วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2559

เสียงนินทาและการจัดการกับความรู้สึก

ถาม : ไม่ได้ใส่ใจคนที่นินทาแต่รำคาญมาก ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ไปยุ่งกับเขาแต่เขาก็ยังนินทาเราตลอดเวลา จะมีวิธีไหนให้เขาเลิกพูดเกี่ยวกับเราเสียที เพราะมันนานแล้วแผ่เมตตาแล้วก็ยังไม่ไป


รับฟังทางยูทูบ  https://youtu.be/gtFJVS0bBB4

(ดังตฤณวิสัชนา Live # ๔ ทางเฟสบุ๊ก ๒๔ เมษายน ๒๕๕๙)

ดังตฤณ : 

มีสองประเด็นให้ตอบนะ ประเด็นแรกคือ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “คนไม่ถูกนินทาในโลกนั้นไม่มี” นะครับ  เราจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม จะมีคนพูดถึงเราในทางไม่ดีเสมอ เพราะว่าคนเราเห็นอะไรต่างกัน เราเห็นออกมาจากมุมมองของเรา เขาเห็นออกมาจากมุมมองของเขา  เพราะฉะนั้นเนี่ยถ้าหากว่ามุมมองที่มันต่างกันนั้นประกอบอยู่ด้วยความรู้สึกที่ไม่ดี ความรู้สึกที่จะเอาเข้าตัว หรือว่าความรู้สึกเหมือนกับอยากแข่งได้ชิงดีอะไรก็ตามเนี่ยนะ  มันจะทำให้เกิดความรู้สึกอยากนินทา อยากพูดถึงในทางไม่ดีขึ้นมาเสมอนะครับ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และเป็นสัตว์สังคมประเภทชอบนินทานะครับ  อันนี้เป็นการทำความเข้าใจอันดับแรกซึ่งรู้ๆ กันอยู่ แต่ว่ามันเข้าไม่ถึงใจ อันนี้เป็นประเด็นแรกนะ

ประเด็นที่สองนะครับ คือแทนที่จะมองว่าจะแก้ปัญหาข้างนอกอย่างไรนะครับ  ขอให้มองว่าไอ้สิ่งที่เราอยากหลบจริงๆ เนี่ย คือความรู้สึกไม่ดีที่มันเกิดขึ้นในใจเราเอง  พ้อยท์นะครับ พ้อยท์ที่ชัดเจนนะก็คือว่า  พอเวลาเราได้ยินเสียงนินทาหรือว่ารับรู้ว่าเกิดการพูดติเตียนหรือว่าว่ากล่าวอะไรก็ตาม ไอ้ตรงนั้นเนี่ยมันเป็นเสียงภายนอก ซึ่งเราไม่สามารถจะควบคุมได้ ไม่สามารถจะตามทำความเข้าใจได้หมดได้  แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในใจของเราคือความขัดเคือง ความรู้สึกไม่ดี ความรู้สึกแย่ๆ เนี่ย อันนี้เป็นสิ่งที่เราสามารถจะตามรู้ได้ จะตามทำความเข้าใจกับมันได้ คือตัวโทสะนี่นะ สิ่งเดียวที่พระพุทธเจ้าเน้นย้ำให้ทำความเข้าใจก็คือว่า “โทสะที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะร้อนขนาดไหน ไม่ว่าจะเกิดยืดยาวขนาดไหน ในที่สุดมันจะแสดงความไม่เที่ยงออกมา” คืออันนี้อาจจะตอบไม่ตรงประเด็นปัญหาแต่จริงๆ แล้วมันตรงนะ ลองฟังให้จบนะ 

เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกว่า โทสะมันเป็นความไม่เที่ยง คือวิธีง่ายๆ นะครับ อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านให้ดูก็คือ สังเกตโดยอาศัยลมหายใจเนี่ยเป็นเครื่องชี้ว่า โทสะมันเกิดขึ้นที่ลมหายใจนี้ แล้วไอ้ลมหายใจต่อมาเนี่ยโทสะมันยังเท่าเดิมได้ไหม หรือว่ามันมากขึ้น หรือว่ามันน้อยลง  เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกถึงความไม่เที่ยงของโทสะ เมื่อนั้นเรามีความเข้าใจเกี่ยวกับโทสะเนี่ยชัดเจนแล้วนะ  ความเข้าใจก็คือว่า โทสะ ไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นด้วยเหตุอะไรก็ตาม ด้วยเสียงนินทาหรือว่าด้วยความขัดเคืองไม่พอใจในผู้คนในรูปแบบไหนก็ตาม มันจะมีความไม่เที่ยงเสมอ และเมื่อจิตของเรามันวางมันไม่ยึดเอาโทสะเป็นสิ่งสำคัญของมัน  คือจิตเนี่ยถ้ายกเอาอะไรก็ตามมาเป็นสิ่งสำคัญของมัน จิตจะโฟกัสอยู่กับสิ่งนั้น หรือพูดง่ายๆ ว่า จับยึดอยู่กับสิ่งนั้น เกิดอุปาทานว่าสิ่งนั้นเนี่ยเป็นตัวเรา  ถ้าหากว่าเราเห็นโทสะไม่เที่ยงแล้ว อาการยึด อาการจับมันจะคลายลง  และเมื่อจิตมันมีอาการคลายตัวลง มันมีผลกระทบกับโลกภายนอกด้วย

อย่างเช่นที่ทุกคนเคยมีประสบการณ์นะ เวลาที่เราอยากจะทำให้ใครสักคนไม่พอใจด้วยคำพูดหรือว่าด้วยการทิ่มแทง แล้วเห็นเขาไม่พอใจ เราจะรู้สึกประสบความสำเร็จ เราจะรู้สึกเหมือนกับมีความเกี่ยวข้องที่มีนัยสำคัญนะครับ เรามีอิทธิพลสามารถทำให้เขาเป็นทุกข์ได้ มันก็จะเกิดความพอใจขึ้นมา  แต่ทีนี้ถ้าหากว่าเราพยายามที่จะทำให้เขาเป็นทุกข์ แล้วเขาไม่แสดงความทุกข์ออกมา ตรงกันข้ามมันมีความเบาออกมาให้รู้สึก มันมีความสุขมันมีความสบายใจออกมาให้รู้สึกได้เนี่ย ในที่สุดมันจะอ่อนกำลังไปเอง มันจะมีความเหนื่อย มันจะมีความรู้สึกขี้เกียจ มันจะมีความรู้สึกคร้านที่จะพยายามทำให้เขาเป็นทุกข์

อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาที่ใจของเราเบา เวลาที่ใจของเราไม่ยึดเอาโทสะเป็นที่ตั้งเป็นที่โฟกัส  แม้ว่าจะถูกนินทา แม้ว่าจะถูกกลั่นแกล้ง  พอนานๆ ไปคนที่เขาจงใจนินทาจงใจกลั่นแกล้งเราเกิดความรู้สึกว่าเอาชนะเราไม่ได้ ในที่สุดเขาจะยอมแพ้ไปเอง  คือมันจะเหนื่อยน่ะ เหนื่อยที่จะพยายาม แล้วเสร็จแล้วไม่ได้ผลที่ต้องการ  ความสุขที่เกิดจากใจของคนที่เกิดจากการไม่ยึด มันเป็นความสุขที่แท้จริง  มันทำให้จิตของเราสงบอย่างแท้จริงนะ ความสุขอย่างอื่นเนี่ยที่มันไปยึดเอา ที่มันไปหวังเอาเนี่ย มันไม่ใช่ของที่จะอยู่กับเรานานหรอก  แต่ความสุขอันเกิดจากการที่เราเห็นความไม่เที่ยงของสิ่งใด แล้วเราไม่ยึดสิ่งนั้น มันจะอยู่ติดตัว ไม่ว่าจะอีกนานแค่ไหนจนกว่าจะสิ้นชีวิตนี้เนี่ยนะ  มันสามารถใช้ได้ตลอด มันเอาไปประยุกต์ใช้ได้ตลอด  แล้วความสุขความเบานั้นมันเป็นมิตรกับคนทั่วไป มันจะสามารถละลายพฤติกรรมบางอย่างของคนได้  ถ้าเขาร้ายมากๆ จริงๆ  โอเคเราอาจจะไม่เห็นผลต่างภายในวันสองวัน  แต่เชื่อเถอะว่าหลายเดือนผ่านไปหรือว่าเป็นปีนะ ในที่สุดเขาจะอ่อนกำลัง  เพราะจิตคนเนี่ยจริงๆ แล้ว โดยธรรมชาติมีความอ่อนแอนะ จำไว้ดีๆ นะ “จิตคนโดยธรรมชาติดั้งเดิมเลย มีความอ่อนแอ มีความปวกเปียก  เมื่อพยายามอะไรมากๆ เข้า แล้วประสบความล้มเหลวตลอด ในที่สุดมันจะแพ้ภัยตัวเอง” นะครับ  พยายามจะไปทำเขาเสร็จแล้วเขายิ่งดูนับวันยิ่งมีความสุขขึ้นทุกที มันถอยไปเอง มันหมดแรง หมดกำลังนะครับ 

