รับฟังทางยูทูบ : https://youtu.be/K6fDjvwFmKo
(ดังตฤณวิสัชนา Live #๓ ทางเฟสบุ๊ก พฤหัส ๒๑ เมษายน ๒๕๕๙)
(ดังตฤณวิสัชนา Live #๓ ทางเฟสบุ๊ก พฤหัส ๒๑ เมษายน ๒๕๕๙)
ดังตฤณ:
อันนี้เป็นเป็นปัญหาที่ค่อนข้างจะสามัญสำหรับคนที่ฝึกจะอยู่กับลมหายใจ
คนที่อยู่กับลมหายใจแล้วง่วงคือคนที่หายใจแบบผิดปกติ คุณสังเกตดู ว่าลมหายใจของคุณเป็นธรรมชาติแค่ไหน
ถ้าหากว่ายังไม่ถึงเวลาที่ร่างกายต้องการจะรับลมเข้า แล้วคุณไปรีบดึงลมเข้าหลายๆครั้งเข้า
จะเกิดความอึดอัดนำเข้ามาก่อน พอเกิดความอึดอัดแล้ว มันก็กลายเป็นความรู้สึกว่าฝืน
เกิดความรู้สึกว่าล้า เกิดความรู้สึกว่าเพลียนะ อย่างหลายๆคน ผมจะหายใจให้ดูคือขึ้นมาตั้งใจก่อนเลยว่า
เราจะรู้ลมหายใจให้ได้ ตั้งใจมั่นๆเลย พอระบายลมหายใจออกไปเสร็จ
ยังไม่ทันที่ร่างกายจะต้องการลมหายใจระลอกใหม่ คุณไปสั่งเองเลยให้มันหายใจเข้าอีก
นี่ตรงนี้ ร่างกายไม่ได้เป็นคนหายใจแล้วแต่ตัวคุณตัวอัตตา ผู้อยากสงบมันเป็นคนอยาก
มันเป็นคนเรียกลมหายใจเข้ามา ซึ่งไอ้ตัวอยากสงบ
หรือว่าตัวที่อยากจะผูกอยู่กับลมหายใจให้เกิดสมาธิ ให้เกิดสติ
ถ้ามันมากเข้ามากเข้า มันกลายเป็นความหนักอึ้ง มันกลายเป็นภาระซึ่งทำให้เกิดความง่วงได้ง่ายๆ
เพราะว่าลมหายใจที่เข้าไปมากเกินไป โดยที่ร่างกายยังไม่ทันต้องการ
มันทำให้เกิดความอึดอัด ทำให้เกิดความหน่วง ทำให้เกิดความรู้สึกกดดัน ไอ้ความกดดัน
ความอ่อนเพลีย ความรู้สึกว่ามันล้านี่แหล่ะ เป็นตัวการที่ทำให้ง่วงในระยะยาว
แต่ถ้าหากว่าเอาใหม่ การเจริญสติระหว่างวัน
ถ้าหากจะใช้ลมหายใจเป็นที่พึ่งเป็นราวเกาะ ขอให้สังเกตสภาพทางกายก่อน
อันนี้คือคีย์เวิร์ดนะ อย่าไปรีบร้อนที่จะจ้องลมหายใจทันที เริ่มต้น
สร้างความเคยชินใหม่ สร้างความเคยชินใหม่เลย คือ เราอยู่ในอริยาบทใดก็ตาม
ส่วนใหญ่จะเป็นอริยาบทนั่ง เวลาคนจะรู้สึกถึงลมหายใจระหว่างวัน
ให้ดูก่อนว่าสภาพทางกายนี่ มันมีอาการเกร็ง มันมีอาการแน่นอยู่ไหม
ถ้าหากว่าสภาพทางกายของคุณมีอาการเกร็ง มีอาการแน่น มีอาการกำ แล้วคุณไปฝืนหายใจ
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาก็คือ คุณจะรู้สึกว่าร่างกายนี่ มันอึดอัดยังไงชอบกล เริ่มต้นขึ้นมาอึดอัดเลย
มีความรู้สึกทึบๆขึ้นมาทันที แล้วยิ่งหายใจไปหายใจมา
ก็ยิ่งเกิดความรู้สึกตึงเครียด
