วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2563

(เกริ่นนำ) ความต่างระหว่างพระโสดาบันกับพระอรหันต์


ดังตฤณ :  สวัสดีครับทุกท่าน พบกับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้านคืนวันเสาร์สามทุ่ม

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็ได้พูดกันเกี่ยวกับเรื่องของปฏิจจสมุปบาทไปนิดนึง อย่างน้อยเราได้เห็นนะครับว่า หน้าตาของปฏิจจสมุปบาทเรียงมาตั้งแต่อวิชชา สังขาร วิญญาณอะไรต่างๆ แล้วก็ได้ทำความเข้าใจกันไปเล็กน้อยในเบื้องต้นนะครับว่า จริงๆแล้วมันไม่ใช่ว่า อะไรเป็นต้นเหตุของอะไรตามลำดับ เหมือนกับต้องมีสิ่งนี้แล้วอีกสิ่งนั้นถึงจะเกิด แต่ว่ามันเป็นการอิงอาศัยกัน เป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน แล้วก็สลับขั้วกันได้ ยกตัวอย่างเช่น บุญเป็นตัวที่ทำให้วิญญาณเกิดขึ้น วิญญาณดวงแรกเกิดขึ้น แล้ววิญญาณก็ต้องอาศัยนามรูป คือก้อนเลือดก้อนเนื้อในท้องมารดา แล้วก็ในขณะเดียวกัน ถ้าไม่มีก้อนเลือดก้อนเนื้อในท้องมารดาวิญญาณก็มาหยั่งลงไม่ได้ อะไรแบบนี้เรียกว่า ปัจจัยอิงกันและกัน ที่ทำให้กันและกันสามารถเกิดขึ้นได้

ที่นี้ถ้าเราเข้าใจลึกซึ้งไปอีกนิดนึง อย่างที่เดี๋ยวจะทำออกมาเป็นคลิปนะครับ ก็คือที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า กรรมเหมือนผืนนา เปรียบเหมือนผืนนา แล้วก็วิญญาณเปรียบเหมือนพืชที่บนอยู่ผืนนา แล้วก็ตัณหาเปรียบเหมือนกับยางพืช หรือว่ายางเหนียวที่มันจะอยู่ในเมล็ดพันธุ์ของพืชแล้วก็นำไปปลูกต่อได้

ซึ่งตรงนี้ถ้าเข้าใจในระดับที่มองเห็นจากตัวเองเลยนะครับ คือพอปฏิบัติมาตามลำดับ ตามกายานุปัสสนาถึงสุดทางของกายานุปัสสนา เห็นกายเป็นของเกิดดับเป็นธรรมดา แล้วจิตมีความเป็นอิสระจากกาย แล้วก็มีปัญญาเห็นธรรมชาติของกายว่า เกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา ก็จะเห็นลึกลงไปอีกชั้นหนึ่งว่า ก่อนที่จะเกิดกายต้องมีเหตุ อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสให้อาศัยกายนี้เป็นเครื่องพิจารณา เครื่องเจริญปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมก็ยกมา

ทีนี้พอเราสามารถเห็นได้อย่างนี้แล้วเนี่ย มันก็จะอีกนิดเดียวต่อยอดไปนะครับ มันจะรู้เลยว่า ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตัณหาเปรียบเหมือนกับยางเหนียว หรือว่าตัวที่จะเชื่อมให้กายนี้ เมื่อดับลงไปแล้วเนี่ย เกิดกายหน้าขึ้นมาได้ใหม่ เหมือนกับพืชที่งอกขึ้นมาใหม่บนผืนนาคือกรรม ทำกรรมอะไรไว้ก็จะต้องงอกเงยขึ้นมาจากพื้นฐานแบบนั้นๆ

ตรงนี้แหละถ้าใครสงสัยอยากรู้ว่า พระโสดาบันกับพระอรหันต์มีความต่างกันอย่างไร ดูจากเงื่อนตรงนี้แหละ เงื่อนของปฏิจจสมุปบาทตรงที่ว่า ถ้าเรามองเห็นว่าปฏิจจสมุปบาทแสดงทั้งความทุกข์ในสายเกิด คือจะต้องเกิดใหม่อีกร่ำไป ถ้าหากว่าตัณหาไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าหากจะตัดวงจรของปฏิจจสมุปบาทก็คือต้องดับตัณหา

