วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

๑.๙๐ จิตจมกับอาการเสียใจ น้อยใจ แก้อย่างไร?

ถาม :  เวลาโกรธแล้วเข้าไปดูตามอาการแบบที่พี่ตุลย์เคยสอน จะทำให้คลายตัวเร็ว แต่อาการเสียใจ น้อยเนื้อต่ำใจ เวลาเข้าไปดูอาการ จะยิ่งดำดิ่งลงสู่ความเสียใจและความเศร้ามากกว่าเดิม จะพิจารณาอย่างไรดี?


รับฟังทางยูทูป
: https://youtu.be/zSR04VeqoO4



ดังตฤณ: 
ฟังคำถามก็ได้ใจความว่าอย่างนี้ คือถ้ามีอาการโกรธ มีใครสักคนหนึ่งมาว่ากระทบให้เกิดความฉุนเฉียว หรือว่าขัดเคืองนี่ อย่างนี้ถ้าดูไป มันจะมีความรู้สึกว่าคลายได้เร็ว
แต่ถ้าเมื่อไรคนที่อยากจะให้เขาแคร์ เขาไม่แคร์อย่างนี้ เกิดความรู้สึกน้อยใจ แล้วไปดูความน้อยใจ มันยิ่งเศร้าเข้าไปใหญ่ อันนี้คือประเด็นคำถาม ซึ่งหลายคนก็จะสงสัยทำนองเดียวกันนี้แหละ ว่าบางอารมณ์ทำไมรู้ได้ แต่บางอารมณ์พอรู้เข้าไปมันกลายเป็นยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ อาการยิ่งย่ำแย่ อันนี้เหตุผลก็ง่ายๆเลย เพราะว่าความโกรธนี่มันเป็นของไม่ดี เรารู้ว่ามันร้อน แล้วก็ไม่มีค่า ไม่มีความหมาย ส่วนใหญ่เวลามีอะไรมากระทบกระทั่งให้เกิดความรู้สึกขัดเคืองนี่ เรารู้อยู่แก่ใจว่าไอ้นี่ไม่มีค่า ไอ้นี่ควรทิ้ง ไอ้นี่เป็นไฟร้อนไปเปล่าๆไม่มีประโยชน์อะไรเลย

แต่อารมณ์น้อยใจนี่นะ
ใจมันยังไปให้ค่ากับไอ้ตัวต้นเหตุอยู่
ใจมันยังไปมีความสำคัญมั่นหมายว่า
นั่นดี นั่นใช่ สำหรับเรา
แล้วพอไม่ได้อย่างใจ ไม่เกิดความสมหวังนะ
มันก็ไปมีอาการยึดมั่นอย่างรุนแรงเข้าไปแล้ว
อาการที่ใจยึดมั่นอย่างรุนแรงนี่สะท้อนออกมา
โดยที่มันฟ้องเลยว่า
สติของเราเข้าไปรู้เข้าไปดูอย่างไรก็ไม่ได้ผล
มันไม่ถอนออกมา

คือพูดง่ายๆว่า ตัวการปรุงแต่งมันชนะสติ!

ตัวสติไม่สามารถที่จะเข้าไปรับรู้อารมณ์แล้วก็คลายออกมาได้
นี่ขอให้คำนึงตรงนี้ ขอให้มองเป็นภาพรวมตรงนี้ก่อน

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


ทีนี้มาถึงวิธีการ
ถ้าหากว่าเราจะดูอารมณ์น้อยเนื้อต่ำใจจริงๆ
อย่าไปดูตรงที่เราเกิดความรู้สึกเศร้า
เกิดความรู้สึกหม่นหมอง
เกิดความรู้สึกว่ามีความมืดความหม่นอย่างไร


