วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

๑.๑๖๐ การเจริญสติเพื่อบรรเทาทุกข์จากความเจ็บป่วย

ถาม : การที่มีทุกข์ทางกายเกิดขึ้นจากการที่เป็นโรค เช่น ปวดเข่าจากเข่าเสื่อม มีอาการน้ำตาลต่ำจากที่เป็นเบาหวาน เป็นต้น หากกำลังปฏิบัติเจริญสติอยู่แล้วรู้ถึงความผิดปกติดังกล่าว ควรจะทนดูทุกข์ต่อ หรือแก้ไขตามคำแนะนำของแพทย์?

รับฟังทางยูทูบ : https://youtu.be/lCCZx4aWrxE
ดังตฤณวิสัชนา ๒๕๕๕ การเจริญสติในชีวิตประจำวัน
๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๕

ดังตฤณ: 
ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรนะครับ ถ้าหากเจริญสติมาถูกทาง ในการรู้กาย ในการรู้จิต ก็จะสามารถที่จะทุเลาจากทุกขเวทนา ทางกาย ทางใจ ได้ทั้งสิ้น ถ้าหากว่าเจริญสติมาจนกระทั่งจิตเป็นสมาธิมีความสุข มีปีติทางใจ ร่างกายจะหลั่งสารดีๆออกมา แล้วก็จะทำให้ทุกโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็แล้วแต่ มีความรู้สึกเหมือนกับว่าค่อยยังชั่วขึ้นนะ

อย่างพวกข้อเข่าเสื่อม หรืออะไรต่อมิอะไรต่างๆนี่ ถ้าหากว่ากล้ามเนื้อมีการผ่อนคลาย แล้วก็มีเอ็นโดรฟินหลั่งออกมาบ้างนี่
ก็จะรู้สึกดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือมันเหมือนกับอย่างน้อยที่สุดนะ เราฉีดสารมอร์ฟีนเข้าไปอย่างนี้นะครับ ที่ทำให้รู้สึกดีขึ้น แต่ว่ามันไม่ใช่สารจากภายนอก แต่เป็นการหลั่งสารจากภายในออกมานะครับ นี่เป็นคุณของสมาธิ

ส่วนคุณของสติที่จะทำให้จิตใจของเรานี่ไม่ต้องกระวนกระวาย ไม่ต้องคับข้อง ไม่ต้องน้อยเนื้อต่ำใจ วาสนาอะไรต่อมิอะไรต่างๆ มันเกิดขึ้นหลังจากที่เราสามารถจะรู้เท่าทัน ขณะนี้กำลังฟุ้งซ่านอยู่ ไม่ใช่ว่ารู้ทันฟุ้งซ่าน แล้วมันจะดีขึ้นทันทีนะ อาการฟุ้งซ่านไม่ใช่จะหายไป แต่ความฟุ้งซ่านมันจะปรากฏแสดงความไม่เที่ยงให้เห็นนะ

ตอนนี้ อึดใจนี้ ฟุ้งซ่านมาก
มีความรู้สึกว่ากลุ่มความคิดหนาแน่น
แต่ว่าลมหายใจต่อมา
หลังจากดูไปโดยไม่ไปกระวนกระวาย
ไม่ไปอยากดับความคิดฟุ้งซ่านนั้น
กระแสความคิด หรือว่ากลุ่มก้อนความคิดนี้มันเบาบางลง
ลักษณะของการเห็นว่าความฟุ้งซ่านเบาบางลง
นั่นแหละมันเริ่มทำให้เกิดปัญญา
!
เห็นว่าความฟุ้งซ่านแยกเป็นต่างหาก ไม่เกี่ยวกับจิต
ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาก็ได้
แต่มันจะแสดงตัวมาเป็นหนึ่งในขบวนการของอนัตตา
ที่มันเกิดขึ้นแล้วมันจะต้องหายไป
เกิดขึ้นโดยไม่เชื้อเชิญ
แล้วก็หายไปโดยไม่ต้องไปผลักไส ไม่ต้องไปขับไล่อะไรทั้งสิ้น
แค่ดูอยู่เฉยๆความฟุ้งซ่านก็หายไปให้เห็น

ด้วยความเคยชินที่จะเจริญสติ
ด้วยการที่เรามีความนิ่งพอจะเป็นสมาธินี่
มันมีคุณประโยชน์
ทำให้โรคร้ายต่างๆนี่ทุเลาเบาบาง
หรือว่าดีขึ้นได้อย่างเห็นชัดเลยนะครับ

แล้วคำถามที่สองก็คือ...

ถ้าเราฝึกเจริญสติอยู่ ควรจะปฏิบัติอย่างไรกับอาการของโรค ถึงจะอยู่ในความพอดี?

อันนี้ แยกออกได้เป็นหลายคำแนะนำเลย ถ้าหากว่ามีเวลาจริงๆอยากให้ฝึกสมาธิ ถ้าหากว่าเราเอานี่แหละ ลมหายใจนี่แหละนะเป็นหลักตั้ง สังเกตอยู่เรื่อยๆ นี่เข้า เดี๋ยวก็ออก เดี๋ยวก็เข้า เดี๋ยวก็ออก แล้วจนกระทั่งสามารถเห็นได้ด้วยว่า ที่เข้าที่ออกอยู่นี้นี่ มันไม่เที่ยง เดี๋ยวมันก็ต้องลากยาว ร่างกายต้องการลมยาว เดี๋ยวมันก็ลากสั้น ร่างกายไม่ต้องการลมยาวมาก จนกระทั่งจิตเกิดความรู้สึกนิ่งขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง นิ่งแบบเป็นอิสระ ในฐานะผู้รู้ผู้ดู ว่ากองลมทั้งปวงนี่ กำลังแสดงความไม่เที่ยงให้เราดูอยู่ ไม่ใช่ว่าลมหายใจ หรือว่ากองลมทั้งปวงนี่มันเป็นตัว มันเป็นตน มันเป็นใคร มันเป็นชาย มันเป็นหญิง หรือว่าเป็นบุคคลตัวตนเราเขาที่ไหน ไม่ใช่เลย เป็นแค่ลักษณะพัดเข้า ลักษณะพัดออก ตามธรรมชาติที่ร่างกายนี้ต้องการเท่านั้นเอง