ดับตัณหาหมายความว่าอย่างไร ดับตัณหาในความหมายของพุทธนะครับ คือไม่กลับกำเริบขึ้นมาอีกเลย ไม่กลับมีไม่กลับเป็นขึ้นมาอีก ซึ่งตรงนี้แหละที่เราเล็งกัน

ในแบบของพุทธนะครับเป้าหมายสูงสุดก็คือว่าดับตัณหาให้ได้เพื่อตัดวงจรทุกข์ให้ขาดสิ้นเหมือนกับตาลยอดด้วน ที่เมื่อด้วนแล้วไม่สามารถกลับมาต่อ หรือมางอกขึ้นมาใหม่ได้อีก

ลักษณะของเป้าหมายแบบพุทธคือ จะต้องตัดตัณหาแล้วไม่กลับมากำเริบได้อีก ตรงนี้ถ้าเรามองอย่างเข้าใจออกมาจากจิตที่เห็นว่ากายต้องเกิดต้องดับเป็นธรรมดา แล้วการเกิดของกายแต่ละครั้งแต่ละรอบ ก็คือหนึ่งชาติหนึ่งภพ ซึ่งมันเป็นไปตามกรรม

ทีนี้กรรมจะทำอะไรมาเท่าไหร่ก็ตาม ถ้าขาดยางเหนียวคือตัณหาแค่ตัวเดียว เป็นอันว่าเจ๊ากันหมด คือที่เรียกกันว่าอโหสิกรรมเนี่ยนะ ท่านเรียกกันเฉพาะตรงนี้ เดิมศัพท์คำนี้มาจากอย่างนี้นะครับ คือว่ากรรมอะไรเนี่ยที่ทำมาก็แล้วแต่ ถ้าสิ้นตัณหาไป เป็นอันเจ๊ากันเป็นอโหสิกรรม คือพอเสวยกรรมจบในชาติปัจจุบันในร่างนี้ในจิตแบบนี้ จิตดวงสุดท้ายเกิดขึ้นคือจริมจิต

พระอรหันต์เนี่ยพอจิตสุดท้ายดับไปแล้ว จะไม่มีการไปมีปฏิสนธิจิต หรือว่าจิตดวงใหม่ในภพอื่นๆอีกเลย เพราะว่าไม่มีตัณหาเป็นยางเหนียวให้ไปปลูกให้ไปเพาะเมล็ดพันธุ์ต่อได้อีก นี่ตรงนี้พอเราเข้าใจออกมาจากประสบการณ์ คือถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้บรรลุมรรคผล แต่ก็จะเกิดความเชื่อมั่น คือเกิดความแน่วไปทางปัญญารู้แจ้งเห็นจริงว่า อ๋อกายนี้เนี่ยเงื่อนของการเกิดก็คือมีตัณหาพาไป ดับตัณหาได้ แล้วเห็นจริงๆว่าตัณหาหน้าตาเป็นอย่างไร มันก็จะเข้าใจว่า ตราบใดยังมีความชุ่มตัณหา ยังมีความชุ่มยางเหนียวอยู่ในจิตวิญญาณ ตราบนั้นยังไงมันก็ต้องเกิดอีก

แต่ถ้าจะเป็นพระอรหันต์คือ สามารถทำให้ตัณหาดับไป ตรงนี้มันก็จะกลายเป็นการสิ้นทุกข์ กลายเป็นชาติสุดท้าย ซึ่งตัวตัณหาเนี่ย ถ้าเรามองกันแบบคนที่เป็นปุถุชนธรรมดาทั่วไป ที่ยังชุ่มอยู่ด้วยกิเลสมากๆหนักๆ มันจะมองไม่ออก

