ถาม : อยากฝึกจิตมาก แต่ทำไม่เคยได้เลย
ดังตฤณ:
อาจจะเป็นเพราะว่าคุณไม่ได้ทำ
คือฝึกจิตไม่ใช่การฝืนใจ ไม่ใช่การข่มใจ
ไม่ใช่การพยายามไปทำรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่ไม่ถูกกับเรา เวลาที่ฝึกจิต
พอนึกถึงการฝึกจิตนะ
ปัจจุบันเรามักนึกถึงคำแนะนำที่ตายตัวจากสำนักใดสำนักหนึ่งนะครับ
แล้วก็พยายามทำแบบนั้นแล้วทำไม่ได้ มีความรู้สึกว่าชาตินี้ไม่มีบุญแล้วล่ะ
ไม่มีหวังแล้วล่ะ ไม่มีวาสนาแล้วล่ะ แต่จริงๆ
คุณอาจจะยังไม่เข้าใจวิธีฝึกจิตที่แท้จริงเลยก็ได้นะครับ คำว่าฝึกจิต ทุกคนเคยฝึกจิตกันมาหมด ตอนที่ถูกเพื่อนแกล้งแล้วคุณให้อภัยได้ในภายหลัง นั่นก็เรียกว่าการฝึกจิต ตอนถูกพ่อแม่ดุว่า แล้วเรามีความอดทนมากพอที่จะอธิบายเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องทำอะไรแบบนั้นแบบนี้นะ นั่นก็คือการฝึกจิต หรือถูกเจ้านายด่า เราจะต้องยืนกุมเป้าก้มหน้าฟังอย่างเดียว นั่นก็คือการฝึกจิต อะไรก็แล้วแต่ที่มันต้องอดทนต้องใช้ขันติเนี่ย เป็นการฝึกจิตทั้งนั้น
ส่วนพอเรามาพูดถึงเรื่องของการฝึกจิต แบบที่เป็นการเจริญสติเนี่ยทำให้สติมันเจริญขึ้นเนี่ยนะ ในปัจจุบันพอเราตั้งต้นขึ้นมา ก็มักจะไปพยายามก็อปปี้ ก็อปปี้เอาวิธีการหรือว่ารูปแบบการทำสมาธิการเจริญสติแบบที่คนอื่นเขาทำได้แล้วประสบความสำเร็จ หรืออาจจะไม่ประสบความสำเร็จแล้วเอามาบอกเราก็ได้ แล้วเราก็ไปจำ แล้วก็พยายามทำ พอพยายามแล้วรู้สึกไม่ประสบความสำเร็จแบบที่เขาพูดๆกัน มันก็กลายเป็นความน้อยเนื้อต่ำใจ หรือว่าเกิดความรู้สึกว่าเราไม่มีวาสนา ไม่มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จกับคนอื่นเค้า ยังฟุ้งซ่านอยู่ อันนี้เป็นมาตรวัดที่หลายๆ คนใช้วัดนะ จิตมีแต่ความฟุ้งซ่าน จิตมีแต่ความเหม่อลอย จิตมีแต่ความรู้สึกไม่ดี มีแต่ความรู้สึกแย่ๆ
ถ้าเปลี่ยนใหม่ เราทำความเข้าใจกับแนวทางการเจริญสติของพระพุทธเจ้าจริงๆ คุณจะพบว่าคุณสามารถฝึกจิตได้วันนี้เลย นาทีนี้เลย
อย่างถ้าพูดถึงแนวการฝึกเจริญสติของพระพุทธเจ้าเนี่ย หลายคนนึกไม่ออกว่าจะต้องเริ่มยังไง ผมขอให้ลองยอมรับความจริงในขณะนี้ที่เกิดขึ้นในลมหายใจนี้ดู ไม่ใช่ให้จ้องดูลมหายใจเพื่อให้เกิดความสงบนะ แต่ตกลงกับตัวเองว่าเราหายใจเข้าครั้งนี้หายใจออกครั้งนี้เนี่ย เราจะยอมรู้ได้ไหม ว่าภาวะทางใจของเราเนี่ยกำลังมีความฟุ้งซ่านขนาดไหน คือหลายคนก็บอกว่าไม่รู้ มันบอกไม่ถูก มันฟุ้งเท่าเดิมอยู่ตลอด มันไม่เคยเปลี่ยนแปลงให้ดูเลย ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นนักฟุ้งซ่านระดับโลก ระดับประเทศ หรือระดับท้องถิ่น มันไม่รู้จะไปเปรียบเทียบกับใครยังไง ให้เปรียบเทียบกับตัวเองนั่นแหละ ในลมหายใจนี้เราฟุ้งซ่านเท่านี้ เรารู้สึกว่ามีความวกวนเท่านี้ มีความสับสนเท่านี้ มีความท้อแท้ มีความรู้สึกทรมานกะอากาศร้อนๆ เท่านี้ คืออย่าไปจ้องที่จุดใดจุดหนึ่ง แต่เอาความรู้สึกทั้งหมดที่มันกำลังปรากฎในลมหายใจนี้เนี่ยแหละ ดูว่ามันฟุ้งซ่านขนาดไหน มันทรมานใจขนาดไหน มันรู้สึกวกวนขนาดไหน เสร็จแล้วลมหายใจต่อมา ซึ่งน่าจะเป็นลมหายใจในขณะนี้แหละ เปรียบเทียบดู ความรู้สึกนั้นมันต่างไปไหม ถ้าหากว่าตอบตัวเองถูกว่ามันต่างไป นี่ก็คือเริ่มฝึกสติ เริ่มฝึกจิต และได้ผลแล้ว
