วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

๑.๑๓๒ สติต่างจากสัมมาสติอย่างไร? ที่ว่า "รู้" ต้องรู้อย่างไร?

ถาม :  ขอถามเรื่องดูจิตนะคะ ไม่ค่อยแน่ใจคำว่า รู้ เท่าไร ขอถามสองข้อค่ะ ยกตัวอย่างเช่น เดินไประหว่างทางเจอผู้ชายคนหนึ่ง แล้วคิดในใจว่า เป็นเกย์หรือเปล่า แล้วต่อมาก็มีเสียงพูดขึ้นในใจว่า คิดอกุศลอีกแล้วนะ

ข้อแรก อยากถามว่า การพูดขึ้นมาในใจว่า "คิดอกุศลนี่" มันเป็นอาการรู้แล้วใช่หรือไม่ หรืออาการรู้นี้ นิ่ง ไม่พูดอะไรในใจเลย ช่วยอธิบายทีค่ะ
?

ข้อที่สอง การเติมคำว่า "อีกแล้วนะ" เป็นการแทรกแซงจิตหรือเปล่า เหมือนเราตอกย้ำความผิดของตัวเองว่า ทำผิดซ้ำซากน่ะค่ะ
?

รับฟังทางยูทูบ 
http://youtu.be/UkOlgQqHN7w

ดังตฤณ:  เราพูดแยกเป็นสองประเด็นนะครับ 
:  ประเด็นของ "การมีสติ" กับ
:  ประเด็นของ "การรู้ในแบบที่จะเจริญสติ" แล้วเกิดการเห็นรูปเห็นนาม 

เพราะว่ามันไม่เหมือนกันนะ ตัวสติ 
สติ’ ในความหมายที่เป็นสติแบบสามัญ กับ 
การรู้’ หรือเติมเข้าไปอีกคำหนึ่งก็ได้ เป็นคำว่า สัมมาสติ’ มันจะได้แยกออกชัดเจน

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


ตัว สติธรรมดา’ นี่ ใครๆก็มีได้ 
อย่างเช่นที่ว่า เราสามารถเตือนตัวเองได้ การสามารถเตือนตัวเองได้เป็นคุณสมบัติของคนที่จะเจริญก้าวหน้าในชีวิต 

ส่วนการที่มี
 สัมมาสติ’  การสามารถรู้กายรู้ใจโดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นของไม่ใช่ตัวตนได้ อันนั้นไม่ใช่ชีวิตจะแค่เจริญรุ่งเรือง แต่ว่าชีวิตจะสามารถพ้นทุกข์ได้ !

นี่คือหลักการของพุทธนะ 
มีสติแบบธรรมดา แบบกัลยาณชน ก็สามารถที่จะเปลี่ยนผิดให้เป็นถูก เปลี่ยนถูกอยู่แล้วให้ถูกยิ่งขึ้น ดียิ่งขึ้น ส่วนการมีสัมมาสติ มันสามารถเปลี่ยนทุกข์ให้กลายเป็นสุข เปลี่ยนคนคิดมาก ให้กลายเป็นคนไม่คิด หรือว่าคิดน้อย หรือเปลี่ยนกัลยาณชนที่เป็นปุถุชนนี่ ให้กลายเป็นอริยบุคคลได้ 
นี่คือข้อแตกต่างระหว่าง สติธรรมดา กับ สัมมาสติ !

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ทีนี้คำว่าสติธรรมดานี่ มันเกิดขึ้นตอนไหน อย่างเราคิดในใจว่า เอ๊ะ เป็นเกย์หรือเปล่านี่ คนนี้ ตัวนี้เขาเรียกว่าเป็นความคิด ซึ่งมันเกิดขึ้นแบบช่วยไม่ได้ ยังไงมันก็ต้องเกิด ไปห้ามใจตัวเองไม่ให้คิด ไปห้ามใจไม่ให้มีปฏิกิริยา หลังจากตาไปเห็นรูป คือ พูดง่ายๆว่า เอาตาไปดู เอาหูไปฟัง แล้วเกิดความรู้สึกอย่างไร นั่นแหละเรียกว่าเป็นปฏิกิริยาทางใจมันไม่สามารถที่จะห้ามได้ สั่งสมนิสัยทางการคิดมาอย่างไร หรือสั่งสมความเคยชินที่จะตั้งข้อสงสัยมาอย่างไร มันก็เกิดขึ้นอย่างนั้น แล้วบางคน คือ รูปร่างหน้าตา หรือว่ากิริยาท่าทีนี่ มันชวนให้สงสัย มันก็อดไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิงจะเป็นคนที่ละเอียดอ่อน จะเป็นคนที่มีความไวกับสัมผัสรู้สึกที่เข้ามากระทบ