เกิดความรู้สึกเหมือนกับถูกกดถูกหน่วงไว้อยู่ข้างในแล้วก็กลายเป็นความง่วงในที่สุด
แต่ถ้าหากว่าเริ่มต้นขึ้นมา คุณไม่ได้ไปเพ่งที่ลมหายใจ แต่สำรวจความพร้อมทางกายก่อน
ดูซิว่าฝ่าเท้าคุณวางราบอยู่กับพื้น มันมีอาการงอไหม มันมีอาการเกร็งไหม
ถ้าหากว่ามีอาการงอ มีอาการเกร็ง ก็ทำให้ผ่อนคลายซะ พอผ่อนคลายที่ฝ่าเท้าได้
คุณจะรู้สึกเหมือนกับร่างกายปรากฏชัดขึ้นมา ปรากฏด้วยความอ่อนสลวย ด้วยความอ่อนโยน
ด้วยความไม่เกร็ง ไม่กำ ลักษณะของกายที่ไม่เกร็ง ไม่กำ
นั่นเป็นลักษณะของกายที่พร้อมจะเป็นฐานรองรับสมาธิ คนส่วนใหญ่ไม่สังเกตถึงข้อนี้
หลายคนนี่บังเอิญที่จะทำสมาธิได้นิ่ง บังเอิญทำสมาธิได้นาน ถ้าสังเกตดูดีๆนะ
มันเริ่มต้นมาจากร่างกายที่มีความพร้อมนี่แหล่ะ ที่มันมีความโปร่ง ที่มันมีความเบา
ที่มันมีความไม่กำไม่เกร็ง ถ้าสำรวจฝ่าเท้าดู เออมันไม่กำไม่เกร็งแล้ว
ลองสำรวจฝ่าเท้ามือต่อด้วย ฝ่ามือจะวางอยู่ตรงไหนก็ตาม ถ้าหากว่ามันแบสบาย
ไม่อยู่ในลักษณะกำ ไม่อยู่ในลักษณะที่มันตึงเกร็ง
มันก็จะมีความรู้สึกผ่อนคลายขึ้นมาอีก และทั่วทั้งใบหน้าดูเถอะ มันมีอาการขมวดอยู่ไหม
มีไหมที่ขมับเรายังตึงๆอยู่ ถ้าหากว่าเราสำรวจเข้ามาที่ร่างกาย ส่วนใดส่วนหนึ่ง
สามจุดนี้ มันมีอาการกำ มีอาการแน่น มีอาการเกร็ง มีอาการตึง มีอาการขมวด แล้วเราผ่อนคลายให้ได้ทั้งหมด
มันจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า เออนี่ร่างกายของเรา มีความเป็นอย่างนี้อยู่ มีความพร้อมที่จะอยู่นิ่งๆได้ไม่กวัดแกว่ง
ไม่มีความอยากจะเคลื่อนไหว ไม่มีความอยากจะกระดุกกระดิก
ลักษณะของร่างกายที่พร้อมจะสงบ ระงับได้ เวลาหายใจเข้าจะหายใจแบบมีสติรู้ว่า ขณะนี้ร่างกายมีความพร้อมที่จะลากลมหายใจยาว
หรือว่าดึงลมหายใจเข้าแค่สั้นๆ ระบายลมหายใจออกได้ยาวๆหรือว่า
ระบายลมออกได้แค่สั้นๆ ตั้งต้นที่ความรู้สึกทางกายก่อน ลองดูนะ
พอตั้งต้นที่ความรู้สึกทางกายได้
จำไว้เลย สิ่งแรกที่คุณจะค้นพบก็คือ ถ้าหากร่างกายยังไม่อยากหายใจ คุณจะไม่รีบร้อนดึงดันเอาลมหายใจเข้ามา
ถ้าหากว่าร่างกายยังไม่ได้ต้องการจะระบายลมหายใจออกคุณก็จะไม่รีบพ่น พ่นๆออกไป
การที่ลมหายใจเข้าออกตามจังหวะความต้องการที่แท้จริงของร่างกายนี่นะ
มันจะทำให้เกิดสติ มันจะทำให้เกิดความรู้สึกใจเย็น ไม่รีบร้อน ไม่เร่งรัด การที่ร่างกายปลอดโปร่งสบาย
