าปลาบปลื้มมาก มีความสว่างจัดจ้ามาก
มีความเป็นกุศลมาก ท่านก็เรียกว่าเป็นมหาโสมนัส นั่นแหละเป็นต้นแหล่ง
ต้นกำเนิดของบุญใหญ่อย่างแท้จริง และไม่ต้องไปเปรียบหรอกว่าอันไหนได้บุญมากกว่ากัน
เราสั่งสมบุญวันละเล็กวันละน้อย จะมากบ้างน้อยบ้างอย่าไปเกี่ยง
ขอให้สั่งสมเถอะ และในที่สุดมันจะเกิดความตั้งมั่น คือเราวัดได้ด้วยใจนี่แหละ
ถ้าใจของเรามีความสบายใจอยู่เนืองๆ คำว่าเนืองๆก็หมายความว่าเสมอๆ
ถ้าหากว่ามันมีความโล่ง มีความเย็น มีความสว่างอยู่เป็นปกติ
นั่นแหละเป็นการแผลงฤทธิ์ของบุญที่เห็นได้ทันตาอยู่ในปัจจุบัน
ถ้าเราสั่งสมบุญมาดีจริง มันต้องอยู่ตัว มันต้องอิ่มตัว
โอกาสที่จะเกิดความคิดที่เป็นอกุศล เกิดความเว้าแหว่ง เกิดความมืด
เกิดความรู้สึกกระวนกระวายมันจะลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดเลย
ถ้าเทียบกับในอดีตอาจจะมีความฟุ้งซ่านจัด แต่ปัจจุบันฟุ้งซ่านน้อย
นั่นก็ถือว่าเราทำบุญได้ผลแล้ว บุญแผลงฤทธิ์แล้วนะครับ
วันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2556
๑.๓๘ ห้องนอน ห้องพระ ที่ใหนได้บุญ?
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น