วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ให้คำปรึกษาคนอื่นเป็นการแทรกแซงกรรมหรือไม่

ดังตฤณ : เรื่องนี้จะคล้ายกับ ความเชื่อ เข้าใจคำว่าความเชื่อไหม คือคิดขึ้นมาแล้วก็เชื่อไป ยกตัวอย่างเช่น ถ้าบริจาคดวงตา เกิดใหม่ชาติหน้าตาจะบอด แล้วก็บอกว่าอย่าบริจาคดวงตา ถ้าไปประยุกต์กับการบริจาคเลือดก็คงเป็นว่า เกิดใหม่แล้วตัวซีดอะไรแบบนี้

 

เรื่องของความเชื่อ เป็นเรื่องที่เราไปห้ามความคิดคนไม่ได้ แล้วก็ไม่สามารถไปบอกว่า ถ้าคิดแบบนี้เชื่อแบบนี้ จะเป็นบาปเป็นกรรม แล้วก็ไม่สามารถบอกคนทั้งโลกว่า คิดอะไรเชื่ออะไร ถ้าเก็บไว้คนเดียวบาปน้อย แต่ถ้าหากว่าคิดผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิ แล้วเอาความคิดผิดๆ นี้ไปเผยแพร่ให้กับคนจำนวนมากๆ ให้เชื่อตาม จะอันตรายขนาดไหน

 

อันตรายในขนาดที่ว่า เราในชาติปัจจุบันเห็นๆ เลยว่า เราแนะนำให้คนเกิดความคิดผิดๆ ความคิดที่ผิดจากหัวหนึ่ง แพร่เข้าไปสู่หัวของคนอีกคนหนึ่ง แล้วต่อไปเป็นสอง เป็นสี่ เป็นแปด ทวีคูณขึ้นเป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสน หากความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นในปัจจุบันเลย เป็นหมื่นเป็นแสน เอาหน่วยหนึ่ง แล้วแพร่ได้เป็นหมื่นเป็นแสน

 

ทีนี้ ถ้าพูดถึงผลของกรรม จะไม่ใช่แค่คูณหมื่น หรือคูณแสน การที่เราเผยแพร่ความคิด หรือความเชื่อผิดๆ ไปสู่คนจำนวนมากได้ จะทำให้เราต้องไปรับผลแบบไม่จำกัด ไม่มีประมาณเช่นกัน

พูดง่ายๆ ยิ่งมีความสามารถที่จะเผยแพร่ความคิดผิดๆ ได้มากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งต้องไปใช้กรรมมากขึ้นเท่านั้น

 

อย่างเช่นในกรณีของผู้ถาม ประเภทที่มาบอกว่า เราไปยุ่งกับคนอื่น ไปช่วยคนอื่น แล้วเราจะติดกรรมของเขามา หรือว่าจะพลอยร่างพลอยแห ไปเสวยวิบากอะไรกับเขาด้วย เป็นความคิด ไม่ใช่ญาณหยั่งรู้

 

ญาณหยั่งรู้ แบบผู้มีตาทิพย์ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างเช่น พวกที่มี จุตูปปาตญาณ จะเห็นว่า สัตว์นี่เกิดตายตามกรรม ถ้าหากว่าทำอะไรดีๆ ช่วยคนอื่นไว้เยอะ ให้ทานไว้มาก ผลก็คือว่าเราจะเป็นผู้ได้รับความช่วยเหลือ

 

หรือถ้าเราช่วยให้เขาเห็นผิดเป็นชอบ ในที่สุดก่อนอื่นเลย เห็นกันในปัจจุบัน จิตของเราจะมีความตื่นตัว มีสติดีกว่าชาวบ้านชาวเมืองเขา เวลาที่เกิดปัญหา เวลาเจอกับอะไรที่ยากลำบากในชีวิตนี้ เราจะได้คิดก่อนคนอื่น เราจะได้มีความสามารถในการที่จะทนทาน หรือว่าผ่านด่านอุปสรรคไปได้แบบไม่ยาก

 

แต่ในชาติหน้านี่ ผลจะต่างไปอย่างไร ก็ตามไปในลักษณะของการเป็นผู้มีปัญญา การเป็นผู้ให้ความคิดกับคนอื่น การเป็นผู้ช่วยเอาซุงขวางทางของชาวบ้าน ให้เขาออกจากทางไปได้ พูดง่ายๆ เคยทำไว้อย่างไร กรรมก็จะพยายามรักษาเส้นทางไว้เช่นนั้น นะครับ

 

ถ้าเราอยู่อย่างครูในชาตินี้ เกิดใหม่เราก็จะไปเป็นครูเช่นกัน เกิดชาติปัจจุบันเป็นผู้ช่วย(เหลือ) เกิดใหม่ก็ได้เป็นผู้ช่วยอีก

 

ไม่มีหรอก ประเภทที่ไปช่วยเขาแล้ว เสร็จแล้วตัวเองก็ต้องไปรับผลแบบเขาอะไรแบบนี้ อย่างนี้ หมอก็ตายกันหมด ไปรักษาคนเป็นมะเร็ง แล้วเอาโรคมะเร็งของเขามาใส่ตัว หรือว่าอย่างสมมติว่า เอาง่ายๆ เป็นคนกวาดถนนอย่างนี้ ไปกวาดถนนให้ถนนที่รกรุงรัง คนที่ผ่านไปผ่านมา สมควรจะได้เห็นถนนรกๆ แล้วไปกวาดให้เขาสะอาด บ้านของตัวเองก็ต้องมารก มาสกปรกตามสิ

 

นี่ เป็นสิ่งที่เราสามารถคิดกันได้ด้วย common sense แต่ด้วยความเชื่อแบบมนุษย์ ที่ไม่จำกัดว่าจะเชื่ออะไรได้บ้าง ก็พาเราเข้าพกเข้าพง โดยที่ไม่สามารถที่จะไปห้ามได้

____________________

คำถามเต็ม : ทำงานเป็นโค้ช (Coaching) เวลามีคนมาขอคำปรึกษา ก็ให้คำปรึกษาไป แต่มีคนบอกว่าอย่าไปก้าวล่วงกรรมผู้อื่น เพราะอาจโดนเจ้ากรรมนายเวรเล่นงานเป็นสองเท่า แต่การโค้ช เป็นการช่วยคน ทำให้คนหลุดจากปม ประเด็น หรือพบทางออกด้วยตัวเอง แบบนี้จะมีอะไรที่เกี่ยวกับเจ้ากรรมนายเวรหรือไม่ 

รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน : ถ่ายทอดจากคลับเฮาส์ ครั้งที่ 1

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564

ถอดคำ : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=0rA2jOx4lPs&t=1s

** IG **

 

วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สวดมนต์ร่วมกันก่อนจบรายการ

 ดังตฤณ : เรามาสวดมนต์ร่วมกัน ต้องใช้หูฟังนะครับ

                                        คุณดังตฤณนำสวดมนต์

โดยอัญเชิญ พระบูรณพุทธ เป็นพระประธาน

                                     และใช้ ))เสียงสติ(( ช่วยสวดมนต์



ก็จบไปนะครับสำหรับรายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน หัวข้อที่ว่า เคยทุบตีพ่อแม่จะห้ามมรรคห้ามผลหรือเปล่า ถ้าหากว่าสัปดาห์หน้าวันเสาร์ ๓ ทุ่ม เราว่างพร้อมกันอีกก็มาพบกันครับ

คืนนี้ขอลาไปก่อน ราตรีสวัสดิ์ครับ


ถ้าเราด่าพ่อแม่แรงๆเพื่อเตือนสติ ไม่อยากให้ท่านตกต่ำ เป็นสิ่งที่ผมควรทำถูกไหมครับ?