สรุปคำแนะนำก็คือ ถ้าเราทำความเข้าใจกับกลไกภายในของเราได้ มันมีอิทธิพลให้พฤติกรรมของเขาแตกต่างไปได้ด้วย  คือเรามีความสุขก่อน แล้วเขาอาจจะได้ทำบาปน้อยลง หรือไม่ต้องได้ทำบาปอีกเลย

แผ่เมตตาเนี่ย ถ้าในตอนแผ่เนี่ยเราเต็มไปด้วยความรู้สึกกระวนกระวาย บางทีมันก็เหมือนกับแผ่ความร้อนหรือว่าแผ่ความกระวนกระวายไป เหมือนเอาตัวกระตุ้นหรือว่ายั่วยุให้เขาอยากจะกลับมาทิ่มแทงเราอีกได้  แต่ถ้าหากว่า ณ เวลาที่เขาแกล้งเราหรือว่านินทาเรา คือจงใจด้วยความรู้ว่าเราจะเป็นทุกข์น่ะนะ แล้วเราเห็น  คือเกิดความทุกข์ อย่าพยายามฝืนไม่ให้เกิดความทุกข์นะ ให้ยอมรับตามจริงว่ามันเกิดความทุกข์ขึ้นมา เมื่อรู้ว่าเขากระทำต่อเราอีกนะครับ แต่เมื่อเกิดความทุกข์แล้วให้ฝึกจนกว่าจะชิน ให้ฝึกจนกว่ามันจะได้  ลองถามตัวเองเลยลมหายใจเนี้ยมันทุกข์ขนาดไหน มันดิ้นรน มันดิ้นเร่าอยู่ปั้ดๆ ขนาดไหน ยอมรับไปตามจริง ไม่ต้องไปฝืน ไม่ต้องไปแกล้ง ไม่ต้องไปกดไว้ ไม่ต้องไปพยายามที่จะทำให้มันเป็นอย่างอื่น  ยอมรับมันไปเลยว่า ลมหายใจนี้นาทีนี้นะครับ มันมีความทุกข์จากการถูกนินทาจริงๆ แล้วก็ไม่ต้องไปคาดหวังด้วยว่าลมหายใจต่อมาจะเป็นยังไง  คือพอธรรมชาติของร่างกายมันจะดึงลมเข้า เราก็ปล่อยให้ลมเข้า แล้วก็ค่อยสังเกตเอาว่าลมเข้าใหม่เนี่ย ลมหายใจออกใหม่เนี่ยนะ มันยังทุกข์เท่าเดิมอยู่ไหม มันยังมีความกระวนกระวายอยากดิ้นปั้ดๆ อยู่ไหม ส่วนใหญ่แล้วมันจะมีความเบาบางลง มันจะมีความรู้สึกที่ดีขึ้น  หรือถ้าหากว่ามันยังดิ้นอยู่มันยังมีความกระวนกระวายหนักกว่าเก่าก็ยอมรับไป ยอมรับไปทีละลมหายใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับใจของเรา เอาความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั่นล่ะมาใช้ประโยชน์นะครับ ว่ามันแสดงความไม่เที่ยงให้ดูยังไงในแต่ละลมหายใจ  แล้วความทุกข์นั่นแหละมันจะสอนให้เรามีความสุขอย่างแท้จริงตอนที่เข้าใจความจริงได้ว่า ลักษณะความทุกข์เนี่ยมันต่างไปเรื่อยๆ นะครับ

เมื่อตั้งใจจะทำสิ่งใดๆ ก็ตาม มักฟุ้งซ่าน ทำอย่างไรดี


ถาม : เวลามีเรื่องที่ตั้งใจ อย่างเช่นตั้งใจอ่านหนังสือ แต่ก็มีความฟุ้งซ่านอยู่ตลอด มีวิธีรับมืออย่างไร
รับฟังทางยูทูบ 
https://youtu.be/eD-BOozIXFg


(ดังตฤณวิสัชนา Live # ๔ ทางเฟสบุ๊ก ๒๔ เมษายน ๒๕๕๙)

ดังตฤณ : 

จะชี้ให้ดูเป็นประเด็นนะ  คือบางทีเนี่ย เราเอาผลลัพธ์ของสาเหตุบางอย่างที่เราทำไว้ มาเป็นโจทย์ มาเป็นคำถาม  อย่างกรณีเนี้ยก็คือว่า พอเราตั้งใจที่จะทำอะไรแล้วมันเหมือนกับเคลื่อนไป ความตั้งใจมันเคลื่อนนะ มันเหมือนกับมันไม่สามารถล็อคอยู่กับความตั้งใจเดิมได้ อย่างเช่น จะอ่านหนังสือ มันชอบมีอะไรมารบกวน มันชอบมีอะไรมาดึงให้เราเขว แล้วเราก็ไปตามมันนะครับ ประเด็นคืออย่างงี้นะ เราถามเกี่ยวกับเรื่องตรงนี้เนี่ย มันเหมือนกับว่าตรงนี้คือประเด็นปัญหา หรือว่าเป็นสิ่งที่เราจะต้องแก้ไขที่จุดนี้  แต่จริงๆ ไม่ใช่นะ ฟังดีๆ นะครับ อาการที่ใจของเราวอกแวกเนี่ย มันเป็นแค่ผลลัพธ์ของการสะสมนิสัยหลายๆ อย่าง ไม่ใช่แค่เรื่องของความตั้งใจในการอ่านหนังสืออย่างเดียว  ยกตัวอย่างเช่น เอาง่ายๆ เลยนะ เวลาที่เราเหมือนกับฟุ้งซ่านหรือว่าเหงา สิ่งที่เราต้องการก็คือเพื่อนคุย นึกออกไหม  แล้วเวลาที่มีใครสักคนหนึ่ง โดยเฉพาะเพื่อนสนิทที่รู้ใจมาคุยด้วย มันจะมีลักษณะบ่นออกอ่าว  คือเข้าใจไหมว่าเราจะออกแนวที่ว่า ไม่มีโฟกัส ไม่มีจุดหมายในการคุย  สมมติว่าเราพูดไปเรื่อยเปื่อยเรื่องหนึ่ง แล้วเพื่อนเนี่ยพูดเรื่อยเปื่อยมาอีกเรื่องหนึ่ง  เราสามารถไปตามเขาได้ ออกอ่าวตามเขาไป  คือฉุดกันไป ลากกันไป  เข้าใจประเด็นนี้ไหม  เนี่ยตัวของจิตแบบนี้เนี่ย น้องนึกออกไหม มันเหมือนกับว่าเราสามารถที่จะกระโดดจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องไหนๆ ก็ได้ เข้าใจไหม  มันมาจากวิธีที่เราพูดคุย  พอเราไม่มีโฟกัสกับการพูดคุย เราก็จะไม่โฟกัสกับเรื่องอื่นๆ เหมือนกัน  อันนี้เรื่องหนึ่งนะ เรื่องการพูดคุย 

อีกเรื่องหนึ่งคือ อันนี้เป็นประเด็นของคนทั่วไปเลยนะ ไม่ใช่ประเด็นเฉพาะของคนใดคนหนึ่งนะ  ซึ่งกำลังฟุ้งกันเยอะเลย เยอะทีเดียวนะครับ แล้วอีกอย่างหนึ่งคือ เวลาที่เรารู้สึกไม่พอใจในตัวเอง เราจะไปสนใจเรื่องไม่ดีของคนอื่น  นึกออกไหมเวลาคุยกับเพื่อนน่ะ คือพูดง่ายๆ ว่าชอบเม้าท์ เกี่ยวกับเรื่องของคนอื่น  อันนี้ไม่ต้องกลัว ไม่มีใครเห็นหน้า ไม่มีใครรู้จักชื่อนะ พี่เห็นอยู่คนเดียวนะ  คือที่จำเป็นต้องพูดขึ้นมา มันไม่ใช่เป็นเรี่องของเราแค่คนเดียว  แต่เป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่ในยุคนี้ทีเดียว  คือเวลาพูดถึงเรื่องไม่ดี หรือเรื่องที่มันน่าเม้าท์ของคนอื่นน่ะ มันสบายใจ มันออกจากเรื่องของเรา มันออกจากชีวิตของเรา มันไปสนใจไอ้เรื่องที่สนุกปาก คุยแล้วสนุกน่ะ ซึ่งมันเป็นเรื่องของคนอื่นนะ 

ตรงนี้เราอาจจะยังเชื่อมโยงไม่ได้ว่ามันเกี่ยวอะไรกับเวลาอ่านหนังสือแล้วมันมีอะไรมาเบี่ยงเบนไป ชอบมีอะไรมาทำให้วอกแวก  แต่จริงๆ แล้วเนี่ยมันเกี่ยวโดยตรงเลยนะ คือมันจะสะสมเป็นนิสัยที่ทำให้เราเนี่ย ไม่สนใจเรื่องของตัวเองที่ควรทำ แต่ไปสนใจเรื่องไร้สาระของคนอื่น คืออารมณ์แบบเนี้ยเป็นอารมณ์ประเภทที่  พูดชัดๆ พูดตรงๆ นะ เป็นอารมณ์แบบเหลวไหล มันไม่ต้องการโฟกัสกับเรื่องจริงจัง ไม่ต้องการโฟกัสกับอะไรที่เป็นภาระของเราเอง เวลาที่โฟกัสกับเรื่องที่เป็นภาระของเราเองเนี่ย มันไม่สนุกไง มันรู้สึกว่าต้องฝืนใจ  อย่างน้องจะสังเกตได้นะ น้องจะไม่ชอบฝืนใจ  พอรู้สึกว่าจะต้องสู้กับตัวเองเนี่ย มันลำบากมาก มันเหมือนกับเราทำอะไรที่ไม่เคยชิน ถูกบังคับ หรือว่าบังคับใจตัวเองเนี่ยมันยาก มันเต็มกลืน  เข้าใจใช่ไหม  นี่แหละ คราวนี้พอน้องเข้าใจถึงนิสัยหลายๆ อย่างที่มันสั่งสมมา แล้วทำให้ใจวอกแวก ไม่สามารถที่จะโฟกัสอยู่กับการอ่านหนังสือได้

