วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2559

ทำอย่างไรเมื่อมีความกลัว

ถาม : ทำอย่างไรเมื่อมีความกลัว
รับฟังทางยูทูบ 
https://youtu.be/JPa31Ai9RoM

(ดังตฤณวิสัชนา Live # ๔ ทางเฟสบุ๊ก ๒๔ เมษายน ๒๕๕๙)


ดังตฤณ : 

ถ้าเกิดความกลัว ไม่ว่าจะกลัวชนิดไหนก็แล้วแต่ จะกลัวผี จะกลัวคน จะกลัวสังคม กลัวอนาคต มันเป็นความกลัวเหมือนกัน  อาการของจิตเนี่ยมันหดตัวลงมา แล้วถ้าหากว่าอยากจะหายกลัว อยากจะสู้กับความกลัวก็ควรจะมีต้นทุนสักนิดหนึ่ง  ถ้าหากว่าพูดถึงจิตที่หดเนี่ย มันก็เป็นตรงกันข้ามกับจิตที่เบิกบานใช่ไหม  ถ้าทำให้จิตเบิกบานเป็นปกติได้ ความกลัวหรือว่าโอกาสที่จิตจะหดลงมาก็น้อยลงนะครับ หรือถ้ามองในแง่ที่ว่า จิตที่มีความกลัวคือจิตที่ถูกห่อหุ้มด้วยความมืด  หากเราทำให้จิตมีความสว่างแผ่ผายออกไปกว้างๆ ได้เป็นปกตินะ โอกาสที่จิตมันจะมืด จิตจะถูกห่อหุ้มด้วยความมืดก็ยากขึ้น

แล้ววิธีที่เราทำๆ กันนะครับ ก็อาจจะสวดมนต์  แต่หลักการสวดมนต์เนี่ยคนจะไม่เข้าใจ สวดต้องสวดเต็มเสียง  แล้วสวดเนี่ยไม่ใช่สวดเรียกใครมาคุ้มครองเรา แต่เราต้องให้จิตของเราเนี่ยมีความเป็นเมตตามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  ซึ่งบทสวดที่ทำให้จิตรินเป็นเมตตา แผ่ผายเป็นเมตตามากที่สุดก็คือ “บทอิติปิโส” นั่นเองนะครับ แต่ว่าต้องตั้งใจสวดด้วยความเคารพ ระลึกว่าเป็นพระพุทธพจน์นะครับ “อิติปิโส ภควา อรหัง สัมมาสัมพุทโธ” สวดเต็มปากเต็มคำนะครับ แล้วก็ด้วยความระลึกถึงคุณวิเศษหรือว่าคุณสมบัติของพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์จริงๆ  จิตมันถึงจะมีความสว่าง จิตมันถึงจะมีความเป็นเมตตา มีความแผ่ผาย เบิกบานออกไป  แล้วก็โอกาสที่จะหดตัว โอกาสที่จะถูกห่อหุ้มด้วยความมืดมันก็ยากขึ้น

แล้วถ้าหากว่ามีทุน มีความสว่างอยู่บ้างแล้วนะครับ  เมื่อเกิดความกลัวขึ้นมายังอดไม่ได้ เราก็จะมีความสามารถที่จะมองเข้าไปเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นในความกลัวนั้น  ประเภทที่เห็นของจริงมานั้นยกไว้ก่อนนะ มันไม่ใช่เคสของคนส่วนใหญ่  ส่วนใหญ่เนี่ยไม่เคยเห็นแต่ก็กลัว ทั้งชีวิตไม่เคยเห็นเลยแม้แต่ครั้งเดียว ของจริงเป็นยังไงไม่ทราบ ไม่เคยรู้ ไม่เคยประจักษ์กับตา ไม่เคยแม้กระทั่งเห็นด้วยจิตด้วยใจ แต่ก็เกิดความกลัว  อันนั้นมันหมายความว่าสิ่งที่เรากลัวก็คือ กลัวอุปาทานที่สร้างขึ้นมานั่นเอง  แล้วถ้าหากว่ามีความสามารถที่จะมองเข้าไปเห็น ระลึกเข้าไปได้ มีลมหายใจเป็นเครื่องกระตุ้นสตินะครับ  แล้วก็เห็นว่า ณ ลมหายใจนั้นมีความกลัวขึ้นมาอย่างมากมาย กลัวแทบขาดใจตาย ไอ้กลัวแทบขาดใจตาย กลัวจนลนลาน กลัวจนอกสั่นขวัญแขวนไปหมดนั่นน่ะ ทั้งหมดทั้งปวงก็คือ ความทุกข์ที่มันห่อหุ้ม ที่มันกดดัน ที่มันอัดเข้ามา ทำให้จิตเนี่ยมันหด  พอเห็นได้ว่า ณ ลมหายใจนั้น มีความกลัวขนาดไหนนะ มันจะรู้สึกในลมหายใจต่อๆ มาว่า หน้าตาความกลัวในลมหายใจแรกเนี่ย มันแตกต่างไป มันไม่เท่าเดิม มันไม่เหมือนกันนะครับ อาจจะหนักขึ้นก็ได้ หรือว่าอาจจะเบาลงนิดหนึ่ง  ประเด็นคือ ถ้าเราเฝ้าสังเกตไปนะครับ ว่าแต่ละลมหายใจ ความกลัวมันไม่เท่าเดิม ในที่สุดเนี่ย จิตมันจะฉลาดขึ้น มันจะเกิดความรับรู้ขึ้นมาว่า สิ่งที่ไม่เที่ยง มันไม่ใช่ตัวของจิต