 ดังตฤณ : แยกเป็นสองประเด็นนะครับ

ประเด็นแรก : ประเด็นที่พ่อแม่รู้สึกเอาเองว่าเราพูดไม่ดี ว่าเราพูดแรง ว่าเราทำให้เจ็บ อันนี้เป็นประเด็นของพ่อแม่นะ

ประเด็นที่สอง : ส่วนประเด็นของเราก็คือ รู้สึกว่าไม่ได้ทำเกินหน้าที่ลูก แต่ทำหน้าที่ลูกที่ยื้อพ่อแม่ไว้ไม่ให้ตกต่ำ หลงทำผิดไป อันนี้เป็นอีกประเด็นนึงนะครับ

ฝั่งพ่อแม่ อันนี้ต้องว่ากันตามตรงว่าสามารถคิดไปเองได้ คือเรายังไม่ทันพูดอะไรที่เป็นการทำร้ายจิตใจ แต่ท่านตีความหรือว่าแปลท่าทีอากัปกิริยาภาษากาย หรือว่าคำพูดอะไรที่มันเหมือนกับจะกระทบเหน็บแนมตีวัวกระทบคราดอะไรแบบนี้ แล้วท่านก็เก็บไปฝังใจเจ็บใจ อันนี้เป็นส่วนของพ่อแม่เองเป็นกรรม เรียกว่าเป็นมโนกรรมของพ่อแม่เอง ไม่เกี่ยวกับลูกนะครับ

ในฝ่ายของลูก ตรงที่บอกว่าเราตั้งใจดี ความตั้งใจดีเนี่ยนะเป็นหน้าที่ ที่ทุกคนต้องทำในฐานะลูก ถ้าเห็นพ่อแม่หลงทาง หรือว่ากำลังจะร่วงหล่นลงเหวแล้ว อ้าว เชิญตามสบาย อย่างนี้ไม่ใช่ลูกที่ดีแน่นอน ไม่ใช่ลูกที่กตัญญูแน่นอน

ยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นบ่อยเช่นว่า พ่อแม่ใช้ให้ไปซื้อเหล้า หรือว่าชอบที่จะเสพยาทำอันตรายให้กับตัวเองอะไรแบบนั้น แล้วก็พูดเตือนดีๆก็แล้ว หว่านล้อมอะไรก็แล้ว จนกระทั่งพูดแรงเพื่อที่จะให้เกิดความรู้สึกว่าอันนี้มันไม่ถูกแล้วอะไรต่างๆเนี่ยนะครับ อันนี้คือมันก็ยังอยู่ในขอบเขตของเจตนาดี โดยเจตนาดีเนี่ยมันไม่ใช่กรรมหนักในฝ่ายห้ามมรรคห้ามผลแน่นอน มันเป็นตรงกันข้าม มันเป็นฝ่ายดี มันเป็นฝ่ายฉุดให้จิตของเรายกระดับขึ้นสูง ไม่ใช่กดให้ลงต่ำ

อันนี้มาพูดแยกเป็นประเด็นๆแยกย่อยนะครับ คือ

เจตนาดีแล้วมีวิธีพูดให้รู้สึก กับ เจตนาดีแล้วบอกว่าไม่มีทางเลือกต้องพูดอะไรแรงๆอย่างเดียว อันนี้มันก็จะเป็นเหมือนกับข้อกรรม กรรมเนี่ยแตกกิ่งก้านสาขาลงรายละเอียดของเจตนาดีเนี่ยด้วยวิธีที่ต่างกัน

วิธีที่ดีที่สุดก็คือ หาทาง บางทีไม่จำเป็นต้องใช้คำพูดอย่างเดียว มันมีวิธีอื่น ซึ่งแต่ละคนจะมีวิธีคิดต่างไปในสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกัน แล้วก็รู้จักพ่อแม่ตัวเองดีพอที่จะรอจังหวะ รอเวลา หรือว่าบางทีบอกตัวเองว่า มันไม่ได้ มันรอไม่ได้ เดี๋ยวมันจะสายเกินไป ต้องรีบพูดเดี๋ยวนั้นเลย ถ้าไม่ห้ามเนี่ยมันไม่ทันแล้ว อันนี้ก็เป็นอีกกรณีนึงนะครับ

แต่ส่วนใหญ่ พูดส่วนใหญ่นะ คือมันไม่จำเป็นต้องใช้คำพูดแรงๆในทันทีทันใด มันจะมีเรื่องที่สามารถรอได้ แล้วเรารอหรือเปล่า ตรงนี้วัดตรงนี้ก่อน ถ้าเรื่องรอได้ แล้วเราใช้ความใจเย็นหาจังหวะหาวิธีที่เหมาะสม อย่างนี้ถือเป็นกรรมดีที่สมบูรณ์ คือช่วยพ่อแม่ด้วยแล้วก็ช่วยด้วยวิธีที่มันเซฟ (save) กับตัวเองด้วย

ที่บอกว่า มันไม่ได้มันรอไม่ได้นะต้องพูดแรงเดี๋ยวนั้น นี่!ตรงนี้ตอนที่พูดแรงใช้คำแบบไหน ใช้คำแบบเหมือนกับเพื่อนด่าเพื่อน หรือว่าผู้ใหญ่จัดการเด็ก หรือว่าเจ้านายบังคับข้าทาส มันมีแยกย่อยออกไปอีกนะครับ

แต่สรุปได้ง่ายๆว่า อันนี้พูดซ้ำนะก็คือว่า ถ้าเจตนาดี ยังไงมันก็ดี ยังไงมันก็ทำให้จิตของเราอยู่สูง อยู่ในฐานะของลูกกตัญญู

แต่วิธีที่จะจัดการด้วยเจตนาดีนั้นเนี่ยมันลงรายละเอียดเข้าไปอีก แล้ววิธีที่เซฟ (save) ที่สุดคือรอจังหวะใช้คำพูดหรือใช้อุบายวิธีที่มันเหมาะสมที่สุดเท่าที่มันจะเป็นไปได้ ที่มันฉลาดที่สุดเท่าที่เราจะคิดได้ในเรื่องนั้นๆนะครับ

ถ้าหากว่าจำเป็นต้องพูดแรงแบบฉับพลันทันด่วนนะครับ ดูท่าทีของตัวเองว่า พูดแบบลูกพูดแรงกับพ่อแม่ หรือว่าในฐานะเจ้านายบังคับข้าทาส หรือว่าในฐานะเพื่อนเล่นงานเพื่อน ดูกรรมของตัวเอง ณ จุดเกิดเหตุก็แล้วกันว่าเราอยู่ในสภาพจิตใจแบบไหนนะครับ

คือคิดน่ะถูกแล้วล่ะว่ายังไงก็ต้องช่วยพ่อแม่ไว้ก่อน แต่ว่าช่วยด้วยวิธีไหนเนี่ย มันเป็นรายละเอียดอีกชั้นนึงนะครับ

------------------------------------------------

๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เคยทุบตีพ่อแม่ ห้ามมรรคผลหรือไม่?