คราวนี้เราลองเปลี่ยนใหม่ เวลาพูดกับเพื่อน ไม่ใช่ให้เลิกคบกับเพื่อนไปเลยนะ แต่ว่าถ้าคุยกับเพื่อนเนี่ย ลองเอาเรื่องที่เราคุยกันคืนนี้ไปคุยให้เพื่อนฟัง บอกว่า เฮ้ยเป็นไหม เป็นเหมือนฉันไหม  เวลาที่ตั้งใจจะทำอะไรที่น่าจะทำน่ะ มันเหมือนกับต้องต่อสู้ มันลำบากเหลือเกิน มันฝืนเหลือเกิน  แต่พอจะต้องคุยอะไร จะต้องเม้าท์เรื่องคนอื่น พูดถึงเรื่องไม่ดีของคนอื่น มันรู้สึกง่าย มันรู้สึกสนุก  เนี่ยไอ้ตรงลักษณะอย่างนี้นะ มันเป็นการสะสมอกุศลจิตแบบหนึ่งนะ คือเราจะติดใจกับไอ้การไปสนใจเรื่องเหลวไหล  พอจิตเนี่ยมันถูกทำให้โฟกัสกับเรื่องที่มันมีสาระที่มันจริงจัง มันเลยไม่เต็มใจ จิตไม่ใช่ตัวเรานะ  อันเนี้ยน้องพอมองออกไหม อ่านธรรมชาติตัวเองออกไหม  เรานึกว่าจิตเป็นตัวเรา แต่เราฝืนมันไม่ได้ เพราะว่าเราสั่งสมเหตุปัจจัยที่เป็นลบที่เป็นอกุศลไว้ในจิตจนกระทั่งจิตเนี่ยมันพยายามลากให้เราเสื่อม  คือเวลาที่เราจะทำเรื่องที่เจริญน่ะ อย่างเช่น การอ่านหนังสือเนี่ยมันเป็นส่วนหนึ่งของความเจริญในชีวิตนะ พอเราจะทำเรื่องเจริญปุ๊บมันจะลากมันจะดึงเรา  น้องเคยรู้สึกไหม มันเหมือนกับมีใครอยู่ข้างในคอยยื้อคอยดึง นั่นแหละไม่ใช่ผีที่ไหนนะ แต่เป็นอกุศลธรรมที่เราสั่งสมไว้เอง พอสั่งสมไว้มากๆ เนี่ยเหมือนกับว่าเราสู้กับมันไม่ได้ เพราะว่าไอ้ตัวเราที่พยายามจะอ่านหนังสือเนี่ย มันเป็นแค่ความตั้งใจใฝ่ดีแค่แป๊บเดียว  แต่ไอ้ที่มันพูดเรื่องฟุ้งซ่านอะไรต่างๆ มามากมายเนี่ย มันมีกำลังมากกว่า เราใช้เวลากับมันมากกว่า เราให้เวลากับมันมากกว่า เราทุ่มชีวิตกับมันมากกว่า เข้าใจประเด็นนะ

ทีนี้พอเพื่อนที่สนิทด้วยเนี่ย ลองคุยให้เขาฟังแบบนี้นะ แล้วชวนกันใหม่  คือไม่ใช่ไม่ให้คุยกัน โทรมาเนี่ยได้ คุยกัน เม้าท์กัน แต่ว่าตั้งประเด็นให้ชัดเจนว่าจะเม้าท์เรื่องอะไร  สมมติว่าตอนแรกๆ เนี่ย อดไม่ได้ อดพูดถึงคนโน้นคนนี้ไม่ได้ก็ให้พูดถึง แต่พูดเพื่อเอาอะไรตกลงกันให้ชัดเจนก่อนนะว่าจะพูดแค่ประเด็นนี้ ถ้าจบเรื่องนั้นแล้วเปลี่ยนเรื่อง คือไม่ใช่แบบพูดไปเรื่อยๆ นึกออกไหมความเคยชินของเราเวลาเม้าท์กับเพื่อนเนี่ย มันจะพูดไปเรื่อยๆ ไม่มีประเด็น  คือขอให้ได้คุยกันแก้เหงาแก้เซ็ง  ทีนี้ถ้าเมื่อไหร่เราตกลงกันกับเพื่อน เพื่อนเราสนิทอยู่แล้ว มันง่ายอยู่แล้ว ต่างคนต่างอยากจะเจริญก้าวหน้าขึ้นกว่าที่เป็นอยู่อยู่แล้วนะ  ตกลงกันแบบนี้ว่าพูดต้องมีเป้า แล้วต้องมีขอบเขตเวลา  ถ้าทำแค่นี้ได้แค่สองสามวันนะ แล้วกลับมาอ่านหนังสือ น้องจะพบความเปลี่ยนแปลง  คือเวลาที่เราอ่านหนังสือจะรู้สึกง่ายขึ้น แล้วโฟกัสที่อยู่กับตัวหนังสือเนี่ยมันจะไม่วอกแวกง่ายเหมือนอย่างที่เคยๆ มานะ

ตรงนี้พอเราเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเองจากการพูด เราลองสังเกตเข้ามาที่วิธีที่เราคิดด้วย  เวลาเราคิดเนี่ย  ปกติเราจะคิดวนพอโฟกัสอะไรแป๊บหนึ่งแล้วมันจะออกไปเรื่องอื่นนะ แล้วก็วนเวียนอยู่กับเรื่องอื่น  ทีนี้ถ้าหากว่าเราตั้งใจจะทำอะไรดีๆ สักอย่าง  ยกตัวอย่างนะ อันนี้แค่ยกตัวอย่าง ไม่จำเป็นต้องทำตามก็ได้นะ  สมมติว่าเราอยากจะร้อยดอกไม้ให้พระ แล้วตั้งใจว่าจะร้อยให้เสร็จในรวดเดียวเลยนะ คือร้อยให้สวยที่สุด ประณีตที่สุด ด้วยใจที่มันงดงามที่สุด ให้เสร็จภายในรวดเดียว ไม่ไปทำอะไรอย่างอื่น  คืออาจจะเป็นดอกไม้เล็กๆ นะ คือไม่ใช่ต้องประดิดประดอยอะไรที่มันต้องใช้เวลามากๆ แต่ก็ไม่สั้นเกินไป คือมีเวลายาวพอที่โฟกัสของเราจะจับอยู่กับสิ่งนั้นจริงจังนะ แต่ไม่นานเกินกระทั่งว่าลุกขึ้นไปเข้าห้องน้ำก็ไม่ได้ หรือว่าไปทำอย่างอื่นกิจธุระประจำวันไม่ได้เลยนะ  ถ้าหากว่าเราทำได้ครั้งหนึ่งเราจะมีความรู้สึกภูมิใจและมีความชื่นใจ เนื่องจากว่ามาลัยถวายพระเนี่ยเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดกุศล น้องนึกออกไหมเวลาเราได้กลิ่นหอมของมะลิ  หรือว่าเรานึกถึงภาพตัวเองเวลาจะเอาไปถวาย จะเป็นพระปฏิมาก็ตาม หรือว่าจะไปใส่บาตรพระก็ตามเนี่ย มันรู้สึกดี มันรู้สึกดีมากๆนะ  ตรงนั้นแหละที่รู้สึกชื่นใจที่รู้สึกดีมากๆ เนี่ย เขาเรียกว่ากุศลจิต  ซึ่งถ้าหากว่าน้องสะสมนะครับ  สะสมกุศลจิตนี้ไปในทางที่โฟกัสให้เสร็จภายในรวดเดียวจบเดียวนะ  เราจะรู้สึกว่าจิตมีพลัง มีความสามารถที่จะทะลุทะลวงผ่านอุปสรรค อย่างเช่นความขี้เกียจ ความฟุ้งซ่าน ความเหม่อลอย หรือว่าความอยากจะไปพูดฟุ้งพูดเพ้อเจ้อนะ  การที่เราได้ตัวอย่างได้แบบอย่างของกุศลจิตด้วยวิธีนี้นะ จะทำให้เราเข้าใจเกี่ยวกับการโฟกัสชนิดอื่นๆ ที่เหลือในชีวิต  คือไม่ว่าเราจะตั้งใจทำอะไร ถ้ามองออกแล้วว่ามันตั้งใจทำจริงๆ ให้เสร็จไม่วอกแวก  แล้วก็ทำด้วยจิตที่มันเบิกบาน ที่มันดี ไม่ใช่ฝืน ไม่ใช่กดดันตัวเอง ไม่ใช่ด่าตัวเองว่าทำไมทำไม่ได้ อย่างนี้ทุกอย่างมันจะสำเร็จ  จิตของน้องมันพร้อมจะเป็นกุศลอยู่แล้ว  เนี่ยรู้สึกไหมว่าใจมันรู้สึกสว่างขึ้น มันรู้สึกดีขึ้นนะ ถึงแม้ว่าบางครั้งมันจะยังงงๆ อยู่นะ คือมันไม่ใช่งงคำพูดพี่นะ แต่มันงงๆ จากการปรุงแต่งในหัวของเราเอง เพราะว่าในหัวของเรามันเหมือนกับมีการปรุงแต่งเกี่ยวกับเรื่องการพูดคุยแบบฟุ้งซ่านไว้เยอะนะ  ถ้าหากว่าเอาจิตแบบนี้ไปตั้งใจฟังอะไรยาวๆ เนี่ย มันจะเหมือนกับเบลอๆ ขึ้นมาเป็นพักๆ นะ มันจะวอกแวกขึ้นมาเป็นพักๆ แต่ถ้าเมื่อไหร่เราสะสมกุศลจิตมากๆ เข้า แล้วก็มีโฟกัสมากๆ ขึ้น จิตจะมีกำลัง แล้วก็เวลาฟังอะไรมันจะเคลียร์ตลอด มันจะเคลียร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ต้นจนจบนะ ลองเอาไปทำตามดูนะครับ

