ดังตฤณ : อันนี้เป็นบทเรียนอย่างหนึ่ง อันดับแรกที่ผมอยากพูดถึงเลยก็คือ อย่าสาบานแช่งในลักษณะให้ตัวเองวิบัติ ทางพุทธศาสนาไม่เคยสรรเสริญว่าเป็นสิ่งดีเลยนะครับ ไม่ได้เป็นข้อที่จะทำให้จิตใจเราเข้มแข็ง หรือว่ามีความหนักแน่นกับการตั้งใจอะไรอย่างหนึ่งอย่างมั่นคงนะครับ
สิ่งที่จะทำให้จิตใจของเราหนักแน่นมั่นคงกับความตั้งใจหรือที่เรียกว่ามีอธิษฐานบารมีก็คือ ทำเรื่องเล็กๆให้สำเร็จ แล้วค่อยๆเขยิบขึ้นไปตั้งใจทำเรื่องที่มันใหญ่มากขึ้นมากขึ้น ยิ่งอะไรที่มันเกี่ยวข้องกับบุญ เกี่ยวกุศล เกี่ยวกับการทำให้คนอื่นสงเคราะห์คนอื่นอนุเคราะห์คนอื่น ไม่ได้เอาประโยชน์เข้าตัว ถ้าเราตั้งใจทำแล้วสำเร็จมันยิ่งมีกำลังแข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่ลักษณะการสาบานแช่งให้ตัวเองวิบัติฉิบหาย มันเป็นอัปมงคลนะครับ มันเป็นลักษณะของอกุศลชนิดหนึ่ง มันเป็นโทสะชนิดหนึ่ง เพราะโทสะมีหน้าที่ทำให้พินาศ มีหน้าที่ทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนขู่ให้กลัว เหมือนทำให้เกิดอาการจิตหดอะไรแบบนี้ ไปตั้งคำมั่นสัญญากับตัวเองในลักษณะแช่งให้ตัวเองวิบัติไม่ใช่เรื่องดีด้วยประการทั้งปวง ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไร
คุณลองสังเกตสิ พระพุทธเจ้าไม่เคยแนะนำนะครับ เช่นคิดว่าจะบวช ถ้าสึกไปขอให้ตายไปเลยอะไรแบบนี้ ไม่เคยนะ ท่านไม่เคยไปแนะนำให้ใครคิดแบบนั้น แต่คนน่ะบางทีไปคิด แล้วมีพระอยู่รูปหนึ่งไปตั้งสัจจะอธิษฐานบอกว่า จะบวชตลอดชีวิต ถ้าหากว่าสึกไปขอให้ตายขอให้วิบัติอะไรแบบนั้น ก็เลยไม่กล้าสึกทั้งๆที่ตัวเองเนี่ยเกิดกามราคะแก่กล้า เสร็จแล้วก็ไปผิดข้อปาราชิกแทน ยอมที่จะผิดข้อปาราชิก ไม่ยอมที่จะสึกออกมา นี่ก็เคยเป็นข่าวดัง
ทีนี้ตัวคำถามบอกว่า เคยผิดสัจจะกับตัวเองไปแล้ว ผิดคำสาบานไปแล้ว ถึงแม้ว่าตอนนี้เลิกเล่นได้เด็ดขาด แต่เกิดความกังวลว่า มันเคยใจอ่อน ตัวนี้สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นแน่ๆก็คือ ทำให้จิตใจของเราอ่อนแอแล้วก็ยอมแพ้แก่กิเลสแพ้ทางกิเลสได้ เป็นคนที่เหมือนกับแพ้ภัยตัวเอง พูดง่ายๆนะครับ เกิดกิเลสแล้วมันสู้ไม่ไหวใจอ่อน อันนี้ชัวร์ๆที่จะได้รับผลนะครับ
แต่มันก็สามารถที่จะชดเชยได้ด้วยการตั้งใจจะทำอะไรดีแล้วทำได้โดยไม่ต้องไปสาปแช่งตัวเองนะครับ เอาแค่ฉันตั้งใจที่จะสร้างภูมิคุ้มกันและความเข้มแข็งกู้เอาความรู้สึกที่มันจะได้มีจิตใจที่มั่นคงกลับคืนมา อย่างนี้มันก็จะแก้ความอ่อนแอที่เกิดขึ้นในหนหลังได้นะครับ
แต่ในเรื่องการสาปแช่งตัวเองไว้ มันจะมีผลในแบบที่ว่า เอาความมืดที่เหมือนกับคาถาอาคมที่มันเป็นของไม่ดีเป็นเสนียดจัญไรเอามาครอบตัว ถ้าอยากจะเข้าใจตรงนี้นะครับ ลองดูคำสาบานเดี๋ยวผมอ่านอีกทีนะบอกว่า “ถ้าเล่นอีกขอแช่งให้ชีวิตตัวเองไม่ดี” แต่ไม่ถึงขั้นตาย ไม่ได้วิบัติ คือมันก็ไม่ดีจริง มันจะมีความรู้สึกมืดๆอยู่ในหัว ลองดูนะคนที่ชอบสาบานแล้วผิดคำสาบานเนี่ย มันจะมีก้อนอะไรดำๆเป็นก้อนความคิดด้านมืดที่คอยวนเวียนเข้ามา แล้วจะเหมือนกับถ้าเราเผลอ บางทีมันก็กระตุ้นให้ทำอะไรที่มันเป็นบาปเป็นกรรมได้ หรือว่าคิดด่าตัวเอง คิดด่าบุคคลผู้มีความศักดิ์สิทธิ์ผู้ทรงศีล หรือว่าพ่อแม่อะไรแบบนี้นะครับ จะคิดอยู่ในหัว เนี่ยความคิดชั่วร้ายอะไรที่มันก่อตัวขึ้นมาเป็นเมฆหมอกดำๆเนี่ย มันก็เป็นผลมาจากการสาปแช่งไว้ได้เหมือนกันนะครับ
