วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

๑.๙๑ เห็นจิตชัดแม้ขณะลืมตา ฝึกอย่างไร?

ถาม :  ภาวนาอยู่ สังเกตได้ว่าตอนนั่งภาวนาในรูปแบบ พอจิตเริ่มเป็นสมาธิ จะรู้สึกว่าเห็นความเกิดดับของขันธ์ได้ดี รู้สึกว่าเห็นความไม่เที่ยงและอนัตตาได้ชัด แต่หลังจากที่ถอยออกมาจากการนั่งสมาธิตรงนั้นแล้ว จิตไปนึกทบทวนดู ทำไมยังรู้สึกว่าเหมือนกับฝันไป ไม่ชัดเหมือนตอนนั้น รบกวนขอคำแนะนำด้วย ไม่แน่ใจว่าทำผิดหรือเปล่า?

รับฟังทางยูทูป
: http://youtu.be/bx7Qo6OYaNI


ดังตฤณ:  ก็ไม่ได้ผิดนะ พอหลับตากับลืมตา
อาการปรุงแต่งของจิตมันผิดกันเป็นคนละเรื่อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากว่าจิตของเรา
ยังไม่ตั้งมั่นขนาดที่หลับตากับลืมตามีค่าเท่ากัน
พอหลับตาไปปุ๊บ
มันจะมีอาการเล็งเข้าไปที่อาการปรุงแต่งของจิตทันที
ไม่ว่าจิตจะปรุงแต่งไปอย่างไร
ใจของเรามันก็จะเล็งเข้าไปที่ตรงนั้น ไปผูกไปยึดไว้ที่ตรงนั้น

ถ้าหากว่านั่งทำสมาธิ
แล้วเรากำลังดูลมหายใจเข้าออก
เห็นว่า เออ มันเข้า มันออก มันเข้า มันออก
ในอาการที่ลมหายใจปรากฏต่อจิต
ปรากฏในห้วงมโนทวารอย่างเดียว
มันก็รู้สึกว่า เออ ไม่เห็นจะมีอะไร
มันเข้าแล้วมันก็ออก มันออกเดี๋ยวมันก็เข้านะ
แล้วบางทีมันก็ยาว บางทีมันก็สั้น
จิตเกิดความสว่างไสว รู้เอง เห็นเอง
แล้วก็เล็งอยู่แต่ความไม่เที่ยงของลมหายใจอยู่แค่นั้น
ไม่ได้มีความรู้สึกอย่างอื่น
ไม่ได้มีความรู้สึกว่าลมหายใจเป็นเรา
มันมีแต่ธาตุลมนะ ธาตุแห่งความพัดไหว
พัดขึ้น พัดลง พัดเข้า พัดออก

หรือถ้าเราอยู่ในสมาธิแล้วดูแต่อาการของจิต
เช่น มีความสว่าง มีความนิ่ง มีความฟุ้งซ่านมาแป๊บหนึ่ง
แล้วเดี๋ยวก็หายไป

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ไม่ว่าจะพิจารณาอารมณ์ของจิตแบบไหนอยู่
แล้วเกิดความรู้สึกว่า
เออ มันไม่เห็นจะมีอะไร
ไม่เห็นจะมีหน้าตาของบุคคล ตัวตน เราเขา
มาแทรก มาเติม
มาประกบติดกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เหล่านั้น
เราก็เกิดความรู้สึกเป็นธรรมดาว่า
สิ่งนั้นไม่ใช่เรา เราไม่มีอยู่ในสิ่งนั้น

