วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

๑.๑๔๐ ปฎิบัติธรรมแล้วเบื่อโลก เบื่องาน


ถาม – มีเพื่อนคนหนึ่งที่เพิ่งจะเริ่มปฏิบัติธรรมมาไม่นาน แต่เขากลับรู้สึกว่า การปฏิบัติทำให้ความสุขแบบโลกๆที่เขาเคยเอนจอยมันหายไป เช่น การช็อปปิ้ง หรือความอยากที่จะประสบความสำเร็จในทางโลกมันหายไป และเริ่มเบื่อการงานที่ต้องทำ ซึ่งทำให้ ณ ช่วงนี้ เขาพยายามอย่างมากที่จะตามล่าหาผัสสะที่ชอบใจ โดยการไปท่องเที่ยวต่างประเทศบ่อยๆ เขาบอกว่าอยากไปค้นหาตัวเอง เพราะเบื่อชีวิต อยากทราบว่าอาการแบบนี้เกิดขึ้นหลังปฏิบัติธรรม เป็นเพราะเหตุใด? ควรแก้ไขอย่างไร?

รับฟังทางยูทูบ :  https://youtu.be/qYRkTXcXjLE

ดังตฤณ : 
จริงๆแล้วเนี่ยนะ อย่าไปเหมาว่าปฏิบัติธรรมแล้วจะเบื่อโลก หรือว่าเบื่อหน้าที่การงานเสมอไป เพราะว่าคนเนี่ย ผมว่านะไม่ปฏิบัติธรรมน่ะมันยิ่งเบื่อโลก เบื่อหน้าที่การงานหนักกว่า หนักกว่านั้นอีก เพราะอะไร

เพราะว่าสิ่งที่เป็นการงานทางโลกเนี่ยนะ เป็นของไม่น่าสนุกน่ะ มันเป็นอะไรที่ทำแล้วเหนื่อย มันเป็นอะไรที่เราไม่ได้มีความเต็มใจ ไม่ได้มีความสนุก ไม่ได้มีความสมัครใจแล้วเนี่ย มันดึงดูดเราไม่ได้ แต่ถ้าหากปฏิบัติธรรมแล้วมีความสุข ปฏิบัติธรรมแล้วเกิดความรู้สึกว่า แบบนี้ใจมันเปิด แบบนี้ใจมันสว่าง แบบนี้มันมีสติ แบบนี้มันมีความตั้งมั่นเป็นสมาธิ เปรียบเทียบแบบนี้นะ ก็เห็นๆอยู่ว่า คนเราจะชอบอะไร ก็ต้องชอบที่จะมาปฏิบัติธรรม มาเจริญสติมากกว่าทำงาน นี่พูดถึงธรรมชาติของใจ พูดถึงธรรมชาติของความรู้สึกนะ มนุษย์ย่อมเอนเอียงเข้าหาความสุข ย่อมแหนงหน่าย คลายความยินดี ในสิ่งที่จะทำให้เป็นทุกข์

มันไม่เกี่ยวหรอกว่า ปฏิบัติธรรมแล้วจะทำให้เบื่อหน้าที่การงาน คิดในทางอย่างนี้ก็ได้ ถ้าหากว่าเขาไปเที่ยวต่างประเทศอย่างเนี่ย แล้วเขาติดใจในการท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ ก็เบื่อหน้าที่การงานได้เหมือนกัน เบื่อการที่จะอยากได้โน่นอยากได้นี่ ที่เป็นสิ่งของล่อตาล่อใจเหมือนกัน อยากเดินเท้าไปอย่างนกอิสระ ที่จะกระโดดจากขอนไม้นี้ไปอีกขอนไม้หนึ่ง แบบนี้ก็เรียกว่าเป็นคำอธิบายว่า

จริงๆแล้วไม่ใช่เรื่องของการเจริญสติ ไม่ใช่เรื่องของการปฏิบัติธรรมอย่างเดียว ที่ทำให้เกิดการเบื่อหน่ายหน้าที่การงาน หรือไม่อยากที่จะเอาอะไรแบบโลกๆ ไม่อยากจะช็อปปิ้งแบบที่เคยทำๆมา ตัวความน่าเบื่อหน่ายเนี่ย มันมีอยู่แล้วในการทำงาน มันมีอยู่แล้วในการช็อปปิ้ง ที่ไม่เห็นจะมีอะไรเพิ่ม ได้ของใหม่มาแต่ความรู้สึกไม่ได้เพิ่มเติมอะไรเลย ตรงข้ามถ้าหากว่าได้ทำอะไรแปลกใหม่ อย่างเช่นไปท่องเที่ยวอย่างเนี่ย มันเกิดความสุข มันเกิดความสำราญขึ้นมา ก็ย่อมเกิดความเบื่อหน่ายวิถีทางแบบเดิมๆ นี่เปรียบเทียบนะ
 