ไม่รีบร้อนไม่เร่งรัดแล้วมีสติรู้เข้าไปอีก ว่าขณะนี้ร่างกายต้องการลมหายใจเข้า
ขณะนี้ร่างกายต้องการลมหายใจออก แล้วก็รู้ด้วยว่าควรจะยาวแค่ไหน ควรจะสั้นแค่ไหน
อย่างนี้นอกจากจะไม่ง่วงแล้ว มันจะทำให้เราเกิดสติตื่นขึ้นมา หรือแม้กระทั่งพอหายใจไปหายใจมา
ธรรมดา คนสมาธิยังไม่ค่อยจะตั้งมั่นมันก็จะลอยๆออกไป จิตมันเหมือนกับอยากจะออกไปข้างนอก
อยากไปเที่ยว อยากจะคิดถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้ ไม่อยากจะเอาลมหายใจ
อะไรที่มันน่าเบื่อ อะไรที่มันซ้ำไปซ้ำมา ถ้าเรายังมีสติอยู่แล้วดูว่า ณ
ขณะที่มันอยากจะเหม่อออกไป มันก็เป็นช่วงเวลาที่ มันเริ่มจะง่วงได้เหมือนกัน มันเริ่มง่วงขึ้นมาแบบอ่อนๆ
ที่นี้เราเปลี่ยน ถ้าหากว่าถึงจังหวะที่มันเริ่มเบลอๆ ถึงจังหวะที่มันเริ่มอยากจะส่งออกไป
ออกไปเที่ยวข้างนอก แล้วเราบอกตัวเองว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นของความง่วง
ง่วงเพราะว่ามันสบาย มันเคลิ้มอยู่กับความรู้สึกว่านั่งนิ่งๆ ดูลมหายใจสบายๆแล้วใจก็เหม่อลอยออกไปตามธรรมชาติที่พร้อมจะหลับนั่นแหล่ะ
พอเรามีสติเตือนตัวเองขึ้นมานิดเดียวว่าจิตแบบนี้เป็นชนวนของการง่วง
จิตแบบนี้ที่เป็นชนวนของความพร้อมจะหลับ ไม่ใช่ความพร้อมจะตื่นรู้เป็นสมาธิ
ไม่ใช่พร้อมจะตื่นรู้เป็นสติ เตือนตัวเองแค่นิดเดียว นี่จิตแบบนี้ จิตเริ่มง่วง
แล้วหายใจยาวขึ้นเรียกความสดชื่นเข้ามา
แล้วสังเกตความแตกต่างระหว่างจิตที่มันเริ่มจะบานออกไป เริ่มจะไปเที่ยวข้างนอก กลายเป็นจิตที่รู้อยู่กับความสดชื่นของลมหายใจ
มันจะผิดกัน มันจะแตกต่างกัน แล้วจะค่อยๆแยกแยะออก ว่าจิตที่พร้อมจะง่วง
หน้าตาเป็นแบบหนึ่ง จิตที่พร้อมจะตั้งเป็นสมาธิมันเป็นอีกแบบหนึ่ง
ในที่สุดระหว่างวัน
คุณจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าจิตที่อยู่กับลมหายใจอย่างถูกต้อง นอกจากจะไม่ง่วง
มันจะทำให้คุณกระปรี้กระเปร่า มีความกระตือรือร้นที่จะอยู่ในชีวิตประจำวัน อันนี้เรายังไม่ได้พูดถึงการพิจารณาลมหายใจโดยความเป็นของไม่เที่ยง
หรือว่า โดยให้เป็นสติ เป็นฐานเริ่มต้นของสติ
เราพูดเอาเฉพาะแค่ว่าอยู่กับลมหายใจเป็น ใจจะเย็นแล้วก็มีสติตื่น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น