อันนี้เขาบอกว่า ผู้หญิงนี่นะ ไม่ใช่แค่เป็นเรื่องของนิสัยอย่างเดียวนะ มันเป็นเรื่องของเคมีในสมองด้วยที่ว่ามันจะมีตัวกระตุ้นให้เกิดความไวสัมผัส ไวกับสิ่งรอบข้าง ช่างสงสัย ช่างคิด แล้วก็บางทีเก็บเรื่องเล็กเรื่องน้อยมาคิดมากนี่ นักวิทยาศาสตร์เขาบอกว่าเป็นเรื่องที่ตัวร่างกายเองมีส่วนสนับสนุน มีส่วนส่งเสริมอยู่ด้วย อันนี้ก็เลยสรุปว่า ตอนที่เราตั้งคำถามขึ้นมาในใจ เป็นแค่ปฏิกิริยาทางใจ ส่วนการมีเสียงพูดขึ้นมาในใจว่า คิดอกุศลอีกแล้ว อย่างนี้เรียกว่าเป็นสติธรรมดา สติในแบบกัลยาณชน สติในแบบที่เราจะเปลี่ยนความคิดที่มันพาให้จิตใจหม่นหมอง หรือเป็นไปในทางอกุศล เป็นไปในทางเม้าท์แตก เป็นไปในทางที่จะเอาไปติฉินนินทาชาวบ้านหรือว่าเอาไปจับกลุ่มคุยกันแบบเพ้อเจ้อ มันก็หายไป ตัวกุศลที่เกิดขึ้น เตือนตัวเองว่า นี่กำลังคิดในทางที่เป็นความเสื่อม ตัวนี้ทำให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองออกมาจากภายใน อย่างนี้เรียกว่าเป็นสติแบบธรรมดา

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


พอผมเปลี่ยนคำนี่ จากคำว่า "รู้" เป็น คำว่า "สติ" มันฟังง่ายขึ้นใช่ไหม?
ตัวสตินี่ ใครๆก็รู้ว่าคือการระลึกขึ้นมาได้ คือการที่มีความรู้สึกตัวขึ้นมาว่า เออ อันนี้ทำอะไรอยู่ ผิดหรือถูกนะครับ อันนี้ใครๆก็สามารถเข้าใจกันได้ ไม่ว่าจะอยู่ศาสนาไหน ทีนี้ ที่ว่ามันจะมีคำเสริมขึ้นมาแค่ไหนก็ตาม บอกว่า อีกแล้วนะ หรือว่า คิดอกุศลอีกแล้วนะ ไม่ว่าจะคำเดียว หรือหลายคำ มันเป็นสติล้วนๆเลย มันไม่ใช่สัมมาสติ

ตัว สัมมาสติ’ คืออะไร ?
ตัวสัมมาสติคือการที่เราระลึกขึ้นมาได้
ว่านี่คิดอกุศล
 เสร็จแล้วเห็นว่า หน้าตาลักษณะ’ ของอกุศลจิตเป็นอย่างไร
 
:  มันมีลักษณะเสียดแทง 
:  มันมีลักษณะเหมือนกับว่า จิตใจของเราแต่เดิมนี่ ไม่ได้หม่นหมอง แล้วมันมีความหมกมุ่นหม่นหมองขึ้นมา หม่นหมองในลักษณะที่ไปสนใจในเรื่องไม่ดีของคนอื่น แล้วเกิดความมัวๆขึ้นมา สามารถเห็นลักษณะนั้นได้ 


และที่สำคัญมันอยู่ตรงนี้นะ !
:  เมื่อเกิดสติรู้ว่า มีความมัว มีความหมองขึ้นมาที่ในจิต 
ในจิตของเราไม่ปกติเหมือนเมื่อครู่นี้แล้ว 

เราสามารถเห็นในเวลาต่อมาได้ว่า 
อาการมัวนั้นเปลี่ยนไป กลายเป็นใสขึ้น !

