วันเสาร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2556

๑.๔๘ สัมมาสมาธิเป็นเหตุให้ถึงนิพพานได้

ถาม :  ขอสอบถามเกี่ยวกับการนั่งสมาธิ ผมไม่เข้าใจสภาวะที่เรียก "วิมุตติ" ว่าจะคล้ายแบบไหน?

รับฟังทางยูทูป
: http://youtu.be/JiXD6nLYKtE

ดังตฤณ:  เอาตรงนี้ก่อน วิมุตติคือการหลุดพ้น
มันมี
ตทังควิมุตติคือวิมุตติชั่วคราว หลุดพ้นชั่วคราว
แล้วก็หลุดพ้นแบบถาวร
หลุดพ้นแบบเด็ดขาด

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

แตกต่างกันอย่างไร?
แตกต่างกันตรงที่ ถ้าหากว่าเป็นการหลุดพ้นชั่วคราวเนี่ย
มันเหมือนกับกิเลสจะเกาะจิตไม่ติด
เหมือนกับจิตของเราเนี่ยเป็นพื้นลื่น
หรือกลายเป็นอากาศโปร่งว่างที่วัตถุจะตั้งอยู่ไม่ได้
อะไรจะมาจับ มาข้องเกี่ยวไม่ได้

ยกตัวอย่างง่ายๆเช่น
ถ้าหากว่าเราสามารถที่จะสวดมนต์ได้หลายๆจบ
แล้วจิตไม่ข้องเกี่ยวกับความนึกคิด
ในทางด้านโลภะ ในทางด้านราคะ
ในทางด้านที่มันจะทำให้เกิดโทสะความขัดเคือง
หรือว่าพอสวดมนต์เสร็จ พิจารณาว่าจิตมันมีความสบาย
จิตมันมีความสุขแบบนี้เนี่ย เดี๋ยวหนึ่ง เดี๋ยวมันก็ต้องกลายเป็นอื่น
มันกลายเป็นความรู้สึกทึบๆขึ้นมา กลายเป็นความฟุ้งๆขึ้นมา
แล้วอาการที่มีความสำคัญมั่นหมายว่าจิตเป็นตัวเรา เป็นตัวเป็นตนมันหายไป
มันกลายเป็นความรู้สึกว่าจิตไม่ใช่เรา
ตรงนี้ก็เรียกว่าเป็น ตทังควิมุตติ
คือจิตเป็นอิสระจากกิเลส
เป็นอิสระจากอุปาทานขึ้นมา "ชั่วคราว
"

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ถ้าหากว่าไปเปรียบเทียบ
กับ
วิมุตติแบบที่เป็น สมุจเฉทประหาร
คือกิเลสมันขาดไปโดยเด็ดขาด อุปาทานขาดไปเด็ดขาด
ถูกทำลายเด็ดขาดแบบพระอรหันต์
ท่านจะมีสำนึก มีความรู้สึกอะไรแบบที่เรารู้สึกได้นี่แหละ
ยังเป็นสุขเป็นทุกข์ได้ทางกายนะ
แต่ท่านจะไม่มีความทุกข์ทางใจอีกแล้ว
ใจจะหลุดอย่างสิ้นเชิงจากความเกาะเกี่ยว
หรือว่าอุปาทานว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นตัวเป็นตน
นี่เรียกว่าเป็น "วิมุตติแบบถาวร" นะครับ

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

อย่าไปสงสัยว่า มันคล้ายแบบไหน
เอาเป็นว่าพระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า
ถ้าจะอนุมาน คือประมาณเอาว่านิพพานเป็นอย่างไร
ขอให้ดูตอนที่จิตมีปัญญา มีสติ
ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ ตัวนี่แหละ
คือพูดเนี่ยมันง่าย แต่เอาเข้าจริงบางทีมันอาจจะเข้าใจยากนิดหนึ่ง
ขอให้นึกถึงตอนที่เรากำลังมีความชื่นใจอย่างที่สุด
ไม่คิดเลยถึงเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ
ไม่คิดเลยเกี่ยวกับเรื่องที่น่าขัดเคือง
ไม่คิดเลยเกี่ยวกับเรื่องสำคัญตัวแบบผิดๆ
แล้วจิตมีความปลอดโปร่ง
มีความรู้สึกอยากที่จะทิ้งความสำคัญผิดทั้งหลายออกไป
มีแต่ความแผ่ไปไม่มีประมาณของความสุข
นั่นแหละตรงนั้นเป็นความสุขแบบวิมุตติชั่วคราว
เป็น ตทังควิมุตตินะครับ

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ถาม : เหมือนสภาวะการนอนหลับแต่มีสติรู้หรือเปล่า? ถ้ายังมีสติรับรู้ก็จะเห็นการเกิดดับอยู่หรือ? ถ้าอยู่ในอารมณ์ที่เป็นอุเบกขา พระอาจารย์บางท่านก็บอกว่าอุเบกขาต้องวาง แล้วต้องใช้ปัญญาอย่างไรในการวางอุเบกขาครับ? ถ้าวางอุเบกขาได้จะเรียกว่าเป็นสภาวะวิมุตติหรือไม่?