แต่คนที่ปฏิบัติจนกระทั่งถึงจุดที่เริ่มรู้แล้วว่าจะหายใจเข้า-ออก ให้เห็นลมหายใจเดี๋ยวยาวเดี๋ยวสั้นยังไง เห็นอิริยาบถที่มันกำลังเป็นปัจจุบันยังไง เห็นตับไตไส้พุง เห็นตัวเป็นโครงกระดูกได้ยังไง เห็นว่ากายนี้จะต้องเกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดายังไงเนี่ย อันนี้เนี่ยกลับมาเหมือนกับรับกระทบทางหูทางตา มันจะได้ข้อสังเกตใหม่ที่แตกต่างจากปุถุชนทั่วไป เพราะว่ามีข้อเปรียบเทียบ ตอนที่จิตมันแห้งๆสะอาดๆอยู่ กับตอนที่มันมีเมือกเหนียวของตัณหามาเกาะ เห็นภาพได้ยินเสียง แล้วเกิดความติดใจ เกิดความรู้สึกอยากได้อยากมีอยากดีอยากเป็น มันจะมีความรู้สึกขึ้นมาอีกแบบนึงว่า เออไอ้ลักษณะยางเหนียวแบบนี้แหละ ที่จะต้องพาเราไปมีร่างใหม่อีก ความเข้าใจตรงนี้มันจะเกิดขึ้นสำหรับคนที่มีฐานในการพิจารณา ในการเจริญสติมาระดับนึงแล้ว

แล้วพอเห็นได้ว่า ตัณหานี่คือเงื่อนที่จะพาเราไปเกิดใหม่ได้ มันก็จะได้ข้อสรุปที่ทำให้เกิดความเข้าใจในธรรมข้ออื่นๆ อย่างเช่นถ้าสงสัยว่า พระโสดาบันกับพระอรหันต์ ท่านต่างกันอย่างไร แล้วเราศึกษาไว้ก่อนล่วงหน้าด้วยความเข้าใจอันนี้ด้วยสุตมยปัญญา แล้วก็ด้วยจินตามยปัญญา คือยังอาจจะไปไม่ถึงในระดับที่ล้างผลาญกิเลส เกิดมรรคจิตผลจิตได้จริง แต่มันก็เกิดความเข้าใจได้ว่า พระโสดาบันยังดับตัณหาไม่ได้ แต่ฆ่าอุปาทานตัวแรกได้ ที่ท่านเรียกกันว่า สักกายทิฏฐิ หรือว่าอัตตวาทุปาทาน ที่มันมีความรู้สึก ที่มันมีความเห็นฝังแน่นหมักหมมอยู่ในขันธสันดานว่า มันจะต้องมีตัวตนของเราอยู่แน่ๆในกายใจนี้

หรือถ้าไม่ได้มีตัวตนอยู่ในกายใจนี้ ก็ต้องมีตัวตนอื่นในภพอื่นภูมิอื่นในอัตภาพอื่น มันฝังใจอยู่อย่างนี้มาชั่วกัปชั่วกัลป์ มันฝังใจในระดับที่ลึกลงไปกว่าความคิด ก่อนที่จะมีความคิดขึ้นมาบอก เออเชื่อมั้ยว่ามีตัวเรา แล้วเราตอบว่าเชื่อเนี่ย นี่ระดับของความคิดเนี่ย มันเป็นแค่ปลายทาง แต่โครตเง้าของความรู้สึก หรือว่าต้นตอความรู้สึกดิบๆจริงๆที่ว่า ต้องมีตัวเราแน่ๆเนี่ย อันนั้นเป็นเหตุความเห็นในส่วนลึกลงไปในระดับของจิตจริงๆ จิตมันเชื่อจริงๆมันยึดจริงๆว่า ต้องมีตัวตน ต้องมีตัวเรา

ทีนี้พระโสดาบันทำไมถึงประหารความเชื่อนี้ได้ ทำไมถึงทำลายอุปาทานข้อแรกนี้ได้ ก็เพราะว่าได้พิจารณากายใจมา จนกระทั่งเห็นว่า กายนี้เกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา รวมทั้งมีความเข้าใจว่า การที่เรามีรูปร่างหน้าตาขึ้นมาแบบหนึ่งๆ มีชะตากรรมแบบหนึ่งๆ ไม่ใช่ด้วยความบังเอิญ แต่เป็นเพราะว่ามีกรรมเก่าแบบหนึ่ง มีกรรมเก่าชุดหนึ่ง มันเสกมันบันดาลมันเนรมิตขึ้นมา ที่มาเข้าท้องแม่เนี่ย นี่ก็ส่วนหนึ่ง ส่วนของความเป็นวิญญาณที่หยั่งลงมาประกบประกอบกับก้อนเลือดก้อนเนื้อ หรือที่เรียกกันเป็นศัพท์ว่านามรูป มีขันธ์ทั้ง ๕ อยู่ครบ คือมีทั้งความรู้สึกนึกคิด มีทั้งความปรุงแต่งทางใจ แล้วก็มีรูปกายเป็นก้อนเป็นเนื้อ อันนี้รวมแล้วเรียกว่านามรูป

