วันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2556

๑.๒๑ เดินจงกรม แต่รู้ลมหายใจมากกว่าเท้า?


ถาม : เดินจงกรมไปทำงานแต่ส่วนใหญ่จะไปรู้ลมมากกว่าเท้า ยังถูกไหม ช่วยแนะนำด้วย?

รับฟังทางยูทูบ :  http://youtu.be/9R6VUnzYN8g

ดังตฤณ: 
เวลาผู้หญิงรู้เท้ากับรู้ลมนี่นะเท่าที่ผมสังเกตมานะครับ จะมีความลังเลสงสัยไม่แน่ใจ แล้วก็มันขึ้นมายุ่งๆอยู่กับความสงสัยเสียมากกว่าที่จะเห็นเท้าหรือเห็นลมจริงๆนะ

ถ้าหากว่าเห็นเท้าหรือเห็นลมจริงๆ
ปกติมันจะไม่เกิดความกระสับกระส่ายมากหรอก
แต่เพราะใจมาผูกอยู่กับความสับสน
จิตมาผูกอยู่กับความถูกความผิด
หรือว่ามาเอาการตัดสินนะว่าใช่หรือไม่ใช่นี่
จิตแบบนี้นี่แหละที่มันจะไปไม่ถึงไหน
มันจะไม่ได้รู้อะไรสักอย่างทั้งลมแล้วก็เท้านะ
ลองสังเกตก็แล้วกัน

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

อย่างคุณบอกว่าส่วนใหญ่จะไปรู้ลมมากกว่าเท้า แล้วลองสังเกตไปอีกนิดหนึ่งว่าที่บอกว่ารู้ลมมากกว่าเท้านั้นนะ มันมีความสงสัยปนอยู่ด้วยกี่เปอร์เซ็นต์ ถ้าหากว่าเรารู้ลมทุกครั้งไปได้สิบครั้งโดยไม่มีความสงสัยเลยว่า เอ๊ะ นี่กำลังทำถูกหรือทำผิดอยู่ นี่เรียกว่าไม่มีความสงสัยเจือ

แต่ถ้าหากว่ารู้ลมไปสิบครั้งแล้วมางงกับตัวเอง หรือถามตัวเองว่า เอ๊ะ! นี่ควรจะไปรู้เท้าหรือรู้ลมกันแน่ เอ๊ะ! นี่กำลังทำถูกหรือทำผิดกันแน่ นี่แหละ เรียกว่าจิตเข้าไปพัวพัน เข้าไปผูกติดอยู่กับความสงสัย ถูกความสงสัยขัดขวางความเจริญก้าวหน้าแล้วนะครับ

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ท่านถึงบอกว่า วิจิกิจฉา เป็นหนึ่งในห้าของตัวถ่วงความเจริญในการเจริญสตินะ ที่ท่านเรียกว่านิวรณ์ นั่นแหละ ที่ท่านบัญญัติไว้ว่าเป็น นิวรณธรรม หมายความว่า เรามีอะไรบางอย่างมาขวางไม่ให้การเจริญสติมันต่อเนื่องหรือก้าวหน้า หรือว่าคืบหน้าไปเป็นเส้นตรง แต่ว่าวกวนกลับไปกลับมาอยู่ในระหว่างจุดเริ่มต้นกับจุดก้าวหน้า

ไม่ใช่มีเฉพาะความลังเลสงสัย มันยังมีกามฉันทะ ความพึงพอใจในกามคุณทั้งห้า พอใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส แล้วก็มีความผูกใจพยาบาทกับคนใดคนหนึ่ง สังเกตเถอะว่าพอเรามีความผูกใจเพ่งเล็งอยู่ อยากแก้แค้นใคร มันจะไม่อยากเจริญสติ มันจะไม่อยากยอมรับตามจริงอะไรทั้งสิ้น

หรือว่ามีความหดหู่เซื่องซึมอยู่นะ ความหดหู่เซื่องซึมนี่ก็จะทำให้ขาดกำลัง ไม่สามารถที่จะมีแก่จิตแก่ใจที่ไปเจริญสติยอมรับตามจริงในปัจจุบันได้ หรือถ้าหากมีความฟุ้งซ่าน มีความกระวนกระวายใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่

