วันพุธที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2556

๑.๑ จิตส่งออกนอก นานทีจะรู้สึกตัว

ถาม : เมื่อเวลาอยู่กับคนหมู่มากจิตจะส่งออกไปหมดเลยครับ จะรู้ตัวบ้างแต่นานมากๆ กว่าจะรู้สึกตัวได้ทีหนึ่ง หรือบางทีก็ออกจากคนกลุ่มนั้นมาแล้ว ถึงมีสติรู้สึกตัวขึ้นมาได้ ปกติแล้วเมื่อได้นั่งเฉยๆ สติจะเกิดถี่มากครับ แต่เมื่ออยู่กับคนหมู่มาก ถึงจะนั่งเฉยๆ ก็เหมือนเหม่อ หรือว่าหลงไปอยู่ในโลกของความคิด เป็นเพราะว่ากำลังของสมถะไม่มากพอหรือเพราะอะไรครับ ขอคำแนะนำด้วย?

รับฟังทางยูทูบ :  http://youtu.be/caQ4Z9MvH6o

ดังตฤณ: 
การที่เราอยู่ในท่ามกลางคนหมู่มากนี่นะ ขอให้คิดง่ายๆ ก็แล้วกันว่า เราลงไปอยู่ในคลื่นทะเลที่โยกไปโยนมา เราไม่สามารถเลี้ยงตัวอยู่ได้นิ่งๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากเราเป็นมือใหม่ในการฝึกว่ายน้ำ แต่ถ้าหากว่าเรามีความนิ่ง หรือว่าตัวเราสูงพอที่จะหยัดยืนอยู่บนพื้นทรายนะครับ เราได้ที่มั่น เราได้ที่ตั้งแล้ว ถึงแม้ว่าคลื่นจะแรงสักหน่อยก็ไม่เป็นไร เราสามารถที่จะทรงตัวอยู่ได้ 

อันนี้ฉันใดก็ฉันนั้นครับ จิตนะครับ ถ้าหากว่าเราลองมองเป็นน้ำซักกลุ่มหนึ่ง เป็นน้ำที่อยู่ในตัวเรา แล้วไปปนกับคลื่นน้ำภายนอกที่โยกไปโยนมา เป็นกลุ่มน้ำที่แรงกว่าเรา แล้วก็มีความสั่นสะเทือนถึงเราได้ เราไม่มีเกราะ เราไม่มีความแข็งแรงพอนี่ก็แน่นอนครับ คลื่นน้ำในเราก็ต้องโยกโยนตามไป มันเป็นไปได้ยากที่จะไม่ให้โยกโยนไปนะครับ อันนั้นแหละที่คุณพูดถึงคำว่าสมถะ

ถ้าหากว่ามีสมถะแข็งแรง หมายความว่า คลื่นจิตของเราจะมีความเสถียร มีความนิ่ง มีความสามารถที่จะดำรงคงอยู่ ทรงตัวอยู่ในภาวะที่ไม่คลอนแคลน ก็จะสามารถอยู่ท่ามกลางคลื่นรบกวนภายนอก ไม่ว่าจะอยู่ในท่ามกลางคนหมู่มากสักเท่าไร เราจะสามารถเห็นได้ว่าจิตของเราไม่แปรปรวนตามคลื่นรบกวนภายนอก 

แต่ถ้าหากว่าเราจำเป็นต้องไปอยู่ในท่ามกลางหมู่คนที่เค้ามีความฟุ้งซ่านมากๆ หรือมีคลื่นโทสะแรงมากๆ หรืออาจจะคุยเรื่องเพ้อเจ้อ คุยเรื่องละเม็งละคร คุยเรื่องวิจารณ์คนโน้น คนนี้ หูเรานี่ต้องได้ยินเขามา ใจเรายังไม่แข็งพอก็ยอมรับไปก่อน ยอมรับตามจริงว่าได้ยินแล้วเกิดความรู้สึกปั่นป่วน เกิดความรู้สึกว่าฟุ้งซ่านตาม ถึงแม้ว่าใจเราจะไม่ยินดีในคำนินทาว่าร้าย ไม่ได้ยินดีในการพูดไร้สาระเพ้อเจ้อของคนอื่นๆ นะครับ แต่ใจเราก็ต้องปั่นป่วนไป ถูกกระทบให้มีความฟุ้งซ่านตามไปด้วย

อันนี้ต้องยอมรับตามจริงเสียก่อน เพื่ออะไร เพื่อที่จะเห็นตามจริงว่า คลื่นความปั่นป่วนของเรา ณ ขณะที่มันถูกรบกวนได้มีความรุนแรงแค่ไหน ถ้าหากว่าเราสามารถตั้งต้นเห็นได้ว่าความฟุ้งซ่านของเรามีอยู่เท่าไร ตรงนั้นเราจะนับว่าเราไม่หลงเข้าไป ไม่จมเข้าไปในอาการฟุ้งซ่านแล้ว เปรียบเหมือนกับว่า ถ้าเราอยู่ในทะเล ทะเลตื้นๆ แต่ว่าเท้าเรายังยืนไม่ถึงพื้น เราสามารถที่จะรับรู้ได้หรือเปล่าว่าตัวเราโยกโยนไปแค่ไหน ถ้าหากว่าเราไม่รู้ เราเอาแต่ตะกายหรือพยายามที่จะหลบหนีคลื่น ก็ยิ่งไปกันใหญ่ มันก็ยิ่งมีความกระสับกระส่าย ทั้งทางการและทางใจนะครับ พูดง่ายๆ ว่ากระสับกระส่ายอยู่แล้ว บวกความกระสับกระส่ายอันเกิดจากความอยากจะหายกระสับกระส่ายเข้าไปอีก 