ทำอย่างไรเมื่อมีความกลัว

ถาม : ทำอย่างไรเมื่อมีความกลัว
รับฟังทางยูทูบ 
https://youtu.be/JPa31Ai9RoM

(ดังตฤณวิสัชนา Live # ๔ ทางเฟสบุ๊ก ๒๔ เมษายน ๒๕๕๙)


ดังตฤณ : 

ถ้าเกิดความกลัว ไม่ว่าจะกลัวชนิดไหนก็แล้วแต่ จะกลัวผี จะกลัวคน จะกลัวสังคม กลัวอนาคต มันเป็นความกลัวเหมือนกัน  อาการของจิตเนี่ยมันหดตัวลงมา แล้วถ้าหากว่าอยากจะหายกลัว อยากจะสู้กับความกลัวก็ควรจะมีต้นทุนสักนิดหนึ่ง  ถ้าหากว่าพูดถึงจิตที่หดเนี่ย มันก็เป็นตรงกันข้ามกับจิตที่เบิกบานใช่ไหม  ถ้าทำให้จิตเบิกบานเป็นปกติได้ ความกลัวหรือว่าโอกาสที่จิตจะหดลงมาก็น้อยลงนะครับ หรือถ้ามองในแง่ที่ว่า จิตที่มีความกลัวคือจิตที่ถูกห่อหุ้มด้วยความมืด  หากเราทำให้จิตมีความสว่างแผ่ผายออกไปกว้างๆ ได้เป็นปกตินะ โอกาสที่จิตมันจะมืด จิตจะถูกห่อหุ้มด้วยความมืดก็ยากขึ้น

แล้ววิธีที่เราทำๆ กันนะครับ ก็อาจจะสวดมนต์  แต่หลักการสวดมนต์เนี่ยคนจะไม่เข้าใจ สวดต้องสวดเต็มเสียง  แล้วสวดเนี่ยไม่ใช่สวดเรียกใครมาคุ้มครองเรา แต่เราต้องให้จิตของเราเนี่ยมีความเป็นเมตตามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  ซึ่งบทสวดที่ทำให้จิตรินเป็นเมตตา แผ่ผายเป็นเมตตามากที่สุดก็คือ “บทอิติปิโส” นั่นเองนะครับ แต่ว่าต้องตั้งใจสวดด้วยความเคารพ ระลึกว่าเป็นพระพุทธพจน์นะครับ “อิติปิโส ภควา อรหัง สัมมาสัมพุทโธ” สวดเต็มปากเต็มคำนะครับ แล้วก็ด้วยความระลึกถึงคุณวิเศษหรือว่าคุณสมบัติของพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์จริงๆ  จิตมันถึงจะมีความสว่าง จิตมันถึงจะมีความเป็นเมตตา มีความแผ่ผาย เบิกบานออกไป  แล้วก็โอกาสที่จะหดตัว โอกาสที่จะถูกห่อหุ้มด้วยความมืดมันก็ยากขึ้น

แล้วถ้าหากว่ามีทุน มีความสว่างอยู่บ้างแล้วนะครับ  เมื่อเกิดความกลัวขึ้นมายังอดไม่ได้ เราก็จะมีความสามารถที่จะมองเข้าไปเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นในความกลัวนั้น  ประเภทที่เห็นของจริงมานั้นยกไว้ก่อนนะ มันไม่ใช่เคสของคนส่วนใหญ่  ส่วนใหญ่เนี่ยไม่เคยเห็นแต่ก็กลัว ทั้งชีวิตไม่เคยเห็นเลยแม้แต่ครั้งเดียว ของจริงเป็นยังไงไม่ทราบ ไม่เคยรู้ ไม่เคยประจักษ์กับตา ไม่เคยแม้กระทั่งเห็นด้วยจิตด้วยใจ แต่ก็เกิดความกลัว  อันนั้นมันหมายความว่าสิ่งที่เรากลัวก็คือ กลัวอุปาทานที่สร้างขึ้นมานั่นเอง  แล้วถ้าหากว่ามีความสามารถที่จะมองเข้าไปเห็น ระลึกเข้าไปได้ มีลมหายใจเป็นเครื่องกระตุ้นสตินะครับ  แล้วก็เห็นว่า ณ ลมหายใจนั้นมีความกลัวขึ้นมาอย่างมากมาย กลัวแทบขาดใจตาย ไอ้กลัวแทบขาดใจตาย กลัวจนลนลาน กลัวจนอกสั่นขวัญแขวนไปหมดนั่นน่ะ ทั้งหมดทั้งปวงก็คือ ความทุกข์ที่มันห่อหุ้ม ที่มันกดดัน ที่มันอัดเข้ามา ทำให้จิตเนี่ยมันหด  พอเห็นได้ว่า ณ ลมหายใจนั้น มีความกลัวขนาดไหนนะ มันจะรู้สึกในลมหายใจต่อๆ มาว่า หน้าตาความกลัวในลมหายใจแรกเนี่ย มันแตกต่างไป มันไม่เท่าเดิม มันไม่เหมือนกันนะครับ อาจจะหนักขึ้นก็ได้ หรือว่าอาจจะเบาลงนิดหนึ่ง  ประเด็นคือ ถ้าเราเฝ้าสังเกตไปนะครับ ว่าแต่ละลมหายใจ ความกลัวมันไม่เท่าเดิม ในที่สุดเนี่ย จิตมันจะฉลาดขึ้น มันจะเกิดความรับรู้ขึ้นมาว่า สิ่งที่ไม่เที่ยง มันไม่ใช่ตัวของจิต

พอรู้สึกขึ้นมาแล้วว่าสิ่งที่ไม่เที่ยง มันไม่ได้เป็นอันเดียวกับจิตกับใจที่เป็นผู้ดูผู้รู้อยู่เนี่ย  มันจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ความกลัวไม่ใช่ตัวเรา ความกลัวไม่เกี่ยวกับเรา ความกลัวเนี่ยแค่เข้ามาร้อยรัด เข้ามาบีบให้จิตมันหดตัว แล้วเสร็จแล้วมันก็คลายออกไปตามธรรมชาติของมัน โดยที่เราไม่ต้องไปบีบบังคับ หรือว่าพยายามขับไล่ไสส่ง  แค่สังเกตโดยไม่ไปวุ่นวายกับมัน เราก็รู้ความจริงนี้แล้ว  พอเห็นว่าความกลัวเป็นของไม่เที่ยง อาการบีบของจิต อาการหดของจิต มันเป็นของไม่เที่ยง พอกลับเกิดความกลัวขึ้นมาอีก มันจะเริ่มเห็นอะไรต่างไปนะครับ มันจะเริ่มเห็นความจริงบางอย่างว่า มีเงาปรากฏขึ้นมาในจิตก่อน เหมือนกับจิตไปปรุงแต่งอะไรขึ้นมา ไปนึกถึงน่ะ ไปนึกถึงไอ้ที่เคยดูหนังมา หรือว่าไปนึกถึงไอ้ที่เขาเล่าๆ กันมา หรือว่าไปเกิดอาการวาดภาพเอาว่า ผีน่าจะเป็นอย่างนั้น ผีน่าจะเป็นอย่างนี้ ซึ่งอาการวาดไปเองแบบนี้เนี่ยพอจิตมันเห็นนะ มันเห็นอาการของตัวเองแบบนี้เข้าเนี่ยมันเลิกกลัวเลยนะ มันเกิดความเข้าใจว่านี่คือการปรุงแต่งไปเองของจิต นี่คือการวาดภาพไปเองของจิต