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

แต่เป็นความรู้สึกแค่ชั่วคราว พอลืมตาขึ้นมา
สิ่งที่เข้ามากระทบจิตทันทีปังแรกๆ ก็คือมีภาพที่คุ้นเคย
อาจจะเป็นห้องนอน อาจจะเป็นห้องพระ
อาจจะเป็นสถานที่ภาวนาที่เราไปฝึกปฏิบัติบ่อยๆ
พอมีภาพมากระทบตานะ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา
ก็คือ ใจมันจะแล่นไปยึดทันทีว่า
ภาพที่เห็นที่คุ้นเคยนี้
เป็นภาพของสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องด้วยตัวตนเรา
เป็นเจ้าของห้อง เราเป็นผู้อยู่อาศัยในบ้าน
หรือเราเป็นผู้ที่มาปฏิบัติธรรมในสถานที่นี้
มาขอหยิบขอยืมสถานที่เขานะ
จะเกิดความรู้สึกอย่างไรก็แล้วแต่
มันเกี่ยวข้องด้วยอาการยึดมั่นถือมั่น
ว่าเป็นตัวเป็นตนไปทั้งสิ้น
นี่เป็นตัวเรา นี่เนื่องด้วยตัวเรา
เป็นสมบัติของเรา เกี่ยวข้องด้วยเรา
หรือพอหูได้ยินแว่วเสียงใครพูดกัน
ก็จะเกิดความจำได้หมายรู้ว่า
นี่เขาพูดถึงเราหรือเปล่า
หรือว่าเขาพูดอะไรกัน เขาคุยอะไรกันนะครับ

เหล่านี้เรายังไม่ได้ฝึก เรายังไม่ได้ดู
เพราะฉะนั้น
มันก็ยังไม่คลายจากอุปาทานว่ามันเป็นเรา

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

เวลาที่พระพุทธเจ้าท่านให้ฝึกไปตามลำดับนี่
ท่านจะให้ดูก่อนอย่างนี้แหละ
ขึ้นมานี่หลับตาดูจากสมาธินี่นะ
ว่าลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
เดี๋ยวมันก็สุข เดี๋ยวมันก็ทุกข์
เดี๋ยวมันอึดอัด เดี๋ยวมันผ่อนคลายออก
เดี๋ยวมันเบาสบาย ปลอดโปร่งเป็นอิสระ เดี๋ยวมันก็เข้าไปยึดมั่นถือมั่น
ดูง่ายๆแบบนี้ก่อน

พอดูเป็นแล้วค่อยเขยิบขึ้นมาดูว่า
อารมณ์อึดอัดก็ดี อารมณ์สบายก็ดี
เดี่ยวมันก็มีมา เดี๋ยวมันก็หายไป
แล้วอารมณ์ของใจ เดี๋ยวมันก็ฟุ้งซ่าน เดี๋ยวมันก็สงบ

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

เสร็จแล้วท่านค่อยให้ไปดูเวลาที่เราลืมตาอยู่
ตื่นเต็มอยู่กับโลกในชีวิตประจำวันนี่
เวลาตากระทบรูป ไม่ว่าเราจะเห็นใคร
ไม่ว่าเราจะเห็นสิ่งของหรือว่าสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับตัวเราอย่างไร
ท่านให้ดูอาการของใจที่เป็นปฏิกิริยาตอบโต้กับสิ่งที่เห็นนั้น
ว่ามีอาการยึดมั่นถือมั่นอย่างไร

ยกตัวอย่างเช่น ที่พระพุทธเจ้าให้ฝึก
เริ่มต้นขึ้นมานี่
ท่านให้ฝึกจากการเห็นรูปสวย รูปที่ต้องตาต้องใจ
อย่างถ้าเราเป็นผู้ชาย เวลาที่เห็นรูปหญิง
เวลาที่คนสวยเดินเข้ามา มันบาดใจ
มันมีความรู้สึกว่า โอย หัวใจวูบ
หัวใจหล่นลงไปบนพื้น อะไรแบบนี้
ท่านให้ดูตรงนั้นแหละ ตรงนั้นเรียกว่าราคะ

เมื่อมีราคะอยู่ในจิต พระพุทธเจ้าให้ดูว่า
ราคะหน้าตาเป็นอย่างนี้
มันมีอาการเสียวแปลบที่หัวใจ
มันมีอาการเหมือนกับดึงดูด วูบ หน้ามืด
อยากจะถลาเข้าไปหา
มองเนื้อตัวเขาแล้ว อื้อหือ อยากจับต้อง อะไรแบบนี้