ถ้าหากว่าครั้งต่อไปทดลองดู เมื่อเราอยู่ท่ามกลางผู้คนแล้วรู้สึกมึนๆ ป่วนๆ นะครับ เพราะว่ามันแตกต่างจากตอนที่เราอยู่คนเดียวนิ่งๆ ให้ยอมรับตามจริงว่า ตอนนี้เราปั่นป่วนอยู่ เมื่อยอมรับตามจริงว่าปั่นป่วนอยู่ ลองหายใจทีหนึ่งนะครับ หายใจทีหนึ่งครั้งนั้นด้วยความยอมรับว่ามีความปั่นป่วนอยู่ในหัว มีความรวนเร มีความกระอักกระอ่วนอึดอัดอยู่ในอก แล้วต่อมาลมหายใจนั้นหายไปแล้ว หายใจเฮือกต่อมา หายใจตามสบายตามที่ร่างกายต้องการ ไม่ใช่ไปเร่งลมหายใจ เรียกลมหายใจเข้ามา เอาตามจังหวะของร่างกาย ตามธรรมชาติธรรมดาของร่างกายว่าต้องการลมหายใจครั้งต่อไปเมื่อไร เราก็ค่อยหายใจเข้ามาเมื่อนั้น หายใจครั้งที่ ๒ นี่สังเกตดูว่าคลื่นความปั่นป่วนคลื่นความฟุ้งซ่านนี่ยังเท่าเดิมกับลมหายใจเมื่อครู่นี้หรือเปล่า


ถ้าหากว่าเราใช้ลมหายใจเป็นตัวแบ่ง เป็นจุดสังเกตนะครับว่า ขณะเมื่อครู่ที่ผ่านมากับขณะนี้ มีความแตกต่างกันอย่างไรในความฟุ้งซ่าน คุณจะเห็นว่า ครั้งแรกมีความมึนมาก มีความรู้สึกเบลอๆ มีความรู้สึกเหมือนกับปั่นป่วน ค่อนข้างจะรุนแรง แต่หายใจครั้งที่ ๒ นี่ ตอนนี้มันมีสติขึ้นมาแล้ว สตินี่แหละครับจะทำให้คลื่นความปั่นป่วนลดลงตามธรรมชาติ และสตินี่แหละ มันก็จะเห็นว่า จิตของเราเอง มีความปั่นป่วนน้อยลง มีความมัวหมองน้อยลง มีความตามคลื่นของคนอื่นที่เค้ากำลังซัดแรงน้อยลง 

ตัวเห็นน้อยลงนี่แหละ ที่เขาเรียกว่า เห็นอนิจจัง เห็นความไม่เที่ยงแบบอ่อนๆ ถ้าหากว่าเรายังไม่หยุดนะครับ ลมหายใจเข้าครั้งต่อไป เอาตามธรรมชาตินะ อย่างไปเร่งนะ อันนี้สำคัญมากเลยนะครับ เอาลมหายใจที่เกิดขึ้นนะ เข้าแล้วก็ออกตามธรรมดา ตามธรรมชาติปกตินี่แหละเป็นตัวแบ่ง เป็นจุดสังเกตว่าคลื่นความฟุ้งซ่าน คลื่นความปั่นป่วนเรรวนในตัวเรานี่มีเท่าเดิมหรือเปล่า มันเข้มขึ้นหรือว่าอ่อนแรงลงนะครับ 

ถ้าหากว่าเราเห็นความไม่เที่ยงไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งนะ คุณจะรู้สึกว่าตัวเราหายไป มีแต่คลื่นความปั่นป่วน มีแต่คลื่นความฟุ้งซ่านอันเกิดจากคลื่นกระแทกภายนอกมารบกวน จากนั้นนี่คุณจะรู้สึกถึงสติที่เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ จิตมีความตั้งมั่น มั่นคงมากขึ้นเรื่อยๆ ทรงตัวได้มากขึ้นเรื่อยๆ ถึงจุดนั้น คุณจะมีความรู้สึกว่า คลื่นความปั่นป่วนภายในของเราหายไป เหมือนกับว่ามีเกราะมีกำบัง มีสุญญากาศระหว่างเรากับโลกภายนอก ถึงแม้ว่าเรายังสามารถรับรู้ได้ว่าโลกภายนอกเต็มไปด้วยความปั่นป่วน ไม่ต่างไปจากเดิมแม้แต่น้อย แต่ว่าใจของเราเริ่มมีสุญญากาศจากมันแล้วนะครับ ลองไปทำดู

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น