ประเด็นนี้แหละที่ผมพูดค้างไว้นะครับ ก็คือ ถ้าเราเริ่มเห็นเข้าไปว่า อาการวาดไปเองของจิตเนี่ย มันไม่ต้องมีก็ได้ มันจะเบา มันจะโล่ง มันจะเป็นอิสระเลยนะ เหมือนกับเข้าถึงความจริงที่เป็นกลไกการทำงานของจิต รู้แจ้งขึ้นมา รู้แจ้งแบบเล็กๆ นะ รู้แจ้งว่า “อาการของจิตเนี่ย คือทั้งหมดทั้งปวงที่เป็นต้นกำเนิดความรู้สึก” จะสุขก็ดี จะทุกข์ก็ดี  ถ้าหากว่ามันไม่วาดภาพน่ากลัว มันก็ไม่เกิดความทุกข์  แต่ถ้าหากวาดภาพน่ากลัว สยอง เป็นอันตราย หรือว่ามันจะมีภัยเข้าตัว มันจะเกิดความกลัวขึ้นมา  ลักษณะของความกลัว จะเป็นกลัวสังคม กลัวอนาคต กลัวอันตรายที่มองไม่เห็น หรือว่ากลัวผี มันเป็นอันเดียวกันนั่นแหละ  แต่ว่าเราจะเห็นได้ชัดว่าอุปาทานหน้าตาเป็นยังไงก็จากการสังเกตความกลัวผีนั่นแหละนะ เพราะกลัวผีเนี่ยมันชัดเจนว่า ทั้งชีวิตอาจจะคนส่วนใหญ่นะ ตีเสียว่าเกินครึ่งน่ะ ไม่เคยเห็นของจริงเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่ก็กลัวทั้งชีวิตได้เหมือนกัน เนี่ยตรงนี้เนี่ยมันทำให้เรามีภาพรวมหรือว่ามุมมองที่ชัดเจนเกี่ยวกับความกลัวได้

๙๐ เปอร์เซ็นต์ของความกลัว เกิดขึ้นจากการหลอกตัวเอง เกิดขึ้นจากอุปาทาน สิ่งที่เรากลัวไม่ใช่ของข้างนอก แต่เป็นสิ่งที่มันก่อตัวขึ้นมาภายในของเราเอง”


** IG **

วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2559

คาดหวังสูง หงุดหงิดง่ายเมื่อไม่สมหวัง

ถาม : เป็นคนมุ่งมั่นคาดหวังสูง หงุดหงิดง่ายเมื่อไม่สมหวัง ควรปรับมุมมองอย่างไร?
รับฟังทางยูทูบ : https://youtu.be/gP7OFKcLaw8
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ การเจริญสติในชีวิตประจำวัน
๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก 

ถาม : ยังทำในรูปแบบอยู่ทุกวันค่ะ แล้วก็ไปนั่งนานขึ้น ถ้ามีเวลาก็ครึ่งชั่วโมง สี่สิบห้านาที แล้วก็ใช้คีย์เวิร์ด ที่พี่บอกว่า เห็นตามจริง ยอมรับตามจริง ก็ นั่งเหมือนที่นั่งเมื่อกี้อ่ะค่ะ

ดังตฤณ:  
เมื่อกี้ ก็ดีนะ แต่ว่า มันตั้งใจมากไปนิดนึง คือตั้งใจจะเล็งผลเลิศอ่ะ ขึ้นต้นมาเนี่ย เราไม่ได้สังเกต สิ่งที่กำลังปรากฏตามจริง แต่มันตั้งต้นมาด้วยการเล็งผลเลิศก่อน เข้าใจความแตกต่างไหม อย่าง อย่างตอนเนี้ย ถ้า รู้สึกถึงความรู้สึกว่ามันพยายามทบทวนอยู่ เนี่ย อันนี้คือเรียกว่าของจริง แต่ถ้าตอนเราจะนั่งสมาธิขึ้นมาเนี่ย เราคิดถึงภาวะที่มันดีก่อน คือไม่ได้คิดถึงภาวะที่มันกำลังปรากฏอยู่ตามจริง มันมีเจตนาตั้งขึ้นมา เข้าใจที่พี่พูดหรือเปล่า
เดี๋ยว..เข้าใจจริงๆ หรือเปล่า มองเห็นไหมถึงเจตนา 

ผู้ถาม : คือ คือไม่เห็นถึงเจตนา ก็รู้สึกสบายดีอย่างเนี้ยค่ะ เวลานั่งก็รู้สึกสบาย คือ..

ดังตฤณ:  
เรารู้สึกไหมว่า ในความสบายนั้นน่ะ มันมีความตั้งใจอยู่

ผู้ถาม : ตั้งใจที่จะดูลม

ดังตฤณ:  
ไม่ใช่ คือตั้งใจที่จะทำให้มันนิ่ง ตั้งใจที่จะทำให้มันมีความสงบดีๆ โอเค ไม่เป็นไร

คือถ้ามองไม่เห็นเนี่ย ลองไปสังเกตนะ คือของเราตอนที่มันสบายมันโอเคนะ มันรู้แต่ว่าความรู้สึกเหมือนกับพยายามที่จะให้มันนิ่งอ่ะ มันยังมีอยู่นิดนึง ซึ่งตรงนั้นถ้าเห็นได้ มันจะเป็นธรรมชาติมากขึ้น จิตมันจะกว้าง กว้างขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ 

คือ มันสบายจริง ไม่ใช่ไม่สบายนะ แต่ว่าในอาการสบายนั้นน่ะ มันคล้ายๆ พยายาม พยายามทำให้มันดีด้วย มันนิดนึง คือเอางี้ นั่งตรงนี้ เดี๋ยวพี่จะชี้ให้ดู นั่งเลย โอเค ไม่เป็นไร  ดูอาการเกร็งไป เดี๋ยวพี่จะชี้ให้ดู อย่างเนี้ยโอเคนะ อันเนี้ยคือการยอมรับว่ากำลังเกิดอารมณ์ที่มันเกร็งๆ ..เห็นไหม มันผ่อนคลายแล้ว แค่ยอมรับนะ

เดี๋ยวน้องลองไปดูนะ กลับไปดูเอง คือในอารมณ์ที่มันเห็นว่าอะไรเกิดขึ้นเนี่ย มันทำได้ แต่ว่าพอเรารู้สึกถึง เอาง่ายๆ ที่น้องบอกว่ามันรู้สึกเกร็ง แล้วเราปฏิเสธ แล้วรู้สึกว่าเราไม่อยากมีอารมณ์นี้เนี่ย นี่ก็คือ เป็นสิ่งที่มันเกิดขึ้นมาจากความคาดหวังว่าจะทำให้มันดี คือของน้องเนี่ย มันจะมีอารมณ์ตรงนี้เคลือบอยู่นะ 

ทีนี้มันต้องสังเกต ต้องอาศัยการสังเกต แล้วสิ่งที่จะทำให้เราเกิดข้อสังเกตได้เป็นอันดับแรกๆ เลย ก็คือว่ามันจะปฏิเสธภาวะที่ไม่ค่อยดี มันจะไม่ชอบที่มีอาการเกร็งหรือมีอาการที่มันฟุ้งซ่าน หรือมีอาการที่มันเป็นลบ เป็นไปในทางเน็กกาทีฟ (negative) ทีนี้พอเรารู้สึกได้ว่าสามารถจะเห็นทั้งอะไรที่มันเป็นเน็กกาทีฟแล้วก็ที่มันเป็น โพสซิทีฟ (positive) ได้ทั้งคู่ ใจเราจะปลอดโปร่งขึ้น ตรงนี้แหล่ะที่เราจะเริ่มเห็นว่า ความคาดหวัง ความเล็งผลเลิศเนี่ย มันน้อยลง 

คือบางทีไปจับตัวอารมณ์เล็งผลเลิศเนี่ยมันจะยากนิดนึง คือมันไม่ได้มีเป็นก้อนๆ ให้ดูง่ายๆ แต่มันมีให้ดูผ่านปฏิกิริยาบางอย่างของใจ หรือว่า เนี่ยอาการชอบหรือไม่ชอบ อาการชอบหรือชัง บางอย่าง ..อย่างนี้เรียกว่าคลาย แล้วพอคลายเนี่ย เราจะยอมรับได้ง่ายเลย แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่มีความรู้สึกฝืนๆ อยู่นิดๆ มันจะไม่ถูกรู้และ มันจะถูกมองข้ามไป นั่นเป็นเพราะว่า เราตั้งเป้าแรกเนี่ย เราจะเอาแต่ดีกับดี คือมันเล็งผลเลิศ 

เข้าใจพอยท์
 (point) พี่นะ แต่ทีนี้มันอาจจะต้องกลับไปดูนิดนึง กลับไปสังเกตดู คือ พอยท์ของพี่คือว่า เราดูได้สบายจริง เราดูได้ดี แต่ว่าเรายังมีอารมณ์แบบเล็งผลเลิศอยู่นะ แค่นั้นเอง

ผู้ถาม : อีกเรื่องนึงก็คือเรื่องในชีวิตประจำวัน ก็รู้สึกว่ามีความรู้สึกตัวมากขึ้น เห็นอารมณ์ตัวเองชัดขึ้น แล้วก็รู้ว่าตัวเองขี้หงุดหงิดจริงๆ ด้วย แล้วก็ตอนที่เห็นแล้วก็ยอมรับอยู่กับอาการหงุดหงิด มันยาก 