นี่แหละเรียกว่า ราคะมีอยู่ในจิต

ถ้าหากว่าสติของเราเท่าทัน
ว่าตาประจวบรูป แล้วมีราคะขึ้นมา
นี่ตรงนี้เข้าท่าแล้ว เริ่มเข้าท่าแล้วนะ

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ทีนี้
มันจะเข้าท่ายิ่งขึ้น
 ถ้าหากว่าเราเห็นว่าสตินี่พอเท่าทันนะ
เออ ตอนนี้นี่ตาประจวบรูป
เห็นรูปสาวสวยๆ ผู้หญิงสาวสวยๆ
แล้วเกิดความรู้สึกมีความยินดีขึ้นมา


ตัวสติที่เห็นว่ามีความยินดีขึ้นมาทางใจนั่นน่ะ
ตอนแรกมันจะไม่เกิดอะไรขึ้นนะ
มันก็ยังยึดอยู่อย่างนั้นแหละ
แต่พอเห็นบ่อยๆ ฝึกเห็นบ่อยๆเข้า
จนกระทั่งรู้ว่าหน้าตาของราคะเป็นอย่างไร
อาการเหมือนกับหน้ามืดอยากจะถลาเข้าไปหานี่
อยากจะแล่นเข้าไปจับต้องนี่
หน้าตามันเป็นอย่างไร
มันจะเริ่มเห็นว่า อ๋อ ไอ้ที่อยากจะถลาเข้าไปนะ
มันเป็นอาการของจิตที่แล่นทะยานออกไป
มันเป็นอาการหน้ามืด
ไอ้ที่บอกว่าหน้ามืดนี่ มันก็คือจิตมันมืดลง มันหม่นลง
มันเป็นอกุศล มันเป็นสิ่งปรุงแต่งที่ทำให้เราขาดสติ

แต่เมื่อมีสติรู้ว่าหน้าตาของราคะเป็นอย่างไรมากขึ้นๆ บ่อยครั้งเข้า
มันจะเห็นเป็นลักษณะอาการของใจเฉยๆ
มันจะไม่มีอุปาทานครอบงำจิตเต็มๆเหมือนแต่ก่อน

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

พอเห็นว่า ราคะเกิด
ณ นาทีแรกที่ตากระทบรูปปัง
อึดใจต่อมาจะเป็นลม อาจจะเป็นลมหายใจต่อมา
ระลอกลมต่อมาที่เรามีสติอยู่นั้น
เห็นทันทีว่า อาการหน้ามืด
อาการที่จิตมันหม่นลงด้วยอกุศลนี่ไม่เห็นมีอะไรเลย
มีแต่อาการแล่นทะยานออกไปเปล่าๆ
ไม่เห็นมีประโยชน์อะไรเลย
จับต้องเขาก็ไม่ให้หรอก
เรามีแต่อาการแล่นทะยานออกไปเปล่าๆ
ตรงนี้มันก็จะเห็นว่า "ราคะมันอ่อนกำลังลง" !

พอราคะอ่อนกำลังลงนี่
ตรงนี้เรียกว่า เข้าท่าขั้นที่ ๒

ก็คือว่า เป็นไปตามสูตรที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสบอกว่า
เมื่อจิตมีราคะอยู่ รู้ว่าจิตมีราคะ
เมื่อจิตไม่มีราคะอยู่ ก็รู้ว่าจิตไม่มีราคะ
ตรงนี้เราเห็นลักษณะของใจที่มีลักษณะต่างไป

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

ตอนแรกๆเราจะไม่เห็นว่ามันเป็นความไม่เที่ยงนะ
แต่พอเห็นลักษณะที่มันแตกต่างไปได้บ่อยๆครั้ง
จิตจะเริ่มคมขึ้น สติจะเริ่มคมคายขึ้น
กระทั่งเห็นเส้นแบ่ง เหมือนเฉดสีที่ตอนแรกเป็นดำสนิทเลย
ค่อยๆจางสีลงมาเป็นเทา
และอ่อนตัวลงมาเป็นเทาจางๆ จนกระทั่งขาว
นี่ตรงนี้เรียกว่า "เห็นจิต" แล้ว