ทีนี้ถ้าปฏิบัติธรรมเนี่ย ถ้าหากว่ามันประสบความสำเร็จที่จิตจริงๆเนี่ย ไม่ต้องเดินทางไปไหน หมายความว่ามีความแก่กล้าแล้วพอสมควรนะ มีสติแล้ว มีความตั้งมั่นทางสมาธิแล้วพอสมควร เหมือนกับอยู่ที่ไหน ที่นั่นกลายเป็นทะเล ที่นั่นกลายเป็นท้องฟ้า ที่มีอิสระ ที่มีความเบาสบาย ที่มีความรู้สึกปีติ ชุ่มฉ่ำ สดชื่น ถ้าประสบความสำเร็จทางจิต เราจะเห็นว่าไม่ใช่เฉพาะหน้าที่การงานที่เราจะเบื่อหน่ายนะ แม้กระทั่งร่างกาย การมีความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์แบบโลกๆ การมีความทรงจำแบบต่างๆ หมายมั่น หมายรู้ หรือมีเจตนาได้ คิดอ่านได้ เหล่านี้น่าเบื่อหมด การรับรู้อะไรทั้งหลายเนี่ย มันน่าเบื่อหมด ไม่ใช่น่าเบื่อในแบบที่เป็นทุกข์ จำเป็นจะต้องหันหลัง แล้วก็มุดดินหนี หรือว่าจะต้องติดปีกเหินฟ้าอะไรแบบนั้น

คือในลักษณะของความเบื่อที่เป็น "นิพพิทา" จริงๆเนี่ย ยังมีความสุขอยู่ ยังมีความชุ่มฉ่ำอยู่ ยังมีความชื่นใจอยู่ แต่ไม่อยากเอา ไม่อยากเกาะเกี่ยว ทำทุกสิ่งทุกอย่างไปอย่างนั้นเอง ตามหน้าที่ ตามวาระ ตามกำหนดที่ได้รับมอบหมายมาในการมีชีวิต ยังไงๆนะ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า เกิดมาเนี่ยก็ต้องทำสิ่งที่ต้องทำ แต่ใจไม่ได้มีความเกาะเกี่ยว ใจเป็นอิสระอยู่ นี่อย่างนี้นะ ถ้าหากว่าเราปฏิบัติธรรมจนถึงขั้นที่สามารถรู้เข้ามาถึงภาวะภายใน ไม่ว่าจะเป็นสุข ไม่ว่าจะเป็นทุกข์ มันก็ไม่เที่ยง ไม่ว่าจะเบื่อหน่ายแค่ไหน ไม่ว่าจะผะอืดผะอมเพียงใด มันก็ไม่เที่ยง มันแสดงความไม่เที่ยงได้ และเราหาความชุ่มชื่นจากบ่อน้ำพุภายใน ที่มันผุดขึ้นมาจากการมีสติ ที่มันผุดขึ้นมาจากการรู้การเห็น ที่มันผุดขึ้นมาจากความตั้งมั่นของจิต

ถ้าหากว่าเราไปถึงตรงนั้นนะ ก็จะเป็นผู้ที่ไม่ต้องเที่ยวไปไกล แล้วก็ไม่ต้องหลีกเลี่ยงหน้าที่การงานที่มันอาจจะเป็นพันธะอยู่ เป็นห่วงอยู่ เราจะสามารถที่จะทำอะไรต่อไปได้อย่างมีความสุข แล้วก็ไม่เบื่อหน่าย เพราะว่าความเบื่อหน่ายยังถูกพิจารณาให้เห็นเข้าไปนะว่า มันมีความไม่เที่ยง มันเปลี่ยนระดับได้ เดี๋ยวก็เบื่อหน่ายมาก เดี๋ยวก็เบื่อหน่ายน้อย แต่ถ้าหากว่ามันเบื่อถึงขั้นที่ใจไม่เอาอะไรจริงๆ คือไม่ติดไม่ยึดแม้กระทั่งความสบาย อย่างนั้นเนี่ย ก็จะมีใจอยากไปอยู่อีกโลกหนึ่ง โลกของบรรพชิต ไม่ใช่โลกแบบฆราวาสอย่างเราๆท่านๆ อันนี้เขาถึงมีการแบ่งไงว่า ถ้าหากอยากอยู่แบบเบาสบาย เบาตัว สบายใจจริงๆ ไม่ต้องเกาะเกี่ยวกับอะไรจริงๆ ก็ควรเป็นผู้ภิกขาจาร ไม่ใช่เป็นผู้ทำมาหากิน หาเลี้ยงชีพ มีลูกมีเต้าอะไรแบบนั้น ควรจะเป็นอิสระ เป็นบุคคลอิสระอยู่ในผ้าเหลือง มีการได้รับการคุ้มครองจากผ้าเหลืองว่า คนนี้ไม่ต้องมาแย่งชิงทำมาหากินกับคนอื่นเขา แต่ว่าทำตนให้เป็นผู้น่าเคารพเลื่อมใส ด้วยการไม่ยุ่งเกี่ยวกับกามโลกีย์ แล้วก็ทำมรรคผลนิพพานให้แจ้งอย่างเดียว เพื่อที่จะได้เป็นเนื้อนาบุญกลับมาโปรดสัตว์ได้ว่า เออ ทำอย่างไรจะไม่ต้องเป็นทุกข์ทางใจมากนัก เอาความสุขเอาความเบาของตัวเองนี่แหละมาเป็นต้นทุนในการแจกจ่ายเทศนาธรรม ตรงนี้ที่จะเป็นความแตกต่างระหว่างพระกับฆราวาส