ดังตฤณ:  
นั่นไง ทีนี้พอเห็นตรงนี้ไปเรื่อยๆ เนี่ย น้องจะค่อยๆ มองออกมากขึ้นเป็นเปราะๆ คือจากตอนแรกที่มันเห็นแค่อาการหงุดหงิด อาการไม่พอใจนะ มันจะเริ่มปรากฎเป็นทุกขเวทนา ที่ผุดขึ้นมา แล้วก็หายไป แล้วเราก็จะยอมรับๆๆ พอยอมรับไปมากๆ เข้าในอารมณ์ไม่พอใจเหล่านี้นะ ในที่สุดมันจะขุดเข้าไปถึงราก รากเริ่มต้นขึ้นมามัน มันเล็งแต่ว่าจะเอาแต่ดีกับดี คือถ้าไม่มีตัวเล็งตรงนี้ไว้ตั้งแต่ตอนต้น มันจะไม่หงุดหงิดง่าย มันจะเป็นคนที่สามารถยอมรับความไม่เพอร์เฟ็คของโลกได้มากขึ้นๆ 

พอยท์
มันคือตรงนี้นะ พอเราเจอ พูดง่ายๆว่าเจอปมตรงนี้ปุ๊บเนี่ย มันจะรู้สึกเอ่อ เหมือนกับหลุด เหมือนกับผ่อนคลาย เหมือนกับอะไรที่มันล็อคเราไว้มานานเนี่ย มัน มันปลดล็อคออก แต่ปลดล็อคแล้ว มันไม่ใช่จะปลดเลยนะ คือเดี๋ยวมันก็กลับมาล็อคใหม่ได้ เดี๋ยวก็ล็อค เดี๋ยวก็ปลด เดี๋ยวก็ล็อค  เดี๋ยวก็ปลด เราดูแค่ตรงนี้แหละ เวลาที่เรารู้สึกสบายจริงๆ มันจะโล่ง แล้วก็ไม่หงุดหงิดง่าย แต่ถ้าหงุดหงิดง่าย ไม่ใช่เราไปปฏิเสธมัน คือหน้าที่ของเราต้องเห็น ว่าที่หงุดหงิดเนี่ย มันมีหงุดหงิดขึ้นมาวูบนึง พอเห็นแล้วเนี่ยมันก็หายไปจางไป แล้วเวลาฝึก น้องก็ฝึกอย่างนี้แหละ ตอนนั่งสมาธิตอนอะไรเนี่ย มันเริ่มจากการเห็น แล้วยอมรับตามจริงนะ
ผู้ถาม : พี่คะ แต่ว่าเวลาหงุดหงิดมันไม่แค่เป็นวูบๆ อ่ะค่ะ มันหงุดหงิดนานมาก
ดังตฤณ:  
เป็นก้อนๆ เป็นหนักๆ 

ผู้ถาม : แล้วเราต้องชนเลยไหมคะ เลยต้องแบบ ต้อง ตั้งชน ต้องนั่งดูไหมคะ

ดังตฤณ:
คือถ้าใช้อานาปานสติ คือฝึกอานาปานสติไป มันจะเป็น ตัวตั้งของสติที่ดีได้ เข้าใจไหม คือถ้าเราไม่มีหลัก ถ้าเราไม่มีกำลังที่จะเห็นความจริง แล้วก็ยอมรับความจริงเนี่ย มันจะสู้ไม่ไหว แต่ถ้าเราฝึกอย่างนี้ มันจะเหมือนกับได้ที่ตั้ง ได้ตัวตั้ง ได้หลักที่ยืนนะ มันจะรู้สึกว่ามีกำลังที่จะยอมรับความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ 

ถามว่าความสามารถในการยอมรับความจริงเนี่ย แต่ละคนมีน้อยหรือมาก บอกได้เลยนะ คนส่วนใหญ่มีความสามารถที่จะยอมรับความจริงน้อย

อย่างพี่เอง คือ ตอนแรกๆ ก่อนที่จะมาฝึก ก่อนที่จะเข้าใจพอยท์
ของการเจริญสติจริงๆเนี่ยนะ มันเป็นคนไม่ยอมรับอะไรเลย เป็นคนมีความไม่พอใจในตัวเองสูงมาก โน้นนิดนี่หน่อยนะ ในตัวก็ดี นอกตัวก็ดี สิ่งที่เป็นสิ่งแวดล้อมของเราอยู่แล้ว ดีอยู่แล้วเนี่ย บางทีมันเกิดความไม่พอใจ แค่ความไม่พอใจตัวเดียวเนี่ย มันทำให้มองชีวิตทั้งชีวิตเหมือนกับไม่ดีพอ แล้วก็จะไปพยายามแก้ไข ให้มันดีตามที่เราคิด ตามที่เราเข้าใจ ว่ามันน่าจะโอเคนะ เนี่ยพอแก้ไขไม่ได้ มันก็เกิดความทุกข์สะสมมากขึ้นๆ แล้วมันก็มีผลทางใจ ทำให้เราเป็นคนหงุดหงิดง่าย เป็นคนที่รู้สึกว่าอะไรนิดอะไรหน่อยเนี่ย มันสามารถทำให้เราเป็นทุกข์ได้มากมายนะ นอนไม่หลับได้ 

นี้พอเริ่มฝึก ที่จะยอมรับความจริงที่ทุกคนสามารถยอมรับได้หมด นั่นคือ หายใจเข้า หรือกำลังหายใจออกอยู่ แล้วพัฒนาสติขึ้นมาจากตรงนั้น จากความสามารถที่จะยอมรับว่ากำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก ความสามารถที่จะรู้ ว่าหายใจยาวหรือหายใจสั้นนะ มันจะค่อยๆสะสมกำลังที่จะเห็น แล้วก็มอง มองสิ่งที่กำลังขึ้นตามที่มันกำลังเป็นจริง เพราะว่าการเห็นลมหายใจเนี่ย คือการยอมรับตามจริงอย่างที่สุดเลยนะ
 


ผู้ถาม : ขออนุญาตถามคำถามสุดท้ายนะคะ ตอนที่นั่งอ่ะค่ะ ช่วงที่มันนิ่งไปแล้ว บางทีมันวูบ ก็คือยอมรับความเป็นจริงว่ามันวูบอย่างนั้นเหรอคะ คือ มันไม่ได้ง่วงน่ะคะ

ดังตฤณ:  
ใช่ คือพอยอมรับว่าวูบเนี่ย มันจะทำให้เข้าใจถึงกลไกลธรรมชาติของจิต เห็นว่า เนี่ย ขั้นตอนมันเป็นอย่างนี้ คือ มันจะต้องมีวูบบ้าง มีวูบๆ วาบๆ บ้าง

เข้าใจ อันนั้นหน่ะมันเป็นภวังค์ มันเป็นภวังค์สั้น ภวังค์มีอยู่สองแบบ นะ ภวังค์สั้นๆ ที่ทำให้รู้สึกวูบ วูบวาบแล้วก็กลับมาตั้งใหม่ได้ กับ ภวังค์อีกแบบคือวูบแล้วหายไปช่วงนึงเลยนะ เนี่ยมันมีอยู่สองแบบ คือเราแค่สังเกต ว่า ภวังค์มีอยู่สองแบบ เราเจอภวังค์สั้น เราก็เห็นว่ามันเป็นภวังค์สั้น

ผู้ถาม : แล้วคือ ยอมรับตามจริงเท่านั้น

ดังตฤณ:  
แค่ยอมรับว่า นั่นน่ะคือภวังค์สั้น มันจะได้เห็นไง ว่าจิต อ๋อ ธรรมชาติของจิตเค้าเป็นแบบนี้ บางทีก็มีอาการของสติอยู่ บางทีก็มีอาการวูบๆ วาบๆ ตกหลุมอากาศนะ พอเห็นอย่างนี้เนี่ย มัน แทนที่จะอยู่กับความคาดหวัง ว่าจิตมันจะมีแต่ดีกับดี มีสติอย่างเดียว มันก็จะเกิดความเห็นตามจริงว่า จิตเนี่ยต่อให้ฝึกมาแค่ไหนก็แล้วแต่ มันต้องมี
สติที่ตื่นขึ้นบ้าง แล้วก็มีตกหลุมอากาศบ้าง เป็นครั้งเป็นคราวนะ

ผู้ถาม : วูบตลอดเลยอะค่ะ วูบแบบมันไม่ได้ต่อเนื่องนะคะที่วูบ ถ้านั่งนานเนี่ยจะรู้ได้เลย หลังๆ คือช่วงนั่งไปสักพักหนึ่ง

ดังตฤณ:  
ก็มองไปว่ากำลังของจิตเราเนี่ย มันแบ่งไปทำภาระหน้าที่ในระหว่างวันนะ ยิ่งเราต้องรักษาคนไข้ ต้องอะไรต่อมิอะไรแล้ว มันมีความรู้สึกเหมือนกับเหนื่อยอ่อนนะ มันก็คือเหตุปัจจัยให้เกิดหลุมอากาศทั้งนั้นแหละ 
ทีนี้ถ้าเราไม่ไปคาดหวังว่า ยิ่งนั่งสมาธิไป ยิ่งเนียน ยิ่งดียิ่งคงเส้นคงวา แต่ เอ่อ ยิ่งนั่งไปเรายิ่งเห็นว่า ความจริงของจิตมันเป็นอย่างนี้ ร่างกายอ่อนเพลีย หรือว่าจิตมันฟุ้งซ่านในระหว่างวันมากไปในเรื่องการงานภาระอะไรต่างๆ เนี่ย มันก็ก่อให้เกิดหลุมอากาศขึ้นเป็นจังหวะๆ 