เห็นจิตจากการที่รู้ว่าตากระทบรูป
อย่างนี้พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้
อยู่ในหมวดสุดท้ายของสติปัฏฐานสี่เลยนะครับ
ธรรมมานุปัสสนา
ก็คือได้รู้ว่าเมื่อตากระทบรูปเกิดสังโยชน์ขึ้นหรือเปล่า
สังโยชน์ในที่นี้ก็คือเกิดราคะขึ้นหรือเปล่า
เกิดอาการร้อยรัด เกิดอาการผูกยึด
เกิดอุปาทานว่า มีของดี มีของน่าชม
มีของน่ายึดมั่นถือมั่นมากแค่ไหน
แล้วจากนั้น
เมื่อเรารู้ถึงลักษณะของสังโยชน์อย่างชัดเจน คือราคะนี่นะครับ
เราก็เห็นสังโยชน์มันคลายไปได้

คลายชั่วคราวนะ คือไม่ใช่หายไป
ไม่ใช่เราทำลายสังโยชน์ได้
แต่มันสามารถที่จะแสดงความไม่เที่ยงได้
ให้เราเห็นต่อหน้าต่อตา
นี่ตรงนี้มันเริ่มเข้าท่าเข้าทาง

มันเริ่มที่จะไม่ใช่เอาแต่ต้องหลับตาเสียก่อน
ถึงจะเกิดความเห็นว่ามันไม่เที่ยง
เกิดความเห็นว่ามันเป็นอนัตตา
ลืมตาอยู่อย่างนี้สามารถเห็นได้
นี่เรียกว่าเป็นการพลิกเอาความเคยชินแบบเดิม
ที่เรามีแต่นั่งหลับตาดู กลายไปเป็นว่า
ลืมตาก็เห็นปฏิกิริยาทางใจได้ 
ไม่แตกต่างกันกับตอนนั่งดูเลย !

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

แต่มันต้องฝึก และมันต้องมาตามขั้นตอน
ถ้าหากว่าเรากระโดดข้ามขั้นนะ
ส่วนใหญ่นะครับ เดี๋ยวนี้นี่คือจะทำแบบนี้กันมากเลย
คือ กระโดดไปสังเกตตากระทบรูปเลย
หรือว่าสังเกตหูกระทบเสียงเลย
แล้วก็เหมือนกับจะไปบังคับเอาดื้อๆ
ว่าไม่ให้มันเกิดกิเลส
หรือเห็นสักแต่เห็น ได้ยินสักแต่ได้ยิน
ไม่ยึดมั่นเป็นตัวเป็นตน

นี่ข้ามขั้นแบบจะเอาเลียนแบบพระพาหิยะ
แบบนี้มันก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา !
เพราะว่าจิตมันยังไม่มีความตั้งมั่นมากพอ
มันยังไม่มีประสบการณ์
ยังไม่มีความเชี่ยวชาญในการเห็นปฏิกิริยาทางใจมากพอ
มันก็ไม่สามารถจะเห็นได้จริง
มันกลายเป็นไปบังคับตา ไปบังคับหูเอา

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..


สำหรับคำถามนี้ก็สรุปว่า
ถ้าหากเราจะเอาประโยชน์จากสมาธิ
มาใช้ "ในขณะที่ลืมตา" นะครับ
ต้องสังเกตเป็น

เริ่มจากที่พระพุทธเจ้าท่านให้สังเกต
ว่าใจมีอาการอย่างไร
จิตมีราคะหรือไม่มีราคะ
จิตมีโทสะหรือไม่มีโทสะ
เมื่อตาไปประจวบกับรูป
เมื่อหูไปประจวบกับเสียงแบบใด

ถ้าหากว่าสังเกตได้อย่างนี้
รับรองว่า ลืมตาอยู่ในชีวิตประจำวันแบบนี้นี่
เราก็สามารถที่จะมีจิตเป็นวิปัสสนาได้


วิปัสสนาคือเห็นตามจริง เห็นแจ้ง รู้แจ้งกระจ่างใจ
ว่าทั้งหลายทั้งปวงที่ปรากฏอยู่
เป็นภาวะของกายของใจนี้
มันไม่เที่ยง มันไม่ใช่ตัวตนนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น