คีย์เวิร์ดมันอยู่ตรงนี้ ! 
เมื่อเราสามารถเห็นลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง
ของร่างกาย หรือว่าจิตใจ 
แล้วเห็นลักษณะนั้นๆมีความเปลี่ยนแปลงไป นี่เรียกว่า "สัมมาสติ"


.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

การจะมีสัมมาสติได้ อยู่ๆมันไม่สามารถที่จะทำให้มันมีขึ้นมา 


ประการแรก เราต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องเสียก่อน 
มีความเห็นชอบ มีสัมมาทิฏฐิเสียก่อน
ว่าร่างกายและจิตใจนี้
เป็นเพียงเครื่องล่อให้เกิดอุปทานไป
ว่า
นี่คือเรา เรามีอยู่ในรูป รูปเป็นของๆเรา เราเป็นเจ้าของรูป 

แล้วก็ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายทั้งปวงเป็นตัวเรา 
เราเป็นตัวความรู้สึกนึกคิด 
พอเปลี่ยนความเข้าใจให้ถูกต้องว่า 
อะไรๆมันไม่เที่ยง ไม่ว่าจะเป็นกาย ไม่ว่าจะเป็นจิต
เพราะว่าทั้งหลายทั้งปวง
เป็นเพียงการประชุมประกอบกัน ชั่วคราว 
:  ไม่มีตัวเขาไม่มีตัวใคร ไม่มีตัวเรา 
:  ไม่มีบุคคล ไม่มีชายไม่มีหญิง ที่มันมีความถาวรเป็นอมตะ 
มันมีแต่ลักษณะสภาพที่ประชุมประกอบกัน ชั่วคราว  

พอมีความเข้าใจอย่างถูกต้องอย่างนี้แล้ว 
ก็เกิดความเพียรพยายามที่จะตามดูตามรู้ให้เห็นจริง 
อย่างเช่น ในอาการนี้นะ ถ้าหากว่าเรารู้ตัวขึ้นมาว่าคิดอกุศลแล้ว
แล้วสามารถที่จะรู้สึกได้ว่าลักษณะของอกุศลนั้นเป็นอย่างไร 
:  มีความรู้สึกเสียดแทง 
:  มีความรู้สึกหม่นๆ 
:  มีความรู้สึกเหมือนกับหมกมุ่น ไปหมกมุ่นเรื่องของคนอื่น 

แล้วอาการนั้นๆ แสดงความเสื่อม แสดงความคลายให้เรารู้สึก

ตัวนี้แหละนะถ้าทำครั้งเดียวเรียกว่า 
เป็นการฝึกสติ ที่จะทำให้เกิดสัมมาสติ 

แต่ถ้าทำหลายๆครั้งจนมีความเพียร 

มีความเพียรชอบ จนกระทั่งมันเกิดความเป็นนิสัย 
เป็นความเคยชินที่จะเห็นความไม่เที่ยง ของลักษณะ
:  ที่มันปรากฏอยู่ในกาย 
:  ปรากฏอยู่ในใจของเรานี้ 

อย่างนี้แหละถึงจะเรียก "สัมมาสติ" !

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


ตัวสัมมาสติหน้าตาเป็นอย่างไร? 
มันจะเหมือนมีอาการรู้อยู่เอง 
รู้เป็นปกติ รู้เรื่อยๆ 
รู้โดยที่ไม่มีอาการไปเค้น อาการไปบังคับ 
หรือว่าอาการที่มันจะต้องไปฝืน 
มันรู้ขึ้นมาเอง มันรู้
มันเคยชินที่จะรู้
ว่าอะไรๆในขอบเขตของกายของใจนี้ 
สักแต่เป็นภาวะให้ดู
มันเกิดขึ้นแป๊บนึงแล้วมันก็หายไป ไม่ใช่ตัวตน
นี่แหละ เรียกว่า สัมมาสติ !

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ตัวสัมมาสตินี่ ที่ท่านเรียกกันว่า "รู้" 
เพราะว่าอาการมันเหมือน รู้ อยู่จริงๆ 
รู้ มีแต่ รู้อย่างเดียว 
รู้แบบเพียวๆ 
รู้แบบไม่มีความรู้สึกในตัวตนเจืออยู่ 
ท่านนิยมเรียกกันว่า รู้ นะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น