วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

๑.๘๒ จิตตั้งมั่นเป็นอย่างไร?

รบกวนช่วยอธิบายสภาวะของจิตตั้งมั่นหน่อยครับ ถ้าเห็นความคิดผุดขึ้นมาเรื่อยๆ คิดไปโน่นไปนี่ แต่ยังรับรู้ได้ว่าจิตคิด และยังกระเพื่อมตามความคิดไปบ้าง สลับกับรับรู้แล้วเฉยๆ เหมือนกับเห็นจิตมันคิดได้เองบ้าง อย่างนี้ถือว่าจิตตั้งมั่นไหมครับ?

รับฟังทางยูทูบ : https://www.youtube.com/watch?v=W88NeQKp1Gg

จิตตั้งมั่นนะ คิดง่ายๆนะ ก็คือว่า อยู่ในความรับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยไม่เคลื่อน ขอให้มองเป็นวัตถุก่อนก็แล้วกัน ถ้าหากว่าเราตั้งวัตถุสักชิ้นหนึ่ง เอาวัตถุทรงกลมก่อนก็แล้วกัน วัตถุทรงกลมนี่มีธรรมชาติที่อะไร มีแรงใส่เข้าไปนิดเดียวนี่มันกลิ้งทันที ไม่ว่าจะตั้งอยู่บนพื้นราบหรือพื้นเอียง มันมีธรรมชาติที่คอยจะกลิ้งไปเรื่อย นั่นคือจิตของปุถุชนธรรมดา ที่ยังไม่ได้ฝึก ที่ยังไม่ได้ตั้งจิตให้อยู่ในความเป็นกุศล ไม่ได้ตั้งจิตให้อยู่ในความเป็นสมาธิ พร้อมจะกลิ้ง แต่จิตของคนที่มีความตั้งมั่นแล้ว ขอเปรียบเหมือนกับลูกบาศก์สี่เหลี่ยม ที่มีบาลานซ์ดีมากนะฮะ ทุกด้านเท่ากันหมด มีความแข็งแรงและผิวเรียบ ถ้าหากตั้งอยู่บนพื้นแล้ว ก็ตั้งอยู่สนิทนิ่ง ไม่ไปไหน ใครจะมาออกแรงเข็นนี่นะ ก็เข็นไปได้นิดเดียวแต่ว่ายังตั้งอยู่ที่เดิม อยู่ในมุมเดิม ต่างจากทรงกลมนี่ วัตถุทรงกลมนี่นะ พอกลิ้งไปนิดเดียวมันเปลี่ยน มันเปลี่ยนมุมแล้ว มันหันด้านอื่นออกมาแล้ว 

ถ้าหากว่าพิจารณาโดยการเปรียบเทียบอย่างนี้นะ ว่าจิตตั้งมั่นเหมือนกับเป็นลูกบาศก์สี่เหลี่ยมที่ตั้งอยู่บนพื้นได้นิ่งๆนะ เราก็มองได้ว่ามีความเคลื่อนไหวได้ยาก ตั้งอยู่อย่างไร ก็ตั้งอยู่อย่างนั้นนะ แล้วก็มีอาการที่อยู่หน้าเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง จิตก็เหมือนกัน จิตที่ตั้งมั่นแล้วนี่ไม่ใช่ว่าอยู่ในอาการแช่แข็งนะ คนที่เพิ่งเริ่มฝึกจิตใหม่ๆจะเข้าใจเหมือนกันหมดเลยว่า จิตที่ตั้งมั่น หรือว่าจิตที่มีสติ หมายถึงจิตที่เกร็ง จิตที่มีความเพ่งอยู่ โดนบล็อกอยู่ แช่แข็งอยู่ แล้วสามารถตั้งอยู่ในอาการแบบนั้นได้

จริงๆไม่ใช่นะ แต่ท่านจะมุ่งเอาจิตที่มีความสามารถในการรับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ที่บอกว่า ถึงแม้กำลังคิดอยู่ แต่มันมีจิตตัวหนึ่ง มีสภาพหนึ่งของจิตที่รับรู้อยู่ เออ มีอาการคิดไปโน่น ไปนี่ รู้แล้วก็เฉยๆ เห็นจิตมันคิดของมันเอง นี่ความรู้สึกที่ว่าจิตมันคิดของมันเองตัวนี้นี่นะ สะท้อนให้เห็นว่ามีสติอยู่แบบหนึ่ง มีการรับรู้อยู่แบบหนึ่งขึ้นมา ถ้าหากว่าจิตที่มีอาการรับรู้แบบนี้เกิดขึ้น เราสามารถรู้จักความคิดว่า นี่ ขณะนี้มันเกิด แล้วขณะนี้มันดับไป มันหายไป โดยที่การรับรู้มันยังคงเดิม นั่นเรียกว่าเป็นความตั้งมั่นในการรับรู้ความคิด เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

เอาง่ายๆนะ อธิบายง่ายๆอย่างนี้ก็แล้วกัน สมมติว่า เรายืนอยู่ในที่โล่ง เรามองเห็นแล้วว่า มีฝุ่นทรายมันปลิวมาแต่ไกลเลย แล้วพอมันปลิวผ่านหน้าเราไป หายไป เราก็ยังสามารถเห็นที่โล่งได้เหมือนเดิม พูดง่ายๆว่าเราเห็นที่โล่งอยู่นะ ก่อนที่ฝุ่นทรายมันจะพัดมา แล้วพอพายุ พอฝุ่นทรายพัดผ่านไปแล้วเราก็ยังเห็นที่โล่งได้อยู่ นี่ ตัวนี้เรียกว่า ‘เรามีความตั้งมั่นในการเห็น’ ขอให้พิจารณาอย่างนี้ก่อนก็แล้วกัน อย่าเพิ่งไปเอาเรื่องความตั้งมั่นในแบบฌาน หรือว่าในแบบสมาธิชั้นสูงอะไร เพราะว่ามันจะเป็นการคาดหวังที่ไม่สมตัว แล้วก็มันจะดูเกินเอื้อม ดูเป็นไปไม่ได้ แล้วก็ท้อถอย ขาดกำลังใจกัน 

เอาแค่ที่ว่าเรามีความสามารถที่จะเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ‘เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป’ ได้เรื่อยๆนี่ อย่างนี้มันก็เป็นความตั้งมั่นชนิดหนึ่งแล้ว ตั้งมั่นที่จะเห็นไง คือไม่ใช่ที่ว่าจะต้องตั้งมั่นหรูหราอะไรมากมาย ตั้งมั่นที่จะเห็นลมหายใจเข้า ลมหายใจออก แล้วพอเห็นลมหายใจออกไปเสร็จนะ ก็เห็นลมหายใจหยุด จากนั้น ใจไม่ได้เคลื่อนไปไหน ไม่ได้วอกแวกไปไหน ยังมีความสามารถที่จะรับรู้ว่าลมหายใจระลอกต่อมามันเข้ามาแล้วมันออกไปได้อีก นี่ก็เรียกว่าเป็นความตั้งมั่นอ่อนๆแล้ว แล้วถ้าหากว่าความตั้งมั่นแบบนี้ ความตั้งมั่นอ่อนๆมันเกิดขึ้นถี่ๆ ในที่สุดมันก็กลายเป็นความตั้งมั่นที่แข็งแรงมั่นคงไปเอง นี่คือเป็นการทำความเข้าใจนะในเรื่องของประสบการณ์ตรง เรื่องจิตตั้งมั่นแบบง่ายๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น