คือพระโสดาบันเนี่ย ปฏิบัติมาจนกระทั่งรู้ว่ากายใจนี้ ยังไงมันก็ต้องดับลงแน่ๆ ไม่ได้คลุมรูปอยู่เป็นตัวเป็นตนเป็นหน้าเป็นตาตามมโนภาพที่มีอยู่ในขณะนี้แน่ๆ แล้วก็จิตเนี่ย ณ ขณะที่เห็นว่ากายใจนี้ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัยแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดาเนี่ย ไม่ใช่จิตแบบนึกๆคิดๆธรรมดา แต่ต้องเป็นสมาธิในระดับฌาน

คือถ้ามันถึงฌาน จิตถึงฌานด้วยการเห็นว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา จิตมันจะเห็นทะลุไป เห็นทะลุกายใจนี้ไปพบกับนิพพาน ซึ่งอยู่ตรงหน้านี้แหละ คือไม่ได้อยู่ข้างบน ไม่ได้อยู่ข้างใต้ ไม่ได้อยู่ข้างซ้าย ไม่ได้อยู่ข้างขวา แต่อยู่ตรงหน้าพวกเรานั่นแหละ แต่พวกเรามองไม่เห็น เพราะว่าหูตามันบังไว้ คือแก้วตาคนเนี่ย มันพาให้เราเห็นสิ่งที่มันสามารถเห็นได้ แต่มันเป็นตัวบดบังไม่ให้จิตเห็นนิพพาน

ทีนี้พระโสดาบันสามารถที่จะมีจิตที่ชนะประสาทแก้วตาได้ แล้วก็ไปรู้ไปเห็นอะไรที่มันทะลุออกไปจากความเป็นกำแพงทางกาย กำแพงทางใจนี้ แล้วก็เห็นความว่าง อันเป็นที่สุดนะครับ ซึ่งตรงนั้นก็ถึงได้พ้นความเชื่อไป ก้าวข้ามความเชื่อไปสู่การรู้แจ้งเห็นจริงว่า นิพพานหน้าตาเป็นอย่างไร

แล้วเปรียบเทียบได้ว่า นิพพานเนี่ยของจริง เพราะจะไม่มีเกิดไม่มีดับ ในขณะที่กายใจนี้มันต้องเกิดมันต้องดับ โลกทั้งใบเนี่ย จริงๆไม่มีความหมายมากไปกว่าการมีกายของเราไปรับรู้โลก เพราะต่อให้ไม่มีโลกใบนี้ กรรมก็จะพาเราไปมีอัตภาพทางกายทางใจในโลกอื่น ที่เหมาะสมกับกรรมของเราอยู่ดี

การที่เรามองเห็นว่าพระโสดาบัน คือผู้ที่กำจัดอุปาทานว่ามีตัวตนเสียได้ ถึงแม้ว่ายังมีตัณหาอยู่ ยังมีราคะ ยังมีโทสะ ยังมีโมหะครบ แล้วก็จะสามารถอนุมานได้ เกิดความเข้าใจขึ้นมาได้ลางๆว่า พระโสดาบันจะเป็นผู้ไม่กลับเปลี่ยนความคิดความเชื่อได้อีกเลย เพราะอะไร เพราะว่าไปเห็นนิพพานแล้ว แล้วก็รู้แล้วว่าวิธีที่จะไปเห็นนิพพานไม่ใช่ด้วยแค่การถือศีล ไม่ใช่แค่ด้วยการให้ทาน แต่ต้องเป็นการเห็นเข้ามาในกายใจ เห็นเข้ามาอย่างลึกซึ้ง จนกระทั่งจิตพ้นจากความเป็นกาย พ้นจากความยึดติดทางกายทางใจออกไป คือคุกเนี่ย ที่มีอยู่เป็นร่างกายกับสภาพจิตใจแบบนี้ เปรียบเหมือนกง

