รับฟังทางยูทูบ : https://youtu.be/gtFJVS0bBB4
(ดังตฤณวิสัชนา Live # ๔ ทางเฟสบุ๊ก ๒๔ เมษายน ๒๕๕๙)
ดังตฤณ :
มีสองประเด็นให้ตอบนะ ประเด็นแรกคือ
พระพุทธเจ้าตรัสว่า “คนไม่ถูกนินทาในโลกนั้นไม่มี” นะครับ เราจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม
จะมีคนพูดถึงเราในทางไม่ดีเสมอ เพราะว่าคนเราเห็นอะไรต่างกัน
เราเห็นออกมาจากมุมมองของเรา เขาเห็นออกมาจากมุมมองของเขา
เพราะฉะนั้นเนี่ยถ้าหากว่ามุมมองที่มันต่างกันนั้นประกอบอยู่ด้วยความรู้สึกที่ไม่ดี
ความรู้สึกที่จะเอาเข้าตัว หรือว่าความรู้สึกเหมือนกับอยากแข่งได้ชิงดีอะไรก็ตามเนี่ยนะ มันจะทำให้เกิดความรู้สึกอยากนินทา
อยากพูดถึงในทางไม่ดีขึ้นมาเสมอนะครับ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม
และเป็นสัตว์สังคมประเภทชอบนินทานะครับ
อันนี้เป็นการทำความเข้าใจอันดับแรกซึ่งรู้ๆ กันอยู่ แต่ว่ามันเข้าไม่ถึงใจ
อันนี้เป็นประเด็นแรกนะ
ประเด็นที่สองนะครับ คือแทนที่จะมองว่าจะแก้ปัญหาข้างนอกอย่างไรนะครับ ขอให้มองว่าไอ้สิ่งที่เราอยากหลบจริงๆ เนี่ย
คือความรู้สึกไม่ดีที่มันเกิดขึ้นในใจเราเอง
พ้อยท์นะครับ พ้อยท์ที่ชัดเจนนะก็คือว่า
พอเวลาเราได้ยินเสียงนินทาหรือว่ารับรู้ว่าเกิดการพูดติเตียนหรือว่าว่ากล่าวอะไรก็ตาม
ไอ้ตรงนั้นเนี่ยมันเป็นเสียงภายนอก ซึ่งเราไม่สามารถจะควบคุมได้
ไม่สามารถจะตามทำความเข้าใจได้หมดได้
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในใจของเราคือความขัดเคือง ความรู้สึกไม่ดี
ความรู้สึกแย่ๆ เนี่ย อันนี้เป็นสิ่งที่เราสามารถจะตามรู้ได้ จะตามทำความเข้าใจกับมันได้
คือตัวโทสะนี่นะ สิ่งเดียวที่พระพุทธเจ้าเน้นย้ำให้ทำความเข้าใจก็คือว่า “โทสะที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะร้อนขนาดไหน
ไม่ว่าจะเกิดยืดยาวขนาดไหน ในที่สุดมันจะแสดงความไม่เที่ยงออกมา”
คืออันนี้อาจจะตอบไม่ตรงประเด็นปัญหาแต่จริงๆ แล้วมันตรงนะ ลองฟังให้จบนะ
เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกว่า โทสะมันเป็นความไม่เที่ยง คือวิธีง่ายๆ
นะครับ อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านให้ดูก็คือ
สังเกตโดยอาศัยลมหายใจเนี่ยเป็นเครื่องชี้ว่า โทสะมันเกิดขึ้นที่ลมหายใจนี้
แล้วไอ้ลมหายใจต่อมาเนี่ยโทสะมันยังเท่าเดิมได้ไหม หรือว่ามันมากขึ้น
หรือว่ามันน้อยลง
เมื่อไหร่ที่เรารู้สึกถึงความไม่เที่ยงของโทสะ
