ถาม : เริ่มสงสัยการรู้ลมหายใจ
การรู้อิริยาบถ และการรู้อารมณ์ ว่าเราควรรู้อะไรกันแน่? คำถามต่อมาก็คือว่า
สมมุติว่าเราเอาการหายใจเป็นเครื่องอยู่ เผลอไปก็รู้ว่าเผลอ แล้วกลับมารู้ลมต่อ
แต่ถ้าระหว่างเดิน เรารู้เท้ากระทบพื้น ไม่ต้องดูลมหายใจใช่ไหม?
รับฟังทางยูทูบ : https://youtu.be/hgvMXRCw8Yw
ดังตฤณ :
รับฟังทางยูทูบ : https://youtu.be/hgvMXRCw8Yw
ดังตฤณ :
การรู้อารมณ์ คงหมายถึง อารมณ์สุขทุกข์ นะครับ
คืออย่างนี้นะครับ การรู้อะไรให้ได้จริงๆนี่
มันต้องเริ่มต้นจากรู้ให้ได้อย่างเดียว อะไรที่ปรากฏให้เห็นเด่นที่สุด
เอาอันนั้นก่อน อย่าไปเอาอันที่ไม่ปรากฏเด่น บางคนนี่นะ
ไปล็อคไว้ว่าจะต้องรู้ลมหายใจเท่านั้น หรือบางคนก็ต้องรู้เฉพาะจิตเท่านั้น
อันนี้เป็นการเหมือนกับไปตีกรอบการเจริญสตินะ ว่าความหมายของการเจริญสติ
หมายถึงการยึดเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นหลักในการรู้ แล้วก็เป็นเสาหลัก เป็นตัวตาย
เป็นเงื่อนตายเลย ว่าจะต้องตายตัวอยู่เท่านั้น มันไม่ใช้การเจริญสตินะ
การเจริญสติ ในความหมายของพระพุทธเจ้า
ท่านตรัสไว้อย่างชัดเจนในสติปัฏฐาน ๔ นะครับว่า นอกจากรู้อย่างหนึ่งแล้ว
ยังมีอย่างอื่นอีกให้รู้ต่อไป อย่างพอท่านสอนอานาปานบรรพเสร็จเรียบร้อย
ท่านก็บอกว่ายังมีอย่างอื่นอีกที่จะต้องรู้ ที่จะต้องพึงระลึก นั่นก็คือ อิริยาบถ
นอกจากอิริยาบถนี่ พอดูเสร็จแล้วนี่ ท่านก็ยังตรัสว่า ต้องมีอย่างอื่นอีก
อย่างเช่นอิริยาบถแยกย่อย ที่เราจะหันซ้าย หันขวา เหลือกตา หรือว่าจะพลิกมือ
จะหมุนตัวกลับ หรือว่าแม้กระทั่งถอนเท้ากลับหลัง อะไรแบบนี้นะ
ท่านบอกว่าควรรู้ให้หมดเลย แล้วลองพิจารณาดูว่า เราควรรู้อะไร
ก็คงไม่ใช่รู้พร้อมกันทั้งหมดแน่ๆ ไม่ใช่ว่าเอาลมหายใจด้วย เอาอิริยาบถด้วย
อิริยาบถแยกย่อยก็เอาอีก ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่ตั้งใจให้ได้แบบนั้นในช่วงเริ่มต้น
ช่วงเริ่มต้น ถ้ายังไม่มีสติ ก็ต้องเอาสติให้ได้หลัก
ให้ได้ที่ตั้งก่อน อะไรกำลังปรากฏเด่น อันนั้นแหละเหมาะที่สุด
ที่จะเป็นหลักที่ตั้งของสตินะครับ
เมื่อสติมันมีความแก่กล้า เมื่อจิตมีความใหญ่ มีความคมคาย
สิ่งต่างๆที่ปรากฏในขอบเขตกายใจนี่ จะเห็นเหมือนกับ เออ!