ดังตฤณ: เอาตรงนี้นะ คือถ้าหากว่าเป็นอุเบกขาเนี่ย
อุเบกขาต้อง ประกอบด้วยปัญญาด้วย !
ไม่ใช่ว่าอุเบกขาแบบเฉยแบบเหมือนกับที่เราเห็นแมว
แมวก็สามารถจะวางอุเบกขาได้
เราเอาอาหารมาล่อ แล้วมันอุเบกขา
หันหน้าไปทางอื่นอะไรแบบนี้
อย่างนี้ไม่ใช่อุเบกขาที่ประกอบด้วยปัญญา

ถ้าอุเบกขาที่ประกอบด้วยปัญญาเนี่ย
มันต้องตั้งต้นด้วยความมี
สัมมาทิฏฐิ

คือเล็งไว้ก่อนว่ากายใจเนี่ยไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน
แล้วเอาสติเข้าไปตามดูจริงๆว่า
ลมหายใจในแต่ละขณะ
เดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออก เดี๋ยวก็ยาว เดี๋ยวก็สั้น
จนกระทั่งจิตเห็นความไม่เที่ยง
แล้วถอยออกมาเป็นผู้รู้ ผู้ดูจริงๆ
ตัวนี้มันจะเริ่มเป็นอุเบกขาขึ้นมา
อุเบกขาที่ประกอบด้วยปัญญา

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ปัญญาคืออะไร?


ปัญญาคือเห็นว่าที่มันเข้า ที่มันออกอยู่
ล้วนแล้วแต่แสดงความไม่เที่ยง ไม่ใช่แสดงความเที่ยง
ล้วนแล้วแต่แสดงความไม่ใช่ตัวตน
หาใช่แสดงความเป็นตัวเป็นตนของใครไม่
ถ้าหากว่าเรามีความรู้สึกว่า ใจเป็นอิสระชั่วคราว
ว่าสิ่งที่มันกำลังเกิดดับๆไม่ใช่ตัวตนของเรา
ท่านเรียกว่าเป็น
ตทังควิมุตติ

ถ้าหากว่ามีความตั้งมั่นขึ้นมาระดับหนึ่ง
หมายความว่า ยกตัวอย่างที่เข้าใจง่ายก็คือ
เราเห็นลมหายใจ สักแต่เป็นธาตุลมเข้าออก
เข้าออกอยู่เป็นชั่วโมง ไม่รู้สึกเลยว่าลมหายใจเป็นตัวเป็นตน
มีแต่การแสดงความไม่เที่ยง
เป็นหลักฐานของความไม่เที่ยง ไม่ใช่หลักฐานของความเที่ยง
อย่างนี้ชั่วโมงนั้นก็เรียกว่า
มีจิตตั้งมั่นอยู่ในความเป็นอุเบกขา
ตั้งมั่นอย่างมีปัญญา
ปัญญารู้ว่าลมหายใจสักแต่เป็นธาตุลม
ไม่ใช่เป็นบุคคล ไม่ใช่เป็นเราเขา ไม่มีเพศ
ไม่มีความน่ารัก ไม่มีความน่าเกลียด ไม่มีความขี้เหร่
ไม่มีความล้ำเลิศอะไรทั้งสิ้น
มีแต่ลักษณะความไม่เที่ยงที่กำลังปรากฏต่อใจ
แบบไม่ต้องสงสัยเลย ไม่ต้องให้พระพุทธเจ้ามาตรัส
ไม่ต้องให้ใครมายืนยันว่า อันนี้เป็นตัวเป็นตนของใครหรือเปล่า
เราสามารถรู้ด้วยจิตแบบนั้นเลย
ว่ามันไม่เที่ยงจริงๆ ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เราเขาจริงๆ
สักแต่เป็นธาตุลม

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

แล้วจากนั้นมาพิจารณาดูอย่างอื่น
ไม่ว่าจะเป็น
ความสุข ที่เกิดขึ้นจากสภาวะของจิตที่ตั้งมั่น
หรือว่า
ตัวความสงบ ของจิตเอง
มันก็มีความไม่ตั้งมั่น !

อันนั้นแหละ ถ้าหากว่ารู้อยู่เห็นอยู่ ด้วยความวางใจเฉย
ไม่มีความรู้สึกว่าเป็นเราเป็นเขา
ไม่ได้ดีใจลิงโลดว่า เออ นี่ฉันทำได้
นี่ตัวนี้ที่เรียกว่าอุเบกขา อันเกิดจากการที่เราเห็นความไม่เที่ยง
แล้วก็ไม่ใช่ตัวตนนะครับ
วิมุตติที่เกิดขึ้น มันก็เป็นวิมุตติชั่วคราวอีกเหมือนกัน
แต่ว่าเป็นวิมุตติที่ยืนพื้นอยู่ด้วยลักษณะของจิตที่ตั้งมั่น
เป็นสมาธิใกล้เคียงกับการได้พบนิพพาน

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

พระพุทธเจ้าตรัสว่า
ผู้ที่มีสมาธิเป็นสัมมาสมาธิ แม้แต่ชั่วขณะจิตเดียว
ก็ได้ชื่อว่าอยู่ใกล้นิพพาน

สมาธิในที่นี้บอกย้ำไว้นะว่าเป็นสัมมาสมาธิ

สัมมาสมาธิคืออะไร?
สมาธิที่เกิดขึ้นจากการจุดชนวนด้วยสัมมาทิฏฐิ
คือต้องมีความเห็นที่ถูกก่อน
ตั้งความเห็น ตั้งมุมมองเกี่ยวกับกายใจนี้ ไว้อย่างถูกต้องเสียก่อน
ว่ามันไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน
แล้วมีสติตามเข้าไปเห็นเป็นขณะๆว่า
ไม่เที่ยงจริงๆด้วย ไม่ใช่ตัวตนจริงๆด้วย
แล้วเกิดความตั้งมั่นขึ้นมา
นั่นแหละที่เรียกว่าสัมมาสมาธิ

แล้วสัมมาสมาธินั่นแหละ
ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นเหตุให้ถึงนิพพานได้
แล้วก็แม้แต่จะมีสัมมาสมาธิเพียงแค่ขณะจิตเดียว
ก็ได้ชื่อว่าอยู่ไม่ห่างนิพพานเลย
นี่คือคำตรัสของพระพุทธเจ้านะครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น