เมื่อนั้นเรามีความเข้าใจเกี่ยวกับโทสะเนี่ยชัดเจนแล้วนะ ความเข้าใจก็คือว่า โทสะ
ไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นด้วยเหตุอะไรก็ตาม
ด้วยเสียงนินทาหรือว่าด้วยความขัดเคืองไม่พอใจในผู้คนในรูปแบบไหนก็ตาม
มันจะมีความไม่เที่ยงเสมอ และเมื่อจิตของเรามันวางมันไม่ยึดเอาโทสะเป็นสิ่งสำคัญของมัน
คือจิตเนี่ยถ้ายกเอาอะไรก็ตามมาเป็นสิ่งสำคัญของมัน
จิตจะโฟกัสอยู่กับสิ่งนั้น หรือพูดง่ายๆ ว่า จับยึดอยู่กับสิ่งนั้น
เกิดอุปาทานว่าสิ่งนั้นเนี่ยเป็นตัวเรา
ถ้าหากว่าเราเห็นโทสะไม่เที่ยงแล้ว อาการยึด อาการจับมันจะคลายลง และเมื่อจิตมันมีอาการคลายตัวลง
มันมีผลกระทบกับโลกภายนอกด้วย
อย่างเช่นที่ทุกคนเคยมีประสบการณ์นะ
เวลาที่เราอยากจะทำให้ใครสักคนไม่พอใจด้วยคำพูดหรือว่าด้วยการทิ่มแทง
แล้วเห็นเขาไม่พอใจ เราจะรู้สึกประสบความสำเร็จ
เราจะรู้สึกเหมือนกับมีความเกี่ยวข้องที่มีนัยสำคัญนะครับ เรามีอิทธิพลสามารถทำให้เขาเป็นทุกข์ได้
มันก็จะเกิดความพอใจขึ้นมา
แต่ทีนี้ถ้าหากว่าเราพยายามที่จะทำให้เขาเป็นทุกข์
แล้วเขาไม่แสดงความทุกข์ออกมา ตรงกันข้ามมันมีความเบาออกมาให้รู้สึก
มันมีความสุขมันมีความสบายใจออกมาให้รู้สึกได้เนี่ย ในที่สุดมันจะอ่อนกำลังไปเอง มันจะมีความเหนื่อย
มันจะมีความรู้สึกขี้เกียจ มันจะมีความรู้สึกคร้านที่จะพยายามทำให้เขาเป็นทุกข์
อันนี้ก็เหมือนกัน
เวลาที่ใจของเราเบา เวลาที่ใจของเราไม่ยึดเอาโทสะเป็นที่ตั้งเป็นที่โฟกัส แม้ว่าจะถูกนินทา แม้ว่าจะถูกกลั่นแกล้ง พอนานๆ ไปคนที่เขาจงใจนินทาจงใจกลั่นแกล้งเราเกิดความรู้สึกว่าเอาชนะเราไม่ได้
ในที่สุดเขาจะยอมแพ้ไปเอง
คือมันจะเหนื่อยน่ะ เหนื่อยที่จะพยายาม
แล้วเสร็จแล้วไม่ได้ผลที่ต้องการ
ความสุขที่เกิดจากใจของคนที่เกิดจากการไม่ยึด
มันเป็นความสุขที่แท้จริง
มันทำให้จิตของเราสงบอย่างแท้จริงนะ ความสุขอย่างอื่นเนี่ยที่มันไปยึดเอา
ที่มันไปหวังเอาเนี่ย มันไม่ใช่ของที่จะอยู่กับเรานานหรอก
แต่ความสุขอันเกิดจากการที่เราเห็นความไม่เที่ยงของสิ่งใด
แล้วเราไม่ยึดสิ่งนั้น มันจะอยู่ติดตัว ไม่ว่าจะอีกนานแค่ไหนจนกว่าจะสิ้นชีวิตนี้เนี่ยนะ มันสามารถใช้ได้ตลอด มันเอาไปประยุกต์ใช้ได้ตลอด แล้วความสุขความเบานั้นมันเป็นมิตรกับคนทั่วไป
มันจะสามารถละลายพฤติกรรมบางอย่างของคนได้
ถ้าเขาร้ายมากๆ จริงๆ
โอเคเราอาจจะไม่เห็นผลต่างภายในวันสองวัน
แต่เชื่อเถอะว่าหลายเดือนผ่านไปหรือว่าเป็นปีนะ