คำถาม : ถ้าเราด่าพ่อแม่แรงๆในความรู้สึกของพ่อแม่เองนะครับ เพื่อที่เตือนสติ แต่เราไม่ถือเอากรรมตรงนั้นมาทำให้ทุกข์ใจเลย เพราะเราคิดว่า เราได้ทำหน้าที่ลูกไม่อยากให้พ่อแม่ตกไปอยู่จุดที่แย่ เป็นสิ่งที่ผมควรทำ อันนี้ผมคิดถูกไหมครับ?

ระยะเวลาคลิป    ๖.๔๑  นาที
รับชมทางยูทูบ  https://www.youtube.com/watch?v=WZLTU8cwQZI&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=6

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส


** IG **

คนที่อยู่ด้วยกันเกิดจากการมีศีลเสมอกัน เป็นยังไงคะ อยู่กับพี่น้องที่วิถีชีวิตต่างกัน ต้องวางใจอย่างไร?

ดังตฤณ : คำว่า ศีลเสมอกัน ไม่ใช่คำที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้นะครับ เป็นคำที่คนยุคเรามาตัดทอนให้เข้าใจง่าย แล้วก็กลายเป็นคำพูดติดปากมาจนทุกวันนี้

จริงๆพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า จะเป็นคู่ครองก็ตามหรือว่าจะเป็นญาติมิตรก็ตาม ถ้าจะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข เข้ากันได้รู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน ต้องมีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะคือน้ำใจเสมอกัน แล้วก็มีปัญญาเสมอกัน

ความเสมอกันทั้งสี่ประการนี้ จะทำให้บุคคลมีความเข้ากันได้ แล้วก็มีความสุขที่จะอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานญาติมิตรหรือว่าคนรักก็ตามนะครับ

ทีนี้พอมีการพูดกันขึ้นมาก็เอามาตัดทอนเหลือ เราศีลไม่เสมอกัน อยู่ด้วยกันไม่ได้หรอก ทั้งๆที่คนที่เข้ากันได้ หรือว่ารู้สึกสนิทกันส่วนใหญ่ศีลมันก็ไม่ได้เสมอกันเท่าไหร่นะครับ คนก็สงสัยว่าตกลงเนี่ยธรรมะเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า เพราะเห็นคนศีลไม่เสมอกันก็เห็นอยู่กันได้

จริงๆมีเรื่องอื่น อย่างศรัทธามีใจที่เชื่ออะไรตรงกัน เชื่อในความเลวตรงกันก็อยู่ด้วยกันได้เหมือนกัน อยู่ด้วยกันอย่างชั่วๆนั่นแหละนะ

แล้วก็ถึงแม้ว่าความเชื่อไม่ตรงกัน แต่ปัญญาเสมอกัน คือรู้จักพูดด้วยเหตุด้วยผล ถ้อยทีถ้อยอาศัย แล้วก็มีลักษณะของการยอมถอย มีเหตุผลมีปัญญาที่จะรักษาระยะห่างที่จะ เออ คุณอยู่ฝั่งนั้นไม่เป็นไรก็อยู่กับความคิดของคุณไป ฉันอยู่ฝั่งนี้ก็ขออยู่กับความคิดแบบของฉันอะไรแบบนี้ มันก็อยู่ด้วยกันได้ มันก็สามารถเข้ากันได้ แล้วก็อาจจะหาด้านอื่นที่มันเข้ากันมาหันเข้าหากัน มาหันเข้าหากันแล้วก็มีความสุขอยู่ด้วยกันได้

ทีนี้ที่มันจะมีความสุขอย่างแท้จริง เข้ากันได้เปรี๊ยะเลยนะ ก็คือต้องมีเสมอกันทั้ง ศรัทธา ศีล จาคะ แล้วก็ปัญญา อันนี้คือเรื่องจริงที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้นะครับ ไม่ใช่แค่เรื่องศีลอย่างเดียว

ความเข้ากันได้ของมนุษย์นะครับ สิ่งที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดก็คือความเป็นคนธาตุเดียวกัน ถ้ามีธาตุที่มันกลมกลืนกันเหมือนกันจุดใดจุดหนึ่งในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น เป็นคนลุยๆด้วยกัน อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นธาตุเดียวกันแล้ว ไม่จำเป็นต้องศีลเสมอกัน คือลุยๆด้วยกันไปเที่ยวป่าเที่ยวเขาเอามันด้วยกัน เนี่ยมันก็ไปกันได้

หรือถ้าเหมือนกับอยากได้เงิน มีเป้าหมายร่วมกัน ทำทุกอย่างเพื่อเงินเหมือนกันก็มาทำธุรกิจด้วยกันได้ แล้วก็อาจจะประสบความสำเร็จด้วยกันได้ ถ้าหากว่าเคยทำบุญร่วมกันมา คนเนี่ยถ้าหากว่าเคยทำบุญด้านไหนมาด้วยกันนะ แล้วมาทำธุรกิจที่สอดคล้องกับบุญเก่าเนี่ย มันก็จะรุ่งเรืองทันที ในทันทีที่ทำด้วยกันอะไรแบบนี้ 

-------------------------------------------------

๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เคยทุบตีพ่อแม่ ห้ามมรรคผลหรือไม่?

คำถาม : คนที่อยู่ด้วยกันเกิดจากการมีศีลเสมอกัน เป็นยังไงคะ ดิฉันโสด อยู่กับพี่น้องซึ่งวิถีชีวิตต่างกัน ดิฉันไม่หวังความก้าวหน้าทางโลก คนอื่นมุ่งความก้าวหน้าทางโลก ดูแลสุขภาพแนวธรรมชาติทำให้หายจากโรคร้าย แต่คนอื่นก็ไม่ทานต้องทิ้งเสียของ และความเห็นอื่นๆ ที่ตรงกันข้ามที่ต้องเจอแบบนี้ คือศีลเสมอกันหรือเปล่าคะ ขอคำแนะนำการวางใจด้วยค่ะ      

ระยะเวลาคลิป    ๔.๔๒  นาที
รับชมทางยูทูบ  https://www.youtube.com/watch?v=kwU_7p4-NT8&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=1

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส


** IG **

จำเป็นไหมต้องสวดมนต์ก่อนแล้วค่อยทำสมาธิ?