มุมมองหรือว่าการทำความเข้าใจกับการเจริญสติแบบที่พระพุทธเจ้าสอน จริงๆสำคัญมากนะ อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านยกขึ้นเป็นตัวตั้งเลย บอกว่ามรรคมีองค์ ๘ ไม่ได้เริ่มขึ้นมาจากสัมมาสติ สัมมาสมาธินะ ท่านขึ้นต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ คือความเข้าใจที่ถูกต้อง ถ้าหากว่าเข้าใจไม่ถูกต้องแล้ว การปฏิบัติในลำดับต่อๆ มา ไม่มีทางถูกได้เลย อย่างเช่นพอไปเอาตามค่านิยมว่า คนฝึกจิตเก่ง คนฝึกจิตได้ ต้องมีสมาธิดี ต้องเดินจงกรมได้ ๗ ชั่วโมงต่อวัน หรือว่านั่งสมาธิได้ ๓-๔ ชั่วโมง ถึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จในการฝึกจิต พอไปเอาค่านิยมแบบนั้น มาเป็นตัวตั้งปุ๊บเนี่ย ไม่ใส่สัมมาทิฏฐิแล้วนะ คนนั่งสามสี่ชั่วโมงคุณรู้ไหม มีบางคนนะ สามสี่ชั่วโมงที่ผ่านไปเนี่ย ฟุ้งซ่านไปซะสองชั่วโมงครึ่ง อีกครึ่งชั่วโมงสงบแบบแผ่วๆ สงบแบบอ่อนๆ แต่คุณดูใจเค้าไม่ออก คุณนึกว่าเค้าเก่ง จริงๆเค้านั่งทรมานตัวเองอยู่คุณก็ไม่รู้
อย่าไปเอาตรงนั้น อย่าไปเอาค่านิยมในการวัดผลการปฏิบัติด้วยการฟังเสียงเล่าเสียงลือของคนอื่น แต่ให้เอาที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสยกไว้เป็นตัวตั้งจริงๆ คือให้ยอมรู้ว่านะขณะลมหายใจนี้ มันมีปฏิกิริยาทางใจยังไงอยู่ สภาพทางใจอาการทางใจมันเป็นยังไงอยู่ ถ้าสามารถรู้สึกได้ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นแล้ว คุณมีก้าวแรกที่ถูกต้องแล้ว และลมหายใจต่อมาถ้าเห็นว่ามันต่างไปยังไงได้ อันนั้นแหละเริ่มมาถูกทางแล้ว เริ่มมาถูกทิศถูกทางแล้ว และถ้ายิ่งทำไปเรื่อยๆ ทำต่อไปเรื่อยๆ ไม่สนใจว่าจิตจะแย่ยังไง ไม่สนใจว่าจิตตัวเองจะฟุ้งซ่านขนาดไหน สนใจแต่ว่าเรารู้ไหมว่าที่ลมหายใจนี้ จิตใจของเราแตกต่างจากลมหายใจก่อนแค่ไหน
พอทำไปเรื่อยๆนะ มันมีหลักที่ชัดเจน พอนึกอะไรไม่ออกขึ้นมา หายใจก่อน หายใจเสร็จนึกออกไหมว่าจะทำยังไง ดูเข้ามาว่าสภาพจิตใจของเราเป็นยังไง มันมีความสุขมันมีความทุกข์แค่ไหนมีความฟุ้งซ่านมีความสงบแค่ไหน การที่เราสามารถรู้ได้ นั่นแหละตัวนั้นแหละ เป็นมาตรวัดว่าเรามาถูกทิศถูกทาง ยิ่งทำไปมากขึ้นเท่าไหร่ คุณยิ่งมีความรู้สึกเหมือนกับว่า เออ อะไรที่บอกว่าเคยทำไม่ได้ เคยฝึกไม่ได้ จริงๆ แล้วมันได้ ได้ตอนเริ่มเข้าใจถูกนั่นแหละ ตั้งแต่นาทีแรกนั้นเลยนะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น