ไอ้นี่เดี๋ยวมันหมุนเวียนนะ กำลังมีลักษณะปรากฏเด่นอยู่ที่ลมหายใจตรงนี้
เดี๋ยวพอเจอใครพูดอะไรไม่ดีใส่ นี่ทุกข์ทางใจมันปรากฏเด่นกว่าอย่างอื่นนะ
ถ้าทางทุกข์ใจกำลังปรากฏเด่น แต่เรากลับไปดึงลมหายใจกลับมาใช้ในการเจริญสติแทน
นี่เรียกว่าเป็นการเบียดบัง เอาสิ่งหนึ่งที่ไม่เด่น
มาเบียดบังสิ่งที่กำลังปรากฏเด่น
หลักวิธีการเจริญสติ
วิธีที่ถูกต้องที่พระพุทธเจ้าประทานทางไว้นะครับ ก็คือ อะไรกำลังปรากฏเด่น
ก็ให้ดูอันนั้นแหละ ถ้าหากว่าทุกข์ทางใจเด่น แล้วเราดูทุกข์ทางใจ
มันก็จะปรากฎเป็นของไม่เที่ยงให้เราเห็นนะครับ ทุกข์ทางใจตอนแรกเกิดมาก
แล้วพอดูไปมันก็เกิดน้อยลง
แต่ทีนี้ถ้าหากว่าเราเป็นผู้มีการเจริญสติ โดยอาศัยลมหายใจเป็นหลัก
เป็นศูนย์กลางอยู่เรื่อยๆ เป็นหลักเกาะ เป็นที่ยึดเหนี่ยวอยู่เรื่อยๆนี่
มันจะมีความเคยชินขึ้นมาอย่างหนึ่ง เวลาที่เกิดความทุกข์ทางใจขึ้นมา
อย่างน้อยมีหลักสังเกตว่าลมหายใจนี้ ที่กำลังหายใจอยู่นี่ มันมีความทุกข์มากแค่ไหน
อีกลมหายใจต่อมา เออ! มันมีความทุกข์น้อยหรือว่ามากขึ้น
นี่อันนี้พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้นะครับ เวลาที่เราเจริญสติโดยอาศัยลมหายใจ
ไม่ใช่ว่าไปจ้องลมหายใจทื่อๆเอาอย่างเดียว แต่เราสังเกตไปด้วยว่า แต่ละลมหายใจนี่
มีภาวะทางใจ หรือปฏิกิริยาทางใจอย่างไร หายใจเข้ารู้ว่ากำลังมีปิติอยู่
หายใจออกรู้ว่ากำลังมีปิติอยู่ อย่างนี้เป็นตัวอย่างในการฝึกอานาปานสติ
เมื่อสามารถที่จะเจริญสติในแบบของการใช้ลมหายใจเป็นหลักตั้งได้แล้วนี่
เราจะสามารถดูได้ทุกอารมณ์ ไม่ว่ากำลังดี หรือกำลังร้าย ไม่ว่ากำลังแย่
หรือว่ากำลังมีความเจริญ ไม่ว่ากำลังจะเป็นกุศล มีความสว่าง
หรือว่ามีความเป็นอกุศล กำลังมืดทึบนี่ ดูได้หมดเลย
พระพุทธเจ้าให้มนสิการ หรือมีการใส่ใจลมหายใจไว้เป็นหลักตั้ง
ทั้งนี้ทั้งนั้น จะต้องมีความเป็นศิลปะนะ ไม่ใช่ว่าเราไปพยายามที่จะดึงลมหายใจมาปรากฏให้เด่นแทนอารมณ์ที่กำลังปรากฏเด่น
ณ ขณะนั้น อย่างเช่นฝึกไปแรกๆคนจะมีความรู้สึกว่า เออ! เพื่อที่จะดูทุกขเวทนาทางใจ
เกิดความรู้สึกว่าอึดอัด เกิดความรู้สึกว่ามีความกะวนกะวายเมื่อได้ยินเสียงด่า
อย่างนี้คนส่วนใหญ่ก็จะลังเลว่าเราจะดูอย่างไร
แต่ถ้าหากว่าฝึกดูลมหายใจมาอย่างคล่องแคล่วชำนาญแล้วนี่
ก็จะไม่ถามตัวเองนะว่าดูอย่างไรดี แต่มันจะเกิดอัตโนมัติขึ้นมาว่า ณ ลมหายใจนี้
หายใจเข้าอยู่เกิดความอึดอัด หายใจออกอยู่ยังอึดอัด แต่พอถอนลมหายใจออกไปหมด เออ!