 ดังตฤณ : ก็ดูความพร้อมของจิตตัวเอง ถ้าหากว่าจิตของเรามีความอ่อนควร มีความเชี่ยวชาญที่จะโฟกัส แล้วสามารถตั้งอยู่ได้เป็นปกติ อย่างนั้นอาจจะไม่ต้องสวดก็ได้

แต่ถ้าสวดมนต์โดยความประสงค์คือทำให้จิตมีความอ่อนควร มีความสว่าง เพราะอย่างบทสวดที่สรรเสริญ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งเป็นคติแบบพุทธเวลาจะทำจิตให้มันมีความตั้งอยู่ในความดีงามกตัญญูรู้คุณก็คือ สรรเสริญผู้มีพระคุณอย่าง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

แล้วจิตที่มีแต่ความคิดสรรเสริญ ไม่ได้ตั้งใจขอพร สวดอิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมา  ด้วยใจถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชาอย่างเดียว ไม่ได้อยากได้อะไรอย่างอื่น จิตแบบนั้นก็จะมีความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาในตัวของจิตเองนะครับ ราวกับเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เสียเอง

พอจิตเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้แล้ว ก็รู้สึกถึงความโปร่งใส โปร่งเบา สว่าง แล้วก็มีความพร้อมที่จะตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ง่ายๆ อันนี้ก็คือจุดประสงค์ของการสวดมนต์ในแบบที่เรียกว่าสวดก่อนนั่งสมาธิ

แต่ถ้าหากว่าจิตของคุณมันเข้าที่แล้ว แล้ววันนั้นไม่ได้เป๋ ไม่ได้ต้องการเครื่องช่วยตบให้เข้าที่เข้าทาง ก็อาจจะนั่งสมาธิไปเลยก็ได้ มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางจิต ไม่ใช่มีเหตุผลตายตัวว่าจะต้องสวดแน่ๆถึงจะดีนะครับ
------------------------------------------------

๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน เคยทุบตีพ่อแม่ ห้ามมรรคผลหรือไม่?

คำถาม : จำเป็นไหมต้องสวดมนต์ก่อนแล้วค่อยทำสมาธิ?

ระยะเวลาคลิป    ๒.๐๒  นาที
รับชมทางยูทูบ  https://www.youtube.com/watch?v=eC8ycSKOEh4&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=2

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ถือศีลให้สะอาดถึงนิพพานได้ไหม?

ดังตฤณ : รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน คืนนี้ เป็นเรื่องความสงสัยของคนที่ไม่ใช่มือใหม่ แต่เป็นพุทธศาสนิกชนมานานพอสมควร และมั่นใจในศีลในธรรมของตัวเอง 

 

คือ ถ้าเราอยู่กับความสุขในการ ให้ทาน ถือศีล ไปซักระยะหนึ่ง หรือทำมาทั้งชีวิต จะเกิดความรู้สึกแบบหนึ่งว่า แค่นี้น่าจะเพียงพอ

 

แต่เพียงพอสำหรับอะไรก็ไม่ทราบ?

เพียงพอสำหรับความสบายใจในปัจจุบัน และมั่นใจในอนาคตข้างหน้า (ถ้าจะมี) หลังตาย

 

ถ้าคนถือศีลมาแล้วมีความสบายใจ ไม่เดือดเนื้อร้อนใจ ก็ตรงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสถึง สรรพคุณของศีล 5 แล้ว คือ เข้าถึงความไม่เดือดเนื้อร้อนใจในปัจจุบัน 

 

และความไม่เดือดเนื้อร้อนใจในปัจจุบัน ก็ทำให้เกิดความรู้สึกมั่นใจในตัวเองว่า ถ้าตายไป คงไม่ได้ไปลำบากหรอก แต่จะไปไหนก็ไม่ทราบ

 

นอกจาก ความไม่เดือดเนื้อร้อนใจอันเป็นปัจจุบันแล้ว ถ้าไม่ศึกษาจริงๆ เราจะเข้าใจว่า ความไม่เดือดเนื้อร้อนใจชนิดนี้แหละ ที่สามารถพาให้เข้าถึงพระนิพพานได้

 

พูดง่ายๆ ว่าหลายคน ตั้งแต่เรียนในโรงเรียนมา ได้ยินคำว่า นิพพาน หรือ บางทีได้ยินพระสงฆ์สอนเรื่องเข้าถึงนิพพาน แต่ก็นึกไม่ออกว่า นิพพานคืออะไร?

 

และรู้ว่า จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา คือ นิพพาน แต่ก็ไม่ทราบว่า ที่ตัวเองทำอยู่นี้ พอแล้วหรือยัง?

 

แม้รู้ว่า มีการนั่งสมาธิ เดินจงกรม แต่ก็รู้สึกว่าศีลของตัวเอง ทำให้จิต เท่าที่มีอยู่ ก็มีความสบาย มีสมาธิดี แต่ก็นึกไม่ออกจริงๆ ว่าถ้าเจริญสติแล้ว หรือนั่งสมาธิ เดินจงกรม แล้วจะแตกต่างจากจิตของตัวเองที่มีความสะอาดด้วยการรักษาศีลอย่างไร

 

คืนนี้ ก็จะยิงให้ตรงประเด็นคำถามนี้

 

จริงๆ แล้ว ก็ถามได้หมดนะครับ เราคุยกันเรื่อยๆ แบบฆราวาสด้วยกัน

ไม่ต้องกลัวว่า คำถามจะดูเป็นผู้มาใหม่ หน้าใหม่ มือใหม่ เกินไปหรือเปล่า

เราคุยกันได้ทุกเรื่อง เพราะผมเข้าใจดี ว่าการอยู่ในพุทธศาสนา ไม่ใช่ว่าทุกคนจะจูนความรู้ หรือความเข้าใจตรงกันได้หมดตั้งแต่เริ่ม

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าใช้ชีวิตมาเรื่อยๆ และมีความคุ้นชินกับชีวิตที่สบายอกสบายใจของตัวเอง นั่นไม่ได้รับประกันว่า เราจะรู้ธรรมะในแบบที่เป็นธรรมะขั้นที่ Advance ไปกว่าความสบายใจ



ความสบายใจนี้ เป็นสิ่งที่เรารับประกันกับตัวเองได้ ว่าเรามาถูกทาง

ถูกทาง ที่จะเข้าถึง ธรรมะ ในแบบที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า เป็นธรรมะขั้นพื้นฐาน ธรรมะที่จะเป็นพื้นยืนให้ต่อยอด ขึ้นไปถึงพระนิพพานได้

แต่ตัวของ ศีล เพียงอย่างเดียว พาไปนิพพานยังไม่ได้

 

มองเข้ามาที่ใจของเราเองก็แล้วกัน

 

ถ้าหากว่าเราถือศีล ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่ทำให้คนอื่นเป็นทุกข์ แล้วเกิดความสบายใจ เกิดความรู้สึกสว่าง เกิดความรู้สึกว่า นี่มีข้อพิสูจน์ ยั่วยุให้ทำผิดศีล แล้วเราไม่ทำ เกิดความรู้สึกว่า คงเส้นคงวา อยู่ในเส้นทางนี้ 

 

แต่ถามว่า เรายังโกรธได้ไหม?