แม้กระทั่งนี่นะ อย่างเช่นที่มาคิดว่าเรากำลังรู้ถูกอยู่หรือรู้ผิดอยู่ เรากำลังรู้สิ่งที่ใช่หรือไม่ใช่ เอ๊ะ เราควรจะไปรู้เท้าหรือรู้ลมมากกว่ากัน อันนี้แหละ เรียกว่า อุทธัจจะกุกกุจจะ คือมันมีทั้งอย่างอุทธัจจะนี่เป็นความฟุ้งซ่านไปในเรื่องโลกๆ แต่ถ้าเป็นกุกกุจจะก็จะเป็นฟุ้งซ่านในเรื่องธรรมๆนี่แหละ การฟุ้งซ่านในเรื่องธรรมๆ มันก็เกิดขึ้นได้ในระหว่างการปฏิบัติช่วงต้นๆ อย่างนี้เหมือนกัน

นอกจากนั้น ข้อสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือ วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัยไม่แน่ใจ ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นี่มันถูกหรือว่าผิด มันอยู่ในทิศทางที่ใช่หรือไม่ใช่

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ถ้าหากว่าเรายังถามตัวเองอยู่นะว่าควรจะรู้ลมหรือว่ารู้เท้ามากกว่ากัน
แสดงว่า ณ ขณะนั้นจิตของเราไม่อยู่ในอาการยอมรับตามจริง
แต่อยู่ในอาการสงสัยลังเล
ซึ่งเป็นตัวขวางไม่ใช่ตัวส่งเสริมสนับสนุน

วิธีที่ถูกต้องก็คือ
ถ้าหาก ณ ขณะนั้นลมปรากฏเด่น
ก็ให้รู้ลมไปอย่างเดียวไม่ต้องไปรู้เท้า
แต่ถ้าขณะนั้นเท้าปรากฏเด่นก็ให้รู้เท้าไม่ต้องไปรู้ลม

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

แต่ถ้าหากว่าเราเดินจงกรมแบบสบายๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเช้าขึ้นมานะ สมองยังโล่งๆอยู่
เอาแค่ความรู้สึกว่า เออ กระทบๆๆไป
แล้วไม่สนใจว่าจะมีอะไรต้องรู้หรือไม่ต้องรู้อีกบ้าง
เอาตามธรรมชาติที่มันเกิดขึ้น ณ ขณะนั้น

ถ้าหากว่าจิตมีสติดีพอ
จิตมีความเยือกเย็น มีความใจเย็นมากพอนะ
คุณจะพบว่านอกจากฝ่าเท้าสัมผัสให้รับรู้ได้
มันยังมีอะไรอย่างอื่นให้รู้นอกเหนือไปจากนั้นอีก

อาจจะเป็น "ลม" ก็ได้
หรือว่าอาจจะเป็น "ผัสสะ" ที่มากระทบ
ทำให้เกิด "ความรู้สึกชอบใจหรือไม่ชอบใจ"
ทำให้เกิด "ความรู้สึกอึดอัดหรือสบาย"
อะไรก็แล้วแต่ที่กำลังปรากฏตามจริงนะ

เรารู้ไป
รู้ไปให้ "ตรงกับจุดเกิดเหตุ"
แล้วไม่ต้องไปกังวล
ไม่ต้องสงสัยว่าเรากำลังรู้ถูกหรือรู้ผิด
ในเมื่อมันรู้อยู่ชัดๆ
ไม่ต้องไปสนใจว่าเรากำลังรู้อย่างนี้แล้วจะได้อะไรขึ้นมา

เพราะว่าผลที่ออกมาจากการตามรู้ ตามดู ตามเจริญสติไป โดยไม่มีข้อสงสัยนั่นแหละ มันจะบอกเราเองว่า อ๋อ! จิตที่มีความว่องไวในการรับรู้ ในการยอมรับตามจริงนั่นแหละ คือความก้าวหน้าที่แท้จริง

จิตที่มีความพร้อมรู้ พร้อมยอมรับตามจริงนั่นแหละคือสิ่งที่เราต้องการจากการเจริญสติ

ไม่ใช่ว่าไปกำหนดตายตัวอยู่ว่าเราจะต้องรู้เท้าเท่านั้น เราจะต้องรู้ลมหายใจเท่านั้น หรือว่าเราจะต้องรู้อะไรมากกว่ากัน ไม่ใช่นะ อะไรก็แล้วแต่ที่มันกำลังปรากฏตามจริง และเราสามารถยอมรับได้ นั่นแหละครับ ความสำเร็จในการเจริญสติขั้นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น