อย่างนี้เนี่ย เค้าเรียกว่าเราสามารถอยู่กับชีวิตตัวเองได้ด้วยปัญญานะ เห็นความไม่เที่ยง เห็นปัจจัยของความไม่เที่ยง แล้วมันจะเห็นสั่งสมมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งรู้สึกว่า เอ่อ สมาธิเนี่ย มันก็ดีนะ แต่ไม่ได้จำเป็นมากเท่ากับการตั้งมุมมองไว้อย่างถูกต้อง ถ้าหากว่าเราสามารถตั้งมุมมองไว้อย่างถูกต้อง สังเกตเห็น ความไม่เที่ยงได้จริง ๆ เนี่ย จิตมันจะเป็นยังไง เราพอใจได้หมด พอใจตรงการเห็น ไม่ใช่พอใจตรงที่มันดีกับดีนะ


คิดวกวน ตัดสินใจไม่ได้

ถาม : ตัดสินใจไม่ได้ เรื่องหนึ่งจะคิดวกวนหลายรอบ
 รับฟังทางยทูบ :https://youtu.be/02vPEOXF7xE
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ การเจริญสติในชีวิตประจำวัน
สิงหาคม ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก

ดังตฤณ: 
เมื่อกี้เนี้ย ตอนที่ฝึกมาทันใช่ไหม ตอนช่วงแรก มันเหมือนกับมีอาการฝืน เข้าใจความรู้สึกฝืนไหม คือคล้ายๆ เราพยายามจะทำตาม แต่เสร็จแล้วรู้สึกว่าข้างในมันมีอะไรป่วนๆอยู่ตลอด อันนั้นคือเรียกว่าเป็นคลื่นรบกวนนะ ของเราต้องเน้นนับหนึ่งใหม่เรื่อยๆเลย นับหนึ่งที่ดูสังเกตฝ่าเท้า นะ อย่างของเราพอสังเกตไปเนี่ย คลื่นรบกวนในหัวมันก็ยังอยู่ อยู่ดี คือมันไม่รู้สึกว่าสบายชัดเจน คือมันไม่เข้าใจ ว่าคำว่าสบายเนี่ย แค่ไหน มันถึงจะเรียกว่าสบาย แล้วพอเราผ่านตรงนั้นไม่ได้ มันก็เหมือนกับมันยังงงๆ อยู่อย่างเนี้ย มันยังม้วนๆ อยู่อย่างเนี้ยนะ ในหัวเนี่ยเต็มไปด้วยความรู้สึกว่า มีคลื่นรบกวนอยู่ตลอดเวลา

ถ้าอย่างนั้น เราสังเกตอย่างนี้ดูก็ได้ หลับตาใหม่นะ ลองหลับตา พอหลับตาไปเนี่ย และทำความรู้สึกว่า ถามตัวเองง่ายๆ เลย นี่เท้าเราเนี่ย ตอนเนี้ยวางอยู่กับพื้นจริงไหม ถ้ามันวางอยู่กับพื้นนี่ แค่เนี้ย ตอนนี้มันยังมีความรู้สึกฝืนๆ อยู่ ฝืนๆ อยู่ข้างใน คือมันไม่ได้ฝืนที่เท้า แต่ฝืนที่ใจ เราก็จะยอมรับไปตามจริงว่า ภาวะฝืนๆที่ใจเนี่ยมันยังมีอยู่

เราก็สำรวจ ไล่สำรวจมาต่อ ฝ่ามือเราสบายไหม ถ้าหากว่ามันเกิดความรู้สึกสบายขึ้น เออเนี่ยเห็นไหม ความฝืนมันน้อยลง คือมันไม่ได้หายไปทีเดียว มันยังมีความรู้สึกอัดๆ อู้ๆ อยู่ มันยังตันๆ อยู่ข้างใน ก็ยอมรับไป นี่ก็คือภาวะที่เกิดขึ้นจริง แล้วเราสามารถที่จะยอมรับได้จริงๆ

แล้วคราวนี้ ย้อนกลับไปที่เท้าใหม่ เห็นไหมมันสบายขึ้น รู้สึกว่ามันฝืนน้อยลง ย้อนไปย้อนมาแบบเนี้ย
มีปัญหาที่ต้นคอ เกี่ยวกับกล้ามเนื้อ เกี่ยวกับอะไรอย่างเนี้ยเหรอ

ผู้ถาม : ก็ทำคอมพิวเตอร์อะไรแบบนี้ค่ะ ท่าเดียวนาน ๆ
ดังตฤณ: 
เดี๋ยวนี้มันเป็นออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) กันหมดล่ะนะ คือพอนั่งไปนานๆ เนี่ย จริงพี่ก็เป็น มันก็อาศัยหลายอย่าง ออกกำลังกาย เล่นยิม (gym) เล่นอะไรเนี่ย แล้วต้องมีวินัยกับตัวเองนิดนึง เพราะถ้าพวกคอ บ่า ไหล่เนี้ย ถ้ามันเกร็งขึ้นมาจริงๆเนี่ย มันจะเป็นสิ่งรบกวนทั้งทางโลกและทางธรรม ถึงแม้ว่าเราจะพยายามเจริญสติ แต่ถ้าหากว่ามีทุกขเวทนาตรงนี้ มันเกินกำลังของสติเนี่ย มันก็รู้สึกว่าไปไม่ถึงไหน มาติดอยู่ที่ตรงนี้ร่ำไป ต้องออกกำลังกายนิดนึงนะ

พอเรารู้สึกถึง.. คือโครงสร้างความคิดของน้องเนี่ย มันจะออกแนวที่ว่า ทำคิดแบบย้อนกลับไปกลับมา มัน มันไม่ค่อยจะเดินเป็นเส้นตรง อย่างพอวันนี้
เราอยากจะตั้งใจทำอะไรอย่างโน้นอย่างนี้ ถ้ามีคลื่นรบกวน หรือว่าเสียงชวนให้ทำอย่างอื่นอะไรแบบนี้ บางทีเราเขว มันไม่ค่อยจะรักษาความตั้งใจให้แน่วแน่นะ ตรงนี้มันมีส่วนด้วย มันมีผล คือบางทีเราจะไม่เห็นหรอกว่า การที่เราเปลี่ยนใจ หรือว่าการที่เราไม่เดินทางนะ หนึ่ง สอง สาม ไปจนถึงก้าวสุดท้ายเนี่ย มันมีผลยังไงนะ เราก็จะสร้างความเคยชินในการที่วกไปวนมา บางทีตั้งใจทำอะไรไปอย่างหนึ่ง เปลี่ยนใจง่ายๆ หรือว่าเรื่องบางเรื่องเนี่ย เราคิดไม่จบ เป็นคนคิดไม่จบ มันย้อนไปย้อนมาอยู่เรื่อยๆ แล้วบางทีนะ เวลาเราปรึกษาใคร หรือว่าเราตั้งใจว่าจะเอาอย่างนี้และ มันก็ย้อนกลับมา มันหาความแน่นอนไม่ได้

ทีนี้ เวลาที่จะฝึกจิตเนี่ย มันฝึกจากชีวิตประจำวันตรงนี้แหละ ถ้าเรารู้ตัวว่าจิตของเราเนี่ย มันคอยจะย้อนไปย้อนมา เราต้องแก้ที่ตรงนี้เลย คือไม่ใช่ว่าเราจะมาปรับเอาด้วยการนั่งสมาธิอย่างเดียว เราต้องเริ่มตั้งแต่การตกลงกับตัวเองเลยว่า ต่อไปนี้ไม่ว่าเราจะตัดสินใจผิดหรือถูก จะต้องรับผิดชอบกับอะไรมากหรือน้อยก็ตาม ถ้าหากว่าคิดแล้ว ตกลงใจแล้ว ให้เอาตามนั้น ไม่มีการย้อนกลับมาคิดใหม่ ไม่มีการย้อนกลับมาวกวนอยู่กับใจตัวเองในหัวไม่เลิกนะ

พอเริ่มจากอะไรที่มันจับต้องได้เป็นรูปธรรมเนี่ย มันจะได้มีผลลัพธ์ที่เป็นตัววัดผลชัดเจนด้วยว่า จิตของเราเนี่ยมันออกจากอาการวกวนแล้วหรือยัง คือถ้าเราออกจากอาการวกวนเนี่ยนะ เราจะทำเป็นขั้นเป็นตอนไปจนถึงเป้าหมาย แล้วก็ไม่คิดยอกย้อน แต่ถ้าหากว่าเราเป็นคนที่ยังเอาตามนิสัยเดิมเนี่ย คิดแล้วมันจะไม่จบ ตัดสินใจไปแล้ว ยกตัวอย่าง เนี่ยจะซื้อหรือไม่ซื้อ มันคิดเป็นสิบรอบเลยนะ แล้วคนแบบเราเนี่ย มันจะเหมือนกับรู้สึกว่า ทำงานหนัก เพราะว่าเราคิดแล้วไม่จบ