ยังมีความทุกข์ อันเกิดจากความรู้สึก ในตัว ในตนได้ไหม?

 

บางคนตอบว่า ไม่มี เป็นคนไม่มีอัตตา มานะ 

แต่ลึกๆ แล้ว ถามว่า ใจ เคยวนกระวายไหม ถ้าใครเข้าใจผิด เราอยากไปไล่ตาม ทำความเข้าใจเสียใหม่ไหม? ถ้ารู้สึกเสียหน้า (โดยไม่ได้มีใครเข้าใจผิด) เคยอยากพยายามกู้หน้าไหม?

 

อาการกระสับกระส่าย กระวนกระวายของใจ แม้ในผู้ที่ถือศีลสะอาด ก็ยังเป็นเครื่องชี้เครื่องบอกว่า ใจยังสามารถเป็นทุกข์ได้อยู่

เมื่อใจยังสามารถเป็นทุกข์ได้อยู่ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ยังไม่ถึงที่สุดทุกข์


เหมือนอย่างครั้งที่พระองค์ ในสมัยที่เป็นฆราวาส เป็นเจ้าชาย 

ท่านก็มีความสุข มีความสบายใจ จากการไม่ต้องเบียดเบียนใครมาก่อน

 

มีความสุข มีความบันเทิง จากทรัพย์สินที่มีอยู่มั่งคั่ง 

และมีพระชายาหรือภรรยาสวย มีทุกอย่างที่ชาวโลกสามารถจะมีได้

นี่ เป็นประกันในความสุขในแบบโลกๆ 

 

ส่วนความสุขในแบบธรรมะขั้นพื้นฐาน ที่พระองค์ มีศีล มีธรรม ท่านมีอยู่แล้ว แต่นั่นไม่พอ! เพราะพระองค์พบว่า ตัวเองยังสามารถที่จะเป็นทุกข์ได้อยู่

แล้วถ้ายังเป็นทุกข์ได้อยู่ ก็แปลว่า ยังสามารถที่จะเวียนว่ายตายเกิดได้

ยัง เกิด แก่ เจ็บตาย ได้อยู่เหมือนกับคนอื่นๆ

 

พอพระองค์เห็นความจริงเกี่ยวกับการจะต้องตายไป แล้วไปเกิดแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่อีก พระองค์ก็หาทางที่จะดับทุกข์ให้เด็ดขาด ท่านตัดสินเอาจากตรงนี้

 

ถ้า ใจ อันเป็นตัวตั้งของการเวียนว่ายตายเกิด ยังเป็นสะพานเชื่อมให้กับภพชาติได้อยู่ พระองค์ใช้ความรู้สึกตามสัญชาตญาณของผู้ที่บำเพ็ญบารมีมาจนครบ พร้อมที่จะเป็นพระพุทธเจ้า พร้อมที่จะตรัสรู้ถึงฝั่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระองค์ทรงรู้สึกว่า อะไรๆ ก็มาลงที่ ใจ นี้แหละ

 

ถ้าหากว่า ยังสามารถที่จะเป็นทุกข์ได้อยู่

ยังสามารถที่จะโกรธ

ยังสามารถรู้สึกเป็นห่วงหน้าตา หรือมีอัตตามานะอยู่

ตรงนี้ พระองค์รู้สึกอยู่ลึกๆ ว่ายังสามารถที่จะเวียนว่ายตายเกิดได้

ยังสามารถที่จะตาย แล้วต้องไปเกิดใหม่อีก



พระองค์จึงดั้นด้นค้นหาทาง โดยไปเรียนกับ ครุ หรือ ครู ผู้ที่ได้ชื่อว่ารู้แจ้งที่สุดในยุคของพระองค์ และอยู่ในระยะทางที่พระองค์สามารถเดินเท้าเปล่าหรือขี่ม้าไปพบได้

 

แล้วพระองค์ก็รู้จากสัญชาตญาณ คือ สิ่งที่รู้ขึ้นมาเองของคนระดับที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ว่า ครุหรือครูบาอาจารย์ของท่าน ต่อให้ได้ อรูปฌาน แล้ว ก็ยังไม่สามารถถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้

 

พระองค์ทรงมองเห็นว่า อรูปฌาน ที่พระองค์ทรงทำตามครูบาอาจารย์ของท่านได้นี้ เป็นสิ่งที่ทำให้อัตตามานะ ดูเหมือนสงบลงชั่วคราว มิใช่ว่า จะสงบลงได้ตลอดไป พระองค์จึงทรงค้นหาวิธีของพระองค์



นี่จึงเป็นตัวบ่งบอกได้เลยว่า ถ้าแค่ถือศีลให้สะอาด แล้วจะไปถึงพระนิพพานได้ พระองค์ก็ไม่ต้องออกจากวังเลย 

 

อยู่ในวัง มีพระชายา มีทรัพย์สินศฤงคาร แบบอู้ฟู่ระดับเศรษฐี ระดับประเทศ ระดับโลกในปัจจุบัน พระองค์ก็อยู่แบบนั้นได้ ไม่ต้องแสวงวิเวก

 

แต่เพราะพระองค์พบว่า 

จิต แม้มีความสะอาดของศีลแล้ว

แม้มีความสุขความบันเทิงแบบเต็มรูปแบบแล้ว

ก็ไม่สามารถที่จะ ออกจากความรู้สึกเป็นทุกข์ได้

และถ้าออกจากความรู้สึกเป็นทุกข์ไม่ได้

อย่างไรก็ต้องกลับมาเกิดใหม่อีก

นี่เป็นสิ่งที่พระองค์รู้สึกได้


การค้นหาวิธีของพระองค์ก็ไม่ใช่ง่ายอีก 

ถ้าไม่มี พุทธศาสนา ไม่มีผู้รู้แจ้งอยู่ในโลกนี้

อยู่ๆ เราจะมานั่งหลับตา ทำสมาธิ หรือมาเดินจงกรม เอาง่ายๆ แล้วจะให้ถึงฝั่งพระนิพพาน ถ้าทำกันได้ง่ายๆ แบบนั้น ก็ไม่ต้องรอพระพุทธเจ้าอุบัติ

 

เอาแค่ ฤาษีชีไพร ที่ปฏิบัติได้อรูปฌาน ก็สามารถให้คำแนะนำ ให้คำสั่งสอน หรือสถาปนาสถาบันศาสนา แบบพระพุทธศาสนาของเรา ให้คนหลุดพ้น ก็เข้าถึงฝั่งพระนิพพานกันได้ง่ายๆ 

 

พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า นิพพานเป็นสิ่งที่เห็นได้ยาก ไม่ใช่ใช้ความเพียรกันน้อยๆ หรือ ทำกันแบบถูๆ ไถๆ นั่งหลับตา แล้วสรุปเอง ว่าวิธีต้องอย่างนั้น ทำใจอย่างนี้ .. ไม่ใช่ง่ายแบบนั้น

 

พระองค์พบว่า การที่ใจจะหยุดทุกข์ได้ แบบไม่กลับมากำเริบอีก

ต้องถอดถอน อุปาทาน หรือ ความยึดมั่นสำคัญผิด ออกไปให้สิ้นซาก ซึ่งพระองค์ลองมาหมดแล้ว วิธีที่ทำให้ตัวเองมีความทุกข์ที่สุด