แล้วพระโสดาบันเนี่ย คือสามารถแหกกรงออกไปเห็นท้องฟ้าได้ หรือทำลายกำแพงได้ส่วนนึง จากเดิมที่ปิดทึบหมดเลย มองไม่เห็นท้องฟ้าเลยเนี่ย สามารถรู้ได้ว่า ท้องฟ้าหน้าตาเป็นยังไง ถึงแม้ว่าจะโดนยึดตัวไว้ โซ่ตรวนที่ผูกข้อมือข้อเท้ายังคงอยู่ แต่ก็รู้แล้วว่า ไม่ได้มีแต่สภาพภายในคุก ไม่ได้มีแค่คุกที่นึกว่ามันน่าพอใจอะไรนักหนา จริงๆแล้วท้องฟ้าที่อยู่เกินออกไปจากกำแพงคุกน่าปราถนาน่าพิสมัยมากกว่า

ท่านถึงว่า พระอริยบุคคลจะเป็นผู้ที่รักนิพพาน หมายความว่าคือเห็นแล้วว่า ดีที่สุดคืออย่างไร หน้าตาเป็นยังไง ธรรมชาติที่มีอยู่จริงแล้วก็ไม่เกิดไม่ดับเนี่ยเป็นอย่างไรนะครับ

เพราะฉะนั้นจะไม่มีทางที่พระโสดาบันจะหลงไปเคารพ หรือว่านับศาสดาองค์อื่นที่สอนนอกเหนือจากทางนิพพานเนี่ย เป็นศาสดาของตนอีก

พระโสดาบันก็เลยเป็นผู้ที่มีความเคารพในพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว เพราะรู้ว่าพระพุทธเจ้าเท่านั้น ที่สอนให้ไปถึงนิพพานได้

แล้วพอข้ามความสงสัยเกี่ยวกับพระศาสดาไปเนี่ย ก็จะไม่มีความลังเลสงสัยด้วยว่า หนทางปฏิบัติจะต้องตั้งความเชื่อยังไง หรือว่าจะต้องถือศีลแบบไหน ที่เขาเรียกว่าเป็นทิฏฐุปาทาน คือมีอุปาทานในทิฏฐิอย่างเช่นว่า ฆ่าสัตว์ไม่เป็นไร หรือว่าจะต้องบูชายัญแพะ บูชายัญแกะ ถึงจะได้ไปสวรรค์ได้ อันนี้พระโสดาบันก็จะข้ามทิฏฐิพวกนี้ไป

หรืออย่างการถือศีลพรต ไปสงสัยมั้ยว่า ถือศีลอย่างไรมันถึงจะมีความกลมกลืน หรือว่ามีแรงผลักดันให้เป็นไปในทางที่จะตรงแน่วสู่นิพพาน อันนี้พระโสดาบันก็จะไม่สงสัย คือมันจะมีศีลอยู่กับจิตประกอบอยู่กับจิต รู้ว่าการไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ไม่ช่อโกง ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่กล่าวมุสาวาท ไม่โกหกไม่ไปทิ่มแทงให้ใครเจ็บใจเจ็บช้ำน้ำใจ แล้วก็ไม่กินเหล้าเมายา ไม่เสพยาอี ตรงนี้ถึงจะเป็นศีลในแบบที่ทำให้จิตเป็นปกติพอที่จะทำให้เกิดสมาธิเห็นนิพพานได้ ทะลุความยึดมั่นในกายใจออกไปได้

ตรงนี้พูดง่ายๆว่า ถ้าเรามามองในแง่ของความเป็นปฏิจจสมุปบาท เมื่อมีตัณหาอยากได้อยากมีอยากดีอยากเป็น อยากเอานั่นเอานี่ อยากมีนั่นมีนี่ อยากมีหน้ามีตา ความอยากเหล่านี้ยิ่งมากขึ้นเท่าไหร่ อุปาทานยิ่งหนาแน่นเหนียวแน่นมากขึ้นเท่านั้น

ทีนี้ถ้าหากว่า กลับกันแล้วทำให้อุปาทานมันเบาบางลง คือเห็นที่ฝึกรู้ความไม่เที่ยงของลมหายใจ รู้ความไม่เที่ยงของอิริยาบถ รู้ความไม่เที่ยงของกายใจทั้งหมดเลย แล้วอุปาทานมันน้อยลง เบาบางลง ตัวตัณหามันก็จะพลอยอ่อนกำลังลงตามไปด้วย