คนที่ทำงานหนักบางทีนะ หนักเป็นสามหรือสี่เท่าหรือเป็นสิบเท่า เพราะคิดสามหรือสี่รอบหรือเป็นสิบๆรอบ เข้าใจไหม คนที่คิดรอบเดียวจบ มันจะเหมือนกับว่าทำงานแล้วเสร็จ แต่คนที่คิดไม่จบเนี่ยมันจะเหมือนกับทำงานสี่ห้าเที่ยว หรือเป็นสิบๆเที่ยว ทำอยู่ในใจ มันจะเหมือนกับงานหนักกว่าที่ควรจะเป็น งานหนักผิดปกติ 
บางทีเนี่ย พอตกลงกับตัวเองไม่ได้อย่างเดียวเนี่ยนะ มันเหมือนกับชีวิตหาจุดหมายไม่เจอ คือไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรกันแน่ อย่างตอนเนี้ย ที่เห็นคือเราตั้งใจดีแล้วล่ะ อยากจะมาทางธรรมอยากจะมาอะไร แต่เห็นไหม บางทีมัน มันก็ย้อนไปย้อนมา

ผู้ถาม : วันนี้คิดตั้งแต่เช้า เดี๋ยวมา เดี๋ยวไม่มา เดี๋ยวมา เดี๋ยวไม่มา ค่ะ

ดังตฤณ: 
นั่นแหละ ในที่สุดธรรมะชนะอธรรม ยินดีด้วยนะ

วิตกกังวลเมื่อต้องวางแผนอนาคต

ถาม : มักวิตกกังวลเมื่อต้องวางแผนงานในอนาคต ฝึกเจริญสติอย่างไรจึงจะทำงานที่ได้รับมอบหมายได้ดีขึ้น?

รับฟังทางยูทูบ : https://youtu.be/nqhXhuFAznI
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๖ การเจริญสติในชีวิตประจำวัน
๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๖ ที่ณัฐชญาคลินิก 


ผู้ถาม : สวัสดีครับ ไม่ได้มีคำถามอะไรเป็นพิเศษครับ ไม่ได้เจออาจารย์ ไม่ได้ถามนาน แต่ก็ยังทำเรื่อยๆ มา จะขอคำแนะนำว่า ผมทำมาถูกทางแล้วหรือยัง แล้วก็จะทำยังไงต่อครับ

ดังตฤณ:
จิตของเราดีขึ้นนะ สังเกตอย่างนึงไหม คือ พอเราปลดเปลื้องภาระให้คนอื่นได้ หรือช่วยคนอื่นได้เนี่ย เราจะรู้สึกเหมือนโล่ง เหมือนกับ ภาระหรืออะไรบางอย่างที่เราแบกไว้เนี่ยมันพลอยหายไปด้วย ทีละน้อยนะ ทีละครั้งทีละหน แล้วก็ดูอารมณ์แบบนั้นไปว่า บางครั้งเนี่ยความเปลี่ยนแปลงทางจิตมันเกิดขึ้นจากกรรม

เราช่วยคนอื่น มันก็เหมือนกับช่วยตัวเองน่ะแหละ เราปลดเปลื้องภาระให้คนอื่น มันก็เหมือนปลดเปลื้องภาระให้ตัวเองนะ

เราก็ดูไปว่า เวลาที่ใจเรา คือใจข้างในเนี่ย มันเหมือนโปรงโล่งพอสมควรนะ แต่ว่ายังมีอะไรครอบอยู่ ครอบอยู่บางๆ แต่ก่อนเนี่ย ความรู้สึกของเรามันจะเหมือนกับติดอยู่ในกรงขัง แน่นหนา แต่ตอนนี้ คล้ายๆ จะเป็นอิสระแล้ว เกือบแล้ว แต่มันยังติดอะไรอยู่บางๆ พอจะเข้าใจความรู้สึกนี้ไหม

ผู้ถาม : เข้าใจครับ

ดังตฤณ: 
ที่มันยังติดอยู่บางๆ เรา เราสังเกตไป มันเป็นอารมณ์ที่มาพร้อมกับความคิด ว่าจะต้องทำอะไรต่อ คือมันมองไปข้างหน้า ไม่ได้มองที่ปัจจุบัน เข้าใจคำพูดพี่หรือเปล่า อย่างเวลาเราวางแผน ว่าจะทำอะไรข้างหน้าเนี่ย มันจะมีความรู้สึกขาดๆ อยู่นิดนึง ถ้าอย่างนี้เข้าใจใช่ไหม

ผู้ถาม : ครับ

ดังตฤณ: 
แต่ถ้าเรากำลังจะเคลียร์งาน หรือว่าอะไรที่มันอยู่ตรงหน้า เราจะรู้สึกว่าชัดเจน ปลอดโปร่ง อย่างนี้เก็ท(get) ไหม

ผู้ถาม : เก็ท(get) ครับ

ดังตฤณ: 
โอเค ของเราพูดง่ายๆ ว่า เดิมมันสั่งสมนิสัย มองไม่เห็นอนาคตมา พอคิดถึงอนาคตแล้วกังวล แล้วแบบ มันมืดๆน่ะ มันเหมือนกับติดๆขัดๆ อยู่ตลอด แต่ตอนเนี้ย คือคล้ายๆว่า เราคิดถึงอนาคตน้อยลงแล้ว แต่นิสัยทางความคิด มันยังติดอยู่กับไอ้ตัวเดิม ที่ว่าคิดไปข้างหน้าแบบลอยๆ ไม่ได้วางแผนชัดเจน แต่ถ้าอย่างจะเคลียร์งานตรงหน้ามันมีอะไรข้อมูลอยู่ชัดเจนแล้ว แล้วคิดจะทำอะไรแบบง่ายๆ สเต็ปบายสเต็ป (step by step) มันจะรู้สึกว่าโอเคไม่มีปัญหา ไม่ได้ติดอะไร

ให้สังเกตเปรียบเทียบอย่างนี้ก็แล้วกัน เมื่อไหร่เรารู้สึกมีอะไรครอบอยู่บางๆ นั่นแสดงว่าเรากำลังคิดถึงอะไรบางอย่างข้างหน้าแล้ว คิดอะไรแบบลอยๆ เข้าใจพอยท์
นะ แต่ถ้าเรารู้สึกปลอดโปร่ง แสดงว่าตรงนั้นน่ะ มันรู้อยู่กับปัจจุบัน หรือกำลังมีโฟกัสอยู่กับงานในปัจจุบัน

ผู้ถาม : งานของผมตอนนี้ก็คือ กำลังฝึกสอนอยู่ครับ เวลาที่ทำแผนการสอนอะไรพวกเนี้ยครับ ก็คืองานตรงหน้าผมจะทำได้คิดว่าเร็ว เพราะว่าแบบมีเป้าหมายก็ทำไปตามนั้นครับ ในการงานผมครับ จะทำยังไงให้สอนได้ดี?

ดังตฤณ: 
เอาจิตที่สว่างเป็นที่ตั้ง จิตที่สว่างแล้ว แล้วก็มีความรู้สึกว่า เนี่ยเรามีความตั้งใจอย่างนี้นะ แล้วก็เรามีความรู้อย่างนี้นะ พอมาบวกกันเนี่ย มันจะกลายเป็นความไหลลื่น แต่ถ้าเรายังรู้สึกว่าเรายังสอนดีไม่พอหรือว่าตรงนี้ยังไม่ชัดเจนพออะไรอย่างเนี้ย มันจะมีห่วง มีกังวลไปข้างหน้า หรือไม่ก็ไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน
สังเกตที่อาการของจิต อย่างที่พี่ว่าเนี่ย ถ้าเรามีข้อสังเกต มีจุดสังเกตว่าคิดไปข้างหน้า เนี่ยมันจะมีกรอบ มันจะมีกังวล มันจะมีห่วง แต่ถ้าเมื่อไหร่เราอยู่กับโฟกัสกับงานตรงหน้าจริงๆ แล้วรู้สึกปลอดโปร่ง นั่นแสดงว่า อยู่กับจุดที่ถูก อยู่ถูกจุด อยู่ถูกทางนะ แล้วก็สังเกตอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมันรู้สึกว่าเป็นอิสระ ไม่ต้องคาดหวัง มันก็จะมาเองอยู่แล้ว ความสามารถที่จะถ่ายทอด ที่จะทำอะไรดีๆ ได้เนี่ย

เพราะว่า จำไว้นะ จิตที่สว่างเป็นอิสระเบิกบาน มีความรู้สึกว่าเคลียร์คัท
ชัดเจนอยู่กับอะไรตรงหน้า มันจะมีความพร้อมที่จะเป็นระเบียบ มีขั้นมีตอน และมีเหตุมีผล แล้วมันจะสั่งสมทักษะความสามารถ ที่จะถ่ายทอดได้มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถ้ายังมีห่วงมีกังวล แล้วก็มัวแต่คิดว่าทำยังไงถึงจะก้าวหน้า มันจะไปคิดถึงอุบายวิธี หรือว่าไปนึกถึงจุดที่ไม่ควรจะนึกถึง


ผู้ถาม : ขอบคุณครับ

ดังตฤณ: 
ง่ายๆ แค่นั้นเอง