ความรู้สึกนี่มันอึดอัดน้อยลงนะครับ
นี่ก็เห็นแล้ว ไม่ต้องไปถามคนอื่นเลยว่าอย่างนี้เห็นถูกหรือเห็นผิด
มันบางลงแน่ๆ มันเบาลงแน่ๆ มันรู้สึกอยู่แน่ๆว่า ณ
ลมหายใจหนึ่งมีความอึดอัดระดับหนึ่งนะ อีกลมหายใจต่อมา มันอึดอัดน้อยลง
หรือถ้าหากว่ามันมากขึ้น ก็ยอมรับไปตามจริง ไม่ต้องไปคาดคั้นอะไรกับมันไม่ต้องไปคาดหวังอะไรกับมันทั้งสิ้น
ว่าจะเห็นอย่างไร ว่าจะเป็นอย่างไร รู้แต่แนวทางว่า ถ้าลมหายใจเข้า
รู้ว่าลมหายใจเข้า ลมหายใจออก รู้ว่าลมหายใจออก เวลาโกรธก็รู้ว่าโกรธ
แล้วลักษณะความโกรธนั่น มันหายไปตอนไหน ก็อาศัยลมหายใจนั่นแหละเป็นตัวสังเกตนะครับ
นี่ตรงนี้นะครับ ถ้าหากว่าไม่ลองทำดู ไม่ได้ลองฝึก
จนกระทั้งเกิดการมีศิลปะในการสังเกตนะครับ ก็จะไม่เข้าใจ แต่ถ้าหากว่าทดลองดู
ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าท่านประทานแนวทางไว้ โดยเริ่มตั้งแต่อานาปานบรรพ
เป็นต้นไปนี่ ก็จะเกิดความรู้สึกว่า เราเดินมาถูกทาง
อันนี้ก็ถามคำถามตรงช่วงท้ายนะบอกว่า ถ้าระหว่างเดิน
เรารู้เท้ากระทบพื้น ไม่ต้องดูลมหายใจใช่ไหม? ก็คือรู้เท้ากระทบพื้นไปก่อน
ไม่ต้องดูลมหายใจ เพราะเท้ากระทบพื้นกำลังเด่นกว่าลมหายใจ
แต่ถ้าหากว่าลองสังเกตไปเรื่อยๆว่า เท้ากระทบ กระทบ กระทบไปนี่นะ ถึงจุดหนึ่งนี่
เรามีสติเกิดขึ้นจริงๆมันจะรู้เลยว่า ขนาดกระทบนี่กำลังหายใจเข้า หรือหายใจออก
มันรู้ของมันเองเพราะว่าสติไม่ถูกแย่งไปไหนแล้ว มันไม่มีความฟุ้งซ่าน
มันไม่มีอาการที่วอกแวกไปทางไหนสติเต็มๆดวงนี่นะ สติเต็มๆจิต
สติเต็มๆในนี่มันจะมีอำนาจ มีขอบข่าย มีความกว้างขวางมากพอที่จะไปรู้ไปพร้อมกัน
โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจนะครับ
ที่บอกว่าเราจะต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆอย่างนั้น
ตามแต่ว่าอันไหนเด่นกว่ากัน ถูกต้องแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น