แล้วท่านถึงบอกนะครับว่า เมื่อเป็นพระโสดาบันแล้วก็เที่ยงที่จะตรงดิ่งสู่ความเป็นพระอรหันต์ในวันนึง อย่างช้าที่สุด ๗ ชาติ อย่างเร็วก็ชาตินี้แหละ ที่จะได้บรรลุพระอรหันตผลต่อไปในขั้นต่อไป

ตรงนี้คุณก็จะมีความเข้าใจในวงจรปฏิจจสมุปบาทที่ท่านบอกว่า ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน ให้อุปาทานตั้งอยู่ได้ ในขณะเดียวกันอุปาทาน ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ตัณหามันยืดเยื้อต่อได้เหมือนกัน

คนเราเนี่ยถ้าเป็นปุถุชนนะ มีอุปาทานยึดมั่นอยู่ว่า กายนี้ของเรา ต่อให้อยากฆ่าตัวตายขึ้นมา แล้วมีความรู้สึกขึ้นมาว่ากายนี้ของเรา ใจนี้ของเรา ถ้ามันดับลงถ้ามันแตกพังลงได้ ทุกข์ก็จบ เนี่ยอันนี้คืออุปาทานแล้ว คือมันไม่รู้ไงว่าจริงๆแล้ว มันไม่ได้มีอยู่แค่กายนี้ใจนี้ ตราบใดยังมียางเหนียวอยู่ ยังมีอุปาทานอยู่ ตราบนั้นตายไป มันก็ต้องไปเกิดใหม่ตามกรรมที่สะสมไว้ในชีวิตปัจจุบัน

อันนี้เดี๋ยวพอทำคลิป ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดนะครับตามที่ได้รับปากไว้ตั้งแต่เริ่มทำนะครับ คลิปต่อไปเกี่ยวกับปฏิจจสมุปบาท คาดว่าสัปดาห์หน้าน่าจะเสร็จ แล้วก็คลิปถัดจากนั้นไป เป็นคลิปการฝึกรู้กายใจหนึ่งในสังสารวัฏ คือเห็นกายใจนี้เป็นห่วงโซ่หนึ่งของสังสารวัฏ แล้วก็จะพูดถึงเรื่องของการดับตัณหา หรือว่าทำลายอุปาทาน ที่มันเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนี้เนี่ย แล้วนึกว่ากายนี้ใจนี้ มันเป็นตัวเราอยู่แน่ๆ ถ้าไปถึงตรงนั้นแล้วถ้าฝึกไปถึงตรงนั้นได้เนี่ย มันจะมองไปอีกแบบนึงเลยนะครับ พลิกกลับอย่างสิ้นเชิง มันจะมองไปว่า กายนี้ใจนี้คือเหยื่อล่ออีกครั้งนึง แล้วทุกคนที่เกิดมาเนี่ยนะครับ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์จะต้องตะครุบเหยื่อ หรือว่างับเหยื่อล่อนั้น นึกว่ามันเป็นกายของเราใจของเรา หรือนึกว่ามันจะต้องมีกายอื่นใจอื่น ที่เป็นตัวของเรารออยู่แน่ๆ

เอาล่ะถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดนะครับ หวังว่าสัปดาห์หน้าคงจะเสร็จ เพราะจริงๆแล้วก็สิ่งที่สัญญาไปคลิปที่ผ่านมาทั้งหมดนี่คือ งานที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตของผมเลยนะครับ ที่ทำมาทั้งหมดคือเทียบไม่ได้กับที่ทำคลิปที่ผ่านมานี้เลย

--------------------------------------------

ผู้ถอดคำ                      แพร์รีส แพร์รีส อุทิศให้เคววิน
วันที่ไลฟ์                  ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ (รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน)
ตอน                             (เกริ่นนำ) ความต่างระหว่างพระโสดาบันกับพระอรหันต์
ระยะเวลาคลิป           ๒๒.๔๕ นาที
รับชมทางยูทูบ              https://www.youtube.com/watch?v=kNNIHkv4H7Y&list=PLmDLNhxScsWPHpIdf0LAQiQM1j9ZebEMx&index=15

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น