แต่ช่วงต้นๆเนี่ย ถ้าหากว่าเป็นฆราวาส คือก่อนจะเป็นพระมันก็ต้องเป็นฆราวาสก่อน ไม่มีใครเกิดมาแล้วเป็นพระได้เลย ก็ต้องเป็นแบบนี้แหละคือ มีการปฏิบัติธรรม มีการเจริญสติ และเห็นค่าของการเจริญสติ เห็นค่าของจิตที่วิเวก เห็นค่าของจิตที่เป็นอิสระซะก่อน ในขณะที่เป็นฆราวาส ถ้าหากว่าทำจนอิ่มตัวแน่ชัดแล้วก็ควรจะปลีกวิเวกไป แต่ในช่วงต้นๆ มันจะก้ำกึ่งแบบนี้ คือเหมือนเหยียบเรือสองแคม ไม่รู้ว่าจะเลือกทางไหนดี ไม่รู้ว่าจะให้ ไม่รู้ว่าจะวางแพลนชีวิตว่าจะเอานิพพาน หรือว่าเอาตำแหน่งสูงสุดทางโลก มันจะมีภาวะกลืนไม่เข้า คายไม่ออกแบบนี้แหละ มันจะเหมือนกับเบื่อๆอยากๆอย่างนี้แหละ

ก็ต้องพิจารณาไปว่า สิ่งที่กำลังปรากฏเด่นที่สุดในใจเราก็คือความเบื่อ คือความหน่าย คือความรู้สึกถูกกดดันจากอาการไม่อยากจะเอา อยากจะเปลี่ยนใหม่ อยากจะเป็นอิสระ อยากจะเหินฟ้า แบบนั้นก็ต้องพิจารณา ไม่ปล่อยให้หลุดไป คือมีการเจริญสติเท่าทันความเบื่อหน่าย ความเบื่อหน่ายเป็นความรู้สึกหดหู่บ้าง เป็นความรู้สึกกดดันบ้าง จิตบางทีมันถูกบีบแคบเข้ามา บางทีมันมีลักษณะจ๋องๆจ๋อยๆ บางทีมันมีลักษณะไม่มีเรี่ยวแรง ไม่มีกำลัง บางทีมันมีลักษณะที่เหมือนกับมีอะไรมัวๆ มีอะไรที่ดำๆมืดๆมาครอบงำ เราก็เห็นลักษณะที่กำลังปรากฏเป็นตัวบอกว่า ความเบื่อกำลังแสดงหน้า แสดงตาออกมาอย่างไร เป็นภาวะอย่างไร เห็นให้ได้นะ แล้วก็เห็นให้ได้ทุกครั้ง แล้วก็สังเกตให้ได้ทุกหนด้วยว่า ลักษณะแบบนั้นๆของความเบื่อ มีความไม่เที่ยง มันค่อยๆลดระดับลงไปเอง ถ้าหากว่าเรามีสติรู้มันเห็นมัน หรือมันอาจจะทวีตัวเพิ่มขึ้น เราไม่ต้องไปรังเกียจอะไรทั้งนั้นแหละว่ามันจะเพิ่มขึ้นหรือว่าลดลง เราแค่ตั้งแง่สังเกตเท่านั้นว่า มันต่างไปได้เรื่อยๆ

ตัวความเห็นว่ามันต่างไปได้เรื่อยๆนั่นแหละ ในที่สุดมันจะพัฒนาขึ้นเป็นสติเห็นความเบื่อ และอยู่เหนือความเบื่อ พอเห็นความเบื่อไม่เที่ยงเนี่ย ใจมันจะถอนออกมาจากความเบื่อ นั่นแหละความไม่ต้องทุรนทุราย ไม่ต้องมีความอึดอัดระอาจนเกินทนนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น