พอรู้สึกขึ้นมาแล้วว่าสิ่งที่ไม่เที่ยง มันไม่ได้เป็นอันเดียวกับจิตกับใจที่เป็นผู้ดูผู้รู้อยู่เนี่ย  มันจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า ความกลัวไม่ใช่ตัวเรา ความกลัวไม่เกี่ยวกับเรา ความกลัวเนี่ยแค่เข้ามาร้อยรัด เข้ามาบีบให้จิตมันหดตัว แล้วเสร็จแล้วมันก็คลายออกไปตามธรรมชาติของมัน โดยที่เราไม่ต้องไปบีบบังคับ หรือว่าพยายามขับไล่ไสส่ง  แค่สังเกตโดยไม่ไปวุ่นวายกับมัน เราก็รู้ความจริงนี้แล้ว  พอเห็นว่าความกลัวเป็นของไม่เที่ยง อาการบีบของจิต อาการหดของจิต มันเป็นของไม่เที่ยง พอกลับเกิดความกลัวขึ้นมาอีก มันจะเริ่มเห็นอะไรต่างไปนะครับ มันจะเริ่มเห็นความจริงบางอย่างว่า มีเงาปรากฏขึ้นมาในจิตก่อน เหมือนกับจิตไปปรุงแต่งอะไรขึ้นมา ไปนึกถึงน่ะ ไปนึกถึงไอ้ที่เคยดูหนังมา หรือว่าไปนึกถึงไอ้ที่เขาเล่าๆ กันมา หรือว่าไปเกิดอาการวาดภาพเอาว่า ผีน่าจะเป็นอย่างนั้น ผีน่าจะเป็นอย่างนี้ ซึ่งอาการวาดไปเองแบบนี้เนี่ยพอจิตมันเห็นนะ มันเห็นอาการของตัวเองแบบนี้เข้าเนี่ยมันเลิกกลัวเลยนะ มันเกิดความเข้าใจว่านี่คือการปรุงแต่งไปเองของจิต นี่คือการวาดภาพไปเองของจิต

ประเด็นนี้แหละที่ผมพูดค้างไว้นะครับ ก็คือ ถ้าเราเริ่มเห็นเข้าไปว่า อาการวาดไปเองของจิตเนี่ย มันไม่ต้องมีก็ได้ มันจะเบา มันจะโล่ง มันจะเป็นอิสระเลยนะ เหมือนกับเข้าถึงความจริงที่เป็นกลไกการทำงานของจิต รู้แจ้งขึ้นมา รู้แจ้งแบบเล็กๆ นะ รู้แจ้งว่า “อาการของจิตเนี่ย คือทั้งหมดทั้งปวงที่เป็นต้นกำเนิดความรู้สึก” จะสุขก็ดี จะทุกข์ก็ดี  ถ้าหากว่ามันไม่วาดภาพน่ากลัว มันก็ไม่เกิดความทุกข์  แต่ถ้าหากวาดภาพน่ากลัว สยอง เป็นอันตราย หรือว่ามันจะมีภัยเข้าตัว มันจะเกิดความกลัวขึ้นมา  ลักษณะของความกลัว จะเป็นกลัวสังคม กลัวอนาคต กลัวอันตรายที่มองไม่เห็น หรือว่ากลัวผี มันเป็นอันเดียวกันนั่นแหละ  แต่ว่าเราจะเห็นได้ชัดว่าอุปาทานหน้าตาเป็นยังไงก็จากการสังเกตความกลัวผีนั่นแหละนะ เพราะกลัวผีเนี่ยมันชัดเจนว่า ทั้งชีวิตอาจจะคนส่วนใหญ่นะ ตีเสียว่าเกินครึ่งน่ะ ไม่เคยเห็นของจริงเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่ก็กลัวทั้งชีวิตได้เหมือนกัน เนี่ยตรงนี้เนี่ยมันทำให้เรามีภาพรวมหรือว่ามุมมองที่ชัดเจนเกี่ยวกับความกลัวได้

๙๐ เปอร์เซ็นต์ของความกลัว เกิดขึ้นจากการหลอกตัวเอง เกิดขึ้นจากอุปาทาน สิ่งที่เรากลัวไม่ใช่ของข้างนอก แต่เป็นสิ่งที่มันก่อตัวขึ้นมาภายในของเราเอง”


** IG **

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น