 

คือ สมัยนั้น เขานึกว่า ถ้ายิ่งเป็นทุกข์มากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งเสียดายอัตตาตัวตนน้อยลงเท่านั้น

แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ถึงแม้ว่าจะมีความทุกข์ หรือทรมานร่างกายให้แทบดาวดิ้นสิ้นชีพลงไปเท่าไหร่ ก็ไม่ได้มีความรู้สึกหมดอาลัย หมดความผูกพัน กับร่างกาย

อย่างไรก็ยังมีความรู้สึก มีตัวตนเกิดขึ้นมาอยู่ดี

 

พอพระพุทธองค์ท่านพบว่า ทำมาผิดทาง ท่านก็เริ่มกลับนึกถึงสมัยที่ท่านอายุ 7 ขวบ ที่ท่านนั่งดูลมหายใจแบบชิวๆ สบายๆ แล้วถึงฌานได้

 

พระองค์นึกถึงสมาธิแบบนั้น พระองค์นึกถึงความพร้อมของจิตที่จะรู้แจ้งตามจริง แล้วก็ทำสมาธิลมหายใจ คือ กำหนดรู้ว่า กำลังหายใจเข้าและหายใจออก และที่หายใจเข้า หายใจออก อยู่นี่ บางทีก็ยาว บางทีก็สั้น.. รู้ๆ ไป จนกระทั่ง ใจว่าง ว่างพอที่จะรู้ความจริงเกี่ยวกับตัวเอง

 

พอพระองค์ได้ฌานจากการรู้ลมหายใจในครั้งหนึ่ง เมื่อท่านถอยห่างจากฌาน ท่านพิจารณาเห็นว่า  สภาพทางกายแบบนี้ และสภาพทางใจแบบนี้ ที่พระองค์สามารถเข้าฌานได้นั้น เป็นสภาพที่ไม่ใช่อยู่ๆ ก็เกิดขึ้นมาเองลอยๆ แต่มีที่มาที่ไป

 

และจิตที่มีความตั้งมั่น เป็นเศษจากฌาน ก็ลงมาอยู่ที่อุปจาระสมาธิ

พิจารณาเห็นว่าสภาพทางกายและสภาพตั้งใจ ที่กำลังปรากฏอยู่นี้ ก่อนหน้านั้นมาจากไหน

 

มาจากการที่ ถอยออกไป ก่อนหน้านั้นสัก 2-3 ชั่วโมง

มีการลงนั่งสมาธิ มีเหตุปัจจัยของสมาธิ แล้วเกิดสมาธิ

พอถอนออกจากสมาธิ ก็กลายเป็นจิตที่พร้อมรู้ พร้อมทำงาน

พร้อมเห็นสภาพกาย-ใจนี้ โดยความเป็นนิมิตได้

 

และถอยกลับไปอีก วันก่อนหน้า 

ท่านยังทำทุกรกิริยาอยู่เลย ยังบำเพ็ญแบบทรมานตน

 

และก่อนหน้านั้น เคยเป็นเจ้าชายอยู่ในเมือง

ก่อนหน้านั้น เคยเป็นเด็กอัจฉริยะ ที่มีความเก่งกล้าสามารถ

แค่นั่งลงใต้ต้นไม้รอพระบิดาทำกิจ แค่นั่งรอดูลมหายใจเล่นๆ ก็ได้เข้าถึง ปฐมฌาน

 

ถอยลงไปอีกก่อนหน้านั้น ก็ระลึกได้แม้ขณะอยู่ในครรภ์ของพระมารดาครรภ์

และทะลุไป จนกระทั่งเคยเป็นเทวดาชั้นดุสิต ก่อนจะมาเกิดเป็นมนุษย์



จริงๆ มีความเป็นมาเป็นไป 

ไม่ใช่อยู่ๆ กายใจนี้จะผุดขึ้นมาลอยๆ โดยอาศัยท้องพ่อท้องแม่เป็นจุดเริ่มต้น

แต่มีอะไรก่อนหน้านั้นมา

 

เมื่อท่านถอยออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งพบความจริงว่า

ภพชาติ มีเงื่อน มีเหตุปัจจัย ไม่มีที่สิ้นสุด

 

ท่านเวียนว่ายตายเกิด 

เปลี่ยนจากสภาพกายใจหนึ่งไปสู่ความเป็นอีกกายใจหนึ่ง อย่างนี้

 

และท่านไม่ได้เป็นแค่คนเดียว

ทุกคนที่ท่านรู้ท่านเห็น ไม่ใช่ภาพลวงตา เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง 

และอาศัยเงื่อนเกิดเงื่อนตายแบบเดียวกับพระองค์นั้นแหละ

 

คือ พอตายไป เกิดใหม่มาเป็นมนุษย์ 

จะถูกลบความจำเกลี้ยงเลย ไม่เหลือความทรงจำในหนหลัง

 

ก็เหมือนกับ คิดเองเออเอง สรุปเอง ทึกทักเอง 

ว่า เริ่มเกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่

เหตุที่จะ สูงต่ำ ดำขาว ผิวพรรณหยาบ ผิวพรรณประณีต ได้ดี ตกยาก อะไรต่างๆ นี้ เป็นความบังเอิญ หรือไม่ก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นเฉพาะในปัจจุบันเท่านั้น ไม่มีเหตุผลอื่น

 

แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ที่เก่งกล้าสามารถ ก็ยังสามารถสรุปแบบนั้น

เชื่อว่า ทุกอย่างเป็นการทำงานของสมอง

ซึ่งตอนนี้ เขาก็เริ่มสงสัยแล้วว่า ถ้าเป็นการทำงานของสมองอย่างเดียว แล้วสมองทำงานด้วยไฟฟ้า แล้วไฟฟ้ามาจากไหน?

 

ก็คิดไปโน่นว่า จริงๆ แล้ว มีสิ่งมีชีวิตในมิติอื่น เอาสมองเราไปดองไว้ในขวดโหล

แล้วใส่ภาพ ใส่ความจำ ใส่จินตนาการเข้ามาในขวดโหลนั้น (ก็คิดกันไป)

 

ถ้าเป็นบุคคลแบบพระพุทธเจ้า ท่านไม่เกิดในสมัยที่ต้องผ่านการทดลองหรือพิสูจน์หลักฐาน ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย

ท่านเกิดในสมัยที่ผู้คนแสวงหาความจริง หรือสัจธรรมกันด้วยใจ

ท่านเลยรู้ว่า ผู้คนทั้งหลายนี่ ไม่ใช่ ของลวงตา 

เวียนว่ายตายเกิดเหมือนกับท่านนั่นแหละ

 

ที่ ได้ดี (หรือตกยาก) ก็เพราะเหตุทำมาดี

มีมโนสุจริต วจีสุจริตและกายสุจริต เป็นตัวกำหนดทิศทางให้ไปดี

แต่คนที่ไป ร้าย ก็เหมือนกับไป คิดชั่วทำชั่ว

 