ในที่สุดเขาจะอ่อนกำลัง
เพราะจิตคนเนี่ยจริงๆ แล้ว โดยธรรมชาติมีความอ่อนแอนะ จำไว้ดีๆ นะ “จิตคนโดยธรรมชาติดั้งเดิมเลย
มีความอ่อนแอ มีความปวกเปียก
เมื่อพยายามอะไรมากๆ เข้า แล้วประสบความล้มเหลวตลอด
ในที่สุดมันจะแพ้ภัยตัวเอง” นะครับ
พยายามจะไปทำเขาเสร็จแล้วเขายิ่งดูนับวันยิ่งมีความสุขขึ้นทุกที มันถอยไปเอง
มันหมดแรง หมดกำลังนะครับ
สรุปคำแนะนำก็คือ ถ้าเราทำความเข้าใจกับกลไกภายในของเราได้
มันมีอิทธิพลให้พฤติกรรมของเขาแตกต่างไปได้ด้วย
คือเรามีความสุขก่อน แล้วเขาอาจจะได้ทำบาปน้อยลง หรือไม่ต้องได้ทำบาปอีกเลย
แผ่เมตตาเนี่ย ถ้าในตอนแผ่เนี่ยเราเต็มไปด้วยความรู้สึกกระวนกระวาย
บางทีมันก็เหมือนกับแผ่ความร้อนหรือว่าแผ่ความกระวนกระวายไป
เหมือนเอาตัวกระตุ้นหรือว่ายั่วยุให้เขาอยากจะกลับมาทิ่มแทงเราอีกได้ แต่ถ้าหากว่า ณ
เวลาที่เขาแกล้งเราหรือว่านินทาเรา คือจงใจด้วยความรู้ว่าเราจะเป็นทุกข์น่ะนะ
แล้วเราเห็น คือเกิดความทุกข์
อย่าพยายามฝืนไม่ให้เกิดความทุกข์นะ ให้ยอมรับตามจริงว่ามันเกิดความทุกข์ขึ้นมา
เมื่อรู้ว่าเขากระทำต่อเราอีกนะครับ แต่เมื่อเกิดความทุกข์แล้วให้ฝึกจนกว่าจะชิน
ให้ฝึกจนกว่ามันจะได้
ลองถามตัวเองเลยลมหายใจเนี้ยมันทุกข์ขนาดไหน มันดิ้นรน มันดิ้นเร่าอยู่ปั้ดๆ
ขนาดไหน ยอมรับไปตามจริง ไม่ต้องไปฝืน ไม่ต้องไปแกล้ง ไม่ต้องไปกดไว้
ไม่ต้องไปพยายามที่จะทำให้มันเป็นอย่างอื่น
ยอมรับมันไปเลยว่า ลมหายใจนี้นาทีนี้นะครับ
มันมีความทุกข์จากการถูกนินทาจริงๆ แล้วก็ไม่ต้องไปคาดหวังด้วยว่าลมหายใจต่อมาจะเป็นยังไง คือพอธรรมชาติของร่างกายมันจะดึงลมเข้า
เราก็ปล่อยให้ลมเข้า แล้วก็ค่อยสังเกตเอาว่าลมเข้าใหม่เนี่ย ลมหายใจออกใหม่เนี่ยนะ
มันยังทุกข์เท่าเดิมอยู่ไหม มันยังมีความกระวนกระวายอยากดิ้นปั้ดๆ อยู่ไหม
ส่วนใหญ่แล้วมันจะมีความเบาบางลง มันจะมีความรู้สึกที่ดีขึ้น หรือถ้าหากว่ามันยังดิ้นอยู่มันยังมีความกระวนกระวายหนักกว่าเก่าก็ยอมรับไป
ยอมรับไปทีละลมหายใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับใจของเรา
เอาความทุกข์ที่เกิดขึ้นนั่นล่ะมาใช้ประโยชน์นะครับ
ว่ามันแสดงความไม่เที่ยงให้ดูยังไงในแต่ละลมหายใจ
แล้วความทุกข์นั่นแหละมันจะสอนให้เรามีความสุขอย่างแท้จริงตอนที่เข้าใจความจริงได้ว่า
ลักษณะความทุกข์เนี่ยมันต่างไปเรื่อยๆ นะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น