ทีนี้มันจะถึงขั้นที่วิบัติไป หรือไม่ดีไปเลยจริงๆแค่ไหนเนี่ย มันขึ้นอยู่กับว่าเมฆหมอกดำๆก่อตัวขึ้นมามีความเข้มข้นเพียงใด ถ้าหากว่าเราสำนึกนะว่า เออเนี่ยเราพลาดไปที่เราไปสร้างคำสาบานที่มันจะย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง แล้วเราก็ไปผิดสัจจะ เราก็ตั้งใจเลยว่าต่อไปเราจะไม่ผิดสัจจะอะไรดีๆอีก ต่อไปเราจะไม่สาบานสาปแช่งตัวเองอีก ต่อไปเราจะหมั่นให้พรตัวเองให้พรคนอื่นด้วยการให้ธรรมะ ไม่ใช่ให้พรแบบส่งเดชว่าขอให้มีความสุขขอให้มีโชคลาภทั้งๆที่ใจเนี่ยรู้ว่าอวยพรแบบนั้นมันไม่ได้เกิดอะไรขึ้น แต่แทนคำอวยพรนั้น เราตั้งใจดีคิดดีว่า เออเนี่ย สมมตินะครับ บอกว่าขอหมาแมวจงมีความสุข เนี่ยคือคิดแบบที่มันเป็นพร แล้วก็เอาข้าวเอาน้ำไปเลี้ยงมันให้อิ่มจริงๆอิ่มหนำสำราญจริงๆ อย่างนี้เรียกว่าทำพรให้มันกลายเป็นของจริง ทำความตั้งใจดีๆให้มันกลายเป็นชีวิตใหม่ที่ดีขึ้นของผู้รับนะ จะเป็นสัตว์หรือว่าจะเป็นมนุษย์ก็ตาม
ลักษณะของพรที่เราให้ไปในแบบนี้เนี่ยนะ
มันจะมาแทนแทนที่คำสาปแช่งได้ถ้าหากว่ามีกำลังมากพอ ถ้าเราให้พรคนอื่นในแบบที่เราพยายามเอาตัวเข้าไปจัดการให้พรนั้นสำเร็จแก่คนอื่นหรือว่าสัตว์อื่นจริงๆเนี่ยนะครับ
คำสาปแช่งในที่สุดมันจะแพ้ คือเราสาปแช่งให้ชีวิตตัวเองไม่ดีใช่มั้ย
แล้วไปให้พรให้คนอื่นเนี่ยหรือสัตว์อื่นมีชีวิตที่ดีขึ้น
ในที่สุดมันก็มากลบเหมือนกับน้ำที่มีความสะอาดไปชะล้างของสกปรก หรือเป็นความสว่างที่มาขับไล่ความมืด
ก้อนมืดในหัวหรือว่าสายอะไรที่มันเป็นบาปอกุศลเข้มข้นที่อยู่ในหัวเนี่ย ขอให้มองอย่างนี้นะว่าเป็นความมืดที่ถูกความสว่างไล่ได้
แล้วความสว่างมาจากไหน มาจากการทำอะไรดีๆที่เป็นกุศลนั่นเองนะครับ
-------------------------------------------------
๒๓
มกราคม ๒๕๖๔
รายการปฏิบัติธรรมที่บ้าน
ตอน ‘จิตว่าง’ สำคัญอย่างไร?
คำถาม : หนูติดเกมเกมหนึ่งมาก ไปสาบานต่อหน้าหิ้งพระว่าจะเลิก ถ้าเล่นอีกขอแช่งให้ชีวิตตัวเองไม่ดี ปรากฏว่าหนูได้กลับไปเล่นอีก เลิกๆเล่นๆ แต่ปัจจุบันนี้พูดได้เต็มปากว่าเลิกได้เด็ดขาดแล้ว ทุกครั้งที่มีความอยากมาก จะนึกถึงภาพหิ้งพระจนชนะใจตนเอง การที่หนูเพิ่งเลิกเด็ดขาดหลังจากทำความผิดไปแล้ว คำสาบานที่แช่งตัวเองไว้เป็นโมฆะหรือไม่คะ?
ระยะเวลาคลิป ๘.๒๐
นาที
รับชมทางยูทูบ https://www.youtube.com/watch?v=hStF54zT7oM&list=PLmDLNhxScsWO7ZAuqr-FC25dor6ETZhM-&index=10
ผู้ถอดคำ แพร์รีส แพร์รีส
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น