แล้วพระองค์ก็ตรัสว่า พระองค์เหมือนนั่งอยู่บนกำแพงที่สูงเหมือนหอคอย

แล้วเห็นทั้ง 4 ทิศโดยรอบ 

เห็นว่าคนกำลังจะเลี้ยวซ้าย คนกำลังจะเลี้ยวขวา ไปทางไหน ก็สามารถเห็นได้หมดเลย

 

เหมือนนิมิตของพระองค์ ที่สามารถหยั่งรู้ว่า

สัตว์ทั้งหลาย ทำดีที่สุด ถือศีล ให้ทาน แค่ไหนก็ตาม 

อย่างมากได้ไปแค่สวรรค์

 

พูดง่ายๆ ว่า ใจที่ไม่เดือดร้อนอันเป็นปัจจุบัน

จะได้ไปในที่ที่ดี จะได้ไปในที่ที่มีความสุขชั่วคราว

 

เสร็จแล้ว พอเราหมดบุญจากสวรรค์ชั้นฟ้า

ก็ร่วงลงมาสู่พื้นดิน หรือกระโจนลงเหวนรกไปเลยก็ยังมี

จาก พระพรหม ลงไปสู่ความเป็น สัตว์นรก

พระองค์ทรงเห็นด้วยพระญาณว่า มีอยู่!

 

เลยเป็นที่มาว่า ศีล ต่อให้รักษาได้สะอาดเป็น 10 ชาติ

ก็ต้องมีชาติที่ 11 ที่พลาด

เพราะกลหรือเงื่อนไขของเกมในสังสารวัฏ เกมแห่งการเวียนว่ายตายเกิดมีอยู่ว่า เกิดใหม่ เราได้ดี โดยไม่รู้ที่มาที่ไป ไม่รู้สาเหตุ จำตัวเองในอดีตไม่ได้

จะมีสิ่งที่เรียกว่า ความเหลิง ความหลง มาเป็นตัวขับดัน ให้ทำอะไรผิดๆ คิดอะไรที่มันพลาด

 

พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า

การเวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อยๆ นั้น

ไม่มีทาง ที่จะมีแต่ดีกับดี วันหนึ่ง ก็ต้องพลาด

คิดง่ายๆ ก่อนที่คุณจะถือศีลให้สะอาดบริสุทธิ์

ลองถามตัวเองว่า มีไหม ที่คุณเคยทำอะไรผิดศีลไว้

จะด้วยแค่การโกหกซึ่งๆ หน้า เอาประโยชน์เข้าตัวเอง

หรือเพียงด้วยการเอาใจเพื่อน กินเหล้าเมายา

 

อะไรเหล่านี้ มันเห็นๆ ว่า มีช่วงหนึ่งของชีวิต ที่คุณไม่รู้อะไรเลย

ไม่รู้ว่า ทำอะไร แล้วจะได้รับผลอะไร

ไม่รู้ว่า จะนับถืออะไร ศรัทธาอะไร

ไม่รู้ว่า ที่ได้เกิดเป็นอย่างนี้ เพราะเคยทำอะไรมาก่อน 

มีดีอะไรในอดีต ถึงได้มามีดีในปัจจุบัน

ตรงนี้แหละ คือ อันตรายของสังสารวัฏ

 

ไม่มีนะครับ ประเภทที่ถือศีลบริสุทธิ์จนตาย 

แล้วมาเกิดใหม่ กลายเป็นเทวดานางฟ้า

จากนั้นลงมาได้เป็นมนุษย์ แล้วก็ถือศีลสะอาดบริสุทธิ์ ตั้งแต่เริ่มเกิดมา จนตายไปอีก .. เป็นไปไม่ได้

 

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง

หากมีชาติไหน ที่ไปคบคนชั่วเป็นมิตร

หรือ ชาติไหนที่หลงตัว จนกระทั่งย่ามใจ ทำอะไรตามอำเภอใจ

ลองนึกดู คนเกิดในประเทศที่ค้าน้ำมันร่ำรวย หน้าตาดี

มีนักข่าวมาว่าตัวเอง ก็หลอกไปฆ่าซะอย่างนั้น!

 

มีโอกาส ที่เราได้ดี แล้วจะลืมตัว

อย่าว่าแต่ ลืมตัวเลย เพราะลืมอยู่แล้วว่า ตัวมาจากไหน

แต่ยังลืมอีกว่า ความดีคืออะไร แล้วมาอยู่ตรงนี้ได้ .. ได้มาจากไหน เหล่านี้ลืมหมด

 

และความลืมนั่นแหละ เป็นตัวกงจักร ทำให้เราพลาดไปทำอะไรร้ายๆ 

โดยที่ไม่รู้หรอก ว่าทำไปแล้ว จะต้องได้รับผลอย่างไร

 

บางคนทำบาปทำกรรมมาทั้งชีวิต แล้ววันหนึ่งรู้สึกเป็นทุกข์ขึ้นมา จากสิ่งที่ตัวเองทำ ถึงได้มองย้อนไป ว่าทั้งชีวิต ตัวเองไม่รู้ว่าทำอะไรลงไป มารู้สึกตัวอีกทีหนึ่ง ก็เหมือนกับเสียดายแทบขาดใจแล้ว

ว่า ถ้าจะต้องสั่งสมความรู้สึกผิดมามากมาย เป็นกองภูเขาขนาดนี้

จะไม่ทำชั่วเลยแม้แต่นิดเดียว! 

 

มาคิดได้อย่างนั้น ก็สายเกินไปแล้ว

 

ฉะนั้น สรุปลงที่ว่า

ถือศีล ให้มองว่าเป็นทางไปนิพพาน แต่ยังไม่ถึงนิพพาน

เหมือนกับเราสร้างฐานที่ยืนไว้อย่างมั่นคง

แล้วจะตั้งบันได ต่อบันไดให้สูงขึ้นไปแค่ไหนก็ได้

แต่ตัวฐานอันตั้งมั่นนั้น ที่มีความแข็งแรงมั่นคงนั้น

ยังไม่สูงพอ ที่จะทำให้ถึงพระนิพพาน

 

ให้มองเข้ามาเป็นจิต ลองมองอย่างนี้ว่า

ศีล ทำให้จิตขาวสว่าง นำทางตัวเองให้ไปถูกได้ ออกจากป่ารกได้

แต่ความขาวนี้ ยังมีอะไรที่เหนือกว่า มีอะไรที่ยิ่งไปกว่า

นั่น คือ ความใส

 

ผู้ที่เจริญสติ จนกระทั่ง ละอัตตามานะได้ ละโทสะได้

จะมีความแตกต่างอย่างชัดเจน

ทั้งจากประสบการณ์ภายใน และจากกระแสที่ออกไปให้คนรู้สึกสัมผัสได้

 

อย่างคนที่มีศรัทธาในศาสนา ไม่ว่าจะศาสนาไหน

คุณจะรู้สึกถึงความอิ่มเอบเบิกบาน สดชื่นชุ่มฉ่ำ และมีความขาวสว่าง

เป็นความขาวในแบบที่เมื่อมองแล้วเหมือนคล้ายเป็นดวงไฟ

บางคนเดินมา เหมือนหลอดนีออนเลย

 

