วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2556

๑.๗๗ ทำอย่างไรจะบรรลุธรรมภายใน ๗ ปี?

ถาม : หนังสือ "๗ เดือนบรรลุธรรม" เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงหรือเกิดจากจินตนาการครับ? สงสัยว่าต้องปฏิบัติอย่างไรจึงจะบรรลุธรรมอย่างช้าใน ๗ ปีอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสรับประกันไว้? เพราะเห็นหลายท่านที่ปฏิบัติมานานไม่มีความก้าวหน้า รวมทั้งตัวผมเองด้วย

รับฟังทางยูทูป :  http://youtu.be/xZT_N2ggdqc

ดังตฤณ :  
คำตอบนะครับ จินตนาการล้วนๆครับ
แต่เป็นการเอาประสบการณ์ในการปฏิบัติ
ที่ผมคุยกับคนที่เจริญสติมาเยอะ เอามารวมๆกัน
เพื่อที่จะมาลำดับหลักการและแนวทางปฏิบัติ
ที่เรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ว่า..

ถ้าคนปกติธรรมดาเริ่มต้นนี่เค้าคิดกันอย่างไร
เค้าเกิดแรงบันดาลใจกันอย่างไรถึงอยากจะมาเจริญสติ
แล้วที่พระพุทธเจ้าท่านสอน เอาตั้งแต่ขั้นแรกเลย ดูลมหายใจอย่างไร
เกิดความรู้สึกอย่างไร
เกิดอุปสรรคอย่างไร
แล้วในชีวิตประจำวันมันรู้สึกกันจริงๆอย่างไร
คนธรรมดาทั่วๆไปนี่แหละ

ก็ลองไปอ่านดูในเวป http://www.dungtrin.com/7months นะครับ
สำหรับคนที่ยังไม่ได้อ่าน

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ส่วนที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรับประกันไว้นี่
ท่านรับประกันเฉพาะ
คนที่ทำตามแนวทางของท่านอย่างเต็มที่นะครับ
แล้วส่วนใหญ่คนที่ทำได้เต็มที่จริงๆก็คือ
พระหรือบรรพชิตที่สละโลกแล้ว
ตั้งใจทำกันเต็มที่ ไม่ใช่ทำกันเล่นๆ
ไม่ใช่ดูกันผิวๆ
ไม่ใช่แค่ทันอารมณ์ตัวเองแล้ว
ก็หวังจะบรรลุธรรมภายในกี่ปีกี่ปี

คือให้ตัดสินกันง่ายๆก็แล้วกันว่า
ใจของเราในหนึ่งวัน ๒๔ ชั่วโมงนี่ ผูกกับอะไรโดยมาก
ถ้าหากว่าผูกกับเรื่องข้างนอก ส่งออกนอกตลอดเวลา
แล้วบอกว่าตัวเองปฏิบัติธรรมแล้ว
๕ นาที ๑๐ นาที
หรือว่าจะปลีกวิเวกไป ๑๐ วัน ๒๐ วันอะไรก็แล้วแต่
อย่างนี้ถือว่าใจของคุณยังไม่ได้ผูกอยู่กับการเจริญสติปัฏฐาน

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

คำว่า "เจริญสติ"
ก็ย่อมาจากคำว่า "เจริญสติปัฏฐาน" นี่ล่ะ
สำนวนของพระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า
เป็นการเจริญสติปัฏฐาน
ไม่ใช่เจริญสติในแบบที่มีสติเฉยๆนะ
ไม่ใช่มีสติรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่
แบบนี้ยังไม่ถือว่าใช่นะ

นักยิมนาสติกนี่
มีสติมากกว่าคนเจริญสติส่วนใหญ่เป็นสิบๆเท่านะครับ
เพราะรู้อิริยาบถ
รู้ทุกกระดิกทุกส่วนการเคลื่อนไหวของร่างกาย
แต่เค้าก็ไม่ได้บรรลุธรรม เพราะว่าจิตเขา
ไม่ได้จดจ่ออยู่กับการเห็นกายใจโดยความเป็นของไม่เที่ยง
โดยความเป็นของไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
จิตของเขาหมกมุ่นและผูกพันอยู่กับท่าทางและการร่ายรำ
เพื่อให้ได้รางวัล เพื่อให้ได้คำชม เพื่อให้ได้ตัวตน

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

เหมือนกัน ถ้าหากว่าเราอยู่ในโลก
เราเป็นฆราวาส แล้วใจเรา..
ผูกพันกับ งาน
ผูกพันกับ การได้เงิน
ผูกพันกับ การได้แฟน
หรือแม้กระทั่งผูกพันกับ การปฏิบัติเพื่อให้ได้มรรคให้ได้ผล
แบบนี้มันจะไม่จดจ่อ
มันจะไม่รู้อยู่กับการแสดงความไม่เที่ยงของกายใจ
ลมหายใจเข้าก็ไม่รู้ ลมหายใจออกก็ไม่รู้
ทั้งเข้าและออกเป็นเวลานานๆก็ไม่รู้
มันไม่ได้มีการรับรู้อยู่กับความไม่เที่ยงของกายใจ
มีแต่ความรับรู้อยู่ว่า
ทำอย่างไรฉันจะได้มรรคได้ผล
ทำอย่างไรฉันจะได้ความก้าวหน้า

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ความก้าวหน้าไม่ได้เกิดจาก
การมีอุบายปฏิบัติธรรมแบบใดแบบหนึ่งที่ใครคิดขึ้นมา
แต่ความก้าวหน้าเกิดจาก
การปฏิบัติถูก ปฏิบัติตรง อย่างต่อเนื่อง
"ความต่อเนื่องนั่นแหละ คือ ความก้าวหน้า

คือถ้าให้ผมตอบสั้นๆภายในเวลาแค่ไม่กี่นาที
คงต้องตอบให้อยู่ภายในขอบเขตเท่านี้
ยังไงลองอ่าน ๗ เดือนบรรลุธรรมดีๆนะครับ
มีรายละเอียดอยู่ในนั้นหมดแหละ
ว่าที่พระพุทธเจ้าท่านรับประกันไว้ไม่ใช่ทำกันง่ายๆ
ไม่ใช่แค่เจริญสติกันแบบสบายๆ

แม้แต่ตัวละครนี่ก็อย่างที่ผมดำเนินเรื่องนะ
คือ ตื่นตี ๔ ทุกวัน
แล้วก็มานั่งทำสมาธิ มาเดินจงกรม
เสร็จงานก็กลับเข้าบ้าน
แล้วก็เห็นบ้านเป็นเหมือนสวรรค์ของนักปฏิบัติธรรม
ปิดประตูแล้วก็ไม่ข้องเกี่ยวกับใคร
หรือข้องเกี่ยวบ้าง แต่ก็มีอาการ มีลิมิต มีการยับยั้งชั่งใจ
แล้วก็ตั้งใจทำตามที่พระพุทธเจ้าสอน




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น