นี่ตัวนี้นี่นะ ถ้าหากว่าเราสังเกตแบบคนที่มีเวลามากพอนะครับ มันจะเกิดความสงบ มันจะเกิดความนิ่ง เกิดความรู้สึกไม่ยึดมั่นถือมั่นในกายขึ้นมา มีปีติ มีความสุข มีความรู้สึกว่าปลอดโปร่ง มีความรู้สึกว่าเบา มีความรู้สึกว่า เออ สบาย นะครับ

ลักษณะความสงบสบายนี่ ถ้ามันมีความเชี่ยวชาญ มีความรู้สึกว่าสามารถไปเห็นมันได้เป็นปกติแล้วนี่นะ ความเชี่ยวชาญนั้นจะพัฒนาต่อยอดเป็นความสามารถในการเห็นว่า ถ้าลมหายใจมันไม่เที่ยง ร่างกายก็ต้องไม่เที่ยงด้วยนะ ถ้าหากร่างกายไม่เที่ยง อาการปวดเข่า อาการน้ำตาลต่ำ อะไรต่างๆมันก็ต้องไม่เที่ยงด้วย มันมีอิทธิฤทธิ์นะ ความสามารถในการเห็นความไม่เที่ยง

พอเห็นความไม่เที่ยงไปมากๆมันจะมีความรู้สึกว่า ที่มันกำลังปรากฏอยู่ ไม่ต้องปรากฏก็ได้ ตรงนี้มันจะสอดคล้องกัน พอเรารู้สึกอย่างนี้ หมายความว่าร่างกายนี่มันเริ่มปรับ มันเริ่มเปลี่ยน มันเริ่มปฏิรูปไปในทางที่ดีขึ้น

เคยมีรายงานวิจัยมากมายทั่วโลกบอกว่า
สมาธินี่สามารถช่วยรักษาโรค
บางโรคนี้หมอทึ่งเลย หายขาด
บางโรคนี่คือไม่หายขาด แต่ก็ทุเลาลง
บางโรคนอกจากทุเลาลงแล้ว
มันยังเกิดมีความรู้สึกเหมือนกับมีความแข็งแรง
มีความเข้มแข็งอะไรเพิ่มเติมขึ้นมาด้วยนะครับ

นอกจากในเรื่องของการเจริญสติแล้ว
ก็อยากแนะนำด้วยเกี่ยวกับ
การบริหารร่างกายให้มีความแข็งแรงอยู่เรื่อยๆ

การเจริญสตินะครับ ถ้าหากว่าเราไปจ้องมากเกินไป มาพะวงว่าเราควรจะทนดูความทุกข์ต่อไปเรื่อยๆ หรือว่าจะแก้ไขตามคำแนะนำของแพทย์ อย่างนี้ก็เรียกว่าความฟุ้งซ่านนะครับ

แพทย์แนะนำอะไรมาทำตามให้หมด
แล้วก็เวลาที่ความทุกข์เกิดขึ้น
ถ้ามันทุกข์หนักเกินไป
เกินกำลังสติที่จะดูความทุกข์
ก็อย่าเพิ่งไปดู
ก็ใช้ยา ใช้อะไรไป
ตามคำแนะนำของใครต่อใครที่เขาให้เรามา

แต่ถ้าหากว่าเราเจริญสติ มีเวลามากพอที่จะทำให้จิตมีความนิ่ง ที่จะทำให้ร่างกายสบายผ่อนคลายเป็นสมาธิ จะเห็นเลยนะครับ ว่าวิธีที่เราดูทุกข์ จะแตกต่างไปทันที เพราะว่ากำลังสมาธิ หรือว่าปีติที่ฉีดออกมา ความอิ่มเอิบที่มันมีความรู้สึกเย็น มีความรู้สึกเบา มีความรู้สึกปลอดโปร่งไปทั่วทั้งกายนี่ เวลาที่เกิดความทุกข์แทรกแซงเข้ามามันจะดูง่าย มันจะดูเหมือนกับเป็นของเล็ก ความสุขมันใหญ่กว่า แล้วก็เห็นว่าความทุกข์ที่เป็นของเล็กนี่มาเพื่อแสดงความไม่เที่ยง มาแป๊บเดียว มาเดี๋ยวเดียว ไม่ได้ทำให้เกิดความรำราญอะไรมากมาย แต่กว่าจะถึงขั้นนั้นนี่ไม่ใช่ว่าทำกันแป๊บๆนะ ต้องทำกันจริงๆจังๆ ถ้าหากว่าอยากจะฝึกทำสมาธินะครับ ก็อยากแนะนำให้ลองเข้าไปฟังไฟล์วิธีทำสมาธิในแบบของพระพุทธเจ้าที่ผมทำเป็นไฟล์เสียงไว้ คือฟังไปด้วยแล้วก็ทำตามไปด้วยเลยนะครับ อยู่ที่ http://soundcloud.com/dungtrin

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น