วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ชอบมโนภาพไม่ดี แต่ตอนคิดไปก็กลัวตกนรกไป แต่ก็คิดทำไงดีคะ?

 ดังตฤณ : เอาคำตอบของคำถามก่อนหน้านี้เลยนะครับ เหมือนกันเป๊ะเลยนะครับ

ช่วงนี้มีเยอะจริงๆนะครับ ถ้าใครติดตามมาตลอดก็คงเห็น อันนี้เป็นคำถามที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดในยุคเรานะครับ ซึ่งผมไม่สงสัยนะว่าเพราะอะไร มันหลายเหตุปัจจัยเอาเป็นว่า คนยุคเราเนี่ยได้เกลือกกลั้ว เอาจิตไปเกลือกกลั้วกับสิ่งที่เป็นของสกปรก แล้วของสกปรกเนี่ย มันก็เหมือนปืนใหญ่ที่มันลั่นขึ้นมาเองได้ อะไรที่มันเป็นตะกอนนอนก้นอยู่ มันก็สามารถฟุ้งขึ้นมาได้ตลอดเวลาไม่ใช่เรื่องแปลกเลยนะครับ

แต่เราเปลี่ยนบาปให้เป็นบุญกันดีกว่า อย่ากลัวว่าเราทำบาปแล้วตกนรกอะไร แต่กลัวว่าเราจะไม่มีสติอยู่ในโลกมนุษย์ดีกว่านะครับ


*********** คำตอบ ของคำถามกลุ่มเดียวกัน***********

ดังตฤณ : บอกก่อนเลยนะครับ คือมันอาจจะไม่เป๊ะนะที่ผมกำลังจะพูด แต่ให้ประมาณคร่าวๆนะครับว่า ถ้าภาพไม่ดีมันเข้ามาในหัวแล้วสองสามวินาทีใจคุณยังเฉยๆอยู่ นั่นแปลว่า คุณไม่ได้คิด แล้วถ้าไม่ได้คิด แปลว่า ไม่ได้มีมโนกรรม ไม่ได้ตั้งใจอะไรไม่ดี ไม่ได้ตั้งใจในทางที่เป็นบาป ภาพอันเป็นอกุศลมันมาเอง แล้วหายไปเองภายในสองสามวินาที แบบนั้นเนี่ยนอกจากจะไม่เป็นบาปแล้ว ยังได้บุญด้วย เพราะมันสะท้อนให้เห็นว่าจิตของคุณมีสติรู้ แล้วก็ไม่เป็นบวกไม่เป็นลบกับตรงนั้นนะครับ ปล่อยให้มันผ่านไปเฉยๆตามกฏอนิจจัง

สติที่มันเกิดขึ้นรู้ว่าภาพอกุศลนั้นเป็นเพียงสภาวะหนึ่งไม่ใช่ตัวคุณ ไม่ใช่ของๆคุณ ไม่ใช่สิ่งที่คุณจะต้องไปเดือดร้อน นี่ตัวนี้แหละที่พอทำไปทำไปนะจิตจะรู้สึกว่าง ว่างจากบาป แล้วก็ว่างจากบุญ ถ้าว่างจะบาปว่างจากบุญนะครับ ดีกว่าบุญนะครับ เหนือบุญนะ เป็นจิตใส เป็นจิตว่างที่ไม่ขาวไม่ดำ

คำถามบอกว่า

“ผมรู้วิธีรับมือกับความคิดแล้ว แต่กังวลในอดีตกลัวบาปเช่น เห็นพระยืนด่ากันแล้วผมไม่ไปห้ามกลัวสังฆเภท”

ไม่ใช่นะครับ คำว่า สังฆเภท นี่เข้าใจผิดแล้วนะ คือสังฆเภทนี่คือไปยุยงให้สงฆ์เขาแตกกัน แล้วก็มีสองแบบที่เขาว่ากันนะครับ สังฆเภทเนี่ยต้องอยู่อาวาสเดียวกัน แล้วยุยงให้สงฆ์ในอาวาสนั้นแตกคอกัน กับอีกแบบคือ ให้แตกแยกกันทางความคิดความเชื่อความเลื่อมใสพระศาสดานะครับ รู้อยู่ว่าองค์ศาสดาจริงๆท่านเป็นอย่างไร ท่านประสงค์อะไรแล้วก็สอนอะไร แต่จะไปคัดง้ายเสียอย่างนั้นบอกว่า “โอ้ยเนี่ยเป็นตำราโบราณ ไม่เอาหรอก ไม่เชื่อ” จะมากะเกณฑ์ว่าพระพุทธเจ้าเนี่ยท่านตรัสไว้อย่างนั้นอย่างนี้ คือเป็นตามอัตโนมัติของตัวเองหมดเลยว่าพระพุทธเจ้าควรจะพูดยังไง ไม่ควรจะพูดยังไง เสร็จแล้วทำให้สงฆ์นะไม่ใช่ทำให้ฆราวาสนะ ทำให้สงฆ์เนี่ยเกิดความผิดใจกัน หรือว่ามาแบ่งความเชื่อความเลื่อมใสกัน แบบนี้ถือเป็นสังฆเภทสำหรับความเชื่อแบบหนึ่งนะครับ