แต่ให้ดูอะไรง่ายๆก่อน
ยกตัวอย่างเช่น อารมณ์น้อยเนื้อต่ำใจนี่นะ
อาการทางกายมันจะเป็นอย่างไร?
มันมีอาการก้มหน้างุดเลย
มันมีอาการเหมือนกับจะมองพื้นท่าเดียว
จะมองหัวแม่เท้าท่าเดียว
ไม่ยอมมองฟ้า ไม่ยอมมองหน้าผู้คน
อะไรแบบนี้


ก็ดูอาการทางกายก่อน
อาการทางกายเป็นอย่างไร
บางทีคนที่หงอยๆนี่นะ
มันจะเหมือนกับเนื้อตัวอ่อนเปียกไปหมด
ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งที่จะสามารถขยับได้เลย
อะไรแบบนี้นี่เป็นอาการน้อยเนื้อต่ำใจขั้นสุดขีด
ไม่อยากขยับมือ ไม่อยากขยับเท้า
ไม่อยากที่จะเงยหน้าขึ้นสู้โลก
อาการทางกายนี่
มันดูเข้าไปแล้วมันไม่มีอาการฝืน
มันไม่มีอาการเกร็ง
มันไม่มีอาการที่ผิดปกติแทรกซ้อนขึ้นมา


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


และถ้าหากว่าเรารู้สึกถึงอาการทางกายได้
ลองหายใจขึ้นมาสักนิดหนึ่งนี่
ในอาการก้ม ในอาการโค้งงอของหลัง
ในอาการที่มันเหมือนกับกระปลกกระเปลี้ย หมดสภาพนี่
เราหายใจเข้าหรือว่าหายใจออกอยู่นะ

ลองสำรวจดูง่ายๆขั้นพื้นฐานแบบนี้แหละ
เราจะรู้สึกเลยว่า
ไอ้ที่มันปัก ไอ้ที่มันดิ่งเข้าไปในอารมณ์น้อยเนื้อต่ำใจนี่
มันจะเบาบางลงทันที
มันจะเกิดความรู้สึกเหมือนกับ
เออ ปลอดโปร่งมากขึ้น
มันมีอาการเหมือนกับพ้นน้ำขึ้นมานิดๆ
แทนที่จะจมอยู่กับหนองน้ำของความเศร้า

หนองน้ำของความน้อยเนื้อต่ำใจ
มันกลายเป็นเหมือนกับเผยอ เผยอหน้า เผยอตา
เผยอจมูกขึ้นมาพ้นน้ำ พอที่จะหายใจได้
หายใจหายคอนะ แล้วก็สูดอากาศบริสุทธิ์ได้ขึ้นมานิดหนึ่ง

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


แต่อาจจะมีอาการจมลงไปอีกเรื่อยๆ
ไม่ใช่ว่าพ้นแล้วพ้นเลย
เราก็ต้องสังเกตอีกเรื่อยๆเหมือนกัน
ว่า ตอนที่มันจมลงไปนี่
อาการทางกายมันกลับไปเป็นอย่างไรอีก
จากที่มันสามารถที่จะยืดตัวตรงขึ้นมาได้นิดหนึ่ง
มันจะมีแก่ใจอะ น้องจะเกิดความรู้สึกเลยนะ
มันมีแก่ใจที่จะยืดตัวตรงขึ้นมานิดหนึ่ง
ทำให้หลังตรงขึ้นมาหน่อยหนึ่ง
แทนที่จะมีอาการโค้งงอ แทนที่จะมีอาการก้มนะ
แล้วก็อยากจะเอาหน้าไปปักอยู่กับดินนี่
มันเปลี่ยนเป็นว่า เออ อยากเงยหน้าขึ้นมา
อยากเชิดคางขึ้นมานิดหนึ่ง
เออนี่ ลักษณะที่มันมีความสดใส
เขาต้องเชิดคางกันแบบนี้
เขาต้องเงยหน้ามองฟ้ากันแบบนี้
เราจะรู้สึกว่ามันมีอาการทางกายที่ฟ้อง
เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา
ระหว่างเชิดหน้าสู้ฟ้านะ กับก้มหน้าลงหาดินนี่