แต่ถ้าได้เจอประสบการณ์กับบุคคลอีกประเภทหนึ่ง ที่เจริญสติในพุทธศาสนา อย่างพระ ครูบาอาจารย์ ที่ท่านสามารถเจริญสติได้ 

จนถึงความพ้นจากอาการยึดมั่นถือมั่น

 

จะมีความใส มีความรู้สึกปลอดภัย 

มีความรู้สึกโล่งอย่างไม่มีประมาณ

ซึ่งเหนือระดับไปกว่าระดับความขาว

 

ความขาว ยังมีความขาวแบบทึบ ความขาวแบบใส ยังมีระดับไล่กันเป็นชั้นๆ 

 

แต่พอถึงความสว่างแบบหนึ่ง ความสว่างของผู้หลุดพ้นจากอุปาทานนี้นะครับ จะเป็นความใสแบบสว่าง สว่างโร่เลยนะครับ แต่ไม่ใช่ขาว

เป็นสว่างแบบใส ใสสะอาด บริสุทธิ์ และว่างจากหน้าตาตัวตน

 

นี่เป็นสิ่งที่อยากให้ลองนึกดูนะครับ ว่า พอหลับลงแล้วฝัน จะมีการปรุงแต่ง

ว่าหน้าตาตัวเอง เป็นแบบนั้นแบบนี้ บางทีไม่ใช่หน้าตาแบบที่เราเป็นอยู่ด้วยซ้ำ เป็นใครก็ไม่รู้ แต่ก็ยึดมั่นถือมั่นว่า หน้าตาแบบนั้น นั่นเป็นเรา

 

แก่น หรือ แกนความเป็นตัวเราจริงๆ นั้น เป็นความรู้สึกยึด ว่ามโนภาพเป็นชายเป็นหญิง เป็นตัวเป็นตนแบบหนึ่งนั้น คือ ตัวเรา

นั้นแหละ ที่เรียกว่า อุปาทานในอัตตา

 

จะมีอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แม้กระทั่งเป็นพระอนาคามี ก็ยังมีการปรุงแต่งมโนภาพขึ้นมา ว่าตัวของเรานั้นเป็นใคร เป็นชายเป็นหญิง

เป็นคาแรคเตอร์ประมาณไหน

 

แต่พอถึงที่สุดแห่งทุกข์ ใจไม่เอาทุกข์แล้ว

ใจออกมาเป็นคนละพวกกับความทุกข์แล้ว

หมดจากอุปาทานในตัวตนอย่างสิ้นเชิงแล้ว

จะไม่มีการปรุงแต่ง เป็นชายเป็นหญิง หรือเป็นเราเป็นเขา

มีหน้าตาหล่อหน้าตาสวย หน้าตาขี้เหร่

จะไม่มีอยู่ในจิตเลย

 

จิตจะอยู่ในสภาพที่พระพุทธเจ้าเรียกว่า อยู่ในสภาพ พรากออกมาจากขันธ์ทั้ง 5’ คือ เป็นอิสระ จากการเข้าไปเป็นพวกเดียวกันกับขันธ์ 5

 

พอจิตเป็นอิสระอย่างสิ้นเชิง ชนิดไม่กลับกำเริบ ชนิดไม่กลับไปยึดได้อีก

ขันธ์ 5 มาปรุงแต่งอะไรไม่ได้เลย ว่าจิตจะมีหน้าตาแบบนั้นแบบนี้

แม้แต่ในความฝัน ก็เป็นความสงบระงับจากภาพของตัวตน

 

ถ้าจะมีปรากฏในฝันบ้าง ขณะหลับ ก็เป็นนิมิตแบบพระอรหันต์ รู้ความจริงอะไรบางอย่าง

 

คือ บางทีมีเทพมาบอกกล่าว หรือสร้างนิมิตให้เห็นบ้าง

หรือบางที จิตของตัวเองปรุงแต่ง ว่าจะเกิดอะไรขึ้นข้างหน้า 

มีใครที่กำลังน่าเป็นห่วง อะไรแบบนี้นะครับ อย่างนี้ เป็นสิ่งที่เกิดได้

เป็นภาพที่เกิดทางใจ ทางมโนทวาร ของพระอรหันต์ได้

 

แต่ภาพว่า มีตัวมีตน มีเรามีเขา มีความเป็นตัวฉัน หน้าตาแบบนั้นแบบนี้ จะไม่เกิดแล้ว

 

อย่างเราคุยๆ กันแบบนี้ ก็มีมโนภาพว่า หน้าตาผู้พูดเป็นแบบนี้ หน้าตาผู้ฟังเป็นอย่างไรอยู่ เป็นชาย เป็นหญิง กำลังมีความรู้สึกอย่างไร ในความเป็นผู้ฟัง นี่ คือ มโนภาพของตัวตน

 

แต่พระอรหันต์ ท่านจะอยู่กับจิตอีกแบบหนึ่ง ที่แยกออกมาแล้ว จะไม่มีการปรุงแต่งว่า ตัวฉันนี่มีหน้าตาเป็นอย่างไร 

 

ตรงนี้แหละ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เหมือน ตาลยอดด้วน

คือ จิต พอด้วนจากมโนภาพตัวตน หรือความยึดมั่นถือมั่น ว่าขันธ์ 5 เป็นตัวเป็นตนแล้ว จะไม่กลับ ไม่กำเริบขึ้นมาอีก

 

พระพุทธองค์จึงสรุปว่า มันจบที่ตรงนี้

จบที่จิตสามารถบรรลุถึงความจริงขั้นสูงสุด

ล้างกิเลส อวิชชา ออกจากกมลสันดานในขันธ์ 5 ได้

 

สรุปว่า ถ้าเรา ถือศีล บริสุทธิ์แล้ว ดีแล้ว ก็ถือว่าเป็นฐานที่มั่นคง

แต่การจะทำให้ถึงนิพพาน จะต้องล้างกิเลสให้ไปถึงอนุสัย

หรือความมีตัวตน ความมีอัตตามานะ มีกมลสันดานอย่างไร

 

ตัวนี้ (กิเลส อวิชชา) ถ้าล้างออกไม่หมด ก็ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก กลับมาเสี่ยง ที่จะทำผิดทำถูก กลับมามีความทุกข์ อันเกิดจากกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ ได้ไม่มีที่สิ้นสุด

 

เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ ที่ไม่รู้จบ จะจบ ก็ต่อเมื่อมีเหตุมาตัดตอนปฏิกิริยาลูกโซ่นั้น ก็คือ ตัดตอนความยึดมั่นถือมั่น หลงสำคัญตัว ว่ามีตัวตนมีอัตตา

________________

ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ถือศีลให้สะอาดถึงนิพพานได้ไหม?

ถอดคำ : นกไดโนสคูล

ตรวจทาน : เอ้

รับชมคลิป : https://www.youtube.com/watch?v=IREFzpTUiJ8