แต่ที่เป็นความเชื่อตามวินัยเลย สังฆเภท จะหมายถึง ทำให้สงฆ์ในอาวาสเดียวกันในรั้วเดียวกันรั้ววัดเดียวกันเนี่ย แตกคอกันไม่ทำสังฆกรรมด้วยกัน ประเภทที่เห็นพระยืนด่ากัน แล้วไม่ไปห้ามนี่ไม่เกี่ยวเลยนะว่าจะเกิดสังฆเภทนะครับ

ก็สรุปคือ พอภาพมันเกิดขึ้น ถ้ามันไม่ได้มาทำให้เราเจตนาจะทำให้เกิดอะไรเช่นนั้นขึ้นมา ไม่ใช่บาปนะครับ เป็นอกุศลที่มันผ่านเข้ามาในจิตแต่ไม่ใช่บาป เพราะว่าเราไม่ได้ตั้งใจจะทำ เราทำให้ภาพอกุศลนั้นกลายเป็นบุญเลยดีกว่า ด้วยการตั้งใจนะ คิดว่าเราจะรู้ว่านั่นเป็นแค่สภาวะชั่วคราวที่เรียกว่า อนัตตา เกิดขึ้นในหัวแล้วหายไปจากหัว โดยที่เราไม่ต้องทำอะไรเลย

ถึงมันจะกลับมาใหม่ก็ไม่ต้องกลุ้ม กลับมาเป็นพัน เป็นหมื่นครั้งก็ช่างมัน ทุกครั้งเนี่ยเราจะได้มีสติไง รู้ว่านี่เราไม่ได้เชิญมา แล้วก็รู้ว่าที่มันออกไป ไม่ใช่เพราะเรามีความสามารถในการขับไล่ แต่มันไปของมันเอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามันไม่ใช่ตัวของเรา มันไม่ใช่สมบัติของเรา และมันไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย ตัวเราที่เป็นผู้ก่อกรรมเนี่ย ไม่ได้ทำทั้งบาป ไม่ได้ทำทั้งบุญ แต่เป็นผู้มีสติซึ่งเหนือกว่าบุญอีกนะ คือเหนือกว่าบุญธรรมดานะครับ เป็นบุญขั้นสูง ขั้นสูงสุดเลยนะ ที่สามารถทราบได้ว่า อะไรอะไรที่มันปรากฏเข้ามาภายในขอบเขตกายใจนี้ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันผ่านมาแล้วผ่านไปด้วยเหตุปัจจัยบางอย่างนะครับ

อย่างเช่น เราไปจำอะไรไม่ดีไว้ มันก็เป็นความทรงจำที่เรียกว่าเป็นอกุศลสัญญา แต่ไม่ใช่ว่าอกุศลสัญญานั้นเมื่อเกิดขึ้นปุ๊บเราบาบปั๊บนะ ไม่ใช่! เราต้องมีการปรุงแต่งต่อแบบคล้อยตาม แล้วก็สมยอมกับความคิดนั้น มันถึงจะบาปจริงนะครับ

*******************************************

----------------------------------------------

๒๓ มกราคม ๒๕๖๔
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน ตอน ‘จิตว่าง’ สำคัญอย่างไร?

คำถาม : ชอบมโนภาพไม่ดี แต่ตอนคิดไปก็กลัวตกนรกไป แต่ก็คิดทำไงดีคะ?

ระยะเวลาคลิป    ๐.๕๙  นาที
รับชมทางยูทูบ  https://www.youtube.com/watch?v=mk4VtT_mae4&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=13

ผู้ถอดคำ  แพร์รีส แพร์รีส

--------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น