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


ถ้าหากว่าน้องเห็นอาการของกายได้ชัดเจนว่า
มันแตกต่างกันอย่างไร
ระหว่างที่จมลงไปกับอาการเศร้า
กับที่มันถอนตัวออกมาจากอาการเศร้าได้นิดหนึ่ง

ตรงนั้นแหละเราถึงจะเริ่มมองเห็นว่าสภาพของใจ
ในขณะที่ร่างกายมันกำลังมีอาการก้ม หรือ มีอาการเงย
มันแตกต่างกันอย่างไร จะเห็นได้ชัดเลย
พอเงยขึ้นมาปุ๊บ ปลอดโปร่ง
แต่ปลอดโปร่งได้ไม่นานเดี๋ยวมันจมลงไปอีก

นี่เราเห็นเลยนะ เราจะเห็นความไม่เที่ยง
เราจะเห็นความไม่สามารถบังคับควบคุม
ที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ทางใจ

เมื่อเห็นว่าปรากฏการณ์ทางใจไม่สามารถบังคับควบคุมได้
เราจะเกิดความรู้สึกขึ้นมาทีละน้อยว่า
เออ ไอ้ตรงนี้มันไม่ใช่ติดตัวกับเรา
มันไม่ใช่ของที่มีมาอยู่ก่อน
แต่เป็นของที่ปรุงแต่งขึ้นมาภายหลัง
แล้วเราเข้าไปยึด พอยึดมาก
มันก็เหมือนกับยิ่งยุยงให้ปรุงแต่งมาก
พอยึดน้อยลงด้วยการสังเกตสิ่งที่มันไม่เป็นโทษ
อย่างเช่นอาการทางกาย
อาการยึดมันก็เหมือนจะถอนออกเอง
โดยที่ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องควบคุมใดๆ

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


ถ้าหากว่าเราเห็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ
ในที่สุดก็เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า
อารมณ์น้อยใจนี่นะมันเป็น...ขอโทษอันนี้ไม่ใช่ว่ากัน
แต่ว่ามันเป็นความรู้สึกที่เราจะเกิดขึ้นมานะ
เราจะเกิดความรู้สึกว่า
ก้มลงไปด้วยความน้อยใจแต่ละครั้ง
มันเป็นอาการโง่เปล่า
มันเป็นความสูญเสียเวลาไปเปล่าๆ

สูญเสียกายไปเปล่าๆ สูญเสียจิตไปเปล่าๆ
ไม่สามารถเอามาทำประโยชน์อะไรได้เลย

ณ เวลานั้นๆคือมันถูกบล็อกไปเฉยๆ
ไม่มีความคิดไม่มีความอ่าน
ไม่มีความฉลาด ไม่มีแสง ไม่มีปัญญา
ไม่มีอะไรทั้งสิ้น มีแต่ความโง่เปล่า
เราจะรู้สึกอย่างนั้นนะ

แล้วพอเรารู้สึกถึงขั้นของความรู้สึกตรงนั้นนี่
ใจมันจะแสดงความฉลาดออกมา
ด้วยการที่มีสติคม มีสติไว
เมื่อไรที่เริ่มคล้อยลงสู่อาการน้อยเนื้อต่ำใจ
มันจะรู้สึกว่าเริ่มมีอาการไหลลงต่ำ
ใจมันจะดึงตัวเองขึ้นมาเอง
คือไม่ใช่ตั้งใจดึงนะ แต่ใจมันจะถอนขึ้นมาเอง
ด้วยความรู้สึกว่าไม่รู้จะจมลงไปในหนองน้ำแห่งความเศร้าทำไม
นี่ตรงนี้นะ มันเป็นที่สุดของการเจริญสติ
รู้อารมณ์ที่เป็นความเศร้า เป็นความน้อยเนื้อต่ำใจนะ!



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น